ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
เรื่อง ร้อนกายไม่ร้อนใจ
วันอาทิตย์ที่ 17 เมษายน 2520
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย
ณ บัดนี้ถึงเวลาของการแสดงปาฐกถาธรรมะ
อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการอันสงบ
ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟัง
ตามสมควรแก่เวลา.
อากาศตอนนี้ญาติโยมก็บ่นว่าร้อนๆ ไปตามๆ กัน ซึ่งความจริงมันก็ร้อนนั่นแหละ
เหงื่อไหลไคลย้อยตลอดวัน แต่ว่าความร้อนนี่มันก็ไม่เที่ยง
คือไม่เท่าใดก็หมดร้อน แล้วก็ถึงหน้าฝนต่อไป
เพราะอันนี้มันเป็นเรื่องของธรรมชาติ ของดินฟ้าอากาศ
เราจะไปเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เราก็ต้องทนอยู่กันไปตามเรื่องตามราว
จนกว่าจะหมดเรื่องนั้นไป การที่จะอยู่ได้ตามปกตินั้น จะต้องหมุนจิตใจของเรา
ให้เข้ากับสิ่งที่เกิดอยู่เป็นอยู่ คือให้พอใจแค่นั้นเอง
ถ้าพอใจแล้วมันก็ไม่มีอะไร ถ้าไม่พอใจแล้วก็เกิดความเดือดร้อน
เคยพบพระองค์หนึ่งนั่งอยู่ในห้อง เหงื่อท่วมตัว อาตมาก็ไปถามว่าไม่ร้อนหรือ
ท่านก็บอกว่ามันเรื่องธรรมดา ท่านตอบว่าอย่างนั้น
แล้วท่านนั่งทำงานไปตามปกติ ไม่รู้สึกว่ากระวนกระวาย จิตใจมันเป็นปกติ
เหงื่อมันออกมาเป็นเรื่องของร่างกาย แต่ว่าใจนั้นไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
นั่งทำงานได้ปกติตลอดเวลา อันนี้แสดงว่าท่านผู้นั้น
รู้จักหมุนจิตใจต้อนรับสถานการณ์นั้น แล้วก็ไม่เป็นทุกข์เพราะเรื่องนั้น
คนเราจะอยู่ที่ใดก็ตาม เราควรจะอยู่ให้เบาใจสบายใจ
อย่าอยู่ให้มีความทุกข์ความหนักใจ เพราะเมื่อมีความหนักใจขึ้นเมื่อใดแล้ว
เราก็ไม่สบายทั้งกายทั้งใจ ถ้าเราไม่มีความหนักใจ แม้ว่าร่างกายเราจะหนัก
เพราะการเปลี่ยนแปลง แต่ตัวเราก็ไม่มีความทุกข์มีความเดือดร้อน
เพราะเรื่องอย่างนั้น อันนี้แหละเป็นเรื่องสำคัญ
คราวหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าถูกพระเทวทัตทุ่มหินลงมา
แต่ว่าหินนั้นไม่ถูกพระองค์ เพราะไปชนต้นไม้
สะเก็ดนิดหนึ่งมากระทบถูกพระชงฆ์ คือหน้าแข็งของพระพุทธเจ้า
เลือดไหลออกมาทีเดียว เลือดไหลซิบๆ ออกมา หมอโกมารภัจจ์ก็ทำยาไปปะแผลให้
ยาที่ปะนั้นเป็นยาร้อน ก็คล้ายๆ กับทิงเจอร์ที่เราใช้กัน
แต่ว่าในสมัยนั้นไม่มีทิง แต่ว่าใช้ใบไม้ประเภทหนึ่ง เอามาพอกไว้แล้ว
หมอก็กลับบ้าน หมอก็นอนไม่หลับตลอดคืน มีความเป็นห่วง เพราะนึกในใจว่า
ยาที่พอกนั้นเป็นยาที่ร้อน พระผู้มีพระภาคคงจะไม่ได้บรรทม
เพราะความร้อนของยาที่ผิวหนัง ตื่นแต่เช้ามืดมาเฝ้าดูพระผู้มีพระภาคเจ้า
แล้วก็ถามไปด้วยอาการร้อนรนกระวนกระวายใจว่า
เมื่อคืนนี้พระองค์บรรทมหลับเป็นปกติหรือเปล่า
พระผู้มีพระภาคกลับตอบว่า เราบรรทมหลับเป็นปกติ ไม่มีอะไรเกิดขึ้น
หมอก็บอกว่าข้าพระองค์นอนไม่หลับเมื่อคืนนี้
เพราะมีความกังวลที่ยาปะแผลของพระองค์ว่ามันร้อน
พระผู้มีพระภาคกลับตรัสตอบแก่หมอนั้นว่า
ความร้อนทั้งหลายเราได้ดับมันหมดแล้ว ที่ใต้ต้นโพธิ์ที่ตรัสรู้
เวลานี้ความร้อนเหล่นนั้นไม่มี ท่านจึงไม่ต้องเป็นห่วง
ไม่ต้องมีความทุกข์ในเรื่องเกี่ยวกับความร้อนต่อไป
อันนี้เป็นเครื่องแสดงถึงด้านความสงบเย็นของจิตใจ ของพระผู้มีพระภาคเจ้า
ว่าพระองค์ไม่มีความร้อน มีแต่ความสงบเย็น ความร้อนนั้นได้ดับไป
ตั้งแต่วันตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ที่ใต้ต้นโพธิ์ที่พุทธคยา
แล้วต่อจากนั้นก็ไม่มีความร้อนอะไร จะนั่งอยู่ในที่ร้อนก็ไม่ร้อน
จะนั่งอยู่ในที่เย็นก็ไม่เย็น
จะอยู่ในที่ใดก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นในจิตใจของท่าน
อันนี้เป็นเรื่องพิเศษ ที่จะเกิดมีเฉพาะบุคคลที่มีจิตหลุดพ้นแล้ว
จากกิเลสทั้งปวง หรือพ้นแล้วจากการยึดมั่นถือมั่น
ในเรื่องตัวเรื่องตนที่เราเรียกในภาษาธรรมะว่า "อัตตวาทุปาทาน"
อัตตวาทุปาทาน ก็คือการยึดมั่นถือมั่นในตัวฉันในของของฉัน
ถ้ายังมีความยึดมั่นอยู่ตราบใด ความทุกข์ก็ยังมีอยู่ ความร้อนก็ยังมีอยู่
อะไรๆ ที่มันเกิดขึ้นตามธรรมชาติ มันก็มีอยู่กับผู้นั้น
แต่ว่าถ้าถอนความยึดมั่นถือมั่นได้เมื่อใด สิ่งเหล่านั้นมันก็ไม่มี
มันมีของมันอยู่ตามธรรมชาติไม่ใช่ว่าไม่มี
แต่ว่าจิตไม่ได้เป็นทุกข์เพราะเรื่องนั้น เช่น ว่าความร้อนทางกายก็มีอยู่
เจ็บปวดมันก็มีอยู่ แต่ว่าจิตไม่ปวดในเรื่องนั้นไม่ได้เจ็บไปกับเรื่องนั้น
ดูอาการมันเฉยๆ ไม่มีปฏิกิริยาเกิดขึ้นในใจ อันนี้เป็นเรื่องของจิตใจล้วนๆ
มีบางคนเคยถามว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้อริยสัจ 4 แล้ว คือรู้เรื่องความทุกข์
เหตุของความดับทุกข์ได้ รู้เรื่องอาการดับทุกข์และวิธีการดับทุกข์ได้
พระองค์ก็พ้นจากความแก่ ความเจ็บ ความตาย แล้วเขาก็ถามว่าก็ยังแก่อยู่นี่
พระพุทธเจ้าก็ทรงชราอยู่แล้ว ก็ยังเจ็บด้วยโรค แล้วก็ยังตายเหมือนกัน
ถ้าเขาถามในรูปอย่างนั้น อันการที่ถามมาในรูปอย่างนั้นๆ
ก็ยังแสดงว่าไม่เข้าใจความหมายของเรื่องที่ว่า ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย
ไม่ใช่อย่างนั้น ร่างกายมันเป็นเรื่องของสังขาร
เมื่อเกิดมันก็ต้องแก่เป็นธรรมดา
ต้องมีความเจ็บไข้โรคภัยเกิดขึ้นเป็นธรรมดา แล้วก็ต้องตาย
คือหมดลมหายใจนี้เป็นเรื่องธรรมดา แต่ที่ว่าไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายนั้น
ก็เพราะว่าจิตไม่ได้ยึดถือ ในตัวตนว่าเป็นของตน ไม่มีตนจะให้แก่
ไม่มีตนจะให้เจ็บ ไม่มีตนจะให้ตาย จึงเรียกว่าจิตของพระอรหันต์นั้น
ไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย เพราะไม่ได้เข้าไปยึดถือไว้นั่นเอง
แต่ว่าคนเราที่เป็นปุถุชน คนธรรมดานี้มีความแก่ ความเจ็บ ความตาย
อยู่ทุกวันเวลา เพราะว่าจิตเรายังยึดถือในตัวตนอยู่ ยังมีตัวฉัน
ยังมีของฉัน เมื่อมีตัว มีของตัว มันก็ต้องมีความเปลี่ยนไปตามสภาพ
เราก็เป็นทุกข์ เช่น ผิวหนังย่นยู่ก็เป็นทุกข์ ตามืดก็เป็นทุกข์
หูตึงก็เป็นทุกข์ ปวดเอว ปวดหลังก็เป็นทุกข์ กินไม่ได้ก็เป็นทุกข์
กินได้มากเกินไปก็เป็นทุกข์เหมือนกัน นี่มันเป็นเรื่องของคนธรรมดา
ที่จิตใจยังติดพันอยู่ในวัตถุ ยังยึดถือว่าวัตถุเป็นตัวเป็นตน
เป็นเราเป็นเขา ก็ต้องเกิดความเป็นอย่างนั้น แต่ว่าจิตของพระอริยเจ้านั้น
ท่านไม่มีเหมือนเรา จิตท่านแตกต่างจากเรา เพราะท่านปฏิเสธหมดแล้ว
ไม่มีอะไรเป็นของท่าน อะไรๆ มันเกิดขึ้นท่านก็เฉยๆ คล้ายๆ
กับเรื่องอย่างนี้ เหมือนกับว่ามีอะไรของใครเขาหาย
เราไม่ได้เป็นทุกข์กับเขา
เช่นว่าคนๆ หนึ่ง มีของหายไป เรารู้เราก็เฉยๆ ที่เฉยๆ
ก็เพราะว่าของนั้นมันมิใช่ของเรา บ้านคนอื่นถูกไฟไหม้อยู่ห่างไกลจากบ้านเรา
เราก็ไม่ได้เป็นทุกข์ ไม่ได้เดือดร้อนใจ เพราะบ้านเขาถูกไฟไหม้
ที่ไม่ได้เป็นทุกข์ ก็เพราะว่าเราไม่ได้นึกว่าเป็นบ้านของเรานั่นเอง
แต่ถ้าว่าบ้านของเราถูกไฟไหม้ เราก็ร้อนอกร้อนใจมีความทุกข์ ความเดือดร้อน
ความทุกข์ความเดือดร้อนตัวนี้
เกิดขึ้นเพราะจิตเข้าไปยึดถือว่าเป็นบ้านของฉัน เงินทองของฉัน อะไรๆ
ของฉันเข้า พอเอาคำว่าของฉันเข้าไปใส่ไว้ ไม่ว่าในเรื่องอะไร
ความทุกข์มันก็เกิดขึ้นทันที เพราะเรื่องเข้าไปยึดถือในสิ่งนั้น
อันนี้แหละเป็นเรื่องที่มีอยู่ในจิตใจของมนุษย์ทุกคน ที่เราพอมองเห็นได้
คือมองเห็นได้ว่าถ้าเมื่อใดใจเราปล่อยวางเสียได้ เราก็สบายใจ
แต่เมื่อใดเราเข้าไปยึดถือมันไว้ เราก็มีความทุกข์ มีความเดือดร้อนใจ
ความทุกข์เกิดจากความยึดถือ ไม่ใช่เกิดจากอะไร
เพราะฉะนั้นในคำสวดมนต์แปล ที่เราสวดเมื่อตะกี้นี้เราสวดว่า
พระผู้มีพระภาคเจ้านี้สอนเราทั้งหลายว่าอย่างนี้ รูปไม่เที่ยง
เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง
อันนี้เป็นคำสอนของพระองค์ แล้วก็สอนให้เข้าใจว่า รูปเป็นทุกข์
ไม่ว่ารูปเฉยๆ เป็นทุกข์ รูปูปาทานักขัน ทุกขา เวทนูปาทานักขันธา ทุกขา
มีคำหนึ่งใส่เข้าไปด้วย เวลาไม่เที่ยงนี่พูดว่า รูปไม่เที่ยงเฉยๆ
เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง
แต่พอถึงเรื่องความทุกข์นี่ มีอุปาทานเข้าไปเกี่ยวข้องทันที
รูปูปาทานักขันธา ทุกขา รูปที่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นนะเป็นตัวทุกข์
เวทนาที่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นนี่ตัวทุกข์
สังขารที่เราเข้าไปยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวทุกข์
วิญญาณที่เราเข้าไปยึดมั่นถือมั่น เป็นตัวทุกข์ ความยึดมั่นถือมั่นนั่นแหละ
เป็นตัวเหตุให้เกิดเป็นทุกข์ขึ้นมา ถ้าอยู่ตามธรรมดาของมัน
มันก็เป็นทุกข์ตามธรรมชาติ แต่ไม่เป็นทุกข์แก่จิตใจเรา
แต่ถ้าเราเข้าไปยึดถือรูปอันใดเข้าเป็นของตัว เวทนาเป็นของตัว
สัญญาเป็นของตัว สังขารเป็นของตัว วิญญาณเป็นของตัวขึ้นมา
เมื่อนั้นเราก็ตั้งฐานแห่งความทุกข์ขึ้นแล้ว และเมื่อสิ่งนั้นเปลี่ยนแปลงไป
เราก็มีความทุกข์เพราะสิ่งนั้น ทุกข์นั้นเกิดจากอุปาทาน
คือการยัดมั่นถือมั่นในเรื่องนั้นๆ ความยึดมั่นถือมั่นในเรื่องใด
ก็ย่อมเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ในเรื่องนั้นขึ้นมาทันที ไม่ว่าของนั้นจะเล็ก
จะขนาดกลาง ขนาดใหญ่ จะเป็นอะไรก็ตาม
พอจิตเราเข้าไปยึดปั๊บเข้าเท่านั้นแหละ ความทุกข์ก็เกิดทันที
อันนี้สังเกตได้ง่าย ขอให้เราสังเกต คือการศึกษาธรรมะนะ
เรารู้หลักทางหนังสือแล้ว ต่อไปก็ต้องเอามาค้นคว้าจากพฤติการณ์ของเราเอง
จากความคิด จากการกระทำของเรา แล้วคอยสังเกตว่า เวลาที่เกิดทุกข์นี่
มันทุกข์เพราะอะไร เวลาทุกข์ที่หายไปนี่ หายไปเพราะอะไร เราต้องคอยกำหนด
คอยสังเกตไว้ เพื่อจะค้นหาสมุฏฐานของความทุกข์ที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของเรา
ว่าเวลาเป็นทุกข์นี่ เราคิดอะไรมาก่อน มีอะไรเกิดขึ้นในใจของเรา
เราจึงได้เกิดความทุกข์ในเรื่องอย่างนั้นขึ้น
ให้พยายามสังเกตจิตใจของเราเอง ภายหลังจากมีความทุกข์แล้วนี่
ถ้าหากว่าเราสังเกตเราจะพบว่า สิ่งที่ทำให้เราเกิดความทุกข์นั้น
ก็คือการยึดถือนั่นเอง เราจึงเรียกว่าอุปาทาน ตามภาษาธรรมะ
พอมีอุปาทานขึ้นมาเมื่อใด ใจมันก็ไปติดอยู่กับสิ่งนั้น
ไปยึดอยู่กับสิ่งนั้น พอสิ่งนั้นเปลี่ยนแปลงไป ไม่เหมือนใจ ไม่สนใจ
เราก็มีความทุกข์ขึ้นมาทันที อันนี้เป็นเครื่องชี้อยู่ในตัวแล้วว่า
เราเป็นทุกข์เพราะมีความยึดมั่นถือมั่น
ถ้าจะไม่ให้เกิดทุกข์ก็ต้องผ่อนคลายความยึดมั่นถือมั่น
ออกไปจากใจของเราเสียบ้าง
การที่จะผ่อนคลายความยึดมั่นถือมั่นออกจากใจนั้น ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย
เป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าคนเรา ตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งแก่ชรา
เราได้รับคำสอนแต่เรื่องให้ยึดถือทั้งนั้น ให้ยึดมั่นในเรื่องนั้นเรื่องนี้
ด้วยประการต่างๆ เด็กๆ ตัวน้อยได้รับคำสอนคำเตือน
ให้ยึดถือในเรื่องของตนอยู่ตลอดเวลา เราให้อะไรแก่เด็ก เราก็บอกทันทีว่า
อันนี้ของหนูนะ ตุ๊กตาของหนูนะ เสื้อผ้าของหนู ขนมของหนู พ่อแม่ของหนู
อะไรๆ ก็เป็นของเราทั้งนั้นแหละ สอนให้เด็กมีนั่นมีนี่ ยึดถือไว้
เพราะไม่เคยสอนในแง่ความจริง หรือในแง่ที่ตรงกันข้ามให้เด็กเข้าใจ
เพราะว่าพ่อแม่ก็ต้องการให้ยึดเหมือนกัน เราก็สอนให้ยึดถือไว้อย่างนั้น
จะเห็นว่าเด็กมีเรื่องยึดมั่นถือมั่นในของเล็กๆ น้อยๆ ว่า มีตุ๊กตา
มีรถน้อยๆ มีช้างมีม้าอะไรน้อยๆ ที่เขาเล่น เขาจะหวงแหนนักหนา
ยึดถือเอาเป็นนักหนาทีเดียว ใครมาแตะต้องไม่ได้ ถ้าใครมาเอาของนั้นไป
เราจะเห็นได้ว่าเขาร้องไห้ทันที ร้องไห้ดังขึ้นมาเสียด้วย
ถ้าเมื่อใดเอาของนั้นมาคืนให้ เขาก็จะหยุดร้องไห้
ทำไมเด็กจึงร้องไห้เมื่อเราแย่งเอาตุ๊กตาเขาไป
ก็เพราะเขานึกว่าตุ๊กตาของฉัน อย่าเอาของฉันไป เอาของฉันคืนมา
มันร้องเป็นภาษาอย่างนั้นแหละ แต่ว่ามันไม่พูดออกมาเป็นภาษา
และถ้าตีความหมายมันก็ได้อย่างนั้น
ทีนี้ผู้ใหญ่เห็นว่าเด็กร้อง ก็เอาไปคืนให้เขา พอได้คืนมาก็เอามาจับมันไว้
แล้วก็คลายจากความทุกข์ความเดือดร้อน เราจะเห็นเด็กบางคน
ถ้าได้ตุ๊กตาตัวสวยๆ งามๆ จะต้องกกกอดอยู่ตลอดเวลา ไปไหนก็ต้องพาไปด้วย
กินข้าว ก็ต้องเอาไปวางไว้ข้างๆ ไปเล่นก็ต้องเอาไปไว้ข้างๆ
เวลานอนก็ต้องเอาตุ๊กตาไปนอนด้วยแล้วก็นอนกอดไว้ใกล้ตัวนะ
ต้องคลำไว้กลัวตุ๊กตาจะวิ่งหนี
นีคือความยึดนั่นเอง มีไว้ตั้งแต่ตัวน้อยๆ ยึดติดในตุ๊กตาตัวนั้น
ถ้าเราลองสมมติว่า เอาตุ๊กตาตัวนั้นไปเสีย
เด็กนั้นจะนอนไม่หลับเอาเลยทีเดียว จะเที่ยวไขว่หา ร้องไห้ร้องห่ม
ไม่ได้ตุ๊กตามา ถ้าเอามาให้แล้วเขาจะหยุดร้อง แล้วเขาจะนอนหลับเป็นปกติ
พอตื่นขึ้นเขาจะต้องจับตุ๊กตานั้นก่อนละ จับเอามาหิ้วไปนั่นไปนี่
เรียกว่าจับไว้ไม่วางก่อนละ นี่เป็นปกติในรูปอย่างนี้ เป็นเรื่องของเด็กๆ
เด็กๆ ติดของเล่น ติดอะไรก่อนแล้วก็ติดของกินของใช้ ประเภทอื่นต่อไป
แล้วเมื่อเติบโตก็ติดของอื่นต่อไปอีก คือเราสอนให้เขายึดมั่นถือมั่น
เช่นว่าเรื่องชาติ เรื่องประเทศนี้ก็เหมือนกัน
เราสอนให้มีความยึดมั่นถือมั่นกันทั้งโลกนั่นแหละ เพราะว่าทุกชาติ
ต้องสอนให้เด็กรักชาติ ให้เด็กรักประเทศของตัว รักอะไรๆ เป็นของตัว
ก็เลยเพาะนิสัยความรักชาติเกิดขึ้น การสอนให้รักชาติรักประเทศอะไรอย่างนั้น
ความจริงถ้าพูดในแง่ธรรมแล้ว ก็เรียกว่า
สอนให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นนั่นเอง ไม่ใช่เรื่องอะไร
ทีนี้บางทีมันสอนแรงเกินไป สอนแรงไปก็เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกัน
พวกชาตินิยมหัวรุนแรงนี่ มักจะรุนแรงในเรื่องต่างๆ ความรุนแรงในเรื่องชาติ
ศาสนา ในเรื่องภาษา ในเรื่องขนบธรรมเนียม ประเพณี ในเรื่องอะไรต่างๆ นั้น
ย่อมเกิดปัญหาทั้งนั้น ขอให้เราสังเกตดูเถอะ
ประวัติศาสตร์ก็บอกอยู่ในตัวแล้ว ว่าคนที่รบราฆ่าฟันกันนี้
มันเรื่องอะไรกัน ก็เรื่องอย่างนี้แหละคือต้องปลุกใจในชาติ
ให้ยึดมั่นในชาติ ยึดมั่นในประเทศ ในอะไรของตัวนี่
พวกคอมมิวนิสต์ก็สอนให้ยึดมั่นในคอมมิวนิสต์
จนกระทั่งว่าตัวตายไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ยอมตายด้วยลัทธินั้น
นั่นก็คือสอนให้ยึดมั่นถือมั่น เป็นอุปาทานชนิดหนึ่งเหมือนกัน
แต่ว่าพวกคอมมิวนิสต์ชอบติเตียนศาสนา หาว่าศาสนาเป็นยาเสพติดให้โทษ
ไอ้ความจริง ตัวนั่นแหละเป็นลัทธิที่ให้โทษรุนแรง ให้โทษรุนแรงที่สุดด้วย
เพราะว่าอาจจะกระทำชั่วเมื่อใดก็ได้ เพราะในลัทธินั่นไม่มีศีลธรรม
ไม่มีบาปไม่มีบุญ ไม่สอนให้นับถือพ่อแม่ ครูบาอาจารย์
แต่ว่าสอนให้บูชาลัทธินี้ หรือบูชา คนต้นคิด
หัวหน้าในลัทธินี้เป็นชีวิตจิตใจ เรื่องพ่อ เรื่องแม่ เป็นเรื่องเล็ก
ไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไร
ได้ทราบว่า ลูกชายของนายทหารคนหนึ่งหายไป
พ่อแม่ก็เป็นห่วงมีความทุกข์มีความเดือดร้อนใจ
แล้วพอวันหนึ่งมันก็ส่งจดหมายถึงพ่อ บอกว่าไม่ต้องเป็นห่วง
เวลานี้ผมอยู่สบายดี เมื่อใดผมกลับมาเมืองไทยแล้ว
คนแรกที่ผมจะจับก็คือพ่อนั่นเอง เพราะว่าพ่อเป็นศักดินาตัวใหญ่
ผมจะต้องจับก่อน นี่มันเป็นถึงขนาดนั้น แสดงว่าเมาแล้ว ไอ้เจ้าคนนี้เมาแล้ว
มีอุปาทานแรง เรียกว่า ทิฎฐุปาทาน ในพระพุทธศาสนาเรียกว่า "ทิฎฐุปาทาน"
ก็เรียกว่ายึดมั่นในทฤษฎี ในความคิดในความเห็น แล้วก็รุนแรงจนขนาดว่า
จับพ่อฆ่าได้ทีเดียว พวกก็ชมเชยว่าไอ้นี่นักอุดมการแท้
เป็นผู้เห็นแก่สวนรวมแท้จริง เขาไม่ส่งเสริมศีลธรรม
แต่ส่งเสริมสิ่งเดียวที่เขาต้องการ นั่นแหละคือยาเสพติดตัวใหญ่
แต่ว่าคนที่เมานั่นมักจะว่าคนอื่นเมาเสมอ
เหมือนกับคนโรคจิตที่อยู่ที่ปากคลองสาน ที่ศรีธัญญา โรงพยาบาลตรงนี่
เราเข้าไปเถอะถ้ามันก็ว่าบ้าอีกแล้ว มันหาว่าบ้ากันทั้งนั้นแหละ
แม้หมอมันก็ว่าบ้า พอหมอเดินมามันว่าไอ้บ้ามาอีกแล้ว มาฉีดยากูอีกแล้ว
เอายามาให้กูกินอีกแล้วละ มันเรียกหมอนางพยาบาลว่าไอ้บ้า
อีบ้าทั้งนั้นเองตัวเขาเองนั่นเป็นคนไม่บ้า
แล้วมันมาดูคนอื่นว่าบ้าทั้งนั้นน่ะ คนไข้นี่ก็ดีเหมือนกันล่ะ คนไข้นาย ก.
พอเห็นนาย ข. ก็ว่า คนบ้าอย่าไปยุ่งกับมัน นาย ข. ก็ว่านาย ก.
มันบ้าอย่าไปยุ่งกับมัน
เพราะฉะนั้น คนไข้ในโรงพยาบาลโรคจิตนี่มันอยู่กันได้ ไม่ทะเลาะกันหรอก
ทำไมมันถึงไม่ทะเลาะกัน เพราะว่าต่างคนต่างก็หาว่าบ้า มันจึงไม่เข้าใกล้กัน
มันบอกว่าอย่าไปเข้าใกล้มันไอ้บ้านั้นนะ ต่างคนต่างหันหน้าเข้าฝา
อาตมาไปดูแล้วโรงยาวๆ ยาวกว่านี้ แล้วทุกคนหันหน้าเข้าฝาทั้งนั้น
พึมพำอยู่คนเดียวไม่ยุ่งกับใคร อันนี้ถามหมอว่าทำไมไม่ยุ่งกันกับใคร
อันนี้ถามหมอว่าทำไมไม่ยุ่งกัน หมอบอกว่า อ้าว ต่างคนต่างก็หาว่ากัน
แล้วเลยมันไม่เข้าใกล้กัน มันก็ดีอย่างนั้นแหละ
แปลว่าคนบ้าด้วยกันก็หาว่าคนบ้าๆ หมอมาก็บ้านางพยาบาลก็บ้าใครๆ
ก็บ้าทั้งนั้น มันเป็นอย่างนี้
เรื่องเป็นคอมมิวนิสต์นี่ก็เหมือนกันแหละ
มันเห็นว่าคนที่ไม่เป็นคอมมิวนิสต์มันไม่ได้เรื่อง เป็นพวกเสพติด
พวกเมาศาสนา แต่ตัวเองนั่นเมางอมแง่ม ไม่รู้เรื่อง
แล้วมันไม่ว่าอย่างนั้นนี่มันก็แปลก มนุษย์เรามันมีเรื่องแปลกอยู่อย่างนี้
มีอยู่ในโลกทั่วๆ ไป เพราะว่าเขาพูดเขาสอนมากในเรื่องนั้น ย้ำตลอดเวลา
ย้ำให้เกิดความเมาในเรื่องนั้นยึดมั่นในเรื่องนั้น
จนกระทั่งว่าไม่เปลี่ยนแปลง จนกระทั่งตาย อันนี้เป็นตัวอย่าง
ทีนี้ถ้าสมมติว่า ตัวเราจะสอนให้ตรงกันข้ามจะได้หรือไม่
คือไม่สอนให้ยึดถืออย่างนั้น แต่ว่าเราสอนอีกแง่หนึ่งคือ
หมายความว่าสอนให้ประพฤติธรรม
สอนให้รู้จักหน้าที่ว่าเรานี้เกิดมาเพื่ออะไรๆ เราอยู่เพื่ออะไร
สิ่งที่เราควรประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวันมันคืออะไร
ให้เขาเห็นความสำคัญของหน้าที่ ของการปฎิบัติหน้าที่
ของความเสียสละอะไรเป็นตัวอย่าง ถ้าเราฝึกไปในรูปอย่างนั้น
เด็กของเราจะมีปัญหาขึ้นกว่าปกติ
แล้วมีความเข้าใจอะไรถูกต้องตามความเป็นจริง เขาจะทำอะไรก็ทำด้วยปัญญา
ด้วยเหตุด้วยผล จะไม่ได้ทำด้วยความบ้าคลั่ง
ยึดมั่นถือมั่นเหมือนพวกชาตินิยม พวกบ้าคลั่งเหมือนกัน
พวกฮิตเลอร์ก็เรียกว่าบ้าคลั่งเหมือนกัน คลั่งชาตินิยม
คือว่าคนพวกเยอรมันนีเป็นพวกอารยัน เป็นพวกที่เจริญ
แล้วก็รังเกียจพวกยิวเป็นที่สุด ทำลายยิวจับยิวไปฆ่าเป็พันๆ คนทีเดียว
ตายทีเดียวเอาไปฆ่ารวมกัน
ไอ้พวกไม่ตายเหลืออยู่ก็ไม่รู้จักว่าใครเป็นผู้สั่งฆ่า
พวกยิวก็โกรธมากเหมือนกันต้องจับคนฆ่ามาให้ได้
ที่ชื่อนายไฮมารนั่นตัวสังหารใหญ่ หนีไปเท่าไรๆ
ยิวก็จับตัวมาได้ขึ้นศาลในอิสราเอล
นี่ก็คือเรื่องเมาทั้งนั้น เมาชาติรุนแรง แล้วก็ทำการฆ่าคนอื่น
ลืมนึกถึงอะไรไปหมด นึกไม่ถึงใจเขาใจเรา ไม่มีอะไรอยู่ในนั้น
มีแต่ความโกรธความเกลียด ความพยาบาท
เพราะอาศัยความยึดถือในเรื่องชาติรุนแรงนั่นเอง เป็นเหตุให้เกิดวุ่นวาย
แต่ถ้าเราพูดให้เขาเข้าใจ ว่าสิ่งทีเราควรทำลายนั้น
ไม่ควรจะเก็บเอามาไว้ในใจ สอนเด็กตั้งแต่เบื้องต้น ว่าควรจะทำลายความชั่ว
ความชั่ว มีลักษณะอย่างไร เช่นความโลภอยากได้ของคนอื่น เป็นความชั่ว
ความโกรธนี่ก็เป็นความชั่ว ความเกลียดก็เป็นความชั่ว
ความโกรธนี่ก็เป็นความชั่ว ความริษยานี่ก็เป็นความชั่ว ความถือเนื้อถือตน
ดูหมิ่นผู้อื่นอะไรต่างๆ เป็นความชั่วก็เรียกว่า อุปกิเลสมี 16 อย่าง
ที่ท่านแสดงไว้ในหนังสือมี 16 อย่าง เอามาพูดให้เด็กเข้าใจ
ว่าสิ่งที่เราควรทำลายนั้น ไม่ใช่คน ไม่ใช่สิ่งนั้นสิ่งนี้
สิ่งที่เราควรทำลายก็คือความชั่วนั่นเอง ตัวความชั่วเป็นสิ่งที่ควรทำลาย
ไม่ควรจะเก็บเอามาไว้ในใจ สอนเด็กตั้งแต่เบื้องต้น ว่าควรจะทำลายความชั่ว
ความชั่วมีลักษณ์อย่างไร เช่นความโลภ อยากได้ของคนอื่นเป็นความชั่ว
ความริษยานี่ก็เป็นความชั่ว ความถือเนื้อถือตนอะไรดูหมิ่นผู้อื่นอะไรต่างๆ
เป็นความชั่วเรียกว่า "อุปกิเลส" มี 16 อย่าง ที่ท่านแสดงไว้ในหนังสือมี 16
อย่าง เอามาพูดให้เด็กเข้าใจว่าสิ่งนี้ไม่ดีทั้งนั้น ให้เขารังเกียจสิ่งนี้
ให้เบื่อหน่ายต่อสิ่งนี้ ให้ทำลายสิ่งนี้
แล้วถ้าหากว่าสิ่งนี้มีอยู่ในตัวใคร แทนที่เราจะทำลายตัวบุคคลนั้น
เหมือนกับว่าเสือร้าย มันอยู่ในป่า เรารู้ว่าเสือมันร้าย
มันกัดคนทำคนให้ตาย เราโกรธเสือแล้ว
เราไปเผาป่าเพื่อให้เสือตายอย่างนี้มันไม่ถูกต้อง เสือตัวเดียวอยู่ในป่า
จุดไฟไปเผาป่าหมดเลย ป่าเตียนโล่งไปเสือตายเหมือนกันแต่ว่าเสือตายแล้ว
ป่าราบไปเสียด้วยอย่างนี้ก็ไม่ถูก
พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอนให้เราทำอย่างนั้น
ให้ทำเฉพาะเรื่องเฉพาะสิ่งไม่ใช่ทำอย่างนั้น
ไม่ใช่ว่าตัดป่าจะทำป่าลายไม่ได้ ต้องตัดต้นไม้ท่านว่าอย่างนั้น
ตัดต้นไม้ไม่ใช่ตัดป่าคือตันไม้ ต้นใด้มันเป็นพิษเป็นโทษแก่คน
เราตัดต้นไม้ต้นนั้นเราไม่ทำลายป่า
เหมือนกับเถาหมามุ่ยเมื่อใครเดินเข้าไปใกล้มันก็คันทั้งนั้น
ขยิกเข้าไปตามกันละแล้วเราจะไปโกรธว่าป่านี้มีหมามุ่ย ตัดโคนมันก็ตายแล้ว
เมื่อมันตายแล้วมันก็ไม่มีอะไรที่จะให้ใครคันต่อไป
ป่านั้นก็ยังอยู่ไม่ถูกทำลาย
ชีวิตมนุษย์นี่ก็เหมือนกัน เราควรที่จะดูว่าอะไรที่มันไม่ดี ไม่ดี
ไม่ทำลายคนนั้น
แต่ว่าเราควรจะหาวิธีให้เขาคืนคลายจากสิ่งนั้นด้วยการสอนด้วยการอบรม
หรือด้วยการกระทำอะไรก็ตามเถอะให้เขาได้หยุดได้ยั้งสิ่งนั้น
อย่างนี้เรียกว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้อง ไม่ต้องฆ่าต้องแกงกัน
ไม่ต้องทำลายคนให้เกิดความเสียหาย
แล้วเรื่องสำคัญที่สุดที่จะต้องทำลายก่อนก็คือสิ่งที่มันเกิดอยู่ในตัวเรานั่นแหละ
เราจะต้องรู้จักตัวเราเองว่าเราจะต้องมีอะไร
สิ่งที่มีอยู่นั้นเป็นพิษเป็นภัยหรือไม่เป็นทุกข์เป็นโทษแก่เรา
หรือไม่ถ้าเห็นว่ามันเป็นภัยเป็นทุกข์โทษแก่เราแล้ว เราก็ควรทำลายสิ่งนั้น
ทำลายเพื่อให้เป็นตัวอย่างแก่ผู้ที่เราเห็นว่า
เขามีสิ่งนั้นอย่างนี้ก็เป็นตัวอย่างอยู่ในตัว
เช่นว่าเราจะสอนคนอื่นไม่ให้โลภให้เห็นเป็นตัวอย่าง ไม่โกรธให้เป็นตัวอย่าง
ไม่หลงให้เป็นตัวอย่าง ไม่เห็นแก่ตัวแก่ได้ให้เป็นตัวอย่าง
อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นการสอนอยู่ในตัวที่ถูกต้อง
การอบรมบ่มนิสัยคนก็ควรจะไปในรูปนั้น คือให้รู้จักหน้าที่
เพื่อหน้าที่ตลอดเวลา ความเห็นแก่ตัวก็จะลดน้อยลงไป แล้วก็จะอยู่กัน
ด้วยความสงบตามสมควรแก่ฐานะ เรื่องอย่างนี้จะดีกว่า
ดีกว่าสอนให้มีความยึดมั่นถือมั่นในเรื่องนั้น
สมมติว่าเราพาเด็กๆ ไปเที่ยวที่อยุธยาแล้วเราก็เล่าประวัติศาสตร์ให้เด็กฟัง
แล้วก็ยังแถมท้ายว่าไอ้พวกพม่านี่มันร้ายนักหนามันมาทำร้ายพวกเราอย่างนั้นอย่างนี้
นี้เขาเรียกว่าเพาะเชื้อ เพาะเชื้อแห่งความโกรธ
ความพยาบาทให้เกิดขึ้นแก่ในใจของเด็ก
เด็กรู้จากเราว่าคนพม่านี้ทำให้เราเสียหายโกรธเคือง
บางคนอ่านประวัติศาสตร์แล้วลืมตัวเอาหนังสือขว้างไปเลย
เมื่อขว้างไปแล้วนึกไปได้ว่าอ่าวไปขว้างหนังสือไปเสียแล้ว
นึกว่าหนังสือนั่นเป็นพม่าเลยขว้างมันเสียเลยอย่างนี้มันก็ไม่ถูกเรื่อง
ไม่ควรจะสอนในรูปอย่างนั้น แต่เราควรจะสอนเด็กให้เข้าใจความจริงเหล่านี้
ที่มันต้องผุพังเสียหายนี่มันไม่ใช่เรื่องอะไร
เรื่องของกิเลสมันตั้งอยู่ในใจคนเรื่องของความโลภ เรื่องของความโกรธ
เรื่องของความหลง 3 อย่างนี้แหละเป็นตัวการใหญ่เกิดขึ้นในจิตใจคนแล้ว
คนนั้นก็พ่ายแพ้แก่กิเลส กิเลสบังคับให้ยกทัพมาเผ่าเมืองไทย
ต้นตอที่เราควรโกรธเราควรเกลียดนั่น ไม่ใช่คน แต่เราควรจะโกรธเจ้าความโลภ
เกลียดเจ้าความโลภ เกลียดความโกรธ โกรธความหลง
แล้วเมื่อโกรธเกลียดมันแล้วจะทำอย่างไร อย่าให้มันเกิดขึ้นในใจของเรา
อย่าให้ตัวโกรธเกิดขึ้นในใจของเรา อย่าให้ต้วเกลียดเกิดขึ้นในใจของเรา
อย่าให้ตัวโกรธเกิดขึ้นในใจของเรา
แต่ว่าเราจะต้องฆ่ามันด้วยการทำตรงการทำตรงกันข้าม
การทำที่ตรงกันข้ามก็คือแผ่เมตตาด้วย
ปรารถนาความสุขความเจริญแก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย เราเองเป็นผู้มีใจเมตตาด้วย
อย่างนี้มันไม่ต้องตอบแทนกันด้วยฟันต่อฟัน ตาต่อตา
หรือว่าเลือดต่อเลือดอย่างนั้นมันไม่ถูกต้อง แต่ว่าใช้วิธีการ ชนะความดี
ชนะความชั่วด้วยความดี ชนะความโกรธ ด้วยความไม่โกรธ
ชนะความตระหนี่ด้วยการให้ เป็นการชนะที่ถูกต้อง
แต่ไม่มีใครจะสอนกันด้วยอย่างนี้
หรือว่าแนะนำกันด้วยในรูปอย่างนี้ทำไมจึงไม่พูดในเรื่องอย่างนั้น
กลัวว่าตัวจะเป็นคนไม่สู้คนไปกลัวว่าจะไม่ป้องกันชาติประเทศไป
อันนี้ก็เข้าใจผิดเหมือนกัน
| หน้าถัดไป >>
» ไม่มีอะไรได้ดังใจเหมือนม้ากาบกล้วย
» วันนี้เจ้าอยู่กับฉันพรุ่งนี้มันไม่แน่
» หลักใจ
» เกิดดับ
» มรดกธรรม