ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

หอพระไตร


ธรรมบรรยายของ หลวงพ่อปัญญา

เรื่อง ชั่งหัวมัน

วันอาทิตย์ที่ 12 กันยายน 2519

ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย

ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะอันเป็นหลักคำสอนในทางพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์จากการฟังตามสมควรแก่เวลา

ในระยะสองสามวันมานี้พวกเราคงจะได้ยินข่าวอันหนึ่ง คือข่าวว่าประธานเหมาเจ๋อตุงถึงแก่ความตาย ที่เอาเรื่องประธานเหมาเจ๋อตุงมาพูดกับโยม อย่านึกว่าพูดการบ้านการเมือง ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับการเมือง แต่ว่าเป็นเรื่องที่ชี้ให้เห็นถึงชีวิตว่า คนเรานี้แม้จะยิ่งใหญ่ขนาดไหน มีอำนาจราชศักดิ์สักเท่าใดก็ตาม ก็ย่อมจะถึงจุดจบลงไปสักวันหนึ่ง จุดจบนั้นคือความตายนั่นเอง ความตายของคนคนหนึ่งเกิดขึ้น ก็ย่อมมีข่าวไปทั่วโลก เพราะว่าคนคนนั้นมีชื่อมีเสียงในทางการบ้านการเมือง

ข่าวที่ปรากฎออกไปนั้น มีคนเสียดายก็มี มีคนดีใจก็มีเหมือนกัน เช่นว่าจากเกาะไทเป (ไต้หวัน) หนังสือพิมพ์เขาดีใจ เขาดีใจว่าตายเสียทีก็ดีแล้ว แต่ว่าในส่วนอื่นๆ ของโลกนั้นเขาเสียใจกัน เพราะว่าเป็นเรื่องธรรมดา คนเราย่อมมีคนรักบ้าง มีคนชังบ้าง

เรื่องความรักความชังของมนุษย์นี้ เป็นเรื่องที่จะต้องเกิดต้องมี หนีไม่พ้น ในทางธรรมท่านจึงบอกให้รู้ว่า มันเป็นโลกธรรม คือเป็นธรรมสำหรับชาวโลกทั่วๆ ไป คือว่าบางสิ่งก็เป็นที่พอใจ เช่นในดิลกธรรม ว่าถึงเรื่องความมีลาภ มียศ มีสรรเสริญ มีความสุข อันนี้เป็นอิฏฐารมณ์ เป็นสิ่งที่น่าพอใจพึงใจ ใครๆ ก็อยากจะมีลาภ มียศ มีสรรเสริญ มีความสุข แต่ในอีกด้านหนึ่งในความไม่มีลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ อันนี้ไม่มีใครต้องการ

แต่ว่าเราอยู่ในโลกจะหนีพ้นไปจากสิ่งนี้ไม่ได้ ธรรมทั้งแปดประการนี้ เป็นกระแสของโลก เพราะฉะนั้นท่านจึงเรียกว่า เป็นโลกธรรม คือมีอยู่ในโลกตลอดเวลา เราเกิดมาในโลกก็ต้องพบกับสิ่งหล่านี้ ไม่เวลาใดก็เวลาหนึ่ง ญาติโยมทุกคนลองคิดดู ว่าในชีวิตของเรานี้ เราเคยมีลาภ เราเคยเสื่อมลาภ เราเคยมียศ เราเคยสรรเสริญ มีความทุกข์ มีความสุข ได้รับการสรรเสริญ ได้รับการนินทา ใครๆ ก็เหมือนกันทั้งนั้น คนเราจะเป็นคนที่ดีส่วนเดียวก็ไม่ได้ การดีการเสียของบุคคลนั้น มันขึ้นอยู่กับการกระทำเป็นเรื่องสำคัญ แต่ว่าคนอื่นนั้นเขาอาจจะมองเราในทางใดก็ได้ เพราะการเพ่งมองของคนอื่นนั้น เป็นสิทธิของเขา เป็นสิทธิในการที่จะมอง ในการที่จะพูด ในการทีจะแสดงออก ถึงความรู้สึกนึกคิดของเขา เราจะไปห้ามก็ไม่ได้

เช่นมีใครคนหนึ่งมีพูดนินทาเรา เราก็จะไปบอกว่า "คุณอย่ามานินทาฉันนะ" อย่างนี้มันก็ไม่ได้ เพราะมันเป็นเรื่องที่เขาทำของเขาเอง ตามเรื่องตามราวของเขา สรรเสริญก็เหมือนกัน เขาก็ทำตามความคิดความเห็นของเขา ถ้าเขาชอบเขาก็ชม ถ้าเขาไม่ชอบเขาก็ติ ทีนี้หน้าที่ของเราที่เกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้ เราควรจะทำใจอย่างใด ควรจะทำใจไม่ให้เป็นสุข เพราะคำสรรเสริญ ไม่ให้เป็นทุกข์เพราะทำนินทา

เรื่องไม่ให้สุขไม่ให้ทุกข์ในเรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ แต่ว่าไม่ใช่เหลือวิสัย เป็นเรื่องที่เราควรจะกระทำได้ เพราะถ้าทำไม่ได้ พระพุทธเจ้าท่านคงไม่วางหลักไว้ ให้เราทั้งหลายปฏิบัติ ข้อธรรมะที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้ ให้เราทั้งหลายทำมาปฏิบัติ ในชีวิตประจำวันนั้น ไม่ใช่เรื่องเหลือวิสัย แต่เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ถ้าหากเราหมั่นคิดนึก ตรึกตรองด้วยปัญญา เพื่อให้มองเห็นสิ่งนั้นๆ ตามสภาพที่มันเป็นอยู่จริงๆ

เช่นในเวลาที่ถูกนินทา เราก็ควรจะคิดอย่างไร เวลาที่เขาสรรเสริญเยินยอ จะคิดอย่างไร ในเรื่องนี้มีตัวอย่างอยู่ตอนหนึ่ง ในพระสูตร คือคราวหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์สาวก เดินทางจากเมืองนาลันทา จะไปเมืองราชคฤห์ แล้วก็ไปประทับอยู่ที่หมู่เกาะไม้มะม่วง ระหว่างนาลันทา จะไปเมืองราชคฤห์ ในการเดินทางคราวนั้น นอกจากพุทธบริษัทของพระพุทธเจ้าแล้ว ยังมีบริษัทของปริพาชกอีกพวกหนึ่ง หัวหน้าชื่อสุปิยปริพาชก ลูกน้องของสุปิปริพาชก ชื่อพรหมทัตต์ปริพพาชก สองคนนี้มีความคิดไม่ตรงกัน

คือหัวหน้าที่เป็นอาจารย์สุปิยปริพพาชกนินทาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ตลอดทาง เดินไปก็นินทาไปกล่าวร้ายไป ใส่ความไปเรื่อยๆ แต่ว่าลูกศิษย์ของอาจารย์กลับตรงกันข้าม พูดสรรเสริญพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ตลอดเวลา ศิษย์กับอาจารย์มีความเห็นไม่ตรงกัน ในองค์พระพุทธเจ้า อาจารย์เห็นไปในแง่เสีย ลูกศิษย์เห็นไปในแง่ดี แล้วต่างคนต่างพูด ไปตามความคิดเห็นของตน เรื่องนี้พระสงฆ์ได้ยินเข้า ก็นำไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้า ให้ทรงทราบ ว่าอาจารย์กับศิษย์มีทัศนะไม่ตรงกัน อาจารย์นั้นนินทาพระรัตนตรัย ลูกศิษย์กลับสรรเสริญพระรัตนตรัย

พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า พวกเธออย่าไปหวั่นไหว กับคำสรรเสริญ กับคำนินทาของสองคนนั้น เพราะคำพูดของสองคนนั้น ไม่มีอะไรที่จะทำให้พวกเธอดีขึ้นหรือเลวลง คือคำพูดของคนอื่นนั้น ไม่มีอำนาจอิทธิพลเหนือใครๆ เราจะดีไม่ใช่เพราะเขาชมว่าดี เราจะเสียไม่ใช่เพราะเขาติว่าเสีย แต่เราจะดีเพราะการกระทำของตนเอง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการวิพากย์วิจารณ์ของคนอื่นว่าดีว่าเสีย อันนี้ เป็นเรื่องที่พระผู้มีพระภาคบอกแก่ภิกษุเหล่านั้น ให้ทำในใจ ว่าอย่าไปหวั่นไหวกับคำชม คำนินทา หรือคำด่าว่าของใครๆ แต่ให้เอาคำด่าเหล่านั้นมาเป็นหลักสำหรับเตือนตนเอง

สมมติว่ามีใครคนหนึ่งเขาว่าเราไม่ดี เราอย่าไปโกรธเขา ถ้าเราไปโกรธเขา เราก็ไม่ได้กำไรอะไร แล้วก็ทำให้กิเลสเกิดขึ้นในใจ ควรจะอยู่เฉยๆ สงบจิตใจต่ออารมณ์นั้น อันนี้ก็จะต้องใช้สติกำกับความรู้สึกตัว ในเมื่อสิ่งนั้นมากระทบหู เราก็มีสติคอยควบคุมไว้ที่ตัวผัสสะที่มันมากระทบนั่นเอง ไม่ให้เกิดความเวทนา คือไม่ให้เกิดยินดี ไม่ให้เกิดยินร้าย ในเสียงที่มากระทบนั้น

และเมื่อเราหักห้าม ไม่ให้เกิดความยินดียินร้ายได้แล้ว เราก็ต้องพิจารณาต่อไปว่า ที่เขาว่าเราชั่ว เราชั่วตามเขาว่าหรือเปล่า ให้พิจารณาตัวเองสอดส่องมองดู การคิดการพูดการกระทำ การเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันของตัวว่า เรามีอะะไรเสียหายเหมือนกับที่เขาว่าหรือเปล่า ถ้าเราพิจารณาแล้วเห็นว่า ที่ตัวเรานั้น มีข้อบกพร่อง มีความเสียหาย ไม่ดีไม่งามอยู่ในจิตใจเรา เป็นหน้าที่ของเรา ที่จะต้องแก้ไขสิ่งนั้น ให้ดีให้งามขึ้น แล้วก็ควรจะไปขอบใจคนนั้น ที่เขาช่วยชี้โทษให้แก่เรา เพราะคนเราตามปกตินั้น มักจะมองไมเห็นความผิดของตัว

ความไม่ดีของตัวไม่มีใครมองเห็น เพราะคนเรามักจะมองแง่ที่ดีไปทั้งหมดในเรื่องของตัว เรื่องชัวไม่ค่อยมอง แล้วคนเราโดยปกติแล้ว ไม่ใช่ดีร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่ว่าจะเสียร้อยเปอร์เซ็นต์ มีดีมีเสียปะปนกันอยู่ด้วยกันทั้งนั้น เพราะยังเป็นปุถุชน คำว่า เป็นปุถุชน หมายความว่า เป็นคนมีสติปัญญาไม่สมบูรณ์ ยังมีข้อบกพร่องอยู่ในความคิด ในการพูด ในการกระทำ เมื่อเรามีความบกพร่องเราควรจะยินดี ในเมื่อคนอื่นเขามาเตือนสติ มาบอกมากล่าวว่า คุณไม่ดีอย่างนั้น ไม่ดีอย่างนี้ เราจะไปโกรธเขาทำไม แต่เราควนจะนึกว่าเราไม่ดี เหมือนเขาว่าหรือเปล่า ถ้ามองเห็นว่าเรามีสิ่งไม่ดีเหมือนเขาว่า ก็ควรจะนึกขอบใจเขาที่ช่วยแนะช่วยเตือน ให้เราได้เกิดความรู้สึกสำนึกได้ แล้วเราควรจะเปลี่ยนแปลงความคิด การพูด การกระทำ ซึ่งเรียกว่าไม่ดีนั้น ให้เป็นความดีขึ้นมา อย่างนี้ก็จะเป็นการเรียบร้อย

คำนินทานั้นไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่เรา เหมือนกับคนโบราณเขาแสดงหนังตะลุง เวลารบกับยักษ์ มันแผลงศรมา แผลงศรมาที่พระฤาษี พระฤาษีความจริงไม่ได้ไปรบกับเขาหรอก แต่ว่าลูกศิษย์ไปรบ ลูกศิษย์ไปรบ ฤาษีก็ทนไม่ได้ ต้องไปเป็นกองเชียร์ให้ลูกศิษย์หน่อย ยักษ์มันโกรธว่าฤาษีไม่เข้าเรื่อง ไม่ใช่กิจของฤาษีมาทำนอกเรื่อง มันเลยแผลงศรมาเพื่อจะตัดคอพระฤาษี แต่ว่าพอลูกศรมามันกลายเป็ดอกไม้ไปเสีย ลูกศรที่แผลงมาแทนที่จะเป็นลูกศรอาบยาพิษ กลายเป็นดอกไม้บูชาพระฤาษี สมัยเด็กๆ เคยดูหนังตะลุง นึกว่าฤาษีแกเก่งจริง แกมีฤทธิ์มีอำนาจจเป่าลูกศรยักษ์ให้เป็นดอกไม้ไปได้ เด็กมันก็ดูไปในรูปอย่างนั้น ดูตามประสาของเด็ก

ครั้นเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ มาศึกษาธรรมะอะไรเข้า ก็มาเกิดความคิดค้นในแง่ธรรมะว่า ไม้ที่กลายมาจากศรยักษ์ ไม่ใช่ดอกไม้ธรรมดา แต่หมายความว่า ลูกศรเป็นอารมณ์ที่มากระทบจิตใจ ลูกศรมันจะแทงเราให้เจ็บช้ำน้ำใจ แต่ถ้าเรามีปัญญาเราก็แปลงลูกศรนั้นให้เป็นดอกไม้ คือให้เห็นไปในแง่ดีแง่เป็นประโยชน์ ไม่ให้มันก่ออทุกข์ก่อโทษแก่เรา ความจริงมันเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นเมื่อคนอื่นแผลงลูกศรมาใส่เรา ด้วยคำพูดนินทาด่าว่าเสียดสี กระทบกระเทียบเปรียบเปรยอย่างไรก็ตาม เราก็มาคิดแต่เพียงว่า มันเป็นเรื่องมีประโยชน์ ลูกศรนั้นก็กลายเป็นดอกไม้ ไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่เรา กลายเป็นดอกมะลิไป กลายเป็นดอกกุหลาบไปเสียก็ได้ เราก็ปลอดภัย ไม่มีความทุกข์ไม่มีความเดือดร้อน อันเกิดขึ้นจากลูกศรนั้น อันนี้แหละเป็นเรื่องสำคัญที่เราควรจะทำใจไว้ในรูปอย่างนี้

เวลานี้คนเราไม่รู้จักทำใจ เวลามีอะไรกระทบการะเทือน ก็พูดตอบไปในทางเสียหาย ตัวอย่างเช่นเห็นง่ายๆ ในเรื่องของพวกนักการเมือง พวกที่จะไปทำให้พวกนักการเมืองต่อยกันก็คือ นักข่าว นักข่าวเขาเรียกว่าพวกหาเรื่อง แล้วก็หาเรื่องไม่ใช่จะมาลงข่าวอย่างเดียว หาเรื่องให้คนทะเลาะกันด้วย ไปสัมภาษณ์คนนั้นว่าอย่างนั้น พอเสร็จแล้วไปบอกคนนั้นว่า เขาว่าคุณอย่างนั้น คนที่ถูกสัมภาษณ์ทีหลัง เขาเรียกว่าไม่มีปัญญา ไม่มีความคิดความอ่าน พอเขาสัมภาษณ์ อ้ออย่างนั้นไม่ได้มันไม่ถูกต้อง อย่างนี้มันต้องเล่นงานกัน นักข่าวก็นั่งยิ้มแป้นชอบใจ กูหยิกท้ายมดให้กัดกันได้สมใจเล้ว ให้มดมันกัดกันแล้วก็เอาไปเขียนทั้งสองฝ่าย ข่าวคนโน้นก็เขียนคนนี้ก็เขียน แล้วก็เกิดเป็นอาหารของหนังสือพิมพ์ต่อไป อย่างนี้เป็นตัวอย่าง

ทีนี้ถ้าหากว่าเราเป็นคนฉลาด เราทำเรื่องจริงให้มันเป็นเรื่องเล่นไปเสียก็ได้ ให้เป็นเรื่องสนุกไปเสียก็ได้ มันจะไม่มีเรื่องอะไร อันนี้อยากจะเล่านิทานเซ็นให้ญาติโยมฟังสักเรื่องหนึ่ง คือเรื่องของพระนิกายเซ็น พระญี่ปุ่นนิกายเซ็น อาจารย์คนนั้นกแกก็เป็นคนมีชื่อเสียง อยู่ในวัดปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เป็นที่เคารพบูชาของมหาชน แต่ว่ามีเด็กหญิงข้างวัดคนหนึ่ง ลูกของเจ้าของร้านขายน้ำชา เด็กหญิงคนนั้นเกิดมีท้องขึ้น โดยไม่รู้ว่าใครเป็นสามี พ่อก็โกรธเรียกมาขู่ตะคอก ตีอย่างนั้นอย่างนี้ทุกวันๆ ลูกสาวเจ็บบ่อยๆ พ่อถามว่า ใครทำให้เอ็งมีท้อง เจ็บหนักเข้าไม่รู้ว่าจะบอกว่าใครก็เลยบอกว่า หลวงพ่อในวัดนั่นเอง ว่าไปใส่ให้ให้หลวงพ่อเข้าให้แล้ว

พ่อก็เลยโกรธไปถึงต่อว่าหลวงพ่อ บอกว่า แหมเป็นพระเป็นเจ้านึกว่าเป็นคนดีเป็นคนเรียบร้อย กราบไหว้บูชาอุดหนุนจุนเจือทุกสิ่งทุกประการ ไม่น่าเลยที่จะทำอย่างนี้ ไปทำให้ลูกสาวฉันมีท้องแล้วไม่รับเสียด้วย หลวงพ่อองค์นั้นแกพูดว่าอย่างไร แกพูดว่า "อ้อ อย่างนั้นหรือ" อ้ออย่างนั้นหรือ เท่านั้นแหละ แล้วคนนั้นก็กลับไป วันหลังผ่านมาก็มาด่าอีก วันไหนกลุ้มขึ้นมาก็ด่าหลวงพ่ออีก หลวงพ่อแกไม่ว่าอะไร แกบอกว่า "อ้ออย่างนั้นหรือ" คนนั้นก็กลับไปทุกที อยู่ต่อมาหญิงคนนั้นครบสิบเดือน ก็คลอดลูกออกมา เป็นผู้ชาย พ่อของหญิงนั้นก็คิดว่า เออเกิดแล้วก็ต้องเอาไปคืนให้พ่อมัน เอาไปให้พ่อมันเลี้ยง เอาไปให้หลวงพ่อ หลวงพ่อก็ผูกเปลไป ไกวเปลไปป้อนข้าวป้อนน้ำไปตามเรื่อง ชาวบ้านมาเห็นก็ว่า เออสมน้ำหน้า ไม่ปฏิบัติธรรมะไม่เจริญภาวนา ไปเที่ยวทำให้เขามีลูกมีเต้า ก็ต้องเอามาเลี้ยง สมน้ำหน้าไหมล๊ะ "อ้ออย่างนั้นหรือ" ท่านก็ตอบว่า "อ้ออย่างนั้นหรือ" ไม่ว่าอะไรเลี้ยงลูกเต้าเขาไปตามเรื่อง ไม่โกรธไม่เคือง

ทีนี้ต่อมาแม่หญิงคนนั้นแกนึกได้ว่า แหม เรานี่บาปมากเสียแล้ว ไปทำให้หลวงพ่อถูกด่าถูกว่าบ่อยๆ ทำให้คนเขาไม่เลื่อมใสศรัทธา ต้องพูดความจริงเสียทีเถอะ เลยก็ไปบอกว่า ที่หนูบอกว่าหลวงพ่อทำให้หนูท้องมันไม่จริงหรอก หนูท้องกับเจ้าหนุ่มร้านกาแฟตรงกันข้ามนั่นเองแหละ เลยก็เรียกเจ้าหนุ่มนั้นมา มาถามว่าจริงไหม บอกว่า จริง ทำไปไม่บอก ก็ไม่ถามจะบอกอย่างไร เมื่อเป็นอย่างนั้นก็ไปปวัดอีก พ่อของเด็กนั้นก็ไปที่วัด ไปที่วัดก็ไปจัดดอกไม้ธูปเทียนไปขอโทษขอโพย บอกว่า ขอโทษหลวงพ่อที่ทำให้หลวงพ่อเดือดเนื้อร้อนใจ หลวงพ่อท่านตอบว่า "อย่างนั้นหรือ" หลวงพ่อว่า "อย่างนั้นหรือ" เสร็จแล้วมันก็หมดเรื่องกัน เขาเรียกว่ารู้จักคิดจักนึก ไม่เอาเรื่อง ไม่โกรธไม่ตอบ ก็ตัวเราไม่ได้เสียหายอะไร เรายังบริสุทธิ์ผุดผ่องอยู่ แล้วเขานินทาว่าร้ายอย่างนั้น ท่านก็ไม่ว่าอะไร แต่ท่านว่า อย่างนั้นหรือ เท่านั้นเอง นี่มันก็ดีเหมือนกัน

คนไทยเรามีคำพูดอยู่คำหนึ่งว่า "ช่างหัวมันเถอะ" ฟังแล้วดูเป็นคำตลาดๆ ไปหน่อย แต่ถ้าเอามาใช้ในแง่ธรรมะ มันก็เป็นประโยชน์เหมือนกัน เช่นมีอะไรเกิดขึ้นเราก็ว่า ชั่งหัวมัน ชั่งหัวมันเถอะ เราว่าอย่างนั้น คอยพูดกับตัวเองไว้ ชั่งหัวมันเถอะ ใครจะพูดจะนินทาว่าอย่างไรเราก็ว่า ชั่งหัวมันเถอะอย่างนี้มันก็สบายใจ ไม่วุ่นวายไม่เดือดร้อน

เขาเล่าว่า พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ท่านสิ้นพระชนม์ไปนานแล้ว ท่านองค์นี้เป็นนักเรียนนอกเหมือนกัน แล้วก็ไปบวชประเทศศรีลังกา บวชแล้วสร้างวัดวาสร้างเจดีย์อะไรไว้สวยงาม ท่านเป็นนักเรียนวิศวะ แล้วก็ต่อมาท่านก็ลาสิกขา กลับมาอยู่ที่วัดกรุงเทพฯ ที่หน้าวังของท่านมีตาชั่ง เหมือนกับกระทรวงยุติธรรมวางไว้อันหนึ่ง แล้วในตาชั่งอันนั้นแกวางอะไรไว้รู้ไหม วางหัวมันไว้สองหัว ชั่งหัวมันนั้นเอง ติดไว้หน้าวัง คนเดินไปเดินมาท่านมานั่งมองดู คนเห็นชั่งหัวมันก็ว่าเจ้าวังนี้ไม่ค่อยเต็มเต็ง ชั่งหัวมันท่านได้ยินก็ยิ้ม ยิ้มว่าคนมันว่า ว่าเจ้าชั่งหัวมัน ท่านเอาหัวมันมาวางไว้เพื่อสอนคน สอนว่า ให้ชั่งหัวมันเสียมั่ง อย่าไปยึดไปถือ อย่าเอามาเป็นอารมณ์ อย่านึกว่าเป็นของกูๆ ตลอดไป ให้รู้จักปล่อยรู้จักวาง ใครเขาว่าอะไรก็ชั่งหัวมันเถอะ มันก็ไม่มีอะไร อันนี้มันก็ดี

สังคมในยุคปัจจุบันนี้น่าจะใช้ ใช้คำว่า ชั่งหัวมันเสียมั่ง เวลามีอะไรเกิดขึ้นชั่งหัวมัน พอพ้นระยะหนึ่ง เรียกว่าระยะสั้นส่วนการแก้ปัญหาในระยะยาวนั้น เราต้องมาคิดว่า เออ เขาว่าอย่างนั้นเขาว่าออย่างนี้ มีอะไรเป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่ ก็แก้ไขต่อไป นี้เรียกว่าในฝ่ายเสีย ด้านเขาติเรา ในเรื่องชมก็เหมือนกัน คนที่ชมเรานั้นก็ต้องระวังเหมือนกัน อยู่ดีๆ มาถึงเขาก็ชมใหญ่เชียว ต้องมีแผนการแล้ว มาชมอย่างนั้น จะยืมสตางค์เรา หรือจะขออะไรจากเรา หรือว่าจะไหว้วานเราให้ทำอะไรแก่เขา มันมีเรื่อง อยู่ดีๆ จะมานั่งชม มันไม่ได้อะไร ต้องมีเรื่อง เราอย่าไปหลงลมที่เขาชมเรา แต่เราต้องคิดว่าเออมันจะมาไม้ไหนก็ไม่รู้ ทำอย่างไรก็ไม่รู้ ต้องระวังตัวไว้ เพื่อจะได้แก้สถานการณ์ต่อไป และถ้าหากว่าใครเขาชมเราเราอย่าไปเมา แต่เราคิดงว่าเออเขาว่าเราดี เขาว่าเราเป็นอย่างนั้นอย่างนี้เรามีอย่างนั้นหรือเปล่า ถ้าเรามองเห็นว่าเรามี ดีแล้วสมตามที่เขาชมเรา ต้องรักษาระดับความดีนี้ไว้ แล้วก็ให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ อันนี้จะช่วยให้สบายใจ ไม่เกิดปัญหายุ่งยากแก่ชีวิตจิตใจของเรามากเกินไป ในเรื่องเกี่ยวกับคคำติคำชม

ในเรื่องอื่นก็เหมือนกัน เช่นเรื่องสุขเรื่องทุกข์ ญาติโยมทั้งหลาย ในชีวิตประจำวันก็ย่อมมีความทุกข์บ้าง มีความสุขเกิดขึ้นในใจบ้าง ไม่มีใครเลยจะเป็นสุขตลอดเวลา หรือเป็นทุกข์ตลอดเวลา ถ้าผู้นั้นยังไม่เป็นพระอรหันต์ พระอรหันต์นั้นท่านมีแต่ความปกติ เขาไม่เรียกว่าเป็นสุข ท่านปกติของท่าน คือจิตของท่านอยู่ในสภาพปกติ ไม่ขึ้นไม่ลง แต่ว่าปุถุชนเรานี้ ยังขึ้นยังลง ถ้าขึ้นก็เรียกว่าเป็นความสุข ถ้าลงก็เรียกว่าเป็นความทุกข์ นั่นเป็นเรื่องของคนธรรมดาๆ ที่ยังอยู่ในกระแสของกิเลส คือยังยินดียินร้าย ยังพอใจ ไม่พอใจ ยังเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เราก็เรียกว่าเป็นสุขเป็นทุกข์

แต่ชีวิตของพระอรหันต์นั้น ท่านไม่มีสภาพเป็นอย่างนั้น ท่านมีสภาพจิตเป็นปกติ จิตปกติของพระอรหันต์นั้น คือผุดผ่อง ไม่มีเศร้าหมอง ไม่มีความขุ่นมัว ไม่มีกิเลสเข้ามาเกาะจับอยู่ในจิตใจของท่าน อะไรจะมากระทบอายตนะของท่าน รูปกระทบตา เสียงกระทบหู กลิ่นกระทบจมูก รสกระทบลิ้น อะไรมากระทบกายประสาท ไม่มีอำนาจปรุงแต่งจิตใจของท่าน จิตใจของท่านไม่ถูกปรุงแต่ง ท่านจึงอยู่ในสภาพที่เรียกว่าปกติ

ความปกติอันนี้แหละ เราเรียกว่าสุข อย่าพูดว่าสุขอย่างยิ่ง พูดตามภาษาชาวบ้าน ไม่ใช่ภาษาของพระอรหันต์ ภาษาของพระอรหันต์นั้นไม่มีคำว่าสุขว่าทุกข์ ทีแต่คำว่า ปกติ คือมันอยู่อย่างนั้น คือไม่ขึ้นไม่ลง แต่พูดให้ชาวบ้านเข้าใจก็ว่ามีความสุขเป็นสุขอย่างยิ่ง สุขที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่ขึ้นไม่ลงอะไรทั้งนั้น นั่นสภาพของพระอรหันต์ท่านเป็นอย่างนั้น แต่ว่าเราที่เป็นคนธรรมดา ยังอยู่ในอำนาจของอารมณ์ คือสิ่งใดมากระทบก็เกิดหวั่นไหว ยินดีบ้าง ยินร้ายบ้าง เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง เพราะอารมณ์นั้นๆ มากระทบ อันนี้เป็นเรื่องธรรมดา

เราควรจะได้ทำอย่างไรที่จะไม่ให้จิตขึ้นลงกับอารมณ์นั้นๆ พูดกันโดยปกติแล้ว ญาติโยมทุกคนไม่ต้องการอยู่อย่างเป็นทุกข์ แต่ต้องการอยู่อย่างมีสุขใจสบายใจ ความสุขใจสบายใจ ก็หมายความว่า มีสภาพจิตใจสงบเหมือนน้ำอยู่ในถ้วยแก้ว มันอยู่นิ่งไม่กระเพื่อม เพราะไม่มีอะไรมากระทบให้เพื่อม แต่ถ้าเราไปดูน้ำในที่บางแห่ง เช่นน้ำในหนองในบึง มันกระเพื่อม แม้แต่ในทะเลที่ทางกรมอุตุเขาบอกว่าทะเลเรียบ มันเรียบอย่างแบบทะเลนั่นเอง ไม่ใช่ว่าเรียบอย่างนั้น ไม่ใช่ แต่ว่าคลื่นมันน้อยๆ มันไม่รุนแรง เราจึงเรียกว่า น้ำทะเลเรียบ

จิตใจก็มีสภาพเช่นนั้น ถ้าหากว่ามันสงบ ก็หมายความไม่กระทบกระเทือนด้วยสิ่งที่มารบกวนจิตใจ ไม่ขึ้นไม่ลง ไม่ยินดียินร้ายในสิ่งเหล่านั้น จิตใจของผู้นั้น อยู่ในสภาพสงบ แต่ว่าในปกตินั้น มันไม่สงบ บางครั้งก็มีเรื่องกลุ้มใจ วิตกกังวล ด้วยปัญหาอะไรๆ ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เช่นเรามีครอบครัวก็ต้องมีปัญหา ปัญหาเกี่ยวกับลูกบ้าง เกี่ยวกับงานบ้าง ทรัพย์สมบัติกิจกรรมอย่างโน้น อย่างนี้อย่างนี้อะไรต่างๆ นานา ทำให้ต้องมีความวิตกกังวลวุ่นวายใจอยู่บ้างบ่อยๆ และในขณะที่เรามีความวุ่นวายทางจิตใจนั้น เราลองสังเกตุใจเราว่าเป็นอย่างไร มันร้อนหรือว่าเย็น สงบหรือว่าวุ่นวาย มืดหรือว่าสว่าง

ถ้าเราพิจารณาตัวเองแล้วจะรู้ว่า มันมีความร้อนบ้างวุ่นวายบ้าง มืดบอดไปด้วยอำนาจกิเลสที่มากระทบจิตใจบ้าง อันนี้เป็นความสุขหรือไม่ เราก็ตอบว่ามันไม่เป็นความสุข แต่มันเป็นความร้อนอกร้อนใจ ไม่มีความสงบใจ และถ้าเราอยู่ในสภาพเช่นนั้น สักชั่วโมงหนึ่งสองชั่วโมง เราจะสบายไหม ไม่สบาย คล้ายๆ กับอยู่ใกล้กองไฟ ผิวหนังมันร้อนผ่าวอยู่ตลอดเวลา จิตใจมันเผาอยู่ด้วยอารมณ์อย่างนั้นตลอดเวลา อันนี้เป็นความทุกข์ทางจิตใจ เป็นเรื่องที่เราจะคิดแก้ไข

การศึกษาธรรมะ การปฏิบัติธรรมะ ในทางพระพุทธศาสนานั้น ก็มีจุดหมายอยู่ที่เรื่องนี้ เรื่องว่าเราจะอยู่ได้อย่างไร จึงจะมีจิตใจสงบเป็นปกติอยู่ได้ตลอดเวลา อันนี้เป็นปัญหาที่เราต้องศึกษา จากธรรมะ ของพระพุทธเจ้า จากวิธีแนวปฏิบัติจากแนวธรรมะ ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งทรงวางไว้ เพื่อเราอยู่ได้เป็นปกติไม่วุ่นวายมากเกินไป

 | หน้าถัดไป >>

» มองทุกให้เห็นจึงเป็นสุข

» ทุกข์ซ้อนทุกข์

» ไม่มีอะไรได้ดังใจเหมือนม้ากาบกล้วย

» วันนี้เจ้าอยู่กับฉันพรุ่งนี้มันไม่แน่

» มันเป็นเช่นนั้นเอง

» ศีลธรรมและสัจจธรรม

» แหล่งเกิดความทุกข์

» องค์สามของความดี

» หลักใจ

» ทำดีเสียก่อนตาย

» ตามรอยพุทธบาท

» ฐานของชีวิต

» ความพอใจเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง

» ชั่งหัวมัน

» อนัตตาพาสุขใจ

» ฤกษ์ยามที่ดี

» อดีต ปัจจุบัน อนาคต

» วิธีการสอนของพระพุทธเจ้า

» สำนึกสร้างปัญญา

» สอนลูกให้ถูกวิธี

» ปฏิวัติภายนอกกับภายใน

» ร้อนกายไม่ร้อนใจ

» อย่าโง่กันนักเลย

» การทำศพแบบประหยัด

» คนดีที่โลกนับถือ

» ความจริงอันประเสริฐ

» เสรีต้องมีธรรม

» ทาน-บริจาค

» เกียรติคุณของพระธรรม

» เกียรติคุณของพระธรรม (2)

» พักกาย พักใจ

» เกิดดับ

» การพึ่งธรรม

» อยู่ด้วยความพอใจไม่มีทุกข์

» มรดกธรรม

» ฝึกสติปัญญาปัญหาไม่มี

» ทำให้ถูกธรรม

» วางไม่เป็นเย็นไม่ได้

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย