สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>

ผัก
(Vegetables)

ผักกาดขาวปลี

 (Chinese cabbage) Brassica rapa L. cv. Group Chinese cabbage (Kuo and Toxopeus, 1994)
วงศ์ CRUCIFERAE, BRASSICACEAE

ถิ่นกำเนิดและการแพร่กระจายทางภูมิศาสตร์
ถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศจีน สันนิษฐานว่ามีการกลายพันธุ์จากผักกาดขาวที่ไม่ห่อปลี ซึ่งปลูกทางตอนใต้ของจีนมานานกว่า 1,600 ปี และเทอร์นิพ ซึ่งปลูกมากทางตอนเหนือของประเทศจีน การแปรผันทางพันธุกรรมของผักกาดขาวปลีเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 600 ปี มาแล้ว และมีการนำไปปลูกในประเทศเกาหลีในศตวรรษที่ 13 ลงมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในศตวรรษที่ 15 และถูกนำเข้าไปปลูกในประเทศญี่ปุ่น ในศตวรรษที่ 19 ในปัจจุบันมีการปลูกผักกาดขาวปลีแพร่หลายทั่วโลก

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
เป็นพืชสองปี แต่มีการปลูกแบบพืชปีเดียว ลำต้นสูง 20-50 เซนติเมตร เมื่อออกดอกสูงได้ถึง 1.5 เมตร มีระบบรากแก้ว มีรากแขนงแผ่กระจายจำนวนมาก ขณะมีการเติบโตใบเรียงซ้อนกันเป็นกระจุกแบบดอกกุหลาบ ใบที่อยู่ภายในอัดเรียงกันเป็นปลีทรงกรวยหรือทรงค่อนข้างกลม โดยมีการเรียงใบแบบสลับออกมาจากข้อของลำต้น ใบยาว 20-90 เซนติเมตร กว้าง 15-35 เซนติเมตร รูปร่างของใบเปลี่ยนแปลงไปตามระยะเวลาของการเจริญเติบโต ใบที่อยู่รอบนอกของปลีมีรูปไข่ผอมรี ก้านใบเป็นปีกแผ่ยื่นออกไปทางด้านข้าง ใบสีเขียวเข้ม ใบที่เรียงซ้อนกันในปลีมีสีเขียวปนขาว แผ่นใบกว้างเกือบกลม ใบที่รองรับช่อดอกเป็นรูปหอกมีขนาดเล็ก ก้านใบแผ่กว้าง ช่อดอกมีการเจริญออกไปทางปลายช่อเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด ประกอบด้วยช่อแขนงที่เป็นช่อดอกแบบกระจะจำนวนมาก ช่อดอกยาว 20-60 เซนติเมตร ก้านดอกย่อยยาว 1-1.5 เซนติเมตร ดอกสมบูรณ์เพศ มีกลีบเลี้ยง 4 กลีบยาว 0.5 เซนติเมตรสีเขียวปนเหลือง กลีบดอกสีเหลืองสดจำนวน 4 กลีบ ยาว 1 เซนติเมตร กว้าง 0.5 เซนติเมตร มีเกสรเพศผู้ 6 อัน สั้น 2 อัน ยาว 4 อัน เกสรเพศเมีย 2 อัน มีรังไข่เชื่อมติดกัน ผลแตกแบบผักกาด ยาว 7 เซนติเมตร กว้าง 3-5 มิลลิเมตร ผิวเรียบ ส่วนปลายผลอ้วนสั้น มี 10-25 เมล็ด เมล็ดกลมจนถึงรูปไข่ สีเทาดำจนถึงสีน้ำตาลแดง เส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2 มิลลิเมตร (ภาพที่ 9.61 และ 9.62)

การใช้ประโยชน์
นำมารับประทานเป็นผักสดกับอาหารรสจัดชนิดต่างๆ หรือนำมาผัด ต้ม นึ่ง ซึ่งใช้เวลาในการปรุงน้อย เนื่องจากใบของผักชนิดนี้อ่อนนุ่มและเหี่ยวง่าย อาจใช้ส่วนของก้านใบที่นุ่มหนามาเคี่ยวในซุปหรือสตูชนิดต่างๆ ถ้ามีผักสดปริมาณมากแล้วบริโภคไม่ทัน อาจนำมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ตากแดดหรืออบให้แห้ง หรือนำมาดองในน้ำเกลือ สำหรับประกอบอาหารรับประทานในภายหลัง มีการแช่แข็งและแปรรูปเป็นอาหารสำเร็จรูปเพื่อส่งออกจำหน่ายยังต่างประเทศ


ภาพลำต้นและใบของผักกาดเขียวปลี


ภาพใบอ่อนที่ห่ออัดกันเป็นปลี (Pavord, 1966)

คุณค่าทางอาหาร
ใบผักกาดขาวปลีในส่วนที่สามารถรับประทานได้หนัก 100 กรัม ประกอบด้วยน้ำ 95 กรัม โปรตีน 1.2 กรัม ไขมัน 0.2 กรัม คาร์โบไฮเดรต 2.2 กรัม เส้นใย 0.5 กรัม แคลเซียม 49 มิลลิกรัม เหล็ก 0.7 มิลลิกรัม วิตามินเอ 0.9 มิลลิกรัม วิตามินซี 38 มิลลิกรัม พลังงาน 65 กิโลจูลต่อ 100 กรัม เมล็ดจำนวน 1,000 เมล็ด หนักประมาณ 3 กรัม มีน้ำมันเป็นองค์ประกอบ 35-40 เปอร์เซ็นต์

การขยายพันธุ์
ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด พันธุ์ปลียาว ทรงสูง รูปไข่ ที่นิยมปลูก ได้แก่ หางหงส์ โสภณ ขาวปลีฝรั่งพันธุ์ปลีกลม ได้แก่ ซาลาเดียไฮบริด ทรอปิคคอลไพรด์ไฮบริด

นิเวศวิทยา
ผักกาดขาวปลีมีการเจริญเติบโตและห่อปลีได้ดีที่อุณหภูมิ 12-22 องศาเซลเซียส แต่สามารถปลูกได้ในเขตร้อนชื้นบนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล 500-1,500 เมตร ถ้าปลูกผักกาดขาวปลีในสภาพอุณหภูมิสูงเกินไปจะไม่มีการห่อปลี และมีการไหม้บริเวณส่วนปลายของใบอ่อน ทำให้มีโรคต่าง ๆ ตามมา ถ้ามีการเจริญเติบโตในช่วงวันสั้นจะมีอัตราการเจริญเติบโตและน้ำหนักใบลดลง ความต้องการน้ำเพิ่มขึ้นตามอัตราการเจริญเติบโตของลำต้น โดยเฉพาะในช่วงห่อปลีที่ต้องการน้ำมากยิ่งขึ้น ถ้าขาดน้ำจะทำให้การห่อปลีชะงักลง แต่ถ้ามีน้ำท่วมขังในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ในฤดูฝนยังคงสามารถเจริญเติบโตและห่อปลีต่อไปได้ ถ้าหากปลูกในสภาพอากาศร้อนจัดแล้วมีน้ำท่วมขังเป็นเวลา 3-5 วัน จะตายเนื่องจากความร้อน

การออกดอกของผักกาดขาวปลีจะเกิดขึ้นเมื่อได้รับอุณหภูมิ 5-13 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 1-4 สัปดาห์ ถ้าอยู่ในสภาพอุณหภูมิต่ำช่วงวันยาวก็จะยิ่งมีการออกดอกมากยิ่งขึ้น แต่ถ้าได้รับอุณหภูมิสูงเกิน 16 องศาเซลเซียส การออกดอกจะหยุดชะงักลง ผักกาดขาวปลีสายพันธุ์ทนร้อนสามารถเจริญเติบโตได้ดีและห่อปลีได้เร็วถ้าปลูกในสภาพอากาศเย็น ดินที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตคือดินร่วนปนเหนียว มีแร่ธาตุและอินทรียวัตถุสูง ค่า pH 6.0-7.5

พื้นที่ปลูก ปี พ.ศ. 2542-2543 ประมาณ 32,941 ไร่ ผลผลิต 81,162 ตัน (กรมส่งเสริมการเกษตร, 2543)

การเก็บเกี่ยว
จะกระทำเมื่อยอดอ่อนถูกห่อหุ้มด้วยใบที่อ่อนนุ่ม จนกระทั่งมีความแน่นของยอดมากเพียงพอ แล้วใช้มีดตัดยอดออกมาจากส่วนของลำต้น โดยให้มีส่วนของใบรองรับส่วนยอดที่ห่อกันเป็นปลี 2-3 ใบ เพื่อป้องกันการกระทบกระเทือนขณะเก็บเกี่ยวและขนส่ง

การส่งออก
ข้อมูลเกี่ยวกับการส่งออกในรูปผักสดและผักแช่แข็งไม่ชัดเจน แต่มีการส่งออกเมล็ดพันธุ์ในปี พ.ศ. 2543 เป็นปริมาณ 4.67 ตัน มูลค่า 1.64 ล้านบาท และนำเข้ามากกว่าถึง 439.82 ตัน มูลค่า 32.51 ล้านบาท (กมล และคณะ, 2544)

พืชสวนครัว
การแลกเปลี่ยนพันธุ์พืช
แหล่งผลิตผักที่สำคัญของประเทศไทย
ผักเศรษฐกิจของประเทศไทย
พริก
กระเทียม
หอมแดง
แตงกวา
ข้าวโพดฝักอ่อน
ถั่วฝักยาว
คะน้า
กะหล่ำปลี
มะเขือเทศ
ฟักทอง
ผักกาดขาวกวางตุ้ง,ผักกาดฮ่องเต้
ผักกาดเขียวกวางตุ้ง
ผักกาดเขียวปลี
ผักบุ้งจีน
ผักกาดหัว
หอมหัวใหญ่
ผักกาดหอม
กะหล่ำดอก
ฟัก, แฟง
มะระ
บวบ
ถั่วลันเตา
หน่อไม้ฝรั่ง
กระเจี๊ยบเขียว
ผักกาดขาวปลี
หน่อไม้ไผ่ตง
มะเขือยาว
ถั่วแระญี่ปุ่นหรือถั่วเหลืองฝักสด
เอกสารและสิ่งอ้างอิง

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย