ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
เกียรติคุณของพระธรรม 2
วันอาทิตย์ที่ 24 กรกฎาคม 2520
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย
ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรม อันเป็นหลักคำสอนทั้งหลาย ของให้ทุกท่านอยู่ในการการสงบ ตั้งอกตั้งใจด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟัง ตามสมควรแก่เวลา วันอาทิตย์หยุดงานหยุดการ อันเป็นการภาระในชีวิตประจำวัน มาวัดเพื่อเป็นการพักผ่อนทางกาย เพื่อรับอาหารทางใจ อาหารกายกับอาหารใจเป็นสิ่งคู่กัน และเราจะต้องใช้ให้สมดุลย์กัน ถ้ามีอาหารกายมากแต่ว่าขาดอาหารทางใน ร่างกายแข็งแรงเติบโต แต่ว่าจิตใจอาจจะอ่อนแอก็ได้ คนที่จิตใจอ่อนแอนั้น ย่อมพ่ายแพ้แก่กิเลส มีความทุกข์มีความเดือดร้อนใจบ่อยๆ อันเป็นเรื่องที่เราทั้งหลายไม่ต้องการ เมื่อเราไม่ต้องการสิ่งเหล่านั้น ก็ต้องสร้างกำลังต้านทานในภายใน กำลังต้านทานภายในก็คือกำลังใจ กำลังใจจะเกิดมีก็เพราะมีธรรมะเป็นหลักคุ้มครอง เพราะฉะนั้น จึงต้องแสวงหาอาหารใจ ด้วยการมาฟังธรรมะเป็นประจำทุกอาทิตย์
การมาฟังธรรมะนั้น ควรจะถือว่าเป็นหน้าที่อันหนึ่งของพุทธบริษัท เพราะว่า เราผู้นับถือพระศาสนา ไม่ว่าจะศาสนาอะไร ก็ควรจะได้เข้าใจแจ่มแจ้งในคำสอนนั้น ถ้าไม่เข้าใจชัดเจน เราก็ไม่สามารถจะนำไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตประจำวันได้ เวลาใดเกิดมีปัญหาเกิดมีความทุกข์ความเดือดร้อนใจ ก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร เมื่อทำไม่ถูกปัญหามันก็หนักเพิ่มขึ้นทุกวันเวลา เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์มากขึ้น แต่ถ้าเราเข้าใจปัญหาเข้าใจวิธีแก้ไข สิ่งที่เป็นความทุกข์นั้นก็จะบันเทาเบาบางลงไป ชีวิตจะสดชื่นเรียบร้อยขึ้นโดยลำดับ ญาติโยมที่สนใจในการศึกษาธรรมะ ก็ย่อมเห็นประโยชน์ของธรรมะ จึงได้ศึกษาเพิ่มเติมเรื่อยๆ
อีกประการหนึ่ง สังคมในยุคปัจจุบันนี้ ถ้าจะว่ากันไปแล้วเป็นสังคมที่พิการอยู่สักหน่อย เพราะว่าจิตใจของคนห่างไปจากสิ่งที่เรียกว่า ศาสนา จึงก่อปัญหาวุ่นวายกันด้วยประการต่างๆ เราเองไม่ใช่ผู้ก่อปัญหา แต่ว่าคนผู้ไร้ธรรมะเป็นผู้ก่อขึ้น เรากับคนทั่วๆ ไปนั้น มันมีสัมพันธ์กัน เกี่ยวข้องถึงกัน ไม่ใช่เราจะอยู่โดดเดี่ยวคนเดียวได้เมื่อไหร่ แต่ว่าเราจะต้องอยู่ร่วมกับคนทั้งหลายเมื่อเขาทำอะไรขึ้นมา จะเป็นเรื่อง สุขก็ตาม ทุกข์ก็ตาม ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม สิ่งนั้นย่อมกระทบกระเทือนถึงเราด้วยเสมอ เช่นว่าเราอยู่ในครอบครัวจองเรา แต่ว่าเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียวนั้นเป็นคนขี้เมาหยำเป ทะเลาะกันทุกวันๆ ระหว่างคนในครอบครัว สามีภรรยาทะเลาะเบาะแว้งกัน ทุบตีกันด่ากันด้วยเสียงดัง เราได้ยินแล้วรู้สึกอย่างไร เราก็ไม่สบายใจ มีความทุกข์มีความเดือดร้อนไปกันคนเหล่านั้น ปัญหามันถึงกันอย่างนี้ เกิดความกระทบกระเทือนกันอย่างนี้ เพราะฉะนั้น อะไรเกิดขึ้น เราก็พลอยสบายใจ เช่นคนบ้านใกล้เรือนเคียงเป็นคนดีมีความประพฤติเรียบร้อย เราก็นอนหลับเป็นสุข ไม่ค่อยมีปัญหา แต่ถ้าเขาไม่เรียบร้อยเอะอะมะเทิ่งบ่อยๆ เราก็พลอยเป็นทุกข์ไปด้วย อันนี้มันเป็นเรื่องธรรมดา ที่จะเกิดมีแก่เราเมื่อใดก็ได้ ถ้าเราไม่มีอะไรเป็นเครื่องประคับประคองใจ ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นจะรุนแรงกระทบกระเทือนมาก ที่กระทบกระเทือนมากนั้น เพราะว่าใจเราไม่มีธรรมะเป็นเครื่องคุ้มครอง ไม่รู้ว่าจะปรับตัวเองให้เข้ากับสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างไร ไม่รู้ว่าจะคิดอย่างไรนึกอย่างไร เพื่อให้มันโปร่งใจเบาใจจากปัญหานั้น อันนี้เป็นเรื่องที่จะเกิดมีแก่เราเมื่อใดก็ได้
อีกประการหนึ่ง ในชีวิตในครอบครัวที่เราอยู่ๆกันนั้น ไม่ใช่ว่ามันจะราบรื่นเสมอไป มันย่อมมีอะไรเกิดขึ้นในครอบครัวของเรา เราอยู่กันหลายคนมันก็มีเรื่องหลายเรื่องเป็นธรรมดา เรื่องเจ็บไข้ได้ป่วยอะไรต่ออะไรร้อยแปด ที่เป็นเรื่องหนักอกหนักใจก็คือว่า การพลัดพรากจากกันในเรื่องเกี่ยวกับความแตกความตายของชีวิตเรอยู่กันพร้อมหน้าหลายๆคน แล้วก็มีสักคนหนึ่งในครอบครัวของเรานั้น ต้องมาจากเราไป เราก็ต้องมีความทุกข์เป็นธรรมดา ตรงกับที่เราสวดมนต์ว่า ความพลัดพรากจากของรักของชอบใจเป็นทุกข์ ต้องการสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นเหมือนก็เป็นทุกข์ อันนี้เป็นหลักที่พระท่านให้เราสวดบ่นไว้ เพื่ออะไร ก็เพื่อจะได้ปรับจิตใจไว้ล่วงหน้า ว่าเรื่องอย่างนี้มันอาจจะเกิดแก่เราเมื่อให้ได้ อาจจะเกิดความเจ็บไข้ได้ป่วยเมื่อใดก็ได้ อาจจะสูญเสียสิ่งที่เรามีที่เราได้ไว้เมื่อใดก็ได้ สิ่งเหล่านี้มันอาจจะเกิดขึ้น การคิดในรูปอย่างนี้ ได้ผลสองประการ คือในทางป้องกันก็ได้ ในทางแก้ไขก็ได้ ในทางป้องกันนั้นเราจะได้รู้ไว้ล่วงหน้าว่า อะไรมันจะเกิดขึ้น ถ้าเรื่องใดป้องกันได้ เราก็หาทางป้องก้นไม่ให้เรื่องเช่นนั้นเกิดขึ้นเช่นการสูญเสียทรัพย์สินเงินทอง เพระว่าขโมยมันเอาไป เราก็หาทางป้องกันเสีย มีเงินมากๆก็อย่าเก็บไว้ในบ้าน มันจะเป็นอันตราย เอาไปฝากธนาคารเสียมีเครื่องประดับกายราคาแพง เพชรนิลจินดา อย่าเอาไปเที่ยงใส่อวดใครบ่อยๆ ขโมยเห็นแล้วน้ำลายมันจะไหลออกมา แล้วมันจะมาจี้มาชิงของเราไป เราจะเกิดความทุกข์ความเดือดร้อน เรามีไว้คนเดียวสบายใจคนเดียว การเดาไปฝากธนาคารเขามีตู้นิรภัย เอาไปใส่ไว้เราถือกุญแจไว้เอง มันปลอดภัย ไม่ต้องยุ่งยากลำบากเดือดร้อนถ้าขโมยขึ้นมาก็ไม่มีอะไรจะให้ แล้วเราก็ไม่มีอะไรจะอวดพวกขโมยว่ามีนั่นมีนี่ มันก็พอจะปลอดภัย ดีกว่ามีอะไรไว้ให้ขโมยมันเข้ามาเอา อันนี้เรียกว่าป้องกันไว้ก่อน
ถ้ามันเหลือวิสัย เช่นว่าความเจ็บไข้มันเหลือวิสัยความตายนี่ก็เหลือวิสัยอยู่ๆอาจจะเกิดการเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมาก็ได้ บางทีโรคมันก็ขนาดรุนแรง เช่นว่าเป็นโรคมะเร็งเป็นตัวอย่าง เราไม่รู้พอมีอาการไปตรวจหมดก็บอกว่าเป็นโรคแดนเซ่อร์ เราก็ไม่สบายใจ มีความทุกข์มีความเดือดร้อนใจ เพราะไม่ได้คิดไว้ก่อนว่าเป็นโรคอย่างนั้น ถ้าคิดไว้ก่อนก็ยังชั่วหน่อย เรื่องตายก็เหมือนกัน ถ้าเราคิดๆไว้ว่าเรานั่งๆอยู่อย่างนี้ กินข้าวน้ำพร้อมกันเป็นวงใหญ่ ก็นึกๆไว้ในใจว่าอาจจะมีสักวันหนึ่ง ที่จะมีใครขาดไปสักคนหนึ่ง คนที่จะขาดก่อนก็คือพ่อแม่นั่นแหลละ เพราะว่าแก่แล้ว พ่อแม่นี่แก่แล้วก็ต้องขาดก่อน เรื่องมันต้องอย่างนั้น แต่ว่าบางทีมันก็ไม่มีระเบียบเสมอไป มันมีการลัดคิวเหมืนกัน แทนที่พ่อแม่จะไปก่อนลูกๆไปก่อน ลูกคนโตไม่ไปลูกคนกลางไป หรือว่าลูกคนเล็กไป เรื่องอย่างนี้มันเป็นเรื่องธรรมดา ที่อาจจะเกิดขึ้นแก่เราเมื่อใดก็ได้ แล้วเราก็ไม่ได้คิดไว้ล่วงหน้าว่ามีนจะเป็นอย่างนั้น คนเรามักจะถือไปอีกอย่างหนึ่ง หรือว่าไปเที่ยวคิดถึงเรื่องนั้นเหมือนกับแช่งตัวเอง หรือพูดอย่างนั้นก็เหมือนกับว่า พูดเป็นลาง อย่าไปพูดอย่าไปคิดให้มันยุ่งใจอย่างนั้น เราอย่าไปคิดในเรื่องโชคลางอะไรเลย แต่คิดว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา ที่จะเกิดขึ้นในครอบครัวของเรา เมื่อใดก็ได้ให้คิดไว้ล่วงหน้าไว้อย่างนั้น
ครั้นเมื่อเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นเราก็พอจะพูดได้ด้วยความรู้สึกตามธรรมชาติที่เป็นจริงว่า เหมือนกับที่คิดไว้แล้ว เรื่องมันจะต้องเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ก็พอจะบันเทาเบาบางความทุกข์ความเดือดร้อนในทางจิตใจ อันนี้เรียกว่าเอาธรรมะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเรื่องอื่นๆ ก็เหมือนกัน ถ้าเราใช้ธรรมะแก้แล้วมันก็พอจะไปได้ พอผ่อนคลายอารมณ์จากความทุกข์ความเดือดร้อน ถ้าเราแก้คนเดียวไม่ไหว เหมือนหมอบางทีรักษาตัวเองไม่ได้ รักษาคนอื่นได้ แต่พอตัวป่วยก็ต้องไปหาหมออื่นเหมือนกัน ให้ช่วยตรวจตราเช็คร่างกายต่างๆ ฉันใด คนเราก็มีเช่นนั้น รักตัวเองบางทีตามลำพังตัวเองไม่ได้ เราก็ต้องมีพี่เลี้ยงเข้าหาผู้รู้ไว้บ้าง มาสนทนากับพระสงฆ์องค์เจ้า อ่านหนังสือธรรมะอะไรไว้บ้าง เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจ อย่างน้อยๆ วันหนึ่งอ่านสักครั้งหนึ่งก็ยังดี เจ็ดวันมาวัดสักครั้งหนึ่งก็ยังดี พอจะเป็นเครื่องช่วยผ่อนคลายอารมณ์ให้หายจากความทุกข์ความเดือดร้อนใจได้บ้าง ตามสมควรแก่ฐานะนี่เป็นเรื่องที่น่าคิดในชีวิตประจำวันอย่างหนึ่ง
ที่นี้เมื่อวันอาทิตย์ที่แล้ว ได้พูดถึงเรื่องพระธรรมหรือว่าพระธรรมคุณที่เราสวดกันอยู่บ่อยๆ เมื่อตะกี้นี้ก็สวดว่า สวากขาโต ภควตา ธัมโม พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าแสดงไว้ดีแล้ว สันทิฏฺฐิ อันผู้ศึกษา และผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นได้ด้วยตนเอง อกาลิโก เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ให้ผลไม่เฉพาะเวลา คือปฏิบัติเมื่อใดก็ให้ผลเมื่อนั้น เอหิปัสสิโก ควรจะเรียกกันมาดูมาชม โอปนยิโก ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ อันวิญญูชนพึงรู้แจ้งเฉพาะตน นี่เป็นลักษณะของพระธรรมคำสอนในทางพุทธศาสนา ว่ามีลักษณะอย่างนี้ ในอาทิตย์ก่อนก็ได้พูดมาถึงว่า อกาลิโก เรื่องว่าไม่จำกัดเวลา ที่ว่าไม่จำกัดเวลานั้นหมายความว่า ให้ผลทุกเวลาทุกฤดูกาล ไม่เหมือนต้นหมากรากไม้ ลำใยออกผลเฉพาะกาล มะม่วงก็ออกเฉพาะเวลา ทุเรียนมังคุดทุกอย่าง ถึงฤดูจึงจะให้ผล พ้นฤดูนั้นแล้วเราจะไปเคี่ยวเข็ญสักเท่าใดมันก็ไม่ออกผลให้เราได้ แต่ว่าธรรมอันเป็นข้อปฏิบัติในทางพุทธศาสนานั้น ไม่ได้จำกัดเวลานั้นให้ตลอดไปแก่บุคคลผู้ปฏิบัติ ลงมือปฏิบัติเมื่อใดได้ผลเมื่อนั้น หนีไม่พ้น เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก
เพราะว่าในสมัยนี้มีญาติโยมไม่ใช่น้อยเหมือนกัน มีความเชื่อเขวไป คือนึกว่าการปฏิบัติธรรมจะไม่ได้ผล มรรคผลนิพพานอะไรก็จะไม่เกิดแก่ผู้ปฏิบัติในสมัยนั้น เพราะว่ามีคนพูดว่า เมื่อพุทธศาสนาล่วงแล้วเท่านั้นเท่านี้ปีจะไม่สิ่งนั้นสิ่งนี้ อันนี้ขอทำความเข้าใจว่า ไม่ใช่พุทธวจนะ ไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า พระองค์ไม่ได้เคยตรัสจำกัดความไว้เช่นนี้เลย แต่พระองค์ได้ตรัสไว้ว่า ดูกร สุภัททะ ตราบใดที่ชาวโลกยังปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์แปด โลกนี้จะไม่ว่างเปล่าจากพระอรหันต์ อันนี้แหละเป็นพุทธพจน์แท้ๆ ปรากฏอยู่ในมหาปรินิพพานสูตร คือพระองค์ตรัสเรื่องนี้ก่อนจะปรินิพพาน กันสุภัททะปริพาชก ซึ่งเป็นคนสุดท้ายที่มาให้พระองค์โปรด และได้บวชในพระพุทธศาสนาเป็นองค์สุดท้ายทีเดียว ที่บวชกับพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสว่า ดูกรสุภัททะ ตราบใดที่ชาวโลกยังปฏิบัติตนตามอริยมรรคมีองค์แปด โลกนี้จะไม่ว่างจากพระอรหันต์ อันนี้แหละควรจะถือเป็นหลัก ในข้อว่า อกาลิโก คือให้ผลแก่เราอยู่เสมอ ถ้าเราปฏิบัติแล้วก็ต้องให้ผล
ที่นี้บางคนคิดไปว่า เรามีวาสนาบารมีน้อย ไม่บรรลุอะไรอย่างนั้นหรอก อันนี้อย่าพูดคิดอย่างนั้นเพราะถ้าพูดคิดในรูปอย่างนั้นเป็นดูหมิ่นตนเองมากไป ดูหมิ่นตนเองว่าเป็นผู้ไม่มีความสามารถ ที่จะทำอะไรๆ อย่างนั้น พระผู้มีพระภาคบอกให้เรารู้ว่า ทุกคนมีโอกาสที่จะบรรลุมรรคผลได้ ไม่ได้จำกัดว่าเป็นหญิงเป็นชายเป็นเด็กเป็นผู้ใหญ่ หรือเป็นอะไรๆ ทั้งนั้น ในครั้งพุทธกาลสามเณรน้อยอายุเจ็ดขวบ บรรลุเป็นพระอรหันต์ก็มี ความจริงเด็กนั่นแหละบรรลุได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ เพราะเด็กนี้เรื่องมันน้อยอะไรๆ ที่เข้าไปรบกวนใจมันน้อย ยังไม่เพิ่มพอกพูนอะไรมากนัก แต่ว่าเราที่เป็นผู้ใหญ่เรื่องมันมาก เอาไปใส่ไว้เยอะแยะในใจของเรา ธรรมะจะส่องเข้าไปได้ก็ยากเต็มที แต่ว่าเด็กนั้นเขาไม่ค่อยมีอะไร เพราะฉะนั้นเด็กในสมัยนั้นจึงบรรลุได้
สมัยนี้ก็มีโอกาสเหมือนกัน ไม่ใช่ว่ามันจะหมดสมัยล้าสมัย หลักคำสอนเป็นสิ่งที่ไม่จำกัดเวลาเราปฏิบัติเมื่อใดก็ได้เมื่อนั้น อันนี้เป็นเรื่องสำคัญอันหนึ่ง ที่ยืนยันการปฏิบัติตามหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาอีกอันหนึ่ง ที่จะเห็นง่ายๆ หลักคำสอนที่ตรัสว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ซึ่งเป็นกฎแห่งกรรม ที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ เราต้องเอาหลัก อกาลิโก คือไม่จำกัดเวลานี้เข้าไปวัดหน่อย ไม่อย่างนั้นแล้วก็จะเขว คือไม่เชื่อว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เมื่อไม่มีความเชื่อในเรื่องอย่างนี้ จิตใจก็จะเป็นมิจฉาทิฏฐิ ทำอะไรตามชอบใจตัวตามใจอยาก ไม่ได้คิดว่าตัวจะได้ผลอะไรจากการกระทำนั้น แล้วคิดไปว่าทำไปเถอะไม่เป็นไรหรอก ไม่มีใครรู้ไม่มีใครเห็น ไม่มีใครจับได้ไล่ทัน คงจะไม่เป็นไรอันนั้นเป็นโทษของกฎหมายทางบ้านเมือง ไม่ใช่โทษทาง กฎแห่งกรรม อันเป็นกฏธรรมชาติ โทษทางกฎหมายถ้าตำรวจไม่เห็นก็ไม่เป็นไร ตำรวจไม่จับก็ไม่เป็นไร แต่โทษอันเกิดขึ้นจากกฏแห่งกรรมนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการรู้การเห็นของใครๆ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเรื่องอะไรทั้งหมดแต่มันขึ้นอยู่กับการกระทำเพียงอย่างเดียวถ้าเราทำแล้วก็ต้องได้ ทำอย่างใดก็ต้องได้อย่างนั้น ถ้าเราทำดีก็จะได้ดี ทำชั่วก็จะได้ชั่ว ไม่มีโอกาสจะหลบหนีไม่มีโอกาสจะซ่อนเร้นปิดบังอะไร มันปรากฏอยู่ในใจของผู้กระทำตลอดเวลา ผลเกิดขึ้นทันทีจากการกระทำนั้น
จะอธิบายให้เข้าใจในเรื่องนี้ ก็หมายความว่าเวลาเราทำนี่เราก็ได้แล้ว สิ่งที่ได้นั้นคือสิ่งที่เกิดขึ้นในใจของเรา ควรจะพูดให้ชัดอีกสักหน่อยว่า ทำดีได้ความดี ทำชั่วได้ความชั่ว ความดีความชั่วที่เราทำนั้นมันได้ทันที ไม่ได้จำกัดอะไรทั้งนั้น ไม่ต้องรอสิ้นปีไม่ต้องรอเมื่อนั้นเมื่อนี้ เช่นว่า เราโกรธ เราก็ได้แล้ว ได้ความร้อนใจ ถ้าเราแผ่เมตตา เราก็ได้ความเย็นใจ เราคิดดีใจเราสบาย เราคิดร้ายใจเราเดือดร้อน การคิดในเรื่องดีได้ความดีเพิ่มขึ้นในใจของเรา ถ้าเราคิดเรื่องชั่วเราก็ได้ความชั่วเพิ่มในใจของเรา ถ้าเราคิดดีก็เพิ่มความดีขึ้นในใจเรา ถ้าเราคิดชั่วมันก็เพิ่มความชั่วขึ้นในใจของเราหลีกไม่พ้นมันได้อยู่ตลอดเวลา สิ่งที่เพิ่มขึ้นนั้นเขาเรียกว่า นิสัย นิสัยของคนนั้นมันเกิดจากอะไรก็เกิดจากการกระทำบ่อยๆ ใเนื่องนั้น คิดบ่อยๆ ทำบ่อยๆ ทำบ่อยๆ ในเรื่องอย่างนั้น ก็กลายเป็นนิสัยขึ้นมา
คนเราโดยปกติมันไม่มีอะไรอย่างนั้น แต่ว่าเรามาสะสมสิ่งเหล่านั้นขึ้นในใจของเรา มันก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หัดเป็นคนขี้โกรธ ไม่เท่าใดก็มีนิสัยเป็นคนมักโกรธ ใจร้อนใจเร็ว เราหัดเป็นคนประเภทใดมันก็ไปอย่างนั้น หัดเอาทั้งนั้นไม่มีอะไรที่มันจะเกิดขึ้นเฉยๆเรียกว่า เกิดจากการกระทำของเรา ทำดีมันก็ได้ความดีเพิ่มขึ้นในใจ ทำชั่วมันก็ได้ความชั่วเพิ่มขึ้นในใจ หนีไม่พ้น ต้องมีต้องได้อยู่ตลอดเวลา นี่มันเป็น อกาลิโก เหมือนกัน คือไม่จำกัดเวลา ทำเช้าทำสาย ทำบ่ายทำเย็นทำในที่ลับทำในที่แจ้งผลเท่ากัน มันต้องได้แก่ตัวเราทั้งนั้นไม่ขึ้นกับบุคคลไม่ขึ้นกับเหตุการณ์ ไม่ขึ้นกับอะไรทั้งหมด อันนี้เป็นความจริงอันหนึ่ง ซึ่งเราทำแล้วเราก็ได้ หนีไม่พ้น เมื่อรู้ระเบียบอย่างนี้ จะคิดอะไรจะพูดอะไรทำอะไร การคิดนั่นแหละเป็นรากฐานของการพูดการกระทำถ้าเราคิดในเรื่องดีก็พูดในเรื่องดี ทำเรื่องดี ถ้าคิดเรื่องชั่วพูดก็ชั่ว ทำก็ชั่ว ผลที่เกิดขึ้นก็เป็นความทุกข์ความเดือดร้อนใจ แล้วมันก็เกิดขึ้นในขณะที่คิดนั่นแหละให้สังเกตุดูใจของเราเอง ถ้าเราคิดเรื่องไม่ดี ใจเรามันเป็นอย่างไร จะรู้สึกร้อนใจ แต่ถ้าเราคิดเรื่องดีสบายใจ สบายใจขณะคิด คิดแล้วก็สบายใจ ถ้าเป็นเรื่องดี แต่ถ้าเป็นเรื่องชั่วร้อนอยู่ตลอดเวลา นี่แหละเขาเรียกว่า ตกนรกทั้งเป็น นรกมันอยู่ที่ความร้อนอกร้อนใจใครหาเรื่องร้อนใจก็เรียกว่าหาเรื่องตกนรก ลงไปแช่อยู่ในกะทะทองแดง กะทะทองแดงก็คือความร้อนที่เกิดขึ้นในใจของเราไม่ว่าในเรื่องอะไรมันร้อนอยู่ในใจ ให้ผลทันทีไม่ต้องรอเวลาไม่ต้องรอเหตุการณ์อะไรทั้งนั้น นี่ผลคือผลส่วนตัวที่เราจะได้
ส่วนผลอันเกิดขึ้นอีกอย่างหนึ่ง ทางกฎหมายของบ้านเมืองอะไรอย่างนั้น มันอาจจะต้องรอไปอีกสักหน่อยรอไปจนกว่าเขาจะจับได้ สอบสวนส่งอัยการฟ้องศาลศาลตัดสินลงโทษ แต่ว่าก่อนจะศาลจะตัดสินลงโทษเรารับโทษอยู่ก่อนแล้ว ร้อนใจอยู่แล้ว ไม่ค่อยสบายใจอยู่แล้ว มันได้ล่วงหน้าแล้ว แต่ว่ามันได้โทษทางกฎหมาย อีกทีหนึ่งวันนี้เป็นเรื่องที่เห็นง่าย ว่าให้ผลไม่จำกัดเวลา ถ้าสมมติว่าเราไปนั่งฝึกฝนอบรมจิตใจฝึกเจริญภาวนาเมื่อทำไปๆ มันก็เกิดผลไปเรื่อยๆ เมื่อขณะที่นั่งนั้นเราก็ได้แล้ว คือได้ความอดทน ได้การบังคับตัวเอง เพราะต้องนั่งในท่านั้นแล้ว ก็นั่งเวลาเท่านั้น ต้องบังคับตัวเองอยู่ตลอดเวลา ขณะนั่งก็ปวดแข้งปวดขาบ้าง คันตรงนั้นคันตรงนี้ ยุบยิบๆ บางทีไม่มีอะไรมันเป็นอย่างนั่นแหละอันนี้เขาเรียกว่า อภิสังขารมาร ร่างกายของเรามันเป็นมารแก่ตัวเอง คอยขัดขวางไม่ให้เราก้าวหน้าในการปฏิบัติ เดี๋ยวมันก็คันตรงนั้นตรงนี้ ไม่มีอะไร
ทีนี้ถ้าเราไม่อดทนก็ต้องไปเกา ถ้าเกาสักครั้งแล้วก็ต้องเกาทุกที มันเป็นสันดานขึ้นมาอีกเหมือนกัน เลยต้องเกาเรื่อยพอคันต้องไปเกา แล้วมันต้องเกาเสียเรื่อย พอนั่งสักหน่อยต้องไปเกาอีกแล้ว มันติด เพราะฉะนั้นต้องบังคับชั่งมัน ให้มันขยุกขยิกไปตามเรื่อง เราเฉยๆ ไม่เอาใจใส่มันก็หายไป แต่ว่าประเดี๋ยวมันก็มีอีก มันมาทดสอบเราอีก เหมือนกับแกล้งอย่างนั้นแหละ ผู้ที่ไปนั่งอย่างนั้นต้องบังคับตัวเองไว้ ควบคุมตัวเองไว้ จะได้การบังคับตนเองได้ความอดทน ได้เป็นผลกำไรขึ้นในใจของเราแล้ว และถ้าเราทำไปนานๆ ก็ได้ผลเป็นความสงบใจเย็นใจ เมื่อทำได้แคล่วคล่องว่องไวเมื่อไปประสบเหตุการณ์อะไรใจมันก็เย็น ใจมันสงบ ไม่วู่วามไปตามอารมณ์ อันนี้มันก็เป็นผลปรากฏอยู่ในตัวของเรา เกิดขึ้นปรากฏ ให้ผลได้ตลอดเวลาไม่จำกัดอะไรทั้งนั้น นี่ประการหนึ่ง
ทีนี้บทที่ว่า เอหิปสฺสิโก ควรจะเรียกมาดูมาชมคือว่าพระธรรมนี่เป็นของจริง มีเหตุผล ให้ความสุขแก่ผู้ปฏิบัติอย่างแท้จริง ถ้าเราได้ศึกษาได้ปฏิบัติด้วยตัวของเราเองแล้ว เรามีความสุขทางใจ คนที่มีความสุขทางใจแบบประพฤติธรรมนี่ มักจะเป็นคนที่ชอบไปชวนคนนั้นคนนี้ให้มาปฏิบัติ เพราะว่าตัวได้รับความสุขเหลือเกิน เป็นรสใหม่ที่ตนได้รับ ไม่เหมือนรสของอาหารการบริโภคที่เรารับประทานอะไรก็คิดถึงคนที่เราพอใจ เช่นว่า แม่พ่อ ได้กินอะไรมักจะคิดถึงลูกต้องเอาไปฝากลูกหน่อย เพราะว่าของนั้นอร่อย แต่ว่าลูกนี้บางทีก็ไม่คิดถึงแม่ว่าเรียบไปเลยมันตรงกันข้ามแม่นี่คิดถึงลูกอยากจะเอาไว้ให้ลูกหน่อยนี่เป็นนิสัยของผู้ใหญ่ มีใจเมตตากรุณาต่อผู้น้อยแต่ผู้น้อยนั้นเหมือนกัน แต่ว่าน้อยที่จะคิดอย่างนั้น รู้ว่าอร่อยก็รีบกินให้หมดไปเสียเลย ไม่เอาไปเผื่อแผ่ แต่ว่าในแง่ธรรมะจะไม่เป็นอย่างนั้น ผู้ใดเข้าถึงธรรมะแล้วมักจะไปชวนคนนั้นคนนี้ให้มาปฏิบัติธรรมะ เพราะเขาสบายอยากให้คนอื่นสบายบ้าง น้ำใจที่มีเมตตากรุณามันเกิดขึ้นมาก เลยอยากชวนคนอื่นให้ทำเหมือนตน ไปเที่ยวกวักมือไปเที่ยวเรียกร้องให้คนอื่นมาปฏิบัติ นั่นเป็นความรู้สึกในทางใจของบุคคลนั้น
ทีนี่เราทั้งหลาย ที่นับถือพระพุทธศาสนา ควรจะเอาหลักข้อนี้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน ใช้อย่างไร คือเอาไปใช้ชักจูงเพื่อนฝูงมิตรสหายให้เข้าหาธรรมะกันเรียกให้ มาดู เรียกให้มาปฏิบัติธรรมะกัน การกระทำในรูปอย่างนี้แหละ เรียกว่าเป็นการช่วยเหลือสังคมเป็นการช่วยเหลือสังคมเป็นการช่วยประเทศชาติอย่างแท้จริง เวลานี้มีการเรียกร้องต้องการมาก ที่จะให้คนทุกคนทำประโยชน์แก่สังคมให้ทุกคนทำประโยชน์แก่ประเทศชาติบ้านเมือง วิทยุก็ป่าวกันอยู่บ่อยๆ เพื่อจะให้คนได้ทำตนเป็นประโยชน์แก่อะไรๆ นั้น ต้องเป็นคนมีธรรมะประจำใจ ถ้าไม่มีคุณธรรมะประจำใจแล้วมันไปไม่รอด ทำไปไม่ได้ แต่ถ้ามีธรรมะแล้ว ก็ทำด้วยความเต็มใจไม่ต้องมีอะไรมาล่อมาจูง คนเราทำอะไรบางทีก็อาศัยเครื่องล่อเครื่องจูง ภาษาธรรมะเขาเรียกว่า อามิส อามิสก็คือ เหยื่อ ไม่มีอะไรเครื่องล่อเครื่องจูงให้ทำทาน ถ้าทำอะไรแล้วรู้สึกว่าตัวจะได้ ทำใหญ่เลย ทำด้วยความเต็มใจ แต่พอรู้สึกตัวว่าตัวจะขาดสิ่งนั้น ไม่อยากทำ ทำก็ไม่เต็มใจ หรือบางทีก็บ่นอู้อี้ออกมาเลย ว่าอย่างนั้นว่าอย่างนี้ อันนี้เขาเรียกว่า ลายมันผุดขึ้นมาแล้ว ลายกิเลสมันผุดขึ้นมาให้คนอื่นเห็น เมื่อก่อนนี้ขยันทำหนักหนา แต่พอไม่ได้ดังใจลายมันผุดออกมา บ่นอย่างนั้นบ่นอย่างนี้ นี่แสดงว่าน้ำใจยังไม่ถึงธรรมะแล้ว จึงได้พูดอย่างนั้นออกมา คนเราถ้าจิตใจถึงธรรมะแล้ว มันมีแต่เรื่องความเสียสละมีแต่เรื่องให้ ไม่มีเรื่องที่จะเอามา เอาเหมือนกันแต่ว่าเอาตามผลที่จะได้ ไม่ร้อนอกร้อนใจในผลที่จะเกิด เย็นใจในเรื่องนั้น นึกอยู่ในใจว่าสุดแล้วแต่เรื่อง เรามีหน้าที่ปฏิบัติเท่านั้น ทำงานเท่านั้น ผลนั้นไม่ใช่หน้าที่ของเรา เราจะต้องรอ มันเกิดเท่าใดเราก็พอใจ ได้เมื่อไหร่ก็พอใจอย่างนี้จิตใจสบาย ไม่มีปัญหายุ่งยากลำบากเดือดร้อน
เพราะฉะนั้น การที่จะให้คนช่วยกันทำประโยชน์แก่สังคมแก่ประเทศชาตินั้น เราไม่ต้องไปแนะให้เขาทำหรอก แต่ว่าต้องแนะให้เขาประพฤติธรรม ให้เขามีคุณธรรมเกิดขึ้นในใจ พอมีธรรมะเกิดขึ้นในใจ พอมีธรรมะเกิดขึ้นในใจแล้ว คนนั้นจะเป็นคนใจใหญ่ เป็นผู้ใหญ่อย่างแท้จริง และเมื่อมีลักษณะเช่นนั้นเกิดในใจแล้ว เขาก็ดำรงชีวิตอยู่เพื่อการให้ ไม่ใช่อยู่เพื่อจะเอานั่นมากเกินไป ทำอย่างไรจึงจะเกิดอย่างนี้ขึ้น เราจึงต้องช่วยกันหน่อย ช่วยกันปรบมือช่วยกันตีฆ้องร้องป่าว ให้คนทั้งหลายได้มาสู่จุดนี้คือจุดธรรมะเช่นว่า เรามาวัดอยู่แล้ว เรามาฟังธรรมอยู่แล้ว เรามีเพื่อนฝูงมิตรสหาย ควรจะพยายามชักจูงคนเหล่านั้นให้มาบ้าง ให้มาชิมรสธรรมะเสียบ้าง ให้มาเรียนชีวิตที่ถูกต้องเสียบ้าง เพื่อเขาจะได้ดีขึ้น คนเราถ้ารักเพื่อนรักญาติ ต้องช่วยให้เพื่อนหรือญาติของเรานั้นดีขึ้นในทางจิตใจ
| หน้าถัดไป >>
» ไม่มีอะไรได้ดังใจเหมือนม้ากาบกล้วย
» วันนี้เจ้าอยู่กับฉันพรุ่งนี้มันไม่แน่
» หลักใจ
» เกิดดับ
» มรดกธรรม