ปรัชญา อภิปรัชญา ญาณวิทยา จิตวิทยา ตรรกศาสตร์ >>

ศึกษาความหมายและความเป็นมาของวิชาปรัชญา

จิตนิยมทัศนะอภิปรัชญาตะวันตก

นักปรัชญาตะวันตกที่มีแนวคิดเกี่ยวกับจิตนิยมนั้นมีมากมาย จะกล่าวไว้ในที่นี้เฉพาะนักปรัชญาที่เด่น ๆ ดังต่อไปนี้

1. เพลโต้ (Plato : 427 -347 ก่อนค.ศ.)

ด้านอภิปรัชญา เพลโต้ ในฐานะที่เป็นนักปรัชญาจิตนิยม ท่านได้แบ่งโลกออกเป็น 2 อย่างคือ

  1. โลกที่ปรากฏ หรือโลกทางประสาทสัมผัส (The world of sense - perception) หมายถึงโลกที่ปรากฏทางประสาทสัมผัส หรือโลกที่เราสามารถมองเห็นได้ เป็นเพียงลักษณะที่ปรากฏต่อเราคล้ายกับว่าเป็นลักษณะที่แท้จริง และที่ปรากฏอย่างไรนั้น แล้วแต่เราจะมองจากแง่ไหน เป็นโลกที่ไม่เที่ยงแท้ เป็นการลอกเลียนแบบมาจากโลกแห่งแบบที่ไม่สมบูรณ์ และมีการเปลี่ยนแปลง
  2. โลกแห่งความคิด หรือแบบ (The transcendent world of Ideas or Form) เพลโต้ ถือว่า โลกที่อยู่เหนือประสาทสัมผัส เป็นโลกที่จริงกว่าโลกที่เราประจักษ์อยู่ในชีวิตประจำวัน โลกที่อยู่เหนือประสาทสัมผัสนั้น เป็นโลกที่แท้จริงทางภววิทยา

เพลโต้อธิบายว่า โลกแห่งแบบเท่านั้นที่เป็นจริง เป็นสิ่งที่เที่ยงแท้ และเป็นต้นแบบของโลกแห่งประสาทสัมผัส นั่นก็คือโลกแห่งผัสสะนั้น เป็นเพียงเงาหรือลอกแบบมาจากของโลกแห่งแบบ

ในเรื่องนี้ เพลโต้ได้ตั้งทฤษฎีแห่งแบบขึ้น เรียกว่า Theory of Form หรือ Theory of Ideas ทฤษฎีมโนคติ โดยท่านได้ใช้อธิบายสรรพสิ่งในโลกว่า สรรพสิ่งที่ปรากฏต่อเรา หรือที่เราสัมผัสได้นั้น เกิดมาจากโลกแห่งมโนคติ ซึ่งเป็นแบบที่ตายตัวของแต่ละอย่าง เช่น คน มีจำนวนมากมาย ก็มีแบบที่สากลของคน เป็นคนสากล (Universe Man) ไม่มีลักษณะเป็นชาย หญิง เด็ก ผู้ใหญ่ ไม่ใช่คนนั้นคนนี้ แต่เป็นคนรวม ๆ หรือต้นไม้ก็มีแบบสากลของต้นไม้ ไม่ใช้ต้นสัก ต้นยาง ต้นจามจุรี เป็นต้น

สิ่งที่แยกออกมาจากโลกแห่งแบบนั้น จะมีการเปลี่ยนแปลง ไม่เที่ยงแท้ถาวร เช่น นายดำ ตอนเกิดใหม่ ๆ ก็เป็นเด็ก แล้วโตขึ้นเป็นเด็กรุ่น คนหนุ่ม คนวัยกลางคน คนแก่ และตายไปในที่สุด ไม่เที่ยงแท้แน่นอน แต่ความเป็นคนของนายดำยังเหลืออยู่ ความเป็นคนนี่แหละคือ โลกแห่งมโนคติ หรือโลกแห่งแบบ ดังนั้น ความหมายของมโนคติก็คือ ความคิดรวบยอดที่มีต่อรูปธรรม และนามธรรมทั้งหลาย

คุณลักษณะของแบบหรือมโนภาพ

  1. แบบเป็นสารัตถะ หมายถึงสภาวะที่สมบูรณ์โดยตัวเองอยู่เหนือปัจจัยปรุงแต่งทั้งหลาย ไม่ถูกสิ่งใดทำให้เกิด แต่เป็นปัจจัยให้เกิดสิ่งอื่น ๆ
  2. แบบเป็นสากล กล่าวคือไม่เจาะจง เฉพาะสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่นแบบของม้าก็ไม่ใช่ของม้าตัวใดตัวหนึ่ง แต่หมายถึงม้าทั่วไป นั่นเองแบบของม้า
  3. แบบเป็นความคิดไม่ใช่สิ่งของหรือวัตถุ เพราะหากเป็นวัตถุหรือสิ่งของก็ต้องพบในที่ใดที่หนึ่ง ที่เรียกว่าเป็นความคิดก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นความคิดที่คนคิดขึ้นมาเอง แต่เป็นความคิดที่เป็นแบบจะต้องเป็นจริงโดยตัวของมันเองและมาจากโลกแห่งแบบ
  4. แบบแต่ละอย่างเป็นเอกลักษณ์ กล่าวคือมีเพียงหนึ่งในท่ามกลางสิ่งที่มาร่วมแบบมากหลาย เช่น แบบของคนมีเพียงหนึ่งเดียว ทั้ง ๆ ที่มีคนเป็นจำนวนมาก และไม่มีแบบมากกว่าหนึ่ง สำหรับเรื่องแต่ละอย่าง
  5. แบบไม่มีการเปลี่ยนแปลง สิ่งต่าง ๆ ในโลกเกิดขึ้นแล้วล้วนแตกสลายไป แต่แบบไม่มีการแตกสลาย คงนิรันดร ไม่ผันแปร เช่น แบบของคน แม้คนจะตายไป แต่แบบไม่ตายไปกับคนด้วย
  6. แบบอยู่เหนือ กาละ และเทศะ กล่าวคือ หากแบบอยู่ในกาล จะต้องเปลี่ยนแปลง หากอยู่ในเทศะก็จะพบได้ในที่ใดที่หนึ่ง
  7. แบบเป็นเหตุผล นั่นเองจะรู้ได้ด้วยเหตุผล หรือทางปัญญาเท่านั้น

สำหรับทรรศนะเกี่ยวกับมนุษย์ของเพลโต้นั้น เขาเชื่อว่า ธรรมชาติของมนุษย์มี 2 อย่างคือ กายกับจิต ร่างกายอยู่ภายใต้การบังคับของจิต การแสดงออก พฤติกรรม และนิสัยใจคอของมนุษย์จะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่ที่จิตเป็นผู้สั่งให้เป็นไป

จิตทำหน้าที่ 3 อย่างหรือจิตมี 3 ภาค ดังนี้

  1. ภาคตัณหา (Appetitive Soul) ได้แก่ส่วนที่มีความต้องการ หรือความอยาก เป็นความต้องการทางร่างกาย
  2. ภาคน้ำใจ (Spirited Soul) ได้แก่ส่วนที่มีอารมณ์ซึ่งเป็นส่วนที่ควบคุมร่างกาย เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ภาคอารมณ์ เป็นลักษณะที่เกิดขึ้นโดยไม่อาศัยวัตถุ เช่น เรื่องของความมีระเบียบ ความกล้าหาญ ความมีเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ เป็นต้น
  3. ภาคเหตุผล (Rational Soul) ได้แก่ส่วนที่มีเหตุผล ซึ่งมีสติปัญญามาแต่กำเนิด เป็นส่วนที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์เดรัจฉาน เป็นส่วนที่ทำให้มนุษย์รู้จักความจริง

2. อริสโตเติ้ล (Aristotle : 384 - 322 ก่อนค.ศ.)

อริสโตเติ้ล ถือว่า วิญญาณเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง เป็นเนื้อสารทางจิต แต่เป็นเพียงรูปแบบที่จัดระบบร่างกาย วิญญาณทำหน้าที่ 2 อย่างคือ

  1. หน้าที่ระดับต่ำ ได้แก่การรับรู้ การจำ การจินตนาการ และการจงใจ ซึ่งมีการสูญสลายไปเมื่อร่างกายแตกดับ
  2. หน้าที่ระดับสูง ได้แก่การการคิดหาเหตุผล เป็นอมตะ ไม่สูญสลาย

นอกจากนั้น อริสโตเติ้ล ยังได้แบ่งวิญญาณของสิ่งมีชีวิตออกเป็น 3 ชนิดคือ

  1. วิญญาณของพืช ซึ่งมีชีววิญญาณ หรือกายวิญญาณ (Vegetative or Appetitive Soul) มีความต้องการพลัง ต้องการอาหาร การเจริญเติบโต และการขยายพันธุ์ เป็นวิญญาณระดับต่ำสุด
  2. วิญญาณของสัตว์เดรัจฉาน ซึ่งมีผัสสวิญญาณ หรือจิตวิญญาณ หรือวิญญาณสัตว์ (Sensitive or Spirited Soul) มีความต้องการพลัง ต้องการอาหาร การเจริญเติบโต และการขยายพันธุ์ เช่นเดียวกับพืช
  3. วิญญาณของมนุษย์ ซึ่งมีมนัสวิญญาณ หรือพุทธิวิญญาณ หรือวิญญาณมนุษย์ (Intellective Soul) มนุษย์ประกอบด้วยวิญญาณที่พิเศษ นอกจากจะประกอบด้วยวิญญาณแบบพืชและสัตว์แล้ว ยังมีปัญญาคิดหาเหตุผลอีกด้วย มนุษย์จึงแตกต่างจากสัตว์ตรงที่มีเหตุผลและรู้จักคิด (Man is thinking animal)

3. เดส์การ์ตส์ (Rene Descarstes : 1596 - 1650)

ในเรื่องเกี่ยวกับจิต เดส์การ์ตส์เป็นทวินิยม ให้ทัศนะว่า กาย กับจิต เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง และเป็นคนละอย่างกัน กาย เป็นสสาร หรือรูปธรรม ส่วนจิต เป็นอสสาร หรือเป็นนามธรรม แต่ทั้งสองอย่างมีปฏิกริยาต่อกัน กล่าวคือ กิจกรรมของกายก่อให้เกิดกิจกรรมของจิต และกิจกรรมของจิตก็ก่อให้เกิดกิจกรรมทางกาย เพราะทั้งกายและจิตมีความจริงเท่ากัน และมีอิทธิพลต่อกัน ที่เรียกลักษณะเช่นนี้ว่า “อันตรกิริยานิยม” (Interactionism) เช่น เมื่อเรารู้สึกกลัว หัวใจก็จะเต้นแรง แสดงว่าจิตมีอิทธิพลต่อกาย หรือเมื่ออยู่ในห้องที่ร้อนอบอ้าว จะรู้สึกหงุดหงิด แสดงว่ากายมีอิทธิพลต่อจิต อีกอย่างหนึ่งความรู้สึกเสียใจ ทำให้น้ำตาไหล แสดงว่าจิตมีอิทธิพลต่อกาย หรือมีดบาดมือ ทำให้เกิดความเจ็บปวด แสดงว่ากายมีอิทธิพลต่อจิต เหล่านี้เป็นต้น

เดส์การ์ตส์ได้พิสูจน์ความมีอยู่ของจิต ด้วยทฤษฎีความสงสัย ตามมูลบทกล่าวคือ

1. ข้าพเจ้ามีความสงสัย (I doubt)
2. เมื่อข้าพเจ้าสงสัย ก็ต้องมีผู้สงสัย (I doubt, therefore, doubter exists)
3. เมื่อมีผู้สงสัย ก็จะต้องมีผู้คิด (Doubter exists, therefore, thinker exists)
4. เพราะฉะนั้น ผู้คิดก็ต้องมีอยู่ (Therefore thinker exists)

คำว่า “ผู้คิด” ในที่นี้หมายถึง “จิต” จึงเป็นสิ่งที่ต้องมีอยู่ ดังที่เดส์การ์ตส์ได้สรุปไว้ว่า “ข้าพเจ้าคิด ข้าพเจ้าจึงมีอยู่” ( I think, therefore, I am)

4. ยอร์จ เบิร์คเล่ย์ (George Berkeley : 1685 - 1753)

เบิร์คเล่ย์ (George Berkeley) เป็นนักปรัชญาประสบการณ์นิยมชาวไอแลนด์ เขายอมรับว่า คุณสมบัติของวัตถุภายนอกโลก หรือประสบการณ์ต่าง ๆ นั้น ขึ้นอยู่กับจิตของผู้รับรู้ สิ่งที่เรารู้ในขณะนี้และทุกอย่างที่จะรู้ต่อไปภายหน้าก็คือสภาวะจิตของเรานั่นเอง ซึ่งใช้คำว่า “ความคิด” หรือ “จินตภาพ” (Ideas)

เบิร์คเล่ย์ เป็นนักปรัชญาประสบการณ์นิยม แต่เขาก็ยอมรับว่า ความคิดหรือจินตภาพ ซึ่งเกิดจากจิตก็เป็นความจริงด้วยเช่นเดียวกัน จึงเป็นเหตุให้เขาถูกเรียกว่า “นักปรัชญาจิตนิยม” ด้วยเช่นกัน เขาเชื่อว่า วัตถุทั้งหลายพร้อมทั้งคุณสมบัติทุกอย่างของมัน ไม่ว่าจะเป็นปฐมภูมิและทุติยภูมิ ล้วนขึ้นอยู่กับการรับรู้ของจิตพร้อมกับวัตถุ จึงไม่ได้มีความเป็นจริงในตัวเอง เป็นแต่เพียงความคิดของจิตมนุษย์เท่านั้น นั่นหมายถึงว่า แก่นแท้ของวัตถุคือการถูกรู้ด้วยจิต บางครั้งแนวความคิดของเบิร์คเล่ย์ อาจถูกเรียกว่า “อสสารนิยม” (Immaterialism) นั่นคือ ทุกสิ่งที่เรารับรู้ ได้เป็นเพียงความคิดอันหนึ่ง เพราะความคิดต่างๆ เป็นเรื่องของจิตทั้งนั้น

อาจกล่าวได้ว่า เบิร์คเล่ย์ เป็นนักปรัชญาจิตนิยม (Spiritualism) เพราะเน้นหลักของจิต หรือการรับรู้ในวัตถุภายนอก สิ่งที่ทำให้คนเรารับรู้วัตถุภายนอกได้ก็คือจิต ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ที่จิตหรือแนวความคิดเกี่ยวกับวัตถุนั้น ๆ

เบิร์คเล่ย์ ได้สรุปไว้ว่า เขาปฏิเสธความมีอยู่ของสสาร เน้นเฉพาะจิต หรือความคิดเกี่ยวกับวัตถุนั้น ๆ เท่านั้น เขาเรียกปรัชญาของตนเองว่า “จิตนิยมแบบอัตนัย” (Subjective Idealism) เบิร์คเล่ย์เน้นหลักของความคิดที่เป็นนามธรรม ความคิดนี่แหละที่เขาเรียกว่าประสบการณ์ อย่างประสบการณ์การเห็น เขาก็ใช้คำว่า ความคิดที่เป็นความเห็น

5. ยอร์จ วิลเฮลม ฟรีดรีช เฮเกล (Georg Wilhelm Friedrich Hegel : 1170 – 1831)

เฮเกล (Hegel) เป็นนักปรัชญาจิตนิยมชาวเยอรมัน เขาเชื่อว่า เอกภพทุกอย่างที่ ปรากฏอยู่ในโลกแห่งประสบการณ์นั้น เป็นเพียงมายา แต่มายาไม่ถือว่าไร้ประโยชน์ เพราะมายานั้นจะต้องมีการสัมพันธ์กันไปในเอกภพสัมพัทธ์ สิ่งที่มีชีวิต มีการเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงและวิวัฒนาการไปเรื่อย ๆ เพราะเฮเกลเชื่อว่า ทุกอย่างที่เป็นจริงนั้น จะต้องมีการเคลื่อนไหวและรู้จักพัฒนา และทุกส่วนนั้นจะต้องสัมพันธ์กันทั้งหมด การเข้าถึงความจริงจะต้องอาศัยหลักทางตรรกวิทยา

เฮเกล ถือว่า ความแท้จริงมีเพียงจิตดวงเดียว เรียกว่า สิ่งสัมบูรณ์ (The Absolute) เพราะเป็นต้นตอหรือต้นกำเนิดแห่งจิตทั้งปวง ลักษณะของจิตคือหยุดนิ่งไม่ได้ จะต้องมีกิจกรรมอยู่ตลอดเวลา ถ้าไม่เช่นนั้น จิตจะไม่มีตัวตน ไม่เรียกว่า จิต การเคลื่อนที่ของจิตนั้นเป็นการพัฒนาแบบปฏิพัฒนาการ (Dialectic) แบ่งออกเป็น 3 ระยะคือ

1. จิตดั้งเดิม เป็นจิตที่บริสุทธิ์ (Thesis)
2. จิตขัดแย้ง ซึ่งแสดงตัวออกมาเป็นสสาร (Anti – Thesis)
3. จิตสังเคราะห์ เป็นสสารสำนึกตัวเองว่าเป็นจิต (Synthesis)

ในทัศนะของเฮเกล สิ่งสัมบูรณ์ (The Absolute) มีภาวะอย่างปรมาตมันหรือวิญญาณสากลของพราหมณ์ เพราะเขาถือว่า สิ่งสัมบูรณ์นั้น เป็นภาวะที่อยู่อย่างบริสุทธิ์ ในอาณาจักรแห่งความคิดบริสุทธิ์ โดยที่เขาถือว่าสรรพสิ่งทุกอย่าง ล้วนแล้วแต่เกิดจากจิต จิตทำหน้าที่รวบรวมเอาสรรพสิ่งและสรรพปรากฎการณ์ เหมือนดั่งฟิล์มภาพยนตร์ที่เก็บภาพต่าง ๆ เอาไว้ จิตก็ทำหน้าที่อย่างนี้เรียกว่า “จิตสัมบูรณ์” ดังนั้น สิ่งสัมบูรณ์ในแนวความคิดของเฮเกลก็คือจิตนั่นเอง

เฮเกล กล่าวว่า วิญญาณเป็นอนันตะ คือไม่จำกัด แต่ที่มีอยู่ในโลกไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ เพราะอาศัยอยู่ในร่างกายที่ถูกจำกัด วิญญาณจะทำหน้าที่สมบูรณ์ก็ต่อเมื่อตายไปแล้ว

เราสามารถสรุปแนวคิดของเฮเกลได้ดังนี้

1. ความคิด เป็นพื้นฐานของสรรพสิ่ง เพราะสิ่งทั้งหลายเกิดมาจากจิตดวงเดียว
2. ปรากฏการณ์ทั้งหลายอาศัยจิต หรือเหตุผลขั้นสูง จิตเป็นตัวเปลี่ยนแปลงธรรมชาติ
3. การทำงานของจิต อาศัยความคิด

6. อิมมานูเอล ค้านท์ (Immanuel Kant : 1724 - 1804)

ค้านท์ เป็นตัวแทนของทฤษฎีจิตนิยมอปรากฏการณ์ เขาได้แบ่งสิ่งทั้งปวงออกเป็น 2 อย่างคือ

  1. สิ่งที่ปรากฏหรือปรากฏการณ์ เราสามารถรู้ได้ด้วยเหตุผลทางทฤษฎี เหตุอ้างอิง
  2. สิ่งที่ไม่ปรากฏหรืออปรากฎการณ์ หรือสิ่งในตัวเอง เราไม่สามารถรู้ธรรมชาติของมันได้ เรารู้เพียงว่ามันเป็นสิ่งที่มีอยู่ สิ่งในตัวเองสร้างเพทนาการขึ้นในจิต จิตจัดเพทนาการให้เป็นระบบด้วยการคิดหาเหตุผล ดังนั้น ความรู้ก็คือการที่จิตจัดเพทนาการให้เป็นระบบนั่นเอง

ทฤษฎีของค้านท์ที่จัดเป็นจิตนิยม เพราะเชื่อว่า โลก วิญญาณและพระผู้เป็นเจ้าเป็นเพียงมโนภาพหรือความคิด เพทนาการซึ่งเป็นเนื้อหาของความรู้ก็เป็นความคิด และการคิดหาเหตุผลก็เกิดจากจิตและทำหน้าที่ภายในจิต ทฤษฎีของค้านท์ที่จัดเป็นปรากฏการณ์นิยม เพราะเชื่อว่าเรารู้ได้เพราะปรากฏการณ์ ส่วนอปรากฎการณ์เราไม่สามารถรู้ได้

ความหมายของปรัชญา
การนิยามความหมายของนักปรัชญา
ระบบปรัชญา
สาขาปรัชญา
อภิปรัชญาคืออะไร
ความหมายของอภิปรัชญา
ความเป็นมาของอภิปรัชญา
ความสัมพันธ์กับศาสตร์อื่นๆ
บ่อเกิดแนวความคิดทางอภิปรัชญา
หน้าที่ของอภิปรัชญา
ลักษณะและขอบเขตของอภิปรัชญา
ทฤษฎีทางอภิปรัชญา
ทฤษฎีสสารนิยม
ทฤษฎีจิตนิยม
ทฤษฎีเอกนิยม
ทฤษฎีทวินิยม
ทฤษฎีพหุนิยม
อภิปรัชญาว่าด้วยเอกภพ หรือธรรมชาติ
ทัศนะฝ่ายจิตนิยม
วิวัฒนาการของจิตนิยม
ทฤษฎีเอกนิยมฝ่ายจิตนิยม
ทฤษฎีพหุนิยมฝ่ายจิตนิยม
จิตนิยมทัศนะอภิปรัชญาตะวันตก
จิตนิยมทัศนะอภิปรัชญาตะวันออก
จิตนิยมในปรัชญาอินเดีย
ทัศนะฝ่ายสสารนิยม
ทฤษฎีพหุนิยมฝ่ายสสาร
สสารนิยมทัศนะอภิปรัชญาตะวันตก
สสารนิยมทัศนะอภิปรัชญาตะวันออก
ทัศนะฝ่ายธรรมชาตินิยม
ลักษณะและธรรมชาติของชีวิต
อภิปรัชญาว่าด้วยจิต หรือวิญญาณ
ความหมายของจิต มโน หรือวิญญาณ
การนิยามความหมายของฝ่ายตะวันตก
การนิยามความหมายของฝ่ายตะวันออก
ธรรมชาติของจิต มโน หรือวิญญาณ
วิญญาณเป็นพลังงาน
เจตจำนงเสรี (Free Will)
ความสัมพันธ์ระหว่างกายกับจิต
อมฤตภาพของวิญญาณ
ลัทธิเพลโต้ในทางอภิปรัชญา
ทัศนะของอริสโตเติ้ล (Aristotle)
ทัศนะของเบริ์คเล่ย์ (Berkeley)
อภิปรัชญาว่าด้วยพระเจ้า หรือสิ่งสัมบูรณ์
พระเจ้าคืออะไร
ความคิดรวบยอดเกี่ยวกับพระเจ้า
เทววิทยา
พิสูจน์ความมีอยู่ของพระเจ้า
เหตุผลทางจักรวาลวิทยา
เหตุผลทางเจตจำนง หรือวัตถุประสงค์
เหตุผลทางภววิทยา
เหตุผลทางจริยธรรม
นักปรัชญาฝ่ายอเทวนิยม (Atheism)
ทฤษฎีการสร้างโลก
จักรวาลวิทยา
ทัศนะของนักปรัชญาเกี่ยวกับพระเจ้า
บรรณานุกรม

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย