ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
เกียรติคุณของพระธรรม
วันอาทิตย์ที่ 17 กรกฎาคม 2520
ญาติโยม พุทธบริษัททั้งหลาย
ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟัง ตามสมควรแก่เวลา
การศึกษาเรื่องธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนา ที่เรายอมรับว่า เป็นเพราะว่าการเดินทางก็จะขลุกขลัก บางทีอาจจะหลงไป เสียเวลาเสียมากมายก่ายกอง ไม่อาจจะไปถึงจุดหมายปลายทางนั้นได้ แต่ถ้าหากว่าเรารู้ทางดี การเดินทางก็ไม่ขัดข้อง เป็นไปด้วยความสะดวกสบาย ทุกประการ จึงเป็นความจำเป็นที่เราจะต้องศึกษา เพื่อให้รู้ว่าทางที่เราจะเดิน ด้วยการปฏิบัติทางกาย ทางวาจา ทางใจ นั้นเป็นอะไรบ้าง มีสภาพอย่างไร ควรจะเดินด้วยวิธีใด จุดหมายที่เราไปถึงนั้นมี สภาพอย่างไร เป็นเรื่องที่ควรจะได้ทำความเข้าใจกันก่อน เพราะฉะนั้นในหลักทางพระพุทธศาสนา จึง ได้วางหลักไว้สามตอน คือ ปริยัติ หมายถึงการศึกษาเล่าเรียน ทำความเข้าใจในข้อธรรมะนั้นๆ เป็น กิจสำคัญประการแรก ประการที่สองก็เรียกว่า ปฏิบัติธรรม ได้แก่การลงมือปฏิบัติ ขัดเกลาจิตใจของเรา ให้สะอาดปราศจากสิ่งเศร้าหมองใจ ด้วยการปฏิบัติในขั้นศีลบ้าง สมาธิบ้าง ปัญญาบ้าง เป็นการกระทำเป็น เป็นขั้นที่สอง
เมื่อได้ศึกษาเมื่อได้ปฏิบัติแล้ว ผลที่เกิดขึ้นแก่ตัวเราก็คือ ปฏิเวธ หมายความว่า เห็นแจ้งเห็นจริง ในสิ่งทั้งหลายตามสภาพที่เป็นจริง เมื่อได้รู้จักสิ่งทั้งหลายตามสภาพที่เป็นจริงแล้ว ความหลงใหลความเข้า ใจผิดความยึดมั่นถือมันในเรื่องอะไรต่างๆ นั้นค่อย คลายไป หายไปจากจิตใจของเรา จิตใจของเรา ก็มีแต่ความสว่างไสวด้วยปัญญา การที่มีจิตใจสว่างไสวด้วยปัญญา นั่นแหละคือการถึงจุดหมายที่เราต้องการ เพราะว่าจุดหมายปลายทางในทางพระพุทธศาสนานั้น คือปัญญา เพราะว่าปัญญานี้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ทำให้ เรารู้จักสิ่งต่างๆ ตามสภาพที่เป็นจริง และเราจะพ้นไปจากความทุกข์ความเดือดร้อนในชีวิตประจำวัน เรื่องการหลุดพ้นไปจากความทุกข์ ความเดือดร้อนเป็นเรื่องสำคัญ ที่เราควรจะทำให้เกิดขึ้นในชีวิตของเรา เพราในการดำรงชีวิตในวันหนึ่งๆ เราไม่ควรจะอยู่ด้วยความร้อนด้วยปัญหาต่างๆ แต่ว่าควรจะอยู่ ด้วยจิตใจที่เบาโปร่งแจ่มใส มองเห็นอะไรถูกต้องตามสภาพที่มันเป็นจริงอยู่ตลอดเวลา อันนี้เป็นเรื่องสำ คัญที่เราทั้งหลายควรจะทำให้เกิดขึ้นในวิถีชีวิตของเรา เพราะฉะนั้นจึงต้องมาศึกษาธรรมะ เพื่อนำไป ปฏิบัติ เพื่อเกิดผลเป็นความสุขความสงบต่อไป เวลาใดที่เราว่างจากการงาน อันเป็นกิจในชีวิตประจำวัน ของเรา เราก็ควรจะหันมาสนใจในเรื่องอย่างนี้ เพื่อจะได้เอาไว้ใช้แก้ปัญหาในชีวิตต่อไป
พูดถึงเรื่องปัญหาในชีวิตแล้ว เรามีด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเด็กเป็นหนุ่มสาวผู้เฒ่าผู้แก่ ย่อมมีปัญ หาเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ถ้าหากว่าเราไม่รู้ไม่เข้าใจในเรื่องของปัญหานั้นๆ การแก้ไขก็ย่อมจะเป็น การลำบาก ถ้าแก้ไม่ได้มันยุ่งอยู่ตลอดเวลา คล้ายกับกลุ่มด้ายที่ยุ่ง ถ้าเราไม่รู้เงื่อนปมของมัน เราจะสางความยุ่งของด้ายนั้นได้อย่างไร แต่ถ้าเราเข้าใจว่าอะไรเป็นปมเป็นเงื่อน มันตั้งต้นที่ตรงไหน แล้วควรจะดึงมันออกมาอย่างไร เราก็ค่อยๆ ดึงออกมา ความยุ่งของปมด้ายนั้นก็ค่อยหายไป ฉันใด ในชีวิตของเรานี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราปล่อยให้เกิดปัญหามากมายก่ายกอง เราก็ไม่มีโอกาสจะแก้มัน แล้วเรา ก็จะนั่งอยู่ด้วยความกลุ้มใจ นั่งอยู่ด้วยอารมณ์ทุกข์ตลอดเวลา การเป็นอยู่ในรูปเช่นนั้น เป็นสิ่งที่เรา ปรารถนาหรือไม่ ถ้าถามขึ้นในรูปอย่างนี้ ญาติโยมก็จะตอบขึ้นเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่ต้องการ เมื่อเรา ไม่ตอ้งการในเรื่องอย่างนั้น เราก็ต้องพยายามที่จะสางปัญหาชีวิต ด้วยเอาธรรมะมาเป็นเครื่องช่วย ธรรมะที่เราได้ศึกษานี่แหละเป็นเครื่องมือสำคัญ ที่จะช่วยให้เราแก้ปัญหาทุกอย่างในชีวิตของเรา เพราะหลักธรรมะคำสอนในทางพระพุทธศาสนานั้น มีคำตอบที่สมบูรณ์ ซึ่งเราจำนำมาใช้แก้ปัญหาทุกอย่าง ในชีวิตของเราได้ทุกประการ ญาติโยมที่มาวัดบ่อยๆ ก็ย่อมจะรู้จะเข้าใจในเรื่องอย่างนี้ เพราะได้เห็นผลประจักษ์ด้วยใจตนเอง จึงได้เกิดความสนใจมากยิ่งขึ้น ศึกษาเพิ่มเติมปฏิบัติเรื่อยไป และผลก็เกิดขึ้น อยู่แก่เราตลอดเวลา อันนี้เป็นเรื่องสำคัญจำเป็นประการหนึ่ง
ทีนี้ในการศึกษาเรื่องของพระพุทธศาสนานั้น เราก็ศึกษาเรื่องสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะนั่นเอง ธรรมะ นี่เป็นหลักคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นสิ่งนับเนื่องในสิ่งสำคัญที่เรายึดถือเป็นหลักทางใจ สิ่งสำ คัญที่เรายึดถือเป็นหลักทางใจนั้นมีอยู่สามประการ ซึ่งเราเรียกว่า สรณะ สรณะนี่แปลว่า ที่พึ่งทางใจ ได้แก่พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ หรือพูดสั้นๆ ว่า พุทธะ ธรรมะ สังฆะ สิ่งสามประการนี้เป็นหลักใจ เป็นสรณะ เป็นที่พึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าท่านเตือนใครๆ บ่อยๆ ว่าอย่าอยู่อย่างคนไม่มีที่พึ่ง แต่ให้อยู่ อย่างมีที่พึ่ง แล้วก็ตรัสต่อไปว่าที่พึ่งนั้นก็คือธรรมะนั่นเอง ให้เอาธรรมะมาเป็นที่พึ่งทางใจ ถ้าเรามีธรรมะ เป็นที่พึ่งทางใจแล้ว จิตใจก็จะไม่ว้าเหว่ ไม่วุ่นวาย ไม่เร่าร้อน ไม่มืดบอด เพราะเรามีหลักให้ใจสำหรับ เข้าไปเกาะจับ เพื่อจะได้อุ่นอกอุ่นใจ เรียกว่า เป็นสรณะ เรื่องสรณะทางใจนี่เป็นเรื่องสำคัญ อยู่เหมือน กัน เพราะว่าคนเรานั้นโดยปรกติ มีสิ่งหนึ่งประจำอยู่ประจำอยู่ในใจ สิ่งนั้นคือความขลาดกลัวในเรื่องอะไรต่างๆ มีอยู่ด้วยกันทุกคน ไม่กลัวอย่างนั้นก็กลัวอย่างโน้นอย่างนี้ กลัวอะไรร้อยแปด บางทีเราก็กลัวสิ่ง ที่ไม่น่าจะกลัว เช่นว่ากลัวผี ซึ่งความจริงก็ไม่เคยเห็นเลย ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยเห็นสักหน่อย ว่าผีมี รูปร่างหน้าตามันเป็นอย่างไร แต่ก็ไม่วายหวาดกลัว เรามักจะสร้างภาพที่น่ากลัวขึ้นไว้ในใจของเรา แล้วเราก็มีความกลัวสิ่งนั้นอยู่ตลอดเวลา
อันความกลัว ที่เกิดขึ้นในใจของเราในรูปอย่างนี้นั่นแหละ มันทำให้เรามีปัญหาขึ้นตลอดเวลา มี ความทุกข์ความเดือดร้อนใจ ไม่เป็นอันสงบได้เลย แล้วก็ยังกลัวสิ่งอื่นๆ อีกมากมายก่ายกอง ไม่รู้ว่าอะไร ต่ออะไร กลัวไปเสียทั้งนั้น ชั้นที่สุดก็กลัวตุ๊กแก กลัวกิ้งกือ กลัวสิ่งนั้น กลัวสิ่งนี้ มีมากมายก่ายกอง เมื่อใจ ของเรามีความหวาดกลัวอยู่อย่างนี้ เราก็ต้องมีอะไรเป็นเครื่องประเล้าประโลมใจ เพื่อให้คลาย จากความกลัว สิ่งที่จะเป็นเครื่องประทับใจ ให้คลายจากความกลัวสิ่งที่สุดก็คือ สิ่งสำคัญในทางพระศาสนา เพราะเรายอมรับว่าสิ่งที่ศาสนาว่า เป็นสิ่งสูงสุดในชีวิตของเรา เมื่อเรายอมรับในสิ่งนี้ และสิ่งที่เกี่ยว เนื่องกับสิ่งที่เรายอมรับ นั้นก็เป็นสิ่งที่สำคัญไป เช่นเรายอมรับพระพุทธศาสนา ว่าเป็นสิ่งสำคัญสำหรับชีวิต เราก็ถือว่าพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ นี่เป็นหลักใจ ที่เราควรจะมี และเราจะได้อุ่นอกอุ่นใจ เพราะฉะนั้นเวลาใดที่มีความทุกข์ความเดือดร้อนใจ เราจึงนึกถึงพระพุทธเจ้า เช่นเราพูดออกไปว่า พุท โธ พุทโธ เอ่ยพระนามของพระพุทธเจ้า บางคนก็เอ่ยทั้งสามชื่อ พุทโธ ธัมโม สังโฆ ว่าติดกันไปเลย ถ้า เปล่งวาจาออกไปในรูปเช่นนั้นแล้ว ก็รู้สึกว่าผ่อนคลายอารมณ์ ผ่อนคลายความทุกข์ความเดือดร้อนอันเกิดขึ้น ในใจไปได้ชั่วขณะหนึ่ง แต่ถ้าเราคิดให้มันติดต่อกันไปเป็นสายตลอดเวลา ความหวาดกลัวนั้นก็จะผ่านเบา ไป ไม่เกิดขึ้นในใจต่อไป เพราะฉะนั้นเวลาพระสงฆ์ในครั้งโบราณไปอยู่ในป่า บางทีก็มีความหวาดกลัว เรื่องนั้นเรื่องนี้ มาเฝ้าพระพุทธเจ้า พระองค์ก็บอกว่า ให้สวดมนต์ภาวนา ให้นึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า ให้นึกถึงคุณพระธรรม ให้นึกถึงคุณของพระอริยสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า ขณะที่สวดมนต์ภาวนานึกถึงสิ่งนั้น จิตใจก็ผ่อนคลายจากความกลัวไปได้ นี่มันเป็นเรื่องสำคัญอย่างนี้
เพราะฉะนั้น จึงถือว่า สิ่งเหล่านี้เป็นสาระเป็นหลักประจำใจ เป็นที่พึ่งของใจ ทำให้ใจของเรา เป็นหลักประจำใจ เป็นที่พึ่งของใจ ทำให้ใจของเราเกิดความอบอุ่น คลายจากความเดือดร้อนพุทธบริษัท เรามักจะมีวัตถุให้เกิดความอบอุ่นทางใจ เช่นเรามีพระพุทธรูปองค์น้อยๆ ห้อยติดตัวไปไหนมาไหนตลอดเวลา นั่นก็เป็นเครื่องอุ่นใจ เกิดความขลาดความกลัวก็จะได้นึกถึง เพื่อจะได้ผ่อนคลายความทุกข์ทางใจ สิ่งนี้จึงเป็นเครื่องปลอบโยนของเราทั้งนั้น แต่ว่าในการที่เรานำสิ่งเหล่านี่มาเป็นเครื่องปลอบโยนใจนั้น ถ้าเรารู้แต่เพียงนิดหน่อย การเอามาปลอบโยนมันก็ได้นิดหน่อย คือได้แต่เพียงเปลือกผิวภายนอก ยังไม่ซึ้งเข้าไป ถึงความรู้สึกนึกคิดอย่างแท้จริง ไม่สามารถถ้อนรากถอนโคนของความทุกข์ความเดือดร้อน ที่เกิด ขึ้นในใจให้หายหมดไปได้ มันหายเพียงชั่วครั้งชั่วคราว คือขณะที่เราคิดเรานึก แต่ว่าพ้นไปจากนั้นแล้ว มัน ก็ย้อนกลับมาหลอกเราอีกต่อไป ที่ได้เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า สิ่งนั้นยังอยู่ในห้วงนึกของเรา เราไม่ได้ ถอนมันออกอย่างชนิดที่เรียกว่า ถอนรากถอนโคน เมื่อถอนไม่หมดเราก็มีความวิตกกังวลเกิดขึ้นในบางครั้ง บางคราว การที่จะถอนสิ่งนี้ให้หมดไปนั้น ก็ต้องอาศัย ปัญญา เข้าใจในเรื่องนั้นชัดเจนแจ่มแจ้ง ว่ามันคือ อะไรอย่างชนิดที่เรียกว่าเห็นชัด ถ้าเห็นว่าสิ่งนั้นมันคืออะไรอย่างชัดเจนแล้ว เราก็สามารถจะถอนความกลัวทั้งหมดออกไปได้
เพราะฉะนั้นจึงควรจะได้ทำความเข้าใจในเรื่องสิ่งอันเป็นสรณะทางใจนี้ ให้ถี่ถ้วนสักหน่อย โดยเฉพราะอย่างยิ่งสิ่งที่เรียกว่าพระธรรม ในทางพระพุทธศาสนา เวลาเราสวดมนต์ตอนเข้าเมื่อตะกี้นึ้ เราก็สวดว่า โย โส สวากขาโต ภควตา ธัมโม พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส ไว้ดีแล้ว สันทิฏฐิโก อันผู้ศึกษาปฏิบัติจะพึงเห็นได้ด้วยตนเอง อกาลิโก เป็นสิ่งที่ให้ผลได้ไม่จำกัดเวลา โอปนยิโก เป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว เอหิปัสสิโก เป็นสิ่งที่ควรจะเรียกกันมาดูมาชมเพื่อให้เห็นชัดใน สิ่งนั้นๆ ว่ามันคืออะไร ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหีติ อันวิญญูชนมีปัญญา จะพึงเห็นชัดในสิ่งนั้นตามสภาพที่เป็น จริงด้วยตนของ ตนเองอันนี้คือคุณลักษณะของธรรมะ ที่พระผู้มีนำมาตรัสแก่พวกเราทั้งหลาย
ในเบื้องต้น ขอทำความเข้าใจในเรื่องศัพท์สักเล็กน้อยก่อน คือศัพท์ว่า ธรรมะ นี่เองศัพท์ว่า ธรรมะ นี่เป็นศัพท์เก่าแก่ของพวกอริยกะเขา อริยกะซึ่งเป็นชนเผ่าหนึ่งในประเทศอินเดีย คนพวกนี้เป็นคนมีความคิดก้าวหน้า มีความเจริญในทางความคิดความอ่าน ในอะไรอีกหลายเรื่องหลายประการ แต่ประเทศอินเดียนั้น เดิมมันก็มีชนอยู่พวกหนึ่งแล้ว แต่เป็นคนที่ไม่ค่อยจะเจริญไม่มีความก้าวหน้าในเรื่องใดๆ เขาเรียกว่าเป็นเผ่า พวกมิลักขะ แต่พวกอารยันนี้อยู่ทางตอนเหนือขึ้นไป อพยพลงมาตอนกลางของประ เทศอินเดีย ขับไล่พวกที่อยู่ก่อนให้ถอยร่นลงไปอยู่ชายทะเล แล้วพวกนั้นก็เข้ายึดครองแผ่นดินตั้งถิ่นตั้งฐาน ภาษาที่เขาใช้นั้นเป็นภาษาอารยัน ภาษานี้มีใช้คำอยู่คำหนึ่งคือคำว่า ธรรมะ ธรรมะนี่มันกินความกว้างมาก หมายถึงอะไรๆ ทุกสิ่งทุกประการสิ่งที่เป็นรูปร่าง ซึ่งเราสามารถจะดูด้วยตา ดมได้ด้วยจมูก สัมผัสได้ ด้วยประสาทหู ชิมได้ด้วยลิ้น ก็เรียกว่า เป็นเรื่องฝ่ายรูป ก็เรียกว่า เป็นเรื่องของธรรมะ แม้สิ่งที่เป็น ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจของเรา ก็เรียกว่าเป็นธรรมะเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราจึงมีคำสองคำเป็นพื้น ฐานว่า รูปธรรม นามธรรม รูปธรรมนั้นหมายถึงสิ่งที่เป็นวัตถุ สิ่งที่เป็นวัตถุนั้นเราสามารถจะสัมผัสได้ ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย เรียกว่า ประสาททั้งห้า ส่วนที่เป็นนามธรรมนั้น สัมผัสได้ด้วยประสาทที่หก ประสาทที่หกก็คือ จิตของเรานั่นเอง จิตสามารถจะสัมผัสกับสิ่งที่เป็นนามธรรม ที่เป็นความรู้สึก เช่นความทุกข์ ความสุข ความดีความชั่ว ความร้อนความเย็น ความกลัว ความกล้าอะไรๆ ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในจิตใจ ของเรา สิ่งนั้นเรียกว่า นามธรรม นี่ก็เป็นธรรมะอย่างหนึ่งเหมือนกัน ความดีความชั่ว ความเสื่อมความ เจริญ ก็เรียกว่าอยู่ในจำพวกธรรมะ อะไรๆ ที่เรามีอยู่ในพื้นโลกนี่ เรียกว่าใช้ศัพท์ธรรมะได้ทั้งนั้น มันกิoความได้กว้างขวางมากเป็นความหมายสี่ประการคือ
หมายถึง สิ่งที่เป็นธรรมชาติประการหนึ่ง ธรรมชาติที่มันมีปรากฏอยู่ทั่วๆ ไป เป็นอย่างนั้นเป็น อย่างนี้ ที่เราพูดกันว่า ธรรมชาติมันเป็นอย่างนี้ เช่นว่าปีนี้ฝนแล้ง แต่ปีก่อนโน้นฝนตกมาก เราก็พูดว่านั่น มันเป็นเรื่องธรรมชาติ ที่มักจะเป็นไปในรูปออย่างนั้น ไม่มีใครจะไปกำหนดกฏเกณฑ์ลงไปได้ ว่าให้เป็นอย่างนั้น ให้เป็นอย่างนี้ สิ่งที่เป็นธรรมชาติมันเหมือนอำนาจของคน คนเราไม่สามารถจะบังคับธรรมชาติ ได้ แต่ว่าเรามีหน้าที่จะเรียนรู้เรื่องธรรมชาติ เพื่อจะได้ปรับตัวเราให้เหมาะกับธรรมชาติ หรือจะได้ เรียนรู้ว่า ธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น เมื่อสิ่งนั้นมันเกิดขึ้นมันเป็นไป เราก็ไม่ต้องทุกข์มากเกินไป เพราะเราจะคิดได้ว่า เรื่องมันเป็นอย่างธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น อันนี้เรียกว่า มันเป็นธรรมะอย่างหนึ่ง เหมือนกัน ธรรมชาตินี้ในภาษาธรรมะจริงๆ นั้นเขาเรียกว่า สภาวะธรรม สภาวะธรรมก็คือว่าสิ่งที่มัน เป็นอยู่อย่างนั้น มันเกิดขึ้นมันเป็นอยู่มันเปลี่ยนแปลงไป ในรูปอย่างนั้น ไม่รู้ว่ามันกันอย่างไร มันเป็นกัน อย่างไร แต่ว่ามันก็มีเหตุมีผลตามธรรมชาติ ที่จะเป็นไปตามเรื่อง เช่นมีฝนตกแล้วก็มีอะไรต่อะไรต่อไป มันเป็นเรื่องของธรรมชาติ อันนี้ก็เป็นธรรมะประการหนึ่ง
ตัวธรรมชาติ นั้นมันก็มีระเบียบเหมือนกัน ไม่ใช่ไม่มีระเบียบ มีระเบียบแต่ว่าเราไม่รู้ระเบียบ ของธรรมชาติ ไม่รู้ว่ามันปรุงแต่งกันอย่างไร จึงไม่เข้าใจในเรื่องนั้นถูกต้อง จึงมักจะเกิดความทุกข์กัน บ่อยๆ แต่ความจริงนั้นมันมีกฏของเขา เป็นระเบียบอยู่อย่างนั้นอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้บอกให้ใครรู้ว่าจะ เป็นอย่างไร แต่เขาเป็นของเขาเอง ระเบียบของธรรมชาติที่สำคัญที่สุดที่เราควรจะศึกษาควรจะทำ ความเข้าใจไว้ให้ถูกต้อง ก็มีอยู่สามประการ ที่พระผู้มีพระภาคทรงค้นพบ คือ อนิจจตา ความไม่เที่ยง ทุกขตา ความเป็นทุกข์ อนัตตา ความไม่มีเนื้อแท้ในตัวของสิ่งนั้นๆ อันนี้เป็นเรื่องสำคัญมากเป็นกฏ เกณฑ์ของธรรมชาติที่มีอยู่เป็นอยู่ตลอดเวลาเรียกว่าเป็นสัจจะ เป็นความจริง และเป็นความจริงที่จริงอยู่ อย่างนั้นตลอดไป ไม่ว่าที่ใดๆ มันก็เป็นอยู่อย่างนั้น ความไม่เที่ยงมันก็มีอยู่ในที่ทุกแห่ง ความเป็นทุกข์มัน ก็มีอยู่ในที่ทุกแห่ง ความเป็นอนัตตาก็มีอยู่ทุกแห่งเหมือนกัน อันนี้เรียกว่า เป็นระเบียบเป็นกฏธรรมชาติ ถ้า เราเรียนรู้กฏของธรรมชาติ จะช่วยให้ผ่อนคลายจากความทุกข์ความเดือดร้อนใจ เช่นสมมติว่าเราเกิด อาการไม่สบายทางกาย เป็นไข้ได้ป่วย การที่เราเกิดความเจ็บไข้ได้ป่วยนั้น ก็เพราะว่าเราอาจจะ ปฎิบัติไม่ถูกตามกฏธรรมชาติ เช่นเกี่ยวกับดินฟ้าอากาศบางทีมันก็หนาวบางทีมันก็ร้อน บางทีก็เป็นอย่างนั้นเป็น อย่างนี้ เราปรับตัวเองไม่ทันก็เกิดการเจ็บไข้ได้ป่วย หรือบางทีเราก็รับประทานอะไรๆ เข้าไปใน ร่างกาย เราไม่รู้ว่าในสิ่งนั้นมีอะไรเป็นพิษเป็นภัยแก่ร่างกายบ้าง เพราะสิ่งบางอย่างมองเห็นด้วยตาไม่ ได้ บางอย่างเราก็มองเห็นด้วยตาของเราได้
ถ้าเรามองเห็นด้วยตาเราก็ไม่รับประทานเข้าไป เช่น อาหารที่เราจะรับประทาน ถ้าเรามองเห็นว่ามีสิ่งสกปรก เราก็ไม่รับประทาน แต่ถ้าว่าเราไม่เห็นว่าสิ่งนั้น มีสิ่งสกปรก เช่นมีเชื้อโรคอยู่ในอาหาร เรารับประทานเข้าไป มันก็ติดเข้าไปกับอาหาร แล้วไปเกิดเจริญงอกงามขึ้นในร่างกาย เราก็เป็นไข้ได้ป่วย หรือว่าเราไปในที่บางแห่งอากาศไม่บริสุทธิ์ เราก็ไม่รู้ เพราะสิ่งที่ลอยอยู่ในอากาศนั้น ไม่รู้ว่ามีอะไรบ้างเราก็สูดหายใจเข้าไป เชื้อโรคมันติดเข้าไปกับลมหาย ใจ เราก็เกิดเป็นไข้ได้ป่วยขึ้นมา เมื่อใดที่เราเป็นไข้ได้ป่วย ถ้าหากว่าเราเป็นทุกข์เช่นนอนอยู่กับ เตียงคนไข้แล้วนอนเป็นทุกข์ เรียกว่าเป็นไข้ทั้งสองอย่าง ไข้นอกไข้ใน ร่างกายนั้นป่วยแล้วจิตใจเราก็ ป่วยไปด้วย เพราะว่าเราเกิดความทุกข์ทางใจเกิดเนื้อต่ำใจ หรือบางทีก็เอาตัวเรานี่ไปเปรียบเทียบ กับคนอื่นแล้วก็นึกว่าเรานี่ เป็นคนอาภัพอับโชค เป็นโรคอย่างนั้นเป็นโรคอย่างนี้ ไม่สบายอย่างนั้น ไม่ สบายอย่างนี้ ทำให้เกิดเป็นความทุกข์ไปเปล่าๆ ถ้าเราเรียนรู้กฏเกณฑ์ของธรรมชาติ เราก็ควรจะได้ เตือนตัวเองว่า มันเป็นเรื่องธรรมดา เพราะสิ่งทั้งหลายไม่คงที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เราจะ เปลี่ยนไปเป็นคนป่วยก็ได้ แล้วมันอาจจะเปลี่ยนมาเป็นคนหายป่วยก็ได้ มันก็หมุนกันอยู่อย่างนั้น
ก็ในชีวิตของคนเราแต่ละคนนั้น เราเคยป่วยแล้วเราก็หายป่วย มันก็เป็นอยู่อย่างนี้เรื่อยไป ในระยะชีวิตกว่าจะจบฉาก ไม่รู้ว่าป่วยสักกี่ครั้งกี่หน เดี๋ยวเป็นอย่างนั้นเดี๋ยวเป็นอย่างนี้ ปวดแข้งปวดขา ปีนี้มันปวดตรงนั้น ปีหน้ามันอาจจะไปปวดตรงโน้นก็ได้ บางทีดูแล้วก็น่าขำในเรื่องของตัวเอง เช่นว่ามันปวดอยู่ ที่ข้อเท้าข้างซ้าย พอข้างซ้ายหายมันก็มาปวดข้างขวา เราก็นึกขำตัวเองว่ามันแสดงบทบาทเหลือเกิน แล้วด้าน ขวาหายมันก็กลับไปด้านซ้ายอีก มันแสดงไปในรูปต่างๆ มันก็คล้ายๆ กับละครเหมือนกัน ละครแห่งความเจ็บไข้ได้ป่วย เอาร่างกายของเราเป็นฉาก แล้วก็แสดงไปในเรื่องอย่างนั้นเรื่องอย่างนี้ ถ้าเราเป็นคนดูที่ใช้สติปัญญาบางทีก็นึกขำตัวเอง ว่าเออมันแปลกๆ ร่างกายนี้ เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ อย่างนี้มันก็ไม่กลุ้มใจ แต่มันเห็นเป็นของน่าขำไป น่าหัวเราะไป เราก็นอนป่วยไปตามเรื่อง หมอเขาให้กินยาก็ กินไปตามหน้าที่ ตามคำสั่งของหมอรักษาร่างกาย หมอรักษาร่างกายของเราได้ แต่หมอรักษาใจเราไม่ ได้ เราต้องรักษาใจของเราเอง การรักษาใจนั้นไม่ใช่กินยาที่หมอสั่ง แต่เราต้องกินยาที่พระพุทธเจ้าท่านสั่งไว้ ก็เอายาคือธรรมะนี่แหละมากินเข้าไป เป็นเครื่องปลอบโยนจิตใจ เพราะเรารู้กฏความจริง ของธรรมชาติ ว่ามันเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้
ในเรื่องภายนอกนี้ก็เหมือนกัน เช่นเกี่ยวกับทรัพย์สินเงินทอง เราได้มาแล้วบางทีมันก็หายไป บางทีมันมีก็มีกำไร แต่บางทีก็เกิดการขาดทุนยุบยับ ถ้าเราเป็นคนไม่ศึกษากฏเกณฑ์ของธรรมชาติ เราก็มีปัญหา มีความทุกข์มีความเดือดร้อนใจ ว่าทำไมมันมาเกิดกับเราอย่างนี้ ความจริงไม่ได้เกิดแก่เราคนเดียว แต่เกิดขึ้นแก่ใครๆ ก็ไม่รู้ ถ้าเรียกในโลกนี้มาสัมนากันดูว่า ใครต้องผิดหวังใครต้องขาดทุน ใครต้องสูญเสียอะไรในชีวิตมาบ้างมีทุกคนเลยมี เรื่องที่จะมาเล่าให้เราฟังกันทุกคนไปเลยทีเดียว อันนี้มันเป็นเรื่องความจริง ถ้าเรามีเพื่อนฝูงมิตรสหาย เวลาเราพบปะเราลองไปคุยกันดู มีคนหลายคนที่เป็นเพื่อนเรานั้น ต้องเล่าให้ฟังว่า แหมต้องสูญเสียอย่างนั้นอย่างนี้ นึกว่าจะได้เท่านั้นกลับไม่ได้ บางทีก็ขาดทุนยุบยับไปเลย พอเราได้ฟังเรื่องของเพื่อนแล้ว เราก็ว่าของฉันก็มีอวดเหมือนกันในเรื่องนั้น แล้วเราก็มาอวดกัน อวดความทุกข์ความเดือดร้อนที่มันเกิดขึ้น แล้วเราก็จะได้ปลงลงไปว่า ไม่ใช่เป็นแต่เราคนเดียว คนอื่นเขาก็เป็นเหมือนกัน ยิ่งเราไปอยู่ตามโรงพยาบาล เรานอนอยู่บนเตียงข้างๆ เราก็นอนกันเป็นแถวเลยทีเดียว แล้วเราก็นึกว่าไม่ได้เป็นแต่เรา คนอื่นเขาก็เป็นอะไรก็เหมือนกัน เพราะมันเป็นระบบของธรรมชาติ ซึ่งเราหนีไม่ได้ เราจะต้องประสบพบเห็นกับสิ่งเหล่านั้น คิดอย่างนี้แล้วมันก็ช่วยให้ใจสบาย เพราะเราเรียนรู้ในเรื่องธรรมะที่เรียกว่า ธรรมชาติ กฏเกณฑ์ของธรรมชาติ
ประการที่สาม เรื่องธรรมะหมายถึง หน้าที่อันเราจะต้องกระทำจะต้องปฏิบัติ เราทุกคนมีหน้าที่ด้วยกันทั้งนั้น หน้าที่นั้นเขาเรียกว่า กรณียะ กรณียกิจ กรณียกิจแปลว่า กิจที่เราจะต้องกระทำ เราจะต้องทำทิ้งไม่ได้ เรามีหน้าที่ที่จะต้องทำ เช่นหน้าที่ส่วนตัวเรา เราจะต้องรับประทานอาหาร เราจะต้องดื่มน้ำ สูดลมหายใจเข้าออก แล้วเราก็ต้องมีการพักผ่อนหลับนอน มีการถ่ายเทของเก่าออกไป เช่น ไปถ่ายปัสสาวะบ้าง อุจจาระบ้าง อย่างนี้มันก็ทำตามหน้าที่ เรื่องหน้าที่ในร่างกาย ถ้าเราปฏิบัติถูกต้องตรงไปตรงมา ไม่ขัดขืนมันก็มักจะปกติเหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่นคนบางคนเป็นโรคกระเพาะ โรคกระเพาะนี้ลองศึกษาดูแล้ว เนื่องจากว่าไม่ทำตามหน้าที่ เวลาท้องหิวมันบอกว่า ฉันหิวแล้วนะเอาอะไรใส่ให้ฉันบ้าง เดี๋ยวก่อน ฉันยังมีงานจะต้องทำไปทำหน้าที่โน้นมากไป แต่ว่าหน้าที่นี่บกพร่อง หน้าที่มันต้องเจือจุนให้สมบูรณ์ เราจะหนักทางใดเบาทางใดมันก็ไม่ได้ ต้องแบ่งเวลา เวลานั้นทำงาน เวลานั้นพักผ่อน เวลานั้นรับประทานอาหาร เวลานั้นออกกำลังกายต้องแบ่งให้มันเป็นระเบียบ ทำเป็นระเบียบแล้วเรื่องมันก็ไม่ขลุกขลัก ร่างกายปฏิบัติได้เรียบร้อย
เช่นเรื่องรับประทานอาหารควรจะรับประทานให้เป็นเวลา ถึงเวลาก็ต้องไปรับประทาน ทีนี้บางทีมันถึงเวลาแล้ว แต่ว่าเรามีธุระจะไปอื่น ทำอะไรอื่น แล้วเราก็ไม่รับประทานอาหาร น้ำย่อยมันมา น้ำย่อยนี่เป็นกรดที่รุนแรงพอใช้ มันย่อยของให้แหลกละเอียดไปได้ ไม่มีอาหารมันก็จะกัดผิวกระเพาะ ทำให้เกิดเป็นแผลอักเสบ ก็ปวดท้องบ่อยๆ เป็นโรคบ่อยๆ ในทางกระเพาะ ก็เพราะว่าไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ในการรับประทานให้เรียบร้อย อันนี้มันก็ต้องรู้หน้าที่ในร่างกาย เรื่องกิน เรื่องถ่าย เรื่องหลับนอน พักผ่อน ต้องทำตามระเบียบ แล้วร่างกายเขามักจะบอกเอง หิวเขาก็บอก อิ่มเขาก็บอก นั่งนานเขาก็บอก เดินนาน ยืนนาน เขาก็บอก ยืนนานแล้ว ปวดแข้งแล้ว เราก็ต้องนั่งให้เขาหน่อย ถ้านั่งนานๆ เขาก็ว่าพอแล้ว ลุกขึ้นยืนหน่อย วิ่งเสียหน่อย อิริยาบถมันต้องสม่ำเสมอ ร่างกายมัน ก็เป็นปกติ นี่บางคนนั่งมาก โดยเฉพาะคนที่ชอบเล่นไพ่ นั่งเอาจริงๆ มันไม่สมดุลย์มันก็เกิดปัญหา มี ความทุกข์ทางร่างกาย เรื่องอย่างนี้มันลำบากถ้าเราไม่รู้เรื่องของมัน ถ้าเราปฏิบัติให้ถูกต้อง ตามธรรมชาติของร่างกาย สิ่งทั้งหลายก็จะเรียบร้อย เพราะหน้าที่มีอยู่
| หน้าถัดไป >>
» ไม่มีอะไรได้ดังใจเหมือนม้ากาบกล้วย
» วันนี้เจ้าอยู่กับฉันพรุ่งนี้มันไม่แน่
» หลักใจ
» เกิดดับ
» มรดกธรรม