สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>
มะเขือยาว
(Egg Plant) Solanum melongena L. (Sutarno et al., 1994)
วงศ์ SOLANACEAE
ถิ่นกำเนิดและการแพร่กระจายทางภูมิศาสตร์
ถิ่นกำเนิดจะอยู่แถบประเทศพม่าและอินโดจีน
ซึ่งพบว่ามีความหลากหลายทางพันธุกรรมมาก
แหล่งอื่นที่สันนิษฐานว่าอาจเป็นถิ่นกำเนิดคือ แถบประเทศจีน และทวีปแอฟริกา
ในปัจจุบันมีการปลูกกันอย่างแพร่หลายในเขตร้อน เขตกึ่งร้อน เขตอบอุ่น
และการปลูกในเรือนกระจกของเขตอบอุ่น เป็นพืชที่มีการปลูกสืบเนื่องมาเป็นเวลานาน
มีความหลากหลายของสายพันธุ์ ลักษณะรูปทรงและสีสันของผลจึงแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์
ตั้งแต่ขาว เขียวอ่อน เขียวแก่ เหลือง และม่วง ผลมีรูปร่างเป็นทรงกลมเรียกว่า
มะเขือเปราะ ผลเป็นทรงรีเรียกว่า มะเขือไข่เต่าหรือมะเขือม่วง ผลทรงยาวเรียกว่า
มะเขือยาว (ภาพที่ 9.65 - 9.68)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้พุ่มไม่มีเนื้อไม้ อายุหลายปี สูงได้ถึง 1.5 เมตร มีระบบรากแข็งแรง
นิยมปลูกแบบพืชปีเดียว ส่วนต่างๆ ของลำต้นปกคลุมด้วยขนสีเทา และพบว่ามีหนามเล็กๆ
ต้นที่อายุมากลำต้นอาจมีเนื้อไม้แข็ง ใบเป็นใบเดี่ยว การเรียงใบแบบสลับ ก้านใบยาว
10 เซนติเมตร แผ่นใบรูปไข่ หรือรูปไข่ขอบขนาน ยาว 3-25 เซนติเมตร กว้าง 5-15
เซนติเมตร มีขนรูปดาวปกคลุมอย่างหนาแน่น
โคนใบกลมหรือเป็นรูปหัวใจมักมีขนาดไม่เท่ากัน ขอบใบเว้าเป็นคลื่น ปลายใบแหลมหรือทู่
ดอกเป็นดอกเดี่ยวหรืออยู่รวมกันเป็นช่อกระจุก 2-5 ดอก ดอกมีทั้งสองเพศในดอกเดียวกัน
หรือมีเฉพาะเพศผู้เพียงอย่างเดียว ดอกเกิดที่ข้อของลำต้นด้านตรงข้ามกับใบ
มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 3-5 เซนติเมตร ก้านดอกยาว 1-3 เซนติเมตร
เมื่อเจริญเป็นก้านผลยาวได้ถึง 7 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงมี 5-7 กลีบ
เชื่อมติดกันเป็นรูปทรงระฆัง ยาว 2 เซนติเมตร มีหนาม มีขนนุ่ม
อยู่คงทนและขยายขนาดตามผล กลีบดอกมี 5-6 กลีบ เชื่อมติดกัน
ส่วนปลายกลีบแยกออกจากกันเป็นแฉกคล้ายดาว ความยาวกลีบ 1 เซนติเมตร มีสีม่วงอ่อน
มีขนทางด้านล่างของกลีบ เกสรเพศผู้ 5-6 อัน ยาว 1 เซนติเมตร เกสรเพศเมีย 2
อันเชื่อมติดกัน แต่ส่วนปลายยอดเกสรเพศเมียแยกออกจากกัน ผลมีเนื้อหลายเมล็ด
รูปทรงกระบอก ยาวได้ถึง 40 เซนติเมตร มีสีเขียวอ่อน หรือม่วง หรือเขียวปนม่วง
ผิวเรียบเป็นมันมีเมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก สีน้ำตาลอ่อน
ภาพมะเขือยาว (สุรชัย, 2535)
ภาพมะเขือยาวสีม่วง (สุรชัย, 2535)
ภาพมะเขือม่วง (Pavord, 1996)
ภาพมะเขือเปราะ (สุรชัย, 2535)
การใช้ประโยชน์
นำผลอ่อนจนกระทั่งเกือบแก่จัดมารับประทานเป็นอาหารจำพวกผัก
ทั้งรับประทานสดและปรุงให้สุกเป็นอาหารคาวชนิดต่างๆ ทั้งที่มีรสชาติจืดและเผ็ด
คุณค่าทางอาหาร
ส่วนของผลที่รับประทานได้หนัก 100 กรัม ประกอบด้วยน้ำ 92 กรัม โปรตีน 1.6 กรัม
ไขมัน 0.2 กรัม คาร์โบไฮเดรต 4.0 กรัม เส้นใย 1.0 กรัม เถ้า 0.6 กรัม แคลเซียม 22
มิลลิกรัม เหล็ก 0.9 มิลลิกรัม วิตามินบี 1 0.08 มิลลิกรัม วิตามินบี 2 0.07
มิลลิกรัม ไนอาซิน 0.7 กรัม วิตามินซี 6.0 มิลลิกรัม พลังงาน 100 กิโลจูลต่อ 100
กรัม เมล็ดจำนวน 1,000 เมล็ด หนักประมาณ 4 กรัม
การขยายพันธุ์
ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด พันธุ์มะเขือยาวที่นิยมปลูก ได้แก่ เทอร์โบ
ทอร์นาโด โทมาฮอค พันธุ์มะเขือม่วงที่นิยมปลูก ได้แก่ คาสิโน มัสแตง
และพันธุ์มะเขือเปราะที่นิยมปลูก ได้แก่ ปิงปอง หยดพระยา และคางกบ
นิเวศวิทยา
อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของมะเขือยาวคือ กลางวัน 25-35
องศาเซลเซียส กลางคืน 20-27 องศาเซลเซียส ไม่ทนต่อสภาพที่มีน้ำค้างแข็ง
ทนทานต่อสภาพแห้งแล้งและฝนตกหนักในขณะที่ยังไม่มีการออกดอกและติดผล
เป็นพืชที่ไม่มีการตอบสนองต่อความยาวของช่วงวัน
ชอบดินร่วนปนทรายระบายน้ำได้ดีปลูกได้ตั้งแต่บนพื้นที่ราบจนถึงความสูง 800
เมตรจากระดับน้ำทะเล
พื้นที่ปลูก ปี พ.ศ. 2542-2543 ประมาณ 29,835 ไร่ ผลผลิต 64,394 ตัน
(กรมส่งเสริมการเกษตร, 2543)
การเก็บเกี่ยว
เมื่อต้นมีอายุ 60-90 วันหลังปลูก โดยเลือกผลที่มีขนาด 2 ใน 3
ของขนาดผลที่เจริญเติบโตเต็มที่
การส่งออก
ในปี พ.ศ. 2540 มีการส่งออกมะเขือม่วง 6 เมตริกตัน เป็นมูลค่า 0.40 ล้านบาท
ส่วนผลมะเขือม่วงแช่แข็งไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน
พืชสวนครัว
การแลกเปลี่ยนพันธุ์พืช
แหล่งผลิตผักที่สำคัญของประเทศไทย
ผักเศรษฐกิจของประเทศไทย
พริก
กระเทียม
หอมแดง
แตงกวา
ข้าวโพดฝักอ่อน
ถั่วฝักยาว
คะน้า
กะหล่ำปลี
มะเขือเทศ
ฟักทอง
ผักกาดขาวกวางตุ้ง,ผักกาดฮ่องเต้
ผักกาดเขียวกวางตุ้ง
ผักกาดเขียวปลี
ผักบุ้งจีน
ผักกาดหัว
หอมหัวใหญ่
ผักกาดหอม
กะหล่ำดอก
ฟัก, แฟง
มะระ
บวบ
ถั่วลันเตา
หน่อไม้ฝรั่ง
กระเจี๊ยบเขียว
ผักกาดขาวปลี
หน่อไม้ไผ่ตง
มะเขือยาว
ถั่วแระญี่ปุ่นหรือถั่วเหลืองฝักสด
เอกสารและสิ่งอ้างอิง