ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
เรื่อง ทาน - บริจาค
วันอาทิตย์ ที่ 7 สิงหาคม พ. ศ. 2520
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลายณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังธรรมะปาฐกถา อันเป็นหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดการฟัง ตามสมควรแก่เวลา
วันนี้ เป็นวันอาทิตย์ที่สองของการเข้าพรรษา ญาติโยมทั้งหลาย ได้มาทำบุญในวันเข้าพรรษาไปเรียบร้อยแล้ว ในวันนั้นก็ได้ตักเตือนแนะนำญาติโยมว่า ฤดูกาลเข้าพรรษานั้น เป็นฤดูกาลแห่งการทำจริง ในเรื่องการปฏิบัติขัดเกลาจิตใจ ให้สะอาดปราศจากเศร้าหมองใจ เป็นฤดูกาลที่เราควรจะได้ปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อความก้าวหน้าในทางธรรมะมากยิ่งขึ้นๆ อย่าให้ฤดูกาลเข้าพรรษา ได้ผ่านพ้นไปโดยเราทั้งหลายมิได้ทำอะไร อันเป็นประโยชน์ในทางธรรมะ อันนี้เป็นข้อเตือนในทั่วๆ ไป ตั้งแต่สมัยโบราณกาลมาจนบัดนี้ ผู้ที่เป็นประธานในหมู่ในคณะ ก็ย่อมจะแนะนำพร่ำเตือนกัน ในแนวนี้เหมือนกัน ก็เพื่อจะให้รู้ว่าชีวิตเป็นของน้อยเป็นของสั้น เราไม่รู้ว่ามันจะแตกจะดับลงไปเมื่อใด เมื่อยังมีชีวิตอยู่ในโลก ก็ควรจะใช้ให้เป็นประโยชน์ ในการศึกษาค้นคว้า ในการปฏิบัติธรรมะ อันเป็นเรื่องสำคัญของชีวิตของเราทั้งหลาย ประการหนึ่ง
ญาติทั้งหลายที่เคยมาวัด เคยสนใจในการศึกษา ในการปฏิบัติ ก็ได้กระทำกันอยู่โดยปกตินิสัยแล้ว แต่ว่าเราควรกระทำให้ยิ่งขึ้น ในฤดูกาลเข้าพรรษา เพื่อให้สมกับว่า เป็นการเข้าอยู่กับธรรมะ ตลอดฤดูกาลที่เรียกว่า "จำพรรษา" เรื่องจำพรรษาจะเกิดประโยชน์แก่เราแต่ละคน ก็โดยอาศัยการสนใจศึกษาปฏิบัติธรรมะอย่างแท้จริง ให้อยู่อย่างมีสัจจะ ในการปฏิบัติกิจนั้นๆ ครั้นเมื่อเจ็ดวันผ่านพ้นไปแล้ว เราก็มาถึงวันที่เราจัดกิจทางศาสนา เช่น วันพระ วันนี้ก็เป็นวันพระแรมแปดค่ำ ซึ่งก็เป็นวันพระแรมแห่งฤดูกาลเข้าพรรษา ในวันพระเช่นนี้เราควรจะคิดอะไร ควรจะพิจารณาในเรื่องอะไร ก็ควรจะได้พิจารณา ถึงจิตใจของเราที่ผ่านมา ว่าในรอบเจ็ดวันที่ผ่านมานี้ สภาพจิตใจของเราเป็นอย่างไร อะไรๆ ที่เป็นเรื่อง ไม่ดีไม่งาม ที่เคยเกิดขึ้นในใจของเรา เช่น ว่าเราเป็นคนมักโกรธ ใจร้อนใจเร็ว เมื่อเข้าพรรษามาได้เจ็ดวันแล้ว สภาพจิตใจดีขึ้นหรือเปล่า เมื่ออารมณ์ใดมากระทบ เราพอจะยับยั้งชั่งใจ บังคับตัวเองให้อยู่ในสติปัญญาได้หรือไม่ ให้พิจารณาในรูปอย่างนั้น ด้านศีลของเราเป็นอย่างไร ด้านสมาธิเป็นอย่างไร ด้านปัญญา คือความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องอะไรๆ ต่างๆ นั้นๆ มีสภาพอย่างไรในจิตใจของเรา อันนี้เป็นเรื่องที่จะได้พิจารณา เพราะการพิจารณาตนเอง ตักเตือนตนเอง แล้วก็แก้ไขตนเองนั้น ถือว่าเป็นหน้าที่ อันเราจะต้องกระทำเป็นประจำอยู่ ไม่ละไม่เลยเสียเป็นอันขาด เพราะว่าการกระทำกิจอย่างนี้ เป็นการก้าวหน้าแห่งการศึกษา แห่งการปฏิบัติธรรมของเราแต่ละคน จึงควรจะได้มีการทดสอบทั่วไปทุกๆ เจ็ดวันก็มีการสอบตัวเอง มองดูตัวเอง เพื่อให้รู้จักตัวเองดีขึ้นครั้งหนึ่ง การปฏิบัติธรรมก็จะก้าวหน้าเรื่อยไป
อันผลที่เกิดขึ้น จากการปฏิบัตินั้น ก็คือความสงบทางใจ ความสะอาดทางใจ อันเป็นเรื่องที่เราทุกคนต้องการ เราจะอยู่ด้วยความสงบ ด้วยกันก็เพราะประพฤติธรรมะ ถ้าไม่ใช้ธรรมะเป็นแนวทาง เราก็จะพบความสงบไม่ได้ ธรรมะกับชีวิต หรือศีลธรรมกับชีวิตของเรานั้น เป็นเรื่องที่จะต้องกระทำอย่างจริงจัง และก็ต้องกระทำติดต่อไม่ขาดสาย เพราะว่าโลกเราจะอยู่กันด้วยอย่างมีความสุข ก็เพราะมีสิ่งนี้ ถ้าขาดสิ่งนี้ก็จะเกิดความวุ่นวาย สร้างปัญหาขึ้นในสังคม ด้วยประการต่างๆ
ชาวโลกในสมัยนี้ จิตใจหันเหออกไปนอกเส้นทาง ที่ธรรมะขีดไว้ให้เดินมากขึ้น ทุกวันทุกเวลา การเดินออกไปนอกเส้นทางนั่นแหละ คือ ความวุ่นวาย ความทุกข์ ความเดือดร้อน อันจะเกิดขึ้นแก่ตน แก่ท่านด้วยประการต่างๆ ถ้าเราฟังข่าวทางวิทยุ อ่านข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ ซึ่งรายงานให้เราทราบทุกๆ วัน ไม่เฉพาะข่าวในบ้านของเราเท่านั้น แต่เราจะรู้ว่า อะไรมันเกิดขึ้นที่ไหนในโลกนี้ ในวันนี้หรือในคืนนี้ที่ผ่านมา เราสามารถจะรู้เหตุการณ์อะไรได้ทั่วถึง เพราะความก้าวหน้าทางเครื่องมือสื่อสาร เมื่อได้ฟังข่าวทั้งหลายทั้งปวงแล้ว ก็เกิดความนึกขึ้นในใจได้ว่า โลกนี้วุ่นวายจริงหนอ สับสนจริงหนอ มีปัญหายุ่งยากกันทั่วไป รบที่นั่น ฆ่ากันที่นี่ มีกันเรื่อยไป ระหว่างคนระหว่างพวก ระหว่างประเทศ แม้ว่าคนบางชาติบางประเทศ มีศาสนาเป็นอันเดียวกัน
การมีศาสนาอย่างเดียวกันนั้น ก็เหมือนกับว่าเป็นคนใจเดียวกัน คนใจเดียวกันนี้ ไม่น่าจะทะเลาะกัน ไม่น่าจะรบราฆ่าฟันกัน ความจริงมันควรจะเป็นเช่นนั้น แต่ทว่าการนับถือศาสนานั้น ยังไม่เข้าถึงตัวธรรมะ อันเป็นหลักปฏิบัติ ในศาสนานั้นๆ นับถือกันแต่เพียงชื่อ เพียงแต่ยี่ห้อไว้กับตัวของตัวเองว่า เรามียี่ห้อนั้น ยี่ห้อนี้ ยี่ห้อเป็นคริสต์ เป็นอิสลาม เป็นพุทธบริษัท นี้เขาเรียกว่า ปะยี่ห้อไว้ให้คนรู้เท่านั้นเอง แต่ว่าจิตใจหาได้เข้าถึงหลักคำสอน คือตัวธรรมะในศาสนานั้นอย่างแท้จริงไม่ จึงได้เกิดรบราฆ่าฟันกันด้วยประการต่างๆ เช่นคนในศาสนาเดียวกัน แล้วก็พูดภาษาเดียวกันด้วยซ้ำไป เช่นอียิปถ์กับลิเบียก็ภาษาเดียวกัน ศาสนาเดียวกัน ทะเลทรายกั้นไว้ แต่ก็ไม่มีเขตกั้นอะไร เพียงแต่ปักหลักเป็นเครื่องหมาย รบกันได้ เลบานอนก็รบกันเอง รบกันได้ นี้ก็คือว่าไม่มีธรรมะประจำจิตใจ
คนเขมร เมื่อก่อนนับถือศาสนา ก็เคร่งครัดพอสมควร แม้จะไม่เข้าถึงธรรมะที่ลึกซึ้ง แต่ก็ถือกันอยู่ตามขนบธรรมเนียม ประเพณี มีวัด มีพระ มีผู้คงแก่เรียนแก่การศึกษา ก็มีมากอยู่เหมือนกัน แต่เวลานี้สังคมเปลี่ยนแปลงไป เพราะลัทธิเข้ามาเปลี่ยนแปลงจิตใจคน ในประเทศนั้น คนในประเทศนั้น กลายเป็นคนโหดเหี้ยม ดุร้ายยิ่งกว่าอะไรๆ ไปเสียอีก ทำไมจึงได้เป็นเช่นนั้น ก็เพราะว่าเขาขาดธรรมะ ประจำใจไปเสียแล้ว ไม่มีความรู้สึกในเรื่องบาป บุญ คุณโทษ ประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ คนประเภทอย่างนั้น เขาไม่มีบุญ ไม่มีบาป เขาไม่มีพ่อ ไม่มีแม่ ไม่มีครู ไม่มีอาจารย์ เขามีแต่สหายของเขาเท่านั้น
แต่ว่าสหายมันก็ไม่แน่เหมือนกัน เพราะพระพุทธเจ้าตรัสว่า "นตฺติ พาเล สหายตา" ความเป็นสหายไม่มี ในคนพาล คือคนไม่มีธรรมะเป็นหลักจิตใจนั้น เราอย่าไปนึกว่า เขาจะเป็นสหายของเรา เป็นเพื่อนของเรา เขาจะหักหลังเราเมื่อใดก็ได้ จะประทุษร้ายชีวิต ทรัพย์สมบัติของเราเมื่อใดก็ได้ เป็นคนประเภทกลับกลอกไปตามเหตุการณ์ ตามอารมณ์และสิ่งแวดล้อม จึงไว้ใจไม่ได้ คนไม่มีศาสนานี่ ไว้ใจไม่ได้ เพราะไม่มีหลักอะไร เป็นเครื่องประคับประคองจิตใจ จึงได้กระทำการอันทารุณโหดร้าย ซึ่งญาติโยมทั้งหลาย ก็ได้ฟังอยู่แล้ว ไม่ต้องนำมาจารนัยในที่นี้อีกให้เสียเวลา แต่เพียงชี้ให้เห็นว่า นี่แหละการไม่มีศาสนา การไม่มีธรรมะประจำจิตใจ
บรรดาความวุ่นวายทั้งหลาย ที่เกิดขึ้นในสังคมนั้น เกิดจากบุคคลประเภทไม่มีธรรมะ ไม่มีศาสนาประจำจิตใจทั้งนั้น แต่ถ้าเป็นคนมีธรรมะ มีหลักศาสนาประจำจิตใจแล้ว จะเป็นคนที่มีใจสงบเยือกเย็น ทำอะไรก็ใช้สติปัญญา ไม่มีอารมณ์รุนแรงในการกระทำนั้นๆ เพราะว่ามีเครื่องยับยั้งชั่งใจ คล้ายๆ กับว่ามีห้ามล้อสำหรับจิตใจ ถ้าเรามีธรรมะเป็นเครื่องห้ามล้อแล้ว ชีวิตเราหมุนไปสู่ความตกต่ำช้าลงไปหน่อย หรือว่าหยุดได้ทันที ตรงปากเหวที่จะตกลงไปนั้นแหละ มันก็ไม่เกิดความเสียหายอะไรมากเกินไป อันนี้เป็นเรื่องที่เห็นได้ง่ายๆ เป็นเรื่องที่เราควรจะได้ช่วยกันหน่อย เพื่อให้จิตใจคนได้เข้าถึงธรรมะ ได้มีหลักศาสนาประจำจิตใจไว้ จะได้มีความประพฤติในทางที่ถูกที่ชอบ ไม่ก่อกรรมทำเข็ญ ให้เกิดขึ้นแก่ตนแก่ท่าน การอยู่กันก็จะมีความสุขความสงบ ตามสมควรแก่ฐานะ
ธรรมะที่เราเอามาปฏิบัติในชีวิตประจำวันนั้น ในทางพระพุทธศาสนา พระผู้มีพระภาคเจ้าท่านสอนไว้ ให้เราปฏิบัติตามขั้นตอนไป โดยลำดับ เช่นเราได้ยินพระท่านสอนว่า ศีล สมาธิ ปัญญา หรือพูดว่า ทาน ศีล ภาวนา เวลาสอนชาวบ้านทั่วๆ ไปนั้น พระผู้มีพระภาคมักจะเริ่มต้นด้วยทาน แล้วก็ศีล ภาวนา แต่ถ้าสอนนักบวชด้วยกันแล้ว ก็มักจะเริ่มต้นด้วยศีล สมาธิ ปัญญา เริ่มต้นแตกต่างกัน จุดหมายปลายทางก็เหมือนกัน คือชาวบ้านทั่วไปนั้น ยังเป็นคฤหัสถ์อยู่ครองบ้านเรือน ยังมีภาระหน้าที่ ที่จะต้องจัดต้องทำในฐานะผู้ครองเรือน การครองเรือนนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องที่ต้องใช้ความอดทน ใช้ความเพียรใช้อะไรหลายสิ่งหลายประการ การครองบ้านเรือนจึงจะเรียบร้อย
พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสภาษิตบทหนึ่งว่า "ทุราวาสา ฆรา ทุกขา" แปลว่า เรือนที่อยู่ครองไม่ดีนั้นเป็นทุกข์ เรือนที่เราครองไม่ดีเป็นทุกข์ อันนี้หมายถึงเรือนกายใจไม่ดี มีความทุกข์ความเดือดร้อน ทีนี้เมื่อตัวเราไม่ดี เรือนที่เราอยู่ก็พลอยไม่ดี การงานที่เราทำก็พลอยไม่ดี กิจกรรมทุกอย่าง ที่เกิดขึ้นจากจิตไม่ดีนั้น มันก็เป็นเรื่องไม่ดีไปหมด จึงเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ความยุ่งยาก ด้วยประการต่างๆ แต่ถ้าหากว่าจิตใจเราดีแล้ว สิ่งทั้งหลายก็จะดีไปด้วย เพราะฉะนั้นจึงต้องมีธรรมะ เป็นหลักกำกับอยู่ตลอดเวลา
บางทีเราอาจจะเข้าใจผิดไป ว่าเราอยู่บ้านอยู่เรือนนี้ ไม่ต้องประพฤติอย่างนั้นอย่างนี้ในด้านธรรมะ ก็คงอยู่ได้ ขอตอบว่า ไม่ได้เป็นอันขาด เราไม่ประพฤติธรรมะแล้ว ไม่ได้เป็นอันขาด เพราะจิตใจคนที่ขาดธรรมะนั้น ความเป็นคนก็จะไม่สมบูรณ์ คือเป็นมนุษย์กับเขาไม่ได้ เพราะไม่มีธรรมะ เป็นหลักประคับประคองใจ อะไรๆ ก็จะพลอยเสียหาย มีปัญหาเกิดขึ้นตลอดเวลา ทิ้งไม่ได้ เช่นว่าเราเป็นชาวบ้าน ก็ต้องอยู่ด้วยการให้ทาน ด้วยการรักษาศีล ด้วยการเจริญภาวนา
การให้ทานนั้นถือว่า เป็นกิจเบื้องต้น สำหรับผู้จะอยู่ครองบ้านครองเรือน เพราะการครองบ้านครองเรือนนั้น เราไม่ได้อยู่ครอบครัวเดียว เราไม่ได้อยู่ผู้เดียว แต่เราอยู่กันเป็นกลุ่มเป็นก้อน อย่างน้อยก็เป็นครอบครัว ครอบครัวหนึ่งก็มีหลายคน พ่อบ้าน แม่บ้าน มีลูกมีคนใช้ มีผู้มาปฏิบัติงานร่วมกัน ในกิจกรรมต่างๆ ถ้าเป็นครอบครัวน้อยก็คนน้อย แต่ถ้าเป็นครอบครัวใหญ่คนก็มาก คนเรานั้น ถ้าอยู่น้อยคนปัญหามันน้อย เรื่องกินก็น้อย เรื่องนุ่งห่มก็น้อย เรื่องที่อยู่อาศัยมันก็น้อยตามจำนวนไป แต่ถ้าคนมากขึ้น อาหารก็ต้องเพิ่มขึ้น เสื้อผ้าก็ต้องเพิ่มขึ้น ที่อยู่อาศัยก็ต้องเพิ่มขึ้นด้วย เช่นเดียวกัน
การเพิ่มปริมาณทางด้านวัตถุนั้น มันไม่ใช่เรื่องเบาใจ แต่เป็นเรื่องหนักใจ หนักใจเพราะว่า เราจะหาสิ่งนั้นมาได้อย่างไร เราจึงจะมีพอกินพอใช้ ยิ่งในสมัยนี้ด้วยแล้ว ญาติโยมก็คงจะบ่นไปตามๆ กัน อะไรๆ มันก็แพงขึ้นทั้งนั้นแหละ ข้าวสาร น้ำปลา อ้ายโน่นอ้ายนี้ก็บอกว่าแพงทั้งนั้น เขาว่ากันอย่างนั้น พระนี่ไม่ค่อยจะรู้เรื่องอะไรกับเขามีแต่เรื่องรู้จักใช้ ฉันไปตามเรื่อง ใครเอามาให้ก็ไม่รู้ ว่าราคามันเท่าไร เคยลองถามโยมว่า ปลาตัวนี้ซื้อมาเท่าไร โยมบอกราคาแล้วก็ฉันไม่ค่อยลง คือรู้สึกว่ามันมากเหลือเกิน ราคามันแพง ไม่อยากจะฉันแล้ว แต่ว่าโยมแกซื้อมาให้แล้ว ไม่ฉันโยมก็จะเสียใจ เลยก็ต้องฉันไปตามหน้าที่
แต่ว่าเวลานี้ก็กลุ้มใจว่า แหมของมันแพงอย่างนี้ ไม่เหมือนสมัยก่อนซึ่งราคามันถูก สมัยเด็กๆ ซื้อของราคามันไม่เท่าไหร่ เงินน้อยแต่ได้มาก เดี๋ยวนี้เงินมากกลับได้ของน้อย นี่โลกมันอย่างนี้ เขาว่าโลกมันเจริญ ไม่รู้ว่ามันเจริญอย่างไร เจริญด้วยปัญหา ความทุกข์ ความเดือดร้อนเพิ่มขึ้นในโลก มากขึ้นทุกวันทุกเวลา ทุกครอบครัวก็มีปัญหา ในเรื่องการกินการอยู่ การจับจ่ายใช้สอย ปัญหานี้ ย่อมเกิดขึ้นกับทุกครอบครัว
ทีนี้ พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า ให้กันเสียบ้าง ให้ทาน เรื่องให้ทานโยมอย่าคิดเพียงแคบๆ ว่าเราเอาอะไรไปให้เขานั้น ถ้าคิดอย่างนั้นมันก็คับแคบไป หรือว่าเราตักข้าวใส่บาตรพระ ก็เรียกว่าให้ทาน เอาของมาถวายพระที่วัดก็เพียงให้ทาน อย่างนั้นมันเป็นเรื่องแคบไปหน่อย ไม่ลึกซึ้งเท่าใด การให้ทานที่เป็นประโยชน์อย่างมาก กว้างขวาง เป็นประโยชน์แก่ความสงบสุข แก่สังคมนั้น คือการเสียสละอันยิ่งใหญ่ต่อกันและกัน คนเราถ้ามีความเสียสละในใจแล้ว ความคิดที่จะเอานั้นมันลดน้อยลงไป
ความเสียสละ อันทำความคิดที่จะเอาลดน้อยลงไปนั่นแหละ คือจุดหมายสำคัญของการให้ทาน สมมติว่า เราเป็นคนค้าขายอะไรก็ตาม ถ้าเราเป็นคนพอใจในการบริจาคทาน เราก็นึกว่าเอากำไรแต่น้อยๆ เอาแต่พออยู่ได้ ไม่ให้กิจการที่เรากระทำนี้ ต้องล่มจมลงไป ไม่ขายเอากำไรมากเกินไป ซึ่งเขาเรียกกันว่าค้ากำไรเกินควร การค้ากำไรเกินควรนั้น ขัดกับหลักให้ทาน ในทางพระพุทธศาสนา ถ้าเราจะเป็นคนให้ทาน ก็หมายความว่า เอากำไรนิดหน่อย พอให้กิจการอยู่ได้ ให้สิ่งทั้งหลายมันหมุนไปได้ ไม่ต้องล่มต้องจมไปเท่านั้นเอง แต่บางทีเราเอามากนัก อาจจะอยู่ไม่ได้ก็ได้ เพราะไม่มีคนซื้อของเรา เมื่อไม่มีคนซื้อของเราผลิตของออกไปมาก แต่ไม่มีคนซื้อของก็ค้างสต๊อค เลยขายไม่ได้ เลยก็อยู่ไม่ได้อีกเหมือนกัน อันนี้ก็เพราะว่าไม่ให้ แต่ถ้าเราให้คนก็นิยมกันซื้อ ก็ไม่ลำบากไม่เดือดร้อนอะไร
เมื่อวาน นั่งแท็กซี่ไปวัดมหาธาตุ แล้วเขาก็ถามว่า ที่วัดหลวงพ่อไม่แจกของดีบ้างหรือ บอกว่า มีแจก แจกเวลาไหนวันไหน วันอาทิตย์ฉันแจกอยู่ทุกวัน เก้าโมงครึ่งก็มารับแจกได้ แจกทุกวันๆ เขาบอกว่าผมอยากจะได้ของดี ที่ให้คนขึ้นรถมากๆ แล้วจะได้สตางค์มากๆ ก็เลยบอกว่า มันไม่อยากอะไรหรอก ถ้าเธออยากให้คนขึ้นรถมากๆ ก็เขียนป้ายติดตัวโตๆ ติดไว้ข้างรถเป็นยันต์เรียกคนให้ขึ้นรถ เขียนป้ายไว้ว่า "รถคันนี้ คิดค่าโดยสารตามความพอใจของคนโดยสาร" อย่างนี้คนโดยสารก็พอใจ ทีนี้เราคิดค่าโดยสาร ตามความพอใจของคนขับรถ คนมันก็ไม่ขึ้น เพราะคนขับรถจะเอามาก
ทีนี้บอกว่า เธอเขียนบอกว่า "รถคันนี้คิดค่าโดยสาร ตามความพอใจของผู้โดยสาร"คนก็อยากขึ้นเพราะว่าให้ตามชอบใจ แล้วก็บอกอย่างนี้แล้วก็สบายใจ ฉันขึ้นรถแท็กซี่ ไม่เคยถามคนขับว่าเท่าไหร่ ฉันถามว่าไปหรือไม่ไป พอบอกเท่านั้นก็พอใจแล้ว เพราะว่าเขายินดีจะไป ก็เลยไป เมื่อไปถึงปลายทางก็เลยถามว่า เธอจะเอาสักเท่าไหร่ โดยมากมักตอบว่าตามใจหลวงพ่อเถอะ อย่างนี้ก็พอใจแล้ว แต่ว่าพอให้เขาพอใจทุกที ให้เขาจำนวนหนึ่งแล้วถามว่า พอใจแล้วหรือยัง ฉันต้องการให้เธอสบายใจ เอาตามพอใจ ถ้าให้อย่างนั้น ทีนี้เราต้องคิดพอประมาณ ผู้ โดยสารก็ต้องให้เงินแก่คนขับรถพอประมาณ คนขับรถก็เอาแต่พอประมาณ นี่คือการให้อยู่ในตัวแล้ว เป็นการบริจาคทานอยู่ในตัวแล้ว
ทุกโอกาสเราทำทานได้ทั้งนั้น เช่นเราขับรถไปตามถนน ถ้าเราเป็นคนพอใจในการให้ เราก็ไม่แซงในทางที่มันคับคั่งเกินไป เราก็ไปตามเรื่อง ใครอยากจะไปก่อนเพราะรีบร้อน เอ้าคุณไปก่อน โบกมือให้เขาเพราะเขารีบร้อน รีบร้อนจะไปโรงพยาบาลหรือจะไปโรงพักก็ตามเถอะ ให้ไปก่อนก็แล้วกัน อย่างนี้มันก็ไม่ค่อยจะมีปัญหาอะไรที่จะยุ่งยาก เพราะเรายินดีในการที่จะให้แก่คนเหล่านั้น
ทำอะไรๆ ก็ตาม เราพอใจในการจะให้ เช่นเราเป็นเจ้าของกิจการ ในโรงงานอุตสาหกรรมอะไรก็ตาม เราก็มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ต่อคนที่มาปฏิบัติงาน เราเปิดเผยให้เขารู้ว่า กิจการนี้มันมาอย่างไร ไปอย่างไร คือว่าต้องประชุมกันบ้าง พูดจาทำความเข้าใจกัน ให้ถือว่า คนที่มาทำงานร่วมกันนั้น เป็นคนในครอบครัวเดียวกันเป็นพี่น้องกัน อย่าไปแยกว่า เป็นเขาเป็นเรา เป็นนั่นเป็นนี่ เป็นลูกจ้าง เป็นนายจ้าง ดูมันเป็นคนละชั้นไป แต่เราพูดทำความเข้าใจว่า
เรานี้ทำงานร่วมกัน ถือว่าเป็นพี่น้องกัน ผลประโยชน์ร่วมกัน สุขทุกข์ร่วมกัน อะไรๆ ก็ทำกันอย่างเป็นของทุกคน แล้วก็มีรายรับรายจ่ายอย่างไร ก็เปิดเผยให้เขารู้กัน ว่านี่กิจการนี้ลงทุนมากี่สิบล้าน แล้วเวลานี้ทำงานมาได้เท่าไหร่ ทุนที่ลงไปนั้นมันยังไม่ได้อะไรคืน เรียกว่า ยังไม่มีกำไรอะไร ถ้าเราช่วยกันทำงานให้ดี ทำงานให้ก้าวหน้า กิจการมันเจริญขึ้น กำไรก็มีเพิ่มขึ้น เมื่อมีกำไรเพิ่มขึ้น ก็พอจะมีส่วนเฉลี่ยแบ่ง ให้พวกเราทั้งหลาย ที่ได้ปฏิบัติงานกันอยู่ในที่นี้ พอจะได้กินอยู่สะดวกสบายมากขึ้นไปกว่านี้ แต่เวลานี้มันยังฝืดๆ กันอยู่ เราก็ต้องทนกันหน่อย พูดจาแบบกันเอง แบบพี่ๆ น้องๆ เป็นคนในครอบครัวเดียวกัน
คนเราโดยปกตินั้น และโดยเฉพาะนิสัยคนไทยชอบความเป็นกันเอง ชอบความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เห็นอกเห็นใจกัน ไม่ชอบการบังคับ ไม่ชอบการเอารัดเอาเปรียบ ถ้าเราแสดงความเห็นอกเห็นใจกัน เป็นกันเองกันแล้ว เขาก็รู้สึกพอใจ การอยู่กันก็จะเป็นอยู่กัน ด้วยความเรียบร้อย เคยถามคนบางคนว่า ทำงานอยู่กับคนนี้กี่ปีแล้ว บอกว่า แหม ทำมาห้าหกปีแล้ว เออ อยู่ได้นานจริง เจ้าของงานเขาใจดีนัก เขาเป็นกันเองกับพวกผม จะไปหาคนอื่นก็เกรงว่าจะไม่ได้ดีกว่านี้ เลยก็อยู่กับคนนี้ต่อไป การเงินการทองเป็นอย่างไร ก็พอไปได้ไม่ฝืดเคืองอะไรมากเกินไป ผมเองมันก็ประหยัดการจับจ่ายใช้สอยอยู่หน่อย ถามเขาอย่างอย่างนั้น เรามันประพฤติธรรมอยู่บ้าง มันก็สบายอย่างนี้แหละ ขอให้ทำความอย่างนี้ต่อไปเถอะ กิจการทั้งหลายมันก็จะเป็นไปในทางที่ถูกที่
นี่คือจุดหมาย ที่พระพุทธเจ้าท่านสอนให้เราทำทาน เพื่อให้เกิดความรักกันเห็นอกเห็นใจกัน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน เท่าที่เราจะกระทำได้ ถ้าหากว่าทุกคนมีความคิดอย่างนั้น พร้อมที่จะเสียสละ เพื่อให้คนอื่นได้รับความสะดวกสบาย คือต่างคนต่างให้กัน นาย ก. ให้ นาย ข. นาย ข. ให้นาย ก. ต่างคนต่างให้ อย่างนี้ก็อยู่กันด้วยความสุข ไม่มีความยุ่งยากลำบากเดือดร้อน สังคมก็จะอยู่กันด้วยความสงบ แต่ถ้าหากว่า เราไม่พอใจในการที่จะให้ มีความคิดเห็นเข้าข้างตัว อยากจะมีจะได้อะไรเป็นการส่วนตัวมากมายเหลือเกิน นี่เป็นการไม่ถูกต้อง มันเป็นการผิดหลักอยู่สักหน่อย
แล้วถ้าเราคิดละเอียด ว่าเราอยู่คนเดียวไม่ได้ ของอะไรๆ ที่เราจะสร้างจะจัดทำขึ้นนั้น ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยคนมากช่วยกันจัดทำขึ้นนั้น ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยคนมาก ช่วยกันจัดช่วยกันทำ เมื่อมีคนช่วยจัดช่วยทำ เราก็ต้องเฉลี่ยกัน แบ่งปันกัน ให้คนเหล่านั้นได้มีส่วน ได้รับความสะดวกสบาย ตามสมควรแก่ฐานะ เรื่องการให้ ถ้าไม่มีวัตถุจะให้ เพียงแต่ให้ความยิ้มแย้มแจ่มใส ให้การโอภาปราศัยกับคนเหล่านั้น อย่างชนิดที่เรียกว่า เป็นกันเอง อันนี้ก็สำคัญเหมือนกัน ถ้อยคำสำนวนพูดจากันและกันนั้น เป็นเรื่องสมานน้ำใจ ทำให้เกิดความรักใคร่ มีไมตรีจิตสนิทสนมกัน คนเรามันต้องรู้จักใช้ ลิ้นของเรานี่ตวัดให้เป็นคุณเป็นค่าก็ได้ ทำให้เพื่อด่าวันยังค่ำ ก็ได้เหมือนกันมัน ไม่ยากอะไร
ทีนี้เรามีไม่มีของอื่นจะให้ เราก็โอภาปราศัยกันไปก่อน พูดจาแสดงความเห็นอกเห็นใจ ให้รู้ว่า เรานี้มีน้ำใจต่อผู้นั้น ต่อผู้นี้ อะไรอย่างนี้เป็นตัวอย่าง คนที่อยู่ร่วมกัน ก็จะเกิดความรักใคร่สนิทสนมกัน เพราะฉะนั้น ในหลักมนุษย์สัมพันธ์ของพระพุทธเจ้า ท่านบอกว่า "ให้" ให้นี่ข้อแรก ประการที่สองว่า "พูดจาอ่อนหวานสมานใจกัน" พูดอะไรกับใคร ก็ใช้กันถ้อยคำที่น่าฟัง รื่นหูฟังแล้วติดอกติดใจ อย่าพูดคำหนัก คำหยาบ คำแสลงหูกับใครๆ เวลาใดใจไม่สบาย ก็นั่งบังคับตัวเอง ควบคุมจิตใจ เพื่อใจสงบแล้วค่อยพูดค่อยจากันกับคนเหล่านั้น เรื่องมันก็จะยุ่งลำบากเดือดร้อน และไม่ว่าในกรณีใดๆ จะใช้คนก็ต้องใช้ให้เป็น อย่างชนิดที่เรียกว่า ให้เขาเต็มใจที่จะรับใช้งาน
รู้จักคนแก่คนหนึ่ง แกมีคนอยู่ในบ้านหลายคน แกใช้คนนั่นให้ทำนั่น ใช้คนนี่ให้ทำนี่ คนพวกนั้นมันก็ไม่ไปไหน ทำงานอยู่ตลอดเวลา ทีนี้คอยสังเกตว่า เวลาจะใช้นี้วิธีการอย่างไร คือจะใช้ให้ใครทำอะไร ต้องถามเรื่องอาหารการกินก่อน เช่นพอเจอก็ว่ากินอะไรบ้างแล้ววันนี้ ถามเรื่องกินก่อน ถ้าคนบอกว่า รับประทานแล้ว เอาทำนี่หน่อย ที่ถามเรื่องการกินนี่ทำให้คนนั้นรู้สึกสบายใจ สบายใจว่า คุณป้าคุณยายเป็นห่วง เรื่องปากเรื่องท้องของเรา กลัวเราจะลำบาก กลัวเราจะเดือดร้อน พอเจอหน้าก็ถามทันที เออวันนี้กินอะไรบ้างแล้ว หรือตื่นขึ้นมา รับประทานอะไรบ้างแล้ว
พอเขาตอบว่ารับประทานแล้ว ก็บอกว่าทำนั้นทำนี้ ไม่ใช่พอเจอหน้าก็ว่าทำนี้ เอานี้ไปนั่น เอานั่นไปนี่ ใช้ตะพึดตะพือ คนใช้มันก็นึกว่าแหม พอเห็นหน้าแล้วก็ใช้เสียเรื่อย ไม่ได้ไต่ถามอะไร อันนี้เรียกว่า รู้จักใช้วาจา พูดจาให้เขาสบายใจก่อนใช้ หรือว่ามีอะไรก็พูดจากับเขาดีๆ ไม่ดุไม่ด่าไม่ลงโทษรุนแรง การด่าดุนี่ไม่ได้ประโยชน์อะไรหรอกความจริง ดังผู้ด่าเองก็ร้อนใจ คนถูกด่าก็ไม่สบายใจ ก็เหมือนจุดไฟเผาบ้าน มันไม่ได้ประโยชน์อะไร เราจึงไม่ควรจะใช้ถ้อยคำ ที่กระทบกระเทือนอย่างนั้น แต่ว่าพูดให้เขาสบายใจ แนะนำพร่ำเตือน คนเรามันไม่ฉลาดไปทุกคนหรอก ถ้าฉลาดทุกคน ก็ไม่มีคนมารับใช้เราเท่านั้นเอง ที่เขามารับใช้เรา ก็เพราะเขาฉลาดน้อยกว่าเรา มีความสามารถน้อยกว่าเรา มีฐานะทางทรัพย์สมบัติ น้อยกว่าเรา จึงมารับใช้ เราจึงควรเห็นอกเห็นใจเขา สงสารเขา ในที่เขาบกพร่อง ในเรื่องอย่างนั้น อย่าไปซ้ำเติมเขา ให้มันเดือดร้อนหนักไปกว่านั้นเลย เรานึกอย่างนี้ แล้วเราก็พูดจากับเขา ด้วยถ้อยคำสำนวนที่หวานหู ความหวานนี้มันใช้ประโยชน์ได้ทุกเมื่อ
| หน้าถัดไป >>
» ไม่มีอะไรได้ดังใจเหมือนม้ากาบกล้วย
» วันนี้เจ้าอยู่กับฉันพรุ่งนี้มันไม่แน่
» หลักใจ
» เกิดดับ
» มรดกธรรม