สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>

ผัก
(Vegetables)

คะน้า

 (Chinese kale) Brassica oleracea L.cv group Cinese Kale (Sagwansupyakorn,1994)
วงศ์ CRUCIFERAE, BRASSICACEAE

ถิ่นกำเนิดและการแพร่กระจายทางภูมิศาสตร์
ตอนใต้และตอนกลางของประเทศจีน ปัจจุบันนิยมปลูกกันอย่างแพร่หลายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
พืชปีเดียวไม่มีเนื้อไม้สูงได้ถึง 40 เซนติเมตร และสูง 1-2 เมตรเมื่อช่อดอกเจริญเติบโตเต็มที่ ผิวส่วนต่างๆ ของลำต้นมีลักษณะเรียบ และมีนวลจับ ระบบรากเป็นแบบรากแก้ว มีรากแขนงที่แข็งแรง มีลำต้นหลักหนึ่งต้น มีกิ่งแขนงผอมๆ เจริญออกมาทางด้านข้าง หรือส่วนบนของลำต้น การเรียงใบแบบสลับ แผ่นใบหนาแข็งมีก้านใบ ใบกว้างรูปไข่จนถึงเกือบกลม ขอบใบแบบหยักซี่ฟันและมีลักษณะเป็นคลื่นที่โคนใบมีติ่งยื่นออกมาทั้งสองด้าน ใบที่อยู่ทางด้านล่างมีขนาดเล็ก (ภาพที่ 9.26) ช่อดอกแบบช่อกระจะ ยาว 30-40 เซนติเมตร ก้านดอกย่อยยาว 1-2 เซนติเมตร ดอกมีสีขาว อาจพบดอกสีเหลือง เส้นผ่าศูนย์กลาง 2-3 เซนติเมตร ดอกมี 4 ส่วนครบ มีเกสรเพศผู้ 6 อัน สั้น 2 อัน ยาว 4 อัน ผลแตกแบบผักกาดค่อนข้างกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 2-3 มิลลิเมตร เมล็ดมีรอยบุ๋มขนาดเล็ก


ภาพลำต้นและใบคะน้า (สุรชัย, 2535)

การใช้ประโยชน์
นำส่วนของลำต้น ก้านใบ และใบมารับประทานสด หรือปรุงให้สุกเป็นกับข้าวร่วมกับผักชนิดอื่นหรือเนื้อสัตว์ สามารถรับประทานได้ตั้งแต่ต้นยังมีขนาดเล็กจนกระทั่งออกดอก โดยมีความแข็งของเปลือกลำต้นและแผ่นใบเพิ่มขึ้นตามอายุ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความนิยมของผู้บริโภค

คุณค่าทางอาหาร
ส่วนที่รับประทานได้หนัก 100 กรัม มีแร่ธาตุอาหารเป็นองค์ประกอบ มากมายหลายชนิดได้แก่ วิตามิน เอ 7540 IU วิตามิน ซี 115 มิลลิกรัม แคลเซียม 62 มิลลิกรัม เหล็ก 2.2 มิลลิกรัม น้ำหนักแห้ง 10-14 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นกับอายุ ในการเก็บเกี่ยว เมล็ดจำนวน 1,000 เมล็ดหนัก ประมาณ 3 กรัม

การขยายพันธุ์
คะน้าเป็นพืชล้มลุกอายุปีเดียว(annual) ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด พันธุ์ที่นิยมปลูกได้แก่ บางบัวทอง 35 ฝาง 1 แม่โจ้ 1 และ P.L. 20

นิเวศวิทยา
อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการงอกของเมล็ดคะน้าคือ 25-30 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตคือ 18-28 องศาเซลเซียส สภาพอุณหภูมิต่ำสามารถกระตุ้นการออกดอก การพัฒนาของดอกและเมล็ดได้ดี เป็นพืชที่ทนทานต่อน้ำค้างแข็ง เจริญเติบโตได้ดีในสภาพแสงแดดจัดความชื้นในอากาศสูง ดินระบายน้ำดี สามารถปลูกได้ตลอดปีในเขตอากาศแบบร้อนชื้น

พื้นที่ปลูกในประเทศไทยปี พ.ศ. 2542-2543 ประมาณ 127,044 ไร่ ผลผลิต 235,663 ตัน (กรมส่งเสริมการเกษตร, 2543)

การเก็บเกี่ยว
สามารถเก็บเกี่ยวโดยการถอนหรือตัดลำต้นจากแปลงปลูกตั้งแต่อายุ 3 สัปดาห์ จนถึงระยะออกดอก

การส่งออก
ส่งออกในรูปเมล็ดพันธุ์ปริมาณ 5.11 ตัน มูลค่า 0.84 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2543 (กมลและคณะ, 2544)

พืชสวนครัว
การแลกเปลี่ยนพันธุ์พืช
แหล่งผลิตผักที่สำคัญของประเทศไทย
ผักเศรษฐกิจของประเทศไทย
พริก
กระเทียม
หอมแดง
แตงกวา
ข้าวโพดฝักอ่อน
ถั่วฝักยาว
คะน้า
กะหล่ำปลี
มะเขือเทศ
ฟักทอง
ผักกาดขาวกวางตุ้ง,ผักกาดฮ่องเต้
ผักกาดเขียวกวางตุ้ง
ผักกาดเขียวปลี
ผักบุ้งจีน
ผักกาดหัว
หอมหัวใหญ่
ผักกาดหอม
กะหล่ำดอก
ฟัก, แฟง
มะระ
บวบ
ถั่วลันเตา
หน่อไม้ฝรั่ง
กระเจี๊ยบเขียว
ผักกาดขาวปลี
หน่อไม้ไผ่ตง
มะเขือยาว
ถั่วแระญี่ปุ่นหรือถั่วเหลืองฝักสด
เอกสารและสิ่งอ้างอิง

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย