ปรัชญา อภิปรัชญา ญาณวิทยา จิตวิทยา ตรรกศาสตร์ >>

ศึกษาความหมายและความเป็นมาของวิชาปรัชญา

จิตนิยมในปรัชญาอินเดีย

สภาพโดยทั่วไป ปรัชญาอินเดียนั้น แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ

1. กลุ่มอาสติกะ กลุ่มเชื่อเรื่องพระเจ้า

คำว่า “อาสติกะ” มาจาก อสฺติ แปลว่า “มี” ในที่นี้หมายถึงกลุ่มนักปรัชญาอินเดียที่เป็นฝ่ายพระเวท หรือนับถือคัมภีร์พระเวท เพราะนักปรัชญากลุ่มนี้เชื่อความขลังหรือความศักดิ์สิทธิ์ของคัมภีร์พระเวท และถือว่าคัมภีร์พระเวทเป็นสิ่งที่เทพประทานมาให้ โดยผ่านฤาษีผู้มีฌานแก่กล้า เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “พวกเทวนิยม” (Theists) กล่าวคือเชื่อความมีอยู่ของพระเจ้า โลกและมนุษย์ ตลอดทั้งสรรพสิ่งจึงเป็นผลงานการสร้างของพระพรหม

ปรัชญาอินเดียกลุ่มอาสติกะ ประกอบด้วย ปรัชญาพระเวท อุปนิษัท ภควัทคีตา นยายะ ไวเศษิกะ สางขยะ โยคะ มีมางสา เวทานตะ

2. กลุ่มนาสติกะ กลุ่มที่ปฏิเสธความมีอยู่ของพระเจ้า

คำว่า “นาสติกะ” แยกออกเป็น น + อสฺติ แปลว่า “ไม่มี” ในที่นี้หมายถึงกลุ่มนักปรัชญาอินเดียที่ไม่ใช่ฝ่ายพระเวท หรือไม่นับถือคัมภีร์พระเวท เพราะนักปรัชญากลุ่มนี้คัดค้านความขลังหรือความศักดิ์สิทธิ์ของคัมภีร์พระเวท และถือว่าคัมภีร์พระเวทเป็นเพียงผลงานของพวกฤาษีเท่านั้น ไม่ใช่สิ่งที่เทพประทานมาให้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “พวกอเทวนิยม” (Atheists) กล่าวคือไม่เชื่อความมีอยู่ของพระเจ้า โลกและมนุษย์ ตลอดทั้งสรรพสิ่งจึงไม่ใช่ผลงานการสร้างของพระพรหม ปรัชญาอินเดียกลุ่มนาสติกะ ประกอบด้วยปรัชญาจารวาก พุทธปรัชญา และปรัชญาเชน

ในที่นี้ เราจะศึกษาเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับแนวคิดที่เป็นจิตนิยมของปรัชญาอินเดียทั้งสองกลุ่มนี้ว่า แต่ละกลุ่มมีแนวความคิดเกี่ยวกับจิตว่าอย่างไร มีจุดมุ่งหมายเป็นอย่างไร มีทัศนะเหมือนหรือแตกต่างจากนักคิดทางตะวันตกอย่างไร ซึ่งจะแยกศึกษาสำนักที่กล่าวถึงเรื่องของจิตนิยมเท่านั้น ดังต่อไปนี้

1. กลุ่มอาสติกะ

คือกลุ่มที่นับถือหรือยอมรับว่าพระเจ้ามีอยู่จริง เชื่อในคัมภีร์พระเวท เชื่อในอำนาจของพระผู้เป็นเจ้า หากพูดถึงเรื่องจิตนิยมหรือแนวความคิดเกี่ยวกับจิตของกลุ่มอาสติกะนั้น ที่สำคัญได้แก่แนวความคิดเรื่อง พระพรหม หรือพรหมัน สำนักที่สำคัญ ๆ ได้แก่

ปรัชญาสำนักเวทานตะ เพราะเชื่อว่า พระพรหม หรืออาตมัน เป็นสิ่งเดียวกัน คือเป็นวิญญาณที่บริสุทธิ์ “พรหมัน” เป็นทุกสิ่งทุกอย่าง และทุกสิ่งทุกอย่างก็คือ “พรหมัน” กล่าวคือพรหมัน เป็นสิ่งที่แท้จริงเพียงสิ่งเดียว นอกจากพรหมันแล้วไม่มีอะไรอีกที่เป็นจริง หรือมีอยู่จริง มันเป็นสิ่งที่สมบูรณ์ปราศจากคุณสมบัติทุกอย่าง

ที่ว่า พรหมัน เป็นทุกสิ่งทุกอย่าง ตัวของพรหมันเองไม่ได้เป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยเฉพาะ

ลักษณะของพรหมันนั้น ไม่เหมือนอะไรและไม่แตกต่างจากอะไร เพราะความเหมือนและความแตกต่างเป็นลักษณะของโลกแห่งปรากฏการณ์ ส่วนพรหมันนั้นอยู่เหนือโลกแห่งปรากฏการณ์

จึงมีคำพูดที่พูดกันว่า เรารู้ว่า พรหมันคืออะไร แต่เราไม่รู้ว่า พรหมันคืออะไร กล่าวคือ เรารู้ว่าพรหมันนั้นเป็นสิ่งที่เที่ยงแท้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และเสื่อมไปในโลกแห่งปรากฏการณ์ หากแต่ว่าเราไม่รู้สภาพ หรือธรรมชาติอันแท้จริงของพรหมันว่าเป็นอย่างไร

ดังนั้น ปรัชญาสำนักเวทานตะ จึงได้อธิบายคำว่า “พรหมัน” โดยการบอกลักษณะของพรหมัน ด้วยการนำเอาคำ 3 คำมาอธิบายคือ

1. สัต (Being) สิ่งที่แท้จริง เป็นสิ่งที่มีอยู่ เพราะเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับ อสัต (สิ่งที่ไม่แท้จริง)
2. จิต (Consciousness) เป็นความคิด ซึ่งมีลักษณะตรงข้ามกับ อจิต
3. อานันทะ (Bliss) ความเพลิดเพลิน ความสุข มีลักษณะตรงข้ามกับ ความทุกข์

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงกล่าวได้ว่า พรหมันเป็นหนึ่งไม่มีสอง เป็นสิ่งที่ไม่สามารถอธิบายด้วยเหตุผลหรือหาเหตุผลมาอธิบายได้ (อนีรวจนียะ) เพราะเป็นสิ่งที่อยู่เหนือกาลเวลา เป็นเบื้องต้นและที่สุดของสรรพสิ่ง แต่ตัวของพรหมันเองไม่มีเบื้องต้น และไม่มีที่สุด แต่มีการดำรงอยู่อย่างไม่มีที่สิ้นสุดเกินที่จะใช้คำใด ๆ มาอธิบายให้เข้าใจได้

นอกจากปรัชญาสำนักเวทานตะแล้ว แนวความคิดเรื่องพรหมันยังมีอีกหลายสำนักที่กล่าวเอาไว้ แต่ไม่ค่อยจะเด่นนัก เพราะส่วนมากก็ยึดถือตามแบบแนวความคิดของปรัชญาเวทานตะกันทั้งนั้น หรืออาจกล่าวได้ว่า ปรัชญาเวทานตะ คือศูนย์รวมแนวคิดเรื่องพรหมันก็ว่าได้ ส่วนแนวความคิดเรื่องจิตนิยมอย่างอื่นที่ไม่ใช่เรื่องพรหมัน หรือเน้นเรื่องตัวของจิตโดยตรงก็มี ได้แก่ปรัชญาโยคะ เป็นแนวคิดเรื่องจิตและพฤติกรรมของจิต นั่นคือ

เบื้องต้นของปรัชญาโยคะ อาจารย์ปตัญชลีได้ให้ความหมายของโยคะไว้ว่า โยคะ ได้แก่ความพยายามทางจิต เพื่อให้บรรลุถึงความสมบูรณ์เต็มที่ โดยวิธีควบคุมร่างกายและจิต และโดยวิธีปฏิบัติให้มีวิเวกญาณเกิดขึ้นเพื่อแยกปุรุษะออกจากประกฤติได้อย่างเด็ดขาด

คำว่า “จิต” ได้แก่ผลิตผลอันดับแรกของประกฤติ ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่ปุรุษะ (วิญญาณบริสุทธิ์) สะท้อนรัศมีเข้าไปหาประกฤติ จนเป็นเหตุให้เกิดคุณ 3 อย่างคือ สัตวะ (ความดี)รชะ (ความชั่ว) และตมะ(ความมืด) นั่นเอง ส่วนพฤติกรรมของจิตนั้น คือสภาวะของจิตที่ขยายตัวออกมาทำหน้าที่รับรู้อารมณ์ต่าง ๆ ปรัชญาโยคะแบ่งพฤติของจิตออกเป็น 5 ชนิดคือ

1. ประมาณ ได้แก่จิตที่ทำหน้าที่รับรู้อารมณ์อย่างถูกต้อง
2. วิปรยายะ ได้แก่จิตที่ทำหน้าที่รับรู้อารมณ์อย่างผิด ๆ
3. วิกัลปะ ได้แก่จิตที่ทำหน้าที่รับรู้อารมณ์ตามศัพท์ หรือแม้แต่ตามจินตนาการ
4. นิทรา ได้แก่จิตที่ไม่รับรู้อารมณ์ หรือจิตหลับ
5. สมฤติ ได้แก่จิตที่ทำหน้าที่จดจำอารมณ์ต่าง ๆ

2. กลุ่มนาสติกะ

คือกลุ่มที่ไม่นับถือหรือไม่ยอมรับว่าพระเจ้ามีอยู่จริง ไม่เชื่อในคัมภีร์พระเวท ไม่เชื่อในอำนาจของพระผู้เป็นเจ้า ในกลุ่มนี้มีสำนักปรัชญา 3 สำนักคือ จารวาก เชน และพุทธศาสนา ที่จัดเป็นจิตนิยมจริง ๆ แล้ว คงมีเฉพาะพระพุทธศาสนาเท่านั้น ส่วนปรัชญาจารวากนั้น เป็นสสารนิยม ส่วนปรัชญาเชนก็มีแนวความคิดเป็นทวินิยม กล่าวคือยอมรับทั้งจิตและสสาร ดังนั้น จึงขอกล่าวไว้เฉพาะพระพุทธศาสนาเท่านั้น

พุทธศาสนา (Buddhism) ได้เน้นเรื่องจิต โดยให้ความหมายของคำว่า “จิต” ว่า คือตัวที่ทำหน้าที่คิด หรือรู้อารมณ์ จิตจะเกิดขึ้นได้ก็อาศัยอารมณ์ เว้นจากอารมณ์จิตย่อมไม่เกิด ขึ้น ที่เรียกว่า จิต เพราะ

1. กระทำสิ่งทั้งหลายได้วิจิตร งดงาม เจริญก้าวหน้า
2. เพราะตัวมันเองเป็นสถานวิจิตร มีพลังมหาศาล ใช้ประโยชน์ได้มาก
3. เพราะสั่งสมกรรมและกิเลส สามารถเก็บผลการกระทำไว้
4. เพราะรักษาไว้ซึ่งอัตภาพอันวิจิตร ร่างกายอาศัยจิตใจดำรงอยู่
5. เพราะทำให้เกิดการสืบต่อ หรือดำรงอยู่แห่งตน
6. เพราะมีอารมณ์วิจิตร

ตามทัศนะของตะวันตก พระพุทธศาสนาที่จัดว่าเป็นจิตนิยมนั้น ได้แก่ปรัชญาสำนักวิชญานวาท หรือโยคาจาร ที่จัดเป็นจิตนิยมนั้น เพราะถือว่า ความจริงแท้ขั้นสูงสุดมีอย่างเดียวคือ วิญญาณหรือจิต ส่วนวัตถุหรือสสารทั้งปวง เป็นเพียงภาวะที่ปรากฏ มิใช่มีอยู่อย่างอิสระอย่างพวกสัจนิยมเข้าใจกัน เพราะสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากจิต เป็นอารมณ์ของจิต จึงแยกออกจากจิตไม่ได้ จิตหรือวิญญาณเกิดขึ้นมาพร้อมกับอารมณ์ของจิต อารมณ์จึงไม่ได้มีอยู่ต่างหากจากจิต เช่น ดอกกุหลาบกับความรู้เรื่องดอกกุหลาบ ไม่อาจแยกออกจากกันได้ เป็นต้น

ความหมายของปรัชญา
การนิยามความหมายของนักปรัชญา
ระบบปรัชญา
สาขาปรัชญา
อภิปรัชญาคืออะไร
ความหมายของอภิปรัชญา
ความเป็นมาของอภิปรัชญา
ความสัมพันธ์กับศาสตร์อื่นๆ
บ่อเกิดแนวความคิดทางอภิปรัชญา
หน้าที่ของอภิปรัชญา
ลักษณะและขอบเขตของอภิปรัชญา
ทฤษฎีทางอภิปรัชญา
ทฤษฎีสสารนิยม
ทฤษฎีจิตนิยม
ทฤษฎีเอกนิยม
ทฤษฎีทวินิยม
ทฤษฎีพหุนิยม
อภิปรัชญาว่าด้วยเอกภพ หรือธรรมชาติ
ทัศนะฝ่ายจิตนิยม
วิวัฒนาการของจิตนิยม
ทฤษฎีเอกนิยมฝ่ายจิตนิยม
ทฤษฎีพหุนิยมฝ่ายจิตนิยม
จิตนิยมทัศนะอภิปรัชญาตะวันตก
จิตนิยมทัศนะอภิปรัชญาตะวันออก
จิตนิยมในปรัชญาอินเดีย
ทัศนะฝ่ายสสารนิยม
ทฤษฎีพหุนิยมฝ่ายสสาร
สสารนิยมทัศนะอภิปรัชญาตะวันตก
สสารนิยมทัศนะอภิปรัชญาตะวันออก
ทัศนะฝ่ายธรรมชาตินิยม
ลักษณะและธรรมชาติของชีวิต
อภิปรัชญาว่าด้วยจิต หรือวิญญาณ
ความหมายของจิต มโน หรือวิญญาณ
การนิยามความหมายของฝ่ายตะวันตก
การนิยามความหมายของฝ่ายตะวันออก
ธรรมชาติของจิต มโน หรือวิญญาณ
วิญญาณเป็นพลังงาน
เจตจำนงเสรี (Free Will)
ความสัมพันธ์ระหว่างกายกับจิต
อมฤตภาพของวิญญาณ
ลัทธิเพลโต้ในทางอภิปรัชญา
ทัศนะของอริสโตเติ้ล (Aristotle)
ทัศนะของเบริ์คเล่ย์ (Berkeley)
อภิปรัชญาว่าด้วยพระเจ้า หรือสิ่งสัมบูรณ์
พระเจ้าคืออะไร
ความคิดรวบยอดเกี่ยวกับพระเจ้า
เทววิทยา
พิสูจน์ความมีอยู่ของพระเจ้า
เหตุผลทางจักรวาลวิทยา
เหตุผลทางเจตจำนง หรือวัตถุประสงค์
เหตุผลทางภววิทยา
เหตุผลทางจริยธรรม
นักปรัชญาฝ่ายอเทวนิยม (Atheism)
ทฤษฎีการสร้างโลก
จักรวาลวิทยา
ทัศนะของนักปรัชญาเกี่ยวกับพระเจ้า
บรรณานุกรม

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย