ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการถ่ายภาพ
ชนิดของเลนส์
ในการทำความเข้าใจเลนส์ ต้องเข้าใจทางยาวของโฟกัส (Focal Length) ของเลนส์ก่อน ทางยาวโฟกัส คือ ระยะความยาวจากจุดกึ่งกลางของเลนส์ถึงระนาบ ของฟิล์ม เมื่อเลนส์นั้นตั้งความคมชัดที่ระยะไกลสุดขอบฟ้า หรือ อินฟินิตี้ (Infinity) ทางยาวโฟกัสจะเป็นตัวกำหนดมุมของภาพที่ถ่าย เช่น ถ้าทางยาวโฟกัสของเลนส์นั้น สั้นจะได้ภาพถ่ายที่มีมุมกว้าง ทำให้เห็นทิวทัศน์ และวัตถุมากขึ้น แต่ระยะทางของวัตถุหรือทิวทัศน์จะไกลออกไปในทางตรงกันข้ามถ้ากล้องนั้นมีความยาวโฟกัสยาว มุมของภาพถ่ายจะแคบซึ่งทำให้ดูเหมือนวัตถุและทิวทัศน์ในภาพใกล้เข้ามาและแออัดกันอยู่ในภาพมาก หากยึดทางยาวโฟกัสเป็นเกณฑ์แล้ว สามารถแบ่งชนิด ของเลนส์ออกเป็น 3 ชนิดคือ
1. เลนส์ปกติ (Normal Lens, Standard Lens)
เป็นเลนส์ที่มีความสามารถรับภาพได้ ขนาดเท่ากับที่ตามนุษย์มองเห็น
ไม่ว่าจะเป็นด้านกว้างหรือด้านยาว รวมทั้งระยะความใกล้ไกลพอ ๆ กับการรับรู้ทางตา
ของมนุษย์ โดยปกติความยาวโฟกัสของเลนส์ที่ใช้กับกล้อง 35 มม . คือ 43-55 มม .
มีมุมรับภาพอยู่ระหว่าง 45 ถึง 50 องศา ส่วนเลนส์ปกติของกล้อง 6x6 ซม .
มีทางยาวโฟกัส 75-80 มม . และของกล้องวิว ขนาดฟิล์ม 4x5 นิ้ว มีทางยาว โฟกัส 150 มม
. นอกจากทางยาวโฟกัสแล้วเลนส์ยังบอกค่าความสามารถที่จะให้แสงผ่านไปได้มากที่สุด
เท่าใด ซึ่งเรียกว่าเอฟสตอป (F-Stop) หรือ เอฟนัมเบอร์ (F-Number)
ถ้าตัวเลขที่บอกเอาไว้ค่ายิ่งน้อย แสดงว่าเลนส์นั้น มีประสิทธิภาพสูง
ที่ยอมให้แสงผ่านได้มากนั่นเอง
2. เลนส์มุมกว้าง (Wide Field lens, Wide Angle Lens, Short lens)
เป็นเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสสั้นกว่าเลนส์ปกติ ถ้าใช้กับกล้อง 35 มม .
เลนส์มุมกว้างจะมีทางยาวโฟกัสเพียง 35 มม . หรือต่ำกว่านั้น
การรับภาพจะรับได้มุมตั้งแต่ 60-180 องศา กล้อง 6x6 ซม .
มีทางยาวโฟกัสของเลนส์ต่ำกว่า 50 มม . และสำหรับกล้องวิว 4x5 ซม . ประมาณต่ำกว่า
100 มม . เลนส์ชนิดนี้ให้ความชัดเจนลึกมากกว่าเลนส์ปกติ
ใช้เลนส์ชนิดนี้ในกรณีที่ต้องการถ่ายภาพที่ ระยะระหว่างวัตถุกับกล้องมีจำกัด หรือ
ใช้กับงานที่ต้องการเน้นลักษณะบางส่วน และข่มบางส่วนให้เป็นรองไป
ข้อเสียของเลนส์มุมกว้างนี้ ก็คือ ภาพที่ได้จะผิดจากความเป็นจริงไป
สิ่งใดที่อยู่ใกล้กล้องจะดูใหญ่โต สิ่งใดที่ห่างจะเล็กไม่ได้สัดส่วนกัน
อย่างไรก็ตามเลนส์มุมกว้าง ยังแบ่งประเภทออกไปได้ 5 ประเภท คือ
- เลนส์มุมกว้างปานกลาง (Moderate Wide Angle Lens) มีทางยาวโฟกัสระหว่าง 25-40 มม . มีมุมรับภาพ 62-82 องศา เลนส์มุมกว้างปานกลาง ที่นิยมใช้มาก คือ ขนาด 35 มม . และ 28 มม .
- เลนส์มุมกว้างพิเศษภาพตรง (Recti linear Super Wide angle lens) มีทางยาวโฟกัสระหว่าง 15-24 มม . รับภาพมุมกว้าง 180-220 องศา
- เลนส์มุมกว้างพิเศษภาพโค้ง (Semi Fish Eye Super Wide angle Lens) มีทางยาวโฟกัสระหว่าง 15-24 มม . เช่นกัน มีมุมรับภาพกว้าง 160 องศา และได้ภาพเส้นตรงปรากฏออกมาเป็นเส้นโค้งงอหมดโดยเฉพาะริมขอบภาพจะบวมโป่งออกมาคล้ายถังเบียร์ จะใช้เลนส์นี้เมื่อต้องการภาพลักษณะพิเศษ เพื่อจุดมุ่งหมายบางอย่างเท่านั้น
- เลนส์มุมกว้างพิเศษ ภาพโค้งวงกลม (Fish Eye Lens) มีความยาวโฟกัส 1.9-12 มม . รับภาพมุมกว้าง 180-220 องศา เมื่อใช้เลนส์ชนิดนี้ภาพที่จะได้ มีสัดส่วนผิดไปจากความเป็นจริงมาก มีความคมชัดเกือบเท่ากันตลอดภาพแต่ไม่คมชัดเท่าที่ควร ภาพที่ได้เป็นวงกลมคล้ายจาน
- เลนส์มุมกว้างพิเศษมาก (Peri Apollar Wide Angle Lens) เลนส์ชนิดนี้สามารถรับภาพได้มีมุมกว้างถึง 360 องศา รอบตัวผู้ถ่าย
3. เลนส์มุมแคบ (Narrow Angle Lens) หรือเรียกว่าเทเลโฟโต้ (Telephoto
Lens) เลนส์ชนิดนี้มีความยาวโฟกัสยาวกว่าเลนส์ธรรมดา และมีมุมถ่ายภาพ แคบมาก
จึงทำให้ภาพที่ได้มีขนาดใหญ่กว่าภาพที่ถ่ายด้วยเลนส์ปกติ
ดังนั้นจึงอาจเรียกว่าเลนส์ดึงภาพก็ได้
เลนส์ชนิดนี้เหมาะสำหรับถ่ายภาพวัตถุที่อยู่ใกล้ ๆ ไม่สามารถเข้าไปถ่ายใกล้ ๆ ได้
หรือถ่ายภาพสัตว์ที่เป็นอันตราย ที่ผู้ถ่ายไม่สามารถเข้าไปใกล้ได้
ข้อเสียของเลนส์ชนิดก็ คือมีความชัดตื้นนั่นคือความลึกของ ระยะชัดสั้นมาก
ดังนั้นเวลาปรับความคมชัดของภาพจำเป็นจะต้องพิถีพิถัน มิฉนั้นจะได้ภาพที่ไม่คมชัด
นอกจากเลนส์ชนิดนี้จะขยายขนาดของภาพให้ดูใหญ่โตแล้วยังขยายความเคลื่อนไหวของวัตถุ
และของกล้องถ่ายภาพด้วย ดังนั้นผู้ใช้ต้องระมัดระวังในการ จับถือกล้อง
โดยเฉพาะเวลาถ่ายภาพต้องให้กล้องอยู่ในที่มั่นคงแข็งแรง และนิ่งจึงจะได้ภาพที่คมชัด
เลนส์เทโลโฟโต้สำหรับกล้อง 35 มม มีความยาวโฟกัสตั้งแต่ 65 มม .
ขึ้นไปที่นิยมใช้มีขนาด 85 มม . 105 มม . 135 มม . และ 200 มม . ส่วนกล้อง 6X6 ซม .
มีความยาวโฟกัส ตั้งแต่ 120 มม . ขึ้นไป และกล้องวิว 4X5 ซม . ตั้งแต่ 250 มม .
ขึ้นไป
นอกจากนั้นยังมีเลนส์ชนิดอื่น ๆ
ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อจุดมุ่งหมายในการถ่ายภาพให้เกิดความสะดวกสบาย
และภาพที่สวยงามอีกมากมาย คือ
1. เลนส์ซูม (Zoom Lens, Variable Focal Length Lens) เป็นเลนส์ที่สามารถเปลี่ยนแปลงค่าทางยาวโฟกัสได้ (Vari Focal length Lens) เลนส์ชนิดนี้สามารถเปลี่ยนความกว้าง และแคบของภาพได้ที่จุดยืนถ่ายภาพจุดเดียว ผู้ใช้เลนส์ซูมเปรียบเหมือนมีเลนส์หลาย ๆ ตัวอยู่ในมือเลนส์ชนิดนี้จะกำหนด ขนาดทางยาวโฟกัสไว้ว่า จะเปลี่ยนได้กี่มิลลิเมตรถึงกี่มิลลิเมตร เช่น อาจบอกว่า 35-105 มม . นั่นหมายความว่าเลนส์นั้นสามารถเป็นได้ทั้งเลนส์มุมกว้างที่มีทางยาวโฟกัส 35 มม . เปลี่ยนไปเป็นเลนส์เทเลโฟโต้ ที่มีความยาวโฟกัส 105 มม . ในตอนแรกที่เลนส์ซูมออกสู่ตลาดใหม่ ๆ คุณภาพยังไม่ดีเท่าที่ควรเนื่องจากเลนส์ซูม มีส่วนประกอบของเลนส์หลายชิ้นมากกว่า ดังนั้นจึงไม่ค่อยมีคนนิยม แต่ปัจจุบันนี้เลนส์ซูมได้รับการพัฒนาให้มีคุณภาพสูงขึ้น จึงเป็นที่นิยมมากยิ่งขึ้นราคาก็ถูกลง กว่าเดิมมากด้วย
2. เลนส์ถ่ายใกล้ (Close - up Lens) เลนส์ชนิดนี้เป็นเลนส์นูนธรรมดา
เมื่อต้องการใช้ก็ส่วนเข้ากับเลนส์ปกติ เหมาะสำหรับก๊อบปี้ภาพเล็ก ๆ
หรือถ่ายวัตถุได้ในระยะใกล้ ๆ ได้ถึง 6 นิ้ว ปกติเลนส์ชนิดนี้ 1 ชุด
ประกอบด้วยเลนส์ 3 ตัว ซึ่งมีเบอร์บอกไว้ คือ +1,+2 และ +3
3. เลนส์ซ๊อฟท์ (Soft-Focus Lens)
เป็นเลนส์ที่ใช้ถ่ายภาพให้ได้ภาพนุ่มนวลเหมือนฝัน ภาพมีความพร่ามัว
ไม่คมชัดทั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อลบรอยเหี่ยวย่นบนหน้าหรือจุดที่ไม่น่าดูบนใบหน้าได้
เลนส์ชนิดนี้ใช้สวมเข้ากับเลนส์ ปกติเหมาะสำหรับการถ่ายภาพคน (Portrait)
ดังนั้นจึงนิยมใช้ร่วมกับเลนส์เทเลโฟโต้ขนาดเล็กเช่น 85 มม . หรือ 105 มม .
4. เลนส์สำหรับถ่ายภาพวัตถุเล็ก ๆ (Macro หรือ Micro lens)
เลนส์ชนิดนี้สามารถนำมาใช้ถ่ายภาพวัตถุเล็ก ๆ ได้ เพราะได้มีการแก้ไขข้อบกพร่อง
ในการถ่ายรูปวัตถุเล็ก ๆ ไว้แล้วโดยปกติจะสามารถถ่ายภาพได้จนถึงขนาด 1:1
คือได้เท่าขนาดของวัตถุ นอกจากนั้นยังใช้แทนเลนส์ปกติได้ส่วนมากที่นิยมใช้คือ เลนส์
55 มม . MACRO อย่างไรก็ตามในปัจจุบันเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสต่าง ๆ
กันก็มีความสามารถถ่ายวัตถุเล็ก ๆ ได้หรือมี MACRO เป็นส่วนประกอบ เช่น 105 มม.
MACRO เป็นต้น มีข้อควรระวังในการใช้เลนส์ MACRO
คือไม่ควรเปิดรูรับแสงให้เล็กเกินไปเพราะจะทำให้เกิดการเลี้ยวเบนของแสง
และแสงที่เลี้ยวเบน นี้เองจะไปทำลายคุณภาพของภาพบนฟิล์ม ดังนั้น
จึงนิยมใช้เลนส์ชนิดนี้ร่วมกับเบลโลล์ (Bellow) หรือท่อต่อ (Extension Tube)
5. เลนส์สำหรับเพิ่มทางยาวโฟกัส (Teleplus,Teleconverter, Extender)
เป็นเลนส์ที่นำมาใช้สวมเพิ่มทางยาวโฟกัสให้กับเลนส์อื่น ๆ ให้มีทางยาวโฟกัสมากขึ้น
ทางยาวโฟกัสจะเพิ่มขึ้นตามตัวคูณของมัน เช่น 2X
หมายความว่าทางยาวโฟกัสเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า และ 3X มีทางยาวโฟกัส 3 เท่าเป็นต้น
อย่างไรก็ตามเมื่อเพิ่มทางยาวโฟกัสด้วยเลนส์ชนิดนี้
จะทำให้ลดปริมาณของแสงลงด้วยดังนั้นผู้ใช้ต้องเปิดหน้ากล้องเพิ่มขึ้นจึงจะได้ปริมาณของแสงที่พอเหมาะ
6. เลนส์ถ่ายภาพระยะไกลชนิดที่มีการสะท้อนแสงภาพภายในตัวกระบอกเลนส์ (Mirror Lens) เลนส์ชนิดนี้ก็ คือ เลนส์เทเลโฟโต้นั่นเอง แต่แทนที่จะให้ ตัวเลนส์มีความยาวมาก ๆ ตามทางยาวโฟกัสก็พัฒนาปรับปรุงให้สั้นเข้า มีน้ำหนักเบาขึ้น โดยใช้หลักการสะท้อนแสงภายในกระบอกเลนส์ เช่นเดียวกับหลักการ ของกล้องส่องทางไกล กล่าวคือให้แสงสะท้อนไปมาในกระบอกเลนส์แทนการให้แสงเดินทางเป็นเส้นตรง ดังนั้นเลนส์ 1000 มม . อาจจะมีขนาดสั้นเท่ากับเลนส์ 300 มม . ได้ ข้อควรระวังในการใช้เลนส์ชนิดนี้ คือ การควบคุมปริมาณของแสงในการถ่ายภาพ ต้องควบคุมความเร็วชัตเตอร์เพียงอย่างเดียว นั่นคือควบคุมเรื่องเวลา ให้แสงผ่านเข้าไปยังฟิล์ม เพราะไม่สามารถควบคุมขนาดรูรับแสงได้ เนื่องจากเลนส์ไม่มีไดอะแฟรม
» การเก็บข้อมูลทางมนุษย์ศาสตร์ และสังคมศาสตร์ด้วยภาพถ่าย
» ข้อเสนอแนะการบันทึกข้อมูลด้วยภาพถ่าย
» คุณลักษณะของภาพถ่ายที่ดี ทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
» ส่วนประกอบที่สำคัญของกล้องถ่ายรูป
» การใช้และการเก็บรักษากล้องถ่ายรูป
» การพิจารณาเลือกกล้องถ่ายรูปแบบเลนส์เดี่ยว
» ลักษณะของเลนส์ของกล้องถ่ายรูป
» การใช้และการระมัดระวังรักษาเลนส์
» ข้อพิจารณาในการเลือกซื้อฟิล์ม
» แฟลชอิเล็กทรอนิกส์ที่นิยมใช้กับกล้องSLR
» ความสัมพันธ์ของชัตเตอร์กับขนาดรูรับแสง
» การใช้อุปกรณ์อื่นวัดแสงแทนเครื่องวัดแสง
» การเลือกองค์ประกอบพื้นฐานของการจัดภาพ
» เทคนิคพิเศษทางการถ่ายภาพและทำภาพ
» หลักการถ่ายภาพให้ได้ภาพสีที่ดี