สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>

ผัก
(Vegetables)

หน่อไม้ไผ่ตง

 (Giant bamboo) Dendrocalamus asper (Schultes f.) Backer ex Heye (Dransfield and Widjaja, 1995)
วงศ์ GRAMINAE

ถิ่นกำเนิดและการแพร่กระจายทางภูมิศาสตร์
สันนิษฐานว่าเป็นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการปลูกกันทั่วไปในเขตอากาศร้อนชื้นของทวีปเอเชีย

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
เป็นไผ่ที่มีการเจริญแตกกอออกทางด้านข้าง มีทรงพุ่มหนาแน่น ลำต้นตั้งตรงยอดห้อยลง

ความสูงของลำต้นประมาณ 20-30 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางที่โคนลำต้น 8-20 เซนติเมตร เนื้อไม้บริเวณปล้องหนาประมาณ 11-36 มิลลิเมตร ลำต้นอ่อนถูกปกคลุมด้วยขนสีน้ำตาลเล็กๆ อยู่เป็นจำนวนมาก ปล้องลำต้นมีความยาวตั้งแต่ 10-20 เซนติเมตร จนถึง 30-50 เซนติเมตร มีไขสีขาวปกคลุมทางด้านล่างของลำต้น ข้อมีลักษณะโป่งพอง ข้อซึ่งอยู่บริเวณด้านล่างของลำต้นมีรากอากาศเจริญออกมา กาบหุ้มลำต้นมีความยาว 20-40 เซนติเมตร กว้าง 20-25 เซนติเมตร มีขนสีน้ำตาลอ่อนถึงสีน้ำตาลเข้มปกคลุม ใบมีรูปร่างแบบใบหอก กว้าง 3 เซนติเมตร ยาว 30 เซนติเมตร แผ่นใบทางด้านบนเรียบ ทางด้านล่างมีขนเล็กๆ ห่างๆ ปกคลุม

หน่ออ่อนถูกห่อหุ้มด้วยกาบใบซึ่งมีใบขนาดเล็ก มีขนสีน้ำตาลถึงดำปกคลุม ช่อดอกเจริญออกมาโดยไม่มีใบอยู่บนช่อดอก ประกอบด้วยดอกย่อยที่ไม่มีก้านดอกย่อยติดกันเป็นกระจุกๆ ละ 4-5 ดอกย่อย ตามข้อของช่อดอก ดอกย่อยมีลักษณะแบน กว้าง 5 มิลลิเมตร ยาว 6-9 มิลลิเมตร ผลแบบธัญพืช


ภาพลำต้นไผ่ตง (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2535)


ภาพหน่อไม้ไผ่ตงที่เพิ่งโผล่พ้นดินออกมา
(สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2535)

การใช้ประโยชน์
นำหน่ออ่อนซึ่งเจริญเติบโตจากตาข้างของลำต้นในช่วงฤดูฝน มารับประทานเป็นอาหารจำพวกผัก โดยการปรุงให้สุกก่อนรับประทาน หรือนำมาแปรรูปเป็นหน่อไม้กระป๋อง บรรจุปี๊บ หน่อไม้แห้ง หน่อไม้ดอง รวมทั้งอาหารสำเร็จรูปบรรจุกระป๋อง จัดเป็นผักที่นำรายได้เข้าประเทศเป็นอันดับหนึ่ง เนื่องจากเป็นที่นิยมของผู้บริโภคชาวจีนในประเทศไต้หวัน ยุโรป และสหรัฐอเมริกา

คุณค่าทางอาหาร
หน่ออ่อนมีส่วนที่รับประทานได้ 34 % ของทั้งหน่อ ภายหลังจากปอกเปลือกแล้ว

การขยายพันธุ์
ไผ่ตงเป็นพืชหลายปี(perennial) แตกเป็นกอจากตาข้างของลำต้นแม่เดิม ขยายพันธุ์โดยการชำเหง้า ชำกิ่ง แยกกอ และเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ พันธุ์ที่นิยมปลูก ได้แก่ พันธุ์ตงดำ และพันธุ์ตงเขียว (กรมวิชาการเกษตร, 2549)

นิเวศวิทยา
ไผ่ตงสามารถเจริญเติบโตได้ตั้งแต่บนพื้นราบจนถึงความสูง 1,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล โดยระดับความสูงที่เหมาะสมที่สุดคือ 400-500 เมตรจากระดับน้ำทะเล สามารถเจริญเติบโตได้ดีในเขตอากาศร้อนชื้น ชอบดินที่มีธาตุอาหารปริมาณมาก ภายในดินประกอบด้วยสารประกอบหลายชนิด มีการระบายน้ำดีในประเทศไทยมีการปลูกเพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตในดินทราย และดินชนิดอื่นๆ ที่มีความเป็นกรดเล็กน้อย

การเก็บเกี่ยว
มีฤดูเก็บเกี่ยวในช่วงฤดูฝน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน โดยการขุดหรือตัดหน่ออ่อนออกจากลำต้นแม่เดิม

การส่งออก
ในปี พ.ศ. 2542 มีการส่งออกหน่อไม้สด 304 เมตริกตัน มูลค่า 12.22 ล้านบาท หน่อไม้ปรุงแต่งบรรจุกระป๋อง ปริมาณ 34,741 เมตริกตัน มูลค่า 764.73 ล้านบาท (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2543) ในปี พ.ศ. 2547 มีการส่งออกหน่อไม้บรรจุภาชนะอัดลม ปริมาณ 19,548 เมตริกตัน มูลค่า 482.03 ล้านบาท (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2549)

พืชสวนครัว
การแลกเปลี่ยนพันธุ์พืช
แหล่งผลิตผักที่สำคัญของประเทศไทย
ผักเศรษฐกิจของประเทศไทย
พริก
กระเทียม
หอมแดง
แตงกวา
ข้าวโพดฝักอ่อน
ถั่วฝักยาว
คะน้า
กะหล่ำปลี
มะเขือเทศ
ฟักทอง
ผักกาดขาวกวางตุ้ง,ผักกาดฮ่องเต้
ผักกาดเขียวกวางตุ้ง
ผักกาดเขียวปลี
ผักบุ้งจีน
ผักกาดหัว
หอมหัวใหญ่
ผักกาดหอม
กะหล่ำดอก
ฟัก, แฟง
มะระ
บวบ
ถั่วลันเตา
หน่อไม้ฝรั่ง
กระเจี๊ยบเขียว
ผักกาดขาวปลี
หน่อไม้ไผ่ตง
มะเขือยาว
ถั่วแระญี่ปุ่นหรือถั่วเหลืองฝักสด
เอกสารและสิ่งอ้างอิง

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย