ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
ศีลธรรมและสัจจธรรม
วันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม 2513
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย
ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรม อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว
ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังให้ดี
เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา
ในวันอาทิตย์ที่แล้วมา ได้อัดเทปปาฐกถาไว้ให้ญาติโยมทั้งหลายฟัง
เพราะมีกิจธุระไปข้างนอก อาทิตย์ต่อๆ ไปนี้ ไม่มีธุระอะไรจะไปข้างนอก
ญาติโยมก็มาฟังได้โดยตรงจากปากไม่ต้องฟังจากเทปอัดเสียง
เรื่องที่พูดไป 2 อาทิตย์ก่อนนั้น เป็นการพูดที่แนะแนวทางชั้นรากฐาน
อันเป็นข้อปฏิบัติในส่วนเบื้องต้น สำหรับเราผู้นับถือพระพุทธศาสนา
เพื่อจะได้ให้เกิดความเข้าใจ เมื่อเราเข้ามาเป็นศิษย์ของพระพุทธเจ้าแล้ว
เราควรจะปฏิบัติตนอย่างไร มีความคิดอย่างไร ตามทัศนะของพระผู้มีพระภาคเจ้า
เพราะว่าเรายอมเป็นศิษย์ของท่านผู้ใด เราก็ควรจะได้ปฏิบัติตามคำสอนของท่านผู้นั้น
เมื่อเราสมัครจะเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า
เราก็ปฏิบัติตนตามคำสอนของพระองค์อย่างแน่วแน่ ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน
จึงควรรู้ไว้เป็นเบื้องต้นว่า การปฏิบัติตามคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น
เราควรจะมีความเชื่ออย่างไร มีความคิดอย่างไร มีการกระทำในรูปใด
จึงจะเรียกว่าถูกตรงตามคำสอนในทางพระพุทธศาสนาซึ่งหวังว่าญาติโยมทั้งหลายที่ได้ฟังแล้ว
คงจะนำไปคิดพิจารณาด้วยปัญญาเพื่อให้เกิดความเข้าใจชัดเจนถูกต้องและแก้ไขความคิดเห็น
การปฏิบัติให้ดีงามถูกต้อง เพื่อจะได้เข้าใกล้พระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม
พระสงฆ์ มากยิ่งขึ้น
การที่เราปฏิบัติตามหลักธรรมะทางพระพุทธศาสนาดังที่กล่าวแล้ว
ความจริงก็เป็นเรื่องง่าย สะดวกสบาย ไม่ลำบากยากเข็ญอะไรมากนัก
เพียงแต่มีความเชื่อว่า การกระทำของเราเอง จะช่วยสร้างชีวิตของเราเอง
แล้วเราก็ลงมือปฏิบัติตามแนวทางนั้น เป็นเรื่อที่ลำบาก บางทีต้องมีการลงทุน
ต้องแสวงหา ต้องรอเวลาเพื่อให้เหมาะกับเวลาที่ต้องการ ถ้าไม่เหมาะแก่
เวลาก็ทำไม่ได้
การปฏิบัติธรรมะในทางพระพุทธศาสนานูน เรียกว่าเป็นอกาลิก คือ ไม่จำกัดเวลา
ไม่ถือว่าควรจะปฏิบัติเวลานั้น เวลานี้ เวลานั้นดี เวลานี้ชั่ว
อะไรอย่างนี้ไม่มี แต่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า...
การปฏิบัติตามธรรมะที่เราตถาคตบอกแล้ว กล่าวแล้วนั้น เมื่อไรก็ได้
จะเป็นตอนเช้า ตอนสาย ตอนบ่าย ตอนเย็น เราก็ทำได้ทั้งนั้น ใสสถานที่ใดๆ
ก็ทำได้ มีอย่างเดียวที่จะต้องเลือกเฟ้นก็คือว่า
จัดธรรมะให้ถูกแก่เหตุการณ์ แก่บุคคล
แก่สถานที่ที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องเท่านั้นเอง...
ฉะนั้นหลักธรรมะในทางพระพุทธศาสนา
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสธรรมะไว้เป็นเรื่องๆ ไป
เพื่อให้หยิบไปใช้ได้เหมาะแก่เหตุการณ์ เหมือนยาสำหรับแก้โรค
เราปรุงไว้เป็นขนานๆ เป็นยาสำเร็จรูป ใส่ขวดไว้เรียบร้อย
ปิดฉลากบอกไว้ด้วยว่า เป็นยาแก้ปวดท้อง ปวดหัว ปวดฟัน หรือเป็นทาภายนอก
เวลาเราจะกินยานั้นๆ ก็ต้องอ่านให้เข้าใจก่อนว่าเราจะกินยาอะไร
เราเป็นโรคอะไร กินเวลาไหน จำนวนเท่าไร ถ้ากินให้ถูกตรงตามที่หมอแนะนำไว้
ยานั้นก็สามารถรักษาโรคให้หายไปจากร่างกายของเราได้ฉันใด
ในเรื่องของธรรมะที่เรานำมาปฏิบัตินี้ก็เช่นเดียวกัน
พระผู้มีพระภาคแสดงธรรมะไว้มากมาย หลายเรื่อง หลายประการ
เพื่อให้เหมาะแก่โรคของคนอันจะแก้ไขได้นั่นเอง
ทีนี้โรคของเรานั้น มีโรคทางภายนอก คือ โรคร่างกาย เรียกว่า โรคฝ่ายกาย
อีกอย่างหนึ่งเรียกว่า โรคฝ่ายจิต โรคฝ่ายกายนั้น
เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของดินฟ้าอากาศ
เกิดจากเชื้อโรคที่เช้ามาเกาะจับในร่างกาย ทำให้ร่างกายเราไม่สบายผิดปกติไป
การรักษาโรคฝ่ายกายนั้น ก็ต้องใช้วัตถุเป็นเครื่องรักษา
เช่นเรามียาประเภทต่างๆ ซึ่งทางฝ่ายแพทย์เจริญมากในเรื่องอย่างนี้
ได้จัดยาไว้ให้เหมาะแก่โรค ถ้าเราไปหาหมอให้ตรวจทันท่วงที
หมอให้ยาเหมาะแก่โรค ก็หายไวไม่เปลืองเวลา ไม่เสียเงินไปโดยใช่เหตุ
รักษาไม่ยากอะไรนัก
โรคทางฝ่ายจิตหรือวิญญาณ เป็นโรคที่เกิดขึ้นภายใน
ไม่อาศัยอะไรที่เป็นเชื้อข้างนอกมากนัก อาศัยบ้างก็เพียงแต่สิ่งที่มากระทบ
เช่นรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่มากระทบทางประสาทห้าของเรา
แล้วก็เกิดทำให้มีอาการทางจิตใจขึ้น เรียกว่า โรคทางใจ
โรคทางใจนั้นเป็นจำพวกกิเลส
ซึ่งเกิดขึ้นแล้วทำให้จิตของเราเปลี่ยนสภาพจากหน้าตาดั้งเดิมไปเป็นอีกรูปหนึ่ง
เช่น เปลี่ยนไปเป็นความโลภ เป็นความโกรธ เป็นความหลง เป็นความริษยา อาฆาต
พยาบาทจองเวร มีประการต่างๆ ในขณะใดที่ใจเรามีโรคเกิดขึ้น
มันก็เปลี่ยนสภาพไปตามอำนาจของโรคนั้น เช่น
โลภะ เกิดขึ้นก็มีความอยากได้ไม่รู้จักพอในทรัพย์สมบัติของผู้อื่น
ซึ่งตนไม่มีสิทธิจะพึงมีพึงได้ โทสะเกิดขึ้นก็มีความเร่าร้อน
คิดแต่ในเรื่องที่จะประทุษร้ายเบียดเบียนคนอื่น ทำให้คนอื่น
ได้รับความทุกข์ความเดือดร้อนด้วยประการต่างๆ
โมหะ เกิดขึ้นในใจ ก็ทำให้มืดมัวหลงไหล ไม่เข้าใจชัดเจนในเรื่องนั้น
เป็นเหตุให้หลงผิดไปโดยประการต่างๆ ทำให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อน
พยาบาทเกิดขึ้น ก็เป็นไปในทางมุ่งร้าย จองล้างจองผลาญบุคคลอื่น
ริษยา เกิดขึ้นก็เป็นเหตุให้ไม่ยินดี ไม่มีความสุขความสบายใจ ในเมื่อเห็นคนที่เราไม่ชอบใจมีความสุข มีความเจริญ มีความก้าวหน้าในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เราไม่ชอบใจในความเป็นอยู่ของบุคคลนั้น อาการเช่นนี้เรียกว่าเป็นโรคริษยา โรคริษยานี้ถ้าเกิดขึ้นในใจของบุคคลใดแล้ว ทำให้บุคคลนั้นเร่าร้อนกระวนกระวายอยู่ตลอดเวลา ไม่มีความสุขไม่มีความสงบ ความทุกข์ความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นในใจของคนเรานั้นเกิดจากโรคทางใจ โรคทางใจนี้เป็นโรคร้ายทำลายสังคม ทำให้มนุษย์อยู่ในความทุกข์ความเดือดร้อนด้วยประการต่างๆ จึงเป็นหน้าที่ของเราจะต้องรักษาโรคชนิดนี้ อันการรักษาโรคชนิดนั้น เราจะไปหาหมอตามธรรมดาก็ไม่ได้ เพราะว่าหมอตามธรรมดาทั่งไปนั้น มีหน้าที่เยียวยาโรคทางกาย ไม่มีหน้าที่เยียวยาโรคทางจิตใจ บางทีหมอเองก็อาจจะเป็นโรคทางด้านจิตใจนั้นได้เหมือนกัน จึงเป็นที่พึ่งในเรื่องนี้ยังไม่ได้
เราจะรักษาโรคทางใจของเราได้นั้น ต้องอาศัยยา คือ ธรรม
อันเป็นหลักคำสอนในทางพระศาสนา เวลาเรารู้สึกตัวว่าเรามีโรคทางใจเกิดขึ้น
เราก็ไปหาหมอประเภทที่มีความรู้ทางธรรมะ เล่าเรื่องให้ท่านฟังว่าเราไม่สบาย
มีความครุ่นคิดในเรื่องนั้นเรื่องนี้ มีความไม่ดีไม่งามเกิดขึ้นในใจ
มีความทุกข์ มีความเดือดร้อนกระวนกระวายต่างๆ ควรจะรักษาอย่างไร
ทีนี้เมื่อเราไปหาเช่นนั้นท่านก็คงจะบอกวิธีการให้ว่า ควรจะรักษาอย่างนั้น
รักษาอย่างนี้ เราก็นำเอายาซึ่งได้รับแล้วนั้นมารักษา
การรักษาโรคในทางด้านจิตใจนี้สำคัญอยู่ที่ผู้ป่วย
ไม่ใช่สำคัญอยู่ที่ผู้ให้ยา เพราะว่าผู้ให้ยานั้น
ทำหน้าที่เพียงแต่ผู้ชี้ทางให้เท่านั้นเอง
การเดินทางเป็นหน้าที่ของเราผู้ป่วยทุกคน
จะต้องเดินไปไม่ชักช้าให้เสียเวลาเมื่อรู้จักตัวยาแล้วก็รีบเดินไปในทางนั้น
คือลงมือปฏิบัตินั่นเอง แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลาย
พระองค์ก็ได้ตรัสบอกกับลูกศิษย์จของพระองค์ว่า...
ตถาคตเป็นแต่เพียงผู้ชี้ทางให้ ส่วนการเดินทางเป็นหน้าที่ของเธอทั้งหลาย
จะต้องเดินด้วยตัวเธอเอง...
อันนี้นับว่าเป็นเรื่องสำคัญที่เราควรจะจำใส่ใจ การปฏิบัติตนนั้น
เป็นเรื่องที่ตนจะต้องรีบเร่งปฏิบัติทันทีไม่ชักช้า ก็เข้ากับหลักที่ว่า ตน
เป็นที่พึ่งของตน หมายความว่าเราเองต้องพึ่งตัวเองในเรื่องการปฏิบัติ
เพื่อจะให้พ้นไปจากความทุกข์ความเดือดร้อน ถ้าหากว่าไม่พึ่งตัวเอง
คอยให้คนอื่นช่วยด้วยวิธีการต่างๆ ย่อมไม่สำเร็จได้ตามความปรารถนา
เราจึงช่วยตัวเองการลงมือปฏิบัติตามแนวทางนั้นๆ
ที่เราได้รับรู้รับการาศึกษามาอันผลที่เกิดจากการปฏิบัตินั้น
ไม่ต้องให้ใครบอก เรารู้ได้เอง เหมือนกับเรารับประทานอาหาร
เปรี้ยวหวานมันเค็มอย่างไร เราผู้รับประทานย่อมรู้ได้ด้วยตนเอง
ไม่ต้องให้ใครอธิบาย ถึงแม้จะมีใครอธิบายให้ฟัง เราก็ไม่รู้ไม่เข้าใจชัดเจน
เพราะยังไม่ได้รับประทานแต่เมื่อรับประทานเข้าไปก็รู้ทันทีว่า
เปรี้ยวหวานมันเค็มอย่างไร
ข้อนี้ฉันใด ในเรื่องการปฏิบัติตามธรรมะในทางศาสนา ก็เป็นเช่นเดียวกัน
เมื่อเราลงมือปฏิบัติ เราก็ซาบซึ้งในเรื่องนั้นได้ทันที เช่นจิตสงบขึ้น
มีความสบายขึ้น ความร้อนต่างๆ หายไป อันนี้เป็นหลักควรจะเข้าใจไว้ว่า
การปฏิบัตินั้นเรารู้ได้ด้วยตัวของเราเองของเราเอง ประการหนึ่ง
ทีนี้อีกประการหนึ่ง ในเรื่องการทำกิจในทางศาสนาจะเป็นการ ให้ทาน รักษาศีล
หรือทำอะไรก็ตาม ญาติโยมบางคนก็เข้าใจผิด คือเข้าใจผิดว่าทำไว้เมื่อหน้า
ไปเอาผลกันข้างหน้า อันนี้ยังไม่ตรงแท้ตามหลักความเป็นจริง
คือว่าในการปฏิบัติอะไรก็ตาม ข้างหน้านั้นมันก็มีเหมือนกัน แต่ว่า
ผลอันแท้จริงถูกต้องนั้น คือผลที่เราได้รับทันทีในปัจจุบันนี้
เมื่อเราปฏิบัติเราก็ได้ผลทันที ไม่ต้องรอไปเอากันเมื่อนั้นเมื่อโน้น
ซึ่งบางคนอาจจะเข้าใจว่าทำไว้เผื่อข้างหน้า อันนี้ยังไม่ตรงตามความหมาย
ต้องเข้าใจกันเสียใหม่ว่า
ทำทันทีได้ทันที ทำดีก็ได้ดีทันที ทำชั่วก็ได้ชั่วทันที ทำเหตุให้เกิดทุกข์
ก็เกิดทุกข์ทันทีเหมือนกันได้ในขณะนั้น
ผลที่ได้นั้นได้ที่ตรงไหน ก็ได้อยู่ที่ใจของเรา
ใจเรารู้สึกว่าเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ สมมติว่าเราคิดดี
เราก็ได้ผลคือใจสบาย ถ้าเราทำดี เราก็สบายใจ ถ้าเราคิดชั่ว เราร้อนใจ
ถ้าเราทำชั่วเราก็มีความทุกข์เกิดขึ้นในใจ อันนี้ได้แล้ว
ได้ผลอยู่ในปัจจุบันทันตา ซึ่งทุกคนทำ ทุกคนก็ได้ทุกคนก็เห็น
ส่วนผลอันจะมาข้างหน้านั้นมันก็มีเหมือนกัน แต่ว่าอาจจะช้า จะเร็ว
เป็นผลของทางวัตถุไป ไม่ใช่เป็นเรื่องของทางนามธรรมที่เกิดขึ้นในใจของเรา
ผลที่เกิดในใจนั้น ทำทันทีได้ทันที ทำเดี๋ยวนั้นได้เดี๋ยวนั้น
ขอให้เข้าใจอย่างนี้ไว้
ฉะนั้นเมื่อเราจะทำอะไร เราก็จะได้รู้ว่าทำเพื่ออะไร และเราจะได้อะไร
เมื่อทำแล้ว เราก็สังเกตตัวเราว่า มีความรู้สึกอย่างไรเกิดขึ้นในใจ
ความรู้สึกนั้นเยือกเย็นหรือเร่าร้อน ความรู้สึกนั้นเป็นสุขหรือเป็นทุกข์
เราพิจารณาได้ด้วยตัวของเราเอง เราจะเห็นชัดเจนแจ่มแจ้งในผลนั้น
ทีนี้เมื่อเห็นผลแล้ว อันนี้แหละก็จะเกิดผลที่เรียกว่า ปสาท ปะสาทะ แปลว่า
เลื่อมใสในการปฏิบัติ ที่เกิดความเลื่อมใสในการปฏิบัติขึ้น
ก็เพราะว่าเราสบายใจ เราได้เห็นผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัตินั้น
เราก็ใคร่จะทำอีกต่อๆ ไป ครั้นเมื่อทำนานๆ เข้าก็เคยชิน
ถ้าความเคยชินเกิดขึ้นในจิตใจก็เป็นนิสัย นิสัยในทางดีเกิดขึ้นแก่บุคคลใด
บุคคลนั้นก็ได้ชื่อว่าเป็น คนดี อยู่กับพระอยู่ตลอดเวลา
ไม่ผละตนออกไปอยู่กับสิ่งชั่วร้าย อันจะทำตนให้เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อน
นี่คือ ตัวผล อันเกิดขึ้นจากการปฏิบัติ
ซึ่งเราทั้งหลายจะได้พบเองด้วยตัวของเราทั้งนั้น นี้ประการหนึ่ง
ทีนี้อีกประการหนึ่ง ในการที่เราจะปฏิบัติตามหลักธรรมะในทางพระพุทธศาสนา
ที่พระผู้มีพระภาคแสดงไว้นั้นเราควรจะเริ่มต้นที่ไหน
ควรจะเริ่มต้นด้วยเรื่องอะไร
อันนี้ก็เป็นข้อที่ควรจะได้เข้าใจเป็นประการแรกเหมือนกันว่า
ในการปฏิบัติธรรมนี้ เราควรจะเริ่มต้นที่อะไรก่อน
การเริ่มต้นการปฏิบัติธรรมนั้น ก็เริ่มที่ตัวของเราเอง
ข้อที่เราจะเอามาปฏิบัตินั้นมีอยู่ 2 ประการ
หลักธรรมะในทางพระพุทธศาสนานั้นมีอยู่ 2 เรื่องคือ
เรื่องที่เรียกว่า "ศีลธรรม" ประการหนึ่ง เรื่องที่เป็น "สัจธรรม"
นั้นอีกประการหนึ่ง
ศีลธรรมนั้น
เป็นข้อบัญญัติที่ผู้รู้ทั้งหลายได้บัญญัติขึ้นเพื่อประโยชน์เพื่อความสุขของคนหมู่มาก
เพราะว่าคนเราเมื่ออยู่คนเดียวมันยุ่งน้อย แต่ถ้าอยู่ 2-3-4 คน ขึ้นไป
ความยุ่งก็มากขึ้น ความยุ่งที่เกิดขึ้นในใจคนที่รวมกันเป็นหมู่นั้น
เกิดจากเรื่องอะไร ก็เกิดจากเรื่องของจิตใจไม่ตรงกัน
คือจิตใจที่ได้รับการปรุงแต่งไม่ตรงกัน แต่งไม่เหมือนกัน
ก็เหมือนกับการแต่งกายนี่ ดูพวกเราทั้งหลายที่แต่งกายนี้ แต่งไม่เหมือนก้น
คนหนึ่งอาจจะแต่งสีนั้น คนอื่นๆ อาจจะแต่งสีโน้น สีนี้
ไม่เหมือนกันสักคนเดียว เท่าที่มานั่งๆ กันอยู่ ข้อนี้ฉันใด
ใจเรานี้ก็เหมือนกัน
ว่ากันโดยเนื้อแท้ถ้าพูดถึงว่า จิตเดิมแท้ของมนุษย์นั้น
คือความบริสุทธิ์ความสะอาดมีความผ่องใสอยู่ตลอดเวลา อันนั้นเหมือนกัน
ทุกคนมีสภาพเช่นเดียวกัน เป็นจิตแบบเดียวกัน จิตเดิมนี้
หน้าตาเหมือนกันทุกคน และมีสิทธิ์ทีจะไปถึงความบริสุทธิ์ได้ทุกคน
แต่ว่าที่ไม่เหมือนกันนั้น ไม่ได้หมายถึงจิตดวงนั้น
แต่หมายถึงจิตที่ถูกปรุงแต่งด้วยอะไรต่างๆ ที่เราพูดกันว่า นานาจิตตัง
คำว่า นานาจิตตัง ไม่ใช่จิตเดิม แต่เป็นจิตที่ปรุงแล้ว แต่งแล้วด้วยอะไรๆ
มากเรื่องมากประการ ได้ปรุงตั้งแต่เป็นเด็กน้อย
เป็นหนุ่มเป็นสาวจนเป็นผู้ใหญ่ มั่นปรุงมันแต่งด้วยสิ่งแวดล้อม
ด้วยการอบรมบ่มนิสัยของผู้หลักผู้ใหญ่ ตามทัศนะของคนเหล่านั้น
บางคนก็อบรมให้เกิดความเข้าใจผิดในเรื่องอะไรมากเรื่อง
ให้เชื่อผิดในเรื่องอะไรมากเรื่อง ให้กระทำด้วยความหลงผิดอะไรต่างๆ
จิตนี้มันก็แตกต่างกับจิตของคนอื่นไป
มีความคิดไม่ตรงกันในเรื่องนั้นเรื่องนี้
คนเราถ้ามีความคิดไม่ตรงกัน เมื่อมานั่งด้วยกัน ก็มักจะเถียงกัน ทะเลาะกัน
ทำอะไร ก็ทำกันไปคนละทาง คนหนึ่งมีความคิดอย่างหนึ่ง ก็ไปด้านหนึ่ง
อีกคนหนึ่งก็ไปอีกด้านหนึ่งเลยไม่ลงรอยกัน
เมื่อไม่ลงรอยกันก็เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกัน
สร้างความทุกข์ความเดือดร้อนให้เกิดขึ้นในสังคมด้วยประการต่างๆ
จึงต้องมีระเบียบสำหรับบังคับคนเหล่านั้น ให้มีความคิด
ความเห็นในทัศนะเดียวกัน มีการกระทำในทางเดียวกัน เพื่อจะให้ไปกันได้
ไม่ใช่วิ่งเพ่นพ่านไปคนละทิศคนละทาง แต่ว่าให้มุ่งไปในทางเดียวกัน
ทางนั้นก็คือทางธรรมะ ซึ่งเรียกว่าทางของ ศีลธรรม
ที่ผู้รู้ทั้งหลายได้บัญญัติแต่งตั้งไว้
เราอยู่ในสังคมมนุษย์ จึงต้องปฏิบัติตนตาม หลักศีลธรรม เหล่านั้น
จึงจะอยู่กันด้วยความสงบ ถ้าไม่มีการปฏิบัติตามหลักศีลธรรม
คนเราก็มีความเห็นแก่ตัว มีความเข้าข้างตัวเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องสำคัญ
จะเอาท่าเดียว ไม่มีการให้ ไม่มีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
ตัวอย่างเห็นง่ายๆ เช่นเวลาเรานั่งรถไปตามถนนใหญ่ที่มีการจราจรคับคั่ง
ถ้าสมมติว่าที่ตรงนั้นไม่มีไฟเขียว ไฟแดง
ไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมายืนจัดระเบียบ การจราจรจะยุ่งที่สุด ขวักไขว่ที่สุด
เพราะว่าคนขับรถทุกคน ทุกคันนั้นมุ่งจะไปท่าเดียว ไม่มีใครผ่อนให้ใคร
ต่างคนต่างก็จะไป เมื่อไปไม่ได้ ก็ไปยันกันอยู่ที่สี่แยกนั่นแหละ
เสียเวลาไปตั้งหลายนาที นี่มันเรื่องอะไร
ก็เรื่องความเห็นแก่ตัวของมนุษย์เรานี่เอง ไม่ได้คิดว่า เออ
ให้คันนั้นไปก่อน ถ้าต่างคนต่างคิด จะให้ มันก็ไม่ติด คนโน้นก็ให้
คนนี้ก็ให้ แล้วก็ไปกันด้วยความเรียบร้อย แต่ความคิดที่จะให้
มันไม่เกิดขึ้น จึงได้มีสะภาพเช่นนั้น
ต้องมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมายืนยกไม้ยกมือจัดให้คันนั้นไปก่อน คันนั้นไปทีหลัง
อันนี้เราก็จะเห็นได้ว่า มนุษย์เรานี่นะ ถ้าปล่อยตามเรื่องแล้วไม่ได้
มันยุ่งกันตลอดเวลา
จึงต้องมีระเบียบกฎเกณฑ์สำหรับที่จะไว้ใช้บังคับทางจิตใจ ให้ทุกคนถือตาม
ดำเนินตามระเบียบเหล่านั้น เรียกว่าเป็น "หลักศีลธรรม"
ในทางศาสนา แม้ตัวบทกฎหมาย
ขนบธรรมเนียมประเพณีที่เราปฏิบัติกันมาตั้งแต่บรมโบราณ
อันเป็นไปเพื่อความสุขเพื่อความเจริญของสังคม เราก็ควรรวมเรียกได้ว่า
เป็นหลักการทางศีลธรรมทั้งนั้น
เมื่อเราเอาหลักการเหล่านั้นมาเป็นแนวปฏิบัติ มนุษย์ก็จะอยู่กันด้วยความสุข
ด้วยความสงบ เพราะทุกคนปฏิบัติตามแนวนั้น
แต่ถ้าเมื่อใดมนุษย์เราเกิดดื้อขึ้นมา
เกิดดื้อแล้วก็เกิดจะไปท้ารบกับธรรมชาติขึ้นมา เรียกว่ารบกับธรรมะ
หรือว่าไปรบกับพระผู้เป็นเจ้า
เดี๋ยวนี้มนุษย์ไม่ใช่ทำสงครามระหว่างมนุษย์แล้ว
แต่ว่ากำลังทำสงครามกับพระผู้เป็นเจ้า ไปท้ารบกับพระผู้เป็นเจ้า
การท้ารบกับพระผู้เป็นเจ้านั้นทำอย่างไร ขัดขืนต่อการปฏิบัติตามธรรมะ
ไม่เอาธรรมะมาเป็นหลักปฏิบัติด้วยการถือดีว่า
ฉันไม่ปฏิบัติตามธรรมะฉันก็อยู่ได้ ฉันก็มีกิน ฉันก็มีใช้
ฉันจะไปยุ่งกับศีลธรรมทำไม ฉันจะกอบโกยเอาตามชอบใจของฉัน
ถ้าไปถือศีลธรรมอยู่ ไม่ทันอกทันใจ อันนี้แหละเขาเรียกว่าท้ารบกับธรรมะ
หรือท้ารบกับพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งเราเรียกกันโดยสมมติในรูปอย่างนั้น
ถ้ามนุษย์เราไปประกาศสงครามกับธรรมะอย่างนี้ โลกก็เต็มไปด้วยความวุ่นวาย
เต็มไปด้วยความเร่าร้อนด้วยประการต่างๆ อย่าเป็นคนคิดในรูปเช่นนั้น
แต่ควรคิดว่าเราทำเช่นนั้นไม่ได้ เราควรหันเข้าประนีประนอมกับธรรมะ
อันเป็นหลักสำหรับชีวิตดีกว่า แล้วก็หันเข้าหาธรรม
เอาธรรมมาเป็นหลักปฏิบัติ พอเราเริ่มหันหน้าเข้าหาธรรมะ
เราก็ได้รับแสงสว่าง ได้เกิดความรู้สึกผิดชอบชั่วดี มีอะไรๆ
เกิดขึ้นในใจหลายสิ่งหลายประการ ความยับยั้งชั่งใจ ความอดทน
การบังคับตัวเอง ความเป็นคนมีน้ำใจหนักแน่น ความเสียสละ ความละอายในการ
ที่จะกระทำในสิ่งไม่ดีไม่งามย่อมเกิดขึ้นในใจของบุคคลผู้นั้นๆ
เมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในใจแล้ว
มันก็เป็นเช่นบังเหียนที่เราใช้บังคับม้า ทำให้ม้าวิ่งตรงทาง
มนุษย์เราก็เป็นเช่นเดียวกัน พอมีธรรมะเป็นบังเหียนเราก็วิ่งตรงทาง
เดินตรงทาง ทำอะไรก็ตรงทาง ชีวิตก็เรียบร้อย ต่างคนต่างเดินตามเส้นของตน
ไม่ข้ามเส้น ไม่ขวางทางกัน อันนี้จะสะดวกสบายหรือไม่
ญาติโยมทั้งหลายพิจารณาแล้วก็จะมองเห็นด้วยตนเองว่า
เป็นความสะดวกสบายในรูปดังกล่าว ก็ควรจะได้หันเข้าหาหลักศีลธรรมนั้นๆ
เช่นเราถือเป็นนิสัย ถือ ธรรม คู่กับ ศีล ไว้เป็นนิสัยประจำใจ
สมาชิกในครอบครัวของเรา ก็ควรปฏิบัติตนเช่นนั้นทุกถ้วนหน้า
การอยู่ร่วมกันก็จะสงบเรียบร้อย
ให้สังเกตดูครอบครัวบองอริยบุคคลในสมัยก่อน ดังปรากฏอยู่ในตำนานต่างๆ เช่น
ครอบครัวของที่านอนาถบิณฑิกเศษฐี ซึ่งเป็นเศรษฐีตัวอย่างในครั้งพุทธกาล
การที่ท่านผู้นี้ได้ชื่อว่า "อนาถะบิณฑิกะ" ถ้าจะแปลเป็นภาษาไทยง่ายๆ ก็ว่า
"หม้อข้าวของคนยากจน" นั้นเป็นชื่อที่เขาตั้งให้
เดิมท่านไม่ได้ชื่ออย่างนั้น แต่ชื่อว่า "สุทัตตะ"
อันเป็นชื่อที่พ่อแม่ตั้งให้
แต่ว่าต่อมาเมื่อได้มาเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าได้ถือศีลถือธรรมเคร่งครัด
ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ทรัพย์สมบัติที่ท่านมีอยู่นั้น
เกิดเป็นประโยชน์แก่สังคม ด้วยการสงเคราะห์ช่วยเหลือมนุษย์ที่ลำบากยากจน
ใครต้องการเสื้อผ้า ต้องการอาหาร ต้องการยานพาหนะ ต้องการวัวควาย
ไปพึ่งพาอาศัย ก็ได้ ไม่เคยปฏิเสธต่อบุคคลที่มาขอ
ชาวบ้านในถิ่นนั้นจึงได้ใส่ชื่อให้ใหม่
ถ้าพูดสมัยใหม่ก็ว่าเป็น นิคเนม ของท่านผู้นั้นว่า "อนาถะบิณฑิกะ"
แปลเป็นไทยว่าหม้อข้าวคนยากจน
ใครที่ลำบากยากจนเดินเข้าไปสู่บ้านนั้นต้องอิ่มท้อง
ถ้าไม่มีเสื้อผ้าก็ต้องได้มา ต้องการสิ่งใดก็ได้ ในครอบครัวนี้
ถ้าเราศึกษาดูตามตำนานแล้ว จะพบว่ามีการประพฤติธรรมเคร่งครัด
พ่อบ้านคือท่านเศรษฐีก็ประพฤติธรรม แม่บ้านของท่านก็ประพฤติธรรม
ท่านมีลูกสาว 3 คน ก็เป็นคนเคร่งครัด ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
เป็นผู้ช่วยเหลือบิดาในการปฏิบัติงาน ให้ทานรักษาศีล สนใจในการฟังธรรม
ประตูเปิดกว้างสำหรับพระภิกษุที่เข้ามารับอาหารบิณบาต
พระทั้งหลายจึงคุ้นเคยกับท่านผู้นี้เป็นอย่างดี มีการประพฤติชอบ
ถ้าถึงวันอุโบสถศีล ทั้งบ้านต้องถืออุโบสถ
ไม่มีการหุงหาอาหารรับประทานมื้อเย็น กินอาหารเพียงเช้าชั่วเพล
พ้นจากนั้นแล้วโรงครัวปิดเงียบไม่มีการรับประทานอาหารกันเลยทั้งบ้าน
อันนี้เป็นการปฏิบัติดีอยู่
แล้วก็ท่านมีลูกชายอยู่คนหนึ่ง เป็นลูกชายคนเดียวของครอบครัว
ก็เหมือนกับลูกชายของครอบครัวทั่วไปนั่นแหละ เกเรหน่อย
เพราะว่าพ่อเป็นเศรษฐีมั่งมีทรัพย์ ไม่ชอบวัดฟังธรรม
เวลาพระมาก็แอบไปที่อื่นเสีย ไม่อยู่ต้อนรับ ไม่อยู่เลี้ยงพระอะไรทั้งนั้น
ท่านเศรษฐีมองดูลูกชายแล้วก็เห็นว่า มันผ่าเหล่าผ่ากออยู่หน่อย
มันผิดประหลาดอยู่เจ้าลูกชายคนนี้ จะทำอย่างไรดีให้ลูกชายไปวัดเสียบ้าง
ได้ฟังธรรมเสียบ้าง
ท่านคิดว่าเด็กๆ มันชอบเงินชอบทอง เลยเรียกลูกมาบอกว่า ลูก
ขอให้ลูกไปที่วัด ถ้าไปวัดแล้วไปพักอยู่ที่วัด 1-2 ชั่วโมง
กลับมาพ่อจะให้เงิน เจ้าหนุ่มนั่นก็อยากได้เงิน เอาไปเที่ยวไปเตร่
ก็เลยไปที่วัด แต่ว่าไปนอนหรอก ไม่ได้ไปทำอะไร ไปนอนเสียชั่วโมงสบาย
เสร็จแล้วกลับมา พ่อให้รางวัล ทำอย่างนั้นหลายครั้งหลายหน
ทีนี้พ่อเขยิบเลื่อนชั้นลูกชายขึ้นอีกหน่อย บอกว่าไปนอนน่ะมันไม่ได้อะไร
ต่อไปนี้ขอให้ไปฟังธรรมด้วย
ถ้าพระแสดงธรรมแล้วก็ให้ไปนั่งฟังกับเขาด้วยก็แล้วกัน เขาก็ไปนั่งฟัง
แต่ว่าใจไม่ได้อยู่เสียงพระ ฟุ้งซ่านไปในเรื่องอะไรก็ไม่รู้
เวลากลับมาพ่อลองสัมภาษณ์ดูว่าไปฟังเทศน์ได้อะไรบ้าง ไม่ได้เรื่อง
เพราะว่าไม่ได้ตั้งจะฟัง พ่อก็ให้รางวัลในฐานะที่ได้ไปฟังแล้ว
ต่อมาก็เลื่อนชั้นขึ้นไปอีก คือบอกว่า ทีนี้น่ะ ไปฟังแล้วจำเรื่องให้ได้
นำมาเล่าให้พ่อฟัง แล้วพ่อจะให้รางวัลขึ้นไปกว่านี้อีก
เจ้าลูกชายก็ชักกระหยิ่มอิ่มใจ เพราะได้รางวัลมากขึ้นมาเป็นลำดับ
วันนั้นก็เลยไปตั้งใจฟัง เมื่อตั้งใจฟังเข้า
พระผู้มีพระภาคเจ้าก็เทศน์ให้ฟัง ฟังแล้วเกิดจับจิตจับใจ
ได้ความรู้ได้ความเข้าใจ บรรลุธรรมเป็น โสดาบันบุคคลเหมือนกัน
พอได้โสดาบันบุคคลแล้ว วันนั้นไม่กลับบ้าน นอนวัดเสียเลย นอนทั้งคืน
รุ่งขึ้นเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้าจะไปบิณทบาตในบ้านของท่านเศรษฐี
เจ้าลูกชายเศรษฐีนั้นตื่นเช้าเหมือนกัน จัดแจงแต่งตัวเรียบร้อย
รับอาสาอุ้มบาตรตามหลังพระพุทธเจ้าเลย ไปบ้านพ่อ
เวลาเดินไปเขานึกอยู่ในใจว่า "อย่าให้พ่อเอ่ยเรื่องเงินเรื่องทองรางวัลเลย"
นึกในใจอย่างนั้น บอกว่าอย่าให้เอ่ยถึงเรื่องนั้น ถ้าไม่เอ่ยแล้วก็จะดี
รู้สึกว่าน่าละอายที่ได้รับการจ้างให้มาฟังธรรมนี่น่ะ ละอายใจ
กลัวพระพุทธเจ้าจะทรงทราบ แต่ความจริงพระองค์ทราบมานานแล้ว
ไม่ต้องบอกก็รู้ได้
แต่ท่านเศรษฐีก็เข้าใจจิตวิทยาเหมือนกัน พอเห็นลูกชายอุ้มบาตรตามหลังมา
ไม่พูดอะไรสักคำเดียวในเรื่องเงินรางวัลอะไรต่ออะไร ดีอกดีใจ
ยิ้มด้วยนิดหน่อย เสร็จแล้วลูกชายเข้าไปเอาบาตรถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า
แล้วนั่งปฏบัติวัตรฐาก เอาน้ำถวาย จัดของถวาย จนพระพุทธเจ้าฉันเสร็จ
พระฉันเสร็จอนุโมทนา เขาก็นั่งฟังอยู่ด้วยความเรียบร้อย
พระองค์เสด็จลุกขึ้น เขาก็อุ้มบาตรไปส่งถึงประตูบ้าน
แล้วพระผู้มีพระภาคเสด็จกลับสำนักที่อยู่ เขากลับเข้าบ้าน พ่อก็บอกว่า อือ
วันนี้พ่อสบายใจเหลือเกิน ตั้งแต่ลูกเกิดมา พ่อไม่เคยสบายใจเท่าวันนี้
วันนี้เป็นวันที่พ่อมีความสุข เพราะลูกของพ่อได้เข้าถึงพระเดินตามพระ
มีพระประจำจิตใจ อันเป็นความสุขที่พ่อบอกไม่ถูก
อันนี้เศรษฐีพูดออกมาอย่างนี้
เรื่องนี้ก็นับว่าเป็นตัวอย่าง แก่ทั้งผู้เป็นบุตรและบิดามารดา
คือบิดามารดานั้นตามปกติรักลูกเหลือล้น รักจนกระทั่งว่าไม่รู้รักอย่างไร
แต่ว่าบางทีรักให้ลูกเสียไปเหมือนกัน ที่ว่าเรารักให้ลูกเสียนั้น
รักอย่างไร รักเกินไป จนไม่ว่ากล่าวแนะนำพร่ำเตือน
ให้เกิดความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ลูกจะทำอะไร จะไปไหน ก็ปล่อยตามเรื่องตามราว
ไม่มีการชี้แจงเหตุผลให้ลูกเข้าใจในเรื่องนั้นๆ
อันนี้เรียกว่ารักเกินไปจนกระทั่งว่า ลูกเสียผู้เสียคนไปก็มีแบบหนึ่ง
อีกแบบหนึ่งนั้นน่ะ รักเหมือนกัน แต่ว่าดุด้วย ดุจนเสียคนได้เหมือนกัน
เรียกว่าดุเกินไป เอาแต่ดุท่าเดียว ตวาดแหว ดุด่า กลับมาก็ดุ
ว่ากล่าวอย่างนั้นอย่างนี้ด้วยถ้อยคำรุนแรง ลูกไม่อยากกลับบ้าน
เพราะว่ากลับมาทีไร ก็เจอยักษ์ 2 ตนนั่งอยู่ในบ้าน
แล้วยักษ์นั้นก็คือพ่อกับแม่นั่นเอง เอาแต่แผดเสียงตวาดอยู่ตลอดเวลา
ลูกรำคาญ มาบ้านไม่ได้ ทีนี้เมื่อมาบ้านไม่ได้ ก็ไปที่อื่น
ไปหาคนอื่นซึ่งมีความสุขกว่า พ่อแม่ก็เสียอกเสียใจ ลูกไม่รักเรา ไม่มาหาเรา
แต่ว่าไม่รู้ว่าใครผิดในเรื่องนี้ อันนี้ก็เรียกว่ารักไม่ถูกเหมือนกัน
ทำให้ลูกเสียหายไป
ความรักที่ถูกทางนั้นต้องเปลี่ยนวิถีใหม่
คือว่าต้องรักให้ถูกตามคำโบราณนั่น ที่เขาพูดว่า "รักวัวให้ผูก
รักลูกให้ตี" คำว่าตี ไม่ได้หมายความว่าไม้เรียวมาไว้สักโหล
กลับมาแล้วเฆี่ยนเอาๆ ตีอย่างนั้นก็ไม่ได้ ลูกเจ็บเนื้อเปล่าๆ
แนะนำพร่ำเตือน เอาวาจาอ่อนหวาน สอน เตือนแนะนำวันละเล็กละน้อย
ค่อยแก้ไปอย่าไปแก้วันเดียว แก้ที่เดียว หรือ 3 เดือนแก้ทีหนึ่ง
อย่างนี้มันก็ไม่ได้ เรื่องอบเรื่องรมเรื่องดัดนี้ ต้องทำทุกวัน ทำบ่อยๆ
ก็เหมือนว่าเราดัดไม้ ถ้าเราดัดทีเดียวไม้ก็หักเท่านั้นเอง ต้องค่อยๆ ดัด
ค่อยๆ ลนไฟ ไฟร้อนจัดก็ไม่ได้ ร้อนน้อยก็ไม่ได้ ต้องรู้ว่าร้อนขนาดไหน
แล้วก็ค่อยโน้มเข้ามาทีละน้อยๆ แล้วก็มัดไว้ เมื่อเด็กๆ
เคยเห็นเขาดัดไม้ไผ่ทำขอบกระด้ง ต้องใช้เวลาค่อยๆ ดัด แต่บางคนใจร้อน
ทำอะไรรวดเร็ว ดัดเข้าไป หักหมดเลย ทำขอบกระด้งไม่ได้มันเป็นอย่างนี้
| หน้าถัดไป >>
» ไม่มีอะไรได้ดังใจเหมือนม้ากาบกล้วย
» วันนี้เจ้าอยู่กับฉันพรุ่งนี้มันไม่แน่
» หลักใจ
» เกิดดับ
» มรดกธรรม