สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>
ฟักทอง
(pumpkin) Cucurbita maxima Duchesne ex Lamk . (Widjaja and Sukprakarn,1994)
วงศ์ CUCURBITACEAE
ถิ่นกำเนิดและการแพร่กระจายทางภูมิศาสตร์
บริเวณตอนกลางของประเทศเม็กซิโก
ซึ่งพบหลักฐานทางโบราณคดีว่ามีการปลูกกันมานานประมาณ 8,000 ปี ก่อนคริสตกาล
ฟักทองมีการแพร่หลายไปยังทวีปอเมริกาเหนือ และทวีปอเมริกาใต้
เมื่อมีการค้นพบทวีปอเมริกามีการนำฟักทองไปแพร่หลายยังแถบทวีปยุโรป และเอเชีย
ซึ่งเป็นโลกเก่า
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
เป็นพืชปีเดียวไม่มีเนื้อไม้ ลำต้นยาวเลื้อย หรือสั้นเป็นพุ่มตั้ง
มีขนสาก ลำต้นอ่อนนุ่มจนถึงแข็ง มีลักษณะกลมจนถึงเหลี่ยมเป็นสัน
มักมีรากพิเศษงอกออกมาจากข้อของลำต้น มือพันแตกแขนงใบเป็นใบเดี่ยว
การเรียงใบแบบสลับ ก้านใบยาว แผ่นใบกว้างรูปหัวใจจนถึงรูปสามเหลี่ยม
มีรอยหยักเว้าตื้น ๆ มีรอยสีขาวบริเวณเส้นใบ ใบค่อนข้างแข็งและมีขนสาก
ดอกเป็นดอกเดี่ยวมีขนาดใหญ่สีเหลืองปนส้ม กลีบเลี้ยงและกลีบดอกเป็นรูปทรงระฆัง
ดอกเพศผู้มีก้านดอกยาว มีเกสรเพศผู้ 3 อัน อับเรณูเป็นแถบยาวบิดเป็นเกลียว
เกสรเพศผู้แยกออกจากกันบางส่วน ดอกเพศเมียอยู่บนก้านดอกสั้นๆ รังไข่
รูปกลมหรือคล้ายจาน เกิดจาก 3 รังไข่เชื่อมกัน มีช่องภายในผล 1 ช่อง
ก้านเกสรเพศเมียหนา ยอดเกสรเพศเมีย 3 อัน เชื่อมติดกันเป็น 2 พู ผลแบบแตง
ก้านผลแข็งแผ่เชื่อมติดกับผล ผลกลมแบน เปลือกแข็ง เมล็ดมีจำนวนมาก
เมล็ดแบนสีขาวหรือเหลืองปนน้ำตาล อาจพบเมล็ดที่มีสีเข้ม
ภาพผลฟักทองที่นิยมปลูกในประเทศไทย
ภาพเนื้อผลและเมล็ดฟักทอง (Hutton, 1995)
การใช้ประโยชน์
นำส่วนของผล ยอดอ่อน และดอกมารับประทานเป็นอาหารจำพวกผักโดยการทำให้สุกก่อน
เมล็ดนั้นมีเนื้อภายในมากสามารถนำมาคั่วให้สุกแล้วนำมาใช้เป็นของขบเคี้ยวได้
เนื้อของผลฟักทองมีลักษณะเหนียวแข็งแต่อุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหาร
เมื่อนำมาปรุงอาหารต้องใช้ความร้อนสูง หรือใช้เวลาค่อนข้างนานในการประกอบอาหาร
นอกจากนี้ผลแก่และเมล็ดยังถูกนำมาใช้เป็นยาฆ่าพยาธิ รักษาเหงือกและฟัน แก้ธาตุพิการ
คุณค่าทางอาหาร
ส่วนของเนื้อผลที่รับประทานได้หนัก 100 กรัม ประกอบด้วยน้ำ 85-91 กรัม
โปรตีน 0.8-2.0 กรัม ไขมัน 0.1-0.5 กรัม คาร์โบไฮเดรต 3.3-11 กรัม วิตามินเอ
340-7800 IU วิตามินบี1 0.07-0.14 มิลลิกรัม วิตามินบี2 0.01-0.04 มิลลิกรัม
ไนอาซิน 0.5-1.2 มิลลิกรัม วิตามินซี 6-21 มิลลิกรัม แคลเซียม 14-48 มิลลิกรัม
เหล็ก 70 มิลลิกรัม แมกนีเซียม 16-34 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 21-38 มิลลิกรัม พลังงาน
85-170 กิโลจูล เมล็ดจำนวน 1,000 เมล็ด มีน้ำหนักประมาณ 200 กรัม
การขยายพันธุ์
ฟักทองมีลำต้นเป็นเถาเลื้อยไม่มีเนื้อไม้ เป็นพืชปีเดียว (annual)
มีดอกแยกเพศกันเป็นดอกเพศผู้และดอกเพศเมีย แต่อยู่บนต้นเดียวกัน
ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด พันธุ์ที่นิยมปลูก ได้แก่ พันธุ์เนื้อทอง อัสนี คางคก
นิเวศวิทยา
ฟักทองเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนชื้น
สามารถเจริญเติบโตบนพื้นที่ราบจนถึงความสูง 1,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล
ต้องการอุณหภูมิเฉลี่ยในการเจริญเติบโตประมาณ 18-27 องศาเซลเซียส
แต่สามารถเจริญเติบโตในเขตอากาศแบบอบอุ่นที่มีอุณหภูมิต่ำกว่านี้ได้
อุณหภูมิและความยาวช่วงวันมีผลต่อการเกิดดอกเพศผู้และดอกเพศเมีย
สามารถเจริญเติบโตได้ในดินชนิดต่างๆ ที่มีค่า pH 5.5-7 เป็นพืชทนแล้ง
เจริญเติบโตในสภาพได้รับน้ำน้อยได้
แต่ไม่ชอบน้ำท่วมขังถ้าปลูกในสภาพที่มีความชื้นในอากาศสูงใบจะเป็นโรคได้ง่าย
พื้นที่ปลูก ในปี พ.ศ. 2542-2543 ประมาณ 75,883 ไร่ ผลผลิต 26,507 ตัน
(กรมส่งเสริมการเกษตร, 2543)
การเก็บเกี่ยว
ใช้มีดตัดผลที่ขั้วผลในระยะที่ผลแก่จัดและเติบโตเต็มที่แล้ว
สามารถเก็บรักษาภายใต้สภาพถูกแสงแดดจัดได้ หรือถ้าเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิ 27-29
องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-85 เปอร์เซ็นต์ จะสามารถเก็บรักษาไว้ได้นานประมาณ
10 วัน ถ้าเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิ 10-13 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-75
เปอร์เซ็นต์ จะสามารถเก็บรักษาผลฟักทองได้นานถึง 6 เดือน ถ้าไม่มีบาดแผลใดๆ ที่ผล
แต่ไม่ควรเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส
เนื่องจากจะทำให้เกิดน้ำแข็งภายในเนื้อผลได้
อาจมีการหั่นเป็นชิ้นตากแห้งสำหรับนำมาปรุงอาหารในภายหลัง
หรือนำเนื้อบรรจุกระป๋องสำหรับใช้ในงานเบเกอรี
การส่งออก
มีการส่งออกเมล็ดฟักทองอบเพื่อเป็นขนมขบเคี้ยว
และเมล็ดพันธุ์ฟักทองสำหรับปลูกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ แต่ไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน
พืชสวนครัว
การแลกเปลี่ยนพันธุ์พืช
แหล่งผลิตผักที่สำคัญของประเทศไทย
ผักเศรษฐกิจของประเทศไทย
พริก
กระเทียม
หอมแดง
แตงกวา
ข้าวโพดฝักอ่อน
ถั่วฝักยาว
คะน้า
กะหล่ำปลี
มะเขือเทศ
ฟักทอง
ผักกาดขาวกวางตุ้ง,ผักกาดฮ่องเต้
ผักกาดเขียวกวางตุ้ง
ผักกาดเขียวปลี
ผักบุ้งจีน
ผักกาดหัว
หอมหัวใหญ่
ผักกาดหอม
กะหล่ำดอก
ฟัก, แฟง
มะระ
บวบ
ถั่วลันเตา
หน่อไม้ฝรั่ง
กระเจี๊ยบเขียว
ผักกาดขาวปลี
หน่อไม้ไผ่ตง
มะเขือยาว
ถั่วแระญี่ปุ่นหรือถั่วเหลืองฝักสด
เอกสารและสิ่งอ้างอิง