สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>
มะเขือเทศ
( tomato ) Lycopersicon esculentum Miller (Opena and van der Vossen,1994)
วงศ์ SOLANACEAE
ถิ่นกำเนิดและการแพร่กระจายทางภูมิศาสตร์
บริเวณแอนเดียน (Andean) ของทวีปอเมริกาใต้
ประกอบด้วยพื้นที่ของประเทศโบลิเวีย ชิลี เอกวาดอร์ โคลัมเบีย และเปรู
มีการนำไปปลูกในประเทศเม็กซิโก แล้วแพร่หลายไปยังยุโรปในยุคค้นพบโลกใหม่
จากนั้นแพร่กระจายไปยังภูมิภาคส่วนต่างๆ ของโลก คือประเทศจีน เอเชียใต้
และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในศตวรรษที่ 17 และแพร่ไปยังญี่ปุ่น
และสหรัฐอเมริกาในศตวรรษที่ 18
ในปัจจุบันเป็นพืชผักเศรษฐกิจที่มีการปลูกแพร่หลายไปทั่วโลก
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
เป็นพืชปีเดียวไม่มีเนื้อไม้ อาจสูงได้ถึง 2 เมตรหรือสูงกว่า
มีรากแก้วที่แข็งแรง หยั่งลึกได้ถึง 0.5 เมตร มีรากแขนงและรากพิเศษจำนวนมาก
ลำต้นแข็งมีขนหยาบ และมีต่อมขน ลำต้นมีทั้งเป็นพุ่มตั้งตรง และลำต้นเลื้อย
ถ้าไม่มีค้างเกาะจะเลื้อยทอดนอนไปตามพื้นดิน ช่อดอกเจริญออกมาจากใบที่ 3 และ 4
ของลำต้น มีจำนวน 4-6 ช่อดอก ต่อต้น การเรียงใบแบบเวียน
ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ก้านใบยาว 3-6 เซนติเมตร ใบยาว 15-50 เซนติเมตร กว้าง
10-30 เซนติเมตร มีใบย่อย 7-9 ใบ ใบย่อยรูปไข่หรือรูปขอบขนาน ยาว 5-10 เซนติเมตร
ขอบใบแบบหยักซี่ฟัน ก้านใบย่อยมีขนที่เป็นต่อม ช่อดอกเป็นแบบช่อกระจุก มี 6-12
ดอกย่อย ดอกมีสมมาตรตามรัศมี เส้นผ่าศูนย์กลาง 2 เซนติเมตร ดอกห้อยลง
เป็นดอกสมบูรณ์เพศ มีรังไข่เหนือวงกลีบ มักพบว่ามีกลีบเลี้ยงและกลีบดอกอย่างละ 6
กลีบ กลีบเลี้ยงสั้นมีสีเขียวอยู่คงทนและขยายขนาดตามขนาดผล
กลีบดอกรูปกงล้อสีเหลืองซีด หลุดร่วงหลังจากมีการปฏิสนธิ มีเกสรเพศผู้ 6 อัน
อับเรณูสีเหลืองสด รังไข่เหนือวงกลีบมี 2-9 รังไข่ประกอบกัน ผลมีเนื้อหลายเมล็ด
เนื้อผลหนานุ่ม และมีเนื้อนุ่มบริเวณพลาเซนตาที่อยู่บริเวณแกนกลางผล ผลทรงกลม
ทรงกลมแป้นหรือแบนที่ขั้ว ผิวผลเรียบหรือเป็นร่อง เส้นผ่าศูนย์กลาง 2-15 เซนติเมตร
ผลอ่อนสีเขียวและมีขนที่ผิวผล ผลสุกผิวเรียบเป็นมันสีแดง ชมพู ส้มหรือเหลือง
เมล็ดเมล็ดสีน้ำตาลอ่อนและมีขน รูปแบน ยาว 3-5 มิลลิเมตร กว้าง 2-5 มิลลิเมตร
อาจมีจำนวนมากถึง 250 เมล็ดต่อผล
ภาพมะเขือเทศพันธุ์ผลเล็ก (สุรชัย, 2545)
ภาพมะเขือเทศพันธุ์ผลใหญ่
การใช้ประโยชน์
นำผลมารับประทานสดเป็นผักหรือผลไม้
และนำมาปรุงให้สุกเป็นอาหารร่วมกับผักชนิดอื่นและเนื้อสัตว์ชนิดต่างๆ
นอกจากนี้ยังนำมาแช่อิ่มหรือกวนเป็นขนมหวาน ทำน้ำผลไม้หรือไวน์
และมีการแปรรูปในโรงงานทำซอสมะเขือเทศ มะเขือเทศลอกเปลือก มะเขือเทศเหลว(paste)
น้ำมะเขือเทศ มะเขือเทศเชื่อม
คุณค่าทางอาหาร
ส่วนของผลที่รับประทานได้หนัก 100 กรัม ประกอบด้วยน้ำ 94 กรัม โปรตีน 1
กรัม ไขมัน 0.2 กรัม คาร์โบไฮเดรต 3.6 กรัม แคลเซียม 10 มิลลิกรัม เหล็ก 0.6
มิลลิกรัม แมกนีเซียม 10 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 16 มิลลิกรัม วิตามินเอ 1700 IU
วิตามินบี 1 0.1 มิลลิกรัม วิตามินบี2 0.02 มิลลิกรัม ไนอาซิน 0.6 มิลลิกรัม
วิตามินซี 21 มิลลิกรัม พลังงาน 80 กิโลจูล เมล็ดจำนวน 1,000 เมล็ดหนักประมาณ
2.5-3.5 กรัม
การขยายพันธุ์
มะเขือเทศเป็นพืชปีเดียว(annual) ไม่มีเนื้อไม้ ลำต้นเป็นพุ่มเตี้ย
หรือเถาเลื้อยขึ้นกับสายพันธุ์ ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด พันธุ์ที่นิยมปลูก ได้แก่
เพชรชมพู สีดา มก. เดลต้า เบต้า ส้มตำ พวงชมพู (บริษัท อีสท์ เวสต์ ซีด จำกัด,
2548)
นิเวศวิทยา
มะเขือเทศเป็นพืชที่ชอบอากาศแห้งและเย็น
แต่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศแบบต่างๆ ได้
ตั้งแต่เขตร้อนชื้นบริเวณเส้นศูนย์สูตร จนกระทั้งเขตหนาวในช่วงฤดูร้อน
อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตคือ 21-24 องศาเซลเซียส ถ้าอุณหภูมิต่ำกว่า 12
องศาเซลเซียส จะทำให้มีความเสียหายจากอากาศเย็นเกิดขึ้นได้
ในสภาพอากาศที่ค่อนข้างร้อนคืออุณหภูมิสูงกว่า 27 องศาเซลเซียส
ทำให้การเจริญเติบโตของต้นและการติดผลลดลง และที่อุณหภูมิ 38
องศาเซลเซียสในเวลากลางวันเป็นเวลา 5-10 วัน
จะทำลายส่วนที่ทำหน้าที่สืบพันธุ์เพศผู้และเพศเมีย และถ้าอุณหภูมิกลางคืนสูงกว่า 21
องศาเซลเซียส เป็นเวลา 2-3 วัน ในช่วงก่อนและหลังดอกบาน
หรือลมร้อนที่แห้งแล้งพัดผ่านจะทำให้การติดผลลดน้อยลง
ระดับความเข้มแสงที่ต่ำจะทำให้การเจริญเติบโตหยุดชะงักและออกดอกช้า
ไม่มีการตอบสนองต่อความยาวของช่วงวันในการออกดอก
ส่วนการติดผลสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ความยาวของช่วงวัน 7-19 ชั่วโมง
มะเขือเทศสามารถเจริญเติบโตได้ในดินหลายชนิด
ตั้งแต่ดินร่วนปนทรายจนถึงดินร่วนปนเหนียวซึ่งอุดมด้วยอินทรียสาร ค่า pH 6.0-6.5
ถ้าดินมีค่า pH สูงหรือต่ำกว่านี้จะมีผลต่อการดูดซับธาตุอาหาร
หรือการเกิดพิษเนื่องจากสารประกอบของแร่ธาตุบางชนิด
การถูกน้ำท่วมขังเป็นเวลานานก็มีผลต่อการเจริญเติบโตของลำต้นและอาจทำให้ตายได้
พื้นที่ปลูก 101,983 ไร่ ผลผลิต 237,212 ตัน ในปี พ.ศ. 2542-2543
(กรมส่งเสริมการเกษตร, 2543)
การเก็บเกี่ยว
นิยมเก็บเกี่ยวผลแก่จัดเต็มที่ แต่ยังคงมีสีเขียวอยู่
หรือยังไม่เปลี่ยนเป็นสีของผลที่สุกแล้ว โดยจะปล่อยให้ผลค่อยๆ สุกเองตามธรรมชาติ
ระหว่างการขนส่งหรือการเก็บรักษา ทำให้ยืดอายุการเก็บรักษาได้นานขึ้น
แต่การเก็บเกี่ยวเพื่อรับประทานเป็นผลไม้
หรือนำส่งโรงงานแปรรูปนั้นจะมีอายุการเก็บเกี่ยวตามมาตรฐานที่กำหนดไว้
เพื่อให้ได้รสชาติ คุณค่าทางอาหาร และคุณภาพของเนื้อผลตามต้องการ
การส่งออก
ในปี พ.ศ. 2542 มีการส่งออกมะเขือเทศปรุงแต่ง 12,027 เมตริกตัน มูลค่า
270.38 ล้านบาท ซอสมะเขือ เทศ 4,771 เมตริกตัน มูลค่า 165.36 ล้านบาท ปี พ.ศ. 2543
ส่งออกเมล็ดพันธุ์ 47.15 ตัน มูลค่า 4.61 ล้านบาท (กมล และคณะ, 2544)
พืชสวนครัว
การแลกเปลี่ยนพันธุ์พืช
แหล่งผลิตผักที่สำคัญของประเทศไทย
ผักเศรษฐกิจของประเทศไทย
พริก
กระเทียม
หอมแดง
แตงกวา
ข้าวโพดฝักอ่อน
ถั่วฝักยาว
คะน้า
กะหล่ำปลี
มะเขือเทศ
ฟักทอง
ผักกาดขาวกวางตุ้ง,ผักกาดฮ่องเต้
ผักกาดเขียวกวางตุ้ง
ผักกาดเขียวปลี
ผักบุ้งจีน
ผักกาดหัว
หอมหัวใหญ่
ผักกาดหอม
กะหล่ำดอก
ฟัก, แฟง
มะระ
บวบ
ถั่วลันเตา
หน่อไม้ฝรั่ง
กระเจี๊ยบเขียว
ผักกาดขาวปลี
หน่อไม้ไผ่ตง
มะเขือยาว
ถั่วแระญี่ปุ่นหรือถั่วเหลืองฝักสด
เอกสารและสิ่งอ้างอิง