ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

หอพระไตร


ธรรมบรรยายของ หลวงพ่อปัญญา

เรื่อง เกิดดับ

วันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2520

ญาติโยม พุทธบริษัททั้งหลาย

ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา

เมื่อวันอาทิตย์ก่อนไม่ได้แสดงปาฐกถาให้ญาติโยมฟัง เพราะว่าเสียงมันแห้งไป ก็เนื่องจากใช้มันมากไปหน่อย ญาติโยมที่มาฟังก็พลาดไป ได้ฟังองค์อื่นก็เหมือนกัน ท่านก็เทศน์ธรรมะให้เราทั้งหลายฟังเช่นเดียวกัน วันนี้คอเป็นปกติ แล้วก็มาพูดกับญาติโยมทั้งหลายต่อไปตามหน้าที่ของผู้ชี้ทางบรรเทาทุกข์ชี้ทางสุขเกษมสานต์ ให้แก่ญาติโยมทั้งหลาย แต่ว่าพระนี่ทำหน้าที่แต่ผู้ชี้ทาง ส่วนการเดินทางนั้นเป็นหน้าที่ของเราทุกคน ที่จะต้องเดินด้วยตัวของเราเอง คือการปฏิบัติเป็นหน้าที่ของเรา ผู้อื่นเป็นแต่เพียงผู้บอกทางให้เรารู้ทาง เมื่อรู้ทางแล้วก็อย่าไปยืนอยู่ปากทางเฉยๆ แต่ต้องเดินไปข้างหน้า เพื่อให้ถึงจุดหมายคือ ความสงบ ทางด้านจิตใจต่อไป

อันเรื่องธรรมะ เป็นเรื่องที่เราควรจะนำมาใช้ ในชีวิตประจำวันของเรา คล้ายๆ กับยาแก้โรคภัยไข้เจ็บ เวลาเราเจ็บไข้ได้ป่วยไม่ว่าเป็นโรคอะไร ขนาดไหน เราก็ไปหาหมอเพื่อให้ตรวจเช็คร่างกาย เมื่อหมอตรวจเสร็จแล้วก็รู้ว่า มีความบกพร่องด้วยเรื่องอะไร ไม่สบายด้วยเรื่องอะไร เราก็ต้องหายามารับประทาน แก้โรคนั้นต่อไป อันหมอนั้นมีหน้าที่ตรวจโรค แล้วก็แจกยาให้แก่พวกเราทั้งหลาย เราทั้งหลายจะต้องเอายานั้นไปรับประทาน การรับประทานก็ต้องรับประทานให้ถูกกับที่หมอสั่งไว้ แล้วคอยสังเกตุดูอาการ ว่าโรคที่เราเป็นนั้นเมื่อได้รับประทานยาชนิดนั้นเข้าไปแล้ว มันเป็นอย่างไร ดีขึ้นหรือไม่หรือว่าคงที่อยู่ ถ้าหากว่าดีขึ้นแสดงว่ายานั้นชนะโรค โรคภัยพ่ายแพ้ไป แต่ถ้าว่าไม่ดีขึ้นก็แสดงว่าโรคยังเก่งอยู่ ยายังไม่สามารถจะปราบมันได้ ก็ต้องไปปรึกษาหมอต่อไป เพื่อให้จัดยาใหม่ เพื่อให้โรคนั้นหายไปตามที่เราต้องการฉันใด

ในเรื่องเกี่ยวกับชีวิตของเรานี้ก็เหมือนกัน เราทุกคนมีชีวิตอยู่ในโลก ชีวิตกับความทุกข์นี้ดูเหมือนว่าจะเป็นของที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ทุกข์นี่เป็นสัจจะ หมายความว่าเป็นความจริงเป็นสิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่ตลอดเวลา มีพระพุทธภาษิตบทหนึ่งตรัสว่า ทุกข์เท่านั้นเกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นตั้งอยู่ ทุกข์เท่านั้นดับไป นอกจากทุกข์หามีอะไรไม่ ชีวิตจิตใจของเรานั้นมีเรื่องเกี่ยวกับความทุกข์อยู่ตลอดเวลา เกิดดับ เกิดดับ อยู่ในชีวิตของเรา แต่ว่าความทุกข์ที่เกิดขึ้นในชีวิตนั้น เป็ฯเรื่องที่แก้ได้ พระผู้มีพระภาคเจ้าของชาวเราทั้งหลาย เป็นผู้ค้นพบวิธีการแก้ทุกข์เป็นคนแรก แล้วก็ใช้วิธีนั้นเยียวยาพระองค์เอง จนพระองค์หลุดพ้นไปจากความทุกข์ความเดือดร้อนอย่างเด็ดขาด ไม่มีความทุกข์ยากลำบากใจเกิดขึ้นในใจต่อไป พระองค์มีพระกรุณาอันยิ่งใหญ่ต่อชาวโลกทั้งหลาย เห็นว่าชาวโลกยังเวียนว่ายอยู่ในกระแสของความทุกข์ จึงได้นำธรรมะนั้นมาประกาศให้เราทั้งหลายได้ปรึกษา ได้นำไปปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาขีวิตของเราต่อไป ถ้าเรารู้ตัวว่าชีวิตนี้ มีความทุกข์มีความเดือดร้อนใจ เราก็ต้องหันหน้าเข้าหาธรรมะ เพื่อหาธรรมไปแก้ไขปัญหาเหล่านั้น

ทีนี่ตามปกติคนเราไม่ได้เป็นทุกข์อยู่ตลอดเวลา ที่เป็นทุกข์เกิดขึ้นนั้นก็เพราะความคิดผิดในเรื่องเกี่ยวกับชีวิต ในเรื่องเกี่ยวกับความคิดนึกจิตใจของเรา เมื่อใดเราคิดผิดไป เราก็เกิดความทุกข์ความเดือดร้อน คือว่าการที่คิดผิดนั้นก็เพราะอำนาจอวิชชา ความไม่รู้ไม่เข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับชีวิต ในเรื่องปัญหาเหล่านั้น ความทุกข์อาจเกิดแทรกแซงขึ้นได้ แต่ว่าความทุกข์มันก็เป็นสิ่งไม่เที่ยงเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าเป็นของเที่ยงแท้ถาวรคงทนอยู่อย่างนั้นตลอดไป อะไรๆ มันเกิดขึ้นนั้น มันอยู่ในสภาพที่เรียกว่า เกิดดับ เกิดดับอยู่ตลอดเวลา อันนี้เป็นเรื่องสำคัญมากที่ญาติโยมควรจะได้กำหนดไว้ในใจยึดเป็นหลักสำหรับที่จะได้แก้ไขปัญหาอะไรต่างๆ ให้รู้ไว้ว่าอะไรทั้งหลายนั้น มันไม่ได้คงที่อยู่อย่างนั้นตลอดไป แต่ว่ามันเกิดดับอยู่ตลอดเวลา ความทุกข์ก็เกิดดับ เกิดดับ-ความสุขก็เกิดดับเกิดดับ อะไรๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรานั้น มันเป็นเรื่องเกิดดับเกิดดับอยู่ตลอดเวลา แต่ว่าถ้ามีเหตุปัจจัยเครื่องส่งเสริม การเกิดนั้นก็เกิดง่ายมาก แล้วก็ดับอยู่เหมือนกัน เกิดดับเกิดดับ ความเกิดดับของสิ่งทั้งหลายนั้น มันชั่วขณะเดียวเท่านั้น ชั่วขณะหายใจเข้าหายใจออกเท่านั้นเอง แล้วมันก็ดับไปก่อน แต่มันเกิดอีก ทำไมจึงได้เกิดขึ้นมาอีก ก็เพราะว่าเราเอาใจเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งนั้นในทางที่ผิด เราไปยึดสิ่งนั้นไว้ ไปคิดในเรื่องนั้นโดยไม่ถูกต้อง เราก็มีความทุกข์ติดต่อเรื่อยๆ กันไป

ตัวอย่าง เช่นว่าเรากลุ้มใจ ความกลุ้มใจนั้นก็เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แต่ว่าเราก็ยังกลุ้มอยู่ตลอดเวลา ที่เรากลุ้มนั้นก็เพราะว่าเราใส่เชื้อแห่งความกลุ้มเข้าไปในความคิดของเรา คล้ายกับไฟที่มันไหม้เชื้อ เมื่อมีเชื้อให้ไหม้ไฟก็ลุกโพลงเรื่อยไป ไม่รู้จักดับไม่รู้จักสิ้น แต่ถ้าหมดเชื้อเมื่อใดไฟมันก็ดับลงเมื่อนั้นแต่ถ้ายังมีเชื้ออยู่ไฟก็ไม่ดับ คนที่หมั่นใส่เชื้อเพลิง ไฟก็ลุกโหมอยู่ตลอดเวลาฉันใด ในจิตใจของเรานี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราเพิ่มเชื้อให้แก่ความทุกข์ ให้แก่ความกลุ้มใจอะไรก็ตามสิ่งนั้นก็เกิดเรื่อยไป ไม่รู้จักจบสิ้น เช่นว่าความกลุ้มใจเกิดขึ้นเพราะว่าเราคิดในแง่ที่ให้เกิดความกลุ้มใจ ความโกรธก็คิดในแง่ที่ให้เกิดความโกรธ ความเกลียดก็เพราะคิดในแง่ที่ให้เกิดความเกลียด ความริษยาเกิดขึ้นในใจ ก็เพราะความคิดในแง่ริษยา แล้วมันก็เชื้อคืออารมณ์ที่เราใส่ลงไปนั่นแหละ มันก็ลุกโพลงๆ อยู่ในใจของเรา เผาใจของเราให้เร่าร้อนอยู่ด้วยปัญหาอย่างนั้นตลอดเวลา ไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้น เพราะว่าเราไม่รู้จักตัดต้นเหตุ พระพุทธเจ้าท่านชี้ไว้ชัดในเรื่องนี่ว่า สิ่งทั้งหลายเกิดจากเหตุ ไม่มีเหตุผลจะเกิดขึ้นไม่ได้ แต่บางทีเราก็ลืมไปถึงหลักความจริงข้อนี้ ไม่ได้เอาหลักความจริงข้อนี้มาใช้เป็นหลักในการปฏิบัติ แก้ไขปัญหา เช่น มีอะไรเกิดขึ้นเราก็ไม่ได้คิดนึกตรึกตรองเพื่อจะแก้ไขปัญหาเหล่านั้นเราปล่อยให้ใจของเรามีแต่ความทุกข์ความเดือดร้อนตลอดเวลาไม่คิดแก้ไม่สะสาง เราก็มีความทุกข์เรื่อยไป เพราะฉะนั้นในการแก้ไขปัญหาชีวิต คือความทุกข์ความเดือดร้อนนี้ เราต้องใช้ธรรมะเป็นเครื่องประกอบ เอาธรรมะเข้าไปแก้

บางที มันมีเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา แล้วเราก็มีความไม่สบายใจด้วยปัญหานั้นๆ ตัวอย่างที่เห็นง่ายๆ เช่นว่าเราต้องสูญเสียอะไรบางอย่างในชีวิตของเราไป จะเป็นบุคคลก็ตาม จะเป็นวัตถุสิ่งของเครี่องใช้ไม้สอยก็ตาม เวลาสิ่งนั้นสูญหายไป เราก็มีความระทมตรมตรอมใจ มีความทุกข์อยู่ในใจตลอดเวลา ไม่สบายไม่อยากจะพูดกับใคร เรานั่งคนเดียว ปล่อยจิตปล่อยใจไปตามอารมณ์ อันเป็นเหตุที่จะให้เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อนใจเท่านั้น ไม่พยายามเปลี่ยนความคิด ไม่พยายามวิเคราะห์วิจัยตัวปัญหา ที่มันเกิดขึ้นในใจของเราว่า มันคืออะไร ทำไมมันจึงทำให้เรามีความคิดอย่างนั้นมีความคิดอย่างนี้ เราไม่วิเคราะห์วิจัยในเรื่องนั้น การไม่วิเคราะห์วิจัยนั้นแหละเรียกว่า ไม่ใช้ปัญญา เป็นเครื่องพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า พระพุทธเจ้า ท่านสอนไว้ชัดในเรื่องนี้ ท่านบอกว่า เมื่อใดมีอะไรเกิดขึ้นในใจของเราจงใช้ปัญญาเพ่งพินิจในเรื่องนั้น เพ่งพินิจหมายความว่าดูอย่างละเอียด ดูอย่างรอบคอบ ดูให้มันลึกซึ้ง เพื่อจะให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร และเราจะแก้ไขสิงนั้นอย่างไร ตามปกติคนเราทั่วๆ ไปนั้น ไม่ค่อยจะได้ใช้สิ่งนี้ ที่ไม่ได้ใช้นั้นเพราะอะไไร เพราะว่าไม่เคยใช้ เลยก็ใช้ไม่เป็นแต่ถ้าหัดใช้บ่อยๆ ก็เคยชินเป็นนิสสัย แล้วเราก็จะหยิบเอาปัญหาขึ้นมาวินิจฉัยได้ง่ายขึ้น จึงอยากขอแนะนำญาติโยมทั้งหลายว่า เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นเราต้องหมั่นคิด แต่ว่าการคิดนั้นอย่าคิดในแง่ที่ให้เกิดความกลุ้มใจ ในแง่ที่ให้เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อนใจ เราต้องคิดในแง่ที่ว่าความจริงของสิ่งนั้นคืออะไร ความจริงของสิ่งนั้นคืออะไร มันเกิดจากอะไรมันอาศัยอะไร แล้วเมื่อสิ่งนั้นมาอยู่ในใจของเรานั้น สภาพจิตใจของเราเป็นอย่างไรมีความทุกข์มีความเบาใจมีความสุขใจ ร้อนใจ เย็นใจ หรือว่าสงบใจอย่างไร เป็นเรื่องที่จะต้องเพ่งลงไปพิจารณาลงไป ให้เข้าใจเรื่องนั้นชัดเจนถูกต้อง ถ้าเราพิจารณาอย่างนี้ ความแจ่มแจ้งในเรื่องนั้นก็จะเกิดขึ้น แล้วการพิจารณาอย่างนี้นี่แหละเรียกว่า ทำวิปัสสนา

วิปัสสนาก็คือการคิดการค้นเพื่อให้เกิดความเข้าใจในเรื่องปัญหาชีวิต คือความทุกข์ความเดือดร้อนนั่นเอง เราก็ยกสิ่งนั้นมาพิจารณาเพื่อแก้ไขต่อไป ตัวอย่างเช่นว่าในครอบครัวของเรา มีคนที่เราเคารพบูชาสักการะอย่างสูงสุด ผู้ที่เราเคารพก็คือบิดามารดาของเรานั่นเอง เพราะว่าท่านเกิดเรามาท่านเลี้ยงเรามา ท่านอุปถัมภ์ค้ำชูเรามาทุกสิ่งทุกประการ เรามองท่านทั้งสองนั้นว่าเป็นร่มโพธิ์ร่มไทร ที่ให่ความสุขใจเย็นใจแก่เรา ทีนี้ความคิดอันหนึ่งเกิดขึ้นในใจของเรา เรียกว่าฝืนธรรมชาติธรรมดาความคิดที่ว่า ไม่อยากให้ท่านจากเราไป อยากให้ท่านอยู่กับเราตลอดไป ความคิดอย่างนี้อาจเกิดขึ้นแก่ใครๆ ก็ได้ เมื่อเรามีความรักเคารพในสิ่งนั้น เช่นเรามีความรักในมารดาบิดา เราก็มีความคิดอยู่ ว่าขออย่าให้ท่านไปจากเราเลยขอให้ท่านอยู่กับเราตลอดไป ความคิดอันนี้แหละความคิดที่เป็นไปได้หรือไม่ อยู่ในวิสัยหรือไม่ ก็อยากจะตอบว่ามันเป็นไปไม่ได้ ไม่อยู่ในวิสัยที่จะเป็นไปอย่างนั้น เพราะความคิดในรูปนั้นเป็นการฝืนกฏธรรมดาฝืนธรรมชาติ สิ่งทั้งหลายมีเกิดแล้วก็มีดับเป็นธรรมดา ไม่ว่าของอะไรก็ตาม มันมีสามขณะเท่านั้น เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป สามขณะอย่างนี้หนีไม่พ้น ไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์เป็นอะไรก็ตาม แม้ความคิดที่เกิดขึ้นในใจของเรา มันก็เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปทั้งนั้น สามขณะเท่านั้น สามจุดเท่านั้น เกินขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เวียนกันอยู่เป็นสังสารวัฏฏ์ ในจิตใจของเราอยู่ตลอดเวลา อะไรๆ นั้นมันก็มีความเป็นอยู่ในรูปอย่างนี้

ทีนี้มนุษย์ เรานี่มักจะฝืนธรรมชาติ ไม่คล้อยตามธรรมชาติในเรื่องธรรมชาติที่มันแน่นอนที่สุดที่จะต้องเป็น เราก็ไปคิดว่า ขอให้ท่านมีชีวิตอยู่โลกนานๆ แม้จะแก่ชราเท่าใดก็ไม่อยากให้ท่านจากไป ให้อยู่ได้เห็นหน้ากัน แล้วก็รู้สึกว่าอุ่นอกอุ่นใจ มีความสบายใจ นี่คือความคิดธรรมดาสามัญทั่วไปในมนุษย์เราทั้งหลายเราไม่เคยคิดในแง่ความจริงในสิ่งนั้น คือไม่ได้คิดว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา ที่ท่านจะไม่อยู่กับเราตลอดไป วันหนึ่งท่านก็จะจากเราไป เพราะสังขารร่างกายนี่มันเปลี่ยนแปลง ชรา ชำรุดทรุดโทรม ร่างกายของมนุษย์นี่เปลี่ยนแปลงทุกลมหายใจเข้าออก หายใจเข้าก็เปลี่ยนหายใจออกก็เปลี่ยน เปลี่ยนไปสู่ความแตกดับทั้งนั้น ไม่มีร่างกายของคนใดที่จะคงทนถาวร อยู่ได้ตลอดกาลนาน มีความเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ แล้วผลที่สุดแตกดับไป นั่นเป็นเรื่องของธรรมชาติ แม้ไม่มีโรคภัยเข้ามาเบียดเบียน มันก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามเรื่องอย่างนั้นแล้วก็ต้องแตกดับไปตามเรื่องอย่างนั้น แต่ว่า มันไม่ได้เป็นเพียงเท่านั้นกฏธรรมชาติมันมีอยู่แล้วคือการไหลเวียน เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แต่ว่ายังมีโรคภัยไข้เจ็บเข้ามาเบียดเบียนร่างกายอยู่ตลอดเวลา พระพุทธะเจ้าว่า โรคนิทฺธํ ร่างกายนี้ เป็นเรือนโรค เป็นที่อาศัยของโรคนานาชนิด ซึ่งมองด้วยตาเปล่าไม่เห็นมันเป็นตัวจุลินทรีย์ตัวเล็กๆ ลอยฟ่องอยู่ในอากาศ หายใจเข้าไปทางจมูกบ้าง ติดเข้าไปกับอาหารบ้าง มาเกาะที่ร่างกายของเราแล้วมันเจาะใชชอนเข้าไปในร่างกายไปยึดเอาร่างกายของเราเป็นที่อยู่อาศัย ร่างกายของมนุษย์นี่เป็นเรือนของโรคแท้ๆ

ในสมัย เป็นเด็กๆ บ้านนอก ขออภัยเถอะเวลาไปถ่ายมีตัวใส้เดือดขนาดเส้นฟางออกมา ยาวตั้งคืบเห็นแล้วนึกว่า แหมมันใหญ่เหลือเกิน มาอยู่ในใส้ของเราได้อย่างไร มันเข้ามาทางไหน ไม่รู้สาเหตุของเรื่องอยู่มวันหนึ่งพวกหมอสาธารณสุขนี่แหละ เข้าไปที่โรงเรียนแล้วบอกเด็กทุกคนว่า พรุ่งนี้ให้ถ่ายอุจจาระแล้วใส่ตลับนี้มา แจกตลับคนละใบๆ เราก็เอาไปบ้าน ไปถึงรุ่งเช้าถ่ายก็เอาใส่ตลับมานิดหน่อย ห่อกระดาษเรียบร้อนเซ็นชื่อไว้เหนือตลับ เอามาให้เขาตรวจ เจ้าหน้าที่ตรวจด้วยกล้องจุลทัศน์ แล้วก็บอกว่าแหมในท้องของเธอนีมันเยอะแยะมีพยาธิแส้ม้า พยาธิปากขอ พยาธิอะไรๆ มากมาย เราไม่รู้เพราะว่าเราเป็นเด็กหมอเขาบอกอย่างนั้นก็ไม่เชื่อหรอก แหมมันอยู่อย่างไรมากมายอย่างนั้น บอกว่าพรุ่งนี้แหละฉันจะเอาออกมาให้พวกเธอดูว่ามันอยู่เท่าไหร่ เลยเขาให้ทานยาชนิดที่ทำลายพยาธิ เสร็จแล้วสักชั่วโมงกว่าๆ ต้มน้ำดีเกลือขึ้นเป็นปี๊ปเลย นักเรียนเข้าแถวเข้า ให้กินน้ำดีเกลือขมๆ หน้าบูดเบี้ยวไปตามๆ กัน เสร็จแล้วก็ให้นั่งพักไปตามเรื่อง ไม่เท่าใดก็เริ่มแล้วเจ้าพวกนั้นออกมาต้วมเตี้ยมออกมาแล้ว พวกเราก็เห็นว่า พุทโธ่ แหม ในใส้เรานี่เหลือเกิน นี่แหละจึงกินข้าวแล้วไม่อว้นไม่พีกับเขา อาหารพวกนั้นแย่งเขาไปกินหมดเลยจนเขาพูดว่า แหม มันหิวจนใส้เดือนตัวหัวปีมันตายไปแล้ว ใส้เดือนมันมีอย่างนั้น มันอยู่ในท้องในใส้ของเรามันเป็นตัวใหญ่ๆ ที่เรามองเห็น ตัวเล็กๆที่มองไม่เห็นไปเที่ยวแอบอยู่ในตับใตใส้พุง ตรงนั้นตรงนี้อะไรต่างๆ มีมากมาย

แล้วอีกอย่างหนึ่ง มนุษย์เราในสังคมปัจจุบันนี้เจริญในทางวัตถุ เรื่องของวัตถุที่เจริญนี่เป็นพิษเป็นภัย ก็ไม่ใช่น้อยเหมือนกัน ทำให้เราต้องสูดอะไรๆเข้าไปในตัว สูดควันพิษเข้าไปบ้าง เขามียุงมากัดก็ใช้ผงดี ดี ที ที่ฉีดกันยุง มันไม่ใช่ยุงที่เดือดร้อน กรรมสนองกรรมเราก็เดือดร้อนกับยุงไปด้วยเหมือนกัน เพราะสูดเอาผง ดี ดี ที เข้าไป เดี๋ยวนี้ปลูกผักปลูกพืชเพื่อให้มันโตไวๆ ใช้ยาฉีดกันทั้งนั้น แล้วยาก็ติดอยู่ในพืชในผักเหล่านั้น เราก็รับประทานเข้าไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการ เชื้อโรคมันก็ติดเข้าไปบ้าง สิ่งที่เป็นพิษเป็นภัยก็ติดเข้าไปในร่างกายบ้าง แล้วก็เกิดดทุกข์เกิดโทษแก่ร่างกาย เป็นโรคมะเร็งอะไรขึ้นมา วันนั้นไปเทศน์งานศพแห่งหนึ่ง เป็นโรคมะเร็งตาย ลูกของคนที่ตายบอกว่า คุณแม่นี่ชอบกินปลาเค็ม หมอเขาว่า กินปลาเค็มนี่เป็นโรคมะเร็ง กินปลาเค็มเป็นโรคมะเร็งนี่คนไทยต้องเป็นกันใหญ่ เพราะว่าชอบกินปลาเค็มกันทั้งนั้น กินปลาเค็มกับข้าวต้ม อะไรต่ออะไรเขาบอกว่ามันมีเชื้อรา เอาไปทำให้สุกแล้วก็ไม่ตายเลยเข้าไปในท้องเป็นอันตราย ถ้าฟังเรื่องเกี่ยวกับสุขวิทยาอนามัยที่เขาแถลงแล้ว มนุษย์นี่จะอยู่ไม่ได้แล้วในสมัยนี้ รถติดแอร์ก็อันตรายแล้ว วันก่อนหนังสือพิมพ์เขาว่าอย่างนั้น ไอ้โน่นก็อันตรายไอ้นี่ก็อันตราย ผลที่สุดเราก็จะต้องกลัวกันใหญ่ มันจะตายกันทั้งนั้น อย่างนี้เป็นตัวอย่าง อันตรายมันมีรอบข้างแก่ชีวิตของเรา

เพราะฉะนั้น คนที่เรารักเรานับถืออย่างไร ท่านก็ต้องจากเราไป ถ้าเรามาคิดในแง่ว่า ท่านเกิดก่อนเรา ท่านมีชีวิตมาก่อนเรา ท่านก็ต้องไปก่อนเราเป็นเรื่องธรรมดา ตามคิว แต่ว่าบางทีก็ลัดคิวบ้าง เหมือนกันคุณแม่ยังไม่ไป ลูกไปก่อน อย่างนี้เขาเรียกว่า ลัดคิว ถ้าไปตามคิวก็ คุณแม่คุณพ่อก็ไปก่อน แล้วพี่คนหัวปีก็ไปเป็นลำดับนั่นตามคิว แต่มันไม่แน่ เพราะอะไรๆมันก็ไม่เที่ยงดังที่กล่าวแล้ว บางทีก็ลัดคิวไปเยอะแยะ พี่ยังอยู่น้องไปล่วงหน้าตั้งหลายคนแล้ว ไปรออยู่ข้างหน้าแล้ว เราก็จะตามไปทีหลัง อันนี้เป็นเรื่องธรรมดา คนเรามีญาติมากมีมิตรมาก ก็ต้องมีคนตายมากเป็นธรรมดา เช่นในครอบครัวเรามีหลายคนพี่น้อง ก็จะพบว่าเดี๋ยวคนนั้นตายเดี๋ยวคนนี้ตาย ตายกันบ่อยๆ ญาติมากมันก็ต้องตายมาก ต้องป่วยมาก แล้วก็ต้องมีปัญหามากตลอดเวลา เขาเล่าว่านางวิสาขามีหลานเยอะแยะ แล้ววันหนึ่งน้ำตานองหน้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ตรัสถามว่า ทำไมเธอมาวัดด้วยน้ำตานองหน้าอย่างนั้น นางวิสาขาบอกว่า นัดดาหญิงคนขยันถึงแก่ความตายไป คือหลานสาวที่น่ารัก เอางานเอาการช่วยเหลือคุณย่า ในเรื่องการทำบุญสุนทร์ทานมาก แล้วก็มาถึงแก่กรรมก็มีความเสียดาย พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ถ้าคนในเมืองสาวัตถี เป็นหลานของเธอทั้งหมดเธอมิต้องร้องให้วันละยี่สิบสี่ชั่วโมง หรือถามอย่างนั้น พอถามอย่างนั้นนางวิสาขาก็เป็นคนมีปัญญา คิดขึ้นมาได้เลยเช็ดน้ำตาแล้วก็ไม่ร้องต่อไป เพราะคิดว่าคนเมืองสาวัตถึนี้มันตายกันทุกวัน ไม่ใช่ตายแต่หลานเรา คนอื่นเขาก็ตายเหมือนกัน มันเป็นเรื่องธรรมดา

พระสารีบุตร ปรินิพพานพระอานนท์ก็ร้องเหมือนกัน เพราะพระอานนท์ยังไม่เป็นพระอริยบุคคล ร้องให้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ก็ถามว่า อานนท์ ทำไมเธอจึงร้องไห้ พระอานนท์บอกว่า เสียใจ ที่พระสารีบุตรนิพพานไป พระองค์ก็ถามว่า พระสารีบุตรนิพพานนี่ พาเอาธรรมขันธ์ไปด้วยหรือเปล่า พระอานนท์บอกว่า ไม่ได้เอาไป ก็ไม่ได้เอาธรรมะไปแล้วเธอจะเสียใจอะไร เพราะร่างกายนี้มันเป็นของไม่เที่ยง เกิดจากเครื่องปรุงแต่ง เราได้บอกเธอทั้งหลายบ่อยๆ ไม่ใช่หรือว่า ว่าสิ่งทั้งหลายมีเกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องมีความแตกความดับเป็นธรรมดา อะไรที่เกิดดแล้วไม่แตกไม่ดับนั้นจะหาได้ที่ไหน เมื่อได้ฟังคำปลอบโยนอย่างนั้น ท่านพระอานนท์ก็เลยหายเศร้าโศรก ที่หายเศร้าโศรกนั้นเพราะอะไร เพราะมองเห็นสัจจะธรรม เห็นธรรมะเห็นความจริงว่า สิ่งทั้งหลายมันก็เป็นอย่างนั้น เลยคลายจากความทุกข์ความเดือดร้อนใตในชีวิตของเราแต่ละคนนี้ก็เหมือนกัน เตรียมตัวไว้เถอะว่า เราจะต้องประสพปัญหามากมาย เรามีคุณปู่ คุณปู่ก็ต้องตายไป คุณย่าก็จะต้องตายไป แล้วก็จะถึงวาระของเราบ้าง เรานี่ก็ต้องไปเหมือนกัน ตามเส้นทางที่คนทั้งหลายได้เดินไปแล้ว หลีกหนีไม่พ้นเรื่องอย่างนี้นึกได้เดินไปแล้ว หลีกหนีไม่พ้นเรื่องอย่างนี้นึกได้อย่างนี้ใจก็สบาย พอจะคลายความทุกข์ความเศร้าใจ

ทำไม คนเราจึงเสียดายคนที่ตายไป ไม่ใช่เสียดายเรื่องคนตาย แต่ว่าเราเสียดาย ความงามความดีนั่นเอง เพราะว่าคนนั้นเป็นผู้มีความดี เรารักความดีเราเสียดายความดี เราอยากจะให้ความดีอยู่ต่อไป แต่ถ้าเรามานึกถึงว่าความดีนั้นไม่ได้ตาย ตายแต่คนที่ใช้ความดี เมื่อคนนั้นตายไปความดีก็ไม่ได้ตาย เราจะไปเสียใจอะไร เพราะร่างกายนี้เป็นของประสม เป็นของปรุงแต่ง ที่พระท่านเรียกว่า "สังขาร" เราสวดมนต์ตอนท้ายว่า สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา สังขารคือร่างกายจิตใจ รูปธรรม นามธรรมทั้งหมดทั้งสิ้น มันไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วดัลไปเป็นธรรมดา เราว่ากันบ่อยๆ อย่าเพียงแต่ว่าเฉยๆ ต้องเอามาคิดนึกตรึกเตือนจิตสะกิดใจไว้บ่อยๆ เพื่อให้เกิดปัญญา แล้วเมื่อมีอะไรเกิดขึ้นในชีวิตของเรา เราจะได้ปลงตกได้ว่า เรื่องธรรมดาเกิดขึ้นแล้วแก่เรา เราหนีจากสิ่งนี้ไปไม่พ้น จะไปนั่งกลุ้มอกกลุ้มใจเรื่องอะไร เศร้าโศรกเสียใจทำไม ควรจะคิดทำอะไรๆที่เป็นประโยชน์ต่อไป เช่นคุณพ่อคุณแม่เราถึงแก่กรรมไป เราก็คิดว่าควรจะทำอะไรเป็นเครื่องสนองบุญคุณของท่านทั้งสองนั้น อันจะเป็นประโยชน์เป็นความสุขต่อไป หรือว่าเราควรจะรับสิ่งใดของท่านไว้ สิ่งที่ควรจะรับไว้ก็คือคุณธรรมความงามความดีทั้งหลาย ที่ท่านได้ทำให้เราเห็น เช่น คุณแม่จากเราไป เราก็นึกว่า คุณแม่ท่านมีอะไรดีบ้าง เราเอาความดีทั้งหมดนั้นมาใส่ไว้ในตัวของเรา รักษาไว้ในจิตใจของเรา เรียกว่า เชิญวิญญาณของท่านมาใส่ไว้ในใจของเรา รักษาไว้ถ่ายทอดไปถึงลูกเราหลานเราต่อไป ให้อยู่ในทางนี้เป็นทางดีทางชอบ เป็นทางที่ผู้ใหญ่เดินมาแล้ว ปลอดภัยมีความสุขความก้าวหน้า ในชีวิตในการงาน เราสอนลูกสอนหลานต่อไปอย่างนี้ ตระกูลของเราก็จะตั้งมั่นต่อไปไม่หวั่นไหว ไม่ง่อนแง่นโยกโคลง อันนี้เป็นเรื่องที่เราควรคิดอย่างนั้น คือคิดให้เห็นว่าธรรมดาเหลือเกิน เรื่องเกิด เรื่องแก่ เรื่องตาย เรื่องเจ็บ เรื่องอะไรทั้งหลายนี้ เป็นเรื่องธรรมด๊า ธรรมดา ที่จะต้องมีเกิด ต้องมีแก่ด้วยกันทั้งนั้น นี่ประการหนึ่ง

 | หน้าถัดไป >>

» มองทุกให้เห็นจึงเป็นสุข

» ทุกข์ซ้อนทุกข์

» ไม่มีอะไรได้ดังใจเหมือนม้ากาบกล้วย

» วันนี้เจ้าอยู่กับฉันพรุ่งนี้มันไม่แน่

» มันเป็นเช่นนั้นเอง

» ศีลธรรมและสัจจธรรม

» แหล่งเกิดความทุกข์

» องค์สามของความดี

» หลักใจ

» ทำดีเสียก่อนตาย

» ตามรอยพุทธบาท

» ฐานของชีวิต

» ความพอใจเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง

» ชั่งหัวมัน

» อนัตตาพาสุขใจ

» ฤกษ์ยามที่ดี

» อดีต ปัจจุบัน อนาคต

» วิธีการสอนของพระพุทธเจ้า

» สำนึกสร้างปัญญา

» สอนลูกให้ถูกวิธี

» ปฏิวัติภายนอกกับภายใน

» ร้อนกายไม่ร้อนใจ

» อย่าโง่กันนักเลย

» การทำศพแบบประหยัด

» คนดีที่โลกนับถือ

» ความจริงอันประเสริฐ

» เสรีต้องมีธรรม

» ทาน-บริจาค

» เกียรติคุณของพระธรรม

» เกียรติคุณของพระธรรม (2)

» พักกาย พักใจ

» เกิดดับ

» การพึ่งธรรม

» อยู่ด้วยความพอใจไม่มีทุกข์

» มรดกธรรม

» ฝึกสติปัญญาปัญหาไม่มี

» ทำให้ถูกธรรม

» วางไม่เป็นเย็นไม่ได้

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย