ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
เรื่อง ทาน - บริจาค
วันอาทิตย์ ที่ 7 สิงหาคม พ. ศ. 2520
2
โคนันทวิศาล ลากเกวียนไปกว่าห้าร้อยเล่ม ไปได้ทันท่วงที ก็เพราะเรื่องนี้ เรียกว่า พ่อโคเอ๋ย เจ้าจงลากเกวียนไปเถอะ ลากไปเลยทีเดียว แต่พอพูดว่าอ้ายโคจัญไร โคมันก็เจ็บใจ แหมพูดดีๆ ก็ไม่ได้ ให้มันหวานหูสักหน่อยก็ไม่ได้ นี่ก็เรื่องให้เหมือนกัน เรียกว่าให้วาจา แล้วก็ให้ความสนิทสนมกัน ไม่ห่างเหินเกินไป สนิทสนมตามสมควรแก่กาละเทศะ เป็นกันเองในบางครั้งบางคราว อันนี้ต้องรู้จัก ว่าไหนควรจะทำอย่างไร ควรจะให้ความเป็นกันเอง ให้ความเห็นอกเห็นใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่คนเหล่านั้น ตามฐานะโอกาส เท่าที่เราจะทำได้
คือว่าเราต้องดูโอกาส ว่าเขาต้องการอะไร เขามีความทุกข์ความเดือดร้อนใจ ด้วยปัญหาอะไร คนเรามันสังเกตง่าย ดูหน้าก็รู้แล้ว ถ้าหน้ามุ่ยๆ แสดงว่า ไม่ค่อยสบายใจ อย่างนั้นเราต้องเอาใจใส่ เรียกว่าไต่ถาม ว่าเอ็งเป็นอย่างไร ดูหน้าดูตาไม่ค่อยสบาย เขาก็คงจะบอกว่า เป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ เราก็ต้องให้ความเห็นอกเห็นใจ พูดจาปลอบโยน แนะนำตักเตือน มีอะไรพอช่วยได้ ก็ต้องช่วยทันท่วงที มีบางคนเคยบ่นบ่อยๆ บอกว่า แหม ทำคุณกับคนทั้งหลายไม่ขึ้นเสียเลย คนทั้งหลายให้ไปแล้วมันไม่รู้จักบุญคุณ บางคนพูดหนัก เลี้ยงสุนัขดีกว่า มันกตัญญูดี เลี้ยงคนมันไม่ได้ความ นั่นมันคนละเรื่อง
คือสัตว์เดรัจฉานมันก็อย่างนั้นแหละ เราเลี้ยงมัน มันก็รักเรา มันไม่ใช่รักเพราะว่า มันมีนิสัยกตัญญู ไม่ใช่ แต่มันรักก็เพราะว่า กูได้กินกับคนนี้ ก็ต้องรักเขาหน่อย สุนัขมันคิดอย่างนั้น ใครไม่ให้มันกิน มันไม่รักหรอก ธรรมชาติมันอย่างนั้น แต่คนเราไม่ได้เป็นอย่างนั้น ต้องเคาะต้องสอน ต้องอบรม เราให้อะไรไปแล้ว คนบางคนไม่สำนึก อย่าไปเสียอกเสียใจ เราควรจะนึกว่า เอาเถอะให้เขาสบายก็แล้วกัน เรามีหน้าที่ ที่จะทำคนอื่นให้เขาสบาย เราได้ทำอะไรให้คนอื่นสบายใจ แล้วเราสบายใจ ส่วนเขาจะคิดตอบแทนเราหรือไม่นั้น เราอย่าไปคิดให้มันยุ่งยากใจ อย่าไปคิด ให้มันวุ่นวายใจ อันนี้ประการหนึ่ง
อีกอย่างหนึ่ง อยากจะแนะนำว่า การช่วยเหลือบุคคล ที่จะให้เขาสำนึกในบุญคุณนั่น มันมีโอกาส มีช่องเวลา คือเราต้องช่วย เมื่อเขาต้องการจริงๆ มีความจำเป็นจริงๆ ในเรื่องอย่างนั้น ไม่ใช่ว่าให้เรื่อยๆ ไปไม่ได้ ให้มากๆ เขาเห็นเป็นของธรรมดา เลยไม่ค่อยนึกอะไร ทีนี้เราต้องคอยดู ช่วย เวลาว่าคนนี้เดือดร้อนอะไร จำเป็นอะไร เช่นเกิดการเจ็บไข้ได้ป่วย ต้องไปโรงพยาบาล ขาดเงินขาดทอง สอดเข้าไปช่วยทันที อย่างนี้แหละ มันจะเกิดบุญคุณขึ้นในน้ำใจ เพราะเขาเป็นทุกข์เหลือเกิน เดือดร้อนใจเหลือเกิน แล้วเราสอนเข้าไปช่วยทันที เขามองเราเหมือนกับเทพเจ้า ที่มาทันเวลา แล้วมันฝังอยู่ในใจของเขา
ถ้าหากว่าเขาสบายๆ อยู่แล้ว เราไปถึงว่า เอ้าเอาสตางค์ไปใช้มั่ง มันเฉยๆ อย่างนั้นมันเอาไปใช้หมดเท่านั้นเอง แล้วมันไม่ได้นึกถึงเราหรอก เพราะว่าเขามันไม่มีความขัดข้อง ด้วยเรื่องสตางค์ เมื่อเราเอาให้เขา เขาก็เฉยๆ แต่ว่าถ้าเขาไม่มีจริงๆ เดือดร้อนจริงๆ แล้วเราวิ่งเข้าไปช่วย เขานึกอยู่นาน ฝังเข้าไปในใจ แล้วเขาจะมีความกตัญญูต่อเรา หลักการมันเป็นอย่างนั้น ช่วยคนมันต้องดูเวลา ดูโอกาสให้เหมาะๆ ถ้าเรานึกไว้ในรูปอย่างนั้น แต่ถ้าเราให้ โดยไม่หวังอะไรตอบแทนแล้ว เราให้ไปเถอะ ให้เพื่อให้คนอื่นสบายใจเท่านั้นเอง แล้วตัวเรานี้ไม่หวังอะไรจากการให้ แล้วเราก็ไม่มีปัญหา เป็นการทำให้เกิดความสบายใจแก่คนรับ ก็พอแล้ว นี่ก็ไม่มีเรื่อง
ส่วนอีกอันหนึ่ง ในเรื่องการให้เหมือนกัน คือว่าให้ประโยชน์แก่กันและกัน ประพฤติอย่างไร ที่มันเป็นประโยชน์แก่คนเหล่านั้น แก่คนเหล่านี้ อย่าตัดรอนประโยชน์ใครๆ อย่าริษยาใคร อย่าเบียดเบียนใคร ให้สูญเสียสิ่งที่เขาจะมีจะได้ แต่ว่ามีทางใจ ที่เราจะช่วยเหลือ สนับสนุนให้คนได้มีความก้าวหน้า ในการปฏิบัติกิจหน้าที่การงาน ในการศึกษา ในการอะไรก็ตามใจ อย่างนี้ก็เรียกว่า เป็นการให้ ตามหลักในทางพระพุทธศาสนา
คนบ้านใกล้เรือนเคียงกันนี้อย่างหนึ่ง ในกรุงเทพฯ เรานี้ มีความไม่ค่อยสนิทสนมกัน ไม่ค่อยจะรู้จักกัน อยากจะให้แก้ไขกันเสียสักหน่อย คือว่าคุ้นๆ กันไว้บ้าง บ้านใกล้เรือนเคียงคุ้นๆ กันไว้บ้าง เพื่ออะไร เพื่อจะได้เป็นหูเป็นตาแก่กันและกัน ช่วยดูแลกัน เมื่อเราเผลอเราประมาท เดี๋ยวนี้ขโมยขึ้นบ้านบ่อยๆ กลางวันมันก็มาขึ้น คนบ้านใกล้เรือนเคียงก็นั่งดูอยู่ เห็นเขาขนของลงจากบ้าน แต่เขาดูด้วยการนึกอย่างไร เขานึกว่า แหม ย้ายบ้านอีกแล้ว นึกอย่างนั้น ว่าย้ายอีกแล้ว เห็นรถขนมันก็คันใหญ่ ขนโทรทัศน์ ขนวิทยุ ตู้เย็น ก็นึกว่าย้ายบ้านอีกแล้ว แต่ความจริงไม่ใช่ ขโมยมันมาย้ายไปเท่านั้นเอง มันเป็นอย่างนั้น เพราะไม่รู้จักกัน ก็นั่งดูเฉยๆ
ทีนี้ ถ้ารู้จักคุ้ยเคยกัน ก็ไปโอภาปราศรัย เอ๊าอยู่ดีๆ จะไปไหนอีกละ จะได้ทักถามกันอย่างนั้น ขโมยมันก็จะสดุ้งนิดหน่อย มันไม่กล้า แต่ถ้ามันรู้ว่าเขาคุ้นเคยกัน ช่วยดูแลกัน มันไม่กล้าเหมือนกัน อันนี้ตามชนบททั่วไป เขาเอื้อเฟื้อกัน อยู่กันด้วยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เรากรุงเทพ ฯ นี่ไม่ค่อยรู้จักกัน คนข้างเคียงจึงควรจะได้ทำอย่างไร ที่จะได้เกิดความคุ้นเคยกันได้ ไปมาหาสู่กันบ้างตามสมควร ทีนี้ การอยู่ในบ้าน ความจริงก็พอไปกันได้ คือในชุมนุมหนึ่งๆ บ้านช่องเขาจัดสรร ราคาแพง คนที่ซื้อได้ก็มีฐานะพอสมควรทั้งนั้น ก็พอจะรู้จักมักจี่กันไว้ได้ เพราะว่าราชสีห์ ก็ยังอาศัยหนูเหมือนกัน ในเมื่อติดกับเขา หนูก็ต้องมาช่วย แล้วหนูก็ต้องอาศัยราชสีห์บ้าง ในบางครั้งบางคราว
คนเรามันต้องอาศัยกันทั้งนั้น ไม่ว่าเราจะมั่งมีเราจะใหญ่โตมีอานาจวาสนา อย่านึกว่า กระจ้อยร้อยช่วยอะไรเราไม่ได้ บางคราวมันก็ช่วยได้ สิงโตมันติดกับ หนูจึงมากัดมันจึงออกไปได้ ตัวน้อยมันช่วยใหญ่ได้เหมือนกัน ถ้าเราคิดอย่างนี้ เราก็ช่วยกันได้ตามฐานะ ตามโอกาส ผูกมิตรกันไว้ดีกว่าไม่รู้จักกัน นี้เป็นหลักที่ควรจะใช้ ในชีวิตของผู้ครองบ้านครองเรือน ประการหนึ่ง เรียกว่า การให้ การให้เป็นทางแห่งความสุข พระผู้มีพระภาคจึงตรัสไว้ว่า "ทานํ สคฺค โสปานํ" ทานนี่เป็นบันไดแห่งสวรรค์ สวรรค์ในที่นี้ ไม่ใช่สวรรค์บนฟ้า หามิได้ แต่ว่าสวรรค์นั้นคือการอยู่กันฉันท์พี่น้อง อยู่กันด้วยความสุข อยู่กันด้วยความไม่มีเวร ไม่มีภัยต่อกัน นั่นแหละสวรรค์
นรกก็หมายความว่า อยู่กันด้วยเบียดเบียนกัน ข่มเหงกัน มีการจี้การปล้น อยู่ตลอดเวลา นี่มันนรกอยู่ไม่สบาย นอนไม่เป็นสุข หวาดกลัวต่อภยันตรายอยู่ตลอดเวลา อย่างนี้ก็เป็นนรกไปแล้ว อันนี้ถ้าเรามีการเอื้อนเฟื้อเผื่อแผ่กัน ก็เรียกว่า เป็นบันไดแห่งสวรรค์ และการให้ เป็นเครื่องสมานมิตรไมตรี ต่อกันและกัน ทำให้คนรักใคร่สนิทสนมกันกลมเกลียว อยู่กันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน โลกนี้ไม่มีการให้เมื่อใด ก็จะคับแคบกันขึ้นเมื่อนั้น แต่ถ้ามีการให้แพร่หลายออกไปเท่าใด โลกจะก้าวหน้ากันขึ้นเมื่อนั้น
วันนี้ ชาติต่างๆ ก็รู้คุณค่าแห่งการให้ขึ้นบ้างแล้ว ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง เราเห็นคุณค่าแห่งการให้ เพราะฉะนั้น จึงตั้งองค์การสหประชาชาติ แล้วองค์กรนี้ ก็มีประเภทต่างๆ องค์การยูเนสโก้ องค์การอีกาเฟ่ มีองค์การอะไรต่างๆ หลายองค์การ เรื่องให้ทั้งนั้น เฉลี่ยกัน ชาติไหนมั่งคั่ง ต้องการไปช่วยชาติที่ยากจน ชาติไหนที่พัฒนาแล้ว ไปช่วยชาติที่ด้อยพัฒนา ได้ไปช่วยเหมือนกัน แม้เมืองไทยเรานี้ พูดกันไปแล้วก็ยังด้อยพัฒนาอยู่ ในสายตาของชาวต่างประเทศ เราไม่ได้เจริญเหมือนที่เขาเจริญ เรายังด้อยในเรื่องการศึกษา ในเรื่องการอุตสาหกรรม ในเรื่องการค้าขาย ในเรื่องอะไรหลายอย่างหลายประการ ชาติที่เขาเจริญแล้ว เขาก็มาช่วยเหลือ
เช่นช่วยเหลือในเรื่องการศึกษา ส่งครู ส่งอาจารย์มาช่วย ให้ทุนแก่นักศึกษาไทย ได้ไปเรียนต่อในต่างประเทศ ทำปริญญาโท ปริญญาเอก ให้ทุนกันมากมาย ทุนโคลัมโบบ้าง ทุนอะไรต่ออะไร ไปกันบ่อยๆ นี่เรื่องของการให้ ให้หยูกให้ยา ให้ดีดีที มาพ่นกัน ไม่ให้ยุงมากันคนเกิดไข้มาเลเรีย ให้สิ่งนั้นสิ่งนี้ มากมายหลายเรื่องหลายประการ ให้กันอยู่บ่อยๆ อย่างนี้ก็เป็นการ ช่วยเหลือเจือจุนกัน ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ การให้ที่เกิดโทษ ก็มีอยู่เรื่องเดียวคือให้อาวุธให้มันรบกัน นี่ไม่ไหว แจกอาวุธให้มารบกัน ชาตินั้นขาดอาวุธแจกกันไป แล้วชาติโน้น ไม่มีอาวุธก็แจกกันไป แจกกันใหญ่ รบกันต้องซื้ออาวุธที่นี่ หมดแล้วปืนแตก ปืนแตกก็ต้องซื้อมารบกันต่อไป อันนี้ ไม่น่าให้ ให้แล้วมันยุ่งยาก ควรจะให้ของที่เป็นประโยชน์
พระพุทธเจ้า ท่านสอนไม่ให้เหมือนกัน ไม่ให้ของเป็นพิษ เช่น ไม่ให้ให้น้ำเมาแก่มิตรสหาย มันเป็นพิษกินเข้าไปแล้ว เสียผู้ เสียคน แต่ว่าเมืองไทยนี่ชอบให้กัน ถ้าเพื่อนคนไหน ให้เหล้าสักขวดแล้ว แหม ชอบอกชอบใจ คนแก่บางคน หลายคน ไหนเอาเหล้ามาฝาก มีหลานหลายคน มันรักฉันอยู่ คนเดียวคนนี้แหละ อ้ายคนที่จะไล่คุณตาลงนรก รักกันนักหนา หลานคนนั้น นี่เรียกว่า ไม่ได้เรื่องอะไร เอาเหล้าไปให้คนกิน เหมือนกับว่า ไปเร่งให้ไปป่าช้าไวๆ เท่านั้นเอง เรารักคุณปู่คุณตา ควรจะจูงมาวัดมาวา มาฟังเทศน์ฟังธรรม จิตใจจะได้สบาย แต่นึกว่าคุณตาชอบเหล้า เอาเหล้าไปให้คุณตา เรารักเพื่อน ก็เชิญเพื่อนไปกินเหล้ากัน อย่างนี้มันไม่ไหว เร่งให้ตายไวๆ กันทั้งนั้น
พระพุทธเจ้า ท่านห้ามการให้ของเหล่านี้ คือให้ให้แต่สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่กันและกัน ช่วยให้คนอยู่ด้วยความสุขความสบาย ให้อาหาร ให้เสื้อผ้า ให้รถ ให้ยาน ให้หยูก ให้ยา ให้ความสุข ความสบาย ทุกประเภท มันเยอะแยะ เราจะให้อะไรก็ได้ นานาชาติ เดี๋ยวนี้ให้สิ่งต่างๆช่วยเหลือกัน ช่วยเหลือในการทำถนนหนทาง ช่วยอย่างโน้นอย่างนี้ เป็นการให้ทั้งนั้น มันอยู่ในเรื่องทานเท่านั้นเอง ถ้ายิ่งมีการให้มากเท่าใด สังคมจะมีความสุขมากขึ้นเท่านั้น
ในเรื่องพระสูตร เล่าเรื่องไว้เรื่องหนึ่ง ว่าพระราชาจับโจรมาได้ แล้วจึงถามว่าทำไมแกจึงเป็นโจร เป็นผู้ร้าย คนนั้นก็บอกว่า เพราะไม่มีของจะกินจะใช้ รวมความว่า เป็นคนยากจนเท่านั้นแหละ จึงเป็นขโมย ราชาบอกว่า ฉันให้เงินให้ทองไปทำมาหากิน ตั้งเนื้อตั้งตัว แล้วก็อย่าไปลักขโมยใครต่อไปอีกน๊ะ เจ้าโจรนั้นก็ตอบว่า เมื่อมีกินมีใช้แล้ว ข้าพระองค์จะไปทำการขโมยเสี่ยงภัยทำไม มันเสี่ยงกันการติดคุก ติดตะราง จะได้ทำมาหากินต่อไปตามฐานะ แล้วคนนั้นก็ไม่ลักขโมยต่อไป ตั้งหน้าทำมาหากินด้วยความเรียบร้อย อันนี้เป็นหลักประสาสโนบาย ของบ้านเมืองอยู่เหมือนกัน
คือบ้านเมือง จะต้องจัดการให้คนมีที่อยู่ มีที่กิน มีที่อาศัย ก็เรื่องให้นี่เหมือนกัน เช่นว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา ทรงให้ที่ดินสำหรับทำมาหากิน ตั้งห้าหมื่นไร่ ให้เอาไปเป็นนิคมสหกรณ์ อะไรต่อมิอะไรตามเรื่อง นี่คือ การให้ แล้วการที่พระองค์ เสด็จจากกรุงเทพฯ ไปภาคเหนือ ภาคใต้ ไปภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก็ให้เหมือนกัน เสด็จไปให้ คือให้ความสบายใจ แก่ประชาชน ผู้ได้พบได้เห็น เพราะการได้เห็นคนดีนั้น เป็นมงคล เป็นความสุขอย่างหนึ่งเหมือนกัน ท่านก็ไปให้คนได้พบปะ ได้เข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด แล้วมีทางที่จะทรงให้ได้ ก็ทรงแนะนำให้เขาทำอย่างนั้นอย่างนี้ ให้ทำเขื่อนกั้นน้ำบ้าง ขุดสระเก็บน้ำบ้าง แล้วตั้งนิคมสหกรณ์ ช่วยเหลือคนประเภทต่างๆ
ที่ดินที่ใด พอจะพัฒนาเป็นนาเป็นไร่ ให้คนเข้าไปอาศัย ทำมาหากินได้ แต่ยังไม่ได้พัฒนา พระองค์ก็เสนอโครงการนั้นต่อรัฐบาล รัฐบาลก็จัดทำรีบด่วน เพราะเป็นโครงการของในหลวง เดี๋ยวนี้มีโครงการของในหลวงเยอะ ทำที่นั่น ทำที่นี่ เพื่อเป็นการให้ความสุข ความสงบแก่ประชาชน ให้คนได้อยู่เย็นเป็นสุขกันต่อไป อันนี้ก็เรียกว่า เป็นเรื่องที่ให้แก่คนเหล่านั้น แม้สมเด็จพระราชชนนี แม้มีพระชนมายุมากแล้ว ไม่มีหยุด มียั้ง ยังไปให้อยู่ตลอดเวลา อานิสงส์เกิดแก่พระองค์ท่าน เราสังเกตดูไหม รูปพระองค์ท่านลงจากเครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์เดินตัวปลิว แล้วพระชนมายุขนาดนั้นแล้ว ยังแข็งแรงไม่มีโรคมีภัย ไม่มีความดัน ไม่มีเบาหวาน ไม่มีอะไร เสด็จไปไหนๆ สะดวก สบาย อานิสงส์อะไร อานิสงส์ของการให้
ให้ความไม่มีโรค เราก็ไม่มีโรค คือให้หยูก ให้ยา ให้สุขภาพอนามัยแก่คนทั่วๆ ไป ทรงตั้งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ไปให้เยียวยา รักษาคนในถิ่นทุรกันดาร ตอนนี้ก็ไปลอยเรืออยู่แถวใต้ ขึ้นฝั่งไปเที่ยวดูนั่น ดูนี่ เที่ยวแจกข้าว แจกของ แจกเสื้อ แจกผ้า เรื่อยไป นี่คือการเสด็จให้ทั้งนั้น พระพุทธเจ้าของชาวเราทั้งหลาย เมื่อยังทรงพระชนม์อยู่นั้น ก็ต้องทรงให้อยู่ตลอดเวลา แต่ว่าพระองค์ไม่มีวัตถุที่จุให้ ให้ธรรมะเป็นทาน ให้อะไรๆ นี่สู้ให้คำสอนไม่ได้ เพราะฉะนั้น พระพุทธภาษิตที่ว่า "สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ" การให้ทานธรรมะ ชนะการให้ทั้งปวง
คือการให้คำสอน การให้ดวงประทีปชีวิต แก่คนเหล่านั้น ให้ได้รู้ว่า ชีวิตคืออะไร อะไรคืออะไร แล้วจะได้ปฏิบัติตนถูกต้อง ตามแนวทางที่ถูกที่ชอบ เสด็จไปไหนๆ ก็มีแต่เรื่องให้แก่เขา ทรงเอานิดหน่อย คืออาหารบิณฑบาต วันละมื้อเดียว ไม่มีอะไร นอกนั้นก็ไม่มีอะไร มีแต่เรื่องให้ตลอดพระชนม์ชีพ แม้แต่ในนาทีสุดท้าย ใกล้จะปรินิพพานแล้ว ถ้าเรียกตามภาษาชาวบ้านก็ว่า เข้าขั้นโคม่าแล้ว ประทับนอนอยู่ใต้ต้นไม้ บนผืนผ้า ไม่มีเตียงอะไร นอนบนพื้นดินธรรมดา บนทรายฝุ่น ในอินเดียมีแต่ทรายฝุ่นทั้งนั้น แล้วก็มีผ้าสังฆาฏิ ปูนอนหน่อย พระอานนท์ปูถวาย แล้วก็ประทับนอนตรงนั้น มีคนจะมารบกวนถามปัญหา พระอานนท์ บอกว่า ขอทีเถอะพ่อคุณ อย่าไปรบกวน พระผู้มีพระภาคเจ้าเลย พระองค์ประชวรหนักเต็มที่แล้ว พระองค์ได้ยินว่าจะมีคนมาถามปัญหา แล้วอานนท์ห้ามว่า อย่าไปรบกวน พระองค์เลยบอกว่า อานนท์อย่าไปห้ามเข้าเลย เขาไม่ได้รบกวนอะไรหรอก เขามีปัญหาที่จะต้องถาม ถ้าเขาไม่ได้ถาม เขาจะอัดอั้นตันใจ ไปกระทั่งหมดชีวิต เพราะหมดโอกาสที่จะถามแล้ว ปล่อยเขาเข้ามาเถอะ นายคนนั้นก็ได้เข้าไปเฝ้าเฉพาะพระพักตร์ แล้วก็ทูลถามปัญหา มากมายหลายข้อ ถามใหญ่เลย พระองค์บอกว่า อย่าถามมากๆ เวลามันน้อย มันสั้น เอารวบยอดให้ฟัง แล้วก็ตอบรวบรวม แล้วก็ขอบวชเป็นคนสุดท้าย
แล้วก็ยังให้อีก เมื่อจะหมดลมหายใจนี่ ก็ยังฝากคำเตือน อย่างชนิดที่เรียกว่า สำคัญที่สุด บอกว่า "อมนฺตยามิ โว ภิกฺขเว ขยวยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ" ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สังขารธรรมทั้งหลายทั้งปวง มีความเสื่อมไปสิ้นไปธรรมดา เธอทั้งหลายจงบำเพ็ญประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด. ว่าอย่างนั้น นี่เป็นการให้ครั้งสุดท้าย ปัจฉิมวาจา ที่พระองค์ได้ให้แก่พวกเราทั้งหลาย ยังดังก้องอยู่ตลอดจนทุกวันนี้ ว่าอะไร มันไม่เที่ยงแท้แน่นอน เราจงทำประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด อย่างนี้เป็นการให้ไว้ในครั้งสุดท้าย ที่เรารับมาจนถึงทุกวันนี้
และถ้าหากว่า เรารับมรดกธรรม ของพระพุทธเจ้า เอามาใช้ในชีวิตประจำวันของเรา อย่างจริงจังแล้ว รับรองว่าเราจะปลอดภัย เวลานี้มีญาติโยมถามบ่อยๆ ว่าจะอยู่รอด จะปลอดภัยไหม ภัยนั้นมันเกิดจากอะไรเราต้องรู้ว่ามันเกิดจากอะไร ภัยทั้งหลาย มันเกิดจากภายใน ของคนนั้น ภัยภายนอก ก็เนื่องมาจากภัยภายใน ภัยภายในก็คือกิเลสทั้งหลาย ที่เกิดขึ้นรบกวนจิตใจ แล้วกิเลสมันเกิดขึ้นเพราะอะไร เพราะเราเผลอ เราประมาท ขาดความระมัดระวัง เมื่อเราเผลอประมาทไปไม่มีสติควบคุมจิตใจ กิเลสมันก็เกิดขึ้นในใจ แล้วก็เป็นภัยแก่เรา ภัยที่เกิดขึ้นในใจของเรานั้น ชวนภัยภายนอกเข้ามา เช่นคนมีความคิดเห็นผิด เรียกว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิเกิดขึ้นในใจ แล้วก็ไปชวนภัยภายนอกเข้ามา รังแกเพื่อนบ้าน ให้เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อน
ตัวอย่างเห็นง่ายๆ เช่นพวกขโมยนี่แหละ ขโมยอยู่บ้านนี้ แล้วก็ชวนคนบ้านโน้นมาปล้นคนบ้านนี้ นึ่ก็เพราะมันมีภัยข้างใน ภัยข้างในนั้นก็คือความริษยา ไม่อยากจะเห็นเพื่อนบ้านเจริญ ไม่อยากจะเห็นเพื่อนบ้านมีความสุข มีความก้าวหน้า ในการเป็นอยู่ แต่ว่าตัวจะไปทำลายเองมันก็ไม่ไหว เลยไปยืมมือมาจากบ้านโน้น หาพรรคหาพวกมา ตาเป็นคนดูและประตูให้ ชี้ช่องชี้ทาง เข้าทางนั้น ออกทางนี้ ถ้าว่าฉุกเฉินก็ออกไปทางนั้น เป็นพวกชี้แนะช่องทาง เขาเรียกว่า ชักน้ำเข้าเรือ ชักเสือเข้าบ้าน
เรือมันดีๆ ไปถอดข้างล่างให้มันมีรู น้ำเข้าเรือ เรือจม เสือไม่มีในบ้าน ไปดึงเสือมา อุตส่าห์ต้อนเข้ามา จะให้กินลูกวัวชาวบ้าน ก็เรียกว่า ไม่ได้เรื่อง เพราะมันมีภัยข้างในก่อน มีภัยข้างในแล้วก็ไปดึงภัยข้างนอกมา ทำให้เกิดความทุกข์ต่อไป เราจะปราบอะไรๆ นั้น จะต้องปราบภัยข้างในก่อน ปราบภัยข้างในนั้น จะปราบด้วยอะไรอื่นหาได้ไม่ แต่เราต้องปราบด้วยธรรมะ ด้วยการให้ทาน ด้วยการรักษาศีล ด้วยการเจริญภาวนา ถ้าเราประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ ภัยข้างในมันไม่มี เพราะเราให้ออกไป เช่นกิเลสเกิดขึ้นเราไม่เอาไว้ สละมันเสียเลย สละกิเลส พระท่านเรียกว่า จาคะ มันมีคำสองคำที่ใช้กันอยู่ในเรื่องนี้ คือ ทานอย่างหนึ่ง จาคะอย่างหนึ่ง อันนี้ เป็นข้อแนะนำ เตือนจิตสะกิดใจแก่ญาติโยมทั้งหลาย ที่ได้มาประชุมกันในวันนี้ ก็พอสมควรแก่กาลเวลาแต่เพียงเท่านี้.
<< ย้อนกลับ
» ไม่มีอะไรได้ดังใจเหมือนม้ากาบกล้วย
» วันนี้เจ้าอยู่กับฉันพรุ่งนี้มันไม่แน่
» หลักใจ
» เกิดดับ
» มรดกธรรม