ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

หอพระไตร


ธรรมบรรยายของ หลวงพ่อปัญญา

เรื่อง มรดกธรรม

วันอาทิตย์ที่ 29 พฤษภาคม 2520

ญาติโยม พุทธบริษัททั้งหลาย

ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ ทุกท่านอยู่ในอาการอันสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์ อันเกิดขึ้นจากการฟัง ตามสมควรแก่เวลา

วันอาทิตย์เราว่างจากงานทางฝ่ายกาย ก็ชักชวนกันมาวัด เพื่อหาความสุขทางด้านจิตใจ การมาวัด เราควรจะคิดตั้งปัญหากันสักหน่อย ว่ามาวัดเพื่ออะไร มาทำไม มาแล้วจะได้อะไร ทำอย่างจึงจะได้สิ่งนั้น สมความตั้งใจ ถ้าได้คิดในเรื่องนี้ การมาวัดก็จะมีคุณค่า เป็นประโยชน์แก่ชีวิตมากขึ้น ไม่อย่างนั้นก็มากันเรื่อยๆ ไป ไปวัดนั้นไปวัดนี้ ไปกันตามเรื่องตามราว แต่ไม่รู้จุดหมายว่าเราไปกันทำไม เพื่อเอาอะไร แล้วสิ่งนั้น จะเป็นประโยชน์แก่ชีวิตจิตใจ ของเราอย่างไรบ้าง เป็นเรื่องที่ควรจะคิด ควรจะทำ เพื่อให้ถึงเป้าหมาย เพื่อจะได้เกิดประโยชน์คุ้มค่า

วัดวาอารามนั้นก็เป็นเสมือนที่รักษาโรค แต่ว่าไม่ใช่โรคทางร่าง กาย เมือก่อนนี้ทางวัดก็รักษาโรคทางกายด้วย เช่นเดียวกับโรงพยาบาลทั่วไป แต่ใช่ยาแผนโบราณ คือ ยาต้มรากไม้ใบไม้เปลือกไม้ อันเป็นยาตำหรับเก่า ก็ให้ประโยชน์อยู่เหมือนกัน คนก็นิยมไปรักษา แล้วไปรักษาตามวัดไม่ต้องเสียอะไร นอกจากว่า หารากไม้ที่พระจะต้องใช้ต้มยาไปฝากบ้าง เพื่อจะได้ต้มให้แก่คนอื่นต่อไป นั่นเป็นเรื่องของการรักษาโรคทางกาย

คนเรา แม้ว่าจะหายโรคทางกายร่างกาย เป็นปกติแล้ว ก็ยังไม่เป็นสุขเสมอไป เพราะว่าโรค อีกอย่างหนึ่ง สำคัญกว่าโรคทางกาย นั่นคือโรคทางจิตใจของเรานั่นเอง เราอย่านึกว่าใจของเราไม่มี โรคไม่มีภัย ความจริงโรคทางด้านจิตใจนั้น ก็เป็นภัยใหญ่หลวงแก่ชีวิตของคนเราทั่วไป ความสุข ความทุกข์ เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ก็เนื่องมาจากใจของเราเป็นเรื่องใหญ่ คือเราคิดอะไรเราก็เป็นอย่างนั้น ถ้าเราคิดในทางถูก เราก็มีจิตใจสบาย ถ้าคิดในทางร้าย ก็มีจิตใจเป็นทุกข์ จึงเป็นเรื่องที่จะต้องรู้ไว้ว่า โรคที่เกิดขึ้นทางจิตใจนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องรักษา เยียวยาให้ทันกับเหตุการณ์ ถ้าไม่รักษาให้ทันกับเหตุการณ์แล้ว โรคจะลุกลามขยายออกไป แล้วก็จะกลายเป็นนิสสัยเป็นสันดาน

คนเราที่มีนิสัยไปในรูปต่างๆ กันนั้น ก็เนื่องจากการคิดในเรื่องนั้นบ่อยๆ พูดแบบนั้นบ่อยๆ นานๆ เข้า ก็ชินจนติดเป็นปกตินิสัย แล้วก็ไม่รู้ว่าสิ่งนั้นจะนำอะไรมาให้ตน จะนำความทุกข์ความเดือดร้อนมาให้อย่างไร ไม่รู้ไม่เข้าใจ ผลที่สุดชิวิตก็ตกต่ำเสียหายด้วยประการต่างๆ พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นบรมครูของชาวเราทั้งหลายนั้น ทรงทราบเรื่องนี้ดีจึงได้ค้นหายาสำหรับแก้โรคทางใจ ก็คือธรรมะนั่นเอง

ธรรมะ เป็นสิ่งสำหรับแก้โรคทางใจ ที่เราเรียกว่าธรรมโอสถ คือยาธรรมะ ยาธรรมะเป็นยาแก้ โรคทางใจของบุคคลทั่วไป พระพุทธเจ้าของเราได้ทรงค้นคว้าแสวงหายานี้ เป็นเวลาถึงหกปี จึงได้ค้นพบ แล้วจึงนำมาใช้เป็นประโยชน์แก่คนทั่วไปๆ เพราะฉะนั้นตำหรับตำราที่มีอยู่ เช่นว่าคัมภีร์พระไตรปิฏกก็เรียกว่า เป็นตำรายาขนานใหญ่ ที่มีไว้สำหรับช่วยแก้ปัญหาชีวิต ให้ผู้ที่มีความทุกข์ความเดือดร้อนได้ ผ่อนคลายหายจากความทุกข์ ความเดือดร้อนไปได้ ยาเหล่านี้มีอยู่มากมาย เป็นประโยชน์ทั้งนั้น แล้วก็อยู่ในวัด พระเป็นผู้รักษาตำหรับตำรา ไม่ใช่รักษาไว้เฉยๆ แต่รักษาไว้ด้วยการศึกษาให้เข้าใจ ด้วยการปฏิบัติให้เป็นตัวอย่าง ในทางชีวิตสงบ มีความสุข ตามสมควรแก่ฐานะ ญาติโยมได้เห็นพระผู้มีจิตใจสงบ ก็เรียกว่าเป็นมงคลแก่ชีวิต ดังคำในมงคลสูตรว่า "สมณานัญจะทัสสะนัง เอตัมมังคะละมุตตะมัง" การได้เห็น สมณะเป็นมงคล คือเป็นเหตุให้เกิดความสุขทางใจ และได้เห็นตัวอย่าง

เรื่องตัวอย่างนี่ เป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าเราเห็นตัวอย่างของบุคคลประเภทใด ทำให้เรารู้สึกว่าได้ เห็นสิ่งประเสริฐสำหรับชีวิต เรามาวัด ถ้าได้เห็นพระที่มีอาการสงบ พูดจาเรียบร้อย กริยาสำรวมระวัง หน้าตาสดชื่น เพราะมีธรรมะเป็นพื้นฐานทางจิตใจ เราก็พลอยมีความสุข ความสดชื่นไปด้วย ถ้าเราไปเห็นคนที่หน้าบึ้ง หน้าตึง แสดงอาการมีความทุกข์ทางใจ เราก็จะรู้สึกพลอยมีความทุกข์ไปด้วยเหมือนกัน อันนี้คือสิ่งที่เราได้เห็นภายนอก เราก็กระทบกระเทือนทางจิตใจ เช่นเราเห็นคนร้องไห้เรารู้สึกอย่างไร เรามีความกระเทือนใจ ยิ่งเห็นคนที่ร้องไห้หนักๆ ตีอกชกหัว มีความทุกข์มีความเดือดร้อน เราก็รู้สีกมีความกระเทือนทางจิตใจ ที่เขาเรียกว่า เกิดสังเวคะขึ้นทางใจ ที่นี้ถ้าเราไปเห็นคนที่มีความสงบความสุขทางจิตใจ ก็มีความกระเทือนทางอารมณ์ แต่ว่าเป็นความกระเทือนที่ไม่เป็นพิษเป็นภัย ทำให้เราพลอยมีความสุขใจดีใจ

เพราะฉะนั้น คนบางคน เวลาไปเห็นบุคคลประเภทอย่างนั้น แล้วก็แสดงความรู้สึกว่าสบายเหลือเกิน ที่ ได้เห็นผู้นั้นผู้นี้ มีความสุขทางด้านจิตใจ พระสงฆ์เราเป็นผู้รักษามรดกคือธรรมะ ของพระพุทธเจ้าไว้ รักษาด้วยการศึกษา ด้วยการปฏิบัติ ด้วยการชี้ช่องทางให้ญาติโยมทั้งหลาย เกิดความรู้ความเข้าใจกันต่อไป เรามาวัดก็เพื่อเรื่องนี้ คือมารับส่วนแบ่งมรดกของพระพุทธเจ้า ที่พระองค์ได้สร้างไว้ เพื่อเป็นประโยชน์แก่ชาวโลกทั้งหลาย เรามาขอรับส่วนแบ่ง แบ่งไปในรูปของการศึกษา เรามาเรียน มาฟัง มาอ่าน ในบางครั้งบางคราว อย่างนี้เรียกว่า มารับส่วนแบ่งแบบหนึ่ง

ครั้นเราได้รับส่วนแบ่งนั้นแล้ว เราก็เอาไปคิดให้เข้าใจแนวทางที่ถูกต้องต่อไป จากนั้นเราก็ปฏิบัติ ตามความรู้ความเข้าใจ การปฏิบัตินั้นก็คือ การขจัดปัดเป่าสิ่งที่เป็นพิษเป็นภัยในจิตใจของเราให้หายไป แล้วคอยป้องกัน สิ่งที่เป็นพิษเป็นภัย ไม่ให้เกิดขึ้นในจิตใจของเราต่อไป วิธีการมันก็เหมือนกับวิธีการทางวัตถุนั่นแหละ คือ มีการป้องกัน แล้วก็มีการแก้ไข การป้องกันนั้นก็ต้องทำอยู่ตลอดเวลา เพราะข้าศึกมันมาโจมตีเราอยู่ตลอดเวลา เราจึงต้องคอยใช้วิธีป้องกันไว้ ไม่ให้เข้าถึงที่สำคัญ คือใจนั่นเอง ไม่ให้มันเข้าไปถึงใจ ไม่ให้เกิดความรู้สึกใดๆ ขึ้นในสิ่งนั้น

รูปมากระทบตา เสียงกระทบหู จมูกกระทบกลิ่น ลิ้นมากระทบรส กายได้สัมผัสถูกต้องอะไร ก็ให้มันเป็นเพียงแต่กระทบเท่านั้น แต่ไม่ให้ลามปามไปจนเกิดความรู้สึก ยินดียินร้าย อยากได้อยากมีในเรื่องนั้นๆ อันนี่เรียกว่า คิดป้องกันไว้ล่วงหน้า ไม่ให้มันเกิดโจมตีจนเราแตกพ่าย จิตใจพังทะลายเพราะความรู้สึกต่างๆ เพราะจิตของคนเรานั้น ถ้าเราเกิดกระทบกระเทือนในรูปใด เช่น เกิดความรักก็เป็นทุกข์ เกิดความชัง ก็เป็นทุกข์ เกิดความอยากได้ อยากมี อยากเป็น มันก็เป็นทุกข์ทั้งนั้น ถ้ามันเกิดอาการอย่างนั้นมากๆ รุนแรง ก็จะเกิดความวุ่นวาย ทางด้านจิตใจ สร้างปัญหาขึ้นในตัวเรา ด้วยประการต่างๆ เรารู้อาการเช่นนี้หรือไม่ ถ้าไม่รู้ก็ถูกโจมตีบ่อยๆ จิตก็ต้องยุบยับไปบ่อยๆ แต่ถ้าเราสังเกตกำหนดอาการของจิตไว้ เวลาสิ่งนั้นมากระทบ เรารู้สึกอย่างไร รูปอย่างนั้น เกิดอะไรขึ้นในจิตใจของเรา สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น มันร้อนหรือว่าเย็น วุ่นวายหรือสงบ เป็นไปในรูปใด เราต้องสังเกตอาการเช่นนั้นไว้ เพื่อให้รู้จักว่ามันเป็นอย่างไร

อาการที่เราคอยกำหนดสิ่งที่เกิดขึ้น ในจิตใจของเราอย่างนี้ เราเรียกว่า "รู้จักตัวเอง" การรู้จักตัวเอง ที่เราพูดๆ กันอยู่นั้น ก็หมายความว่า รู้จักสิ่งที่เกิดขึ้นในจิตใจของเรา ในเมื่อกระทบกับสิ่งภายนอก ซึ่งเราเรียกว่า อารมณ์ อันมีประการต่างๆ ต้องคอยกำหนดรู้ไว้ ว่าสิ่งนั้นมากระทบแล้วเกิดอาการอะไร เช่นเกิดความโกรธ ความเกลียด เกิดความรัก เกิดความพอใจ เกิดความอยากได้ เกิดความริษยา เกิดความยินดีด้วยประการต่างๆ มันมีอาการหลายอย่างหลายประการ เกิดขึ้นในใจของเราเสมอๆ เป็นไปในรูปนั้นรูปนี้บ้าง เราจึงควรจะได้ศึกษากันไว้

อันการศึกษาธรรมะนั้น ขอให้ญาติโยมเข้าใจว่า ในชั้นต้น เราก็เรียนจากหนังสือหนังหา จากตำหรับตำราไปก่อน หรือเรียนด้วยการฟัง จากผู้รู้ที่มาพูดมาอธิบายให้เราเข้าใจ แล้วต่อจากนั้น ต้องเรียนจากตัวจริง ในห้องปฏิบัติเลยทีเดียว ห้องปฏิบัติของธรรมะก็คือตัวเราเอง ในร่างกายยาววา หนาคืบ กว้างศอกหนึ่ง นี้แหละ เป็นห้องปฏิบัติด้านธรรมะ เป็นห้องทดลอง ที่เราจะต้องทดสอบ พิจารณา แยกแยะ วิเคราะห์ วิจัย อยู่ตลอดเวลา เพื่อให้รู้ว่า สภาพชีวิตจิตใจของเรานั้น มันเป็นอย่างไร เมื่อสิ่งนั้นมากระทบเป็นอย่างไร เมื่อสิ่งนี้มากระทบเป็นอย่างไร เมื่อสิ่งนี้มากระทบเป็นอย่างไร แล้วมันเกิดอะไรต่อไปจากเรื่องนั้น

เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ใช่หยุดอยู่เพียงเรื่องเดียว แต่มันจะต่อกันเป็นสายโซ่ยาวยืดทีเดียว ดังคำที่พระพุทธองค์ ตรัสว่า เมื่อสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น สิ่งหนึ่งก็เกิดตามมา ตามกันมาเป็นวงทีเดียว เป็นลูกโซ่เป็นสายสัมพันธ์กัน ไม่รู้จักจบสิ้น สิ่งทั้งหลายมีตัวเหตุ มีตัวการทั้งนั้น มันมีเรื่องเบื้องต้น แล้วก่อเกิดติดต่อกันมาเป็นลำดับ เป็นไปในรูปต่างๆ แต่ถ้าเราไม่สังเกต เราก็ไม่รู้ไม่เห็น ก็ปล่อยไปตามเรื่องตามราว แต่ถ้าหากสังเกตกำหนดจดจำแล้ว ก็จะพบว่ามันเกิดขึ้นจากอะไร ต้นตอมันคืออะไร สืบต่อมาเป็นเปราะๆ มีอะไรบ้าง มีสายสัมพันธ์ ชักโยงกันเป็นแถว จนกระทั่งไม่รู้ว่า ตัวต้นอยู่ตรงไหน

เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า สังสารวัฏฏ์ คือเกิดจากอารมณ์ต่างๆ ของกิเลสต่างๆ ในจิตใจของคนเรานั้น เบื้องต้นมันไม่ปรากฏ เบื้องปลายมันก็ไม่ปรากฏ คือมันมากเหลือเกิน ติดต่อกันมาไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร มันไม่ปรากฏสำหรับคนที่ไม่ได้พิจารณา แต่คนนั้นได้หมั่นพิจารณา ตรวจสอบในเรื่องเกี่ยวกับอารมณ์อยู่เสมอแล้ว ก็จะพบว่า มันมีเบื้องต้นมาจากเรื่องอะไร แล้วก็ไปจบลงที่ตรงไหน ผลที่เกิดขึ้นนั้นเป็นประการใด เราก็พอจะรู้และเข้าใจ ในสภาพของสิ่งนั้นได้ ตราบใดที่ยังไม่รู้ไม่เข้าใจเรื่องอย่างนี้ เราก็ถูกอารมณ์มันเตะต่อยเราเรื่อยไป ไม่จบไม่สิ้น แล้วก็ต้องเป็นทุกข์ ขึ้นๆ ลงๆ อยู่กับเรื่องนั้นๆ ตลอดเวลา

แต่เมื่อใดเรามาจับมันได้ เข้าใจมันถูกต้อง เราก็สามารถจะแก้ไขปัญหานั้นๆ ได้ทันท่วงที ไม่ว่าอะไรจะมากระทบ เราก็สามารถจะรับได้ ตีโต้กลับไปด้วยสติปัญญาของเรา สิ่งนั้นมันก็ไม่เป็นพิษแก่เรา ไม่ทำร้ายเรา ให้เราต้องลำบาก ต้องเป็นทุกข์ต่อไป อันนี้แหละเป็นเรื่องสำคัญ ที่เราควรจะได้สนใจศึกษา สนใจปฏิบัติกันอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นการมาสู่สถานที่อย่างนี้ ก็เท่ากับว่าเรามาเรียนรู้วิธีการ เพื่อเอาไปใช้แก้ปัญหาชีวิตของเราต่อไป

เรานับถือพระพุทธศาสนา ก็ต้องให้ได้ประโยชน์จากพระพุทธศาสนา เรานับถือพระพุทธศาสนาก็ ต้องเข้าถึงสี่งที่เรียกว่า เป็นแก่นของพระพุทธศาสนา ศาสนาทั้งหลายทั้งปวงนั้น ย่อมมีเปลือก มีกะพี้ แล้วก็มีแก่น ด้วยกันทั้งนั้นแหละ ความจริงเมื่อเริ่มแรกทีเดียวนั้น ผู้สอนศาสนาที่เรียกว่าศาสดา นั้นไม่มีเรื่องเกี่ยวกับเปลือกหรอก สอนสิ่งที่เป็นเนื้อแท้กันเลยทีเดียว คล้ายๆ กับเรารับประทานผลไม้ เขาปอกไว้เสร็จแล้ว เหมือนกับลูกเงาะ เอาเมล็ดออกให้ด้วย แล้วก็ใส่จานอย่างสวยงาม เอามาวางไว้บนโต๊ะเรา ก็เอาซ่อมจิ้มใส่เข้าปาก กินได้เลยไม่มีเปลือก ไม่มีเมล็ดใน เรียกว่ามีสิ่งรับประทานได้เพียงอย่างเดียว ฉันใด ในเรื่องเกี่ยวกับการสอนธรรมะนี่ก็เหมือนกัน

ถ้าเราศึกษา ดูประวัติการเป็นมาของศาสนาแล้ว ทุกศาสนาคล้ายกันๆ กัน แต่ว่าพระพุทธศาสนาของเรานั้น มีส่วนเด่นในเรื่องนี้ คือพระผู้มีพระภาคสอนแก่นจริงๆ ให้เราไปดูปฐมเทศนา ที่ตรัสสอนปัญจวัคคีย์ทั้งห้า ก็สอนเรื่องแก่นแท้ๆ เรื่องความดับทุกข์ เรื่องความทุกข์ให้เข้าใจ คือสอนเรื่องความทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ การดับทุกข์ได้ แล้วก็วิถีทางจะให้ถึงความดับทุกข์ อันนี้เป็นเรื่องเฉพาะหน้า เป็นปัญหาที่ พระผู้มีพระภาค นำมากล่าวมาสอน แก่ศานุศิษย์ของพระองค์ ผู้ที่นั่งรับฟังนั้น เรียกว่าได้สิ่งที่เป็นสาระจริงๆ เป็นแก่นจริงๆ เอามาปฏิบัติก็ได้หลุดพ้นไป จากความทุกข์ความเดือดร้อนได้

ในยุคที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่นั้น พูดได้ว่าไม่มีสิ่งที่เป็นเปลือก มีแต่เนื้อทั้งนั้น พระพุทธเจ้าก็ดี สาวกของพระองค์ก็ดี เมื่อจะไปสอนอะไร ก็สอนสิ่งที่เป็นเนื้อแท้ ให้คนได้เกิดความรู้ความเข้าใจ เพราะฉะนั้นในตำนานจึงปรากฏว่า เมื่อฟังแล้วก็ดับทุกข์ได้ พ้นจากความทุกข์ตามลำดับ เช่นเป็นพระโสดาบันบ้าง อะไรบ้างตามลำดับ นั่นก็เพราะว่าได้รับสิ่งที่เป็นเนื้อแท้จริงๆ เข้าใจสาระของเรื่องนั้นจริงๆ จึงได้ผลประจักษ์แก่ใจ คือสามารถแก้ไขปัญหาชีวิตได้ทันท่วงที แต่ภายหลังพุทธปรินิพพาน คือเมื่อพระองค์ ผู้เป็นพระบรมศาสดานั้นนิพพานไปแล้ว ศาสนาเริ่มจะเปลี่ยนแปลงไป คำสอนชักจะมีสิ่งที่เป็นเปลือก เป็นฝอย เข้ามามากขึ้นๆ

ที่ได้เป็นไปเช่นนั้นก็เพราะว่า คนที่เป็นผู้นำคำสอนนั้น ต้องการที่จะให้ได้พวกมากๆ ได้สมาชิกมากๆ คือการสอนมีความต้องการอยู่ข้างหลัง มีกิเลสเข้ามาปนเจือปนอยู่กับการสอน เช่นต้องได้พรรคพวก ได้บริวารมากๆ ก็ต้องสอนสิ่งที่คนเขาเข้าใจ เขารับได้ ทีนี้อะไรที่เขาทำกันอยู่ ในเวลานั้น เช่นเรื่องพิธีรีตองต่างๆ ซึ่งปฏิบัติกันอยู่ในสังคมในอินเดียในสมัยนั้น พระพุทธเจ้าไม่ได้ส่งเสริม ในเรื่องอย่างนั้น แต่ยุคหลังจากพระองค์นิพพานไปแล้ว สาวกก็เอาสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น มาใส่เข้าในพระโอฐของพระพุทธเจ้าบ้าง ใส่เข้าไปในคัมภีร์ปฏิบัติกัน เป็นพิธีอะไรมากขึ้น เลยทำให้รุงรังไป

ทีนี้คนในสมัยต่อมา แทนที่จะเข้าไปถึงแก่น คือ ธรรมะ ก็มักจะติดอยู่เพียงเปลือกเพียงกะพี้ หรือพิธีรีตองต่างๆ มีคนปฏิบัติอยู่ทั่วๆ ไป ไม่ได้เอาธรรมะเป็นสรณะ เป็นที่พึ่ง แต่ไปเอาพิธีการเป็นที่พึ่ง ทำพิธีกันแพร่หลายมากขึ้นทุกเวลา จนกลายเป็นเรื่องหนึ่งของศาสนาไป เรียกว่า พิธีการ ความจริงนั้นไม่ ใช่ตัวศาสนาแท้ๆ ไม่มีพิธีอะไร ไม่มีเรื่องอะไรเข้ามาเจือปนแม้แต่น้อย มีแต่เรื่องแนวทางอันเป็นข้อปฏิบัติ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติหลุดพ้นจากความทุกข์ ความเดือดร้อนเท่านั้น ไม่มีการกระทำอะไรในทางพิธี เพื่อปลอบโยนจิตใจ เพื่อให้คนหลงผิดเข้าใจผิดในเรื่องนั้นๆ ด้วยประการต่างๆ

ถ้าเราสังเกตุดูให้ดีแล้ว บรรดาพิธีการทั้งหลายที่ทำกันอยู่นั้น มันเป็นแต่เพียงปลอบโยนจิตใจ ชั่วครั้งชั่วคราว คล้ายๆ กับเด็กร้องให้ แล้วเราบอกว่าอย่าร้องให้ เดี๋ยวจะพาไปดูหนัง หรือว่าบอกอย่าร้องให้จะซื้อขนมให้กิน แล้วเราก็เอาขนมให้เขากิน เด็กก็ไม่ร้อง หรือว่าพอมันหยุดร้อง พาไปดูหนัง ทีนี้เวลาใด เด็กมันอยากจะกินขนมขึ้นมา มันก็ร้อง เวลาใดมันอยากจะดูหนัง มันก็ร้องใหญ่ ร้องจนผู้ใหญ่รำคาญ ก็ต้องพาไปดูหนัง ต้องซื้อขนมให้กินทุกที เด็กนั้นก็เลยติดอยู่ในการร้อง ไม่มีการเปลี่ยนแปลง อันนี้เราฝึกเด็กให้เสียนิสัย ด้วยการเอาของเข้าล่อมากเกินไป ฉันใด

ในหมู่บริษัทในศาสนานี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราเอาแต่พิธีกรรมต่างๆ เข้ามาใช้มากเกินความต้องการ คนทั้งหลายก็ติดอยู่ในพิธีกรรมอันนั้น ต้องการแต่เรื่องพิธี ไม่ต้องการตัวธรรมะ ตัวข้อปฏิบัติ อันจะช่วยตน ให้พ้นไปจากความทุกข์ ความเดือดร้อนอย่างแท้จริง แต่ต้องการการปลอบโยนปลอบขวัญ หรือว่าต้องการสิ่งที่เรียกว่า ศิริมงคล ศิริมงคลที่เข้าใจกันทั่วไปนั้น มักเป็นเรื่องวัตถุ เรื่องพิธีรีตอง อะไรๆ ต่างๆ แต่ว่าสิ่งที่เป็นศิริมงคลแท้จริง ตามหลักของพระพุทธเจ้า กลับไม่มีใครต้องการ ไม่สนใจไม่เอาไปใช้

ที่เป็นเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องอะไร เพราะว่าเราเพาะเชื้อแห่งการทำพิธีมากเกินไป จนทำให้คนติดในเรื่องนั้น เรื่องนี้ ถ้าไม่ได้ทำอย่างนั้นแล้วก็ไม่สบายใจ มีความทุกข์ทางใจขึ้นมาทันที ความทุกข์นี้เกิดมาจาก อุปทานตัวหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า สีลัพพตุปาทาน คือการยึดมั่นในศีลพรต ศีลพรต ในที่นี้หมายถึงพิธีกรรมต่างๆ ที่เราปฏิบัติกันทั่วๆ ไป ถ้าไม่ได้ทำอย่างนั้นแล้ว ก็ไม่สบายใจ เมื่อจะทำอะไรแล้วก็ต้องทำอย่างนั้น อย่างนี้กลายเป็นว่า วัตถุภายนอกเป็นเครื่องปลอบใจ ไม่เอาเรื่องข้างในเป็นเครื่องแก้ปัญหา แก้จากวัตถุตลอดเวลา ทำอะไรก็ต้องเอาสิ่งนั้นเป็นเครื่องแก้

ยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ เรานิมนต์พระไปเจริญพระพุทธมนต์ที่บ้าน ความจริงแท้นั้นเรานิมนต์พระไป เพื่อเราจะได้เข้าใกล้พระ แล้วจะได้ฟังสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ชีวิต แต่ว่าเราไปติดในเรื่องพิธี เลยก็ต้องมีการสวดมนต์ ตั้งหม้อน้ำมนต์ไว้ เวลาสวดมนต์นี้ก็ไม่ค่อยมีคนสนใจเท่าใดหรอก นั่งฟังอยู่เฉพาะเจ้าของบ้าน แขกเหรื่อก็นั่งคุยกันอยู่ข้างนอก บางทีอาจจะนั่งดื่มอะไรๆ เพลินๆ ไปก่อนก็ได้

แต่ว่าพอพระฉันอาหารเสร็จแล้ว พอบอกว่า จะพรมน้ำมนต์ มากันหมดเลย มานั่งหน้าสะหลอนกันเลยทีเดียว ต้องการจะให้พรมน้ำมนต์ให้ ทีนี้พอพรมน้ำมนต์แล้ว บางคนขยับเข้ามาใกล้ พรมให้แล้วยังไม่พอ บอกว่าให้เอามือลูบหัวให้สักหน่อย เข้าใจว่า ถ้าได้ลูบแล้วคงจะดีขึ้น จะวิเศษขึ้นอย่างนั้นๆ บางคนหนักเข้าไปยิ่งกว่านั้น อยากจะให้เป่าลงไปบนหัวสักหน่อย ให้พ่นน้ำลายใส่กระหม่อมให้หน่อย นี่แหละที่เรียกว่าติดอยู่ในเรื่องอย่างนี้ คือเรื่องพีธีการต่างๆ อันเกิดขึ้น ที่เขาเพาะกันขึ้นไว้ คนก็ติดอยู่ในเรื่องอย่างนั้นไม่ได้ศึกษาธรรมะ ไม่ได้คิดช่วยตัวเอง ไม่ได้คิดพึ่งตัวเอง ตามหลักการของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านสอน ให้เราช่วยตัวเองให้เราพึ่งตัวเอง เราไม่เข้าใจ ไม่เอาอย่างนั้น แต่ว่าเอาเรื่องพิธีกันอยู่ตลอดเวลา ต้องทำอย่างนั้นต้องทำอย่างนี้มากประการ จนไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร อย่างนี้เป็นตัวอย่าง ที่ว่าไม่เข้าถึงธรรมะ

นอกจากนั้นแล้ว ในสมัยต่อมา ศาสนายาวมาร้อยปีพันปี ก็เกิดมีอะไรเข้าไปแทรกแซงมากขึ้น ในเรื่องศาสนา ล้วนแต่เป็นเรื่องเกี่ยวพิธี หรือวัตถุอะไรต่างๆ ทั้งนั้น ตัวอย่างที่เห็นง่ายๆ ในบ้านเมืองของเราในยุคปัจจุบันนี้ คนกำลังสนใจในเรื่องอะไร ไม่ได้สนใจในเรื่องธรรมะกันเท่าใด นี่แหละญาติโยมที่มาวัดชลประทานฯ เรียกว่ามาต้องการธรรมะ ต้องการศึกษา ต้องการสนใจ แต่ว่าเปอร์เซ็นต์มีสักเท่าใด พลเมืองในกรุงเทพฯ มีเท่าไหร่ ในประเทศไทยมีเท่าไหร่ ที่สนใจธรรมะมีจำนวนนับได้ แต่พอมีเรื่องอื่นขึ้นมาแล้ว ก็จะเห็นว่ามีคนมากเหลือเกิน

สมมติว่าสมัยก่อนนี้ ท่านเจ้าคุณพุทธทาสมากรุงเทพฯ คนที่มาหามาสนทนา มาศึกษาธรรมะนั้น จำนวนนับถ้วน จำหน้าได้กันทีเดียว แต่ถ้าหากว่าหลวงพ่ออะไรมาสักองค์หนึ่ง เช่นว่าปักษ์ใต้ในสมัยก่อนมีหลวงพ่อคล้าย อยู่ที่จันดี คนมากันเต็มวัดไปเลยแออัดยัดเยียดกัน ที่จะมาหาหลวงพ่อคล้าย เขามาเอาอะไร มาเอาชานหมากที่ท่านเคี้ยวแล้ว ที่จำเป็นจะต้องคายลงกระโถนแล้ว ต้องเอาร่างกายเป็นกระโถนรับชานหมาก ได้ไปสักคำหนึ่งแอบปลื้มอกปลื้มใจ ห่อผ้าเอาไปไว้ที่บ้าน

 | หน้าถัดไป >>

» มองทุกให้เห็นจึงเป็นสุข

» ทุกข์ซ้อนทุกข์

» ไม่มีอะไรได้ดังใจเหมือนม้ากาบกล้วย

» วันนี้เจ้าอยู่กับฉันพรุ่งนี้มันไม่แน่

» มันเป็นเช่นนั้นเอง

» ศีลธรรมและสัจจธรรม

» แหล่งเกิดความทุกข์

» องค์สามของความดี

» หลักใจ

» ทำดีเสียก่อนตาย

» ตามรอยพุทธบาท

» ฐานของชีวิต

» ความพอใจเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง

» ชั่งหัวมัน

» อนัตตาพาสุขใจ

» ฤกษ์ยามที่ดี

» อดีต ปัจจุบัน อนาคต

» วิธีการสอนของพระพุทธเจ้า

» สำนึกสร้างปัญญา

» สอนลูกให้ถูกวิธี

» ปฏิวัติภายนอกกับภายใน

» ร้อนกายไม่ร้อนใจ

» อย่าโง่กันนักเลย

» การทำศพแบบประหยัด

» คนดีที่โลกนับถือ

» ความจริงอันประเสริฐ

» เสรีต้องมีธรรม

» ทาน-บริจาค

» เกียรติคุณของพระธรรม

» เกียรติคุณของพระธรรม (2)

» พักกาย พักใจ

» เกิดดับ

» การพึ่งธรรม

» อยู่ด้วยความพอใจไม่มีทุกข์

» มรดกธรรม

» ฝึกสติปัญญาปัญหาไม่มี

» ทำให้ถูกธรรม

» วางไม่เป็นเย็นไม่ได้

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย