ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
คานธี คนดีที่โลกนับถือ
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย
ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรม อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์ อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา
วันนี้เป็นวันอาทิตย์แรกของเดือน วันที่ 2 เดือนตุลาคม 2526 สมัยก่อน พระจะขึ้นเทศน์เขาเรียกว่าบอกศักราช เพราะเมื่อก่อนนี้ไม่มีปฏิทิน ชาวบ้านก็นับตามปฏิทินของพระ อยากจะรู้ว่าวันนี้กี่ค่ำนี่ถามพระบิณฑบาต ถามเด็กวัดบ้าง เด็กวัดนี่เมื่อจะไปบิณฑบาตต้องศึกษาว่าวันนี้กี่ค่ำ ถ้าว่าไปถึงชาวบ้านถามแล้วตอบไม่ได้ ชาวบ้านก็จะหาว่าไม่เข้าเรื่อง พระเองก็ต้องรู้ว่าขึ้นกี่ค่ำ แรมกี่ค่ำ จะได้ตอบปัญหากับชาวบ้านได้ บางทีเขาก็เอาศีรษะของพระเป็นปฏิทิน พอเห็นว่าโกนหัวเกลี้ยงก็รู้ว่าเป็นวันพระแล้ว อย่างนี้ก็มี เพราะว่ามันไม่มีปฏิทินจะดู
เมื่อพระจะขึ้นเทศน์จึงบอกศักราช ว่าวันนี้วันที่เท่าใด แรมกี่ค่ำ ขึ้นกี่ค่ำ ล่วงมาแล้วเท่าไร ยังอีกข้างหน้าเท่าไรที่จะครบ 5 พันพระวรรษา มักจะพูดไว้อย่างนั้น ความจริงที่พูดว่าจะครบ 5 พันนี่ไม่ถูกต้อง พระพุทธศาสนาไม่ใช่มีอายุ 5 พันปี แต่จะมีอายุยั่งยืนอยู่กับโลกตลอดไป ตราบเท่าที่มีคนศึกษาปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ยังมีอยู่ต่อไปอีก เวลาพระองค์จะนิพพานนี่ ก็ได้ตรัสว่า ตราบใดที่ชาวโลกยังปฏิบัติตนตามอริยมรรคมีองค์แปด โลกจะไม่ว่างเปล่าจากพระอรหันต์ เพราะฉะนั้นธรรมะจึงเป็นสิ่งอยู่คู่โลก จะไม่สิ้นไม่สูญไปไหน แต่ท่านบอกตามธรรมเนียมอย่างนั้น เพื่อให้เป็นผู้ไม่ประมาท จะได้รีบเร่งใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ในการทำหน้าที่ ตามหน้าที่ที่ตนพึงมีพึงปฏิบัติ ก็เป็นเรื่องได้ประโยชน์อย่างหนึ่งเหมือนกัน
วันนี้วันที่ 2 ตรงกับวันที่ไทยกับพวกอินเดียเขาตั้งเป็นสมาคมขึ้น อยู่ข้างวัดสุทัศน์ฯ เรียกว่า "สมาคมไทยภารตะ" ภารตะนี่เป็นชื่อของประเทศอินเดีย ที่เรียกว่าอินเดียนี่ไม่ใช่ชาวอินเดียเขาเรียกเอง คนอังกฤษที่มาปกครองประเทศนั้นเขาตั้งชื่อว่าอินเดีย แต่ว่าชื่อจริงๆ ประเทศอินเดียนั้นเขาเรียกว่าภารตะ
ภารตะนี่เป็นชื่อเก่าแก่ มีมาตั้งแต่โบราณ วรรณคดีของชาวภารตะเรื่องหนึ่ง เขาเรียกว่า ภารตะสังยุต คือสงครามภารตะที่รบกันที่ทุ่งกุรุเกษตร ทุ่งนากว้างๆ เขายกทัพออกไปรบกัน รบกันเป็นระเบียบ ไม่ใช่รบกันเหมือนสมัยนี้ รบกันเฉพาะกลางวัน พอตะวันตกดินก็เลิกรบถอยเข้าค่าย ไม่มีการแอบซุ่มโจมตี ไม่มีการดักทำร้าย ไม่มีการทำอะไรที่เป็น เรื่องไม่ยุติธรรมนอนสบาย ทหารนอนสบาย ไม่ต้องกลัวว่าจะมีใครมาแอบซุ่มโจมตี แต่ว่าพอสว่าง ตีฆ้องตีกลอง เป่าสังข์ กระเทือนไปหมดทั้ง 2 ค่าย ออกมาสู่ทุ่งเกษตร แล้วก็รบกันต่อไป รบกันจนมืดค่ำ จนกว่าจะพ่ายแพ้กันไปหนึ่ง หรือว่ายกธงขาวกันไปข้างหนึ่ง เรียกว่าเป็นการรบที่มีกติกา มีกติกาเป็นเครื่องนัดหมาย เคารพกติกา ไม่ใช่ทำแบบเดี๋ยวนี้
สงครามเดี๋ยวนี้มันเป็นสงครามของคนที่ไม่มีกติกา เรียกว่าใช้วิธีรบแบบเอาเปรียบ อาวุธร้ายแรง ประหัตประหารกัน สมัยก่อนเขาไม่ได้ทำอย่างนั้น เพราะคนในยุคก่อนนั้นยังมีคุณธรรม ทำอะไรก็ไม่ทิ้งธรรมะ แม้จะรบกันก็ยังรบด้วยความมีธรรมะ เดี๋ยวนี้คนมันทิ้งธรรมะไปหมดจึงเกิดปัญหายุ่งยากขึ้นในสังคมด้วยประการต่างๆ เราจึงต้องช่วยกันกู้ให้ธรรมะได้กลับมาสู่โลกต่อไป โลกจะดับเข็ญได้ด้วยธรรมะ ถ้าไม่ได้ใช้ธรรมะแล้ว โลกจะเดือดร้อนวุ่นวายมากกว่านี้ อันนี้เป็นข้อคิดที่อยากจะฝากไว้
ชาวภารตะที่มาอยู่ในเมืองไทยมีอยู่จำนวนมาก ก็เป็นคนไทยไปหมดแล้วละ แต่ว่าเขายังแต่งตัวแบบภารตะ เราเห็นทีไรก็นึกว่าเป็นแขกอินเดียทุกที มีคนหนึ่งสอบเป็นผู้พิพากษาได้แล้วจะขึ้นไปนั่งบัลลังก์ ทั้งที่โพกหัวโตขึ้นไปอย่างนั้น เขาบอกว่าดูแล้วมันขัดนัยน์ตาเหลือเกิน ขึ้นไปนั่งบนบัลลังก์หัวโตแบบนั้น มันเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง เลยแกไปตัดผมสั้น เรียบร้อย ทำหน้าที่เป็นผู้พิพากษา แบบทั่วๆ ไป เปลี่ยนแปลงไปได้ตามหน้าที่การงาน
วันนี้ชาวภารตะหนุ่มสาวเฒ่าแก่ เขาไปประชุมกันที่นั่น คนไทยก็ไปประชุมด้วยเหมือนกัน ประชุมเพื่อทำพิธีไว้อาลัยแก่มหาบุรุษของชาวอินเดีย และเป็นมหาบุรุษของโลกด้วยเหมือนกัน ท่านผู้นั้นก็คือ ท่านมหาตมะคานธี อันเป็นผู้ยิ่งใหญ่ของประเทศอินเดีย อาตมาเคารพชีวิตของบุคคลนี้ เรียกว่านับถือทีเดียว นับถือท่านคานธี เพราะท่านคานธีนี่เป็นผู้มีคุณธรรมในจิตใจสูง เป็นผู้ประพฤติธรรมอย่างแท้จริง แม้จะเป็นนักการเมืองที่ต่อสู้ เพื่อสิทธิ์ อิสรภาพของประเทศอินเดีย แต่ท่านใช้คุณธรรมต่อสู้ ไม่ชอบการประหัตประหาร ไม่ชอบใช้วิธีการแบบอันธพาล แต่ใช้หลักอหิงสา คือการไม่เบียดเบียนกันเป็นเรื่องสำคัญ หลักประจำใจของท่านคานธีที่ประกาศให้โลกรู้ก็คือหลักที่ว่า "อหิงสาปรโม ธัมโม" แปลว่า "การไม่เบียดเบียนเป็นบรมธรรม" เป็นธรรมอันสูงสุดของชาวโลก คือการไม่เบียดเบียนกัน
พระพุทธเจ้าของชาวเราตรัสว่า
"อัพยาปัชชัง สุขัง โลเก" การไม่เบียดเบียนเป็นความสุขในโลก
คนอยู่ในโลกนี่ต้องงดเว้นจากการเบียดเบียนกัน ด้วยประการทั้งปวง จึงจะอยู่กันด้วยความสุข ท่านคานธี ท่านก็เดินตามรอยพระยุคลบาทของพระพุทธเจ้า แม้ท่านจะไม่เรียกตนเองว่าเป็นพุทธบริษัท แต่เป็นผู้เข้าถึงธรรมะ ยิ่งกว่าคนที่ปฏิญาณตนเสียอีกด้วยซ้ำไป ก็อยากจะเล่าเรื่องให้ญาติโยมฟังสักหน่อย ว่าชีวิตของท่านผู้นี้เป็นมาอย่างไร ไม่พูดในแง่ประวัติ แต่ว่าพูดในแง่ธรรมะ ว่าเรามองธรรมะจากชีวิตของท่านคานธี ให้เห็นอะไรบ้าง อันจะเป็นประโยชน์แก่ชีวิต และการปฏิบัติของพวกเราชาวไทยทั้งหลายต่อไป
คานธีเกิดในแคว้นคุชราช คุชราชนี่อยู่ใกล้แคว้นบอมเบย์ เป็นรัฐเล็กๆ มีเจ้าผู้ครองนครเหมือนกัน เรียกว่าสาหิบ บิดาของท่านก็เคยเป็นข้าราชการ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งแคว้นนั้นเหมือนกัน บิดามารดาของท่านคานธีเป็นคนเคร่งครัดในศาสนามาก ท่านนับถือศาสนาไชนะ ศาสนาไชนะถือศาสนาของมหาวีระ มหาวีระเป็นนักบวชยุคเดียวกับพระพุทธเจ้า ออกบวชจากพวกสกุลมัลละที่เมืองปาวา ออกบวชก่อนพระพุทธเจ้า อายุแก่กว่าพระพุทธเจ้า แต่เที่ยวสอนศาสนาอยู่พร้อมๆ กันกับพระพุทธเจ้า แล้วก็ตายก่อนพระพุทธเจ้า
มหาวีระนี่ตายก่อน สถานที่ไหนมีปูชนียสถานของพุทธศาสนา ก็จะมีปูชนียสถานของศาสนานี้อยู่ด้วย เช่นเมืองราชคฤห์นี่ พระพุทธเจ้าเคยประทับอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ ประทับที่เวฬุวัน สวนไม้ไผ่ของพระเจ้าพิมพิสาร มหาวีระก็ได้แสดงธรรมครั้งแรกที่นั่นเหมือนกัน แต่ว่าบนยอดเขาอีกยอดหนึ่งที่อยู่ในเมืองราชคฤห์ สถานที่นั้น เป็นสถานที่แสวงบุญของชาวศาสนาไชนะทั่วๆ ไป ถึงฤดูเขาก็เดินไปนมัสการ เวลาเดินไปนมัสการนี่ ต้องเดินไปโดยเท้าเปล่า ไม่ใส่รองเท้า เดินย่ำหินไปบนภูเขาที่ไปนมัสการ เขาต้องการฝึกหัดคนให้อดทน ให้รู้จักต่อสู้กับปัญหาชีวิต จึงได้ปฏิบัติอย่างนั้น คนที่ถือศาสนาไชนะนี่ถือเคร่งในเรื่องชีวิต จะไม่เบียดเบียนสัตว์เลย จะไม่กินเนื้อสัตว์ อันนี้เขาถือเคร่งมาก ไม่กินเนื้อไม่กินปลา ไม่กินของมีชีวิตทั้งนั้น กินแต่ผักเป็นอาหาร ผักก็ต้องต้มให้สุก ถ้าเป็นผักดิบก็กินไม่ได้
นักบวชก็ยังมีอยู่บ้างในสมัยนี้ แต่เป็นนักบวชประเภทไม่นุ่งผ้า เขาเรียกว่าพวกทิคัมพร นุ่ง ลมห่มฟ้า อยู่ในป่าไม่ค่อยเข้าเมือง แต่เวลาบิณฑบาตก็ต้องเข้าเมืองเหมือนกัน เวลาเข้าไปบิณฑบาตก็ไม่มีภาชนะใส่อาหาร แต่แบมือรับ ทำมือแบ 2 มือ ติดกันเข้ารับอาหาร แล้วก็กินในมือที่แบๆ นั้น กินหมดเขาก็ใส่เติมให้ ยืนใส่ยืนกินกันอยู่ตรงนั้น กินกันจนอิ่มเลย พออิ่มแล้วก็เอาน้ำมาให้ล้างมือ ล้างมือเสร็จแล้วเขาก็ให้พร ญาติโยมที่เป็นผู้หญิงที่ไปใส่บาตร ก็ก้มลงกราบแทบเท้า ลูบเท้าแล้วก็เอามาลูบหัว เขาเคารพตามวัฒนธรรมแบบอินเดีย
เดี๋ยวนี้ยังมีคนนับถือศาสนานี้อยู่มากในประเทศอินเดีย แล้วก็เป็นเศรษฐีเยอะ ร่ำรวย เพราะคนพวกนี้เป็นอยู่อย่างง่ายๆ ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า ไม่เล่นการพนัน ไม่ประพฤติสิ่งเหลวไหล เขาประพฤติเคร่งครัดดี สร้างชีวิตกันจนเป็นเศรษฐีกันมากมาย วัดของพวกเชนนี่เป็นวัดที่สะอาดที่สุดในประเทศอินเดีย วัดฮินดูนี่สกปรกที่สุดด้วยเหมือนกัน เช่น โบสถ์เจ้าแม่กาลีนี่ เหม็นคาวแต่เลือดแพะ เพราะว่าเขาต้องฆ่าแพะวันละ 12 ตัว เพื่อเอาไปทาปากเจ้าแม่กาลี เจ้าแม่กาลีได้กินแพะวันละ 12 ตัว ก็ไม่ต้องฆ่าคนให้กิน ชื่อก็น่ากลัวอยู่แล้ว โบสถ์นี่สกปรกเข้าไปไม่ไหวเลย เคยไปดูแล้วไม่ไหว ไม่น่าจะเป็นจุดท่องเที่ยวเลย แต่ว่าคนก็ไปดู ดูว่ามันสกปรกขนาดไหนเท่านั้นเอง ไม่ใช่เรื่องอะไร แต่ว่าวัดเชนสะอาดเรียบร้อย นั่งตรงไหนก็ได้ นอนกลิ้งเกลือกก็ได้ แผ่นหินสะอาด สถานที่สะอาด
บิดามารดาของคานธีท่านนับถือศาสนานี้ แล้วก็เป็นคนเคร่งครัดในศาสนา ปกติจะมีคนมาหาคุณพ่อบ่อยๆ โดยมากจะมาคุยเรื่องการงานหรือว่าคุยธรรมะกัน นักศาสนาที่มีอยู่ในอินเดียเช่นว่า ศาสนาฮินดู ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสเตียน ก็มาคุยกับคุณพ่อเสมอ แล้วก็คุยกันได้นานๆ คุยกันอย่างชนิดที่เรียกว่าไม่ขัดคอกัน คุยให้เข้ากันได้ ไม่ต้องด่ากัน ไม่ต้องเถียงกัน ปกติเป็นอย่างนั้น
คานธีท่านได้รับรสธรรมะตั้งแต่ตัวน้อยๆ จากการสนทนาธรรมของคุณพ่อและคนต่างศาสนา ความรู้สึกในทางศาสนา จึงฝังลึกลงไปในจิตใจของท่านตั้งแต่ตัวน้อยๆ คุณแม่ก็เป็นคนเคร่งครัดในทางศาสนามาก ถ้าในฤดูฝนอย่างนี้ในประเทศอินเดีย แกถือศีลอดข้าว คือถ้าไม่เห็นแสงอาทิตย์ไม่กินข้าว วันไหนถ้าแสงอาทิตย์ไม่โผล่มา เลยไม่ได้กินข้าวกันเลยทีเดียว ลูกๆ ก็เลยจ้องดูว่าเมื่อไหร่ดวงอาทิตย์จะโผล่มา พอเห็นว่าโผล่ออกมาก็รีบวิ่งไปบอกคุณแม่ บอกว่า "แม่จ๋าแม่ ออกไปดูเถอะว่าดวงอาทิตย์โผล่มาแล้ว แม่จะได้ทานอาหาร" คุณแม่ก็ลุกขึ้นเดินช้าๆ ไม่รีบร้อน เรียกว่าไปดูแล้วจะได้กินข้าว ไม่รีบไม่ร้อน พอไปถึง เอ้า ! ดวงอาทิตย์ลับกลีบเมฆไปเสียอีกแล้ว แม่ก็บอกว่า "พระผู้เป็นเจ้ายังไม่ต้องการให้แม่กินอาหาร ไม่เป็นไรแม่ทนได้
นิสัยไม่กินอาหารของแม่ถ่ายทอดนี่มาสู่คานธี เมื่อเติบโตขึ้นเป็นนักการเมือง นักต่อสู้ ท่านอดข้าวได้บ่อยๆ อด 15 วัน อดเดือนหนึ่ง ไม่ตาย ไม่กินอะไรนอกจากน้ำเท่านั้น น้ำกับน้ำมะนาวเท่านั้นเอง นอกนั้นไม่กินอะไร ท่านก็อยู่ได้ เพราะว่าคุณแม่เคยอดให้ลูกเห็นมาตั้งแต่เริ่มต้น
อันนี้เป็นตัวอย่างซึ่งเราจะนำไปใช้ในชีวิตครอบครัว คือพ่อแม่นี้เป็นตัวอย่าง ถ้าพ่อแม่เป็นอย่างไรลูกมักจะเป็นอย่างนั้น เมื่อเรามีลูกก็ต้องนึกถึงอนาคตของลูก นึกถึงอนาคตของครอบครัว เคยประพฤติอะไรสนุกสนาน กินเหล้าเมายา เที่ยวเตร่เฮฮา ทำอะไรๆ ที่เรียกว่าตามใจตัวแบบคนที่เป็นโสดนั้น พอแต่งงานมีครอบครัวก็ต้องเลิกสิ่งเหล่านั้น หมด เพราะว่าเราเป็นผู้ใหญ่แล้ว คนมีครอบครัวนี่เขาเรียกว่าเป็นผู้ใหญ่ ภาษาไทยเราเรียกว่ามีเหย้ามีเรือน หมายความว่าเป็นผู้มีอายุสมควรแก่การครองเรือน มีเหย้ามีเรือนมีหลักมีฐาน จะประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควรนั้น ไม่ถูกหน้าที่ เพราะหน้าที่ของพ่อบ้านแม่เรือนนั้น ต้องประพฤติธรรมด้วย ต้องมีศีลธรรมประจำจิตใจ
ในครอบครัวนั้นจะต้องมีพระประจำบ้าน ถ้าเรานับถือพระพุทธศาสนา เราก็มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นพระประจำบ้าน พระพุทธเจ้าเป็นผู้นำในครอบครัว พระธรรมเป็นแผนที่บอกทางชีวิตให้เราเดิน พระสงฆ์ก็เหมือนพี่เลี้ยงคอยเตือนจิตสะกิดใจ เรามีปัญหา มีความทุกข์ความเดือดร้อน มีเรื่องไม่สบายใจ เราก็มาหาพระ มาปรึกษา มาขอคำแนะนำ พระท่านก็เอาธรรมะมาให้เป็นเครื่องปลอบโยนจิตใจ ชีวิตของพ่อแม่ที่อยู่ดีมีศีลธรรมนี่ ลูกมักจะไม่เสียผู้เสียคน ลูกเรียบร้อย
เคยรู้จักหลายครอบครัว ที่พ่อแม่เรียบร้อยอยู่ในศีลในธรรม ลูกดีหมดทุกคน เรียกว่าไม่มีลีบสักเม็ดเดียว ออกมาเรียบร้อย ทำการงานเป็นผู้หลักผู้ใหญ่เจริญในวงราชการ แล้วก็เป็นคนดีเหมือนพ่อแม่ ถ่ายทอดนิสัยมา สร้างประโยชน์แก่ชาติแก่บ้านเมือง
เห็นอยู่หลายครอบครัวอีกเหมือนกัน ที่พ่อแม่เหลวไหล พ่อเป็นคนขี้เหล้า แม่เป็นคนขี้ไพ่ ลุกออกมามันก็ไม่เรียบร้อย แม้จะทิ้งทรัพย์สมบัติที่หามาโดยทางทุจริตไว้ให้ ก็ไม่ถาวร ไม่ยั่งยืน เพราะสิ่งที่ได้มาจากความชั่วนั้นมันร้อน เหมือนกับถ่านไฟ เราจับไม่ได้ จับได้ก็ต้องรีบวาง ไม่วางมันก็ไม่ได้ สิ่งนั้นมีน้อย จึงไม่มั่นคงถาวร ครอบครัวใดที่เป็นเจ้า ของบ่อนการพนัน คอยดูอนาคตของลูกๆ คนเหล่านั้นว่ามันจะมีสภาพอย่างไร หรือว่าครอบครัวใดที่ค้าของเถื่อนร่ำรวย ก็ดูต่อไปว่าลูกเต้าจะเป็นอย่างไร ครอบครัวใดที่ประพฤติเหลวไหล เช่นเป็นคนขี้เมาหยำเป ดูต่อไปเถอะลูกเต้าจะเป็นอย่างไร โยมดูต่อไปเถอะ ดูจากความจริง ดูจากชีวิตจริงว่า ธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอนไว้นั้น เป็นความจริงอย่างไร เราดูได้ทั้งดีทั้งชั่ว ทั้งเสื่อมทั้งเจริญ จากชีวิตของคนทั้งหลายทั่วๆ ไป
อาตมานี่ดูมานานแล้ว รู้จักครอบครัวต่างๆ สังเกตดูก็เห็นว่าครอบครัวใดที่พ่อแม่ขาดศีลขาดธรรมนี่ ลูกไม่เจริญ ไม่ก้าวหน้า แม้จะจบการศึกษาไปได้ แต่ว่าทำงานก็ไม่เจริญ เพราะไปโกงเขาบ้าง ทุจริตคอร์รัปชั่น ผลที่สุดก็ถูกไล่ออกจากราชการ มีชีวิตตกต่ำ แต่ว่าครอบครัวใดที่พ่อแม่อยู่ในศีลในธรรม ลูกเกิดมาก็เป็นคนฉลาดรอบคอบ เรียนดี ประพฤติดี ประพฤติชอบ สร้างเนื้อสร้างตัวได้เป็นหลักฐาน นี่คืออานิสงส์ของธรรมะที่สถิตอยู่ในจิตใจของพ่อแม่ ปู่ตา ย่ายาย ในครอบครัวนั้นๆ
เรื่องนี้มันเห็นชัดด้วยชีวิตปัจจุบัน ไม่ใช่ตายแล้วค่อยเห็นกัน เรื่องตายแล้วมันอีกเรื่องหนึ่ง ดูกันต่อไป แต่ว่าดูปัจจุบันให้มากเถอะ ให้เห็นเถอะ อะไรมันเป็นอะไร เราก็จะพบความจริงว่าสิ่งทั้งหลายเป็นอย่างไร
ท่านมหาตมะคานธีและพี่ๆ น้องๆ ของท่านเป็นคนเรียบร้อยทั้งนั้น ทำงานดี แต่ว่าเด่นอยู่ที่ตัวท่านคานธี ท่านได้รับอิทธิพลทางศีลธรรมจากพ่อแม่ จากสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในครอบครัว จึงเป็นคนมั่นในคุณงามความดี เมื่อสมัยเป็นเด็กนักเรียน อยู่ในชั้นเรียนนี่ท่านเคยอ่านหนังสือเรื่อง "สรวนะ" เรื่อง "สุวรรณสามชาดก" นี่เอง ภาษาสันสฤตเขาเรียกว่าสรวนะ สุวรรณสามนั่นแหละ เป็นผู้ที่เลี้ยงพ่อแม่ ให้พ่อแม่นั่งขี่หลัง แล้วก็แบกไปที่ท่าน้ำ อาบน้ำให้พ่อแม่ แล้วแบกกลับมาสู่บ้าน ไปหาผลไม้มาให้พ่อแม่รับประทานอาหาร คอยปรนนิบัติวัตถากตลอดเวลา ท่านอ่านหนังสือนี้แล้วท่านว่า แหม ! คนๆ นี้เป็นคนยอกดมนุษย์ที่มีคุณธรรม คือความกตัญญูกตเวที รู้คุณของผู้ที่ทำคุณแก่ตน แล้วท่านก็อธิษฐานใจว่า เราจะมีชีวิตเหมือนสุวรรณสามที่เราอ่านนี้
หนังสือดี มีอิทธิพลสร้างคุณธรรมให้แก่เด็ก แต่หนังสือเลวก็มีอิทธิพลสร้างความชั่วร้ายขึ้นในจิตใจเด็กเหมือนกัน เพราะฉะนั้น เราที่เป็นพ่อแม่ เวลาที่จะให้ลูกกินอาหารนี่เลือกแล้วเลือกอีก กลัวจะเป็นโทษ ท้องไส้เสีย แต่ว่าอาหารใจนี่พ่อแม่ไม่ค่อยได้เลือกให้ลูกกิน ลูกไปหาซื้อมาอ่านตามชอบใจ หนังสือการ์ตูนบางประเภท อ่านแล้วเป็นพิษก็มี หนังสืออ่านเล่นที่อ่านแล้วเป็นพิษต่อจิตใจก็มี ภาพบางประเภทในกระดาษ เป็นพิษเป็นภัยแก่ลูกเหลือเกิน พ่อแม่ไม่ค่อยได้สนใจ ไม่ได้เอาใจใส่ ว่าอันนี้มันเป็นอาหารที่เป็นพิษ ให้โทษกว่าอาหารทางร่างกาย อาหารร่างกายนี่กินเข้าไปแล้วท้องเสีย ถ่ายหมดมันก็หยุดกันเท่านั้นเอง แต่อาหารที่เป็นพิษแก่จิตใจนั้น จะให้โทษแก่ชีวิตของเด็กจนตลอดชีวิตเลย ถ้าเขาไม่ได้พบคนดี หรือไม่ได้พบสิ่งดีมาแก้ มันก็จะเสียผู้เสียคน
ฉะนั้น เราที่เป็นพ่อแม่นี่ต้องระวังในเรื่องนี้ ต้องทำตนให้เป็นตัวอย่างแก่ลูก แล้วคอยควบคุมสิ่งที่จะเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของลูก อย่าให้สิ่งที่เป็นพิษผ่านเข้ามา ในครอบครัวเราไม่มีสิ่งที่เป็นพิษ เราต้องไม่ให้สิ่งที่เป็นพิษเข้ามา จะเอาไว้แต่สิ่งที่เป็นคุณเป็นค่าในการสร้างเสริมชีวิตจิตใจ จึงจะเป็นการถูกต้อง อันนี้น่าคิดอันหนึ่ง
ครั้งหนึ่งท่านได้ดูละครเรื่องท้าวหริศจันทร์ ท้าวหริศจันทร์เป็นเรื่องชาดกเหมือนกัน คนไทยเราคงเคยอ่านเคยพบบ้าง ถ้ามีคนสนใจ ในอินเดียสมัยนั้นมันมีการพนันอยู่ประเภทหนึ่งเขาเรียกว่าสกา เล่นสกากัน มีเรื่องเล่นสกาพนันกันบ่อยที่สุด ในมหาภารตะสังยุต เรื่องการรบใหญ่ที่ทุ่งกุรุเกษตร นี่ก็ไม่ใช่เรื่องอะไร เรื่องเล่นสกากัน คนเล่นฝ่าย หนึ่งโกง เอารัดเอาเปรียบ อีกฝ่ายหนึ่งแพ้ แพ้แล้วก็ต้องออกาจากเมือง ไม่ใช่เล่นกันพอดีพอร้าย เรียกว่าเล่นแบบยกบ้านให้เขา ว่าอย่างนั้น เอาบ้านเอาเมืองมาพนันกันเลย เป็นพระราชาก็ยกเมืองให้เลย พอแพ้แล้วก็รักษาความสัตย์ ไม่บิดเบี้ยว ไม่ทำอะไรหักหลังใคร ยอมกออกจากเมืองไปเดินป่า เมื่อไปเดินป่ายังถูกรังแกอีก ทีนี้เลยต้องรบกัน หนีไม่พ้น ก็เลยเกิดสงครามกันระหว่างพี่น้อง ลูกพี่ลูกน้องกัน
ในเรื่องวิฑูรชาดก วิฑูรบัณฑิตนี่ แกเทศน์ให้แก่นาคที่ปลอมเป็นมนุษย์มาฟังเทศน์ ฟังเทศน์จบแล้วก็ไปเล่าให้เมียฟัง เมียก็อยากจะฟังเทศน์บ้าง แต่ไม่พูดตรงๆ ว่าฉันอยากจะฟังเทศน์ วิฑูรบัณฑิต กลับบอกว่าฉันอยากได้หัวใจของวิฑูรบัณฑิต พ่อนาคบอกว่าจะเอามาได้อย่างไร หัวใจเขา มันต้องฆ่าคนจึงจะเอาหัวใจมาได้เรียกว่านาคนี่ยังโง่ไม่รู้จักตีความหมาย เขาพูดภาษาธรรม เข้าใจเป็นภาษาคนไปเสียเรื่อย ไม่เรียนภาษาธรรม ก็เลยนึกว่าจะทำอย่างไรดี
นาคมีลูกสาวอยู่คนหนึ่งรูปร่างสวย รับอาสาว่าจะหาคนที่นำเอาหัวใจมาให้แม่ได้ ก็ขึ้นไปท่องเที่ยวในเมืองมนุษย์ ไปพบยักษ์ซึ่งเป็นหลานสาวท้าวเวสสุวรรณเข้า ยักษ์นั้นมีฤทธิ์มีเดชมาก ติดใจในรูปของนาง นางบอกว่า "เราจะยอมแต่งงานด้วย เมื่อท่านไปเอาหัวใจของวิฑูรบัณฑิตมาให้ได้" ยักษ์นั้นหลงนางเสียแล้วก็ต้องไป ไปแล้วจะเอามาอย่างไร
ก็ไปท้าพระเจ้าโกรพเล่นการพนันสกากัน เจ้าโกรพนี้มีฝีมือชั้นหนึ่ง เรียกว่าได้ถ้วยทองแล้วละ แต่คราวนั้นแพ้ยักษ์ เพราะว่ายักษ์มันเก่งเลยแพ้ พนันเอาเมืองกันนี่ พอแพ้ก็บอกว่า "เมื่อเราแพ้ เราก็ยกเมืองให้แก่ท่าน" ยักษ์บอกว่า ไม่เอาเมืองแต่จะเอาวิฑูรบัณฑิต พระเจ้าโกรพก็ว่านั่นมันไม่ใช่เมือง เป็นคน ยักษ์ก็บอกว่า คนก็เป็นสมบัติของพระราชา เมื่อพนันว่าจะยกสมบัติให้ก็ต้องยกคนให้ด้วย พระราชาบอกว่ามันไม่ถูก เรื่องนี้ไม่ถูก ต้องไปให้วิฑูรบัณฑิตตัดสิน วิฑูรบัณฑิตตัดสินว่า ตัวของท่านเป็นสมบัติของพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อพระเจ้าแผ่นดินแพ้ต้องยกให้เหมือนกัน คนมีธรรมะไม่ตัดสินเข้าข้างตัว ถ้าเข้าข้างตัวก็ต้องว่ามันไม่ถูกต้อง บิดเบี้ยวกัน แต่นี่เขามีธรรมะเขาไม่เบี้ยว เลยบอกว่า ต้องเป็นสมบัติที่ยกให้ได้
ยักษ์นั้นก็พาวิฑูรบัณฑิตเหาะไป เที่ยวแทรกไประหว่างเขาบ้าง ยกเหวี่ยงบ้าง ทำอะไรต่ออะไร ปล้ำแต่จะให้วิฑูรบัณฑิตตาย ก็ไม่ตายสักที เหนื่อยแล้ว จะทำให้คนอื่นตายก็ไม่ตาย เหนื่อยแล้ว นั่งหอบแฮกๆ วิฑูรบัณฑิตถามว่า "เรื่องอะไรมาทำฉันอย่างนี้" ยักษ์ก็เล่าเรื่องให้ฟัง วิฑูรบัณฑิตบอกว่า "ท่านนี่โง่ชมัดเลย นางอิรันตี เขาต้องการหัวใจ ไม่ใช่หัวใจที่เป็นเนื้อ เขาต้องการธรรมะ ซึ่งเป็นหัวใจที่เป็นนามธรรมของฉัน เอาฉันไปแสดงธรรมให้นางฟังก็หมดเรื่องเท่นั้นเอง" ยักษ์ก็รู้สึกตัวว่า เรานี่แย่เกือบฆ่าคนตาย ก็เลยพาไป
ท้าวหริศจันทร์นี่ก็เรื่องเล่นสกากันเหมือนกัน เล่นสกาพนันเอาเมืองแพ้เขา เมื่อแพ้อำมาตย์ข้าราชการบอกว่าเบี้ยวได้ เรื่องการพนันนี่ไม่ใช่สัญญากันตามกฎหมาย เป็นหนี้สินที่กฎหมายมารับรอง ไม่เป็นไร เบี้ยวได้ พระราชาบอกว่าไม่ได้ เรื่องใจนี่เป็นเรื่องสำคัญ เราจะเบี้ยวใครไม่ได้ เราจะต้องถือศีลถือสัตย์ โลกนี้ถ้าไม่มีสัจจะแล้วจะเกิดปัญหายุ่ง ยาก ก็เลยต้องออกจากเมืองไปอยู่ในป่า อยู่ในป่าก็ไม่ให้คนเห็นเสียด้วย ถ้าใครเกิดมาเห็นเข้าต้องวิ่งหนีไม่ให้คนเห็นตามสัญญา ถึงไม่มีใครไปเห็นก็ทำตามสัญญา คนสมัยก่อนนี้เขาถือศีลถือสัตย์ ทำอะไรไม่ต้องทำสัญญาด้วยกระดาษหรอก เดี๋ยวนี้เขียนบนกระดาษก็ยังมีถ้อยคำเบี้ยวกัน ยังโกงกันทั้งๆ ที่มีสัญญา สมัยก่อนนี้ไม่ต้องมีสัญญา แต่เขาไม่โกงกัน เพราะเขามีคุณธรรมประจำจิตใจ ท้าวหริศจันทร์ก็ต้องไปเดินป่าแสนลำบาก ตัวละครก็ลำบาก
คานธีนั่งดูก็นึกชมท้าวหริศจันทร์ว่า เป็นคนมีสัจจะดีอย่างนี้ แล้วท่านก็อธิษฐานใจว่า เราจะมีชีวิตอยู่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต จะไม่ยอมทำความชั่วเป็นอันขาด นี่เริ่มต้นแห่งการสร้างคุณธรรมในจิตใจ เพราะได้ดูละครเรื่องท้าวหริศจันทร์
เราดูละครกันบ่อยๆ เวลานี้โทรทัศน์ออกรายการละครเรื่องสิงหไกรภพ คุณโยมคุณยายคงจะชอบของโบราณ ถ้าลูกหลานดูโทรทัศน์อยู่ด้วย ต้องอธิบายให้ลูกหลานฟัง บางตอนมันดีมีคุณค่า บางตอนก็มีเสีย มีทั้งพระเอกนางเอก มีโจรผู้ราย มีอันธพาลอยู่ในเรื่องทั้งนั้น เราต้องคอยชี้ให้เด็กรู้ว่า นี่อันธพาลใช้ไม่ได้ อย่าเอาไปเป็นตัวอย่าง เราสอนไป ด้วยในตัวจากเรื่องละครที่เขาแสดงเหล่านั้น จะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม จะต้องมีตัวร้ายกาจอยู่ตัวหนึ่งในเรื่องนั้น เราก็สอนลูกได้ว่า ไอ้นี่ไม่ดี ขาดศีลธรรม เป็นคนที่ใช้ไม่ได้ เด็กก็จะได้รู้อะไรๆ ไปตั้งแต่เบื้องต้น ไม่ใช่ดูโทรทัศน์เพื่อความสนุกอย่างเดียว หรือไม่ใช่ฟังวิทยุเพื่อความสนุกอย่างเดียว แต่ดูและฟังให้ได้ตัวอย่างจากชีวิตของตัวละครในเรื่องนั้น เหมือนที่คานธีท่านได้ตั้งแต่เป็นเด็ก แล้วก็เป็นคนซื่อสัตย์สุจริตอยู่ตลอดเวลา
เมื่อคานธีเป็นหนุ่มอยู่โรงเรียนมัธยม มีบทเพลงร้องว่าคนอังกฤษร่างกายกำยำล่ำสัน เพราะเขากินเหล้ากินเนื้อ คนอินเดียร่างกายผ่ายผอม สู้คนอังกฤษไม่ได้ อังกฤษมาปกครองเรา เราเป็นขี้ข้าเขา เพราะเราไม่กินเนื้อไม่กินเหล้า เขาชวนบ่อยๆ ก็โอยเอียงไปตามคำเชิญเหล่านั้น ก็เลยไป แต่ว่าตอนไปกันนี่ไปกินกันที่ลับ ทำให้เกิดความรู้สึกในใจ ว่านี่มันไม่ถูกต้อง ถ้าเป็นเรื่องที่ถูกต้องเปิดเผยได้ นี่มันเป็นเรื่องลับ ต้องเป็นเรื่องชั่ว
พวกเราลอดคิดดู ถ้าเราทำชั่ว มันต้องทำในที่ลับ เหมือนอย่างเปิดบ่อนการเล่นการพนัน ต้องมีด่านหลายด่าน มีหมาเฝ้า มีโทรทัศน์วงจรปิด มันก็บอกอยู่แล้วว่ามันชั่ว แต่ก็ยังทำอยู่ เรียกว่าพวกหน้าด้าน ทำไปอย่างนั้นเอง แต่ว่าคานธีท่านหน้าไม่ด้านพอ เพื่อนชวนท่านไป ท่านก็นึกในใจว่ามันไม่ถูกแต่เมื่อไปแล้วก็ต้องกิน กินแพะเข้าไปชิ้นหนึ่ง ดื่มเข้าไปนิดหน่อย กลับมาบ้านรู้สึกว่าแพะมันร้องอยู่ในท้องตลอดเวลา แบ๊ๆ ร้องอยู่ตลอดเวลา ไม่สบายใจ มีความทุกข์
| หน้าถัดไป >>
» ไม่มีอะไรได้ดังใจเหมือนม้ากาบกล้วย
» วันนี้เจ้าอยู่กับฉันพรุ่งนี้มันไม่แน่
» หลักใจ
» เกิดดับ
» มรดกธรรม