สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>

ผัก
(Vegetables)

ผักกาดหัว

 (Chinese radish) Raphanus sativus L. (Piluek and Beltran, 1994)
วงศ์ CRUCIFERAE, BRASSICACEAE

ถิ่นกำเนิดและการแพร่กระจายทางภูมิศาสตร์
ไม่ทราบถิ่นกำเนิดแน่ชัด แต่บริเวณที่มีความหลากหลายทางพันธุกรรมมากคือทางด้านตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนจรดทะเลแคสเปียน มีการปลูกผักกาดหัวในพื้นที่แถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เมื่อประมาณ 2,000 ปี ก่อนคริสตกาล และแพร่หลายมายังประเทศจีน เมื่อประมาณ 500 ปี ก่อนคริสตกาล จากนั้นแพร่หลายเข้าไปในประเทศญี่ปุ่น ราวปี ค.ศ. 700 ปัจจุบันมีการปลูกผักกาดหัวแพร่หลายไปทั่วโลก ผักกาดหัว cv. Group Chinese Radish เป็นที่นิยมและมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ใน จีน ญี่ปุ่น เกาหลี และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
พืชปีเดียว ไม่มีเนื้อไม้ พุ่มตั้งตรง สูง 20-100 เซนติเมตร ลำต้นใต้ใบเลี้ยงและส่วนบนของรากแก้วมีลักษณะบวมพองอวบอ้วนเก็บสะสมอาหารมีลักษณะเป็นทรงกระบอกสีขาว เนื้อภายในรากนุ่มฉ่ำน้ำมีสีขาว ความยาว 10-25 เซนติเมตร ความกว้าง 4-5 เซนติเมตร ลำต้นเตี้ยในการเจริญเติบโตระยะแรก เมื่อออกดอกลำต้นจะยืดยาวสูงขึ้น ใบเป็นใบเดี่ยว มีการเรียงใบแบบสลับ ใบเกลี้ยงหรืออาจมีขนสากเล็กน้อย ใบที่อยู่ทางด้านล่างเรียงซ้อนกันเป็นกระจุก ก้านใบ ยาว 3-5.5 เซนติเมตร แผ่นใบมีรอยหยักเว้าเข้าหาเนื้อใบแบบขนนก ประมาณ 8-12 คู่ ใบยาวได้ถึง 60 เซนติเมตร ใบที่อยู่ทางด้านบนมีขนาดเล็กกว่าใบทางด้านล่าง แผ่นใบเป็นรูปช้อนผสมใบหอก ก้านใบสั้น ช่อดอกเกิดที่บริเวณตายอด เป็นช่อแบบกระจะลักษณะยาวตรง มีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5 เซนติเมตร สีขาวมีกลิ่นหอม ก้านดอกย่อยยาว 2.5 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยง 4 กลีบเป็นรูปแถบขอบขนาน ยาว 0.6-1 เซนติเมตร กลีบดอก 4 กลีบ รูปช้อนมีลักษณะโค้ง ความยาว 1-2 เซนติเมตร มีเกสรเพศผู้ 6 อัน ผลรูปทรงกระบอก เกิดจาก 2 รังไข่หรือมากกว่าเชื่อมติดกัน มีตั้งแต่ 2-12 เมล็ด เมล็ดสีเหลืองซีดมีลักษณะกลมผสมรูปไข่ เส้นผ่าศูนย์กลาง 3 มิลลิเมตร


ภาพรากและลำต้นผักกาดหัว (สุรชัย, 2535)


ภาพผักกาดหัว (คณะทำงานรวบรวมความรู้เกี่ยวกับผัก, 2541)

การใช้ประโยชน์
นำส่วนของรากสะสมอาหารที่อวบอ้วนมารับประทานโดยปอกเปลือกนอกทิ้งไป แล้วนำเนื้อภายในมาประกอบอาหารจำพวกซุปชนิดต่างๆ ร่วมกับเนื้อสัตว์ หรือนำมาหั่น ตัด แกะสลักประดับตกแต่งบนจานอาหารให้ดูสวยงามน่ารับประทาน นอกจากนี้ยังเป็นผักที่นิยมนำมาแปรรูปเป็นผักดองและผักกาดหัวอบแห้งที่มีรสชาติต่างๆ อาจดองร่วมกับผักชนิดอื่น มีการบรรจุหีบห่อในรูปแบบต่างๆ กัน เช่น ถุงพลาสติกปิดผนึก ขวดแก้วมีฝาปิด และบรรจุกระป๋อง เป็นที่นิยมบริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ

คุณค่าทางอาหาร
ส่วนที่รับประทานได้หนัก 100 กรัม ประกอบด้วยน้ำ 93.5 กรัม โปรตีน 0.6 กรัม ไขมัน 0.1 กรัม คาร์โบไฮเดรต 5.3 กรัม แคลเซียม 32 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 21 มิลลิกรัม เหล็ก 0.6 มิลลิกรัม วิตามินเอเล็กน้อย วิตามิน บี 10.02 มิลลิกรัม วิตามินบี 2 0.03 มิลลิกรัม วิตามินซี 25 มิลลิกรัม ไนอาซิน 0.30 มิลลิกรัม พลังงาน 90 กิโลจูล เมล็ดจำนวน 1,000 เมล็ดหนักประมาณ 10 กรัม

การขยายพันธุ์
ผักกาดหัวเป็นพืชปีเดียว (annual) ไม่มีเนื้อไม้ ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด พันธุ์ที่นิยมปลูกคือ ไวท์ร็อกเก็ต

นิเวศวิทยา
ผักกาดหัวเป็นพืชที่ชอบอากาศหนาวเย็นแสงแดดจัด เจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้ดีถ้าปลูกบนพื้นที่สูงและมีอากาศเย็น ถ้าปลูกในสภาพช่วงวันสั้น รากจะมีรูปร่างดีและปลายยอดเล็ก แต่ถ้าปลูกในสภาพช่วงวันยาวมากกว่า 15 ชั่วโมง รากจะมีรูปร่างไม่ดีนักยอดจะมีลักษณะเป็นรูปทรงรี และมีการออกดอกเร็ว สภาพอุณหภูมิต่ำและช่วงวันยาวจะมีการกระตุ้นให้แทงช่อดอก ชอบดินที่มีหน้าดินลึก ร่วนซุย มีการระบายน้ำได้ดี ค่า pH 6.0-6.5

พื้นที่ปลูก ปี พ.ศ. 2542-2543 ประมาณ 30,211 ไร่ ผลผลิตรวม 69,197 ตัน (กรมส่งเสริมการเกษตร, 2543)

การเก็บเกี่ยว
ควรเก็บเกี่ยวเมื่อรากแก้วเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว แต่ไม่ควรเก็บเกี่ยวในระยะที่แก่เกินไปเนื่องจากเนื้อของรากจะฟ่าม อายุเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมประมาณ 50-90 วัน ขึ้นกับสายพันธุ์ และเก็บเกี่ยวโดยการใช้มือถอน

การส่งออก
ในปี พ.ศ. 2541 มีการส่งออกผักกาดหัว 51.0 เมตริกตัน มูลค่า 1.40 ล้านบาท แต่ปีต่อๆ มาไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับการส่งออกทั้งในรูปผลผลิตสด ดอง และอบแห้ง แต่มีข้อมูลเกี่ยวกับการส่งออกเมล็ดพันธุ์ ในปี พ.ศ. 2543 ปริมาณ 25.93 ตัน มูลค่า 4.11 ล้านบาท ซึ่งมีปริมาณการนำเข้าสูงกว่าคือ 98.19 ตัน มูลค่า 15.97 ล้านบาท (กมล และคณะ, 2544)

พืชสวนครัว
การแลกเปลี่ยนพันธุ์พืช
แหล่งผลิตผักที่สำคัญของประเทศไทย
ผักเศรษฐกิจของประเทศไทย
พริก
กระเทียม
หอมแดง
แตงกวา
ข้าวโพดฝักอ่อน
ถั่วฝักยาว
คะน้า
กะหล่ำปลี
มะเขือเทศ
ฟักทอง
ผักกาดขาวกวางตุ้ง,ผักกาดฮ่องเต้
ผักกาดเขียวกวางตุ้ง
ผักกาดเขียวปลี
ผักบุ้งจีน
ผักกาดหัว
หอมหัวใหญ่
ผักกาดหอม
กะหล่ำดอก
ฟัก, แฟง
มะระ
บวบ
ถั่วลันเตา
หน่อไม้ฝรั่ง
กระเจี๊ยบเขียว
ผักกาดขาวปลี
หน่อไม้ไผ่ตง
มะเขือยาว
ถั่วแระญี่ปุ่นหรือถั่วเหลืองฝักสด
เอกสารและสิ่งอ้างอิง

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย