ปรัชญา อภิปรัชญา ญาณวิทยา จิตวิทยา ตรรกศาสตร์ >>

ศึกษาความหมายและความเป็นมาของวิชาปรัชญา

ทัศนะฝ่ายธรรมชาตินิยม

(Naturalism)

ธรรมชาตินิยม มีลักษณะที่ใกล้เคียงกับสสารนิยมมาก จนบางครั้งอาจบอกได้ว่าธรรมชาตินิยมเป็นพวกเดียวกับสสารนิยม แต่ก็มีส่วนที่แตกต่างกันคือ

สสารนิยม ถือว่า สสารเป็นความแท้จริง ชีวิตคือพลังงานทางฟิสิกส์และทางเคมีที่ซับซ้อน จิตคือปรากฏการณ์ของสมอง ส่วนธรรมชาตินิยม เน้นเรื่องพลังงาน กล่าวคือพลังงานเป็นความแท้จริงสุดท้าย และนำเอาวิทยาศาสตร์สาขาต่าง ๆ มาอธิบายเรื่องสสาร ชีวิตและจิต นั่นคือ

1. ใช้ฟิสิกส์และเคมี อธิบายเรื่องสสาร
2. ใช้ชีววิทยา อธิบายเรื่องชีวิต
3. ใช้จิตวิทยา อธิบายเรื่องจิต

แนวความคิดซึ่งยึดธรรมชาติเป็นหลัก ประกอบด้วยทัศนะต่าง ๆ เช่น

  1. ทัศนะที่ถือว่า ธรรมชาติเท่านั้นคือสิ่งที่เป็นจริงนิรันดร มีพลังกระตุ้นในตัว (Self - activating) ดำรงอยู่ได้ด้วยตัวเอง (Self – existent) มีทุกอย่างในตัวเอง (Self – contained) อาศัยตัวเอง (Self – dependent) ปฏิบัติการได้ด้วยตนเอง (Self – operating) และมีเหตุผลในตัว (Self – explanatory)
  2. ทัศนะที่ไม่ยอมรับอำนาจเหนือธรรมชาติ (Anti – supernaturalistic) โดยถือว่าปรากฏการณ์ทุก ๆ อย่างเป็นไปตามสภาวะความเกี่ยวพันที่มีต่อกันของเหตุการณ์ทางธรรมชาตินั้น ๆ เอง ไม่เกี่ยวข้องกับอำนาจเหนือธรรมชาติใด ๆ ทั้งสิ้น แต่เป็นกระบวนการธรรมชาติที่เกิดขึ้นเองตามกาละและเทศะ กล่าวคือธรรมชาตินี้มีโครงสร้างของตนเอง และโครงสร้างนั้นเกิดขึ้นได้เอง ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะอำนาจเหนือธรรมชาติ
  3. ทัศนะที่มีลักษณะนิยมวิทยาศาสตร์ (Prescientific) ได้แก่ทัศนะที่ถือว่า ปรากฏการณ์ธรรมชาติสามารถอธบายได้อย่างสมเหตุสมผลเพียงพอโดยใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ ความรู้จะเกิดขึ้นได้ก็โดยอาศัยวิธีการทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่มีความรู้ประเภทหนึ่งที่เรียกกันว่า อัชฌัตติกญาณ (Intuition) คือการรู้เองก็ดี ประสบการณ์เชิงรหัสยะ (Mystical experience) คือประสบการณ์เรื่องลึกลับก็ดี คติความเชื่อ (Faith) ก็ดี วิวรณ์ (Revelation) คือการที่พระเป็นเจ้าเปิดเผยความรู้ให้มนุษย์รับทราบก็ดี ไม่ถือว่าเป็นความรู้ที่ถูกต้อง

    แต่อย่างไรก็ดี แม้วิทยาศาสตร์จะเป็นวิธีการเดียวที่ทำให้มนุษย์รู้และข้าใจโลก แต่มนุษย์ก็มีประสบการณ์เกี่ยวกับโลกได้หลายทาง นอกเหนือจากการรู้และการเข้าใจ ธรรมชาตินิยมไม่ถือว่าการรู้และการเข้าโลกเป็นสิ่งสำคัญในการที่มนุษย์มีประสบการณ์เกี่ยวกับโลก
  4. ทัศนะที่ถือว่า มนุษย์เป็นสิ่งสิ่งหนึ่งในธรรมชาติ มิได้มีฐานะพิเศษเหนือกว่าสิ่งอื่น ๆ พฤติกรรมมนุษย์ก็คล้าย ๆ กับพฤติกรรมของสัตว์อื่น ๆ จะต่างกันก็ตรงที่มีความซับซ้อนมากกว่าเท่านั้นเอง อิทธิพลจากสังคมและสิ่งแวดล้อมทำให้พฤติกรรมของมนุษย์ผันแปรไปต่าง ๆ กัน คุณค่าเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเอง มิได้อาศัยสิ่งเหนือธรรมชาติเป็นหลัก

ธรรมชาตินิยม เป็นทฤษฎีที่อธิบายปรากฏการณ์ทางธรรมชาติบนพื้นฐานแห่งกฏธรรมชาติ ตามทัศนะของธรรมชาตินิยม ธรรมชาติคือความจริงสูงสุด ธรรมชาติย่อมอธิบายได้โดยวิถีทางแห่งการเคลื่อนไหวและพลัง ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ในธรรมชาติย่อมเกิดขึ้นเพราะมีการเคลื่อนไหวและกระแสคลื่นแห่งไฟฟ้า

ธรรมชาตินิยมยอมรับหลักการของการเคลื่อนไหวด้วยว่าเป็นความจริงสูงสุด เรียกว่า พลังนิยม (Energism) เพราะทฤษฎีนี้ยอมรับพลังว่าเป็นความจริงด้วย เพราะเชื่อว่าสิ่งธรรมชาติทั้งปวงคือรูปแบบที่แตกต่างกันของพลังเท่านั้น ทฤษฎีนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ปฏิฐานนิยม (Positivism) คือทฤษฎีที่เชื่อว่าปรากฏการณ์ทางธรรมชาติย่อมอยู่ภายใต้ขอบเขตของวิทยาศาสตร์ปฏิฐาน และปรากฏการณ์ทางธรรมชาตินี้ย่อมอธิบายได้ด้วยวิถีทางแห่งกฏทางวิทยาศาสตร์

สมัยเริ่มแรก กลุ่มธรรมชาตินิยมเชื่อว่า ปรากฏการณ์ธรรมชาติที่แตกต่างกันย่อมอธิบายได้บนพื้นฐานของฟิสิกส์และเคมี นักธรรมชาติสมัยใหม่ทำการแยกแยะทำให้เห็นความแตกต่างกันระหว่างกฏทั้งหลายที่ควบคุมชีวิตกับกฏที่กำหนดพืชและสิ่งทั้งหลายที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้

ปรัชญาธรรมชาตินิยมนี้ บางทีเรียกว่า “ปรัชญาสัจนิยม” (Realism) ซึ่งถือว่าความจริงคือสสารและพลังของสสาร ชีวิตคือพลังงานระดับสูงของสสาร จิตก็คือพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิต ธรรมชาตินิยมถือว่าธรรมชาติเป็นศูนย์กลางของสรรพสิ่ง โลกและชีวิตเกิดจากการรวมตัวของปรมาณู เป็นการรวมตัวและจัดระเบียบโดยธรรมชาติ ไม่มีผู้สร้าง

ธรรมชาตินิยม ได้นิยามสิ่งธรรมชาติเอาไว้ว่า “สิ่งธรรมชาติ คือสิ่งที่มีขึ้นและดับลงตามสาเหตุทางธรรมชาติ สรรพสิ่งดำรงอยู่ในระบบอวกาศ เวลา และในระบบทุกอย่างที่เป็นไปตามสาเหตุ กล่าวคือ มีเหตุและผลในการเกิดขึ้นของสรรพสิ่งในธรรมชาติ”

แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่เราเรียกว่าเป็นสิ่งธรรมชาตินั้น จะต้องประกอบด้วยลักษณะ 2 อย่างคือ

  1. จะต้องเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ในระบบอวกาศ และเวลา
  2. จะต้องเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและดับลง โดยมีสาเหตุ และสาเหตุนั้นก็คือสิ่งธรรมชาติด้วยกันนั่นเอง

ธรรมชาติประกอบด้วยพลังงาน ซึ่งมีหลายรูป เช่น ความร้อน แสงสว่าง และไฟฟ้า เป็นต้น พลังงานสามารถเปลี่ยนรูปกลับไปกลับมาได้ แต่เปลี่ยนได้เฉพาะคุณภาพเท่านั้น ปริมาณไม่เปลี่ยนแปลง แม้สสารก็เป็นพลังงาน เพราะสสารประกอบด้วยปรมาณู และปรมาณูประกอบด้วย อีเลคตรอน โปรตรอน และนิวตรอน ซึ่งเป็นพลังงานไฟฟ้า

ธรรมชาตินิยม มีความเชื่อว่า พลังงานเป็นความแท้จริงสุดท้าย ชีวิตมีการวิวัฒนาการมาจากสสารที่ไม่มีชีวิต เป็นไปตามกฎธรรมชาติ การปรับโครงสร้างและอวัยวะต่าง ๆ ของสัตว์เป็นไปเอง ไม่มีวัตถุประสงค์ใด ๆ แฝงอยู่

ในเรื่องของจิต ธรรมชาตินิยมเชื่อว่า จิตมีวิวัฒนาการมาจากชีวิตหรืออินทรีย์ขั้นสูง จิตเป็นปรากฏการณ์ของสมอง ถูกควบคุมด้วยกฎกลศาสตร์ ไม่มีอำนาจริเริ่มและมีเสรีภาพในตัวเอง

นักปรัชญาฝ่ายธรรมชาตินิยมส่วนมากจะเป็นพวกอเทวนิยม ไม่ได้เชื่อเรื่องพระเจ้า ที่บอกว่ามีพระเจ้า ก็เนื่องมาจากมนุษย์เป็นผู้สร้างพระเจ้าขึ้น ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นตามธรรมชาติ ปฏิเสธความเป็นอมตะของวิญญาณ และสิ่งเหนือธรรมชาติทั้งหลาย ดังนั้น จึงแสดงให้เห็นว่า ปรัชญาธรรมชาตินิยมยึดถือความคิดของวิทยาศาสตร์

ดังนั้น ปรัชญาธรรมชาตินิยม จึงเป็นปรัชญาที่อยู่กึ่งกลางระหว่างปรัชญาจิตนิยมและสสารนิยม กล่าวคือปรัชญาธรรมชาตินิยม มองว่าจิตนิยมและสสารนิยมมองโลกในแง่เดียว ธรรมชาตินิยมจึงพยายามประนีประนอมทั้งสองทัศนะเข้าด้วยกัน เพราะธรรมชาตินิยมมองว่ามนุษย์จะต้องมีทั้งร่างกายและจิตวิญญาณ ซึ่งมีความสำคัญเท่า ๆ กัน

อริสโตเติ้ล (Aristotle) นักปรัชญากรีกสมัยโบราณได้กล่าวแนวคิดเกี่ยวกับธรรมชาติไว้ว่า ธรรมชาติมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การเปลี่ยนแปลงในที่นี้เป็นการเปลี่ยนแปลง 3 อย่างคือ ชีวิต สสารและรูปแบบ เขาได้แบ่งสิ่งต่าง ๆ ออกเป็น 2 ชนิดคือ

  1. อนินทรียสาร (Imorganic Matter) ได้แก่สิ่งที่ไม่มีชีวิต เช่น ดิน หิน ทราย ฯลฯ มีการเปลี่ยนแปลงจากภายนอกสู่ภายใน เช่น ก้อนหิน แตกเป็นก้อนน้อยก้อนใหญ่ บ้านเรือนผุพังไปตามกาลเวลา หรือเพราะดินฟ้าอากาศ เป็นต้น
  2. อินทรียสาร (Organic Matter) ได้แก่สิ่งที่มีชีวิต มีการเปลี่ยนแปลงจากภายในสู่ภายนอก เช่น จากเด็กเป็นผู้ใหญ่ เป็นต้น

พุทธศาสนา (Buddhism) ถ้าจัดตามทัศนะของตะวันตก มี 2 สำนักที่จัดเป็นปรัชญาสัจนิยม (Realism) ได้แก่ สำนักไวภาษิกะ และสำนักเสาตราติกะ โดยที่ถือว่า วัตถุหรือสสาร เป็นจริงทั้งสองอย่าง วัตถุเป็นความจริงอย่างหนึ่ง เป็นสิ่งที่มีอยู่ควบคู่กับจิต หรือความจริงทางนามธรรม แต่ทั้งสองอย่างเป็นอิสระต่อกัน กล่าวคือ วัตถุหรือสสารมีลักษณะเป็นของตัวเอง ตั้งอยู่ได้ด้วยตัวเอง เราจะเข้าไปรับรู้หรือไม่ มันก็มีอยู่อย่างนั้น ไม่ได้เกิดจากความรู้สึกนึกคิด หรือการจินตนาการของจิตแต่อย่างใด

นักธรรมชาตินิยม 2 กลุ่ม

นักธรรมชาตินิยมร่วมสมัย อาจแบ่งเป็น 2 กลุ่มได้แก่

1. กลุ่มขวา คือกลุ่มคนใจอ่อน (tender - minded)
2. กลุ่มซ้าย คือกลุ่มคนใจแข็ง (tough - minded)

นักธรรมชาตินิยมกลุ่มใจแข็งนั้น มีเจตนารมณ์ใกล้เคียงกันมากกับนักปรัชญาสสารนิยมรุ่นเก่าคือ พวกที่มีทัศนะไม่แตกต่างกันในเรื่องค่านิยมทางศาสนา หรือไม่เห็นด้วยกับผู้ที่พยายามดึงศาสนาเข้าไปรวมไว้ในโลกทัศน์ของธรรมชาตินิยม

ส่วนนักปรัชญาธรรมชาตินิยมกลุ่มใจอ่อน กลับเห็นใจศาสนาคือ โดยปกติกลุ่มนี้ปฏิเสธรูปแบบของศาสนาตามทางราชการ หรือตามประเพณี แต่เขาเชื่อว่า ค่านิยมทางศาสนา มีความสำคัญและสามารถรวมไว้ในปรัชญาธรรมชาตินิยมได้

ความหมายของปรัชญา
การนิยามความหมายของนักปรัชญา
ระบบปรัชญา
สาขาปรัชญา
อภิปรัชญาคืออะไร
ความหมายของอภิปรัชญา
ความเป็นมาของอภิปรัชญา
ความสัมพันธ์กับศาสตร์อื่นๆ
บ่อเกิดแนวความคิดทางอภิปรัชญา
หน้าที่ของอภิปรัชญา
ลักษณะและขอบเขตของอภิปรัชญา
ทฤษฎีทางอภิปรัชญา
ทฤษฎีสสารนิยม
ทฤษฎีจิตนิยม
ทฤษฎีเอกนิยม
ทฤษฎีทวินิยม
ทฤษฎีพหุนิยม
อภิปรัชญาว่าด้วยเอกภพ หรือธรรมชาติ
ทัศนะฝ่ายจิตนิยม
วิวัฒนาการของจิตนิยม
ทฤษฎีเอกนิยมฝ่ายจิตนิยม
ทฤษฎีพหุนิยมฝ่ายจิตนิยม
จิตนิยมทัศนะอภิปรัชญาตะวันตก
จิตนิยมทัศนะอภิปรัชญาตะวันออก
จิตนิยมในปรัชญาอินเดีย
ทัศนะฝ่ายสสารนิยม
ทฤษฎีพหุนิยมฝ่ายสสาร
สสารนิยมทัศนะอภิปรัชญาตะวันตก
สสารนิยมทัศนะอภิปรัชญาตะวันออก
ทัศนะฝ่ายธรรมชาตินิยม
ลักษณะและธรรมชาติของชีวิต
อภิปรัชญาว่าด้วยจิต หรือวิญญาณ
ความหมายของจิต มโน หรือวิญญาณ
การนิยามความหมายของฝ่ายตะวันตก
การนิยามความหมายของฝ่ายตะวันออก
ธรรมชาติของจิต มโน หรือวิญญาณ
วิญญาณเป็นพลังงาน
เจตจำนงเสรี (Free Will)
ความสัมพันธ์ระหว่างกายกับจิต
อมฤตภาพของวิญญาณ
ลัทธิเพลโต้ในทางอภิปรัชญา
ทัศนะของอริสโตเติ้ล (Aristotle)
ทัศนะของเบริ์คเล่ย์ (Berkeley)
อภิปรัชญาว่าด้วยพระเจ้า หรือสิ่งสัมบูรณ์
พระเจ้าคืออะไร
ความคิดรวบยอดเกี่ยวกับพระเจ้า
เทววิทยา
พิสูจน์ความมีอยู่ของพระเจ้า
เหตุผลทางจักรวาลวิทยา
เหตุผลทางเจตจำนง หรือวัตถุประสงค์
เหตุผลทางภววิทยา
เหตุผลทางจริยธรรม
นักปรัชญาฝ่ายอเทวนิยม (Atheism)
ทฤษฎีการสร้างโลก
จักรวาลวิทยา
ทัศนะของนักปรัชญาเกี่ยวกับพระเจ้า
บรรณานุกรม

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย