ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

หอพระไตร


ธรรมบรรยายของ หลวงพ่อปัญญา

ปาฐกถาธรรม เรื่อง ทำดีเสียก่อนตาย

วันอาทิตย์ที่ 29 กันยายน 2517

ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย

ณ บัดนี้ถึงเวลาของการปาฐกถาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนา แล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิด จากการฟัง ตามสมควรแก่เวลา

ในวันอาทิตย์ได้เห็นโยมมาฟังธรรมกันมากๆ จนกระทั่งว่าไม่มีที่นั่งในศาลา ก็ทำ ให้รู้สึกอึดอัดใจอยู่บ้างเล็กน้อย อึดอัดว่าในด้านบริการด้านเก้าอี้ไม่พอแก่ญาติโยม ส่วนด้านธรรมะนั้นบริการกันจนพอ ไม่ลำบาก แต่เก้าอี้ที่นั่งไม่ไหวเพราะศาลาเนื้อที่จำ กัด บริเวณก็ฤดูนี้ฝนตกเฉอะแฉะไม่สะดวก อีกไม่เท่าใดโรงเรียนที่สร้างก็จะเสร็จ เรียบร้อย บริเวณถมไว้กว้างกว่านี้ นั่งข้างในก็ได้ขางนอกก็ได้สะดวกกว่าโปร่งกว่า แล้วก็เงียบกว่าตรงนี้ เพราะไม่มีรถวิ่งพลุกพล่าน จะได้รับความสะดวกในการฟังมากขึ้น

การก่อสร้างก็กำลังเร่งอยู่ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นด้วยอะไร แต่เกิดขึ้นด้วยธรรมะอัน เป็นหลักคำสอนในทางพระศาสนา ที่เราได้ปฏิบัติได้เผยแผ่แก่ญาติโยม อานิสงส์ ของธรรมะนั้นมีมาก ถ้าเรากระทำอยู่แล้วก็เกิดประโยชน์เรื่อยไป ดีกว่าอย่างอื่น สิ่งอื่น นั้นจืดจางง่าย แต่ธรรมะไม่รู้จักจืดจาง ถ้าเป็นอาหารก็เรียกว่าเป็นอาหารที่กินไม่เบื่อ

อาหารบางประเภทรับประทานบ่อยก็เบื่อ แต่บางประเภทไม่เบื่อ นอกจากเวลาร่าง กายผิดปกติธรรมะก็เป็นอาหารใจประเภทที่กินไม่เบื่อ ดูหนังสือธรรมะที่เราอ่าน เรื่อง หนึ่งอ่านได้หลายครั้งหลายหน แต่ถ้าหนังสือประเภทเริงรมย์นวนิยาย อ่านจบเดียวมันก็ หมดเรื่อง แล้วก็ไม่อยากอ่านอีก แต่ธรรมะนี่อ่านแล้วอ่านอีกก็ไม่เบื่อ

ไปที่จังหวัดอ่างทอง ที่อำเภอวิเศษไชยชาญ คุณโยมคนหนึ่งบอกว่า หนังสือเล่มนี้ ผมอ่าน 15 ครั้งแล้ว คือหนังสือแก่นพุทธศาสนา อ่าน 15 ครั้ง บอกว่าทุกครั้งที่อ่านมี อะไรใหม่เกิดขึ้นในใจเสมอ อันนี้แสดงว่าอาหารใจหรือธรรมะเป็นสิ่งไม่เบื่อ สำหรับผู้ที่ รักจะรับประทานอาหารประเภทนั้น ญาติโยมที่มาฟังธรรมนี่ก็เหมือนกัน ไม่เบื่อในการฟัง อาตมาก็ไม่เบื่อในการให้ธรรมะแก่ญาติโยมทั้งหลาย เมื่อผู้ให้กับผู้ฟังไม่เบื่อ มันก็ว่ากัน เรื่อยไป

อาทิตย์นี้ก็เรียกว่าเป็นอาทิตย์สุดท้ายของการเข้าพรรษา วันที่ 2 ก็ออกพรรษาแล้ว แต่ว่าถึงจะออกพรรษาเราก็ไม่ออก ถ้าจะออกก็ได้เหมือนกัน แต่ออก จากความชั่วไปสู่ความดี ออกจากผีไปอยู่กับพระ แต่ถ้าออกจากพระไปอยู่กับผีนี่ไม่ได้ เรื่องอะไร เพราะฉะนั้นอะไรที่เราทำมาในพรรษาก็ทำเรื่อยไป อาหารใจเป็นเรื่อง ไม่จบก็ต้องทำเรื่อยๆ ไป ญาติโยมก็มาฟังกันเรื่อยไป เพราะว่าบางคราวอาจจะมีธุระไป ไหนเสียบ้าง แต่ว่าถึงไปก็ให้พระองค์อื่นแสดงให้ญาติโยมฟัง ตามปกติก็ไม่ค่อยจะไป ไหนในตอนออกพรรษาแล้ว ก็ดีจะได้พูดธรรมะให้ญาติโยมฟังกันต่อไป

ญาติโยมที่มาฟังกันอยู่เป็นประจำนั้น ย่อมได้รับประโยชน์จากธรรมะ คืออย่างน้อยๆ ก็สบายใจยิ่งโลกในสมัยปัจจุบันนี้ด้วยแล้ว มีเรื่องกระทบกระเทือนขุ่นข้องหมองใจกัน บ่อยๆ แม้เทวดาก็ยังถูกคนว่าเวลานี้ อ่านหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ว่าหนังสือวารสาร ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง เขียนกระทบกระเทือนในหลวง เรียกว่า ถ่มน้ำลายรดฟ้า มันก็เปื้อนหน้าตัวเอง ความจริงในหลวงของเรานั้นทรงมีประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง เหลือหลาย ได้ปฏิบัติกิจเพื่อความสุขของประชาชนอย่างเต็มที่ ถ้าพระองค์จะนั่งอยู่ในวัง เฉยๆ ก็ไม่ว่าอะไร แต่ว่าคนสันดานชั่วมันก็หาเรื่องด่าได้ทั้งนั้น ทำดีมันก็ด่า ทำชั่วมันก็ด่า

พระพุทธเจ้าท่านจึงบอกว่าคนมันก็อย่างนั้น เราเดินก้มมันก็ว่า เดินแหงนหน้ามันก็ว่า ปากปิดมันก็ว่าปากเผยมันก็ว่า คนสวยมันก็ด่า คนไม่สวยมันก็ติ มนุษย์ในโลกมันเป็น อย่างนั้น แม้พระพุทธปฏิมาก็ยังราคิน มนุษย์เดินดินหรือจะสิ้นคนนินทา เขาว่าเป็นกลอน ไว้อย่างนี้ แต่ว่าคนที่ไปว่าบุคคลที่ไม่ควรว่า แสดงว่าจิตใจต่ำเต็มที

พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า "พาลา นัปปสังสันติ ทานัง" คนพาลไม่เคยสรรเสริญการให้" ถ้ามีการให้ การแจกที่ใด คนพาลหมั่นไส้ มันไม่ยินดีปรีดาในการให้ คนพาลไม่ยินดีในการทำดีของ ใครๆ เพราะนิสัยมันต่ำนั่นเอง ไม่ใช่เรื่องอะไร อ่านแล้วก็สงสารคนเขียน ไม่ได้ สงสารในหลวงดอก เพราะว่า ฝุ่นนั้นไม่ได้ทำความเสียหายให้แก่ฟ้า ฟ้ายังให้ประ โยชน์แก่แผ่นดินอยู่ตลอดเวลา แต่ว่าสงสารคนเขียน ว่าทำไมจิตใจมันจึงต่ำลงถึง ขนาดนั้น เขียนไปตามอารมณ์ ไม่มีสติปัญญา ไม่มีเหตุผล แม้จะเป็นนักศึกษาก็เรียกว่า เรียนไม่ได้เรื่อง ถ้าได้ปริญญาไปก็คงไปทำลายตัวเองด้วยความรู้ของตัว

เหมือนต้นกล้วยตายกับปลีกล้วยนั่นเอง ต้นไผ่ก็ตายกับขุยไผ่ แม่ม้าอัศดรก็ตายเพราะเกิดลูกม้า ออกมา เพราะว่าลูกมันแก่มันก็ถีบท้องออกมาเลย ธรรมชาติมันไม่มี แต่ว่าเขาเปรียบ เทียบให้ฟัง หมายความว่า คนเราถ้าทำลายตัวเองแล้วมันตาย ไปไม่รอดชีวิตไม่เจริญ ก้าวหน้า ถ้าเราไปประทุษร้าย ต่อคนที่ไม่ประทุษร้ายตอบ ได้รับโทษทัณฑ์หลายสถาน เป็น โทษทัณฑ์แรงๆ ทั้งนั้น เช่น เป็นบ้า มีโรคขนาดหนักรักษาไม่ได้ ไม่มีใคร อยากคบหาสมาคม เป็นต้น เป็นเรื่องเสียหาย แต่ว่าเพราะไม่เคยฟังธรรม ไม่เคยเข้า ใกล้พระ คบแต่คนชั่วคนร้ายมิจฉาทิฏฐิ จึงได้มีจิตใจตกต่ำไปถึงขนาดนั้น น่าสงสาร

คนในโลกที่เราควรสงสารที่สุด ก็คือคนที่วิญญาณตกต่ำนี่เอง ถ้าจิตใจต่ำไปสู่ความชั่ว ความร้าย เป็นคนน่าสงสาร คนเจ็บทางกายยังไม่สงสารเท่าใด แต่คนป่วยทางใจน่า สงสารที่สุด เพราะคนเจ็บกายก็ไปนอนที่โรงพยาบาล ไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่ใคร แต่คน ป่วยทางใจ ร่างกายไม่อยู่โรงพยาบาล ยังเที่ยวทำความรำคาญให้เพื่อนบ้านร้านถิ่น ให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนหลายสถาน จึงเป็นคนประเภทที่น่าสงสาร ควรจะให้ การช่วยเหลือ

การช่วยเหลือก็คือว่า ช่วยแนะนำชักจูง ให้เขาเกิดความรู้สึกผิดชอบชั่ว ดี ให้กระทำสิ่งที่ควรทำ ให้ละสิ่งที่ควรละ ให้ตั้งตนไว้ชอบตามหลักธรรมะก็นับว่าเป็น การช่วยที่ประเสริฐ ทำชีวิตให้เจริญก้าวหน้าต่อไป ยาติโยมทั้งหลายที่เข้าสู่ธรรมะมี ลูกมีหลาน ในระหว่างนี้ต้องหมั่นเตือนลูกหลานไว้ อันตรายมีต่อไปข้างหน้า ให้ระวังเนื้อ ระวังตัว อย่าเที่ยวอย่าเตร่ อย่าไปทำอะไรที่ไม่เหมาะไม่ควร อันตรายอาจจะเกิดขึ้น แก่ชีวิตของเขาได้ จึงเป็นเรื่องที่ควรจะได้ระมัดระวังไว้ ให้อยู่กับเหย้าเฝ้าเรือน ไม่ จำเป็นก็อย่าออกไปเที่ยว เพราะมีภัยรอบด้าน อันนี้เป็นเรื่องน่าคิดอยู่ประการหนึ่ง

ทีนี่เรื่องที่ตั้งใจจะนำมาพูดกับญาติโยมในวันนี้ อยากจะพูดเรื่องเกี่ยวกับการกระทำดี เสีย คือว่าในสมัยก่อนนี้คนอยากเป็นเทวดากันมากทำบุญสุนทานอะไรก็อยากจะไปเกิดใน สวรรค์อยากจะไปเป็นเทวดา เพราะเข้าใจว่าเทวดานั้นเป็นภพที่เต็มไปด้วยความ สุขความสงบ ไม่มีความวุ่นวาย ไม่มีความเดือดร้อน แต่ความจริงนั้นหาได้เป็นเช่นนั้น ไม่ เพราะเมื่อมีเกิดที่ใดก็ต้องมีทุกข์ที่นั่น มีชาติมีภพในที่ใดก็มีทุกข์ในที่นั่น แต่ว่าเราไม่ เข้าใจซึ้งในเรื่องอย่างนี้ เข้าใจว่าเป็นมนุษย์นี่แสนลำบาก เป็นเทวดาคงจะสบาย

แต่ความจริงก็หาได้สะดวกสบายอะไรไม่ คล้ายๆ กับคนยากจน นึกว่าคนมั่งมีเขาคงจะ เป็นสุขสบาย มีอะไรกินอะไรใช้สะดวกทุกประการ อันนั้นมันเป็นเรื่องความสะดวก แต่ว่าอาจจะไม่สบายทางใจก็ได้ เพราะเรื่องจิตใจนั้นเป็นเรื่องภายใน ที่ไม่มีใครมอง เห็นได้ เจ้าตัวเท่านั้นรู้ว่า สภาพจิตใจของตัวเป็นอย่างไร ไม่ใช่ว่าพอมีอะไรสมบูรณ์ แล้วหมดทุกข์หมดร้อน ความทุกข์ความเดือดร้อนย่อมเกิดขึ้นได้ เมื่อยังมีอวิชชาครอบงำ จิตใจ เมื่อใดเราทำลายอวิชชาออกไปเสียได้ เมื่อนั้นแหละความทุกข์จึงจะหายไป

แต่ว่าคนเราเข้าใจว่า สวรรค์เป็นยอดแห่งความสุข ก็มีความต้องการ ทำบุญสุนทานอะ ไรก็อธิษฐานขอให้เกิดเป็นเทพบุตรเทพธิดา จะได้มีความสุขความสบายตามสมควรแก่ ฐานะ

เรื่องเทพบุตรเทพธิดานี้ ความจริงก็เป็นเรื่องเก่าแก่ มีมาก่อนพระพุทธเจ้าของ เราเกิดด้วยซ้ำไปเพราะในศาสนาฮินดู หรือศาสนาพราหมณ์นั้น มีเรื่องเกี่ยวข้องกับ เทวดามากมาย มีความสัมพันธ์กับมนุษย์อยู่ตลอดเวลา เขานับถือเทพเจ้าใหญ่บ้างเล็ก บ้าง มีมากมาย ถ้าไปถามนักปราชญ์ศาสนาฮินดูแล้ว เขาก็จะตอบว่า เทวดามีประ มาณ 30 โกฏิ ไม่ใช่น้อยๆ มากกว่าพลเมืองไทยเสียด้วยซ้ำไป เรียกว่าอยู่กันแน่น หนาคับคั่ง อยู่กันอย่างแออัดยัดเยียด บางแห่งกล่าวว่า จะเอาเข็มทิ้งลงไปก็จะไปถูกหัว เทวดา เพราะว่ามีมากเหลือเกิน อันนี้เป็นเรื่องเขาเล่าไว้ก่อนพระพุทธเจ้าของเรา เกิดด้วยซ้ำไป

ครั้นเมื่อพระพุทธเจ้าของเราอุบัติขึ้นในโลก ได้ตรัสรู้ธรรมะแล้ว พระ องค์ไม่ได้สอนให้เราถือเทวดาในรูปบุคคลสมมติอย่างนั้น แต่ให้ถือคุณธรรมเป็นเทวดา คือ ให้ประพฤติดีประพฤติชอบ แล้วก็จะได้เป็นเทวดา จึงได้บอกไว้ว่าเทวดามี 3 เหล่า คือ อุบัติเทวดา หมายถึงเทวดาเก่าๆ ที่เขาเชื่อกันมา ทำความดีแล้วก็ไปเกิด ตามที่เขาเชื่อกันมาก่อน แล้วก็สมมติยกย่องเป็นเสมือนเทวดา เช่นพระราชามหากษัตริย์ อย่างนี้ เราเรียกว่าสมมติเทวดา ในคำบาลีเวลาพูดกับพระราชา เขาใช้อาลปนะว่า สมมติเทว ข้าแต่สมมติเทพ เป็นเทวดาโดยสมมติ ส่วนเทวดาอีกพวกหนึ่งนั้น เป็น เทวดาแบบพุทธแท้เรียกว่า วิสุทธิเทวดา หรือวิสุทธิเทพ หมายถึงบุคคลผู้มีใจบริสุทธิ์ ปราศจากกิเลส คือพระอรหันต์นั่นเอง

พระอรหันต์หรือพระพุทธเจ้าเรียกว่าวิสุทธิเทวดา วิสุทธิเทวดาเกิดโดยธรรม เกิดจากธรรม ส่วนเทวดาอื่นนั้นเกิดโดยชาติโดยกำเนิด แต่วิสุทธิเทวดานั้นเกิดจากธรรมโดยแท้ ผู้ใด ประพฤติธรรมข้อที่จะทำให้เป็นเทวดา ก็เรียกว่าผู้นั้นเป็นเทวดา พระพุทธเจ้าทรง เปลี่ยนตัวบุคคลสมมติให้เป็นธรรมะ ถ้าเราเรียกตามภาษาธรรมะเขาเรียกว่า ปุคคลาธิษฐาน หมายถึงการอ้างตัวบุคคลเป็นตัวอย่าง ธัมมาธิษฐาน พูดถึงข้อปฏิบัติล้วนๆ ไม่เกี่ยวด้วยตัวบุคคล เช่นว่าพระพรหม ถ้าพูดเป็นบุคคลก็หมายถึงพระพรหม 4 หน้า ที่เขาปั้นไว้หน้าโรงแรมเอราวัณอะไรอย่างนั้นแหละ นั่นมันเป็นบุคคลสมมติ

ถ้าพูดเป็น ธัมมาธิษฐาน ก็หมายถึง พรหมวิหารธรรม ได้แก่ เมตตา ปรารถนา ความสุขความเจริญแก่ผู้อื่น กรุณา มีใจสงสาร อยากจะช่วยเขาให้พ้นจากความทุกข์ ความเดือดร้อน มุทิตา คือการพลอยยินดี ในความดี ความสุขความเจริญของผู้อื่น อุเบกขา หมายถึงความวางเฉย ในเมื่อไม่สามารถจะบำเพ็ญธรรม 3 ข้อข้างต้นได้ ผู้ใด ตั้งอยู่ในธรรม 4 ประการนี้ ผู้นั้นชื่อว่าเป็นพรหม มารดาบิดานี้เขาเรียกว่าเป็นพรหม ของบุตร เพราะมีคุณธรรม 4 อย่างนี้สมบูรณ์อยู่ในจิตใจ พระผู้มีพระภาคทรงเปลี่ยน อย่างนี้

คนอินเดียโบราณนับถือเทดาเป็นองค์ๆ แต่พระองค์แนะธรรมะให้ปฏิบัติ แม้ เรื่องพระพรหมที่เป็นพระเจ้าผู้สร้างของชาวฮินดู เวลาไปถามพระพุทธเจ้า พระ องค์กลับถามว่า พระพรหมเป็นผู้บริสุทธิ์หรือเปล่า เขาก็ตอบว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ แล้วทำไม ท่านไม่ทำตัวให้บริสุทธิ์ เพื่อเข้าถึงพระพรหมเสียเล่า พระองค์ย้อนถามไปในรูปอย่างนั้น คือไม่ได้คิดถึงธรรมะข้อปฏิบัติจึงพูดเป็นตัวบุคคล ถ้าเราพูดในแง่ธรรมะ ก็หมายถึงข้อ ปฏิบัติ หมายถึงการปฏิบัติ หมายถึงผลอันเกิดขึ้นจากการปฏิบัติ เช่นว่า พระพรหมเป็นผู้ บริสุทธิ์ เราก็ควรทำตัวให้บริสุทธิ์ พระเจ้าเป็นผู้มีความกรุณา เราก็ควรทำใจให้กรุณา ให้บริสุทธิ์ พระเจ้าเป็นผู้มีความกรุณา เราก็ควรทำใจให้กรุณา ให้บริสุทธิ์ อย่างนี้เป็น ต้น จึงจะเรียกว่าเข้าถึงสิ่งเป็นเนื้อแท้คือตัวธรรมะ อันเรานำมาปฏิบัติได้

ถ้าเราใคร่เป็นเทวดาในรูปใดก็ตาม เราควรจะปฏิบัติธรรมเพื่อความเป็นเทวดา เพราะในขณะ ปฏิบัติธรรมนั้น จิตใจสูงขึ้นอยู่ในขั้นนั้น แต่ว่าไม่ใช่ให้หยุดเพียงขั้นนั้นดอก ให้ผ่านพ้นต่อ ไป สวรรค์นั้นถือว่าเป็นทางผ่าน ไม่ใช่ทางที่เราจะไปตั้งรกรากลงที่นั่น เพราะมันยังเต็ม ไปด้วยความทุกข์ความวุ่นวาย แต่ว่าเราผ่านไปสักหน่อย เพื่อไปเยี่ยมดูเทวดาทั้งหลาย เสร็จแล้ว เราไม่แวะที่นี่ เราจะเดินต่อไป จนกระทั่งถึงการดับทุกข์ดับร้อนได้เด็ด ขาด เรียกว่าพระนิพพาน อันเป็นจุดหมายปลายทางของการปฏิบัติทางพุทธศาสนา เป็น สภาพทางจิตที่สงบเย็นอยู่ตลอดเวลา เป็นจุดหมายสำคัญ

แต่ถ้าเรายังไม่ถึงจุดนั้นก็เอาเพียงขั้นเป็นเทวดาในบ้านไปก่อน เรียกว่าเป็นเทวดา อยู่ในสังคม ดีกว่าเป็นอย่างอื่นอยู่ในสังคม ในเรื่องคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนารุ่นอรรถกถา ไม่ใช่รุ่นพระบาลีซึ่งเป็นคัมภีร์ดั้งเดิม แต่ว่าเป็นคัมภีร์อรรถกถา คือ อธิบายบาลีทีหนึ่ง ก็เล่าเรื่องเกี่ยวกับเทวดาไว้มากเหมือนกัน แต่ว่าก็แนะว่า ถ้าจะเป็นเช่นนั้นก็ต้องปฏิบัติธรรม เช่นว่า เขาเล่าเรื่องนายหนุ่มคนหนึ่งชื่อมะฆะมานพ เป็นคนใจกว้าง เสียสละ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ชอบใช้ชีวิตของตนให้เป็นประโยชน์แก่สังคม หรือแก่บุคคลอื่นทั่วๆ ไป แกชอบไปทำอะไร ที่เป็นประโยชน์สาธารณะ เช่นว่าถนนหนทาง ถ้าตรงไหนลุ่มก็เอาดินไปถมให้มันตื้นขึ้น ตรงไหนควรมีสะพานก็ไปสร้างสะพาน ตรงไหนรกเต็มไปด้วยขวากหนามเดินลำบาก ก็ ถางให้มันเตียน

ชั้นแรกก็ทำคนเดียวไม่ได้ชักชวนใคร ไปทำบ่อยๆ เวลาว่างก็ไปทำ ส่วนเวลาอื่นก็ทำมาหากินตามฐานะ แต่พอว่างจากงานส่วนตัว ก็ต้องไปทำสิ่งที่เป็นประ โยชน์แก่ส่วนรวมต่อไป ชั้นแรกก็ทำคนเดียว แต่ว่ามีคนเดินผ่านทางนั้น ได้รับความสะดวกสบาย เมื่อเห็นเขาทำก็ไปถาม ถามว่าท่านทำอะไร แกก็บอกว่า ฉันทำทางไป สวรรค์ ว่าอย่างนั้น คนเหล่านั้นก็นึกว่า เออ! เข้าทีดี ก็บอกว่า เอ้า! ฉันจะร่วมมือ อีกสักคนหนึ่ง ก็เลยกลายเป็นสอง ต่อมาคนอื่นมาเห็นก็มาถามอย่างนั้น ว่าท่านทั้งสองนี่ ทำอะไรกัน เขาก็ตอบพร้อมกันว่า ทำทางไปสวรรค์ คนเขาอยากไปสวรรค์ก็มาร่วมทำ กันอีก เพิ่มขึ้นๆ จนกลายเป็น 33 คน ร่วมกันทำทาง ทำบ่อน้ำ สร้างสวนสาธารณะ สร้างศาลาพักร้อน อะไรต่างๆ อันเป็นประโยชน์แก่สังคมในยุคในสมัยนั้น

ทางจังหวัดภาคใต้เรา ที่สงขลาเป็นตัวอย่าง ถ้าเดินทางจากตัวเมืองสงขลา ข้ามไปทางหัวเขาแดง เรียกว่า เขตอำเภอเมือง จะทิ้งพระ ระโนต เป็นเขตชายทะเล ฝั่งในทั้งสองฝั่ง ฝั่งในทะเลสาป ฝั่งนอกทะเลหลวง คืออ่าวไทย ระหว่างทางที่เดินไปนั้นจะเห็นศาลา บ่อน้ำ ต้นไม้ร่มรื่น มากมายเหลือเกิน คนเขาสร้างไว้ ไปพักศาลานี้มองเห็นศาลาหลัง หน้า พักที่ศาลาหลังนี้ก็มองเห็นศาลาหลังโน้น ทางเดินแถวนั้นเป็นดินทรายละเอียด ทรายชายทะเล ถ้าเป็นหน้าร้อนก็ต้องวิ่ง เพราะมันร้อนเต็มที คนเดินไปร้อนๆ พอไป เจอศาลาบ่อน้ำร่มไม้ก็หยุดพัก หายเหนื่อยแล้วก็เดินทางต่อไป

ศาลาไม่รู้สักกี่ร้อยหลังในบริเวณนั้น เต็มไปหมด ชาวบ้านเขามาสร้างบ้าง พระชวนชาวบ้านสร้างบ้าง สร้างศาลา สร้างบ่อน้ำ เวลาเดินทางก็ได้พักผ่อนสบาย แล้วโดยมากก็มีแม่ค้าเอาของมาวางขายในศาลาขายข้าวยำบ้าง ขายขนมบ้าง ขายอะไรๆ บ้าง พระสงฆ์องค์เจ้าเดินทางไม่ต้องกลัวอดดอก 11 โมงไปถึงศาลาไหน ไปนั่งไม่ต้องพูดต้องจา นั่งไม่ทันเหงื่อแห้งเดี๋ยวก็มาแล้ว เขาเอามาถวาย อันนี้เป็นกิจที่เขาชอบทำ บางหลังก็ใหญ่โต นิมนต์พระไปเทศน์ทุกวันพระเวลาเย็นๆ เพื่อให้คนบ้านใกล้เรือนเคียงได้ฟังพระธรรมเทศนา เรื่องอย่างนี้ก็เป็นเรื่องทำสิ่งที่ เป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์

แต่ว่ามาในสมัยนี้เขาทำถนนรถยนต์วิ่ง ศาลาที่สร้างไว้คนก็ไม่ค่อยได้พักเท่าใด เว้นไว้บางแห่งซึ่งอยู่ใกล้หมู่บ้าน คนก็มานั่งพักเพื่อจะขึ้นรถต่อไป ก็ยังเป็นประโยชน์อยู่ เมืองไทยเราสมัยก่อนมีศาลาพักร้อน มีร่มไม้ มีบ่อน้ำ ตามหน้าบ้านก็มีหม้อน้ำใส่น้ำ เย็นๆ มีขันใบน้อยๆ วางไว้บนหม้อ เพื่อให้คนได้ดื่มกินน้ำเวลาเดินทาง แต่ว่าต่อมาสิ่ง ที่เอาไปไว้นั้น คนก็ขโมยเอาไปเสีย เช่นว่าขันน้ำที่วางไว้มันก็ขโมยเอาไปเสีย อย่างนี้เป็นต้น ก็เลยหายไป ไม่มีคนตั้งน้ำไว้ให้คนเดินทางดื่มต่อไป

ยังมีอยู่บ้างในบางแห่งที่ทำกันอยู่ในรูปแบบนี้ เรื่องอย่างนี้มันเป็นเรื่องความเสียสละเพื่อ ประโยชน์แก่ส่วนรวม การเสียสละเพื่อส่วนรวม เป็นกิจชอบอย่างหนึ่งที่ควรจะได้กระทำ ทั่วๆไป คนเราถ้ามีน้ำใจเสียสละแล้วก็กลายเป็นคนใจกว้าง ถ้าเกิดความเห็นแก่ตัว แล้วก็เป็นคนใจคับแคบ ไม่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่ใครๆ โลกเราถ้าเต็มไปด้วยคนใจคับ แคบมันก็วุ่นวาย เกิดปัญหานานาประการ ปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้นในสังคม เกิดจากคนใจ แคบทั้งนั้นแหละ คนใจแคบก็คือคนเห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ ทำอะไรก็จะเอาแต่ประโยชน์ ตนเป็นใหญ่ ไม่คำนึงถึงประโยชน์และความสุขส่วนรวม ความวุ่นวายก็ต้องเกิดมากเป็น ธรรมดา แต่ถ้าหากว่าเราตั้งใจเสียสละ เพื่อประโยชน์ส่วนรวม เรื่องความยุ่งมันก็น้อย ลงไป สมัยโบราณเขาก็สอนกันมาในรูปอย่างนี้

ชายหนุ่มชุด 33 คนเขาช่วยกันทำงาน พัฒนาถนน บ่อน้ำ สาลาสาธารณะ จนแก่ เฒ่าตายไป แล้วก็ไปเกิดเป็นพระอินทร์ อันนี้เป็นเรื่องเก่าที่เขาเล่ากันมา ครั้นเรื่องนี้ ไปถึงพระโสตของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคท่านตรัสเป็นเรื่องธรรมะไป คือ ว่าถ้าใครอยากจะเป็นพระอินทร์ในรูปอย่างนั้น ก็ต้องประพฤติธรรม แล้วก็วาง หลักธรรมะไว้ 7 ประการ เพื่อให้คนเอาไปปฏิบัติแล้ว จะได้เป็นพระอินทร์ คือเป็น ก่อนตาย ไม่ใช่เป็นกันเมื่อตายแล้ว เป็นอะไรมันเป็นก่อนตายนี่ดีกว่า เป็นเมื่อตายแล้ว เราไม่รู้ไม่เห็น แล้วคนอื่นก็ไม่ได้ พลอยอนุโมทนาสาธุด้วย เพราะไม่รู้ว่าเป็นหรือ เปล่า แต่ถ้าเราเป็นเสียก่อนตาย มันเห็นได้ชัดด้วยตัวเราเอง ไม่ว่าเรื่องอะไร

ในทางพระพุทธศาสนาให้เป็นก่อนตายกันทั้งนั้น แม้การปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุนิพพาน ก็ให้ บรรลุก่อนตาย ถ้าตายแล้วบรรลุมันก็ไม่ได้เรื่องอะไร ไม่มีใครรู้ไม่มีใครเห็นพระองค์จึง สอนให้ นิพพานก่อนตาย ไม่ใช่ไปเอากันเมื่อตายไปแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่เรียกว่า ฝัน มากไปหน่อย

เพราะฉะนั้นจึงสอนทางปฏิบัติเป็นตัวธรรมะไว้เพื่อให้เราเอามาปฏิบัติ เราลองมาศึกษาเรื่องนี้สักเล็กน้อย ว่ามันจะเป็นประโยชน์แก่สังคมในยุคปัจจุบัน ขนาดไหน ถ้าเราได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติ 7 ประการ ที่ทำให้คนเป็นพระอินทร์นี้ จะดีหรือ ไม่ ถ้าเอามาศึกษาพิจารณาแล้วก็จะเห็นว่า เป็นประโยชน์แก่ตัวเรา แก่สังคมอย่าง มากหลาย และถ้าเราดูสังคมในยุคปัจจุบัน มีจำนวนไม่ใช่น้อยที่ขาดคุณธรรมเหล่านี้ จึง เป็นเหตุให้เกิดความวุ่นวาย ความวุ่นวายส่วนตัว ความวุ่นวายในครอบครัว ในวง งานตลอดจนความวุ่นวายของสังคมโลก ก็เกิดจากว่า ไม่เอาสิ่งเหล่านี้มาใช้เป็น แนวปฏิบัติในชีวิตประจำวัน จึงได้เกิดปัญหายุ่งยากด้วยประการต่างๆ แต่ถ้าสมมติว่า เราชวนกันใช้หลักเหล่านี้ เป็นแนวปฏิบัติ อะไรๆ ก็จะไม่วุ่นวาย

เมืองไทยเรานี้เป็นเมืองพุทธศาสนา ที่เราพอจะคุยอวดกันอยู่ได้ อวดได้ว่ามีความมั่นคง คือมั่นคงในการจัดระเบียบ ในการเป็นการอยู่เรียบร้อยกว่าประเทศอื่น ที่นับถือพุทธศาสนา ด้วยกัน เพราะว่าประเทศอื่นนั้น เสียหลักเอกภาพไป ไม่มีความเป็นอิสระในชาติ ศาสนาก็เลยอับเฉาไปด้วย เพราะผู้ที่เข้ามาปกครองนั้น ไม่ได้เอาใจใส่บำรุงส่งเสริมศาสนา ส่วนในเมืองไทยเรานั้น พระราชามหากษัตริย์ทุกพระองค์ ตั้งแต่สมัยโบราณมารจนถึงกาลบัดนี้ เวลาเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ ก็ได้ประกาศเป็นสัจจะวาจาว่า "เราจะบำรุงขอบขันธสี มาอาณาจักร และพระพุทธศาสนา ให้เจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า" อันนี้เป็นหน้าที่ขององค์ พระมหากษัตริย์

การบำรุงพระศาสนาของพระมหากษัตริย์นั้น ไม่ใช่บำรุงแต่เพียงด้าน วัตถุ แต่ว่าได้บำรุงในด้านการปฏิบัติธรรมะ คือองค์พระมหากษัตริย์ได้ทรงปฏิบัติธรรม เป็นตัวอย่างแก่ประชาราษฎร พระมหากษัตริย์อยู่ในทศพิธราชธรรม คือธรรมสำหรับพระ ราชา 10 ประการ อันเป็นคุณธรรมที่เป็นประโยชน์แก่พระองค์ และประเทศชาติ การปฏิบัติในธรรมเหล่านั้น เรียกว่าบำรุงศาสนาอย่างแท้จริง ทรงเป็นตัวอย่างใน ทางการปฏิบัติธรรมะแก่ประชาชน เช่นในหลวงของเราองค์ปัจจุบันนี้ ถ้าเราเพ่งพินิจพิจารณา ด้วยดีแล้ว ก็จะพบว่า พระองค์เป็นผู้แทนของพระธรรมทีเดียว เป็นประมุขที่ ทรงปฏิบัติธรรมะอยู่ตลอดเวลา ในชีวิตประจำวันของพระองค์ก็ทรงเป็นธรรม เป็นผู้ แทนของธรรมะก็ว่าได้ จึงเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของธรรมะในพุทธศาสนา เป็นเครื่องคุ้ม ครองรักษา เราจึงได้อยู่เย็นเป็นสุขกันพอสมควร

แต่ว่าก็มีลางร้ายบอกเหตุการณ์อยู่บ้าง ว่าต่อไปข้างหน้าต้นไทรกิ่งหักจะเกิดขึ้น ต้นโพธิ์ ใบโขรนจะมีขึ้น เพราะว่าคนเราไม่สนใจธรรมะ เห็นธรรมะเป็นของครึไม่ทันสมัย เห็นกิจกรรมทางศาสนาเป็นของคุณตา คุณยาย ไม่ค่อยสนใจเสียเลย อันนี้แหละเป็นเหตุ ให้เกิดความเสื่อมโทรมทางจิตใจ ในกาลต่อไปข้างหน้า คนเราถ้าชวนกันละเลยแบบแผน ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม แล้วจะมีอะไรเป็นหลักรักษาจิตใจกันต่อไป ก็จะอยู่กันด้วยความเขม่นเข้าหากัน ก็จะเกิดเป็นปัญหา สร้างความทุกข์ความเดือดร้อน

บทเรียนใกล้ๆ บ้านมันก็สอนอยู่พอแล้ว ว่าการไม่ประพฤติธรรมนั้น ให้ผลอย่างไร เราคนไทยจึงควรจะช่วยกันกอบกู้ฐานะธรรมะทางจิตใจ ให้คงอยู่ในตัวเราตลอดไป โดยเฉพาะญาติโยมที่มาวัด นับว่าได้ปฏิบัติอยู่แล้ว ทั้งที่เป็นคนเฒ่าคนแก่ คนหนุ่มสาว แม้เด็กหนุ่มๆ ก็มาฟังกันอยู่บ้างเป็นประจำ ก็นับ ว่าเป็นผู้ได้เดินตามเส้นทางที่ดีงาม คือ เดินตามทางของบรรพบุรุษ พระพุทธเจ้า ท่านบอกว่า "จงเดินตามทางที่ผู้ใหญ่เดินแล้ว" ผู้ใหญ่นั้นหมายถึงผู้ที่มีธรรม ไม่ใช่ใหญ่ เพราะเกิดในตระกูลใหญ่ แต่ว่าใหญ่เพราะมีธรรมะเป็นหลักครองใจ ผู้ใดมีธรรมะครองใจ แม้ยังเด็กก็เป็นผู้ใหญ่ ยังหนุ่มสาวก็เป็นผู้ใหญ่ ยิ่งเป็นคนแก่ ถ้ามีธรรมะ ก็เรียกว่าน่าดู น่าเคารพน่ากราบไหว้ น่าบูชาสักการะ เพราะมีธรรมะเป็นเครื่องประดับจิตใจ เราจึง ควรจะได้ใช้ธรรมเป็นแนวทางชีวิตไว้

 | หน้าถัดไป >>

» มองทุกให้เห็นจึงเป็นสุข

» ทุกข์ซ้อนทุกข์

» ไม่มีอะไรได้ดังใจเหมือนม้ากาบกล้วย

» วันนี้เจ้าอยู่กับฉันพรุ่งนี้มันไม่แน่

» มันเป็นเช่นนั้นเอง

» ศีลธรรมและสัจจธรรม

» แหล่งเกิดความทุกข์

» องค์สามของความดี

» หลักใจ

» ทำดีเสียก่อนตาย

» ตามรอยพุทธบาท

» ฐานของชีวิต

» ความพอใจเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง

» ชั่งหัวมัน

» อนัตตาพาสุขใจ

» ฤกษ์ยามที่ดี

» อดีต ปัจจุบัน อนาคต

» วิธีการสอนของพระพุทธเจ้า

» สำนึกสร้างปัญญา

» สอนลูกให้ถูกวิธี

» ปฏิวัติภายนอกกับภายใน

» ร้อนกายไม่ร้อนใจ

» อย่าโง่กันนักเลย

» การทำศพแบบประหยัด

» คนดีที่โลกนับถือ

» ความจริงอันประเสริฐ

» เสรีต้องมีธรรม

» ทาน-บริจาค

» เกียรติคุณของพระธรรม

» เกียรติคุณของพระธรรม (2)

» พักกาย พักใจ

» เกิดดับ

» การพึ่งธรรม

» อยู่ด้วยความพอใจไม่มีทุกข์

» มรดกธรรม

» ฝึกสติปัญญาปัญหาไม่มี

» ทำให้ถูกธรรม

» วางไม่เป็นเย็นไม่ได้

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย