ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

หอพระไตร


ธรรมบรรยายของ หลวงพ่อปัญญา

เรื่อง ชั่งหัวมัน

วันอาทิตย์ที่ 12 กันยายน 2519

2

บางคนอาจจะนึกไป วันนั้นคุยกับนักศึกษาหลายคน เป็นนักศึกษาผู้ใหญ่แล้ว ได้ปริญญาโทแล้ว กำลังทำปริญญาเอกอยู่ บอกว่าโลกในสมัยนี้มันแข่งขันกันในเรื่องการทำมาหากิน คนเราที่จะไปวัดไปวาเพื่อปฏิบัติตนไปนิพพานนั้นมันเป็นไปไม่ได้ เขาพูดว่าอย่างนั้น อาตมาได้ยินคำพูดเช่นนั้นก็นึกในใจว่า นี่ยังไม่เข้าใจความหมาย ยังไม่รู้จุดหมายแท้จริงของพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนานั้น สอนให้เราปฏิบัติธรรมเพื่อให้เราอยู่ในโลกได้อย่างชนิดที่เรียกว่าไม่ให้โลกมันทำร้ายเรา นี่จุดหมายมันอยู่ตรงนี้ ให้เราอยู่ในบ้านเรือน ปฏิบัติหน้าที่การงานเป็นปกติ โดยไม่ต้องเจ็บช้ำน้ำใจ ไม่ได้หมายความว่า เมื่อปฏิบัติธรรมแล้วต้องทิ้งบ้านทิ้งช่อง มาอยู่วัดวาอาราม หรือว่าไปอยู่ป่าดงอะไรอย่างนั้นไม่ใช่

ก็มีบ้างสำหรับบุคคลบางประเภท เช่นว่าผู้ที่มาบวชเป็นพระ ตั้งใจจะบวชอยู่ตลอดชีวิต ก็เพื่อจะได้ทำกิจพระศาสนา เพื่อศึกษาให้ลึกซึ้ง เพื่อปฏิบัติให้พ้นจากความทุกข์ได้อย่างเด็ดขาด แล้วจะได้เป็นพี่เลี้ยงญาติโยมทั้งหลายต่อไป ช่วยตักเตือนแนะนำญาติทั้งหลาย ให้เกิดความรู้สึกนึกคิดในทางที่ถูกที่ชอบ อันจะช่วยให้ชีวิตเรียบร้อยก้าวหน้า นั่นเป็นประเภทหนึ่ง แต่ว่าประเภทคนทั่วไปที่ยังคลุกคลีอยู่กับงาน ต้องทำการค้าขายธุรกิจ ติดต่อกับคนนั้นคนนี้ ทางศาสนาไม่ได้ห้าม ไม่ได้บอกว่าทำไม่ได้ ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ว่าให้ทำอย่างผู้มีปัญญา ไม่ใช่ทำด้วยอารมณ์ที่เร่าร้อนวุ่นวาย จิตใจกระสับกระส่ายอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ให้ทำด้วยจิตใจที่รู้เท่ารู้ทันต่อสิ่งนั้น ตามสภาพที่เป็นจริง สิ่งนั้นไม่ทำให้เราเกิดเป็นปัญหา ไม่ให้เราต้องเป็นทุกข์

หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า ให้เราทำงานด้วยความเพลิดเพลิน ด้วยความสนุกสบาย ไม่ใช่ทำงานด้วยความทุกข์ใจ ด้วยความเดือดร้อนใจ หรือด้วยความกระวนกระวาย ด้วยประการต่างๆ แต่ให้ทำงานด้วยอารมณ์สดชื่นรื่นเริง มีความสะดวกสบายอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่างานที่เราทำนั้นจะเป็นหนักงานเบา งานไกลงานใกล้ ยากง่ายอย่างไร ใจเราเป็นปกติคงเดิม ไม่ใช่ว่าพองานหนักแล้ว ใจมันหนักขึ้นมา พองานเบาก็เบาขึ้นมาไม่ใช่อย่างนั้น ถ้าอย่างนั้นเรียกว่ายังไม่ถึงธรรมะ ยังไม่รู้เท่าทันของสิ่งที่เข้ามากระจิตใจเรา เมื่อใดเรามีความรู้สึกในใจว่าเหมือนกัน งานหนักกับงานเบาเท่ากัน เหมือนกันในแง่ที่ว่า มันเป็นงานเท่านั้นเอง แล้วเป็นงานที่ต้องใช้สมอง ใช้ปัญญาคิดอ่าน เพื่อทำให้มันสำเร็จไป และในขณะที่เราทำนั้น เราไม่ได้ทำด้วยอารมณ์รีบร้อน แต่เราทำด้วยใจสงบเย็น การทำด้วยอารมณ์รีบร้อน กับการกระทำด้วยใจสงบเย็นนั้นมันผิดกัน

ให้สังเกตง่ายๆ อย่างนี้ก็แล้วกัน เวลาเราเดินทางไปไหนๆ ถ้าเราเดินด้วยความรีบร้อนมันเหนื่อยมาก แต่ถ้าเราเดินตามปกติ มันก็ถึงจุดหมายปลายทางเหมือนกัน แต่ว่าจิตใจนั้นไม่เหน็ดเหนื่อย เรามีปกติทางด้านจิตใจ หรืองานอะไรอื่นก็เหมือนกัน ถ้าเราทำด้วยความรีบร้อนนั่งเป็นทุกข์ ตัวอย่างง่ายๆ เช่นเราหุงข้าว ถ้าเราหิวเราจะรู้สึกว่ามันเดือดช้า เอาหม้อไฟฟ้าใส่ข้าวใส่น้ำ เสียบปลั๊กแล้วเรากำลังหิว นั่งมองหม้อข้าวทำไมมันเดือดช้าจริงๆ แรงไฟวันนี้มันเป็นอย่างไร ทำไมมันไม่เดือด ใจมันต้องการไว มันไม่ทันใจ เรามีความทุกข์ ใครมาพูดจาขวางหูเข้า เดี๋ยวก็เปรี้ยงปร้างเข้าให้เท่านั้นเอง นี่คือใจมันไม่ดี เพราะว่าไม่รู้จักบังคับใจตัวเอง

แต่ถ้าหากว่าเรารู้จักบังคับใจตัวเองได้ เราก็เสียบปลั๊กเข้าไป แล้วก็นั่งเฉยๆ มันร้อนของมันเอง แรงไฟมันวิ่งของมันเอง แล้วพอร้อนหม้อข้าวสุก มันตัดไฟของมันโดยอัตโนมัติของมันเอง เราไม่ต้องร้อนใจ เตรียมชามไว้ตักข้าว เตรียมช้อน เตรียมซ่อมไว้กินก็แล้วกัน อย่างนี้มันก็ไม่ยุ่งใจ อาการเช่นนี้มีแก่เราหรือไม่ ญาติโยมลองนึกเอามันก็มีเหมือนอย่างที่ท่านว่านั่นแหละ มีเอาบ่อยๆ เช่นขับรถไปไหนๆ บางทีก็ขับด้วยความร้อนใจ พอรถติดก็ยิ่งร้อนใจใหญ่ เพราะว่าไปไม่ได้ แล้วเวลาที่รถติดนั้นเราร้อนใจมันไปได้หรือเปล่า ก็ไปไม่ได้ก็ยังติดอยู่นั่นแหละ เพราะว่ารถข้างหน้ามันไม่เคลื่อนเราจะเลื่อนไปได้อย่างไร แต่ว่าใจมันไปก่อนรถ นี่แหละที่มันยุ่งใจ ความต้องการมันวิ่งไปข้างหน้า วัตถุยังไม่เคลื่อน แต่ใจของเราเคลื่อนเสียแล้ว จึงได้สร้างปัญหา สร้างความทุกข์ ความเดือดร้อนขึ้นในใจของเรา ด้วยประการต่างๆ

การปฏิบัติธรรมะก็เพื่อจะให้มีปัญญา ได้ระงับยับยั้งชั่งใจ ไม่ให้เกิดความร้อน เกิดความกระวนกระวาย ในสิ่งต่างๆ ที่เรายังไม่ได้ยังไม่มี เราต้องรู้จักรอต่อสิ่งนั้น ว่าเมื่อไหร่มันจะถึงเวลา ก็ต้องรอไปก่อน รอด้วยความสงบเยือกเย็น ผู้ใดมีใจสงบมีใจเยือกเย็น ผู้นั้นย่อมเป็นสุขในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ แต่ถ้าเกิดอารมณ์ร้อนเมื่อไหร่แล้วก็ไม่สบายใจ แล้วสังเกตดูว่าคนที่มีความร้อนในทางจิตใจบ่อยๆ นั้น ร่างกายมักจะผิดปกติ เช่นว่ามือไม้สั่นบ้าง ศีรษะสั่นบ้าง ประสาทมันเสียนั่นเอง เพราะเราไปเผามันบ่อยๆ ทำให้ส่วนต่างๆ ในร่างกายเปลี่ยนแปลงไป คือโทษในทางกายแล้วก็เป็นทุกข์ต่อไป

แต่ถ้าเราเป็นใจสงบเย็นแล้วไว้ ไม่มีเรื่องอะไรที่จะให้เกิดปัญหา เพราะฉะนั้นต้องหัดในเรื่องนี้ เช่นเราอยู่ในบ้านหัดได้ง่าย เพราะมีสิ่งรบกวนใจอยู่ตลอดเวลา เช่นว่าคนใช้บางทีมันก็ทำงานถูก บางทีก็ทำไม่ถูก บางทีก็ทำช้าไป บางทีก็เร็วไปอีก จนของเสียหายตกแตกไปก็มี ถ้าเราไปขุ่นกับอารมณ์ของคนใช้ เราจะไม่สบาย แล้วคนใช้จะหัวเราะเราอีกด้วยซ้ำไป หัวเราะว่านายเราอย่างนั้นขึ้นๆ ลงๆ ประเดี๋ยวเป็นอย่างนั้น ประเดี๋ยวเป็นอย่างนี้ วันก่อนนี้มีคนในบ้านๆ หนึ่งขับรถมาแล้วก็คุยเรื่องนายให้ฟัง แกนินทานายแกนั่นเองไม่ใช่เรื่องอะไร แกนินทาแบบขำๆ บอกว่านายผมอย่างนั้นอย่างนี้ อะไรต่างๆ จะไปเล่นไพ่ขับรถให้ไม่ทันใจก็โกรธ ตอนเลิกไพ่แล้วไปรับไม่ทันก็โกรธ เราไปไม่ทันรถมันติดอย่างนั้นอย่างนี้

นี่แหละ เขาเรียกว่าคนใช้มันมองนายในแง่น่าขำไป เพราะเราทำตัวตลกให้เขาหัวเราะ แต่ว่าเราจะต้องมีจิตใจสูงกว่าคนที่เราใช้ ใจที่สูงกว่าก็คือใจที่มีสติปัญญา รู้จักยังยั้งชั่งใจ ใจสงบใจเยือกเย็นไม่โกรธเคืองอะไรในเรื่องอะไรต่างๆ การดุการว่าคนไม่ฉุนเฉียวแล้วดุ ดุอย่างนั้นเหมือนกับดุตัวเราเอง เอาไฟไปเผาเขาแล้วเราก็ร้อนเองด้วย ไม่ดีอย่างนั้น เราดุด้วยใจเย็นเรียกมาสอนมาเตือน ทำอย่างนั้นไม่ถูกทำอย่างนี้ไม่ถูก ทำอย่างนั้นของเสียหายจะต้องระมัดระวัง ทำอะไรชนิดที่รวดเร็วอย่างนั้น หรือว่าทำอย่างนั้นอย่างนี้ ค่อยพูดค่อยจากัน ถ้าเราค่อยสอนค่อยแนะค่อยเตือนไป คนใช้นั้นก็จะมีจิตใจดีขึ้น เพราะเราคอยกล่อมเกลาเขา คอยแนะคอยเตือนเขา

อีกประการหนึ่ง ทำให้คนที่เขาอยู่กับเรานั้นมีความจงรักภักดี ความจงรักภักดีนั้น เกิดขึ้นเพราะเราไม่โกรธเขามากเกินไป แสดงความเห็นใจ ไม่แสดงอาการฉุนเฉียว อันคนที่โง่นั้นเป็นที่น่าสงสาร คนไม่มีความรู้เป็นคนที่น่าสงสาร แทนที่เราจะไปเกลียดเขา เรานึกว่าเป็นคนที่น่าสงสาร น่าเห็นใจ เราควรจะช่วยเขาในรูปใด เพื่อให้เขามีความคิดดีขึ้น มีการกระทำดีขึ้น อย่างนี้ก็จะทำให้สบายใจ ไม่วุ่นวาย ไม่เดือดร้อน การที่เราจะควบคุมจิตใจของเรานั้น นี่เป็นเรื่องสำคัญ การควบคุมจิตใจก็ควบคุมสิ่งที่มากระทบ ไม่ให้มันเกิดอะไรขึ้นมา คุมบ่อยๆ ทำบ่อยๆ แล้วก็ค่อยดีขึ้นเอง มันดีขึ้นโดยไม่รู้ตัวเป็นอัตโนมัติ ถ้าเราหมั่นทำบ่อยๆ คือหัดให้มีสติคอยควบคุมตัวเองไว้ ยังยั้งชั่งใจ อะไรมากระทบก็ไม่ให้เกิดอะไรวู่วาม อย่างนี้จะสบายใจได้ประการหนึ่ง คือการต่อสู้กับสิ่งที่เรียกว่า ความสุขความทุกข์ในชีวิตประจำวัน นี่เป็นเรื่องที่น่าคิด

ทีนี้ประการหนึ่ง เมื่อตะกี้นี้พูดขึ้นต้นว่า นายเมาเจ๋อตุงแกตายไป แล้วก็พูดให้โยมรู้ว่า ความตายมันเป็นเรื่องธรรมดา ที่จะเกิดมีแก่ทุกชีวิต อันนี้คนเราไม่ค่อยได้คิด เรื่องความตายไม่ค่อยคิด เพราะคนเราไม่ค่อยคิด เพราะคนเรามีความต้องการที่จะอยู่มาก ทุกคนเหมือนต้องการที่จะอยู่ทั้งนั้น ไม่มีใครอยากตาย แต่ว่าก็ไม่ได้ว่าไม่ให้อยู่ อยู่ไปตามเรื่อง แต่เราจะต้องคิดไว้บ้างว่าเราจะอยู่ค้ำฟ้าไม่ได้ ชีวิต เป็นของไม่เที่ยง มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา วันหนึ่งมันต้องถึงจุดจบเป็นธรรมดา อันนี้เป็นเรื่องที่ควรจะได้คิด

ปกติคนเราไม่ค่อยจะได้คิดถึงเรื่องนี้ เพราะไม่ได้คิดถึงเรื่องความตายนี้แหละ จึงทำให้คนเกิดความประมาทมัวเมาในทรัพย์สมบัติ มัวเมาในความเป็นใหญ่ในอำนาจวาสนา ในเรื่องอะไรต่างๆ อันเป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตทั้งนั้น แล้วเกิดความวุ่นวายขึ้นในภายหลัง เพราะไม่ได้นึกถึงเรื่องเกี่ยวกับความตายไว้บ้าง ถ้าหากว่าได้เอาความตาย ที่เราได้เป็นข่าวมาเป็นเครื่องเตือนใจเราว่า แกเองนี่แหละสุดท้ายชีวิตมันก็จบลงกันที่ตรงนี้ แม้จะมีอำนาจสักเท่าใด ยิ่งใหญ่สักเท่าใด ใครๆ เขาก็จะเคารพบูชาสักเท่าใด ก็ต้องถึงจุดจบคือถึงแก่ความตาย เป็นเรื่องที่หนีไม่พ้น เมื่อเราคิดอย่างนั้นเราก็ควรจะถามตัวเราเอง พิจรารณาถึงสังขารร่างกายของเราเอง ว่ามันก็จะต้องเป็นอย่างนั้น เป็นเรื่องธรรมดา

เพราะว่าความตายกับความเกิดนั้น เป็นของคู่กัน มาด้วยกันไปด้วยกันอยู่ตลอดเวลา แล้ววันหนึ่งมันจะปรากฏแก่ตาของเราเอง ว่ามันเป็นอย่างนั้น การนึกคิดในเรื่องความตายนี้ ไม่ใช่เรื่องเสียหาย ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เรียกว่าอัปมงคลอะไร แต่เป็นเรื่องเป็นมงคล เป็นเหตุให้คนมีความก้าวหน้าในชีวิต ในการงานด้วยประการต่างๆ เพราะเราได้นึกถึงเรื่องความตายไว้บ้าง คนที่นึกถึงความตายนั้น จะเป็นคนที่ขยันขันแข็งเอางานเอาการ เพราะรู้ว่าชีวิตนี้มันน้อย มันสั้น เราควรจะรีบทำให้เป็นประโยชน์ให้มากที่สุด เท่าที่จะมากได้ ถ้านึกถูกต้อง แต่บางคนมานึกถึงความตายไม่ถูกเป้าหมาย คือพอไปเห็นคนอื่นตาย หรือใครตายแล้วใจอ่อนไป กลัวต่อความตาย มืออ่อนตีนอ่อน แล้วก็นึกว่า จะทำไปทำไปทำไม ตายแล้วก็เอาไปไม่ได้ ไปนึกอย่างนั้น อันนี้ไม่ถูกเรื่อง ไม่ตรงตามจุดหมายของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าสอนให้คิดถึงความตายนั้น ก็เพื่อให้รู้ว่าเราจะต้องตาย เราหนีจากความตายไปไม่พ้น และเมื่อรู้ว่าเราจะต้องตาย หนีจากความตายไปไม่พ้นแล้ว เราควรจะได้ใช้ชีวิตเท่าที่เหลืออยู่นี้ ให้เป็นประโยชน์ ด้วยการประกอบหน้าที่ที่เราจะต้องกระทำ

ทุกคนมีหน้าที่ด้วยกันทั้งนั้น ใครมีหน้าที่อันใด จงทำหน้าที่อันนั้นให้สมบูรณ์ให้เรียบร้อย ไม่ให้ขาดตกบกพร่อง อย่างนั้นจึงจะเป็นประโยชน์แก่ชีวิตแก่ครอบครัว ตลอดถึงประเทศชาติบ้านเมือง เพราะฉะนั้นการนึกถึงความตาย คือให้นึกว่าเราจะต้องตาย เมื่อนึกว่าจะตายแล้วเราก็ไม่ประมาท รีบเร่งกระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ชีวิต เช่นในเรื่องการงาน ในด้านวัตถุ ที่เราพูดในภาษาธรรมะว่า ในด้านคดีโลก คดีโลกหมายความว่าในด้านวัตถุ เช่นการแสวงหาทรัพย์สินเงินทอง ประกอบการงานไปตามหน้าที่ เราก็ทำไปตามเรื่องตามหน้าที่ที่เราจะกระทำได้ แล้วก็ทำด้วยความตั้งอกตั้งใจ ทำให้เรียบร้อยทำให้ดีที่สุด เพราะเรานึกว่าชีวิตไม่แน่ไม่เที่ยง เราอาจจะดับลงไปเมื่อใดก็ได้

เพราะฉะนั้นเมื่อเราจะดับลงไปให้งานที่เหลืออยู่นี้สมบูรณ์เรียบร้อย ไม่ให้ใครติเราได้ว่าเราบกพร่องในหน้าที่ บกพร่องในการงานทำให้ดีทุกวินาทีของงานนั้นๆ เวลาเราตายไปก็ไม่มีใครด่าว่า ไม่มีใครติเรา ว่าเป็นคนอย่างนั้นเป็นคนอย่างนี้ เพราะเราได้นึกถึงเรื่องความตายอยู่แล้ว ได้ทำงานนั้นให้สมบูรณ์ให้เรียบร้อย ไม่ว่าจะเป็นงานส่วนตัว ส่วนรวม ตลอดจนถึงประเทศชาติ เช่นเราเป็นข้าราชการก็ทำงานให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ตามหน้าที่เราจะกระทำได้ ยิ่งคนที่ใกล้จะเกษียณด้วยแล้ว ยิ่งนึกเรื่องให้มากหน่อย ว่าเรานี้ใกล้เกษียณแล้ว ฝากฝีไม้ลายมือไว้ทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะดีได้ ในสำนักงานของเรา เมื่อเราออกไปแล้ว คนมาอยู่ทีหลังจะได้เอาเป็นตัวอย่าง จะพูดจาสรรเสริญเยินยอคนชื่อนั้น ทำงานอยู่ในกรมนี้กองนี้ในกระทรวงนี้ ออกจากราชการไปแล้ว ท่านทิ้งสิ่งที่เป็นประโยชน์ไว้หลายอย่าง หลายประการ คนมาทีหลังก็จะเชิดชูบูชา เพราะเราทำอะไรดีไว้

เพราะเรื่องการกระทำอะไรทิ้งไว้เป็นความดีนั้น ถือว่าเป็นหน้าที่ที่เราทุกคนจะต้องกระทำ การกระทำอะไรไม่ดีนั้น นอกเหนือหน้าที่ เรียกว่าไม่ปฏิบัติธรรมะ ผู้ที่ปฏิบัติธรรมะต้องทำทุกสิ่งทุกอย่าง ให้เป็นธรรม แล้วก็สบายใจ ไม่มีเรื่องอะไรที่จะเดือดเนื้อร้อนใจ ยิ่งบุคคลที่เป็นนักการเมือง ทำงานแก่ประเทศชาติบ้านเมือง เวลานี้เขาเรียกว่ามีผู้แทน มีผู้บริหารประเทศชาติคนหนึ่งก็สี่ปีเท่านั้น สี่ปีแล้วก็เหมือนกับว่าสี่ปีตาย คือตายจากการเมืองไป จะเกิดอีกหรือไม่นั้นมันอยู่ที่ประชาชน แล้วไม่ใช่อยู่ที่ประชาชน ล้วนอยู่ที่ผลงานที่ทำไว้ ถ้าเราทำงานได้ดีก็เกิดอีก แต่ถ้าหากว่าเราทำงานไม่ดี ไม่ได้เรื่อง ไม่เป็นประโยชน์เขาก็ไม่ให้เกิด หมายความว่าสี่ปีตายไปเลย ไม่ได้เกิดอีกต่อไป นั่นก็เป็นความตายเหมือนกัน เรียกว่าตายจากหน้าที่การงานการเมืองไป เพราะว่าเราทำไว้ไม่เหมาะไม่ควร

แต่ถ้าเราทำดีไว้ มีอาลัยใยดีกันอยู่ ต้องให้เกิดอีก ต้องเลือกอีกคนนี้มันเก่ง งานดี ซื่อสัตย์ สุจริต มือสะอาด ทำงานเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม ก็มาเกิดต่อไป เกิดต่อไปก็ทำต่อไป ไม่ใช่ว่านึกว่าจะอยู่ค้ำฟ้า อยู่แค่สี่ปีเท่านั้น อนาคตขึ้นอยู่กับงานในปัจจุบันนี้ เพราะฉะนั้นต้องทำให้ดีที่สุด ก็ทำงานไปด้วยความเรียบร้อยก้าวหน้าด้วยดีนั่นเรียกว่านึกถึงความตายในระยะสั้น

แต่ถ้าเราระลึกถึงในระยะยาว ว่าชีวิตของเรานี้ มันไม่ยั่งยืนถาวร เรามีโอกาสได้เข้าไปรับใช้ประเทศชาติ ชั่วระยะที่เขากำหนดให้เราเป็น ต้องเป็นให้สมบูรณ์ เป็นให้เรียบร้อย เป็นให้ชื่นชอบแกคนทั้งหลาย ที่เขามองดูอยู่ คือเจ้าของงาน ประชาชนคือเจ้าของงาน เราเข้าไปทำงานให้แก่เขา เขามองเราเพ่งอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราทำดีทำเรียบร้อยเขาก็จ้างต่อ แต่ถ้าทำไม่เรียบร้อยเขาก็ปลดออก เพราะฉะนั้นจึงต้องจัดงานให้เรียบร้อย ให้ก้าวหน้า เป็นไปทุกประการ เพราะนึกถึงความตายนี้ประการหนึ่ง

อีกประการหนึ่ง ถ้าเรานึกถึงความตายว่า ชีวิตเรามันไม่แน่นอน เราจะต้องจากงานนี้ไปเมื่อใดก็ได้ เราก็ควรจะให้คนอื่นเขาทำต่อไปแทนเรา สร้างงานสร้างการสร้างระเบียบอะไรทุกอย่าง เพื่อให้คนอื่นเขาทำแทนเราต่อไป เราจะได้ออกไปนั่งดูผลงานที่เราทำไว้ การให้คนอื่นทำแนนนั้นเราออกนั่งดู ให้คำปรึกษาคำตักเตือนเขาได้ ว่าคนนั้นจะได้ทำอะไรต่อไป มีคนอยู่ครอบครัวหนึ่ง พ่อบ้านเป็นผู้ไม่ประมาท เลี้ยงลูกดี คือลูกทุกคนให้ทำงาน มอบงานให้ แล้วคอบคุมอยู่ ดูตลอดเวลา เพราะนึกว่า ไม่กี่วันพ่อจะตายแล้ว แต่ว่าพ่อคนนั้นก็ไม่ตาย อยู่มาถึงเจ็ดสิบกว่าจึงตาย แต่เมื่อตัวตายนั้น ลูกสร้างงานเป็นหลักฐานทั้งนั้น งานดีเพราะว่าพ่อคอยคุมไว้ คอยแนะนำตักเตือน คอยติข้อบกพร่อง แล้วคอยชี้แนะ ว่าควรจะทำอะไรต่อไป คอยแนะคอยเตือนเป็นที่ปรึกษาให้แก่ลูกๆ ลูกๆ ก็ทำงานก้าวหน้าเป็นไปด้วยดี พอพ่อถึงแก่กรรมไป กิจการก็ไม่ล้ม เพราะว่าพ่อได้วางงานงานฐานไว้ดี นี้ฉันใด

ในประเทศชาติก็เหมือนกัน คนที่เข้าไปบริหารงานประเทศชาติ ถ้านึกถึงว่าชีวิตเรามันน้อยมันสั้น เราจะไม่ได้อยู่ยั่งยืนตลอดไป แต่ว่าชาติไม่ตาย เพราะว่ามีคนสืบต่อ เราให้คนอื่นเขาทำต่อไป เราทำมาพอสมควรแล้ว ถ้าคิดอย่างนี้แล้วยุ่งชีวิตไม่วุ่นวาย ไม่ต้องลำบาก ต้องอยู่อย่างสบาย เพราะเรารู้จักถอยทหารเขาถอยเป็น ไม่ใช่ว่ารุกตลอดเวลา

สงครามโลกครั้งที่สองที่มีชื่อว่า ดันเคิร์ก อยู่ในประเทศฝรั่งเศส การล่าถอยของทหารอังกฤษนั้นแหละ คือความชนะ ถอยเพื่อตั้งตัว เพื่อรบต่อไป ไม่ใช่บุกเข้าไปเป็นเหยื่อของปืนกล รถถังเยอรมันต่อไป เพราะเยอรมันมีปืนกล มีรถถังอย่างดี ขืนสู้ตายหมดเลย ถอยลงทะเล เรือแพมีกี่ลำ คนอังกฤษเขาพร้อมเพรียบกัน มีเรือหาปลาอะไรเอาไปใช้หมด เอาไปขนทหารข้ามฟาก เพื่อกลับมาบ้านเดิมก่อน มาตั้งตัวใหม่ แล้วผลที่สุดเป็นอย่างไร เยอรมันแพ้ เพราะมีการถอยทัพเพื่อตั้งตัวต่อไป เยอรมันบุกรัสเซียก็เหมือนกัน รัสเซียมันถอยเป็น เอาตีมาเถอะพ่อเจ้าประคุณ รุกใหญ่ พอถึงหน้าหนาวมันไปไม่รอดแล้ว เจ้าแม่เหมันต์ช่วยรัสเซียแล้ว เยอรมันต้องตั้งรับ ไอ้นั่นก็บุกใหญ่เลย เยอรมันก็แพ้ เพราะเขาถอยเพื่อเอาชัย

คนเราก็เหมือนกัน ต้องรู้จักถอย ในเวลาควรถอย รู้จักรับ ในเวลาควรรับ อย่างนี้มันก็ไม่เป็นไร การถอย การรับนี้ ก็ต้องนึกถึงความตาย ว่าเรานี้จะต้องตาย เพราะฉะนั้นมีอะไรควรถอย เราต้องถอย ทำอะไรก็ควรคิดควรทำต่อไปตามหน้าที่ เรื่องมันก็เรียบร้อย เป็นไปด้วยดี ไม่มีความเสียหาย อันนี้เป็นตัวอย่าง

เพราะฉะนั้น ในทางพระพุทธศาสนาท่านจึงสอนเราทั้งหลายว่า ให้เจริญมรณัสสติ เป็นอนุสสติประการหนึ่ง ในอนุสสติสิบประการ คือให้นึกเสมอๆ ว่าเราหนีความตายไปไม่พ้น ความตายกับชีวิตเป็นของคู่กัน เราอาจถึงความแตกดับเมื่อใดก็ได้ พูดไว้บ่อยๆ กับตัวอย่างนี้ มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น เราจะได้ไม่เศร้าโศกเสียใจ เช่นบิดามารดาตายจากไป เราไม่เสียใจเกินไป เพราะเรารู้ว่าเป็นเรื่องธรรมดา จะมีบ้างก็เรียกว่าพอรู้เท่าทัน พอจะบังคับตัวเองได้เราก็ไม่ทุกข์ไม่ร้อน อันนี้เป็นประโยชน์แก่ชีวิตเพราะคิดถึงความตาย

คนเราเวลาตายไปก็หมดเรื่องตอนหนึ่งของชีวิต ตายไปแล้วอะไรๆ ก็ทิ้งไว้ในโลกต่อไป เพราะเราทำเพื่อให้แผ่นดินนี้ไม่ใช่เพื่อจะเอาไป ทรัพย์สินเงินทองไม่มีใครเอาไปได้ รู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์แก่คนทั้งหลาย ที่อยู่ข้างหลังก็ได้ประโยชน์แก่คนข้างหลังต่อไป ไม่ใช่ทำเพื่อเรา ถ้าทำเพื่อเราก็คิดผิด แต่เราทำเพื่อส่วนรวมเพื่อชาติบ้านเมือง พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า "คฤหัสถ์ผู้มีปัญญา แม้อยู่ครองเรือน ก็อยู่เพื่อประโยชน์แก่มหาชน" หมายความว่าทำอะไรเพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่มหาชน เราทำอะไรเพื่อคนอื่น ให้ต่างคนต่างทำเพื่อคนอื่น แล้วก็ดีเท่านั้นเอง มนุษย์จะมีเมตตาปรานีกัน เห็นอกเห็นใจ ช่วยเหลือเจือจุนกันในเรื่องต่างๆ ตามสมควรแก่ฐานะก็จะเกิดเป็นความสุขความสงบในสังคม อันนี้เป็นเรื่องที่เอามาพูด ให้ญาติโยมฟังในวันนี้ เพราะมีเรื่องการตายของคนคนหนึ่งเกิดขึ้นในสังคมโลก ซึ่งทำให้คนดีใจก็มีเสียใจก็มี เพราะมันเป็นเรื่องธรรมดาที่จะเป็นอย่างนั้น
ดังที่กล่าวมาก็พอสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงนี้

<< ย้อนกลับ

» มองทุกให้เห็นจึงเป็นสุข

» ทุกข์ซ้อนทุกข์

» ไม่มีอะไรได้ดังใจเหมือนม้ากาบกล้วย

» วันนี้เจ้าอยู่กับฉันพรุ่งนี้มันไม่แน่

» มันเป็นเช่นนั้นเอง

» ศีลธรรมและสัจจธรรม

» แหล่งเกิดความทุกข์

» องค์สามของความดี

» หลักใจ

» ทำดีเสียก่อนตาย

» ตามรอยพุทธบาท

» ฐานของชีวิต

» ความพอใจเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง

» ชั่งหัวมัน

» อนัตตาพาสุขใจ

» ฤกษ์ยามที่ดี

» อดีต ปัจจุบัน อนาคต

» วิธีการสอนของพระพุทธเจ้า

» สำนึกสร้างปัญญา

» สอนลูกให้ถูกวิธี

» ปฏิวัติภายนอกกับภายใน

» ร้อนกายไม่ร้อนใจ

» อย่าโง่กันนักเลย

» การทำศพแบบประหยัด

» คนดีที่โลกนับถือ

» ความจริงอันประเสริฐ

» เสรีต้องมีธรรม

» ทาน-บริจาค

» เกียรติคุณของพระธรรม

» เกียรติคุณของพระธรรม (2)

» พักกาย พักใจ

» เกิดดับ

» การพึ่งธรรม

» อยู่ด้วยความพอใจไม่มีทุกข์

» มรดกธรรม

» ฝึกสติปัญญาปัญหาไม่มี

» ทำให้ถูกธรรม

» วางไม่เป็นเย็นไม่ได้

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย