สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>

ผัก
(Vegetables)

ฟัก, แฟง

 (Wax gourd) Benincasa hispida (Thunberg ex Murray) Cogniaux (Rifai and Reyes, 1994)
วงศ์ CUCURBITACEAE

ถิ่นกำเนิดและการแพร่กระจายทางภูมิศาสตร์
ไม่ทราบถิ่นกำเนิดที่ชัดเจน แต่มีแหล่งพันธุกรรมหลากหลายในอินโดจีนและอินเดีย มีหลักฐานว่ามีการปลูกในจีนตั้งแต่ 500 ปีหลังคริสตวรรษ ในปัจจุบันมีการปลูกอย่างแพร่หลายในเขตร้อนชื้นของเอเชีย รวมทั้งเขตร้อนชื้น เขตกึ่งร้อน และเขตอบอุ่นทั่วโลก

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้เถาเลื้อย อายุปีเดียว ดอกแยกเพศอยู่ร่วมต้น ลำต้นยาวได้หลายเมตร ลำต้นหนา รูปทรงกระบอก มีสันตามขอบของลำต้น มีสีเขียวอ่อน มีขนหยาบกระจายอยู่ทั่ว มือพันเจริญออกมาทางด้านล่างของแผ่นใบ แตกออกเป็น 2-3 แขนง ยาว 10-35 เซนติเมตร ส่วนปลายบิดเป็นเกลียว มือพันตรงกลางยาวกว่าแขนงที่แตกออกไปทางด้านข้าง ใบเป็นใบเดี่ยว การเรียงใบแบบสลับระนาบเดียว ก้านใบยาว 5-20 เซนติเมตร แผ่นใบรูปไข่แผ่กว้าง กว้าง 10-20 เซนติเมตร ยาว 10-25 เซนติเมตร โคนใบรูปหัวใจ ปลายใบแหลม ขอบใบเว้า 5-11 รอยเว้า ขอบใบหยักมนหรือหยักซี่ฟันหรือจักฟันเลื่อย มีขนสากทางด้านบนและด้านล่างของแผ่นใบ ใบสีเขียวสด

ดอกเป็นดอกเดี่ยวเจริญออกมาจากซอกใบ ดอกมีขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลาง 6-12 เซนติเมตร กลีบดอกสีเหลือง มีเพียงเพศเดียว ก้านดอกเพศผู้ยาว 5-15 เซนติเมตร ก้านดอกเพศเมียยาว 2-4 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงรูปทรงระฆังมีขนละเอียด กลีบดอกแยกออกจากกัน ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ 5 อัน ดอกเพศเมียมีรังไข่รูปกลมหรือทรงกระบอก ประกอบด้วย 3 รังไข่เชื่อมติดกัน ผลเป็นผลแบบแตงมีขนาดใหญ่ รูปไข่ขอบขนาน หรือทรงรี หรือทรงกลม ยาว 20-60 เซนติเมตร กว้าง 10-25 เซนติเมตร สีเขียวหรือสีเขียวอ่อน มีนวลจับผิว มีขนอ่อนกระจายอยู่ และมีผงสีขาวของไขที่เคลือบอยู่บนผิว เนื้อนุ่มฉ่ำน้ำสีขาวหนา 2-4 เซนติเมตร มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ภายในใจกลางผลเป็นเนื้อนุ่ม มีเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดแบน รูปไข่รี สีเหลืองปนน้ำตาล


ภาพผลอ่อนของฟัก


ภาพผลแก่ของแฟง

การใช้ประโยชน์
มีการนำส่วนของผลมาใช้เป็นอาหารทั้งในรูปผลอ่อนและผลแก่ โดยนำเนื้อผลมาต้มซุปรวมกับผักหรือเนื้อสัตว์ชนิดต่างๆ ตามความต้องการของผู้บริโภค อาจนำมาเชื่อมเป็นขนมหวานเรียกว่า “ตังกวย” หรือนำมาทำแกงเผ็ด และนำเนื้อผลมาคั้นน้ำบรรจุกระป๋องเป็นเครื่องดื่มน้ำฟักเขียว

คุณค่าทางอาหาร
ผลฟักหรือแฟง 1 ผล มีส่วนที่รับประทานได้ประมาณ 75 เปอร์เซ็นต์ โดยส่วนที่รับประทานได้หนัก 100 กรัมนั้น ประกอบด้วยน้ำ 96 กรัม โปรตีน 0.2 กรัม ไขมัน 0.1 กรัม คาร์โบไฮเดรต 3.5 กรัม วิตามินเอเล็กน้อย วิตามินบี 1 0.02 มิลลิกรัม วิตามินบี 2 0.03 มิลลิกรัม ไนอาซิน 0.5 มิลลิกรัม วิตามินซี 14 มิลลิกรัม แคลเซียม 14 มิลลิกรัม เหล็ก 0.4 มิลลิกรัม แมกนีเซียม 16 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 7 มิลลิกรัม พลังงาน 63 กิโลจูล เมล็ดมีน้ำหนักประมาณ 70 กรัมต่อ 1,000 เมล็ด

การขยายพันธุ์
ฟักเป็นพืชปีเดียว(annual) ลำต้นเป็นเถาเลื้อย ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด พันธุ์ที่นิยมปลูก ได้แก่ ทองประกาย สะพายทอง สะพายเพชร

นิเวศวิทยา
ฟักเป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีบนพื้นที่ราบค่อนข้างแห้งแล้งในเขตอากาศแบบร้อนชื้น จนกระทั่งบนพื้นที่สูงถึง 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล ต้องการดินที่มีอุณหภูมิสูงพอเหมาะต่อการงอกของเมล็ด อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตคือ 23-28 องศาเซลเซียส สัดส่วนของการออกดอกเพศผู้และดอกเพศเมียขึ้นกับสภาพอากาศที่เย็นและช่วงวันสั้น

การเก็บเกี่ยว
ผลอ่อนสามารถเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่อายุ 1 สัปดาห์หลังดอกบาน ขึ้นกับความต้องการของผู้บริโภค ส่วนผลแก่จะเก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 100-160 วันหลังปลูก

การส่งออก
ไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน แต่มีข้อมูลรวมอยู่ในน้ำผักบรรจุกระป๋องปี พ.ศ. 2542 คือ ปริมาณ 38,864 เมตริกตัน มูลค่า 1,048.21 ล้านบาท (กมล และคณะ, 2544)

พืชสวนครัว
การแลกเปลี่ยนพันธุ์พืช
แหล่งผลิตผักที่สำคัญของประเทศไทย
ผักเศรษฐกิจของประเทศไทย
พริก
กระเทียม
หอมแดง
แตงกวา
ข้าวโพดฝักอ่อน
ถั่วฝักยาว
คะน้า
กะหล่ำปลี
มะเขือเทศ
ฟักทอง
ผักกาดขาวกวางตุ้ง,ผักกาดฮ่องเต้
ผักกาดเขียวกวางตุ้ง
ผักกาดเขียวปลี
ผักบุ้งจีน
ผักกาดหัว
หอมหัวใหญ่
ผักกาดหอม
กะหล่ำดอก
ฟัก, แฟง
มะระ
บวบ
ถั่วลันเตา
หน่อไม้ฝรั่ง
กระเจี๊ยบเขียว
ผักกาดขาวปลี
หน่อไม้ไผ่ตง
มะเขือยาว
ถั่วแระญี่ปุ่นหรือถั่วเหลืองฝักสด
เอกสารและสิ่งอ้างอิง

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย