สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>

ผัก
(Vegetables)

กะหล่ำดอก

(cauliflower) Brassica oleracea L. cv. groups Cauliflower
บร็อคโคลี (broccoli) Brassica oleracea L. cv. groups Broccoli (van der Vossen, 1994)
วงศ์ CRUCIFERAE, BRASSICACEAE

ถิ่นกำเนิดและการแพร่กระจายทางภูมิศาสตร์
ถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศอิตาลี ซึ่งมีการนำพืชซึ่งเป็นต้นกำเนิดของแหล่งพันธุกรรมมาจากทางตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ตั้งแต่สมัยอาณาจักรโรมัน เมื่อประมาณ 4,000 ปีที่แล้ว จากการแพร่หลายของกะหล่ำดอกจากอิตาลีไปยังตอนกลางและตอนเหนือของทวีปยุโรป ทำให้มีความหลากหลายของสายพันธุ์ ซึ่งมีทั้งพวกที่มีอายุปีเดียว และอายุสองปี ในปัจจุบันมีการปลูกกะหล่ำดอกในเขตอบอุ่นทั่วโลก เมื่อประมาณ 200 ปีที่แล้วประเทศอังกฤษนำกะหล่ำดอกเข้าไปปลูกในประเทศอินเดีย และมีการปรับตัวได้สายพันธุ์ที่ทนทานต่อสภาพอากาศที่ร้อนและร้อนชื้นได้

บร็อคโคลีเป็นพืชที่นิยมปลูกทางตอนเหนือของทวีปยุโรปในคริสตวรรษที่ 18 มีทั้งดอกสีเขียว ม่วง และขาว มีการนำเข้าไปปลูกในประเทศสหรัฐอเมริกาในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 โดยชาวอิตาลีที่อพยพเข้าไป และมีการแพร่หลายของสายพันธุ์จากสหรัฐอเมริกาไปยังตอนเหนือของทวีปยุโรป จีน ญี่ปุ่น และภูมิภาคอื่นๆ เมื่อประมาณ 60 ปี ที่ผ่านมา

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
กะหล่ำดอก เป็นพืชปีเดียวหรือสองปีไม่มีเนื้อไม้ สูง 50-80 เซนติเมตร เมื่อโตเต็มที่และออกดอก สูง 90-150 เซนติเมตร ระบบรากแผ่กระจายบนชั้นดินลึกไม่เกิน 30 เซนติเมตร รากแขนงขนาดใหญ่อาจชอนไชลงในดินได้ลึกกว่านี้ ลำต้นไม่มีการแตกแขนง ส่วนของลำต้นยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร ใบอัดเรียงกันเป็นกระจุกแบบดอกกุหลาบซ้อนมี 15-25 ใบ รูปขอบขนานเรียงอยู่โดยรอบช่อดอก ใบไม่มีก้านใบ ผิวเรียบมีชั้นของไขห่อหุ้มผิว แผ่นใบมีสีเทาจนถึงสีเขียวปนฟ้า เส้นกลางใบและเส้นใบสีขาว ใบกว้างมีขอบใบเป็นคลื่น ยาว 40-50 เซนติเมตร กว้าง 30-40 เซนติเมตร จนกระทั่งใบผอมเรียวขอบใบเรียบ ยาว 70-80 เซนติเมตร กว้าง 20-30 เซนติเมตร กระจุกช่อดอกมีลักษณะเป็นโดมสีขาว ครีม หรือเหลือง ก้านช่อดอกสั้นและฉ่ำน้ำ ช่อดอกอาจมีลักษณะหลวมหรือเบียดกันแน่น อาจมีลักษณะแบนหรือเป็นทรงกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 10-40 เซนติเมตร กระจุกช่อดอกประกอบด้วยช่อดอกหลายช่อ แต่ละช่อเป็นช่อแบบกระจะยาว 40-70 เซนติเมตร ก้านดอกย่อยยาว 1.5-2 เซนติเมตร ดอกมีครบทั้ง 4 ส่วน เป็นดอกสมบูรณ์เพศ กลีบเลี้ยงตั้งตรงสีเขียว กลีบดอกรูปช้อนสีเหลืองจนถึงสีขาว ยาว 2.5 เซนติเมตร กว้าง 10 เซนติเมตร มีเกสรเพศผู้ 6 อัน สั้น 2 อัน ยาว 4 อัน รังไข่เหนือวงกลีบมี 2 รังไข่เชื่อมติดกันโดยมีผนังเทียมกั้นบริเวณตรงกลาง มีต่อมน้ำต้อย 2 อัน อยู่ระหว่างรังไข่ และเกสรเพศผู้ที่มีลักษณะสั้น ผลแตกแบบผักกาด กว้าง 0.5 เซนติเมตร ยาว 5-10 เซนติเมตร มี 10-30 เมล็ด เมล็ดสีน้ำตาลมีลักษณะกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 2-4 มิลลิเมตร

บร็อคโคลี มีใบจำนวนมากกว่ากะหล่ำดอกและมีก้านใบ กระจุกช่อดอกประกอบด้วยตาดอกที่มีการพัฒนาแล้วมากกว่า ดอกตูมสีเขียวจนถึงสีม่วงอยู่รวมกันไม่หนาแน่นมากนัก ก้านช่อดอกยาวกว่ากะหล่ำดอก และมีช่อดอกที่เจริญจากกิ่งแขนงด้วย


ภาพกะหล่ำดอก (Pavord, 1996)


ภาพบร็อคโคลี

การใช้ประโยชน์
เป็นผักที่นำส่วนของช่อดอกอ่อนที่อัดรวมกันแน่นเป็นช่อดอกขนาดใหญ่ มักนิยมนำมาปรุงให้สุกก่อนรับประทาน อาจนำมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ รับประทานสดเป็นผักสลัด หรือนำมาต้มซุปผักร่วมกับผักชนิดอื่นๆ

คุณค่าทางอาหาร
ส่วนของช่อดอกอ่อนที่รับประทานได้หนัก 100 กรัม ของดอกกะหล่ำ ประกอบด้วย น้ำ 88 กรัม โปรตีน 4 กรัม ไขมัน 0.3 กรัม คาร์โบไฮเดรต 6 กรัม เส้นใย 1.5 กรัม แคลเซียม 25 มิลลิกรัม โพแทสเซียม 325 มิลลิกรัม แคโรทีน 200 มิลลิกรัม วิตามินซี 40 มิลลิกรัม

ส่วนบร็อคโคลีนั้นมีค่าต่างๆ เท่ากันยกเว้น แคลเซียม 15 มิลลิกรัม แคโรทีน 800 มิลลิกรัม วิตามินซี 100 มิลลิกรัม พลังงาน 245 กิโลจูล เมล็ดมีน้ำหนักประมาณ 2.5-4 กรัมต่อ 1,000 เมล็ด

การขยายพันธุ์
เป็นพืชปีเดียว (annual) หรือพืชสองปี (biennial) ขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ด พันธุ์ของกะหล่ำดอกที่นิยมปลูกในประเทศไทยคือ พันธุ์วินเนอร์ และพันธุ์บร็อคโคลีที่นิยมปลูกคือ พันธุ์รอแยลกรีน

นิเวศวิทยา
กะหล่ำดอกและบร็อคโคลี่สามารถให้ช่อดอกได้ดีที่อุณหภูมิ 15-20 องศาเซลเซียส ในเวลากลางวัน และมีอุณหภูมิในเวลากลางคืนต่างกันอย่างน้อย 5 องศาเซลเซียส ในเขตอากาศแบบร้อนชื้นสามารถปลูกได้บนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 800 เมตร ในสายพันธุ์ทนอากาศร้อนสามารถเจริญเติบโตบนพื้นที่ราบที่มีอุณหภูมิสูงได้ พืชทั้งสองกลุ่มนี้ต้องการปริมาณน้ำสม่ำเสมอแต่ไม่ชื้นแฉะมากเกินไป เนื่องจากจะทำให้เกิดอาการช่อดอกเน่าเนื่องจากเชื้อราได้ จึงควรปลูกให้มีการออกดอกนอกช่วงฤดูฝน และไม่ควรให้น้ำแบบพ่นฝอย ถ้าต้องการปลูกเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ต้องปลูกในสภาพอากาศแห้งและเย็น ดินปลูกควรมีธาตุอาหารอุดมสมบูรณ์ ระบายน้ำได้ดี มีอินทรีย-สารสูง ค่า pH ที่เหมาะสมคือ 6.5-7.5

ในปี พ.ศ. 2542-2543 มีพื้นที่ปลูกกะหล่ำดอกในประเทศประมาณ 19,151 ไร่ ผลผลิตรวม 36,269 ตัน บร็อคโคลี 1,372 ไร่ ผลผลิตรวม 1,619 ตัน (กรมส่งเสริมการเกษตร, 2543)

การเก็บเกี่ยว
อายุเก็บเกี่ยว 60-120 วันหลังจากย้ายปลูก บางสายพันธุ์ที่ทนร้อนมีอายุเก็บเกี่ยว 45-55 วัน ในการเก็บเกี่ยวนิยมตัดยอดของลำต้นใต้ช่อดอกให้มีใบห่อหุ้มส่วนของช่อดอกไว้ด้วย เพื่อป้องกันความเสียหายขณะขนส่ง

การส่งออก
ในปี พ.ศ. 2541 มีการส่งออกดอกกะหล่ำสด 46 เมตริกตัน มูลค่า 0.70 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2543 มีการนำเข้าเมล็ดพันธุ์ 8.27 ตัน มูลค่า 12.70 ล้านบาท แต่ส่งออกเพียง 0.75 ตัน มูลค่า 3.91 ล้านบาท ส่วนบร็อคโคลีนั้นมีการนำเข้าเมล็ดพันธุ์ 0.49 ตัน มูลค่า 2.76 ล้านบาท แต่มีการส่งออกเพียง 0.28 ตัน มูลค่า 1.86 ล้านบาท (กมล และคณะ, 2544)

พืชสวนครัว
การแลกเปลี่ยนพันธุ์พืช
แหล่งผลิตผักที่สำคัญของประเทศไทย
ผักเศรษฐกิจของประเทศไทย
พริก
กระเทียม
หอมแดง
แตงกวา
ข้าวโพดฝักอ่อน
ถั่วฝักยาว
คะน้า
กะหล่ำปลี
มะเขือเทศ
ฟักทอง
ผักกาดขาวกวางตุ้ง,ผักกาดฮ่องเต้
ผักกาดเขียวกวางตุ้ง
ผักกาดเขียวปลี
ผักบุ้งจีน
ผักกาดหัว
หอมหัวใหญ่
ผักกาดหอม
กะหล่ำดอก
ฟัก, แฟง
มะระ
บวบ
ถั่วลันเตา
หน่อไม้ฝรั่ง
กระเจี๊ยบเขียว
ผักกาดขาวปลี
หน่อไม้ไผ่ตง
มะเขือยาว
ถั่วแระญี่ปุ่นหรือถั่วเหลืองฝักสด
เอกสารและสิ่งอ้างอิง

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย