สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>
กะหล่ำปลี
(cabbage) Brassica oleracea L .CV. groups White Headed Cabbage
กะหล่ำปลีสีม่วง Brassica oleracea L .CV. Red Headed cabbage
กะหล่ำปลีใบย่น Brassica oleracea L .CV. Savoy cabbage (van der Vossen, 1994)
วงศ์ CRUCIFERAE, BRASSICACEAE
ถิ่นกำเนิดและการแพร่กระจายทางภูมิศาสตร์
มีถิ่นกำเนิดในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
ซึ่งมีการปลูกกันอย่างแพร่หลายในอาณาจักรโรมัน
และมีวิวัฒนาการมาจากกะหล่ำใบที่ไม่มีการแตกแขนงผสมกับต้นคะน้าที่มีลำต้นผอม
ในช่วงยุคกลางทางตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปยุโรป
กะหล่ำปลีเป็นผักที่มีความสำคัญมากในศตวรรษที่ 16 ซึ่งมีการนำไปปลูกแพร่หลายทั่วโลก
แต่ยังคงเป็นพืชที่ชอบอากาศเย็นบนภูเขาสูง
หรือฤดูกาลที่มีอากาศค่อนข้างเย็นของภูมิประเทศที่อยู่ในเขตเส้นรุ้งที่สูง
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
เป็นพืชสองปี สูง 40-60 เซนติเมตรเมื่อเติบโตเต็มที่ และสูง 150-200
เซนติเมตร เมื่อช่อดอกเจริญเติบโตเต็มที่ ระบบรากแผ่กระจายในดินระดับความลึก 20-30
เซนติเมตร รากแขนงอาจหยั่งลึกได้ถึง 1.5-2 เมตร ลำต้นไม่แตกแขนง ยาว 20-30
เซนติเมตร ลำต้นหนาแข็งตั้งตรง ใบเรียงซ้อนกันเป็นกระจุกแบบดอกกุหลาบ ใบรอบนอก 7-15
ใบ มีก้านใบ แผ่นใบยาว 25-30 เซนติเมตร กว้าง 20-30 เซนติเมตร
ใบทางด้านบนเรียงซ้อนกันเป็นปลีรูปกลมหรือรูปทรงรี โดยเรียงสับหว่างกันอย่างหนาแน่น
ปลีมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 10-30 เซนติเมตร การเรียงใบแบบสลับ
แผ่นใบเรียบมีไขเคลือบ สีเทาจนถึงสีเขียวอมฟ้า
ใบที่เรียงซ้อนกันอยู่ภายในปลีสีเขียวซีดจนถึงสีขาวครีม
ถ้าเป็นกะหล่ำปลีสีม่วงจะมีแผ่นใบสีม่วงแดง ช่อดอกแบบช่อกระจะยาว 50-100 เซนติเมตร
ก้านดอกย่อยยาว 1.5-2 เซนติเมตร ดอกมีครบทั้ง 4 ส่วน เป็นดอกสมบูรณ์เพศ
กลีบเลี้ยงตั้งตรงสีเขียวอ่อน กลีบดอกรูปช้อนสีเหลือง ยาว 25 มิลลิเมตร กว้าง 10
มิลลิเมตร เกสรเพศผู้ 6 อัน สั้น 2 อัน ยาว 4 อัน รังไข่เหนือวงกลีบ มี 2
รังไข่เชื่อมติดกันมีผนังเทียมกั้นบริเวณตรงกลาง มีต่อมน้ำต้อย 2 อัน
อยู่ระหว่างรังไข่และเกสรเพศผู้ที่สั้น ผลแตกแบบผักกาด ยาว 5-10 เซนติเมตร กว้าง
0.5 เซนติเมตร มี 10-30 เมล็ด เมล็ดกลมสีน้ำตาล เส้นผ่าศูนย์กลาง 2-4 มิลลิเมตร
ภาพใบและใบอ่อนที่ห่ออัดกันแน่นของกะหล่ำปลี
ภาพใบอ่อนที่ห่ออัดกันแน่นของกะหล่ำปลีและกะหล่ำปลีสีม่วง (สุรชัย, 2535)
การใช้ประโยชน์
มีการนำส่วนของใบอ่อนที่เรียงอัดซ้อนกันแน่นบริเวณปลายยอดของลำต้นมารับประทานสด
หรือนำมาปรุงให้สุกเป็นอาหารชนิดต่าง ๆ
สามารถเก็บรักษาที่อุณหภูมิห้องหรือวางขายในตลาดได้หลายวัน
และถ้ามีการขนส่งและเก็บรักษาที่ดีจะสามารถเก็บรักษาไว้ได้นานหลายสัปดาห์
นอกจากนี้มีการนำมาแปรรูปทำกะหล่ำปลีอบแห้งและกะหล่ำปลีแช่แข็งเพื่อส่งจำหน่ายไปยังต่างประเทศ
(กมล และคณะ; van der Vossen, 1994)
คุณค่าทางอาหาร
ส่วนที่รับประทานได้หนัก 100 กรัม ประกอบด้วยน้ำ 91 กรัม โปรตีน 1.6 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 6 กรัม เส้นใย 0.8 กรัม แคลเซียม 55 มิลลิกรัม เหล็ก 0.8 มิลลิกรัม
วิตามินซี 50 มิลลิกรัม น้ำหนักแห้ง 7 เปอร์เซ็นต์
สำหรับกะหล่ำปลีที่ปลูกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ 10-11
เปอร์เซ็นต์สำหรับกะหล่ำปลีที่ปลูกในทวีปยุโรป น้ำหนักเมล็ด 3-5 กรัมต่อ 1,000
เมล็ด
การขยายพันธุ์
กะหล่ำปลีเป็นพืชสองปี (biennial) ไม่มีเนื้อไม้ ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด
พันธุ์ที่นิยมปลูกในประเทศไทย ได้แก่ กะหล่ำปลีธรรมดาลูกผสม กะหล่ำปลีแดงรูบี้บอล
รูบี้เพอเฟคชั่น และกะหล่ำปลีใบย่น
นิเวศวิทยา
กะหล่ำปลีสามารถเจริญเติบโตได้ดีที่อุณหภูมิเฉลี่ยเวลากลางวัน 15-20
องศาเซลเซียสและอุณหภูมิเวลากลางคืนต่างกันอย่างน้อย 5 องศาเซลเซียส
ในเขตร้อนชื้นสามารถเติบโตได้ดีในพื้นที่สูง 800 เมตรจากระดับน้ำทะเล
แต่ในปัจจุบันมีการปรับปรุงสายพันธุ์ลูกผสมทนร้อนซึ่งสามารถเจริญเติบโตในสภาพอุณหภูมิสูงบนพื้นที่ราบได้
กะหล่ำปลีไม่ตอบสนองต่อช่วงวันในการออกดอกและการเจริญเติบโต
การออกดอกต้องการสภาพอุณหภูมิต่ำ แต่ถ้าได้รับสภาพที่มีน้ำค้างแข็งประมาณ -5
องศาเซลเซียส อาจทำให้การเจริญเติบโตหยุดชะงักได้
ดินปลูกควรอุดมด้วยแร่ธาตุ เก็บความชื้นและระบายน้ำได้ดี
มีอินทรียวัตถุสูงค่า pH 6.5-7.5
กะหล่ำปลีมีระบบรากตื้นจึงต้องการน้ำสม่ำเสมอตลอดฤดูกาลปลูก
เป็นพืชที่มีการคายน้ำสูง
บนภูเขาสูงของประเทศไทยบางพื้นที่มีการปลูกกะหล่ำปลีโดยไม่ต้องรดน้ำ
แต่ให้ต้นกะหล่ำปลีได้รับน้ำจากน้ำฝนและน้ำค้างตามธรรมชาติ
รวมทั้งหมอกซึ่งมีปริมาณมากในเวลาเช้ากลั่นตัวเป็นหยดน้ำให้แก่กะหล่ำปลีทุกวันในฤดูกาลปลูก
พื้นที่ปลูกปี พ.ศ. 2542-2543 ประมาณ 75,411 ไร่ ผลผลิตรวม 36,269 ตัน
(กรมส่งเสริมการเกษตร, 2543)
การเก็บเกี่ยว
ทำโดยการใช้มีดตัดส่วนของลำต้น
เมื่อใบอ่อนห่อตัวซ้อนกันแน่นดีแล้วส่วนใหญ่มีอายุประมาณ 2-3 เดือน
หลังจากการย้ายกล้าลงแปลงปลูก ถ้าปล่อยต้นที่ตัดยอดแล้วไว้ในแปลงปลูก
จะมีตาข้างเจริญออกมาจากลำต้น และสามารถนำไปรับประทานได้ เรียกว่าแขนงกะหล่ำ
การส่งออก
ไม่มีข้อมูลชัดเจน
แต่มีข้อมูลรวมอยู่ในผักแช่แข็งและผักตากแห้งของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ปี พ.ศ.
2543 มีการส่งออกเมล็ดพันธุ์ 8.88 ตัน มูลค่า 33.99 ล้านบาท แต่นำเข้า 31.45 ตัน
มูลค่า 80.96 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2543 (กมล และคณะ, 2544)
พืชสวนครัว
การแลกเปลี่ยนพันธุ์พืช
แหล่งผลิตผักที่สำคัญของประเทศไทย
ผักเศรษฐกิจของประเทศไทย
พริก
กระเทียม
หอมแดง
แตงกวา
ข้าวโพดฝักอ่อน
ถั่วฝักยาว
คะน้า
กะหล่ำปลี
มะเขือเทศ
ฟักทอง
ผักกาดขาวกวางตุ้ง,ผักกาดฮ่องเต้
ผักกาดเขียวกวางตุ้ง
ผักกาดเขียวปลี
ผักบุ้งจีน
ผักกาดหัว
หอมหัวใหญ่
ผักกาดหอม
กะหล่ำดอก
ฟัก, แฟง
มะระ
บวบ
ถั่วลันเตา
หน่อไม้ฝรั่ง
กระเจี๊ยบเขียว
ผักกาดขาวปลี
หน่อไม้ไผ่ตง
มะเขือยาว
ถั่วแระญี่ปุ่นหรือถั่วเหลืองฝักสด
เอกสารและสิ่งอ้างอิง