สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>

ผัก
(Vegetables)

พริก

(hot pepper, sweet pepper, bird pepper) Capsicum spp. (Poulos, 1994)
วงศ์ SOLANACEAE

ถิ่นกำเนิดและการแพร่กระจายทางภูมิศาสตร์
พริกหยวก พริกยักษ์ และพริกชี้ฟ้า (Capsicum annuum L.) มีถิ่นกำเนิดในประเทศเม็กซิโก ส่วนพริกขี้หนูและพริกนก (Capsium frutescens L.) มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ พริกถูกนำมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยนักเดินเรือชาวโปรตุเกสและสเปนในศตวรรษที่ 16 ซึ่งในปัจจุบันมีการปลูกกันอย่างแพร่หลาย แต่มีการปลูกน้อยมากในภูมิภาคอื่นของโลก

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
พริกหยวก พริกยักษ์ และพริกชี้ฟ้า เป็นพืชไม่มีเนื้อไม้หรือกึ่งไม้พุ่มอายุปีเดียว สูง 0.5-1.5เมตร ทรงพุ่มตั้งตรง มีการแตกกิ่งก้านสาขามาก ระบบรากแก้วแข็งแรง มีการแตกรากแขนงออกมาจำนวนมาก ลำต้นเหลี่ยมเป็นสันคล้ายทรงกระบอก เส้นผ่าศูนย์กลางกว้างกว่า 1 เซนติเมตร มีขนสั้นหนานุ่มใกล้บริเวณที่แตกแขนง สีเขียวจนถึงสีเขียวปนน้ำตาล มักพบจุดสีม่วงใกล้ข้อของลำต้น ใบเป็นใบเดี่ยว การเรียงใบแบบสลับ มีรูปร่างหลายแบบ ก้านใบอาจยาวถึง 10 เซนติเมตร แผ่นใบรูปไข่ ยาว 10-16 เซนติเมตร กว้าง 5-8 เซนติเมตร ปลายใบเรียวแหลม ขอบใบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างเกลี้ยงสีเขียวอ่อนจนถึงสีเขียวเข้ม ดอกเป็นดอกเดี่ยวเกิดที่ปลายยอด ก้านดอกยาว 3 เซนติเมตร เมื่อเจริญเป็นผลก้านผลอาจยาวได้ถึง 8 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย เจริญติดกับผลและขยายขนาดตามผล มักมี 5 กลีบ กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปทรงระฆัง หรือรูปกงล้อ มี 5-7 กลีบ เส้นผ่าศูนย์กลาง 8-15 มิลลิเมตร มีสีขาว เกสรเพศผู้มี 5-7 อัน อับเรณูสีฟ้าซีดจนถึงม่วง รังไข่มี 2 ช่อง อาจพบได้ถึง 4 ช่อง ก้านเกสรเพศเมียผอมเรียวสีเขียวหรือสีม่วง ยอดเกสรเพศเมียอยู่รวมกันเป็นกระจุก ผลแบบมีเนื้อหลายเมล็ด บางสายพันธุ์มีเนื้อผลหนาแต่บางสายพันธุ์มีเนื้อผลไม่หนามาก ผลมีขนาด รูปร่าง สี และความเผ็ด แตกต่างกัน ผลมักมีรูปทรงคล้ายกรวย สั้นหรือยาวแตกต่างกันไป อาจยาวได้ถึง 30 เซนติเมตร ผลอ่อนสีเขียว เหลือง ครีม หรือม่วง เมื่อสุกเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ส้ม แดง หรือน้ำตาล เมล็ดกลมแบนสีเหลืองซีด เส้นผ่าศูนย์กลาง 3-4.5 มิลลิเมตร

พริกขี้หนู เป็นพืชกึ่งไม้พุ่มมีอายุหลายปี ส่วนใหญ่มีชีวิตอยู่ได้ 2-3 ปี ลักษณะโดยทั่วไปคล้ายคลึงกับพริกยักษ์ พริกหยวก และพริกชี้ฟ้า แต่ต่างกันที่มีดอกเป็นดอกย่อยจำนวน 2 ดอก หรือมากกว่าเจริญออกมาจากข้อของลำต้น กลีบดอกสีขาวปนเขียวมีไขเคลือบ ผลตั้งตรงปลายผลชี้ขึ้น มีขนาดเล็กและผอมเรียว อาจกว้างได้ถึง 1 เซนติเมตร และยาว 5 เซนติเมตร มีรสชาติเผ็ดมาก ผลอ่อนสีครีม เหลือง หรือเขียว ผลสุกสีส้มถึงสีแดง

การใช้ประโยชน์
มีการนำผลสดมาใช้ปรุงอาหาร ผลแห้งนำมาใช้เป็นเครื่องเทศ และนำส่วนของผลมาใช้เป็นวัตถุดิบในโรงงานแปรรูปทำ พริกดอง พริกป่น พริกอบแห้ง ซอสพริก น้ำพริกสำเร็จรูป น้ำจิ้มสำเร็จรูป และผสมอาหารสัตว์

ผลของพริกมีขนาดรูปร่าง และสีสันแตกต่างกันไป ตามชนิด (species) และสายพันธุ์พริกชี้ฟ้า พริกหยวก พริกยักษ์ และพริกหนุ่ม (Capsicum annuum L.) ผลมีสีเขียว เหลือง ครีม หรือม่วง เมื่อยังอ่อนอยู่ แต่เมื่อสุกแล้วจะมีสีแดง ส้ม เหลือง หรือน้ำตาล ผลมีรูปทรงกลมยาว เป็นพูรูปถ้วย หรือเป็นกรวยแหลมยาวซึ่งอาจยาวได้ถึง 30 เซนติเมตร

พริกขี้หนูและพริกนก (Capsicum frutescens L.) ผลมีขนาดเล็ก เมื่อยังอ่อนอยู่ มีสีเหลือง เขียวหรือครีม เมื่อสุกแล้วมีสีส้มจนถึงสีแดง ผลมีขนาดเล็กความยาวผลไม่เกิน 5 เซนติเมตร

ในเนื้อผลและเมล็ดของพริกมีสารแคปไซซิน(capsaicin) ซึ่งนำมาผลิตเป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะอาหาร รักษาโรคผิวหนัง บรรเทาอาการปวดข้ออักเสบ ใช้ผสมเคลือบสายเคเบิลป้องกันหนูและแมลงกัดสาย ไล่แมลงและมด และใช้แทนแก๊สน้ำตาสลายกลุ่มผู้ประท้วง ใบและผลแก่ของพริกขี้หนูใช้ในการขับลม ลดไข้ ขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ (กมล และคณะ, 2544)


ภาพพริกขี้หนู (สุรชัย, 2535)


ภาพพริกชี้ฟ้า


ภาพพริกหนุ่ม (สุรชัย, 2535)


ภาพพริกยักษ์ที่มีผลอ่อนสีขาว        ภาพพริกยักษ์ที่มีผลอ่อนสีเขียว


ภาพพริกประดับที่มีสีสันและรูปทรงสวยงาม


ภาพพริกแห้งซึ่งเป็นสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าส่งออก (สุรชัย, 2535)

คุณค่าทางอาหาร
ส่วนของผลที่รับประทานได้หนัก 100 กรัม พริกที่มีรสเผ็ด (hot peper) จะประกอบด้วยน้ำ 86 กรัม โปรตีน 1.9 กรัม ไขมัน 1.9 กรัม คาร์โบไฮเดรต 9.2 กรัม เหล็ก 1.2 มิลลิกรัม แคลเซียม 14.4 มิลลิกรัม วิตามินเอ 700-21600 IU วิตามินซี 242 มิลลิกรัม พลังงาน 257 กิโลจูล

พริกหวาน (sweet peper) ประกอบด้วยน้ำ 92 กรัม โปรตีน 1.2 กรัม ไขมัน 0.35 กรัม คาร์โบไฮเดรต 5.4 กรัม เหล็ก 0.6 มิลลิกรัม แคลเซียม 9 มิลลิกรัม วิตามินเอ 420-5700 IU วิตามินซี 163 มิลลิกรัม พลังงาน 109 กิโลจูล น้ำหนักเมล็ด 4-8 กรัมต่อ 1,000 เมล็ด

การขยายพันธุ์
เป็นไม้พุ่ม ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด อาจมีการปลูกเป็นแปลงขนาดใหญ่เพียงชนิดเดียว หรือปลูกสลับกับพืชผักหรือผลไม้ชนิดอื่นๆ พันธุ์ที่นิยมปลูกได้แก่

  • พริกมันหรือพริกชี้ฟ้าพันธุ์ บางช้าง จินดา พจ.05 พจ.06 พจ.07 แทงโก้ เรดอีเกิ้ล
  • พริกเหลืองพันธุ์ บุษราคัม ดาวทอง
  • พริกหนุ่มพันธุ์ ไซโคลน จอมทอง 2
  • พริกหยวกพันธุ์ บางเลน 2
  • พริกขี้หนูสวน พริกขี้หนูพันธุ์ห้วยสีทน ศก.1 หัวเรือ รสทิพย์ ซุปเปอร์ฮอท
  • พริกกะเหรี่ยง และพริกสายพันธุ์ลูกผสมของบริษัทต่างๆ ที่ให้ผลผลิตสูง ต้านทานต่อโรคและแมลง (กรมวิชาการเกษตร, 2548; บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด, 2548)

นิเวศวิทยา
พริกเป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีในเขตอากาศอบอุ่นจนถึงค่อนข้างร้อนไม่ตอบสนองต่อความยาวแสงในการออกดอก ยกเว้นบางสายพันธุ์ เป็นพืชที่ต้องการความเข้มแสงสูงในการเจริญเติบโต สามารถเจริญในที่ร่มได้รับความเข้มแสงเพียง 45 เปอร์เซ็นต์ แต่จะมีการออกดอกช้ากว่าปกติ ชอบดินร่วนระบายน้ำได้ดี ค่า pH 5.6-6.8 ปริมาณน้ำฝนที่ต้องการ 600-1250 มิลลิเมตร สามารถเจริญได้บนพื้นที่ที่มีระดับความสูงแตกต่างกัน ไม่ชอบสภาพน้ำท่วมขัง หรือแห้งแล้งจัด เมล็ดงอกได้ดีที่อุณหภูมิ 25-30 องศาเซลเซียส อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการติดผล และมีการเจริญของผลได้ดีคือ 18-30 องศาเซลเซียส ตาดอกและความมีชีวิตของละอองเรณูจะถูกทำลายที่อุณหภูมิสูงกว่า 30 องศาเซลเซียส

พื้นที่ปลูกในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2542-2543 ประมาณ 541,084 ไร่ ผลผลิต 602,430 ตัน (กรมส่งเสริมการเกษตร, 2543)

การเก็บเกี่ยว
ผลแก่จัดพร้อมเก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุประมาณ 3-6 สัปดาห์หลังดอกบาน และขึ้นกับความต้องการของผู้บริโภคว่าต้องการพริกสีเขียว หรือพริกที่สุกเปลี่ยนสีแล้วส่วนใหญ่มักนิยมเก็บเกี่ยวในระยะที่ผลแก่จัดแต่ยังคงมีสีเขียวอยู่ เพิ่งที่จะมีอายุหลังการเก็บเกี่ยวในตลาดได้นาน การเก็บเกี่ยวผลพริกใช้มือปลิดหรือใช้มีดขนาดเล็กตัดขั้วผลให้หลุดจากต้น

การส่งออก
ในปี พ.ศ. 2542 มีการส่งออกในรูปผลสด 10,753 เมตริกตัน คิดเป็นมูลค่า 80.80 ล้านบาท พริกแห้งและพริกป่นปริมาณ 1,611 เมตริกตัน มูลค่า 92.15 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2543 มีการส่งออกเมล็ดพันธุ์ 17.46 ตัน เป็นมูลค่า 130.35 ล้านบาท โดยมีการนำเข้า 2.31 ตัน มูลค่า 7.38 ล้านบาท (กมล และคณะ, 2544)

พืชสวนครัว
การแลกเปลี่ยนพันธุ์พืช
แหล่งผลิตผักที่สำคัญของประเทศไทย
ผักเศรษฐกิจของประเทศไทย
พริก
กระเทียม
หอมแดง
แตงกวา
ข้าวโพดฝักอ่อน
ถั่วฝักยาว
คะน้า
กะหล่ำปลี
มะเขือเทศ
ฟักทอง
ผักกาดขาวกวางตุ้ง,ผักกาดฮ่องเต้
ผักกาดเขียวกวางตุ้ง
ผักกาดเขียวปลี
ผักบุ้งจีน
ผักกาดหัว
หอมหัวใหญ่
ผักกาดหอม
กะหล่ำดอก
ฟัก, แฟง
มะระ
บวบ
ถั่วลันเตา
หน่อไม้ฝรั่ง
กระเจี๊ยบเขียว
ผักกาดขาวปลี
หน่อไม้ไผ่ตง
มะเขือยาว
ถั่วแระญี่ปุ่นหรือถั่วเหลืองฝักสด
เอกสารและสิ่งอ้างอิง

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย