ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
เรื่อง ทำให้ถูกธรรม
วันอาทิตย์ที่ 24 เมษายน 2520
ญาติโยม พุทธบริษัททั้งหลาย
ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการอันงบ ตั้งอกตั้งในฟังด้วยดี ฟังให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา
วันอาทิตย์ญาติโยมที่หยุดงานหยุดการ ก็ได้ชักชวนกันมาพักผ่อนทางกาย หาความสุขทางใจด้วยการศึกษาธรรมะ อันเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับชีวิตของเราทุกคน ผู้ที่ได้ปฏิบัติเป็นประจำย่อมจะรู้สึกว่า ธรรมะเป็นอาหารทางใจอันประเสริฐ ทำให้เกิดความสงบความเยือกเย็น สามารถมีกำลังต่อสู้กับอุปสรรคอันเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเรา จึงได้ปฏิบัติอย่างนี้เป็นปกติตลอดมา บางท่านก็ฟังกันมาหลายปีแล้ว แต่ก็ยังไม่เลิกละจากการฟัง เพราะถือว่าธรรมะเป็นอาหารที่เราควรทานทุกวันๆ อาหารกายเสียอีกเรารับประทานกันมาก วันหนึ่งตั้งสามมื้อแล้วยังของเล็กของน้อย รับประทานกันเรื่อยๆ ไป
โดยเฉพาะเมืองไทยเรานี้ อาหารค่อนข้างจะสมบูรณ์ การรับประทานอาหารหล่อเลี้ยงร่างกาย จึงได้กระทำกันอยู่มากมายก่ายกอง แต่ว่าอาหารหล่อเลี้ยงจิตใจนั้น รู้สึกว่ายังทำกันน้อยไป คนบางคนก็ร่างกายแข็งแรงเติบโตดี แต่จิตใจค่อนข้างจะอ่อนแอ ไม่ค่อยจะมีกำลังต่อต้าน กับอุปสรรคปัญหาต่อชีวิต กระทบอะไรนิดอะไรหน่อย ก็หวั่นไหวไปกับสิ่งที่มากระทบ ยินดีเมื่อได้รับสิ่งพอใจ ยินร้ายเมื่อได้รับสิ่งที่ไม่พอใจ จิตใจขึ้นๆ ลงๆ ประเดี๋ยวดีประเดี๋ยวร้าย ประเดี๋ยวก็มีความสุข ประเดี๋ยวก็มีความเดือดร้อน
อันนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ ในชีวิตประจำวันของเรา ที่ได้เป็นไปเช่นนั้นก็เพราะว่า กำลังใจมันไม่เพียงพอ ขาดสติซึ่งเป็นตัวกำลัง ขาดปัญญา ขาดความอดทน เมื่อขาดสิ่งเหล่านี้จิตใจก็อ่อนแอ พ่ายแพ้ต่ออุปสรรค สิ่งขัดข้องได้ง่าย เราอยากจะอยู่ในรูปอย่างนั้นหรือไม่ ถ้าตั้งปัญหาสอบถามอย่างนี้ ใครๆ ก็คงจะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่อยากอยู่ในรูปเช่นนั้น แต่อยากอยู่อย่างสงบ มีอารมณ์เป็นปกติ ไม่วุ่นวายในสิ่งต่างๆ ที่มากระทบมากเกินไป อันนี้เป็นความต้องการของคนทั่วๆ ไป แต่ทั้งๆ ที่มีความต้องการในเรื่องเช่นนี้ ก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร เพื่อให้เรื่องเช่นนี้มันมีอยู่ เป็นปกติในจิตใจของเราได้
อันนี้เป็นเรื่องที่ขาด ที่ได้ขาดไปเพราะว่า ขาดการศึกษาในเรื่องของชีวิต ขาดธรรมะเป็นเรื่องหล่อเลี้ยงใจ จึงได้มีสภาพเช่นนั้น อีกประการหนึ่ง เราอาจนึกไปว่า ยังไม่ถึงเวลาที่จะศึกษาธรรมะ หรือที่จะเรียนรู้ในเรื่องอะไรที่จำเป็น เพราะว่าในเมืองไทยเรานี้ ตามปกติเราเห็นคนเข้าวัดเป็นคนแก่ๆ หมดภาระหน้าที่ อันต้องจัดการต้องทำแล้ว ก็เลยเข้าใจไปเสียว่า เรื่องไปวัดเรื่องฟังธรรม เป็นเรื่องของคนอยู่ในวัยชรา ไม่ใช่เรื่องของคนที่อยู่ในวัยฉกรรจ์ ที่กำลังต่อสู้กับปัญหาชีวิต การคิดในรูปเช่นนี้นับว่าผิดห่างไกล แล้วก็วิธีการที่ทำกันอยู่ในบ้านเรานั้น ความคิดก็ยังไม่ถูกต้อง
การมาวัดนั้น ไม่ใช่เรื่องของคนแก่คนชรา แต่เป็นเรื่องของคนที่ต้องการความสงบทางใจ ต้องการความมั่นคง ทางด้านจิตใจ ไม่ว่าเราจะอยู่ในวัยไหน เราก็ต้องการสิ่งนี้ด้วยกันทั้งนั้น แต่ว่าการกระทำนั้น มักจะเป็นไปในรูปอย่างนั้น จึงใคร่ขอแนะนำว่า เรามาปฏิรูปกันเสียที แทนที่จะเป็นคนแก่เข้าวัดศึกษาธรรมะ เราควรที่จะเอาคนที่อยู่ ในวัยหนุ่ม วัยฉกรรจ์ วัยกลางคน เข้าวัดกันเสียมั่ง เพราะว่าคนที่อยู่ในวัยหนุ่มวัยฉกรรจ์นี่แหละ จะเป็นกำลังสำคัญ ของสังคมไทยในการต่อไป ถ้าจิตใจของเขาไม่มั่นคง ขาดกำลังเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง การปฏิบัติกิจในหน้าที่ จะเอาดีได้อย่างไร
อันนี้ เป็นเรื่องคน มีความเกี่ยวข้องกับการงานต่างๆ มีความเกี่ยวข้องกับคนมากๆ ย่อมจะมองเห็นด้วยตัวเอง ว่าคนที่ปฏิบัติงานอยู่ ในหน้าที่ประจำนั้น ยังมีการขาดอะไรบางสิ่ง บางประการ ที่เป็นเรื่องสำคัญที่สุด จึงได้เกิดเป็นปัญหา มีความวุ่นวายด้วยอาการต่างๆ นั่นแหละคือการขาดธรรมะ ไม่ได้สนใจ ที่จะมารับฟัง สิ่งที่เป็นประโยชน์ เราจึงควรจะได้เปลี่ยนแปลง นำคนที่ควรนำเข้ามาวัด คล้ายๆ กับคนป่วย ที่เราควรนำมารักษา ถ้าคนไม่เจ็บไม่ป่วย ไม่ร้องรักษาก็ไม่เป็นไร เพราะว่าคนป่วยนั้น อาการมันหนักเราก็ต้องให้หยูกให้ยา รักษากันไปตามเรี่อง คนป่วยทางกาย ยังต้องรีบพาไปโรงพยาบาล อันนี้นับว่าเป็นความผิดพลาดในชีวิตประจำวัน
จึงใคร่แนะนำว่า ถ้าเรามีคนอยู่ในปกครองของเราเช่น ลูก หลาน ถ้าเห็นว่า มันมีอาการผิดปกติทางจิตใจ มีความคิดไม่ค่อยถูกทาง เราก็ควรแนะนำเขามาหาพระสงฆ์องค์เจ้า เพื่อช่วยแนะนำแนวทางชีวิตแก่เขา ให้เขาได้รู้ว่า อะไรเป็นอะไร ถูกต้องตามเรื่องที่ควรจะรู้ ควรจะเข้าใจ นี้เป็นเรื่องที่จะต้องร่วมมือร่วมใจกัน ในสังคมยุคปัจจุบัน ถ้าเราไม่ทำอย่างนั้น กว่าเด็กเหล่านั้นจะเป็นคนแก่ ก็คงจะสร้างความรำคาญ ให้แก่เพื่อนมนุษย์มากมายก่ายกองทีเดียว แต่ถ้าเรารีบเอาไปรักษา ชี้แนะแนวทางให้เขาเข้าใจ เขาก็จะเปลี่ยนเข็มชีวิตได้
ปกติของคนเราทั่วๆ ไปนั้น ความจริงแล้ว เป็นผู้ที่ต้องการทำดี ทำถูก ด้วยกันทั้งนั้น ไม่มีใครที่จะทำสิ่งชั่วร้าย แต่ที่ได้ทำลงไปนั้น เพราะเรื่องไม่เข้าใจ เขาสำคัญว่าการกระทำเช่นนั้น เป็นความเก่งความกล้าหาญ เป็นความเด่นในสังคม เลยก็ทำเรื่อยไป จนชินชากับการกระทำอย่างนั้น แล้วเลิกไม่ได้ อันนี้ก็เพราะว่าความเข้าใจผิด ไม่ใช่เรื่องอะไร แต่ถ้าเราปรับความเข้าใจของเขาใจ เขาสำคัญว่าการกระทำเช่นนั้น ความเก่งเป็นความกล้าหาญ เป็นความเด่นในสังคม เลยก็กระทำเรื่อยๆไป จนชินชากับการกระอย่างนั้น แล้วเลิกไม่ได้ อันนี้ก็เพราะว่าความเข้าใจผิดไม่ใช่เรื่องอะไร แต่ถ้าเราปรับความเข้าใจ เมื่อเข้าคงจะไม่ดันไปในทางชั่วต่อไป
โดยเฉพาะเด็กๆ นี้ ถ้าเราทำความเข้าใจแล้ว เขาจะรับได้ง่ายกว่า เพราะเด็กนั้นพร้อมอยู่เสมอ ที่จะทำอะไรในทางที่ถูกที่ชอบ แล้วเขาอยากจะให้ผู้ใหญ่ชมเชย ในเรื่องเกี่ยวกับคุณงามความดี ถ้าเราเห็นเขาทำดี เราชมเขาแนะนำเขายกเขา ให้กำลังใจเขา เขาจะได้คิด ได้มีกำลังใจต่อ ปฏิบัติกับลูกของตน หรือคนที่เกี่ยวข้อง กับเด็กก็ควรกระทำในรูปอย่างนั้น เราอย่าเข้าใจเขวในเรื่องธรรมะ อย่าเห็นว่าธรรมะไม่จำเป็น อย่าเห็นว่าศาสนาศีลธรรม ของเก่าเรื่องล้าสมัย ไม่จำเป็นจะต้องใช้ในยุคนี้ ในยุคนี้ก็จะเกิดมากขึ้น อันนี้เป็นเรื่องที่น่าคิดประการหนึ่ง
อีกประการหนึ่ง คนเรานี้ถ้าไม่มีพื้นฐานทางจิตใจมั่นคงพอ เรียกว่าไม่มีสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ เป็นหลักประจำแล้ว อาจจะวินิจฉัยอะไรๆ ต่างๆ เขวไปได้ เรื่องผิดเขาอาจจะคิดเป็นเรื่องถูกไปก็ได้ เรื่องยุติธรรมไปเสียก็ได้ ได้ฟังกลุ่มคนบางกลุ่ม บางพวกนั่งคุยกัน นั่งสนทนากัน อาตมาก็ไปนั่งฟังเขาเฉยๆ ก็ไม่ว่าอะไร ไม่แสดงความเห็นอะไร เพียงแต่ว่าเป็นผู้รับฟัง แต่ว่าฟังแล้วก็เกิดความรู้สึกขึ้นในใจ ในเรื่องเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ นี้หลายเรื่องหลายประการ ทำให้เกิดความคิดขึ้นว่า คนที่พูดทั้งหมดนั้น ยังไม่เป็นตัวเองแท้ แต่ว่ามีความเห็นผิดไปในเรื่องต่างๆ เช่น ว่ามีความเห็นเข้าข้างตัว มีความเห็นเข้าข้างพรรคพวกของตัว แล้วก็คิดว่าคนอื่นกระทำไม่ถูกไม่ตรง ไม่ยุติธรรมอะไรต่างๆ นานา อันนี้คิดผิดมาก ทำไมจึงได้คิดผิดไปในรูปเช่นนั้น ก็เพราะว่ามันมีอะไรเป็นฐาน อยู่ในใจอย่างหนึ่ง ฐานที่อยู่ในใจสำคัญก็คือ เรื่องความเห็นแก่ตัวนี่เอง
เรื่องความเห็นแก่ตัวนี่ อาตมาพูดอยู่บ่อยๆ พูดอะไรก็มักจะวกไปสู่เรื่องนั้นๆ เรียกว่าความเห็นแก่ตัว เพราะว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เป็นฐานของสิ่งทั้งหลาย ทั้งด้านดีและด้านเสีย ถ้าพูดในด้านเสียแล้ว ความเห็นแก่ตัวนั่นแหละ เป็นปัจจัยสำคัญ ที่จะทำคนให้คิดผิดไป ให้พูดผิดไป ให้กระทำอะไรๆ ไปในทางที่ผิดที่เสียหาย ก็เพราะฐาน ที่มีความเห็นแก่ตัวเกิดขึ้นก่อน แต่ถ้าไม่มีความเป็นแก่ตัว มีความเห็นในด้านธรรมะจริงแล้ว เรื่องผิดมันก็คงจะไม่เกิด เพราะธรรมะนั้น จะช่วยให้เกิดความคิดนึก ที่ถูกที่ชอบ ตรงตามเป้าหมาย แต่พอมีตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง ความคิดที่ผิดเกิดตามขึ้นมา
ตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ เช่นว่า นาย ก. นี่เป็นอยู่กับใครคนหนึ่ง แล้วคนๆ นั้นไปกระทำอะไรเข้าสักอย่างหนึ่ง ซึ่งคนส่วนมากเขาก็เห็นว่ามันไม่ถูก ไม่เหมาะ ไม่ควรด้วยประการต่างๆ แต่ว่านาย ก. ไม่ได้คิดเช่นนั้น ไม่ได้มองเห็นในรูปเช่นนั้น กลับพูดว่าท่านผู้นั้น หรือว่านาย ก.เป็นคนที่ดีอย่างนั้น ดีอย่างนี้หลายอย่างดีหลายประการ แต่ว่าฟังดูแล้ว เรื่องดีของส่วนรวม เป็นเรื่องดีเฉพาะคนๆ นั้น
เช่นนาย ก. นี่ได้รับความอุปถัมภ์ค้ำชู จากคนนั้น ในเรื่องต่างๆ นานา เจ็บไข้ได้ป่วย ที่เขาช่วย รักษามารดาตาย เขาช่วยทำศพให้ หรือว่ามีความทุกข์ความเดือดร้อน ก็วิ่งไปหาให้ความช่วยเหลือ ความ ช่วยเหลือเกื้อกูลต่างๆ นั้น เป็นเครื่องมัดจิตใจนาย ก. ให้มีความรัก ความเคารพต่อบุคคลนั้น แต่ว่าไม่ได้คิดไปถึงว่า สิ่งที่เราได้มันเป็นเรื่องของปัจเจกชน หรือเป็นเรื่องของมหาชน เขาไม่ได้คิดถึงเรื่องอย่างนั้น คิดแต่เพียงประการเดียว ว่าเขาดีต่อฉันอย่างนั้น อย่างนี้ ส่วนที่เขากระทำอะไรลงไป ในเรื่องที่เป็นความผิดความเสียหายนั้น เขามองไม่เห็น ทำไมจึงมองไม่เห็น ก็เพราะว่าอคติเข้าครอบงำใจ อคตินี่คือความลำเอียง เกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้ คือความลำเอียงเพราะรัก เรียกว่าฉันทาคติ ความลำเอียงเพราะชัง เรียกว่าโทสาคติ ความลำเอียงเพราะกลัวเรียกว่า ภยาคติ ความลำเอียงเพราะเขลาเรียกว่าโมหาคติ
อคติ 4 ประการนี้ ไม่ว่าตัวใดตัวหนึ่ง ถ้าเกิดขึ้นในใจของบุคคลใดแล้ว ทำให้บุคคลนั้นต้องตกต่ำลงไปเรื่อยๆ ทำไมจึงต้องตกต่ำ เพราะว่าความคิดมันผิด การพูดผิด การกระทำผิด การคบหาสมาคมก็จะพลอยผิด พลอยเสียไปด้วย เพราะอาศัยอคติ 4 นี้เป็นฐานอยู่ในใจ เรื่องอื่นที่มันจะเกิดขึ้น มันก็จะเอียงไปตามอคติที่มีอยู่ เช่นเรามีความรัก เราก็มองคนไปในแง่ดี มีประโยชน์แก่ตน ใครมาบอกว่าไม่ดีนั้นไม่ยอมรับ
สมมติว่า ชายหนุ่มหญิงสาวมีความรักกัน หญิงสาวมีความรักชายหนุ่ม แต่ว่าคุณพ่อคุณแม่มองแล้ว มองแล้วเห็นว่า มันไม่ได้ความ ไอ้เจ้าหนุ่มคนนั้นเป็นคนหยิบโหย่ง ไม่เอางานเอาการ นิสัยไม่ค่อยดีไม่เรียบร้อย แล้วก็มาบอกกับลูกสาวว่า แม่พิจารณาดูแล้ว ว่าเจ้าหนุ่มคนนี้ ที่เธอสมมติว่าเป็นแฟนนี่ มันไม่ได้เรื่องอะไร ลูกสาวจะเชื่อไหม จะฟังไหม ไม่เชื่อหรอก หาว่าคุณแม่รังเกียจอย่างนั้น รังเกียจอย่างนี้ ไม่ชอบแล้วก็พูดอย่างนั้น พูดอย่างนี้ ด้วยประการต่างๆ เขามองไม่เห็นความไม่ดี ของคนที่เขารัก เพราะว่าเขารักมาก เขาก็มีอคติมากหน่อย เรียกว่ามีอคติเข้าข้างคนนั้น มากหน่อย ใครที่พูดว่าไม่ดีนั้น จะถูกหาว่าไม่ชอบละ อย่างนั้น อย่างนี้ละ แล้วมักจะเอาสิ่งแวดล้อมขึ้นมาเป็นข้ออ้าง เช่นอ้างว่า เขาเป็นคนจนบ้างละ เขาไม่มีเทือกเขาเหล่านั้นบ้างละ เขาเป็นคนอย่างโน้นอย่างนี้ เอามาอ้างในรูปต่างๆ ไม่ยอมรับความจริง ที่คนอื่นมองเห็น เพราะว่าตาของตัวนั้นมันเป็นฝ้า มองอะไรมัวไปหมด ไม่เห็นชัดตามสภาพที่เป็นจริง อันนี้มีอยู่
หนุ่มก็เหมือนกันแหละ ถ้าไปรักหญิงสาวแล้ว ถ้าใครไม่ชอบ ไม่เห็นด้วย มาคัดค้านนี่ เขาก็ไม่ยอมท่าเดียว เขาจะต้องรักของเขาไป จนกระทั่งจะได้สมใจละ หรือว่าจนกระทั่งความเสียหาย มันเกิดขึ้นแล้ว จึงจะรู้ว่า อ้อมันหลงผิดไปแล้ว แต่ว่ามันหลงผิดไปแล้ว มันขาดทุนไปตั้งเท่าไรก็ไม่รู้ อันนี้เป็นตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ ว่า จะวินิจฉัยเรื่องอะไรนั้น อย่าวินิจฉัยโดยถือเอาตัวเป็นใหญ่ก็ไม่ได้ เพราะว่ามักจะเข้าตัว มีอคติเกิดขึ้นในใจ นี่เรียกว่าฉันทาคติ บางทีเกิดโทสาคติขึ้น เราไม่ชอบคนนั้น เมื่อไม่ชอบคนนั้นก็ลงมติว่า ไม่ได้ความใช้ไม่ได้ ไม่ดีไม่งามด้วยประการทั้งปวง
การที่ลงมติไปในรูปเช่นนั้น ก็มีฐานมาจากว่าตัวไม่ชอบ ตัวไม่ชอบนั่น ก็คือตัวความเห็นแก่ตัวอย่างหนึ่ง เหมือนกัน ไอ้ความชอบนั่น ก็คือความเห็นแก่ตัวเหมือนกันแหละ ตัวพอใจตัวพึงใจก็ว่าดี แต่เอาตัวเข้ามาเกี่ยวข้องอีกในรูปหนึ่งว่า ฉันไม่ชอบ ฉันไม่พอใจ เขาทำอะไรๆ ไม่ถูกอารมณ์ของฉัน เราก็เกิดโทสาคติ คือความลำเอียงเกิดขึ้นทันทีว่า คนนั้นใช้ไม่ได้ การกระทำอย่างนั้นไม่ถูกต้อง แม้จะถูกก็ไม่ยอมว่าถูก แต่ถ้าผิดก็เอาเลยละ เรียกว่าได้ทีขี่แพะไล่เอาเลยทีเดียว อันนี้มีอยู่เหมือนกัน เรียกว่าลำเอียงเพราะชังกัน
ลำเอียงเพราะกลัววินิจฉัยอะไรๆ บางเรื่อง นี่กลัวอิทธิพลเขา กลัวพรรคพวกเขา กลัวอำนาจ กลัวความเป็นใหญ่ การวินิจฉัยนั้น ก็มักจะเข้าไปในสิ่งที่ตัวกลัว เพื่อให้ตัวปลอดภัย ก็ความเห็นแก่ตัวอีกเหมือนกัน เอาตัวเข้าไปใช้อีก แล้วก็วินิจฉัยในเรื่องอะไรๆ ต่างๆ มันผิดไป ไม่ตรงตามเรื่องที่เป็นความจริง นี่เรียกว่าลำเอียงเพราะความกลัว ส่วนลำเอียงเพราะความหลงนั้น คือไม่รู้เรื่องอะไรเลย ไม่เข้าใจอะไร ไม่มีปัญญาไม่มีเหตุไม่มีผล ได้ยินเขาว่าอย่างไร ก็ว่าไปตามเขา เป็นสีแก้วพลอยรุ่งไปกับเขา ไอ้แสงของตัวไม่มีสักหน่อย อย่างนี้เขาเรียกว่าโมหาคติ คนเราถ้ามีอคติอย่างนี้แล้ว มันก็เขวไปเท่านั้นเอง
ทีนี้คนนั้นเป็นใคร ก็มักจะใช้ความลำเอียงของตัวนั่นแหละ ไปทำในเรื่องนั้นเรื่องนี้ต่อไป ให้เกิดความเสียหายไป ด้วยประการต่างๆ การวินิจฉัยอะไรว่าดีว่าถูก ว่าชั่วว่าไม่ชั่วอะไรนี่ จะเอาอคติมาใช้ไม่ได้ เราจะต้องวิจิจฉัยด้วยความเป็นธรรม ด้วยความเป็นธรรมนั้น ต้องเอาอะไรหลายอย่าง เข้ามาประกอบ เช่นว่าเอาศีล เข้ามาเป็นหลักวินิจฉัย ศีลห้านี่ ไม่ต้องเอาอะไรมาก เอาศีลทั้งห้าข้อ มาวินิจฉัยกันก่อน การกระทำนั้นจะดีหรือชั่ว จะเป็นความผิดความเสียหรือไม่ ศีลห้ามีอะไรบ้าง โดยมากเราก็พอรู้กันอยู่ คือการไม่ฆ่ากัน การไม่ลักของกัน การไม่ประพฤติล่วงเกินความรักความชอบใจกัน การไม่พูดจาโกหกหลอกลวงกัน ไม่เสพของมึนเมา อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท อันนี้เป็นฐานเบื้องต้น ที่เราจะเอามาวินิจฉัย ว่าอะไรถูกอะไรผิด
ถ้าสมมติว่ามีการฆ่ากันขึ้น คนที่ถูกฆ่าจะเป็นใครก็ตาม ผู้ฆ่าจะเป็นใครก็ตาม เราจะวิฉัยโดยเอาตัวเราไปแอบด้วยไม่ได้ ถ้าสมมติว่าผู้ฆ่านั้น เป็นพวกของเรา คนที่เป็นผู้ฆ่านั้น เป็นพวกของเรา เราก็อาจจะหาสิ่งแวดล้อม มาพูดจาประกอบเรื่องเข้าไปว่า การฆ่านั้นมันจำเป็นต้องฆ่า ถ้าไม่ฆ่าไม่ได้ วินิจฉัยไปในรูปอย่างนั้น อันนี้ไม่ได้วินิจฉัยไปตามมูลฐานแล้ว แต่วินิจฉัยโดยอาศัยเอาความรักเข้าไปใช้ เพราะคนนั้นเป็นพวกของเรา เราจะวินิจฉัยว่าที่ต้องทำเช่นนั้น เพราะมีความจำเป็นที่ต้องทำอย่างนี้มันก็ไม่ถูกความ หมายแล้ว
แต่ถ้าหากว่า เราวินิจฉัยว่าไอ้การฆ่ากันนี้มันไม่ดีแหละ ไม่ว่าเพราะอะไร ฆ่ากันนี่มันไม่ดี เราก็ต้องว่าคนที่ฆ่านั้นเป็นคนไม่ดี เพราะไปฆ่าเขา ส่วนเรื่องอื่นนั้นค่อยว่ากันทีหลัง เบื้องต้นนั้นว่าการฆ่าเป็นการผิดศีลธรรม เป็นเรื่องไม่เหมาะไม่ควร แล้วก็ค่อยพิจารณาต่อไปว่า ทำไมจึงต้องฆ่ากัน ที่ได้ฆ่ากันเพราะอะไรอันนี้เป็นตัวอย่าง เอาหลักศีลมาเป็นเครื่องวินิจฉัย เอาหลักธรรมะเป็นเครื่องวินิจฉัยก็ได้
ธรรมะที่เป็นพื้นฐานนั้นอยู่ที่อะไร พระพุทธเจ้าตรัสว่า การไม่เบียดเบียนกันนี้เป็นสิ่งสูงสุดแต่ถ้ามีการเบียดเบียนกันนี้เราก็วินิจฉัยได้ว่าไม่ใช่สิ่งสูงสุดแต่ถ้ามีการเบียดเบียนแล้ว จะเบียดเบียนกันในทางกาย เบียดเบียนกันในทางทรัพย์ เบียดเบียนกันในทางกาม หรือเบียดเบียนกันในรูปใดก็ตาม การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นธรรม ไม่ใช่สิ่งสูงสุดตามหลักพระพุทธศาสนา ถ้าผู้ใดกระทำการเบียดเบียนใครๆ ด้วยวิธีใดก็ตาม เราก็เอาหลักธรรมะของพระพุทธเจ้ามามาเป็นฐานแล้ววินิจฉัยตามธรรมะนั้น ก็จะมองเป็นความจริงถูกต้องว่า มันไม่ถูกในการที่เบียดเบียนกันเช่นนั้นส่วนเรื่องอื่นค่อยว่ากันอีกทีหนึ่ง ว่าทำไมจึงต้องเบียดเบียนกัน แต่ว่าถ้าพูดกันโดยธรรมะแล้วมันไม่ถูกละ แต่ว่าเราจะให้โอกาสแก่คนนั้นบบ้าง เราก็พิจารณาไปตามสื่งแวดล้อมสภาพอะไรๆ ที่เป็นอยู่ อย่างนี้ก็จะเรียกว่าเกิดความเป็นธรรมขึ้นมา
อีกอันหนึ่งมันเป็นเรื่องของบุคคล แล้วก็ไปทำอะไรๆ ขึ้นมา การกระทำนั้นมันเป็นเรื่องส่วนตัวก็ได้ แต่ว่าเมื่อทำลงไปแล้ว มันกระทบกระเทือนต่อประโยชน์ ต่อความสุขของส่วนรวม เราจะรักคนนั้นสักเท่าไร คนนั้นจะเป็นอะไรๆ กับเราก็ตามใจ เราจะไปพูดว่าเขาทำถูกอย่างนี้ก็ไม่ได้ เพราะว่าเราการกระทำนั้น มันถูกคนเดียวแต่มันผิดหลายคน คือการทำแล้วมันเดือดร้อนคนมาก ทำให้เกิดความเสียหายแก่ส่วนรวมประเทศชาติอะไรต่างๆ นานา แล้วเราจะไปพูดว่า มันจำต้องทำเช่นนั้น ความจำเป็นนั้นมันจะจำเป็นอะไร จำเป็นเฉพาะตัวผู้นั้นหรือ หรือว่าจำเป็นจะต้องทำเช่นนั้น ความจำเป็นนั้นมันจะเป็นอะไร จำเป็นเฉพาะตัวผู้หรือ หรือว่าจำเป็นจะต้องทำเช่นนั้น ถ้าไม่ทำเช่นนั้นชาติจะล่มจมจะเสืยหาย เราก็ต้องพิจรณากันอีก แต่ถ้าพิจรณาเห็นแล้วว่าการกระทำเช่นนั้น มันจำเป็นสำหรับตัวคนเดียว เพราะมีอารมณ์อะไรอยู่ในใจ เช่นมีความเคียดแค้น มีความพยาบาทมีความน้อยเนื้อต่ำใจเกิดขึ้นในใจ แล้วก็ทำไปด้วยอำนาจกิเลสเป็นผู้สั่งการกระทำอะไรก็ตาม เราจะวินิจฉัยว่าเป็นกุศล หรือว่าเป็นอกุศลนั้น ต้องดูฐานของการกระทำ ว่าการกระทำนั้นมาจากโลภโกรธหลง มาจากความไม่โลภ ความไม่โกรธไม่หลง ถ้ามาจากโลภโกรธหลงแล้วมันเป็นอกุศล เป็นผลเป็นทุกข์ความเดือดร้อน แต่ถ้าฐานมาจากความไม่โลภไม่โกรธไม่หลง ผลมันก็เป็นความสุข เป็นความสบาย
เพราะฉะนั้น จะต้องวินิจฉัยถึงฐานของการกระทำนั้นว่า อะไรมันเป็นฐานให้กระทำ ทำไมจึงต้องกระทำอย่างนั้น ถ้าเราเห็นว่าฐานแห่งการกระทำนั้น เริ่มจากตัวก่อน แล้วตัวนั้นมีอะไรเป็นเครื่องประกอบ มีความโลภมีความโกรธ มีความหลง มีความริษยาพยาบาท มีความน้อยเนื้ต่ำใจ มีความอะไรๆ มาสุมในอกตลอดเวลา จนไม่เป็นอันสงบใจ ไม่เป็นอันทำอะไรที่จะสร้างสันติให้เกิดขึ้นในใจตนแม้แต่น้อย คอยเอาเชื้อความไม่ดีใส่ในความคิดของตนตลอดเวลา
เช่นว่ามันด่าเรา มันตีเรา มันประหัตประหารเราทำเราให้เจ็บช้ำใจนัก นี่เขาเรียกว่า เพิ่มเชื้อแห่งกิเลส เพิ่มเชื้อไฟแห่งราคะ ไฟโทสะ ไฟโมหะ ให้เกิดขึ้นในใจถ้าเรานั่งเพิ่มเชื้ออย่างนี้อยู่ตลอดเวลา แล้วเราก็ต้องติ ต้องว่าตนที่ตรงกันข้ามเสียแย่ไปเลย หาว่าอย่างนั้นแหละ หาว่าอย่างนี้แหละ เป็นคนไม่รักษาคำพูดบ้างแหละ เสียสัจจะบ้างละ ไอ้สัจจะนี่มันมีไว้สำหรับทำอะไร สัจจะเขามีไว้สำหรับคนที่มีสัจจะด้วยกัน ถ้าเป็นคนไม่มีธรรมะ เราจะเอาธรรมะเข้ามาไปใช้ มันก็ลำบากเหมือนกัน เอาสัจจะเข้าไปใช้ มันก็ไม่ได้ สัจจะในหมู่โจรมันไม่มี พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า "นตฺถิ พาเล สหายตา" ความเป็นสหายผู้ร่วมงานกันแท้จริง ในหมู่คนพาลนั้น มันไม่มี มันเป็นเพื่อวัตถุเท่านั้นเอง แต่ไม่ได้เป็นด้วยอุดมการณ์ทางจิตใจที่ถูกต้อง แต่เป็นสิ่งที่เพื่อให้ได้สิ่งที่ตนต้องการ เป็นสะพานไต่เต้า ไปสู่สิ่งที่ตนปรารถนา ถ้าตนไม่ได้สิ่งที่ต้องการแล้ว เขาก็จะบอกเลิกสัญญาเมื่อไรก็ได้ ไม่เป็นสหายกันต่อไปแล้ว อันนี้มันจริงอยู่ในสังคมของมนุษย์เราทั่วๆ ไป
| หน้าถัดไป >>
» ไม่มีอะไรได้ดังใจเหมือนม้ากาบกล้วย
» วันนี้เจ้าอยู่กับฉันพรุ่งนี้มันไม่แน่
» หลักใจ
» เกิดดับ
» มรดกธรรม