สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>

ผัก
(Vegetables)

หอมแดง

 (shallot) Allium cepa L. cv. group Aggregatum (Permadi and van der Meer, 1994)
วงศ์ LILIACEAE

ถิ่นกำเนิดและการแพร่กระจายทางภูมิศาสตร์
หัวหอมมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ สันนิษฐานว่ามีการนำไปปลูกในทัดซิกิสถาน อัฟกานิสถาน และอิหร่าน โดยหอมแดงกลายพันธุ์ตามธรรมชาติจากหอมหัวใหญ่และมีการคัดเลือกพันธุ์เพื่อนำมาปลูกเป็นพืชอาหาร ซึ่งมีการบันทึกไว้ในช่วงคริสตวรรษที่ 12 ในประเทศฝรั่งเศส ในปัจจุบันมีการปลูกหอมแดงแพร่หลายไปทั่วโลกจากทวีปยุโรปไปยังเส้นศูนย์สูตร และเคลื่อนไปใกล้บริเวณขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ แต่มีการบริโภคน้อยกว่าหอมหัวใหญ่

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
เป็นพืชสองปี ไม่มีเนื้อไม้ นิยมปลูกแบบพืชปีเดียวโดยใช้หัว สูงได้ถึง 50 เซนติเมตร รากเป็นรากพิเศษ เส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2 เซนติเมตร ยาว 10-25 เซนติเมตร เจริญออกจากลำต้นที่แท้จริงมีลักษณะสั้นและแบนอยู่บริเวณส่วนโคนของกาบใบภายในหัว ใบมี 3-8 ใบ การเรียงใบแบบสลับระนาบเดียว มีนวลจับที่ผิวใบ มีเยื่อหุ้มซึ่งเกิดจากกาบใบแผ่เป็นวงแหวนล้อมรอบใบที่อยู่ด้านในไว้ แผ่นใบเป็นรูปทรงกระบอก สีเขียวเข้ม ตรงกลางกลวง ใบตั้งตรง หัวใหม่ถูกสร้างขึ้นบริเวณส่วนโคนกาบใบทางด้านบนของหัวเก่า และมีการสร้างหัวใหม่ออกไปทางด้านข้าง 3-18 หัว กาบหุ้มภายนอกหัวมีสีม่วง น้ำตาล หรือขาว หัวมีลักษณะเป็นรูปขอบขนาน กลม หรือกลมแป้น อาจมีเส้นผ่าศูนย์กลางได้ถึง 5 เซนติเมตร มีขนาด รูปร่าง สี และน้ำหนักแตกต่างกันตามพันธุ์ มีช่อดอก 1 ช่อถึงหลายช่อ

ช่อดอกแบบซี่ร่มรูปทรงกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 2-8 เซนติเมตร ถูกห่อหุ้มด้วยกาบหุ้มช่อดอก ซึ่งแยกออกมาเป็น 2-4 ใบ ช่อดอกประกอบด้วยดอกย่อยซึ่งเป็นดอกสมบูรณ์เพศตั้งแต่ 50-2,000 ดอกย่อย ก้านดอกย่อยผอมเรียว ดอกมีลักษณะเป็นรูปทรงระฆังหรือรูปคนโท กลีบเลี้ยงและกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็น 6 กลีบ เรียงซ้อนกัน 2 วง รูปไข่จนถึงรูปขอบขนาน ยาว 3-5 มิลลิเมตร สีขาวปนเขียว มีเกสรเพศผู้ 6 อัน รังไข่แบบเหนือวงกลีบมี 3 ช่อง ก้านเกสรเพศเมียเชื่อมรวมกัน มีลักษณะสั้นกว่าเกสรเพศผู้เมื่อดอกบาน ผลแบบแคปซูลรูปกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 4-6 มิลลิเมตร ผลแก่แตกกลางพู มี 6 เมล็ด เมล็ดยาว 6 มิลลิเมตร กว้าง 4 มิลลิเมตร สีดำ ผิวเมล็ดย่น


ภาพหัวหอมแดงซึ่งเป็นส่วนของลำต้นใต้ดิน


ภาพลำต้นใต้ดินที่มีการแตกออกจากลำต้นเก่า (สุรชัย, 2535)

การใช้ประโยชน์
ปรุงแต่งกลิ่นและรสชาติของอาหาร มักนิยมใช้กับอาหารที่มีเนื้อสัตว์เป็นส่วนประกอบ เช่น ยำเนื้อย่าง ลาบ และทำน้ำจิ้มสำหรับอาหารจำพวกปลา ส่วนช่อดอกที่ยังตูมอยู่นั้นนิยมนำมารับประทานเป็นผักด้วยเช่นกัน

หัวหอมถูกนำมาใช้เป็นสมุนไพรสำหรับรักษาโรคหวัด และห้ามเลือดที่บาดแผลโดยนำไปผสมกับเกลือและน้ำมันมะพร้าว

คุณค่าทางอาหาร
ส่วนที่รับประทานได้หนัก 100 กรัม ประกอบด้วยน้ำ 88 กรัม โปรตีน 1.5 กรัม ไขมัน 0.3 กรัม คาร์โบไฮเดรต 9 กรัม เส้นใย 0.7 กรัม เถ้า 0.6 กรัม แคลเซียม 36 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 40 มิลลิกรัม เหล็ก 0.8 มิลลิกรัม วิตามินเอ 5 IU วิตามินบี 1 0.03 มิลลิกรัม วิตามินซี 2 มิลลิกรัม พลังงาน 160 กิโลจูล น้ำหนักเมล็ด

3-5 กรัม ต่อ 1,000 เมล็ด กลิ่นฉุนของหัวหอมเกิดจากสารประกอบซัลเฟอร์อัลคีนหรือซัลเฟอร์อัลคิลซิสเทอีนซัลฟอกไซด์ (S-alk(en)yl cysteine sulphoxides)

การขยายพันธุ์
ใช้ส่วนของลำต้นใต้ดินซึ่งเรียกว่าหัว (bulb) ที่พ้นระยะพักตัวแล้วคือหลังจากเก็บเกี่ยวมานานประมาณ 3-4 เดือน อาจมีการขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดถ้าต้องการปรับปรุงพันธุ์ใหม่ และมีปริมาณของเมล็ดมากเพียงพอ พันธุ์ที่นิยมปลูกคือ ศรีสะเกษ บางช้าง เชียงใหม่

นิเวศวิทยา
หอมแดงในเขตร้อนชื้นต้องการอุณหภูมิในการเจริญเติบโตช่วง 20-26 องศาเซลเซียส ความยาวช่วงวันอย่างน้อย 11 ชั่วโมง สามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินเกือบทุกชนิด ที่มีค่า pH สูงกว่า 5.6 แต่ดินที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตมากที่สุดคือดินเหนียวปนทรายที่มีการระบายน้ำดี เป็นพืชที่ต้องการน้ำมากแต่ไม่ชอบน้ำท่วมขัง เนื่องจากทำให้หัวซึ่งเป็นลำต้นใต้ดินเน่าเสียได้

พื้นที่ปลูกในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2547 ประมาณ 112,896 ไร่ ผลผลิต 232,537 ตัน (กรมส่งเสริมการเกษตร, 2548)

การเก็บเกี่ยว
มักจะเก็บเกี่ยวหลังจากปลูกประมาณ 60-70 วัน ถ้าปลูกในพื้นที่ราบ ส่วนการปลูกบนพื้นที่สูงนั้นมีอายุเก็บเกี่ยวนานกว่าประมาณ 80-100 วัน การเก็บเกี่ยวกระทำโดยการถอนส่วนของลำต้นใต้ดินและรากทั้งหมดขึ้นมาจากพื้นดิน แล้วนำส่วนของใบมามัดรวมกันเป็นฟ่อนขนาด 1-2 กิโลกรัม ผึ่งแดดให้แห้งเป็นเวลา 5-14 วัน

การส่งออก
หัวสดที่ส่งออกในปี พ.ศ. 2548 คือ 194 ตัน คิดเป็นมูลค่า 3.57 ล้านบาท (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2549)

พืชสวนครัว
การแลกเปลี่ยนพันธุ์พืช
แหล่งผลิตผักที่สำคัญของประเทศไทย
ผักเศรษฐกิจของประเทศไทย
พริก
กระเทียม
หอมแดง
แตงกวา
ข้าวโพดฝักอ่อน
ถั่วฝักยาว
คะน้า
กะหล่ำปลี
มะเขือเทศ
ฟักทอง
ผักกาดขาวกวางตุ้ง,ผักกาดฮ่องเต้
ผักกาดเขียวกวางตุ้ง
ผักกาดเขียวปลี
ผักบุ้งจีน
ผักกาดหัว
หอมหัวใหญ่
ผักกาดหอม
กะหล่ำดอก
ฟัก, แฟง
มะระ
บวบ
ถั่วลันเตา
หน่อไม้ฝรั่ง
กระเจี๊ยบเขียว
ผักกาดขาวปลี
หน่อไม้ไผ่ตง
มะเขือยาว
ถั่วแระญี่ปุ่นหรือถั่วเหลืองฝักสด
เอกสารและสิ่งอ้างอิง

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย