สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>

ผัก
(Vegetables)

ข้าวโพดฝักอ่อน

 (Baby corn) Zea mays L. (Koopmans and ten Have, 1993)
วงศ์ GRAMINAE, POACEAE

ถิ่นกำเนิดและการแพร่กระจายทางภูมิศาสตร์
มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเม็กซิโกและอเมริกากลาง ถูกนำมาเป็นพืชปลูกโดยชาวอินเดียแดงในทวีปอเมริกา เมื่อหลายพันปีมาแล้ว ชาวโปรตุเกสได้นำพันธุ์ข้าวโพดเข้ามาปลูกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อศตวรรษที่ 16 เป็นพืชที่ปลูกได้ในเขตเส้นรุ้ง 50 องศาเหนือ และ 45 องศาใต้ ซึ่งมีภูมิอากาศแบบเขตร้อนชื้น เขตกึ่งร้อนชื้น และเขตอบอุ่น

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
เป็นพืชปีเดียว ลำต้นตั้งตรงไม่มีเนื้อไม้ สูง 2-3 เมตร ระบบรากเป็นระบบรากฝอยซึ่งมีรากพิเศษพัฒนาจากข้อที่อยู่ทางด้านล่างของลำต้นซึ่งอยู่เหนือดินไม่เกิน 75 เซนติเมตร รากบางเส้นสามารถหยั่งลงดินได้ลึกถึง 2 เมตร ลำต้นมีข้อและปล้องชัดเจน ใบมี 12-20 ใบ เจริญออกมาจากข้อบริเวณด้านข้างของลำต้น ใบเป็นใบเดี่ยว การเรียงใบแบบสลับ มีเขี้ยวใบทางด้านบนของกาบใบซึ่งห่อหุ้มลำต้น แผ่นใบรูปแถบผสมใบหอก ยาว 30-150 เซนติเมตร กว้าง 5-15 เซนติเมตร ปลายใบแหลม มีเส้นกลางใบชัดเจน เขี้ยวใบยาว 5 มิลลิเมตร ไม่มีสี

ดอกแยกเพศอยู่ร่วมต้น ช่อดอกเพศผู้อยู่บริเวณปลายยอดของลำต้น เป็นช่อแยกแขนง ความยาวประมาณ 40 เซนติเมตร มีช่อดอกย่อยแตกแขนงออกมาจำนวนมาก ดอกย่อยประกอบด้วย กาบล่าง 1 กาบ กาบบน 1 กาบ และกลีบเกล็ด 2 กลีบ เกสรเพศผู้ 3 อัน ช่อดอกเพศเมียเป็นแบบช่อเชิงลด มีประมาณ 1-3 ช่อต่อต้น เจริญออกมาจากซอกใบ ดอกย่อยประกอบด้วยกาบช่อย่อยรองรับดอกย่อย 2 ดอก ซึ่งเป็นหมัน 1 ดอก ดอกที่ไม่เป็นหมันอยู่ทางด้านบนประกอบด้วย กาบล่าง 1 กาบ กาบบน 1 กาบ รังไข่ 1 อัน และก้านเกสรเพศเมียซึ่งยาวเรียวคล้ายเส้นไหมเจริญออกมาจากรังไข่ (Koopmans and ten Have, 1993)

ข้าวโพดฝักอ่อนเป็นข้าวโพดที่เก็บมาบริโภคเมื่อฝักยังอ่อนอยู่หรือไม่มีเมล็ด เป็นพืชที่มีอายุเก็บเกี่ยวสั้นประมาณ 45 วัน มีเส้นไหมหรือก้านเกสรเพศเมียโผล่พ้นจากฝักราว 2-3 เซนติเมตร แล้วถอดยอดซึ่งมีตายอดที่จะเจริญเป็นช่อดอกเพศผู้ออก มีช่วงเก็บเกี่ยว 7-10 วัน รวมเวลาปลูกไม่เกิน 60 วัน ขึ้นอยู่กับพันธุ์ที่ใช้ ได้แก่ พันธุ์รังสิต 1 พันธุ์เชียงใหม่ 90 พันธุ์สุวรรณ 2 พันธุ์ซุปเปอร์สวีท พันธุ์ Cargill 729 พันธุ์ Pioneer 3228 (สุขสันต์, 2547)


ภาพฝักอ่อนของข้าวโพดที่อยู่บนลำต้น
(สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2535)


ภาพข้าวโพดฝักอ่อนที่เก็บเกี่ยวจากลำต้นแล้ว
(สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2535)

การใช้ประโยชน์
ใช้ฝักอ่อนที่เจริญจากช่อดอกเพศเมียมาปรุงเป็นอาหารจำพวกผัก โดยการนำมาผัดหรือต้มให้สุกก่อนรับประทาน มีการส่งข้าวโพดฝักอ่อนไปจำหน่ายยังต่างประเทศทั้งในรูปของข้าวโพดฝักอ่อนสด หรือแช่เย็น หรือบรรจุกระป๋อง ส่วนของต้นและใบที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวจะสามารถจำหน่ายให้แก่เกษตรกรที่เลี้ยงโคนม ถือเป็นอาหารหญ้าสดชั้นดีที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง

คุณค่าทางอาหาร
ในฝักข้าวโพดที่เจริญเติบโตเต็มที่แล้ว พบว่าส่วนที่รับประทานได้หนัก 100 กรัม ประกอบด้วยน้ำ 10 กรัม โปรตีน 10 กรัม ไขมัน 4.5 กรัม คาร์โบไฮเดรต 70 กรัม เส้นใย 2 กรัม เถ้า 2 กรัม พลังงาน 1525 กิโลจูล เมล็ดมีน้ำหนัก 250-300 กรัม ต่อ 1,000 เมล็ด

การขยายพันธุ์
เป็นพืชปีเดียว(annual) ลำต้นตั้งตรง ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด พันธุ์ที่นิยมปลูกได้แก่ เชียงใหม่ 90 สุวรรณ 2 เกษตรศาสตร์ 2 G5 414 แปซิฟิก 116 แปซิฟิก 421 ไพโอเนีย รังสิต 1 IB 9710 (กรมวิชาการเกษตร, 2548)

นิเวศวิทยา
ข้าวโพดเป็นพืชที่มีการสร้างอาหารจากกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงแบบพืชซีสี่ (C4) ชอบสภาพอากาศแบบร้อนชื้นและกึ่งร้อนชื้น อุณหภูมิเฉลี่ย 21-30 องศาเซลเซียส สามารถปลูกได้ตั้งแต่พื้นที่ราบจนถึง 3,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล ต้องการน้ำและความชื้นมากในการเจริญเติบโต สายพันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อนที่ปลูกในประเทศไทยสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปีถ้าได้รับน้ำเพียงพอ ชอบดินร่วนที่มีการระบายน้ำ ระบายอากาศได้ดี หน้าดินลึกมีอินทรียวัตถุสูง และต้องการธาตุอาหารในปริมาณมาก ค่า pH ที่เหมาะสมคือ 5.5-7 ไม่ชอบดินเค็ม

พื้นที่ปลูกในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2542-2543 ประมาณ 181,287 ไร่ ผลผลิต 183,858 ตัน (กรมส่งเสริมการเกษตร, 2543)

การเก็บเกี่ยว
เมื่อเส้นไหมซึ่งเป็นส่วนของยอดและก้านเกสรเพศเมีย โผล่พ้นเปลือกที่หุ้มฝักออกมา

เมื่อจะนำสู่ตลาดต้องมีการปอกเปลือกฝักที่หุ้มอยู่ภายนอกออกก่อน ด้วยความระมัดระวังมิให้มีรอยช้ำ หรือหักเสียหาย

การส่งออก
ในปี พ.ศ. 2542 มีการส่งออกฝักสดและแช่แข็ง 3,032 เมตริกตัน มูลค่า 63.50 ล้านบาท ข้าวโพดฝักอ่อนบรรจุกระป๋อง 51,669 เมตริกตัน มูลค่า 1,432.32 ล้านบาท (กมล และคณะ, 2544) ในปี พ.ศ. 2548 มีการส่งออกข้าวโพดฝักอ่อนบรรจุภาชนะอัดลม ปริมาณ 76,509 ตัน มูลค่า 2,053.04 ล้านบาท (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2549)

พืชสวนครัว
การแลกเปลี่ยนพันธุ์พืช
แหล่งผลิตผักที่สำคัญของประเทศไทย
ผักเศรษฐกิจของประเทศไทย
พริก
กระเทียม
หอมแดง
แตงกวา
ข้าวโพดฝักอ่อน
ถั่วฝักยาว
คะน้า
กะหล่ำปลี
มะเขือเทศ
ฟักทอง
ผักกาดขาวกวางตุ้ง,ผักกาดฮ่องเต้
ผักกาดเขียวกวางตุ้ง
ผักกาดเขียวปลี
ผักบุ้งจีน
ผักกาดหัว
หอมหัวใหญ่
ผักกาดหอม
กะหล่ำดอก
ฟัก, แฟง
มะระ
บวบ
ถั่วลันเตา
หน่อไม้ฝรั่ง
กระเจี๊ยบเขียว
ผักกาดขาวปลี
หน่อไม้ไผ่ตง
มะเขือยาว
ถั่วแระญี่ปุ่นหรือถั่วเหลืองฝักสด
เอกสารและสิ่งอ้างอิง

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย