ปรัชญา อภิปรัชญา ญาณวิทยา จิตวิทยา ตรรกศาสตร์ >>

ศึกษาความหมายและความเป็นมาของวิชาปรัชญา

ลักษณะและขอบเขตของอภิปรัชญา

ดังที่เราได้ศึกษามาแล้ว หน้าที่ของปรัชญาก็คือการศึกษาค้นคว้าหาความจริง หรือการพยายามตอบคำถามเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ดังนั้น เนื้อหาที่สำคัญของปรัชญาก็คือ ความแท้จริงนั่นเอง เกี่ยวกับเรื่องความแท้จริงนี้ นักปรัชญาพยายามที่จะให้คำตอบตั้งต้นแต่นักปรัชญาสมัยกรีกโบราณ จนกระทั่งถึงนักปรัชญาสมัยปัจจุบัน ทั้งที่เป็นนักปรัชญาตะวันตก และนักปรัชญาตะวันออก เรื่องที่ถกเถียงกันหาคำตอบนั้น มีประเด็นใหญ่ ๆ อยู่ 3 อย่างคือ

1. What is Reality  ความแท้จริงคืออะไร สาขาของปรัชญาที่ให้คำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ อภิปรัชญา (Metaphysics)
2. How to know Reality  เรารู้ความแท้จริงได้อย่างไร สาขาของปรัชญาที่ให้คำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ ญาณวิทยา (Epistemology)
3. How to act according to Reality  เราควรจะทำตัวอย่างไร ให้เหมาะสมกับความแท้จริง สาขาของปรัชญาที่ให้คำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ จริยศาสตร์ (Ethics)

จะเห็นได้ว่า อภิปรัชญา เป็นสาขาปรัชญาเริ่มแรกที่พยายามให้คำตอบเกี่ยวกับเรื่องทั้งปวง จึงเป็นสาขาที่สำคัญมาก อนึ่ง เป็นเพราะอภิปรัชญาเป็นสาขาแรกที่นักปรัชญาได้คิด และเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดนักปรัชญาหรือนักคิดขึ้นในโลก เป็นสาขาที่ว่าด้วยความแท้จริงของสรรพสิ่ง เป็นการศึกษาถึงสิ่งที่แท้จริงอันติมะ (Ultimate Reality)ว่าอะไรเป็นอะไร หรือศึกษาเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ในเอกภพ และความเป็นไปของสิ่งเหล่านั้น ดังนั้น อภิปรัชญา จึงมีหน้าที่ในการตอบปัญหาเกี่ยวกับความเป็นจริงของเอกภพ จักรวาลว่าเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นการแสวงหาความจริงขั้นพื้นฐาน

ตามที่อริสโตเติ้ล เรียกอภิปรัชญาว่า First Philosophy เพราะเป็นปรัชญาสาขาที่สำคัญที่สุดเป็นอันดับแรก และท่านยังได้กล่าวไว้อีกว่า

“มีศาสตร์อยู่ศาสตร์หนึ่ง ทำหน้าที่ค้นคว้า สืบสาวเรื่องภาวะทั่วไป หรือสัต (Being as Being) และคุณลักษณะต่าง ๆ อันเป็นสภาพของสภาวะนี้ ในปัจจุบันศาสตร์นี้หาได้เป็นอย่างเดียวกับศาสตร์ที่เรียกว่า วิทยาศาสตร์สาขาใดสาขาหนึ่งไม่ เพราะในจำนวนวิทยาศาสตร์สาขาต่าง ๆ มักตัดเอาส่วนใดส่วนหนึ่งของภาวะ (Being) มาศึกษาสืบค้นคุณลักษณะของภาวะนั้น ๆ เท่านั้น”

เมื่อเป็นเช่นนี้ ขอบเขตหรือขอบข่ายของอภิปรัชญา ได้แก่การพยายามตอบปัญหาเกี่ยวกับความเป็นจริงของสรรพสิ่ง รวมทั้งกระบวนการของความเป็นไปของสรรพสิ่งด้วย นั่นหมายถึงการศึกษาเกี่ยวกับเอกภพ (Cosmogony) จักรวาล (Universe) โลก (World) มนุษย์ (Man) จิต (Mind) หรือวิญญาณ (Soul) ชีวิต (Life) สสาร (Matter) ธรรมชาติ (Nature) พระเจ้า (God) หรือสิ่งสัมบูรณ์ (Absolute) ตลอดถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้ เพราะอภิปรัชญามุ่งให้ศึกษาค้นคว้าถึงสัจธรรมหรือความเป็นจริงของเอกภพ หรือความเป็นจริงของสรรพสิ่งเท่าที่มีอยู่ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอยู่ในลักษณะใดก็ตาม ทั้งที่เป็นรูปธรรม ทั้งที่เป็นนามธรรม ทั้งที่สัมผัสได้ ทั้งที่สัมผัสไม่ได้

ดังนั้น เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว ขอบเขตหรือขอบข่ายของอภิปรัชญา จึงมีอยู่ 3 ประเด็นคือ

1. ปัญหาเกี่ยวกับเอกภพ หรือธรรมชาติ รวมไปถึงจักรวาล (Cosmogony, Nature and Cosmology)
2. ปัญหาเกี่ยวกับจิตหรือวิญญาณ (Mind , Soul or Spirit)
3. ปัญหาเกี่ยวกับพระเจ้า หรือสิ่งสัมบูรณ์ รวมไปถึงเรื่องของภววิทยาด้วย (God or Absolute and Ontology)

1. ปัญหาเกี่ยวกับเอกภพ หรือธรรมชาติ (Cosmogony and Nature)

เป็นการตอบปัญหาหรือศึกษาเกี่ยวกับเรื่องเอกภพหรือธรรมชาติ ซึ่งรวมไปถึงเรื่องของอวกาศ กาล สสาร ความเป็นเหตุและผล ชีวิต วิวัฒนาการ ความเป็นไปแบบเครื่องจักรกลของเอกภพ และความเป็นไปแบบมีวัตถุประสงค์

เพื่อจะหาคำตอบว่า สรรพสิ่งหรือสิ่งเหล่านี้ มีความเป็นมาอย่างไร มีความสัมพันธ์กันอย่างไร เช่น ศึกษาหาคำตอบเกี่ยวกับกาล (เวลา) ว่ามีกำเนิดหรือบ่อเกิดอย่างไร เป็นไปโดยมีเป้าหมายหรือไม่ หรือมีเป้าหมายอย่างไร หรือใครเป็นผู้กำหนดเวลา ใครเป็นผู้สร้างเวลาเหล่านี้เป็นต้น

2. ปัญหาเกี่ยวกับจิตหรือวิญญาณ (Mind , Soul or Spirit)

อภิปรัชญาหรือภววิทยาว่าด้วยจิต หรือวิญญาณ เป็นการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องธรรมชาติของวิญญาณ กำเนิดของวิญญาณ จุดหมายปลายทางของวิญญาณ และความสัมพันธ์ระหว่างวิญญาณกับร่างกาย

เกี่ยวกับปัญหานี้ นักปรัชญาพยายามศึกษาเพื่อที่จะตอบคำถามที่ว่า จิตของมนุษย์เรานั้นคืออะไร มีลักษณะเป็นอย่างไร มนุษย์มีอิสระในการคิดในการหาคำตอบหรือไม่ หรือมนุษย์มีเสรีภาพในการตัดสินใจ และการเลือกกระทำหรือไม่ มากน้อยเพียงใด จะเป็นการศึกษาเพื่อพิจารณาดูเกี่ยวกับวิญญาณ อัตตา และจิต ว่าเป็นสิ่งเดียวกันหรือไม่ หรือเป็นคนละอย่างกัน เพราะนักปรัชญาแต่ละสำนัก หรือแต่ละคนจะศึกษาเกี่ยวกับเรื่องจิตหรือวิญญาณนี้แตกต่างกัน

ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องจิต หรือวิญญาณ เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมานาน ตั้งแต่นักปรัชญาสมัยโบราณ จนกระทั่งนักปรัชญาปัจจุบัน ก็ยังไม่มีข้อยุติที่แน่นอน เพราะเหตุว่า จิตหรือวิญญาณ ตามแนวความคิดของนักปรัชญาหรือนักปราชญ์แต่ละท่านนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ดังนั้น ปัญหาเกี่ยวกับจิตหรือวิญญาณ จึงเป็นขอบข่ายหรือเรื่องที่ต้องพยายามหาคำตอบในทางอภิปรัชญา

3. ปัญหาเกี่ยวกับพระเจ้า หรือสิ่งสัมบูรณ์ รวมไปถึงเรื่องของภววิทยาด้วย (God or Absolute and Ontology)

อภิปรัชญาหรือภววิทยาว่าด้วยพระเจ้า หรือสิ่งสัมบูรณ์ เป็นการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องธรรมชาติของพระเจ้า คุณลักษณะของพระเจ้า ความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้ากับเอกภพ และกับวิญญาณ

ปัญหาเกี่ยวกับพระเจ้านั้น นักปรัชญาพยายามตอบคำถามที่ว่า พระเจ้ามีจริงหรือไม่ พระเจ้าสร้างโลกได้อย่างไร สร้างโลกจริงหรือไม่ เมื่อสร้างแล้วทำไมจะต้องทำลายโลก หรือสร้างโลกทำไมไม่สร้างให้สมบูรณ์แบบ พระเจ้ามีอำนาจจริงไหม มีอำนาจมากน้อยเพียงใด หรือพระเจ้ามีลักษณะเป็นอย่างไร เราจะพิสูจน์ความมีอยู่ของพระเจ้าได้อย่างไร

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาสำคัญประการหนึ่งก็คือ ปัญหาเกี่ยวกับเนื้อแท้ของทุกสิ่งในเอกภพ ความจริงขั้นสุดท้ายที่เรียกว่า ความจริงอันติมะ (Ultimate Reality) คืออะไร สิ่งต่าง ๆ ในเอกภพ เป็นสสารหรืออสสารกันแน่ ?

ดังนั้น อภิปรัชญา (Metaphysics) จึงเป็นการศึกษาถึงความแท้จริงของสรรพสิ่งในโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของธรรมชาติ เรื่องของจิตหรือวิญญาณ เรื่องของพระเจ้าหรือสิ่งสัมบูรณ์ โดยศึกษาว่าสิ่งเหล่านี้มีจริงหรือไม่ มีลักษณะเป็นอย่างไร มีการดำรงอยู่อย่างไร เราสามารถที่จะรู้จักสิ่งเหล่านั้นได้อย่างไร การมีอยู่ของสิ่งเหล่านั้นต่างกันหรือไม่ เหล่านี้เป็นต้น

นักปรัชญาฝ่ายอภิปรัชญา ได้พยายามให้คำตอบเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ โดยพยายามศึกษาปรัชญาสาขาต่าง ๆ ที่ให้ทัศนะเกี่ยวกับโลกแห่งผัสสะ และโลกเหนือผัสสะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตาม และพยายามชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่ามีบ่อเกิดอย่างไร ทำไมต้องเกิดมีปัญหาอย่างนั้นขึ้น

ความหมายของปรัชญา
การนิยามความหมายของนักปรัชญา
ระบบปรัชญา
สาขาปรัชญา
อภิปรัชญาคืออะไร
ความหมายของอภิปรัชญา
ความเป็นมาของอภิปรัชญา
ความสัมพันธ์กับศาสตร์อื่นๆ
บ่อเกิดแนวความคิดทางอภิปรัชญา
หน้าที่ของอภิปรัชญา
ลักษณะและขอบเขตของอภิปรัชญา
ทฤษฎีทางอภิปรัชญา
ทฤษฎีสสารนิยม
ทฤษฎีจิตนิยม
ทฤษฎีเอกนิยม
ทฤษฎีทวินิยม
ทฤษฎีพหุนิยม
อภิปรัชญาว่าด้วยเอกภพ หรือธรรมชาติ
ทัศนะฝ่ายจิตนิยม
วิวัฒนาการของจิตนิยม
ทฤษฎีเอกนิยมฝ่ายจิตนิยม
ทฤษฎีพหุนิยมฝ่ายจิตนิยม
จิตนิยมทัศนะอภิปรัชญาตะวันตก
จิตนิยมทัศนะอภิปรัชญาตะวันออก
จิตนิยมในปรัชญาอินเดีย
ทัศนะฝ่ายสสารนิยม
ทฤษฎีพหุนิยมฝ่ายสสาร
สสารนิยมทัศนะอภิปรัชญาตะวันตก
สสารนิยมทัศนะอภิปรัชญาตะวันออก
ทัศนะฝ่ายธรรมชาตินิยม
ลักษณะและธรรมชาติของชีวิต
อภิปรัชญาว่าด้วยจิต หรือวิญญาณ
ความหมายของจิต มโน หรือวิญญาณ
การนิยามความหมายของฝ่ายตะวันตก
การนิยามความหมายของฝ่ายตะวันออก
ธรรมชาติของจิต มโน หรือวิญญาณ
วิญญาณเป็นพลังงาน
เจตจำนงเสรี (Free Will)
ความสัมพันธ์ระหว่างกายกับจิต
อมฤตภาพของวิญญาณ
ลัทธิเพลโต้ในทางอภิปรัชญา
ทัศนะของอริสโตเติ้ล (Aristotle)
ทัศนะของเบริ์คเล่ย์ (Berkeley)
อภิปรัชญาว่าด้วยพระเจ้า หรือสิ่งสัมบูรณ์
พระเจ้าคืออะไร
ความคิดรวบยอดเกี่ยวกับพระเจ้า
เทววิทยา
พิสูจน์ความมีอยู่ของพระเจ้า
เหตุผลทางจักรวาลวิทยา
เหตุผลทางเจตจำนง หรือวัตถุประสงค์
เหตุผลทางภววิทยา
เหตุผลทางจริยธรรม
นักปรัชญาฝ่ายอเทวนิยม (Atheism)
ทฤษฎีการสร้างโลก
จักรวาลวิทยา
ทัศนะของนักปรัชญาเกี่ยวกับพระเจ้า
บรรณานุกรม

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย