ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

หอพระไตร


ธรรมบรรยายของ หลวงพ่อปัญญา

ปาฐกถาธรรม เรื่อง ตามรอยพุทธบาท

วันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม 2517

ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย

ณ บัดนี้ถึงเวลาฟังธรรมะปาฐกถา อันเป็นหลักคำสอนในทางพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟัง ตามสมควรแก่เวลา

เมื่อวันอาทิตย์ก่อนได้พูดไว้ในเรื่องเกี่ยวกับ การเข้าถึงธรรมะ อันเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับชีวิต แล้วก็ได้พูดทิ้งท้ายไว้ในตอนท้ายเกี่ยวกับเรื่องเข้าถึงด้วยการถือศีล คือการการปฎิบัติในขั้นศีล เป็นการฝึกกาย วาจา ให้พ้นจากโทษหยาบๆ เช่นพ้นไปจากการฆ่า การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม การพูดคำหยาบ คำเหลวไหล คำโกหก ตลอดจนถึงการทำลายสติปัญญา ของตัวเองให้เสื่อมลงไป เพราะการเสพของมึนเมา อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ได้ทิ้งไว้เพียงตอนนั้น

วันนี้นจะได้พูดตอนต่อไปว่า เราจะเข้าถึงธรรมด้วยการปฎิบัติที่สูงไปกว่านั้นได้อย่างไร? ในแนวทางที่พระผู้มีพระภาคเจ้าบัญญัติไว้ให้เราทั้งหลายเดินตามพระองค์นั้น ก็คือเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าสอนกับชาวบ้านทั่วไป ก็มักขึ้นต้นด้วยทาน ศีล ภาวนา ถ้าสอนพระก็พูดเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา อันเป็นข้อปฎิบัติตามลำดับ ที่เราปฎิบัติแล้ว จะได้ถึงพระพุทธเจ้าที่เป็นธรรมะ อันเป็นเหตุให้สงบทางใจ ไม่มีความทุข์ความเดือดร้อนประจำวันต่อไป เราจึงควรจะได้เดินตามเส้นทาง ที่พระผู้มีพระภาคชี้ให้เราเดิน พูดว่าเดินตามรอยพระพุทธบาท

รอยพระพุทธบาทที่แท้ก็คือรอยธรรมะนั่นเอง ไม่ใช่รอยหินที่เราไปไหว้กันทุกปี เวลามีงานที่สระบุรี รอยนั้นเป็น รอยภายนอก ไม่ใช่รอยภายใน เป็นรอยที่เราสัมผัสด้วยตาเนื้อ ไม่ใช่รอยที่สัมผัสด้วยตาใจ การเห็นรอยพระพุทธบาท ถ้าเห็นในรูปที่จิตใจยังเป็นเด็ก ก็ไม่ก้าวหน้าในการปฎิบัติธรรมะ นอกจากไปคุยกับใครๆ ว่า ฉันไปไหว้มาแล้ว สมัยโบราณเขาถือว่าไปไหว้พระบาท 7 ครั้งไม่ตกนรก เขาว่ากันไว้อย่างนั้น คนก็พยายามไปไหว้กัน เดี๋ยวนี้ไปไหว้สัก 700 ครั้ง ก็ได้ เพราะการเดินทางสะดวก แต่ไหว้ถึง 700 ครั้งก็อาจจะยังตกอยู่ เพราะเราไหว้แต่รอยหิน ไม่ได้เข้าถึงรอยแท้ของพระพุทธเจ้า

รอยแท้รอยจริงของพระพุทธองค์นั้นอยู่ที่ข้อปฏิบัติ ซึ่งเราเรียกว่าพระธรรมนั่นเอง พระธรรมเป็นรอยที่พระองค์ชี้ไว้ให้เราเดิน ถ้าเราเดินไปตามรอยนั้น เราก็จะพบพระพุทธเจ้าถ้าเดินผิดทางก็ไม่พบพระพุทธเจ้า ถ้าเดินถูกทางก็จะพบองค์พุทธะ อันเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เพราะฉะนั้นเมื่อเราจะลงมือเดิน ก็ต้องศึกษาทางที่เราเดินเสียก่อน เพื่อจะได้เดินถูกทาง ไม่ใช่เดินแบบสุ่มสี่สุ่มห้า เสียเวลาไปตั้งเยอะแยะแล้ว จึงจะได้เข้าทาง บางทีเดินไปจนแก่จึงได้เข้าทางถูก อย่างนี้ก็นับว่าเสียดายชีวิต แต่ถ้าเราศึกษาไว้แต่ เบื้องต้น ให้เข้าใจทางเดินให้ชัดเจนถูกต้อง เวลาลงมือเดิน ก็เข้าเส้นทางได้เลย แล้วเดินไปตามเส้นทางนั้นไม่หยุดยั้ง เราก็ถึงจุดคือพบองค์พระพุทธเจ้า

ที่เรียกว่าพบองค์พระพุทธเจ้านั้นก็คือ พบความสงบ ความสะอาด ความสว่างในใจ เมื่อใจเราสงบไม่วุ่นวาย ใจเราสะอาด ปราศจากสิ่งเศร้าหมอง ใจสว่าง ไม่มีความมืดบอด ก็เรียกว่าเราถึงจุดที่เราต้องการ ผู้ที่มีจิตสะอาด สว่าง สงบนั้น ย่อมรู้อะไรๆ ชัดตามสภาพเป็นจริง ไม่หลงไม่งมงายในเรื่องอะไรต่างๆ ถ้าจิตยังไม่ถึงจุดนั้น ก็อาจยังหลงอยู่บ้าง อาจประพฤติปฏิบัติอะไรในทางที่ผิดอยู่บ้าง

มีอยู่ไม่ใช่น้อย ที่มีคนเรียกตัวเองว่าพุทธบริษัท แต่ว่านั่งห่างไกลจากพระพุทธเจ้า เป็นบริษัทที่นั่งสุดกู่ก็ว่าได้ ไม่ขยับตัวเข้าไปใกล้พระพุทธเจ้าเสียเลย ชอบนั่งอยู่ห่างๆ สุดกู่ ตะโกนก็ไม่ค่อยจะได้ยิน พุทธบริษัทที่นั่งอยู่สุดกู่เสียงของพระพุทธเจ้านั้น ก็คือคนที่เป็นพุทธบริษัทเพียงแต่ขื่อ จิตใจไม่ได้เข้าถึงธรรมะ การปฏิบัติก็เข้าตรงตามเส้นทาง ที่พระผู้มีพระภาคชี้ไว้ให้เราเดิน เราก็เที่ยววิ่งวนอยู่ตลอดเวลา คล้ายกับมดที่วิ่งวนอยู่ตามขอบอ่างน้ำผึ้ง ไม่มีโอกาสจะได้ลิ้มรส เพราะเที่ยววนอยู่ตามขอบอ่าง ไม่ได้ตกลงไปในอ่างซึ่งเต็มไปด้วยรสหวาน

คนเราก็มีสภาพเช่นนั้นบางคน คือเที่ยววิ่งวนอยู่ตามขอบ ไม่ได้เข้าถึงแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา เลยไม่ได้รับรสของการปฏิบัติอย่างแท้จริง ในบางครั้งบางคราวอาจจะไปพูดว่า ฉันยังไม่ได้ประโยชน์จากพระศาสนา ไม่เห็นพระท่านช่วยอะไร ก็พระท่านจะมาช่วยอย่างไร เราจะเห็นผลศาสนาได้อย่างไร เมื่อเราปฏิบัติยังไม่เข้าเส้นทางที่ท่านชี้ไว้ให้เราเดิน ผลที่จะเกิดขึ้นแก่ตัวเรานั้น ไม่ใช่เป็นสิ่งที่คนอื่นจะประสิทธิ์ประสาทให้

ไม่ใช่จะมีใครมาบอกว่าจงเป็นสุข แล้วเราก็จะเป็นสุข จงมั่งคั่งแล้วเราจะมั่งมี จงปราศจากโรค แล้วเราจะปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ มันไม่ใช่เรื่องเช่นนั้น ไม่ใช่เรื่องความศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับไสยศาสตร์ ที่จะทำให้ใครเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่เป็นเรื่องที่ เราจะต้องลงมือด้วยตัวของเราเอง คือเราจะต้องปฏิบัติตามแนวทางที่พระองค์ชี้ไว้ให้เราเดิน

พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสไว้ชัดเจนในเรื่องนี้ บอกว่า "ตถาคตเป็นแต่เพียงผู้บอกทางให้ ส่วนการเดินทางนั้น เป็นหน้าที่ของเธอทั้งหลาย" พระองค์บ่งชัดไว้ในรูปอย่างนี้ บอกว่าการเดินทางเป็นหน้าที่ของเราเองพระองค์เป็นผู้ชี้ทางให้เดิน เหมือนตำรวจจราจรยืนอยู่ตามทาง 4 แยก คอยโบกไม้โบกมือให้รถไปทางนั้นทางนี้ ยืนชี้อยู่ตรงนั้นรถมันก็ผ่านไป ตำรวจเป็นแต่เพียงผู้ชี้ทางให้รถไปแต่ว่าตำรวจไม่ได้ไป คนขับรถนั่นแหละมีหน้าที่พารถไป ฉันใด ในเรื่องชีวิตจิตใจเรานี้ก็เหมือนกัน พระพุทธเจ้าท่านชี้ทางไว้ให้เราเดิน ก็เป็นหน้าที่ของเรา ที่จะขับรถคือร่างกายนี้ไป

ใจนั่นแหละเป็นผู้ขับรถ ร่างกายนี้เปรียบเหมือนกับรถเหมือนกัน มีล้อ 4 คือเท้าสองมือสอง แต่เราใช้เพียง 2 ล้อไม่ได้ใช้สี่ เว้นไว้แต่คนขี้เมาบางครั้งก็ใช้ 4 ล้อเหมือนกัน ที่ใช้อย่างนั้นมันผิดปกติ ถ้าคนปกติใช้ 2 ล้อกันทั้งนั้น เราก็ต้องขับไสล้อนี้ไปตามเส้นทาง ที่พระผู้มีพระภาคชี้ไว้ให้เราเดิน เราก็จะไปถึงจุดหมายปลายทางได้สมความตั้งใจ

ในการปฏิบัติกายวาจาใจของเรานั้น ในเรื่องศีลเป็นการปฏิบัติขั้นต้น เราจะพอใจอยู่เพียงเท่านั้นไม่ได้ เพราะยังไม่ก้าวหน้าเหมือนเด็กเรียนชั้นประถม แล้วก็จะเรียนอยู่อย่างนั้นตลอดไป จะมีความรู้เพิ่มเติมได้อย่างไร เราต้องมีการสอบเลื่อนชั้น เลื่อนให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ ขึ้นไปโดยลำดับ เช่นเรารักษาศีล 5 ศีล อยู่แล้ว เราก็ควรเลื่อนชั้น

ทางด้านจิตใจคือ กระทำการฝึกสมาธิ เพื่อทำใจให้มีความมั่นคง มีความสงบ แล้วก็มีความบริสุทธิ์ เหมาะที่จะใช้งานใช้การ คิดนึกอะไรๆ ต่อไป อันเป็นก้าวที่สอง ที่เราจะเดินก้าวไป ทำไมจะต้องมีการฝึกจิตด้วย? เพราะเรื่องในชีวิตของคนเรานั้น เรื่องใจเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ใจเป็นใหญ่เป็นประธาน การกระทำ การพูด การอะไรทุกอย่าง เกิดมาจากความคิดของเราทั้งนั้น ความคิดมันอยู่ที่ใจ ถ้าใจเศร้าหมองก็คิดขั่ว ถ้าคิดดีการพูดการทำก็ดี ถ้าคิดชั่วการพูดการกระทำก็ชั่ว ถ้าคิดดีการพูดการทำก็ดี ถ้าคิดชั่ว การพูด การกระทำก็ชั่ว แล้วก็เกิดผลประทับลงที่ใจ ของบุคคลนั้น ถ้าคิดดี ผลที่เกิดขึ้นก็เป็นรอยในทางดี ถ้าคิดชั่ว ผลที่เกิดขึ้นก็เป็นรอยร้าวลงไปในทางชั่ว

อะไรๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตมันติดอยู่ที่ใจของเราทั้งนั้น เป็นเรื่องหนีไม่พ้น เพราะฉะนั้น คนเราจะทำอะไร ก็ต้องมีใจเป็นผู้นำก่อน มีใจเป็นหัวหน้า อะไรๆ ก็สำเร็จมาจากใจของเราทั้งนั้น เรื่องของใจจึงเป็นเรื่องสำคัญของชีวิต แต่ว่าคนเราส่วนมาก มักจะไม่สนใจในเรื่องภายใน คือใจ สนใจแต่เรื่องภายนอก คือร่างกาย แสวงหาอะไรๆ ต่างๆ ให้กายเยอะแยะ แต่ว่าไม่ค่อยได้แสวงหาอะไรให้ใจ อาหารกายรับประทานกันด้วยราคาแพง อาหารใจไม่ต้องลงทุนซื้อหา แต่เราก็ไม่ค่อยมีโอกาสได้รับอาหารใจ

สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ใจนั้นลงทุนน้อย แต่สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่กายนั้น ลงทุนมาก เรามักจะลงทุนเป็นการใหญ่เพื่อร่างกาย ไม่ค่อยจะคิดลงทุนเพื่อใจ แม้เราจะสร้างวัตถุอะไรๆ ทางศาสนา ความจริงสิ่งที่เราสร้างนั้นก็เพื่อประโยชน์แก่การสร้างจิตใจ แต่ว่าสร้างแล้วก็ไม่ค่อยจะไปใช้ สร้างศาลาหลังใหญ่แล้วก็ไม่ไปใช้ สร้างโบสถ์แล้วก็ไม่ไปใช้ สร้างวัดก็ไม่ค่อยจะไปใช้ สนามม้าไม่ต้องสร้างก็ชอบไปใช้ โรงหนังไม่ต้องสร้างก็ไปใช้ อะไรอื่นที่มันเหลวไหลคนชอบไปใช้กันมาก แต่สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ทางจิตทางวิญญาณนั้นคนใช้น้อย เพราะคนใช้สิ่งที่เป็นประโยชน์ แก่จิตแก่วิญญาณน้อยนี่แหละ จึงได้เกิดปัญหา มีความวุ่นวายกันเต็มบ้านเต็มเมือง สร้างความทุกข์ ความเดือดร้อนให้เกิดขึ้นบ่อยๆ

โดยเฉพาะในเมืองไทยเราในสมัยนี้ จะพบว่าความวุ่นวายเกิดมากขึ้น นอนก็ไม่ค่อยจะเป็นสุข นั่งรถโดยสารไปไหนก็ไม่ค่อยจะเป็นสุข กลัวคนมันจะตีกันในรถ กลัวเขาจะเอาก้อนหินขว้างมาถูก โดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว สิ่งเหล่านี้เกิดจากอะไร เกิดจากความบกพร่องทางจิตใจ

คนเราในสมัยนี้เป็นโรคจิตทรามกันมาก เพราะไม่ค่อยจะได้กินยา อาการโรคจึงกำเริบสืบสาน มีอาการเรียกว่า แทรกซ้อนมากมาย เป็นเหตุให้ทำอะไรแปลกๆ มากขึ้นทุกวันทุกเวลา ความเจริญก้าวหน้าในทางด้านวัตถุ ที่มีมากขึ้นทุกวันเวลานั้น คล้ายๆ กับเป็นของแสลงแก่ใจคน ทำให้คนติดใจหลงมัวเมา เป็นการเพิ่มโรคทางจิตทางวิญญาณมากขึ้นทุกวันเวลา อนาคตของชีวิตมนุษย์เรานี้ กำลังเดินไปตามเส้นทางที่ลาดชัน แล้วจะจะตกลงไปในเหวลึกซึ่งมองไม่เห็นก้น แล้วไม่สามารถจะขึ้นจากเหวนั้นได้ เราก็จะได้รับความทุกข์ความเดือดร้อนตลอดไป

แต่ว่าไม่มีใครรู้ว่าสิ่งนั้นจะเกิดขึ้น เพราะว่าคนเราไม่คิดหาเหตุผลในเรื่องอันตนกระทำ ทำอะไรก็ทำตามอารมณ์ ทำไปตามอำนาจความอยากความปราถนาไม่ได้คิดว่า เมื่อเรทำอย่างนี้อะไรจะเกิดขึ้นแก่เรา อะไรจะเกิดขึ้นแก่ส่วนรวม อนาคตมันจะมีอะไร เราไม่ได้พิจารณา เมื่อไม่ได้พิจารณาในเรื่องอย่างนี้ ก็ทำไปด้วยความหลงใหลเข้าใจผิดโดยไม่รู้สึกตัว คล้ายๆ กับคนนั่งทำกรงของตัวเอง ชั้นแรกก็ทำเพียงกันของกรงนั้น สานขึ้นไปๆ แล้วโดยที่สุดตัวออกไม่ได้ เพราะติดอยู่ในกรงขังตัวเอง อันนี้เป็นฉันใด

ในชีวิตของคนเราส่วนมากเป็นเช่นนั้น สร้างสิ่งที่เป็นเครื่องกั้นขวางจิตใจของตน ไม่ให้เจริญงอกงามในด้านธรรม ไม่ให้ก้าวไปเพื่อความรู้แจ้งเห็นจริง ไม่ให้ก้าวไปเพื่อความหลุดพ้น จากความทุกข์ ความเดือดร้อนในชีวิตประจำวัน เพราะไปสร้างอะไรๆ กักขังตัวเองไว้ตลอดเวลา สิ่ง่ที่เราสร้างขึ้นมานั้นมันประกอบด้วยอะไร ประกอบด้วยรูปเสียง กลิ่นรส สัมผัสอันเป็นสิ่งที่น่าปรารถนาพึงอกพึงใจ แล้วประกอบขึ้นด้วยความอยากได้ อยากมี อยากเป็น ในสิ่งนั้นๆ จนไม่รู้ว่าเรามีกันเพื่ออะไร เราเป็นกันเพื่ออะไร เราได้สิ่งนั้นมาแล้วเราจะเป็นอะไร หรืออะไรมันจะเกิดแก่เราต่อไป เราไม่ได้คิดให้ละเอียดในเรื่องอย่างนั้น จิตใจจึงไหลไปตามอำนาจของสิ่งแวดล้อม

ตัวอย่างเห็นง่ายๆ เช่นว่า นักเรียนยกพวกไปตีกับใครๆ เราไม่ได้คิดว่าพวกเราไปทำถูกหรือทำผิด ไม่ได้คิดว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นมีอะไรเป็นมูลฐาน เราหรือเขาเป็นผู้สร้างเรื่องนั้นขึ้นมา แต่ว่าเพราะความรักพวกอย่างงมงาย รักโรงเรียนอย่างงมงาย พอมีเรื่องอะไรเกิดขึ้นก็ยกพวกเฮโลกันไปเลย แล้วก็ไปทุบไปตีกันหัวร้างข้างแตก ถูกจับไปโรงพักบ้าง เอาไปนอนอยู่โรงพยาบาลบ้าง เวลาไปถูกกักขังหรือไปเจ็บอยู่ที่โรงพยาบาลนั้น นึกได้ ว่าสิ่งที่ทำไปนี้มันไม่ดี แต่เมื่อนึกได้นั้นตัวนอนเจ็บอยูเสียแล้ว หรือไปอยู่ในกรงขังเสียแล้ว การนึกได้อย่างนั้น ไม่ช่วยให้เกิดอะไรขึ้นแก่คนนั้น เพราะว่าไปคิดได้ในภายหลัง คนโบราณเขาจึงสอนว่ากันไว้ดีกว่าแก้ จึงะนึกเสียก่อนที่จะไป

เช่นมีใครคนหนึ่งมาบอกว่าพวกเราถูกตี ก็ควรจะสอบถามกันให้ละเอียดว่า ถูกตีเพราะอะไร เราไปตีเขาก่อนหรือว่าเขามาตีเราก่อน ถ้าศึกษาละเอียดอย่างนั้นก็จะเกิดความสงบเย็นขึ้นในใจ แล้วไม่ทำอะไร ด้วยอารมณ์หุนหันพลันแล่น คนเราส่วนมากมันขาดตรงนี้ คือขาดการใคร่ควรพิจราณาเหตุผลในเรื่องอะไรๆ พระท่านจึงสอนไว้ว่า "นิสมฺม กรณํ เสยฺโย ใคร่ครวญก่อน แล้วจึงทำดีกว่า" การกระทำอะไรด้วยความผลุนผลัน ก็ชนกันแหลกไปเลย เดินผลุนผลันก็ล้มลงไปก็ได้ กินอะไรผลุนผลันก้างติดคอก็ได้ เรื่องผลุนผลันไม่ดีทั้งนั้น แต่การทำอะไรด้วยการพินิจพิจารณาดี

เพราะฉะนั้น ท่านจึงสอนให้ฝึกการควบคุมตัวเอง จะเดินก็ให้รู้ จะนั่งก็ให้รู้ จะนอนก็ให้รู้ จะลุกขึ้นก็ให้รู้ จะเหยียดแขน เหยียดมือ หันหน้าไปขวา ไปซ้าย ก้าวไป ถอยกลับ ท่านบอกให้คอยกำหนดทั้งนั้น การกำหนดเช่นนั้น เป็นการกระทำที่ไม่ผิดพลาด เพราะทำอะไรด้วยการควบคุมอยู่ตลอดเวลา อะไรๆ ที่มีการควบคุมนั้น มักจะไม่เสีย แต่ถ้าขาดการควบคุมเมื่อใดแล้วก็เกิดเรื่องเมื่อนั้น

ทีนี้คนเราทำไมจึงไม่ค่อยจะได้ควบคุมตัวเอง? การควบคุมตัวเองนั้นมันหนักเหนื่อยในชั้นต้น ความจริงสบายปลายมือ แต่ว่าคนเราขาดความอดทน จึงไม่สามารถจะควบคุมตัวเองไว้ได้ เรามีแต่เรื่องการตามใจตัวเอง การปล่อยไปตามอารมณ์ ปล่อยไปตามอำนาจของสิ่งแวดล้อม แต่ไม่เคยกำหราบปราบปรามตัวเอง จึงยากแก่การที่จะควบคุมตัวเอง แต่ถ้าหากว่าเราคุมบ่อยๆ ประพฤตินิสัยสิ่งใดที่ทำจนเป็นปกติ มันก็เป็นศีลสำหรับบุคคลนั้น

เพราะศีลนั้นเขาแปลว่าปกติก็ได้ เช่นว่าเราตื่นเช้าเป็นปกติ ก็เรียกว่ามีศีลของคนตื่นเช้า เราทำอะไรๆ เป็นปกติ ก็เรียกว่ามีศีลในรูปนั้น เราสบาย ถ้าจะกลับไปทำอะไรที่ไม่เหมือนเช่นนั้นเสียอีกก็ลำบาก เช่นเราจะไปเกียจคร้านก็รู้สึกลำบาก สำหรับที่เราขยันจนเคยแล้ว เราบังคับตัวเองเสียจนชินแล้ว ถ้าเราจะไปทำอะไรตามแบบใจตัวเองมันก็ยาก ไม่สามารถจะกระทำได้ สภาพจิตใจอยู่ในสภาพสูงส่ง ไม่มีอะไรที่จะกระทำให้แปดเปื้อน เหมือนดอกบัวที่โผล่พ้นน้ำ น้ำไม่เปื้อน โคลนก็ไม่เปื้อน ดอกบัวสะอาดอยู่ตลอดเวลาฉันใด ใจที่สูงส่งก็ย่อมจะสะอาดอยู่ฉันนั้น

ความสุขความทุกข์ในชีวิตประจำวันของคนเรานั้น ขอให้เราเชื่อมั่นไว้อย่างหนึ่งว่า ขึ้นอยู่กับการคิดของเราเอง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอะไรๆ ภายนอก คนที่มีความเชื่อว่า ความสุข ความทุกข์เนื่องจากสิ่งภายนอกนั้น เป็นความเชื่อที่ไม่ตรงกับหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนา เมื่อมีความเชื่อในรูปอย่างนั้น เราก็มักจะทำอะไรในรูปที่งมงาย ไม่ใช่เป็นการแก้ไขที่ถูกต้อง แต่เป็นการกระทำในรูปที่หลงใหลเข้าใจผิดตลอดไป ผู้กระทำก็ทำผิด ผู้ให้กระทำก็ผิดเหมือนกัน เรียกว่า สมรู้ร่วมคิดกัน สร้างความงมงายให้เกิดขึ้นในสังคม สมรู้ร่วมคิดกันทำควมผิดพลาดให้เกิดขึ้น จนคนไม่มองภายใน แต่ไปมองจากสิ่งภายนอกตลอดเวลา การแก้ไขปัญหาก็ไม่ถูกเป้าหมาย แล้วจะพ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อนได้อย่างไร

 | หน้าถัดไป >>

» มองทุกให้เห็นจึงเป็นสุข

» ทุกข์ซ้อนทุกข์

» ไม่มีอะไรได้ดังใจเหมือนม้ากาบกล้วย

» วันนี้เจ้าอยู่กับฉันพรุ่งนี้มันไม่แน่

» มันเป็นเช่นนั้นเอง

» ศีลธรรมและสัจจธรรม

» แหล่งเกิดความทุกข์

» องค์สามของความดี

» หลักใจ

» ทำดีเสียก่อนตาย

» ตามรอยพุทธบาท

» ฐานของชีวิต

» ความพอใจเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง

» ชั่งหัวมัน

» อนัตตาพาสุขใจ

» ฤกษ์ยามที่ดี

» อดีต ปัจจุบัน อนาคต

» วิธีการสอนของพระพุทธเจ้า

» สำนึกสร้างปัญญา

» สอนลูกให้ถูกวิธี

» ปฏิวัติภายนอกกับภายใน

» ร้อนกายไม่ร้อนใจ

» อย่าโง่กันนักเลย

» การทำศพแบบประหยัด

» คนดีที่โลกนับถือ

» ความจริงอันประเสริฐ

» เสรีต้องมีธรรม

» ทาน-บริจาค

» เกียรติคุณของพระธรรม

» เกียรติคุณของพระธรรม (2)

» พักกาย พักใจ

» เกิดดับ

» การพึ่งธรรม

» อยู่ด้วยความพอใจไม่มีทุกข์

» มรดกธรรม

» ฝึกสติปัญญาปัญหาไม่มี

» ทำให้ถูกธรรม

» วางไม่เป็นเย็นไม่ได้

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย