สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>

ผัก
(Vegetables)

ผักบุ้งจีน

 (kangkong) Ipomea aquatica Forsskal (Westphal, 1994)
วงศ์ CONVOLVULACEAE

ถิ่นกำเนิดและการแพร่กระจายทางภูมิศาสตร์
เขตร้อนชื้นของทวีปเอเชีย แถบประเทศอินเดีย และพบในประเทศแถบเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เขตร้อนชื้นของทวีปแอฟริกา อเมริกาใต้ อเมริกากลาง และโอเชียเนีย ผักบุ้งเป็นผักกินใบเศรษฐกิจเฉพาะในเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการปลูกเพื่อนำมารับประทานกันอย่างแพร่หลายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฮ่องกง ไต้หวัน และตอนใต้ของจีน

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
เป็นพืชปีเดียวหรือหลายปี มีการเจริญเติบโตเร็ว ลำต้นอ่อนนุ่มไม่มีเนื้อไม้ สีเขียวหรือขาวอวบน้ำ และกลวงบริเวณกลางปล้อง มีรากงอกจากข้อของลำต้นที่สัมผัสกับดินที่เปียกชื้น การเรียงใบแบบสลับ ก้านใบยาว ใบรูปสามเหลี่ยมหรือรูปหอกสีเขียว ยาว 5-15 เซนติเมตร กว้าง 2-10 เซนติเมตร โคนใบรูปหัวใจหรือรูปเงี่ยงใบหอก ก้านใบสีเขียวหรือขาว ดอกออกเดี่ยวๆ หรือเป็นกระจุก 2-7 ดอกย่อย ออกมาจากซอกใบ ดอกสีขาวรูปแตร ผลแห้งแตก รูปทรงไข่ เส้นผ่าศูนย์กลาง 7-9 มิลลิเมตร ผิวเรียบสีน้ำตาลถูกห่อหุ้มด้วยถ้วยของกลีบเลี้ยงที่มี 5 กลีบประกอบกัน มี 2-4 เมล็ด เมล็ดมีเหลี่ยมมุมจนถึงกลม ผิวเรียบหรือมีขนแบบกำมะหยี่ ยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร สีน้ำตาลดำจนถึงสีดำ


ภาพผักบุ้งจีนที่ปลูกบนดิน (สุรชัย, 2535)


ภาพผักบุ้งจีนที่ปลูกในน้ำ (สุรชัย, 2535)

การใช้ประโยชน์
ใช้ยอดอ่อนนำมาประกอบอาหารโดยการผัดกับน้ำมัน แกงเผ็ด เถาเลื้อยของลำต้นแก่นิยมนำมาเลี้ยงหมู โดยปลูกไว้ในน้ำให้ลำต้นอวบอ้วน และมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ผักบุ้งที่นิยมปลูกกันมี 2 สายพันธุ์ คือ ผักบุ้งที่มีลำต้นและใบสีแดงออกสีม่วง ในประเทศไทยเรียกผักบุ้งไทย และผักบุ้งที่มีลำต้นสีเขียวดอกสีขาว ในประเทศไทยเรียกผักบุ้งจีน ซึ่งมีการปลูกเพื่อส่งต้นสดจำหน่ายไปยังประเทศฮ่องกงและประเทศในแถบยุโรป สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา แคนาดา และ ซาอุดิอาระเบีย นอกจากนี้ประเทศไทยยังเป็นแหล่งปลูกผักบุ้งจีน เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์สำหรับส่งจำหน่ายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

คุณค่าทางอาหาร
ส่วนที่รับประทานได้หนัก 100 กรัม ประกอบด้วยน้ำ 90.2 กรัม โปรตีน 3 กรัม ไขมัน 0.3 กรัม คาร์โบไฮเดรต 5.0 กรัม เส้นใย 1.0 กรัม เถ้า 1.6 กรัม แคลเซียม 81 มิลลิกรัม แมกนีเซียม 52 มิลลิกรัม เหล็ก 3.3 มิลลิกรัม โปรวิตามินเอ 4,000 – 10,000 IU วิตามินซี 30 – 130 มิลลิกรัม พลังงาน 134 กิโลจูล น้ำหนักเมล็ด 40 กรัมต่อ 1,000 เมล็ด

การขยายพันธุ์
ผักบุ้งเป็นพืชหลายปี (perennial) แต่นิยมปลูกแบบพืชปีเดียว (annual) ในผักบุ้งจีนที่นำไปผัดน้ำมัน ลำต้นเป็นเถาเลื้อยไม่มีเนื้อไม้ สามารถเจริญเติบโตได้บนบกและในน้ำ ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด และการนำส่วนของลำต้นที่มีรากงอกจากข้อของลำต้นมาปักชำในดินโคลน หรือตัดลำต้นมาผูกติดกับเสาไม้ไผ่ที่ปักอยู่ในน้ำ พันธุ์ที่นิยมปลูก ได้แก่ พันธุ์ พิจิตร 1 ยอดไผ่ และเลิศพันธุ์

นิเวศวิทยา
ผักบุ้งเป็นพืชพื้นราบที่ต้องการสภาพอุณหภูมิสูงและชื้นแฉะในการเจริญเติบโต โดยพบว่าบนพื้นที่สูงกว่า 700 เมตรจากระดับน้ำทะเล ผักบุ้งจีนแทบไม่สามารถเจริญเติบโตและให้ผลผลิตเพียงพอ เนื่องจากมีอุณหภูมิต่ำกว่า 23 องศาเซลเซียส ผักบุ้งชอบดินที่เก็บกักน้ำได้ดีโดยเฉพาะดินเหนียว แต่ก็สามารถเจริญเติบโตในดินชนิดอื่นๆ ได้ ต้องการดินที่มีธาตุอาหารสูง ค่า pH 5.3-6.0

การเก็บเกี่ยว
ขึ้นกับความต้องการของผู้บริโภค โดยการรับประทานต้นอ่อนจะเก็บเกี่ยวเมื่อต้นมีอายุ 20-30 วันหลังเพาะเมล็ด ซึ่งลำต้นจะกรอบอ่อนนุ่ม ส่วนผักบุ้งที่ปลูกในแปลงที่ขังน้ำหรือในแหล่งน้ำ จะมีการตัดส่วนยอดของลำต้นที่อวบอ้วนทุก ๆ 4-6 สัปดาห์

การส่งออก
ในปี พ.ศ. 2543 ไม่พบข้อมูลการส่งออกผักสดหรือแช่แข็ง แต่พบข้อมูลการส่งออกเมล็ดพันธุ์ปริมาณ 2,473 ตัน มูลค่า 99.96 ล้านบาท และนำข้า 77.99 ตัน มูลค่า 3.79 ล้านบาท (กมล และคณะ, 2544)

พืชสวนครัว
การแลกเปลี่ยนพันธุ์พืช
แหล่งผลิตผักที่สำคัญของประเทศไทย
ผักเศรษฐกิจของประเทศไทย
พริก
กระเทียม
หอมแดง
แตงกวา
ข้าวโพดฝักอ่อน
ถั่วฝักยาว
คะน้า
กะหล่ำปลี
มะเขือเทศ
ฟักทอง
ผักกาดขาวกวางตุ้ง,ผักกาดฮ่องเต้
ผักกาดเขียวกวางตุ้ง
ผักกาดเขียวปลี
ผักบุ้งจีน
ผักกาดหัว
หอมหัวใหญ่
ผักกาดหอม
กะหล่ำดอก
ฟัก, แฟง
มะระ
บวบ
ถั่วลันเตา
หน่อไม้ฝรั่ง
กระเจี๊ยบเขียว
ผักกาดขาวปลี
หน่อไม้ไผ่ตง
มะเขือยาว
ถั่วแระญี่ปุ่นหรือถั่วเหลืองฝักสด
เอกสารและสิ่งอ้างอิง

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย