ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
เรื่อง ฝึกสติปัญญา ปัญหาไม่มี
วันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2520
ญาติโยม พุทธบริษัททั้งหลาย
ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังธรรมปาฐกถาธรรมฐกถา อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ทุกในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ทุกท่านได้ประโยชน์ อันเกิดขึ้นจากการฟัง ตามสมควรแก่เวลา
เราทั้งหลายที่เข้าวัดเพื่อศึกษาธรรมะ เพื่อนำธรรมะไปปฏิบัติแก้ไขปัญหาชีวิตประจำวัน เพื่อให้ชีวิตมีความสุขความสงบตามสมควรแก่ฐานะ ประโยชน์ของธรรมะที่เราได้รับนั้น นับว่ามากล้นเหลือ คือทำให้ชีวิตของเราดีขึ้น ได้พบคนหลายคนที่ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตจากมืดบอด มาอยู่ในสภาพสว่างไสวด้วยปัญญา จากความหลงผิด มาอยู่ในทางที่ถูกที่ชอบ จากคความเชื่อที่ผิดทาง มาเดินอยู่ในความเชื่อที่ถูกต้อง ตามหลักพระพุทธศาสนา ได้ถามเขาเหล่านั้นว่า เมื่อก่อนกลับเดี๋ยวนี้ มีสภาพชีวิตแตกต่างกันอย่างไร
เขาบอกว่า ตั้งแต่เริ่มเข้าสู่ธรรมะ สิ่งทั้งหลายดีขึ้น ความเป็นอยู่ในครอบครัวดีขึ้น การงานดีขึ้น ความสุขความสงบทางใจก็ดีขึ้น อันนี้เป็นผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติธรรม ผู้ใดปฏิบัติผู้นั้นย่อมเห็นผลด้วยตนเอง ผู้ไม่ปฏิบัติก็เป็นผลเหมือนกัน แต่ว่าไม่ใช่ผลที่เป็นความสุขความเจริญ เป็นผลที่เกิดขึ้น เป็นความทุกข์ความเดือดร้อน
เมื่อมีความทุกข์ความเดือดร้อนเกิดขึ้น ก็ไม่รู้ว่าความทุกข์คืออะไร เหตุมันอยู่ที่อะไร ทุกข์นี้แก้ได้หรือไม่ได้ก็ไม่เข้าใจ ไม่รู้จักวิธีที่จะแก้ไข ชีวิตก็ย่ำเท้าอยู่ที่เดียวตลอดเวลา อันนี้คือผลที่เขาได้รับ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ธรรมะกับอธรรมนั้น ให้ผลไม่เสมอกัน ธรรมะให้ผลเป็นความสุขความเจริญ อธรรมนั้นให้ผลเป็นความทุกข์ ความเดือดร้อน แต่บุคคคลที่ไม่ได้รับการศึกษา ไม่เข้าใจถึงผลแตกต่างของสองสิ่งนี้ ก็มัวเมาอยู่ในความสุข ประเภทที่เกิดขึ้นจากความไม่เป็นธรรม เช่น ความสุขด้วยความเพลิดเพลิน ด้วยการดื่มการกินการเล่น การเฮฮาสนุกสนานด้วยประการต่างๆ เขาเข้าใจว่า นั่นเป็นยอดของชีวิต เป็นความสุขที่เขาปรารถนา
คนประเภทนั้นเป็นคนที่หลงผิด ชีวิตก็ตกต่ำลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งต้องสูญเสียสิ่งที่มีค่าของตนไป น่าสงสารน่าเห็นใจบุคคลประเภทอย่างนี้ เป็นหน้าที่ของเราทั้งหลายที่จะต้องช่วยกัน เพื่อจูงคนเหล่านั้น ให้พบกับสิ่งที่เป็นความหมายอันแท้จริงของชีวิต ถ้าเราจะสามารถไปจูงเขาเหล่านั้น ให้เกิดความรู้สึกนึกคิดในทางที่ถูกที่ชอบ ให้ดำเนินชีวิตในชีวิตใน ทางที่ตรงตามคำสอนในทางพระศาสนา การกระทำของเรานั้น เรียกว่าเป็นมหากุศล เป็นกิจที่ควรแก่การสรรเสริญ เป็นเรื่องที่เราจะต้องทำกันบ่อยๆ
เรื่องการชักจูงช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ให้เข้าทางธรรมะเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องที่เราจะต้องช่วยกัน เรามีเพื่อนมีมิตร ถ้าเรารักเขาเราก็ต้องชักจูงเขา เข้าสู่แนวแห่งธรรมะ ถ้าเราไม่ชักจูงเพื่อนฝูงมิตรสหายเข้าสูธรรมะ ความเป็นเพื่อน มันก็ไม่มีราคาอะไร ความเป็นเพื่อนเป็นมิตรนั้น จะมีค่าตรงที่คอยแนะนำ ชักจูงเข้าหาทางดีทางชอบ เพื่อนคนใด มาแนะนำชักจูงเราให้เดินไปในทางหายนะ นั่นมิใช่เพื่อนแท้ของเรา เป็นพญามารที่ปลอมเข้ามาในสภาพของเพื่อน มาเพื่อจะทำลายเรา ให้เสียหายตกต่ำ เราควรจะหลีกจากคนเช่นนั้นให้ห่างไกล ไม่ควรเข้าใกล้เป็นอันขาด
แต่ว่าเพื่อคนใด ที่คคอยชี้คอยแนะ คอยบอกทางถูกทางชอบให้แก่เรา เป็นคนที่เรียกว่า คอยเตือนอยู่ตลอดเวลา เราควรดีใจ ที่ได้พบเพื่อนเช่นนั้น เพราะเพื่อนเช่นนั้นเป็นเพื่อนแท้ของเรา เป็นเพื่อนที่คอยให้สติให้ปัญญาแก่เรา เราควรจะคบเพื่อนคนนั้นไว้ให้ยืดยาวต่อไป การคบคนเช่นนั้นเป็นประโยชน์ฝ่ายเดียว ไม่มีความเสื่อมเลยเป็นอันขาด
อีกประการหนึ่ง ขอให้เราทั้งหลายคิดสักเล็กน้อย ว่าการคิดการพูด การกระทำของคนในสังคมนั้น มีผลการทบกระเทือนถึงเราหรือไม่ เหตุการณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของใคร สิ่งเหล่านั้น กระทบกระเทือน ต่อความเป็นอยู่ของเราหรือไม่ ถ้าเราคิดโดยความรอบคอบแล้ว ก็จะเห็นความจริงว่า มีการกระทบกระเทือนถึงตัวเราด้วย
เพราะชีวิตทุกชีวิตมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน แยกออกจากกันไม่ได้ ความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันนั้น เมื่อเกิดมีอะไรขึ้น ก็กระทบกระเทือนถึงกัน ถ้าเป็นไปในทางดี ก็กระทบกระเทือนให้เป็นสุข ถ้าเป็นไปในทางชั่ว ก็กระทบกระเทือน ให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อน เราจะอยู่โดยไม่กระทบกระเทือน กับเหตุการณ์ทั้งหลายนั้นไม่ได้ อย่าว่าแต่เหตุการณ์ใกล้ตัวเราเลย แม้เหตุการณ์ที่ห่างไกลไปจากตัวเรา ตั้งหมื่นโยชน์ มันยังกระทบกระเทือนมาถึงเราได้ เพราะในปัจจุบันนี้ โลกมันคับแคบ การไปมาถึงกันหมด มีเรื่องอะไรเกิดขึ้นที่ไหน ก็ย่อมจะรู้ทั่วกันทั้งโลก ผลก็กระทบกระเทือนถึงกันทั้งนั้น
เมื่อเรารู้ว่า ผลที่เกิดขึ้นจากการคิด การพูด การกระทำ ของเพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย ก่อให้เกิดเป็นความทุกข์บ้าง เป็นความสุขบ้างแก่คนทั่วไป หน้าที่ของเราที่ควรจะทำนั้นคืออะไร ก็คือการกระทำหน้าที่ ในทางที่จะไม่ส่งผลให้เกิดความทุกข์แก่ใครๆ การการทำอะไร ที่จะไม่ส่งผลให้เกิดความทุกข์แก่ใครๆ นั่นแหละ เรียกว่าเป็นการทำบุญทำกุศล การทำบุญทำกุศลที่ประเสริฐเลิศเลอนั้น ก็อยู่ที่การทำใจของเรา ไม่ให้เป็นพิษเป็นภัยแก่ใครๆ การพูดก็ไม่ให้เป็นพิษเป็นภัยแก่ใครๆ การกระทำก็ไม่ให้เป็นพิษเป็นภัยแก่ใครๆ การอยู่โดยไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่ใครๆ นั่นแหละ ในทางธรรมะถือว่าเป็นการอยู่ชอบ
การอยู่ชอบนั้นทำให้เกิดความสุข แต่การอยู่แบบไม่ชอบนั้นเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อน เราทั้งหลายชอบความทุกข์หรือไม่ ชอบความเดือดร้อนกันหรือไม่ ใครๆ ก็คงตอบเหมือนกัน ว่าไม่ต้องการ เราไม่ชอบความทุกข์ ความเดือดร้อน แล้วคนอื่นเขาชอบหรือเปล่า จิตใจของคนเรามันเหมือนกันทั้งนั้น ถ้าไม่มีอะไรมาปรุงมาแต่งแล้ว สภาพจิตใจเหมือนกัน ที่เกิดแตกต่างกันนั้น เพราะมีสิ่งมาย้อมใจ ให้จิตเดิมนั้นมันเปลี่ยนสภาพไป ถ้าเมื่อยังไม่ถูกอะไรย้อมใจแล้ว ก็มีสามัญสำนึกแบบเดียวกัน คือนึกรักสุข เกลียดทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น ชอบของดีของงามด้วยกันทั้งนั้น
ไม่มีใครชอบของชั่วของทราม ว่าเขาไม่รู้จักสิ่งนั้นถูกต้อง จิตของเขาถูกย้อมด้วยสิ่งนั้นเป็นเวลานาน จนกลายเป็นพอใจ พึงใจในสิ่งนั้น อันนี้มันไม่ใช่ของเดิม แต่เป็นของที่เกิดขึ้นใหม่ในชีวิต และเราไม่รู้ว่า สิ่งนั้นเป็นพิษเป็นภัย จึงเก็บทะนุถนอมมันไว้ เหมือนกับเก็บสิ่งที่เป็นพิษใส่ไว้ในบ้านเรือน มันจะแว้งกัดเมื่อไรก็ได้ ทำให้เราเกิดความทุกข์ ความเดือดร้อนเมื่อไหร่ก็ได้
เพราะฉะนั้น เมื่อเรารู้ว่าอะไรมันเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อน เราก็ไม่ควรจะกระทำสิ่งนั้นต่อใครๆ เพราะเขาก็ไม่ต้องการเช่นเดียวกัน
คนเราที่มีชีวิตอยู่ในโลกประจำวัน ควรจะอยู่ด้วยความเห็นอกเห็นในกัน อยู่ด้วยการเอาใจเขามาใส่ใจเราไว้ เทียบเคียงระหว่างตัวเขาตัวเราไว้เสมอ จะทำอะไรก็ต้องคิด ถามตัวเองว่า การกระทำเช่นนั้นถ้ามีใครมาทำกับเรา เราชอบใจหรือไม่ และเมื่อเราไปทำกับเขา เขาก็ไม่ชอบใจเหมือนกัน เพียงหลักง่ายๆ เท่านี้ เราก็จะอยู่กันด้วยความสงบสุข ไม่ต้องทะเลาะเบาะแว้งกับใครๆ จะพูดจะคิดอะไร ก็เอาหลักนี้เข้าไปเป็นหลักไว้ ว่าถ้าเขาทำกับเรา เราจะชอบใจหรือไม่ เราไปทำกับเขา เขาคงไม่ชอบใจเหมือนกัน เพราะจิตนั้นเหมือนกัน
สภาพจิตตัวเดิมนั้นเหมือนกัน ไม่ได้แตกต่างๆ อะไรกัน แต่ที่แตกต่างขึ้นมานั้น ก็เพราะว่าถูกปรุงแต่งด้วยความโลภ ด้วยความโกรธ ด้วยความหลง เมื่อกิเลสประเภทใดประเภทหนึ่ง มาปรุงแต่งจิตใจของเรา เราเป็นคนไม่เหมือนเดิม มีอะไรๆ เปลี่ยนแปลงไป การคคิดก็ผิดไป การพูดก็ผิดไป การกระทำก็เป็นไปในทางผิด ผลที่ออกมาก็คือความทุกข์ ความเดือดร้อน อันนี้เป็นเรื่องธรรมดาที่สุด ที่จะเกิดขึ้นในชีวิตของเราเมื่อใดก็ได้ ถ้าเราเผลอเราประมาท
ในหลักการปฏิบัตินั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสเตือนไว้ว่า
เธอทั้งหลายอย่าอยู่ด้วยความประมาท แต่จงอยู่ด้วยความไม่ประมาท ความประมาท
เป็นทางแห่งความทุกข์ ความไม่ประมาทเป็นทางแห่งความสุข ทางประมาทเป็นทางแห่งความตาย
ความไม่ประมาทเป็นทางแห่งความอยู่รอด ท่านจึงกล่าวย้ำกล่าวเตือนว่า
จงอยู่ด้วยความไม่ประมาท แม้ในวาระสุดท้ายแห่งชีวิตของพระองค์
คือตอนใกล้จะปรินิพพาน พระองค์ก็ยังได้ตรัสเตือนภิกษุทั้งหลายว่า
"ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังขารธรรมทั้งหลายเป็นสิ่งไม่เที่ยง
เกิดขึ้นแล้ว แปรปรวนดับไปเป็นธรรมดา
เธอทั้งหลาย จงทำประโยชน์ตน และประโยชน์ผู้อื่น
ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด"
ใช้คำบาลีว่า อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ ท่านทั้งหลาย จงทำประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น
ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด " อันนี้เป็นพระโอวาท ที่ฝากไว้ก่อนจะหมดลมหายใจ
เขาเรียกว่า "ปัจฉิมวาจา" วาจาในครั้งสุดท้ายของพระตถาคตเจ้า
บรรดาการปฏิบัติทั้งหลายนั้นรวมอยู่ในตัวนี้ทั้งหมด คือรวมอยู่ในความไม่ประมาท
เหมือนกับรอยเท้าสัตว์ทั้งหลายที่อยู่ในป่า มันก็รวมลงไปได้ในรอยเท้าช้างทั้งนั้น
รอยเท้าช้างนี้เป็นรอยเท้าที่ใหญ่ที่สุด ในบรรดาสัตว์ทั้งหลาย สัตว์ตัวใดตัวหนึ่ง
ก็ไปเหยียบลงในรอยเท้าช้างได้ฉันใด
ธรรมะอันเป็นการปฏิบัติทั้งหลาย ก็รวมอยู่ในความไม่ประมาทตัวเดียว
ถ้าเราเป็นอยู่ด้วยความไม่ประมาท ก็เรียกว่าเป็นอยู่ชอบ ตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้า
เพราะฉะนั้นเราจึงควรอยู่ด้วยความไม่ประมาท ความไม่ประมาทนั้นคืออะไร
คือความมีสติสมบูรณ์อยู่ตลอดเวลา ความมีสติเรียกว่า ไม่ประมาท เผลอสติก็เรียกว่า
เป็นผู้ประมาท เพราะคำว่าประมาทนั้น ศัพท์เดิมแปลว่า ความเมาทั่ว บาลีว่า ปมาทะ
แปลว่าเลินเล่อ เผลอ หรือว่ามึนเมา อยู่ในสิ่งนั้นๆ เขาเรียกว่าปมาทะ
ทีนี้ความอัปปมาทะ ก็คือความไม่เผลอ ไม่มัวเมา ไม่หลงใหล ไม่ลืมตัวอยู่ในสิ่งเหล่านั้น ยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ เช่นเราไปดูอะไร แล้วดูจนเพลินไป เกินเวลาไป อย่างนี้เรียกว่าลืมตัวไปแล้ว ประมาทไปแล้ว หรือว่าคนที่ไปดูหนัง แล้วหัวเราะจนตายในโรงหนัง เหมือนข่าวที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ อันนี้ก็เรียกว่าประมาทแล้ว ลืมตัวไป หัวเราะจนกระทั่งลืมตัวไไป แล้วมันตายเอาได้เหมือนกัน เราอย่าเที่ยวไปจี้สีข้างเด็กให้มันหัวเราะมากเกินไป เดี๋ยวเด็กมันจะดิ้นสิ้นใจไป เป็นทุกข์เป็นโทษต่อไป นี่เขาเรียกว่าประมาทไป
คนที่ดื่มของมึนเมา ดื่มจนลืมตัวแล้วมัวจนไม่ได้สติ จนกระทั่งเดินสองขาไม่ได้ ต้องเดินสี่ขากลับบ้าน อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นผู้ประมาท หรือว่าคนที่ไปเล่นการพนัน ไปเล่นไพ่ ลืมกลับบ้าน ลืมกินลืมถ่าย นี่ก็คือความประมาททั้งนั้น เขาเรียกว่าลืมตัว โดยมากในเรื่องชั่ว เรื่องร้าย เรื่องไม่ดี แต่ถ้าเรามีความรู้สึกตัว มีสติขึ้นมา เราก็นึกว่ามากไปแล้ว พอรู้สึกตัวว่ามากไป แล้วก็หยุดทันที รู้สึกตัวว่ามันเกินสมควรแล้ว เราก็หยุดทันที พอหยุดนี้ ก็เรียกว่าความไม่ประมาทเกิดขึ้น มีสติเกิดขึ้นในจิต เกิดความยับยั้งชั่งใจ เกิดความรู้สึกว่ามันเกินความพอดี มันจะใช้ไม่ได้ มันจะเป็นเรื่องเสียหาย มันจะนำความทุกข์ความเดือดร้อนมาให้
สิ่งเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นในใจเมื่อใด มันหยุดยั้งทำให้เราหยุด จากการปฏิบัติในรูปเช่นนั้น เช่นคนที่อยู่ในวัยหนุ่มวัยฉกรรจ์ ก็เที่ยวสนุกสนานเพลิดเพลินไปตามเรื่อง ยิ่งคนที่พ่อแม่มีเงินทอง ไม่ต้องหา ไม่เหน็ดไม่เหนื่อย ควักล้วงเอาเมื่อใดก็ได้จากคุณแม่ คุณแม่ก็รักลูกดังแก้วตา รักจนตาทะลุไปเลย ต้องการอะไรก็ให้ได้ดังใจ พอได้เงินก็ไปเที่ยว ไปสนุกตามไนท์คลับ เขาเรียกว่าเป็นเพลย์บอยไป เที่ยวเพลิดเพลินไป จนไม่รู้สึกเนื้อไม่รู้สึกตัว อันนี้เรียกว่า ประมาทแล้ว แต่ว่าสักวันหนึ่งคนนั้นจะรู้สึกขึ้นมา ด้วยการได้ยินคำพูดที่กระทบกระเทือนใจ
เช่นว่าไปฟังพระเทศน์ในวัดก็ได้ ฟังวิทยุก็ได้ หรือว่าได้อ่านหนังสือเข้าก็ได้ เกิดสลดใจ แล้วก็คิดได้ขึ้นมา กลับเปลี่ยนชีวิตจิตใจเข้าหาพระ เริ่มศึกษาธรรมะ เริ่มปฏิบัติตนในทางที่ถูกที่ชอบ อย่างนี้ก็เรียกว่าได้สำนึกขึ้นมาในใจ แล้วเปลี่ยนความประมาท ให้เป็นความไม่ประมาท เปลี่ยนจากคนเผลอ ให้เป็นคนไม่เผลอ มีสติยับยั้งชั่งใจ ชีวิตมีค่าต่อไป
พระท่านเปรียบว่า เหมือนกับดวงจันทร์ที่อยู่ในหมู่เมฆ ไม่เห็นแสง พอเลิกความประมาท ก็โผล่ออกมาจากกลีบเมฆ ส่องแสงจ้ามาสู่โลกต่อไป ชีวิตก็มีค่าต่อไป คนเราถ้าชีวิตตกต่ำ ก็ควรจะได้เปลี่ยนแปลงให้มันสูงขึ้น ถ้าอะไรไม่ดีก็ควรจะทำให้ดีขึ้น ให้ก้าวหน้าต่อไปในทางที่ถูกที่ชอบ ก็จะเป็นการทำชีวิตให้มีค่ามีราคา เราทั้งหลายที่มาประชุมกันนี้ ก็อาจจะมีบ้างในสมัยหนึ่ง คือสมัยหนุ่มคะนอง อาจจะเพลิดเพลินไปในเรื่องอะไรต่างๆ เพลิดเพลินในการดื่มในการเที่ยวในการเล่น ในความสนุกสนานเฮฮา เพราะนึกว่านั่นเป็นเรื่องสาระของชีวิต เป็นเรื่องที่เราควรจะสนุก บางคนพูดว่า มีเงินมีทอง ไม่ใช้กินเล่น แล้วมันจะมีไว้ทำไม เลยไปกินไปเล่นกันเป็นการใหญ่ จนกระทั่งหมดเงินหมดทอง เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อนในชีวิตต่อไป ตกต่ำอย่างนี้น่าเสียดาย
เคยพบคนคนหนึ่ง เดี๋ยวนี้แกเป็นคนเรียบร้อย เข้าวัดเข้าวา ช่วยเหลือกิจการพระศาสนาแข็งแรง แกบอกว่า ผมก่อนจะเข้าวัดนี้ หมดนาไปห้าร้อยไร่ นึกแล้วมันเสียดาย นึกแล้วเจ็บช้ำในหัวใจ ว่าหมดนาไปตั้งห้าร้อยไร หมดไปด้วยการกิน การเที่ยว การสนุกสนาน เพื่อนฝูงเยอะแยะ มาตอมเหมือนแมลงวันตอมอะไรอย่างนั้นแหละ แล้วมานึกได้ทีหลัง ถามว่าทำไมมานึกได้ขึ้นมา บอกว่าได้พบพระเข้า แล้วพระท่านพูดกระทบกระเทือนใจอย่างแรง แล้วเอามาคิดนึกตรึกตรอง แล้วเกิดความรู้สึกตัวขึ้นมาว่า กูมันบ้ามาหลายปีแล้ว เลิกบ้ากันเสียทีเถอะ แล้วก็เลยหันเข้ามาสู่ธรรมะต่อไป เดี๋ยวนี้เรียบร้อยมานานปีแล้ว แต่แกมานึกถึงธรรมะ ว่าแล้วก็แล้วไป เรื่องนั้นมันผ่านพ้นไปแล้ว จะไปเอาคืนมาอีกก็ไม่ได้ ช่างมันเถอะ หมดแต่เพียงนา ชีวิตยังอยู่ แล้วยังจะได้ทำอะไรต่อไป อันนี้นับว่าดีแท้
ทีนี้คนหนุ่มๆ สาวๆ ถ้าได้เข้าหาธรรมะเสียแต่วัยต้น คือปฐมวัย ไปได้ไกล ชีวิตจะมีค่าไม่ใช่น้อย เพราะจะทำอะไรที่เป็นประโยชน์แล้ว ร่างกายก็จะมั่นคงแข็งแรง เพราะไม่หาโรคหาภัยใส่ตัว คนที่ชอบสนุกชอบเที่ยว เขาเรียกว่าแส่หาทั้งนั้น เหมือนกับคำโบราณว่า แกว่งเท้าหาเสี้ยน เสี้ยนมันอยู่ในรกในพง อุตส่าห์แกว่งเท้าเข้าไป ให้เสี้ยนมันตำเล่น ของชั่วทั้งหลายมันไม่ได้อยู่กับเราสักหน่อย แต่ว่าเราเที่ยวแกว่งเข้าไปหา หาความชั่วใส่ตัว หาความทุกข์ใส่ตัว แล้วก็เลยชีวิตตกต่ำ เกิดโรคภัยไข้เจ็บในร่างกาย ทำให้ชีวิตเสียหายมากมายก่ายกอง อันนี้ไม่ดี
เมื่อวานนี้ ไปเทศน์ที่อำเภอผักไห่ ก็มีเด็กหนุ่มๆ หน้าตาน่าเอ็นดูสองคน เขาอุตส่าห์มา เขาไม่ได้อยู่ที่นั่นหรอก แต่ว่าอยู่ที่ป่าโมก อาตมาเดินทางผ่านป่าโมกไปผักไห่ เมื่อไปถึง ฉันเพลเสร็จ ก็ไปนั่งพักรับลมอยู่ที่ศาลาน้อยๆ เขาก็เข้ามากราบด้วยความเคารพ แล้วก็สนทนากัน เขาบอกว่าผมรู้จักหลวงพ่อมานานแล้ว คือรู้จักในแง่ธรรมะ ไม่ได้รู้จักหน้าตา คือรู้จักในแง่ธรรมะ แต่ไม่เคยเห็นหน้าตาหลวงพ่อ อาตมาบอกว่า หน้าตาหลวงพ่อไม่สำคัญอะไรหรอก มันสำคัญอยู่ที่ธรรมะที่ได้ยินได้เรียนนั่นแหละ
เขาบอกว่า ผมรับธรรมะมานานแล้ว แล้วผมได้ทิ้งอะไรๆ ไปหมดแล้ว เมื่อก่อนนี้เขามีอะไรอยู่หลายอย่าง ความเชื่อผิดทาง เขาก็เลิกหมด ความอะไรไม่เหมาะไม่ควรเขาเลิกทิ้งหมด เขาเอาธรรมะอย่างเดียว เพื่อนอีกคนหนึ่งก็เช่นเดียวกัน ก่อนนี้ชอบไปในเรื่องขลังๆ ต่างๆ เดี๋ยวนี้ก็เลิกหมด เอาแต่ธรรมะเพียงอย่างเดียว เขาบอกว่าสบายใจดี ชีวิตเรียบร้อย แล้วก็สนใจฟังวิทยุตลอดเวลา แล้วถ้าหากว่ามาเทศน์ใกล้ก็มาหามาคุยกัน ได้พบคนหนุ่มๆ ที่มีความคิดในรูปเช่นนั้น ก็เป็นเรื่องน่าชื่นใจ
เขาเรียกว่าเข้าป่าแต่เช้า ได้ไม้หลายท่อน คนเข้าป่าเอาตอนใกล้ค่ำ ตัดไม่ได้กี่ต้น มันมืดเสียแล้วตัดไม่ไหว เดี๋ยวก็ไปฟันเอามือเท่านั้นเอง แต่ถ้าเราเข้าป่าเช้าๆ ตัดไม้ได้เยอะ กองโตเอาไปขายได้มาก คนเข้าวัดตั้งแต่วัยหนุ่มวัยสาว ได้ธรรมะไปใช้ในชีวิตประจำวัน จะอยู่บ้านคนเดียว จะครองบ้านครองเรือน ชีวิตจะไม่วุ่นวายไม่เสียหาย เพราะเรามีหลักประจำใจ มีธรรมะเป็นดวงประทีปนำทาง ให้ชีวิตจะก้าวหน้าเป็นไปด้วยดี อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ เราที่มาวัดอยู่ ต้องชวนเพื่อนฝูงให้มาด้วย ได้กินอะไรอร่อยเรามักจะคิดถึงเพื่อน กินก๋วยเตี๋ยว กินขนม กินผลไม้ อะไรดีๆ ก็มักจะคิดถึงเพื่อน
แม้พวกขี้เมาพอได้ดื่มก็นึกถึงเพื่อน อยากให้เพื่อนฉิบหายอีกสักคนหนึ่ง เรียกว่านึกถึงกัน อยากจะแป่งปันเฉลี่ยให้เพื่อน นี่เขาเรียกว่าของดีก็อยากนึกถึงเพื่อน ของไม่ดีก็นึกถึงเพื่อน แต่ว่ามันก็เป็นเรื่องวัตถุทั้งนั้น ไม่ได้เป็นเครื่องประคับประคองชีวิตเลย ถ้าเราได้ฟังธรรมะได้อ่านหนังสือธรรมะ แล้วเอาสิ่งนั้นไปเที่ยวแจกเพื่อน ไปชวนเพื่อนให้อ่าน ชวนเพื่อนให้ฟัง ชวนเพื่อนปฏิบัติ อันนี้แหละเป็นเรื่องดีแท้ ขอให้เราได้ช่วยกัน
หรือว่าเราได้เป็นเพื่อนฝูงมิตรสหายของเรา มีความทุกข์มีความเดือดร้อนใจ เราอย่าเฉยเมย แต่เราควรจะเข้าไปพูดจา แนะนำ ตักเตือน ชักจูง ให้เขาเข้าใจถูกต้อง ในเรื่องชีวิตขึ้นมา จะช่วยแก้ปัญหาชีวิตได้ดีมาก แต่ถ้าเราไม่สามารถจะแนะนำได้ เพราะความรู้ยังน้อย เราก็นำมาหาผู้ที่พอจะแนะนำได้ ให้เขาได้รับแสงสว่างในทางชีวิต นั่นแหละคือการช่วยอย่างแท้จริง การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ถ้าช่วยเหลือในด้านวัตถุ ถือว่าเป็นการช่วยเหลือเล็กน้อย เป็นการช่วยเหลือภายนอก แต่การช่วยเหลือทางจิตทางวิญญาณ คือการช่วยเหลือที่แท้จริง
| หน้าถัดไป >>
» ไม่มีอะไรได้ดังใจเหมือนม้ากาบกล้วย
» วันนี้เจ้าอยู่กับฉันพรุ่งนี้มันไม่แน่
» หลักใจ
» เกิดดับ
» มรดกธรรม