สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>

ผัก
(Vegetables)

บวบ

 (loofah) Luffa spp. (Jansen et al., 1994)
วงศ์ CUCURBITACEAE

ถิ่นกำเนิดและการแพร่กระจายทางภูมิศาสตร์
บวบเหลี่ยม (Luffa acutangula) มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย ปัจจุบันมีการปลูกในเขตร้อนชื้นของเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
บวบหอม (Luffa aegyptiaca) มีถิ่นกำเนิดในพม่าไปจนถึง ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย และตาฮิติ มีการปลูกกันทั่วไปในเขตร้อนชื้น

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
บวบเหลี่ยม เป็นพืชปีเดียว ไม่มีเนื้อไม้ ลำต้นเลื้อยพัน มีลักษณะเป็นเหลี่ยม 5 เหลี่ยม มือพันมีขนแตกแขนงเป็น 3 แฉก ใบมี 5-7 เหลี่ยม มีรอยเว้าตื้น แผ่นใบกว้างและยาว 10-25 เซนติเมตร มีขนสาก สีเขียวสด ช่อดอกเพศผู้ยาว 15-35 เซนติเมตร ดอกเพศเมียเป็นดอกเดี่ยวเจริญออกจากซอกใบเดียวกันกับช่อดอกเพศผู้ ดอกมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 4-5 เซนติเมตร สีเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอม ดอกบานเวลาเย็น มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ กลีบดอก 5 กลีบ มีเกสรเพศผู้ 3 อัน ผลรูปกระบองมีเหลี่ยม 10 เหลี่ยม ยาว 15-50 เซนติเมตร กว้าง 5-10 เซนติเมตร จุกที่ปลายผลเกิดจากวงกลีบเลี้ยงและก้านเกสรเพศเมีย เมล็ดสีดำ รูปทรงรี ยาว 1-1.3 เซนติเมตร กว้าง 0.7-0.9 เซนติเมตร(ภาพที่ 9.52)

บวบหอม เป็นพืชปีเดียว ไม่มีเนื้อไม้ ลำต้นเลื้อยพัน มีลักษณะเป็นเหลี่ยม 5 เหลี่ยม อาจยาวได้ถึง 15 เมตร มือพันแยกเป็น 2-6 แฉก ใบรูปไข่แผ่กว้างจนถึงรูปไต มีรอยเว้าลึกเข้าไปในเนื้อใบ 5-7 รอย ใบยาว 6-25 เซนติเมตร กว้าง 8-27 เซนติเมตร มีขนสาก โคนใบรูปหัวใจ ปลายใบแหลม ขอบใบแบบหยักซี่ฟัน ใบสีเขียวเข้ม ก้านใบยาว 5-10 เซนติเมตร ช่อดอกเพศผู้เป็นช่อแบบกระจะยาว 12-35 เซนติเมตร มีดอกย่อย 4-20 ดอก ดอกเพศเมียเป็นดอกเดี่ยวเกิดในซอกใบเดียวกันกับช่อดอกเพศผู้ ดอกมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 5-10 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ กลีบดอก 5 กลีบ ดอกสีเหลืองเข้ม บานตลอดวัน มีเกสรเพศผู้ 3-5 อัน ผลค่อนข้างเป็นรูปทรงกระบอก ผิวเรียบหรือมีสันตื้นๆ ยาว 30-60 เซนติเมตร จุกที่ปลายผลเกิดจากวงกลีบเลี้ยงและก้านเกสรเพศเมีย เมล็ดสีดำรูปทรงรีกว้างมีขอบยื่นออกมาด้านข้าง


ภาพผลบวบเหลี่ยม (สุรชัย, 2535)


ภาพผลบวบหอม

การใช้ประโยชน์
ผลอ่อน ยอดอ่อนและดอกตูม สามารถนำมารับประทานได้ โดยส่วนของผลถูกนำมาปรุงให้สุกโดยการลวก ผัด ต้มซุป หรือหั่นเป็นชิ้นตากแห้งเพื่อเก็บไว้ใช้ในภายหลัง บวบบางสายพันธุ์พบว่าผลอ่อนมีรสหวานสามารถรับประทานสดแบบแตงกวาหรือนำมาดองได้ ผลแก่จะมีเส้นใยหยาบแข็งและเหนียวอยู่ภายใน มีรสชาติขมไม่เหมาะสำหรับการนำมารับประทานได้ เส้นใยภายในผลแก่ของบวบหอมนิยมนำมาใช้ทำเส้นใยขัดผิวพรรณ หลังจากแยกส่วนของเปลือกและเมล็ดออกไปแล้ว มีการผลิตเป็นสินค้าอุตสาหกรรม ในสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการใช้ใยบวบเป็นไส้กรองในเครื่องจักรกล ดูดซับเสียงในตลับลูกปืนของล้อรถ ใช้เป็นฉนวนกันความร้อนในการทำถุงมือกันความร้อน แผ่นปูโต๊ะ แผ่นรองประตู เส้นใยจากผลของบวบเหลี่ยมไม่เป็นที่นิยมใช้ เนื่องจากแยกเส้นใยออกจากเปลือกและเนื้อผลยาก


ภาพเส้นใยที่ได้จากผลแก่ของบวบหอม

คุณค่าทางอาหาร
ผลอ่อนมีส่วนของเนื้อผลที่สามารถรับประทานได้ 70-80 เปอร์เซ็นต์ โดยส่วนที่รับประทานได้หนัก 100 กรัมนั้นประกอบด้วยน้ำ 93 กรัม โปรตีน 0.6-1.2 กรัม ไขมัน 0.2 กรัม คาร์โบไฮเดรต 4-4.9 กรัม แคลเซียม 16-20 มิลลิกรัม เหล็ก 0.4-0.6 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 24-32 มิลลิกรัม วิตามินเอ 45-410 IU วิตามินบี 1 0.04-0.05 มิลลิกรัม วิตามินบี 2 0.02-0.06 มิลลิกรัม ไนอาซิน 0.3-0.4 มิลลิกรัม วิตามินซี 7-12 มิลลิกรัม พลังงาน 85 กิโลจูล

ส่วนของใบอ่อนที่สามารถรับประทานได้หนัก 100 กรัม ประกอบด้วยน้ำ 89 กรัม โปรตีน 5.1 กรัม คาร์โบไฮเดรต 4 กรัม เส้นใย 1.5 กรัม แคลเซียม 56 มิลลิกรัม เหล็ก 11.5 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 140 มิลลิกรัม เบต้าแคโรทีน 9.2 มิลลิกรัม วิตามินซี 95 มิลลิกรัม

เมล็ดของบวบเหลี่ยมมีน้ำมันเป็นองค์ประกอบ 26 เปอร์เซ็นต์ ประกอบด้วยกรดไลโนเลอิก (linoleic acid) 34 เปอร์เซ็นต์ กรดโอเลอิก (oleic acid) 24 เปอร์เซ็นต์ กรดพาล์มมิทิก (palmitic acid) 23 เปอร์เซ็นต์ กรดสเตียริก (stearic acid) 10 เปอร์เซ็นต์

เมล็ดของบวบหอมมีโปรตีน 40 เปอร์เซ็นต์ และน้ำมัน 46 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งประกอบด้วยกรดไลโนเลอิก 42 เปอร์เซ็นต์ กรดโอเลอิก 41 เปอร์เซ็นต์ กรดพาล์มมิทิก 10 เปอร์เซ็นต์ กรดสเตียริก 7 เปอร์เซ็นต์ น้ำหนักเมล็ด 90 กรัมต่อ 1,000 เมล็ด

การขยายพันธุ์
ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด พันธุ์บวบเหลี่ยมที่นิยมปลูก ได้แก่ พันธุ์ซีซาร์ วิคตอรี ซุปเปอร์เอ เฮอร์คิวลิส พันธุ์บวบหอม ได้แก่ สายฟ้า สายฝน

นิเวศวิทยา
บวบสามารถเจริญเติบโตได้ดีในเขตอากาศแบบร้อนชื้นที่อากาศค่อนข้างแห้งบนพื้นที่ราบจนกระทั่งที่ความสูง 500 เมตรจากระดับน้ำทะเล เป็นพื้นที่ไม่ทนทานต่อน้ำค้างแข็ง ฝนตกหนักมีน้ำท่วมขังและแรงกระแทกของฝนอาจทำอันตรายต่อการออกดอกและการติดผลได้ การปลูกในสภาพอากาศแห้งจึงได้ผลผลิตดีกว่าในช่วงที่มีฝนตก บวบบางสายพันธุ์ไม่ตอบสนองต่อช่วงวันในการออกดอก บางสายพันธุ์ต้องการช่วงวันวันสั้น บางสายพันธุ์ต้องการช่วงวันยาว บวบเป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีแร่ธาตุสูง มีอินทรียวัตถุมาก ระบายน้ำได้ดี ค่า pH 6.5-7.5

พื้นที่ปลูก ปี 2542-2543 ประมาณ 36,549 ไร่ ผลผลิต 39,511 ตัน (กรมส่งเสริมการเกษตร, 2543)

การเก็บเกี่ยว
ในการเก็บผลอ่อนมารับประทาน จะเก็บเกี่ยวเมื่อผลมีอายุ 12-15 วัน ซึ่งเป็นระยะที่ผลมีการเจริญเติบโตเป็นครึ่งหนึ่งของผลที่เจริญเติบโตเต็มที่ ในการเก็บผลแก่ของบวบหอมเพื่อใช้ใยบวบ จะเก็บเกี่ยวเมื่อผลเจริญเติบโตเต็มที่และแก่จัดจนเปลือกผลเปลี่ยนเป็นสีเหลืองแห้ง

ในการตัดผลออกจากต้น ต้องตัดให้มีส่วนของก้านผลติดกับขั้วผลด้วยผลอ่อนที่เก็บรักษาในสภาพเหมาะสมที่อุณหภูมิ 12-16 องศาเซลเซียส จนเก็บรักษาได้นาน 2-3 สัปดาห์ ส่วนผลแก่จะนำมาแช่น้ำแล้วล้างด้วยน้ำไหลจนกระทั่งเปลือกผลเปื่อยยุ่ยแล้วหลุดออกไปจนหมด จากนั้นส่วนของเนื้อผลและเมล็ดที่อยู่ภายในผลจะถูกกำจัดออกไป ใยบวบที่เหลือจะถูกนำมาฟอกให้ขาวด้วยไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ และนำไปผึ่งแดดให้แห้ง

การส่งออก
ไม่พบข้อมูลการส่งออกที่ชัดเจน

พืชสวนครัว
การแลกเปลี่ยนพันธุ์พืช
แหล่งผลิตผักที่สำคัญของประเทศไทย
ผักเศรษฐกิจของประเทศไทย
พริก
กระเทียม
หอมแดง
แตงกวา
ข้าวโพดฝักอ่อน
ถั่วฝักยาว
คะน้า
กะหล่ำปลี
มะเขือเทศ
ฟักทอง
ผักกาดขาวกวางตุ้ง,ผักกาดฮ่องเต้
ผักกาดเขียวกวางตุ้ง
ผักกาดเขียวปลี
ผักบุ้งจีน
ผักกาดหัว
หอมหัวใหญ่
ผักกาดหอม
กะหล่ำดอก
ฟัก, แฟง
มะระ
บวบ
ถั่วลันเตา
หน่อไม้ฝรั่ง
กระเจี๊ยบเขียว
ผักกาดขาวปลี
หน่อไม้ไผ่ตง
มะเขือยาว
ถั่วแระญี่ปุ่นหรือถั่วเหลืองฝักสด
เอกสารและสิ่งอ้างอิง

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย