ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
เรื่อง สอนลูกให้ถูกวิธี
วันอาทิตย์ที่ 3 เมษายน 2520
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย
ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะ
อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการอันสงบ
ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์จากการฟังตามสมควรแก่เวลา.
ฤดูนี้เป็นหน้าร้อน เดือนเมษายนขึ้นมาได้สามวัน โรงเรียนที่เด็กๆ
เคยเรียนหนังสือก็ปิดภาคเรียนไปตามๆ กัน พวกเด็กซึ่งไม่ได้ไปโรงเรียน
อาจจะไปเที่ยวเล่นสนุกๆ ไปจนลืมตัว จึงเป็นหน้าที่ของผู้ปกครองคือพ่อแม่
จะต้องเอาใจใส่ดูแลในเรื่องนี้เป็นพิเศษ ในสมัยปิดภาคเรียน
ตามปกติเด็กไปโรงเรียน เพราะว่ามีงานต้องทำตลอดเวลา
กลับมาจากโรงเรียนก็มีการบ้านต้องศึกษา
แต่เมื่อปิดภาคปลายนี้มันนานเหลือเกิน เด็กก็นึกว่าตอนนี้ก็สบายกันเสียที
จะได้เที่ยวได้เล่นได้สนุกไปตามประสาของเด็กๆ เขาเป็นคนว่าง
ในเรื่องว่างงานนี้แหละทำให้คนเสียคนได้ง่าย
ถ้ามีงานทำเป็นประจำอยู่แล้วไม่ค่อยจะเสีย แม้ผู้ใหญ่นี้ก็เหมือนกัน
ถ้ามีงานทำก็ไม่ค่อยจะเสียหาย ถ้าไม่ทำอะไรอาจจะเสียคนได้ง่าย
เว้นไว้แต่ผู้ที่มีธรรมะในจิตใจ พอจะประคับประคองตน
ให้ไปในทางที่ถูกต้องได้ แต่ว่าเด็กๆ นั้น
เขายังไม่ประสีประสาในเรื่องชีวิต ยังไม่รู้จักชีวิตถูกต้อง
ยังไม่รู้จักอะไรเป็นอะไร เป็นทุกข์เป็นโทษ
อะไรจะเป็นประโยชน์แก่ชีวิตของเขา เขายังไม่เคยคิดถึงปัญหาชีวิตของเขาเอง
ว่าเขาเกิดมาทำไม เขามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร
สิ่งที่ดีที่สุดที่จะพึงปฏิบัติในชีวิตประจำวันคืออะไร
เขาไม่รู้ไม่เข้าใจในเรื่องอย่างนี้ เขาชอบแต่เรื่องสนุกๆ
ชอบเล่นชอบเที่ยวไปตามประสา
ถ้าไม่มีใครคอยแนะแนวทางชีวิตให้แก่เขา
เขาก็อาจจะถลำไปในทางที่เสียผู้เสียคนได้ง่าย คล้ายกับเรือที่ไม่มีหางเสือ
รถที่ไม่มีพวงมาลัย มันออาจจะลงไปในสิ่งที่เสียหายได้ง่าย
จึงเป็นหน้าที่ของมารดาผู้ปกครองของเด็ก
อย่านึกว่าลูกไม่ไปโรงเรียนก็ปล่อยไปตามเรื่อง
ปล่อยตามเรื่องนั่นแหละจะเสียเรื่อง
แต่ว่าเราควรจะได้มีความระมัดระวังเป็นพิเศษ ให้ระมัดระวังไว้ว่า
เวลานี้ลูกเราไม่มีอะไรจะทำ เขาอาจจะไปเที่ยวกับใครที่ไหนเมื่อไรก็ได้
เพราะเด็กมันอยู่ว่างๆ เพื่อนฝูงมิตรสหายอาจจะชวนไปเที่ยว
ไปเล่นไปสนุกในเรื่องประการต่างๆ
ก็เรื่องเที่ยวเรื่องสนุกนั้น มันเป็นมารอยู่เหมือนกัน
ที่จะยั่วคนไห้ตกไปอยู่ในหลุมของมันได้ง่าย
อาจจะเสียคนได้ง่ายมาแล้วไม่ใช่น้อย มารดาบิดาต้องนั่งเอาน้ำตาไปชุบหัวเข่า
นั่นก็เพราะการปล่อยมากเกินไป นี้ก็เพราะว่า รักลูกนั่นเองรักมากเกินไป
รักจนไม่กล้าแตะต้องไม่กล้าสั่งสอน ไม่กล้าแนะนำ กลัวลูกจะช้ำใจ
ความรักแบบนี้ ถนอมเกินไปก็เสียหาย ความรักที่ถูกต้อง
ไม่ใช่เรื่องของการถนอมอย่างนั้น แต่เป็นเรื่องที่เราจะต้องคอยดูแลเอาใจใส่
มารดาจะต้องมีหน้าที่พูดอยู่ตลอดเวลา เขาเรียกว่าเข้าไปเพ่ง
หมายความว่าจะต้องดูอยู่ตลอดเวลา ว่าเด็กของเรานี้ มีความประพฤติอย่างไร
มีการกระทำอย่างไร คบหาสมาคมกับใคร เขามีอะไรเกิดขึ้นในวิถีชีวิตของเขาบ้าง
เป็นเรื่องที่จะต้องคอยสังเกตอยู่ตลอดเวลา เพื่อดูว่ามันมีอะไรเปลี่ยนแปลง
ความเปลี่ยนแปลงของเด็กๆ นั้นมักจะเปลี่ยนแปลงไปในทางเสีย
ที่จะเปลี่ยนแปลงไปในทางดีนั้นน้อย ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
ก็เพราะความสำนึกในเด็กนั้นไม่ค่อยมี เรื่องความสำนึกนี้
มีได้ในบุคคลที่มีจิตใจรู้สึกรับผิดชอบ แต่ว่าเด็กๆ
นั้นยังขาดความรู้สึกรับผิดชอบ เพราะฉะนั้นความสำนึกในเรื่องอะไรต่างๆ
จึงไม่ค่อยจะมี เขาทำอะไรก็ทำไปด้วยอำนาจความเพลิดเพลินในสิ่งนั้นๆ
แต่พึงจะคิดว่ามันผิดหรือถูก ดีหรือชั่ว
จะเป็นไปเพื่อความเสื่อมหรือความเจริญ เหลือวิสัยที่เด็กจะคิดได้
เพราะเขาไม่มีปัญญาที่จะคิดนึกในเรื่องอย่างนั้น
เพราะฉะนั้นความเปลี่ยนแปลงของเด็กทั่วไป จึงมักจะเปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อม
มากกว่าที่จะเปลี่ยนแปลงไปในเจริญ
เด็กๆ นั้นเหมือนกับต้นไม้ที่ดัดได้ สมมติว่าเราเล่นตะโก
ดัดต้นข่อยหรือต้นไม้ประเภทใดก็ตาม เราชอบดัดชอบแต่งเพื่อให้ได้รูปแปลกๆ
สวยๆ งามๆ คนที่จะดัดต้นไม้ได้นั้น ต้องคอยตัดคอยแต่งอยู่ตลอดเวลา
จนกว่ามันจะเข้ารูปเข้าทรง เพราะว่าเราต้องปล่อยได้ คือว่า
ลูกมันเป็นอยู่อย่างนั้น แล้วกิ่งมันแข็งอยู่ในสภาพอย่างนั้น
ไม่เปลี่ยนแปลง มีแต่คอยตัดใบมันพรุ่งพรัง
เพื่อให้อยู่ในสภาพที่น่าดูเท่านั้น ฉันใด
เรื่องของลูกเต้าเรานี้ก็เหมือนกัน เป็นเรื่องที่เราจะต้องคอยดัด
คอยแต่งอยู่ตลอดเวลา เผลอไม่ค่อยได้ เผลอแล้วมันก็จะกลับไปอยู่ในสภาพเดิม
ถ้าไม่ดัดแล้วมันจะไป ทีนี้ถ้ากลับไปแล้วเราไม่ดึงกลับมา มันก็ไปกันใหญ่
อะไรๆ ที่คนทำบ่อยๆ เป็นการสร้างนิสัย นิสัยของคนเรานั้นเกิดจากการคิดบ่อยๆ
พูดบ่อยๆ ทำบ่อยๆ ถ้าเราคิดในเรื่องใดมาก พูดในเรื่องใดมาก
นิสัยอย่างนั้นก็เกิดขึ้นในใจของเรา
คนเราไม่ได้มีนิสัยสันดานเสียหายมาตั้งแต่เกิด เมื่ออกมาจากท้องแม่ใหม่ๆ
นั้นยังไม่เสียหายอะไร ยังไม่ได้เป็นอันธพาล ยังไม่เป็นคนดื้อด้าน
หรือยังไม่เป็นอะไรทั้งนั้นแหละ มันเป็นอยู่ตามสภาพธรรมชาติของชีวิตนั้น
มีความต้องการในที่เรื่องที่จำเป็นเท่านั้น เช่นต้องการนม
อาหารเพื่อรับประทาน ต้องการพักผ่อน
ต้องการถ่ายสิ่งที่ไม่กินไม่ใช้แล้วออกจากร่างกาย หลับนอนตามปรกติ
อันนี้เป็นสภาพของธรรมชาติ เป็นเรื่องของเรื่องร่างกายแท้ๆ
จิตใจนั้นไม่มีอะไรวุ่นวาย ไม่อะไรที่จะเสียหาย เช่นให้เราสังเกตเด็กน้อยๆ
เขาจะทำอะไรก็ทำไปตามธรรมชาติ เขานึกจะเบา เขาก็ฉี่ออกมาเฉยๆ
เขาไม่ได้คิดว่าควรหรือไม่ควร จิตเขายังไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร
ความรู้สึกยังไม่มีรุนแรง
แต่ว่าเด็กบางคน อาจจะดื้อด้านเกิดขึ้นในใจ โมโหโทโส ดังที่เราเรียกกัน
อันนี้ไม่ใช่ของเดิมของเด็ก แต่ว่าเป็นความผิดพลาดของผู้ใหญ่
ที่ทำอะไรกับเด็กให้เกิดนิสัยอย่างนั้นขึ้นมา ให้เกิดอะไรๆ
ขึ้นในรูปอย่างนั้น เดิมเขาไม่มีอาการเช่นนั้นหรอก
แต่ว่าเราทำอะไรไม่ถูกเรื่อง เพราะไม่เข้าใจธรรมชาติของเด็กถูกต้อง
แล้วก็ไปฝืนอะไรที่ไม่ควรฝืนบ้าง เลยทำให้เด็กมันเปลี่ยนไปในทางเสีย
เช่นเป็นเด็กที่เกเรอะไรอย่างงนี้แหละ
เราเพาะให้เขาทั้งนั้นโดยไม่รู้สึกตัว
การเพาะสิ่งไม่ดีให้เกิดขึ้นในจิตใจแก่เด็ก โดยไม่รู้สึกตัวนี้แหละ
เป็นเรื่องที่ทำกันบ่อย ทำกันโดยไม่รู้ว่า เรากำลังจะทำลายลูกหลานของเรา
ให้เสียผู้เสียคน แล้วผลสุดมันก็เสียคนไป เราจะไปโทษเด็กไม่ได้
แต่ว่าควรโทษผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นผู้มีส่วนสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับเด็กเหล่านั้น
ว่าได้กระทำอะไร ในทางที่เสริมสิ่งไม่ดีไม่งาม ให้แก่จิตใจของเด็ก
การแก้ก็ต้องแก้ที่คนผู้เลี้ยงดูด้วย แล้วก็แก่เด็กกันต่อไป
ถ้าไม่แก้ที่ผู้ใหญ่ก็จะแก้ยาก
เพราะว่าต้นตออยู่ที่ผู้ใหญ่ไม่ใช่อยู่ที่เรื่องของเด็ก
เด็กมันรับจากผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ให้เด็กโดยตั้งใจบ้าง โดยไม่ตั้งใจบ้าง
เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เลี้ยงเด็กไม่ได้ศึกษาเรื่องของเด็ก
คือไม่ได้สนใจศึกษาธรรมชาติของเด็ก ความต้องการของเด็ก ว่ามันต้องการอะไร
เวลาใด และสิ่งนั้นจำเป็นแก่เด็กอย่างไร เราไม่เข้าใจ
บางทีเราอาจจะเอาแต่ใจตัว ทำอะไรตามใจตัวใจปรารถนา
แต่ขัดขืนความรู้สึกของเด็กมากเกินไป เด็กก็เกิดการขัดคอเรา
ทีนี้เกิดการขัดกันบ่อยๆ เราก็หาว่าเด็กมันดื้อ
เพราะว่าไม่ทำตามที่เราต้องการ แต่ว่าความดื้อของเด็กนั้น
เกิดจากการที่ทำให้เขาดื้อ เพราะเราไม่ขัดคอเขาในสิ่งที่ควรจะขัดคอ
อันนี้ทำให้เด็กเสียนิสัย กลายเป็นคนดื้อไป ดื้อหนักเข้าๆ เราก็หาว่า
มันดื้อเหลือเกิน เกเรอย่างนั้นอย่างนี้
แต่เราไม่ได้ศึกษาสิ่งนั้นมาจากอะไร อันนี้เป็นเรื่องที่เกิดความเสื่อม
แก่จิตใจของเด็กอยู่ไม่ใช่น้อย
เพราะฉะนั้น เราก็ต้องคอยสังเกตศึกษา
เลี้ยงลูกคนแรกนี้ถือว่าเป็นการเรียนชั้นอนุบาล
เลี้ยงลูกคนที่สองนี้เรียกว่าชั้นประถม
ลูกคนที่สามนี้ควรจะเป็นชั้นมัธยมศึกษา ถ้าถึงสี่คนก็เรียกว่า ชั้นอุดมแล้ว
เราเรียนรู้อะไร มีประสบการณ์ มีความชำนาญที่จะดูเขาได้ตามสมควร
ก็จะเป็นสิ่งที่เรียกว่าไม่เสียหาย
ทีนี้มารดาบิดาคนใดมีประสบการณ์ ควรจะเอาไปเปิดเผยให้คนอื่นรู้บ้าง
ความจริงควรจะมีการสัมมนาบ้างเหมือนกัน สัมนาคุณพ่อคุณแม่
ไม่เห็นใครจัดเรื่องนี้ขึ้น สมัยหนึ่งเขามีวันแม่
แต่ว่าเป็นวันที่ลูกไปเคารพแม่ เพื่อเรียกร้องความกตัญญูกตเวที
อันนี้มันก็ดีอยู่เหมือนกัน แต่จะให้ดีกว่านั้น ควรจะเป็นวันของบิดามารดา
ที่จะมาสัมมนากันปรึกษาหารือกัน ในเรื่องปัญหาเกี่ยวกับเด็กๆ
ว่าเราจะทำอย่างไรกับเด็กของเรา ใครมีปัญหาอะไรบ้าง
แล้วแก้ปัญหานั้นโดยวิธีใด แก้แล้วได้ผลอย่างไร
ควรจะนำประสบการณ์เหล่านั้นมาสนทนากัน มาแลกเปลี่ยนกัน
ให้คนที่ไม่รู้ได้เกิดความรู้ความเข้าใจ
แล้วจะได้เอาไปใช้ในวิธีการแก้ไขลูกเต้าต่อไป
อันนี้เป็นเรื่องที่มีประโยชน์
แต่ว่ายังไม่มีใครจัดทำเรื่องนี้ขึ้น มีแต่เรื่องสัมมนาครูอาจารย์
สัมมนานักปกครอง สัมมนาหมอ อะไรต่ออะไร สัมมนากันอยู่บ่อยๆ
แต่ว่าไม่มีการสัมมนามารดาบิดา เพื่อให้มาแสดงความคิดเห็น
ประสบการณ์ที่ผ่านมาของการเลี้ยงลูก แม้คนที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่แล้ว
ก็ควรจะเชิญให้มาให้ความคิดความเห็นได้
เพราะคนบางคนเป็นพ่อที่ดีเป็นแม่ที่ดี เลี้ยงลูกดีมาก
เจริญเติบโตด้วยคุณความดี เด็กเหล่านั้นก็ก้าวหน้าไปในทางที่ถูกที่ชอบ
ผู้ใหญ่ในสมัยก่อนนั้น เขาฉลาดในทางที่จะอบรม บางทีลูกจะเสียคน
แต่เขาทำแบบบัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น เรียกว่าประท้วงแบบละมุนละมัย
ไม่ให้ช้ำอกช้ำใจของผู้ที่ถูกประท้วง
มีเรื่องเคยได้ยินเขาเล่าให้ฟัง ว่าคนผู้นี้ภายหลังได้เป็นผู้ใหญ่เหมือนกัน
มีบรรดาศักดิ์ถึงชั้นพระยา แกเล่าเรื่องชีวิตเด็กให้ฟังว่า
บ้านอยู่ใกล้ที่สนุกสนานหน่อย คล้ายๆ กับบ้านหม้อพาหุรัดอะไรอย่างนั้นแหละ
บ้านอยู่แถวนั้นทีนี้ก็มาลาคุณพ่อ คือคุณพ่อสั่งไว้ว่าไหนต้องลา ต้องบอก
ก็มาลาเป็นปกติ ลาคุณพ่อ ว่าจะไปเที่ยวสนุกที่นั่นที่นี่ พ่อก็ไม่ว่าอะไร
บอกว่าไปก็ได้ แต่ว่าเวลาจะกลับมาที่บ้านให้แวะไปที่วัดสักหน่อย
ให้ไปหาหลวงน้าองค์หนึ่ง เรียกว่ามีศักดิ์เป็นหลวงน้า
แล้วก็คุยอะไรกับท่านสักสองสามคำก็พอแล้ว แล้วก็กลับบ้าน
แล้วพ่อนั้นคงจะให้กติกาสัญญาอะไรไว้กับหลวงน้าแล้ว ว่าควรจะทำอะไรกัน
แผนการณ์เป็นอย่างไร เด็กลูกชายก็เชื่อคุณพ่อดี อันนี้เป็นพื้นฐานสำคัญ
เด็กที่เชื่อพ่อแม่มี่เป็นพื้นฐานสำคัญ ที่จะก้าวหน้าได้
ไม่เชื่อตัวเดียวแล้วก็เสียหายหมด เขาก็เชื่อฟัง
ไปเที่ยวไม่ประมาทไม่ถึงสองยาม ก็กลับแวะไปที่วัดหน่อย
หลวงน้านั้นก็ไม่ว่าอะไร ถามว่าไปไหนมาไม่ได้ดุได้ด่าให้ช้ำใจสักหน่อยหนึ่ง
แล้วก็กลับบ้าน แล้วก็บอกว่าได้แวะไปหาหลวงน้าแล้ว เออดีแล้ว
แล้ววันหลังไปเที่ยวก็แวะไปอีก แต่ว่าหลวงน้านี้ไปครั้งแรกยี่สิบเอ็ดนาฬิกา
หลวงน้าก็ยังนั่งอยู่ แต่พอไปครั้งหลังนี้หลวงหน้าแกนอนแล้ว
สองทุ่มครึ่งแกก็นอนแล้วเข้าห้องปิดประตูแล้ว
ก็ต้องไปเคาะเรียกให้หลวงน้าออกมา คุยกันหน่อยแล้วก็กลับบ้าน
หลวงน้าก็ออกมา เขาก็ไป ไปสองสามคืนก็ชักจะเกรงใจ บอกว่า
แหมเรานี่ไปรบกวนพระสงฆ์องค์เจ้าไม่ดีเลย ก็เลยเปลี่ยนใจ มาบอกกับพ่อว่า
ผมไม่เที่ยวแล้วหละ พ่อถามว่า ทำไมไม่อยากเที่ยว ไม่สนุกแล้วหรือ
เบื่อโลกแล้วหรือ ไม่มีอะไรน่าดูแล้วหรือ ไม่ใช่
มันยังสนุกยังเพลิดเพลินอยู่ แต่ว่าเกรงใจหลวงน้า ท่านนอนหัวค่ำ
ผมจะต้องไปปลุกทุกคืนรบกวนพระเจ้าพระสงฆ์ เลยผมงดไม่เที่ยวไม่เตร่แล้ว
เรียบร้อย เรียกว่าประท้วงแบบนุ่มนวล ใช้ไม้นุ่ม
ลูกชายก็เลยไม่เที่ยวไม่เตร่ อันนี้เขาเรียกว่า
มารดาบิดาใช้วิธีการที่แหลมคม ไม่ใช่ทำให้ช้ำอกช้ำใจ
อีกครอบครัวหนึ่ง มีลูกก็หลายคนเหมือนกัน เติบโตเป็นผู้หลักผู้ใหญ่
ค้าขายมีชื่อเสียง ลูกผู้หญิงก็มีเกียรติในสังคมอยู่
ลูกชายก็ชอบเที่ยวเหมือนกัน ชอบเที่ยวชอบเตร่กลับบ้านดึกดื่น
คุณแม่สังคมใช้ว่านอนเสียให้หมด พวกเธอไม่ต้องคอยเปิดประตูให้ลูกฉัน
ฉันจะเปิดประตูเอง ทีนี้ลูกมาตอนดึกกดกริ่งเรียกมา รถยนต์เปิดแตรปู๊ดปาดๆ
คุณแม่ก็เดินช้าๆ ไม่รีบร้อน มาถึงก็เปิดประตูแล้วก็ทักว่า อ้อ
ลูกแม่กลับมาแล้วหรือจ้ะ ไม่ดุไปไม่ด่าไม่พูดคำหยาบคาย ทำอย่างนี้ทุกคืนๆ
ลูกก็นึกว่ากูไม่ไหวแล้ว เที่ยวดึกๆ ดื่นๆ รบกวนคุณแม่มาเปิดประตูบ่อยๆ
เลยเลิกเที่ยว นี่เรียกว่า คุณแม่ใช้วิธีการประท้วงแบบไม้นวมเหมือนกัน
ทำให้ลูกเปลี่ยนจิตใจเข้าหาความดีได้ ไม่เที่ยวไม่เตร่ต่อไป
อันนี้เขาเรียกว่าเป็นวิธีการแก้ไขเมื่อเขาโตแล้ว
เด็กโตแล้วมันนึกได้ แต่ถ้าว่ายังเป็นเด็กยังไม่ค่อยมีความนึกคิด
เราจะทำอย่างนั้นไม่ได้ แต่ว่าต้องคอยควบคุม แล้วไม่ใช่คุมเกินไป อะไรๆ
ที่เกินไปนั้นมันไม่ได้ เขาเรียกว่ามันเกิดความกดดัน
นั่งทับมากเกินไปมันก็กดดัน ถ้าดันขึ้นบนไม่ได้มันก็แตกออกข้าง
ทีนี้เกิดความเสียหาย ที่นี้เราจะทำอย่างไรกับสิ่งเหล่านั้น
อนุโลมให้เขาบ้าง ให้เขาทำอะไรบ้าง
แต่ว่าเมื่อเขาทำแล้วเราต้องเรียกมาสนทนา เช่นว่าให้เขาไปเที่ยวที่ไหนมา
มาเล่าให้พ่อฟังหน่อยซิ มันเป็นอย่างไร
เล่าให้แม่ฟังหน่อยว่ามันเป็นอย่างไร ให้เขาเล่าให้ฟัง
เขาเล่าให้ฟังแล้วก็บอกว่า สมัยก่อนนี้พ่อก็ชอบเที่ยวเหมือนกัน
แต่ว่าเที่ยวไปๆ แล้วมันเกิดอะไรขึ้นในใจ
เกิดความสำนึกบางสิ่งบางอย่างขึ้นในใจ มาคิดว่า
ชีวิตเรามันจะไม่ได้สาระไม่มีอะไรจะเป็นแก่นสาร
ถ้ามันสนุกสนานกันอยู่อย่างนี้ ชีวิตข้างหน้ามันจะมืดบอด
เราก็พูดถึงประสบการณ์ที่ผ่านมา ประสบการณ์จะมีจริงหรือมีจริงไม่สำคัญหรอก
เมคขึ้นได้ เพื่อเป็นบทเรียนให้ลูกชายที่ชอบทำอย่างนั้น เล่าให้ฟังบ่อยๆ
ในเรื่องอย่างนั้น เด็กก็อาจจะเกิดความคิดขึ้นในใจ คือพูดบ่อยๆ ทำบ่อยๆ
ทำให้เขาเกิดความสำนึก
เรื่องของเด็กนั้นจะเอาแต่ดุก็ไม่ได้ จะเอาแต่คำว่าอย่าๆๆๆ ไม่ได้
แต่ว่าต้องให้เหตุผลเขาบ้าง ชี้แจงแสดงเหตุผลให้เขาเข้าใจ
ว่าทำไมจึงต้องไม่ควรทำอย่างนั้น ทำไมจึงต้องทำอย่างนี้
พูดจากันให้เข้าใจเรื่อง ถ้าเขาเข้าใจเรื่องแล้วจะไม่ดื้อไม่ดันต่อไป
ที่นี้เราต้องใจเย็น คุณแม่ก็ต้องใจเย็น คุณพ่อก็ต้องใจเย็น
เวลาจะพูดกับเด็กต้องพูดด้วยอารมณ์สงบเยือกเย็น
การพูดด้วยอารมณ์ร้อนคำดุคำด่านั้น เหมือนกับเราสอนให้เขาเป็นคนดุ
เหมือนกับเราสอนให้เขา เป็นคนอารมณ์ร้อน อย่างนั้นเป็นการไม่ถูกต้อง
แต่เราควรจะเรียกมาพูดเวลาใจเย็นๆ สบาย แล้วเด็กที่เราจะสอนนั้น
ต้องให้เขาใจสบายด้วย อย่าพูดเวลาเด็กหิวข้าว มันโมโหพูดไปก็ไม่รู้เรื่อง
หรือเวลามันเหน็ดเหนื่อยมาเราก็อย่าพูด ค่อยๆ พูดเวลาสบายใจ
หมายเหตุเรื่องนั้นไว้ พอได้โอกาสแล้วก็ค่อยยกขึ้นมาสนทนา
สนทนาแบบชนิดที่เรียกว่า ไม่มีอารมณ์เคร่งเครียด แต่ว่าพูดตามสบาย
เด็กที่ฟังก็มีอารมณ์สบาย ไม่มีอารมณ์ตึงเครียด ความตึงเครียดมันไม่ดี
ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่มันไม่ดีทั้งนั้น พอเกิดความเครียดแล้ว
มันก็เกิดความต่อต้านขึ้นในใจ มีอารมณ์ต่อต้าน พอมีอารมณ์ต่อต้านแล้ว
ไม่ว่าส่งอะไรเข้าไปมันก็กระดอนกลับมาทั้งนั้น
เพราะมันเกิดการต่อต้านขึ้นในใจ มีความคิดอยู่ว่าไม่คิดไม่ฟัง ไม่ยอมรับ
พูดไปเถอะ พูดไปเหนื่อยเปล่า เรื่องอะไร เพราะมันมีอารมณ์ต่อต้านเสียแล้ว
เราอย่าสร้างอารมณ์ต่อต้าน ขึ้นในจิตใจของใครๆ ที่เราจะพูดด้วย
แต่ให้เกิดอารมณ์ร่วม ให้เกิดความเห็นอกเห็นใจในเรื่องนั้นๆ
แล้วเราก็พูดกับเขา เมื่อพูดกับเขาในรูปอย่างนั้นเขาก็เห็นอกเห็นใจ
โดยเฉพาะพ่อแม่พูดกับลูกนี้ ไม่มีอะไรที่จะแสดงให้ลูกเห็นใจ
เท่ากับความรักความเมตตา
เราจะต้องแสดงความรักความเมตตาต่อเขา ให้เขาเห็นว่าเรานี้มีความปรารถนาดี
ไม่มีความมุ่งร้าย ไม่ได้ทำให้เสียหายในด้านใดๆ
ให้เขาเกิดความรู้สึกต่อเราในรูปอย่างนั้น
แล้วเราก็พูดจาแนะนำพร่ำเตือนในแง่ต่างๆ ให้เขาฟัง
พูดเป็นเรื่องสนุกไปก็ได้ มีอะไรสนุกไปบ้างตามสมควร
ให้เขามีอารมณ์สดชื่นรื่นเริง แล้วก็พูดกันบ่อยๆ ในเรื่องอย่างนั้น
เมื่อเขาได้ฟังบ่อยๆ ก็เกิดอารมณ์ขึ้นมาว่า เรื่องนี้ไม่มีอะไรก็ตามละ
มันต้องเสกกันบ่อยๆ พูดบ่อยๆ พูดอะไรต้องเสกบ่อย ๆ
ที่เขาเรียกว่าปลุกเสกนั่นเอง
ปลุกเสกที่เป็นประโยชน์ คือการหมั่นแนะนำพร่ำเตือน
ในภาษาบาลีท่านเรียกว่าโอวาทานุสาสนี ที่เราเรียกภาษาไทยว่าโอวาทอนุศาสน์
ทั้งสองเรื่องนี้ควบคู่กัน พระพุทธเจ้าทรงกระทำทุกวันเวลาตอนเข้า
มีการประทานโอวาทอนุศาสน์แก่ภิกษุทั้งหลาย เป็นกิจประจำวัน
ทั้งที่พระเหล่านั้นก็เป็นพระอรหันต์
ส่วนมากยังเป็นพระปุถุชนอยู่ในหมู่บ้าน
แต่พระองค์ถือว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องอนุศาสน์ การให้โอวาทอนุศาสน์นั้น
ถ้าพูดตามภาษาปัจจุบัน ก็เรียกว่าปลุกระดมนั่นเอง
ปลุกระดมให้มีน้ำใจในการที่จะปฏิบัติธรรมะ
ในการที่จะปฏิบัติหน้าที่อันเป็นประโยชน์
อันเป็นความสุขแก่เพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย มีการกระตุ้นบ่อยๆ ทุกวันเวลา
การกระตุ้นบ่อยๆ นั่นแหละเป็นเรื่องดี
ในครอบครัวนี้มีอันหนึ่งที่ทำได้ง่าย คือเวลาที่จะรับทานอาหาร
ควรจะรับประทานพร้อมกัน พ่อแม่ลูก กี่คนก็มานั่งกันพร้อมหน้า
นั่งรับประทานไปคุยกันไปตามเรื่องตามราว เรื่องเบาๆ อย่าคุยทีเรื่องหนัก
เพราะเวลารับประทานอาหาร เรียกว่าคุยเรื่องเบาๆ เกร็ดนิดเกร็ดหน่อย
ไม่ให้เกี่ยวกับเรื่องของลูกเราก็ได้ แต่ว่าเราเอาเรื่องเก่าๆ
เรื่องอะไรจากหนังสือมาหาอ่านให้ลูกฟัง แต่ว่ามันเป็นคติข้อเตือนใจ
หยิบเอามาเล่า เหตุการณ์ประจำวันก็ได้ ข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ก็ได้
ฟังวิทยุ ฟังเทปที่เป็นเกร็ด เราก็เอามาเล่าให้ลูกฟังก็ได้
เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ก็ได้ เหตุการณ์จากข่าวต่างประเทศก็ได้
พ่อกับแม่นี้ต้องเป็นนักศึกษา
คำว่าเป็นนักศึกษา ไม่ใช่ว่าต้องเรียนจบปริญญา แล้วก็เลิกกัน
ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ว่าต้องศึกษาเรื่อยไป ต้องศึกษาหาความรู้เรื่อยไป
เพราะพ่อแม่นี้ไม่ใช่มีตำแหน่งเดียว
ตำแหน่งพ่อแม่เรียกว่าร้อยเปอร์เซ็นต์ละ แต่ว่าเรามีอีกตำแหน่ง
คือเป็นครูด้วย การเป็นครูนี้เป็นตำแหน่งสำคัญ ถ้าเป็นพ่อแม่เฉยๆ
แต่ว่าไม่เป็นตำแหน่งครูนี้ จะเสียหายเอาเลยทีเดียว
เพราะฉะนั้น ต้องมีตำแหน่งครูอาจารย์กับลูกด้วย
ตำแหน่งครูในครอบครัวนี้ไม่มีเวลาจำกัด สอนได้เรื่อยไป คุยกันได้เรื่อยไป
เวลารับประทานอาหารก็คุยกันได้
เวลานั่งดูโทรทัศน์ถ้าว่าเราจะดูโทรทัศน์เราดูพร้อมๆ กัน
แล้วก็คุยกันไปในตัว วิภาควิจารณ์เรื่องนั้นเรื่องนี้
ให้เด็กเกิดความเข้าใจ เรื่องว่าตัวนั้นเป็นตัวอย่างของอะไร
การแสดงอย่างนั้นเป็นตัวอย่างของอะไร แล้วก็เอาหลักการกระทำ ทำดีได้ดี
ทำชั่วได้ชั่ว แถมโปะให้เขา เพราะอ้ายพวกผู้ร้ายมักจะตาย พวกที่ดีมักจะรอด
เราก็ชี้ให้เขาเห็นว่าเออนี่ตัวอย่างชีวิตดูซิ คนชั่วแล้วไปไม่รอด
แม้จะชนะในตอนต้น ตอนปลายมักจะแพ้ ธรรมะย่อมชนะอธรรมเสมอ เราพูดฝากไว้บ่อยๆ
ในจิตใจของเด็กนั่นแหละ อย่านึกว่ามันไม่มีอิทธิพลนะ
นั่นแหละอิทธิพลยิ่งใหญ่ ที่สร้างชีวิตกันกับอนาคตของเด็ก
สิ่งที่ฝากไว้วันละนิดละหน่อยนั่นแหละ แล้วฝากบ่อยๆ
ในจุดเดียวกันคือเราตั้งจุดไว้ แล้วเราจะพูดอะไรๆ ก็มุ่งไว้ที่จุดนั่นแหละ
รวมยอดอยู่ที่จุดนั่นแหละ เด็กฟังบ่อยๆ ได้ยินบ่อยๆ ก็เกิดความนึกคิด
ฝังจิตฝังใจไปในเรื่องอย่างนั้น ต่อไปก็จะเป็นฐานสำคัญของชีวิต
ที่จะทำให้เขามีฐานอันมั่นคง มีความก้าวหน้าในทางที่ถูกที่ชอบต่อไป
เรื่องอย่างนี้อาจจะมีความบกพร่องอยู่บ้าง
คือไม่ได้สนใจกระทำกันอย่างจริงจังในครอบครัว โดยอ้างว่าไม่ค่อยจะมีเวลา
เราควรจะปลีกเวลาสำหรับเรื่องอย่างนี้ คอยพูดคอยสอนคอยแนะนำพร่ำเตือน
เท่าที่โอกาสจะอำนวย แล้วก็สอนทุกเวลา
เราพาเด็กไปไหนก็ให้เขามีความรู้ความเข้าใจ
มีอะไรเกิดขึ้นพอจะเป็นบทเรียนได้ เราก็ต้องนำมาเป็นบทเรียน
อบรมบ่มนิสัยลูกของเรา
ถ้าเราพาเด็กมาวัดบางวัด เขามีอะไรน่าดูชมน่าชม
เราก็มีโอกาสที่อบรมเด็กได้หลายเรื่องหลายประการ
เช่นไปดูภาพเขียนตามฝาผนังอะไรต่างๆ ภาพสลักตามบานประตูหน้าต่าง
อะไรเยอะแยะ ไปวัดโพธิ์นี่ เราจะเห็นว่ามันมีอะไรดีๆงามๆ อยู่ที่นั่น
อย่าพาเด็กไปเดินดูภาพสนุกเฉยๆ แต่เราจะทำอย่างไร
ที่จะฝังอะไรลงไปในความคิดของเด็ก ว่าบรรพบุรษของเรานี่มันไม่เลว
มีความรู้ความสามารถทำอะไรได้ดีๆ กว่าสมัยนี้ด้วยซ้ำไป
เราจะชี้อย่างไรให้เขาเห็นว่า ปู่ ตา ย่า ทวด ของเรานั้น
มีความเก่งเหมือนกัน สร้างอะไรได้ใหญ่ๆ โตๆ แม้ยังไม่ได้เรียนวิศวะ
สถาปัตย์ แบบที่เรียนในปัจจุบัน แต่เขาสร้างอะไรได้สัดส่วน มั่นคง ถาวร
ไม่ค่อยจะพังนี่
เราชี้ให้เด็กมันเห็น ว่ามันเก่งอย่างไร แล้วก็ให้ดูศิลปกรรมต่างๆ
ที่มีอยู่ในสถานที่นั้นๆ ว่ามีความงามมีความซึ้งอย่างไร
เด็กเอาอะไรไปดูอย่างนั้นอย่าให้ดูผิวเผิน เช่นครูพาเด็กไปดูภาพต่างๆ
มักจะดูเผินๆ ไปเห็นลิงเตะตะกร้อได้ก็หัวเราะว่า แหมลิงนี่ก็เตะตะกร้อได้
มันก็เพียงเท่านั้นแต่ว่าเราดูว่าอะไรแฝงอยู่อย่างนั้น
อะไรที่มันเป็นเรื่องที่สนใจที่ควรจะพิจารณา
เพื่อให้เด็กเกิดความรักศิลปรักวัฒนธรรมประเพณี
ของดีของงามของบรรพบุรุษที่เขาพยายามสะสมไว้
อันนี้เป็นเรื่องที่เราจะต้องพูดให้เขาเข้าใจ นั่นเป็นเรื่องเก่าๆ
หรือเราพาเด็กไปดูวังโบราณอย่าไปดูเพื่อให้เกิดโทสะ ให้โกรธพม่า ก็ไม่ดีละ
อย่าให้โกรธกันเลยมันไม่ดี พยาบาทก็ไม่ดี
แต่ว่าเราจะชี้ให้เห็นว่าความชั่วนี่มันไม่ดี อย่าไปว่าพม่ามันชั่ว
เขมรก็ไม่ได้ชั่ว อะไรละมันชั่วร้ายอยู่ ทำให้เกิดอะไรขึ้น ก็กิเลสนั่นละ
เราพูดให้เด็กเข้าใจ ว่าตัวมูลของความชั่วนั่นคือกิเลส
ความโลภ ความโกรธ ความหลง สิ่งที่เหลือเป็นซากอยู่นี้ เพราะถูกกิเลสมันเผา
อย่าว่าพม่าเผาเมืองเลย โกรธกันเสียเปล่าๆ แต่เราบอกว่ากิเลสมันเผา ความโลภ
มันมาเผา โทสะมันมาเผา โมหะมันเผา ความริษยา พยาบาทมันมาเผา
ไอ้สิ่งเหล่านี้มันไม่ดี เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว เป็นไปเพื่อการทำลาย
เป็นไปเพื่อการล้างผลาญ เราเห็นพยานปรากฏอยู่แล้ว ว่ากิเลสนี่มันทำลายหมด
ทุกสิ่งทุกอย่างของดีของงามเสียหายหมด ทีนี้เราควรจะโกรธอะไร เกลียดอะไร
เราควรจะโกรธตัวกิเลส เราควรจะเกลียดตัวกิเลส แล้วไม่ควรให้มันมาเกิดขึ้น
ในจิตใจของเรา เพราะถ้ามันเกิดแล้ว มันอย่างนี้แหละ
มันปรากฏที่เห็นนี่อย่างนี้ พาเด็กไปอย่างนั่นก็ได้ธรรมะไปในตัว
ไม่ใช่ไปสอนประวัติศาสตร์ ให้เด็กเกิดความเกลียดกัน เพราะความโกรธ
ความเกลียดนั่น มันจะได้อะไร นอกจากได้การทะเลาะเบาะแว้ง
รบราฆ่าฟันกันในสังคมต่อไป
| หน้าถัดไป >>
» ไม่มีอะไรได้ดังใจเหมือนม้ากาบกล้วย
» วันนี้เจ้าอยู่กับฉันพรุ่งนี้มันไม่แน่
» หลักใจ
» เกิดดับ
» มรดกธรรม