สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>
กระเทียม
(garlic) Allium sativum L. (van der Meer and Permadi, 1994)
วงศ์ LILIACEAE
ถิ่นกำเนิดและการแพร่กระจายทางภูมิศาสตร์
ในเอเชียกลาง แล้วแพร่กระจายไปยังเขตเมดิเตอร์เรเนียนตั้งแต่ครั้งโบราณ
มีหลักฐานว่าเป็นที่รู้จักในประเทศอียิปต์ตั้งแต่ 3,000 ปีก่อนคริสตศักราช
มีการปลูกกันมานานในประเทศจีนและอินเดีย โดยชาวสเปน
โปรตุเกสและฝรั่งเศสเป็นผู้นำมาปลูกในโลกใหม่คือทวีปอเมริกา
ในปัจจุบันมีการปลูกอย่างแพร่หลายทั่วโลก ในเขตเส้นรุ้งที่ 5-50 องศาเหนือและใต้
และนิยมปลูกกันมากในประเทศจีนและแถบเมดิเตอร์เรเนียน
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
เป็นพืชไม่มีเนื้อไม้ นิยมปลูกแบบพืชปีเดียว
โดยใช้ส่วนหัวย่อยซึ่งแยกออกมาจากหัวใหญ่ ทรงพุ่มสูงประมาณ 60 เซนติเมตร
มีรากเป็นรากพิเศษ หัวหรือลำต้นใต้ดินมีลักษณะกลม จนถึงรูปไข่
อาจมีเส้นผ่าศูนย์กลางได้ถึง 7 เซนติเมตร หัวย่อยที่มาประกอบกันนิยมเรียกว่ากลีบ
มีตั้งแต่ 1-15 กลีบ ซึ่งเจริญออกมาจากตาข้างของใบที่ยังอ่อนอยู่
กาบหุ้มหัวที่อยู่ด้านนอกมีลักษณะเป็นแผ่นแบนบาง เรียบสีขาว หรือสีม่วง
กลีบแต่ละกลีบมีลักษณะเป็นรูปไข่จนถึงรูปทรงรี แต่ละกลีบมีกาบหุ้ม
ลำต้นเทียมประกอบด้วยกาบใบและแผ่นใบที่เรียงซ้อนกัน ใบมี 4-10 ใบ
เรียงแบบสลับระนาบเดียว มีนวลบนผิวใบ แผ่นใบเป็นรูปแถบขอบขนาน ยาว 50 เซนติเมตร
กว้าง 2.5 เซนติเมตร แผ่นใบมีลักษณะแบน หรือเป็นรูปตัววี (V-Shaped)
เมื่อถูกตัดตามขวาง ขอบใบเรียบ หรือหยักมนถี่ ปลายใบแหลม
ก้านช่อดอกมี 1 ช่อ อาจยาวได้ถึง 1.5 เมตร มีลักษณะแข็ง ตั้งตรง
ช่อดอกแบบซี่ร่ม รูปร่างค่อนข้างกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 2-5 เซนติเมตร
มีกาบหุ้มช่อดอกซึ่งแยกออกจากกันเมื่อดอกบาน ดอกย่อยอาจมีหน่อย่อย (bulbils)
แทรกอยู่ด้วย ก้านดอกย่อยผอมยาวประมาณ 4 เซนติเมตร รูปทรงคล้ายระฆัง
กลีบเลี้ยงและกลีบดอกเชื่อมรวมกันเป็นกลีบรวม มี 6 กลีบ เรียงซ้อนกันสองวง
กลีบรวมรูปใบหอกปลายแหลม ยาว 3 มิลลิเมตร สีม่วงปนเขียวจนถึงสีม่วง
เกสรเพศผู้สั้นกว่ากลีบรวม เกสรเพศเมียไม่เจริญมี 3 รังไข่เชื่อมกัน
ไม่มีการติดผลและเมล็ด
ภาพกระเทียมแห้งที่ได้จากส่วนของลำต้นใต้ดิน
แต่ละหัวมีหลายหัวย่อย(กลีบ) (สุรชัย, 2535)
ภาพกระเทียมโทนมีเพียง 1 หัวย่อย(กลีบ) ในแต่ละหัว
ภาพกระเทียมจากประเทศจีนที่มีขนาดใหญ่กว่ากระเทียมที่ปลูกในประเทศไทย
(Pavord, 1966)
ภาพหัวย่อย(กลีบ) ของกระเทียมที่มาจากประเทศจีน (Pavord, 1966)
การใช้ประโยชน์
ใช้ในการปรุงแต่งกลิ่นและรสชาติให้กับอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ปลา สลัด
ใช้ทั้งในรูปหัวสด การนำมาดองให้มีรสชาติและกลิ่นที่ชวนรับประทาน และบดแห้งเป็นผง
มีการใช้หัวและใบที่ยังสดอยู่มารับประทานเป็นอาหารจำพวกผักด้วย
กระเทียมมีสรรพคุณในการลดระดับน้ำตาลและโคเลสเตอรอลในกระแสเลือด
สารอัลลิซิน(Allicin) ที่สกัดได้จากกระเทียมถูกนำมาใช้เป็นยาป้องกันการติดเชื้อ
ฟอกเลือดยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย ขับน้ำย่อยน้ำดี ลดการอักเสบ รักษากลาก เกลื้อน (กมล
และคณะ, 2544 ; van der Meer and Permadi, 1994)
คุณค่าทางอาหาร
ส่วนของหัวกระเทียมที่สามารถรับประทานได้หนัก 100 กรัม ประกอบด้วยน้ำ 68
กรัม โปรตีน 3.5 กรัม ไขมัน 0.3 กรัม คาร์โบไฮเดรต 27 กรัม เถ้า 1 กรัม แคลเซียม 29
มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 202 มิลลิกรัม โพแทสเซียม 529 มิลลิกรัม ปริมาณวิตามินต่างๆ
น้อย ให้พลังงาน 490 กิโลจูล
กลิ่นฉุนของกระเทียมเกิดจากกำมะถัน ในสารประกอบ ซัลเฟอร์อัลคีน หรือ
ซัลเฟอร์อัลคิล ซีสเทอีน ซัลฟอกไซด์ (S-alk(en)yl cysteine sulphoxides)
การขยายพันธุ์
ใช้ส่วนของลำต้นใต้ดินที่ประกอบด้วยหัวย่อยที่มีลักษณะเป็นกลีบหลายกลีบประกอบอยู่บนหัวแบบหอม
(bulb) หัวย่อยแต่ละหัวมีลำต้นและตายอดอยู่ภายใน
ซึ่งสามารถเจริญเติบโตเป็นต้นใหม่ได้เมื่อพ้นระยะพักตัวแล้ว ซึ่งมีระยะพักตัวประมาณ
1-2 เดือน อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต 9-28 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสำหรับการงอกของต้นอ่อนจากหัวย่อย 10-15 องศาเซลเซียส
และต้องการความยาวช่วงวันมากกว่า 12 ชั่วโมง
สำหรับกระตุ้นให้มีการสร้างและการเจริญเติบโตของหัว พันธุ์ที่นิยมปลูกในประเทศไทย
ได้แก่ ศรีสะเกษ เชียงใหม่ หัวใหญ่
นิเวศวิทยา
กระเทียมเจริญเติบโตได้ดีที่อุณหภูมิ 9-28 องศาเซลเซียส
ซึ่งทั้งอุณหภูมิและความยาวของช่วงวันมีผลต่อการแตกกอและเจริญเติบโตของหัวซึ่งเป็นลำต้นใต้ดิน
อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของหัวคือ 10-15 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 2
เดือนและความยาวช่วงวันมากกว่า 12 ชั่วโมง กระตุ้นการสร้างกลีบของหัว
ที่อุณหภูมิต่ำคือ -2 - 6 องศาเซลเซียส
สามารถกระตุ้นของหัวที่พักตัวให้มีการงอกเกิดขึ้นได้
ในเขตอากาศร้อนแถบเส้นศูนย์สูตรสามารถปลูกกระเทียมได้บนภูเขาสูงที่อุณหภูมิต่ำกว่าบริเวณพื้นที่ราบ
พื้นที่ปลูกกระเทียมในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2547 ประมาณ 97,629 ไร่ ผลผลิต
95,909 ตัน (กรมส่งเสริมการเกษตร, 2548)
การเก็บเกี่ยว
อายุเก็บเกี่ยวของหัวกระเทียมประมาณ 3-4 เดือนหลังปลูก
ซึ่งใบจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและเหี่ยวแห้ง
ทำการเก็บเกี่ยวโดยการถอนหัวกระเทียมขึ้นจากดินแล้วนำส่วนของก้านใบและแผ่นใบที่อยู่เหนือดิน
มัดรวมกันเป็นฟ่อน แล้วนำไปแขวนผึ่งให้แห้งในที่ร่ม
การส่งออก
ในปี พ.ศ. 2542 มีการส่งออกกระเทียมแห้งและกระเทียมผง 12 เมตริกตัน
คิดเป็นมูลค่า 1.22 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2547 มีการส่งออกกระเทียมหัว 751.11 ตัน
คิดเป็นมูลค่า 21.94 ล้านบาท (กมล และคณะ, 2544; สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2548)
พืชสวนครัว
การแลกเปลี่ยนพันธุ์พืช
แหล่งผลิตผักที่สำคัญของประเทศไทย
ผักเศรษฐกิจของประเทศไทย
พริก
กระเทียม
หอมแดง
แตงกวา
ข้าวโพดฝักอ่อน
ถั่วฝักยาว
คะน้า
กะหล่ำปลี
มะเขือเทศ
ฟักทอง
ผักกาดขาวกวางตุ้ง,ผักกาดฮ่องเต้
ผักกาดเขียวกวางตุ้ง
ผักกาดเขียวปลี
ผักบุ้งจีน
ผักกาดหัว
หอมหัวใหญ่
ผักกาดหอม
กะหล่ำดอก
ฟัก, แฟง
มะระ
บวบ
ถั่วลันเตา
หน่อไม้ฝรั่ง
กระเจี๊ยบเขียว
ผักกาดขาวปลี
หน่อไม้ไผ่ตง
มะเขือยาว
ถั่วแระญี่ปุ่นหรือถั่วเหลืองฝักสด
เอกสารและสิ่งอ้างอิง