ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
ปาฐกถาธรรม เรื่อง ฐานของชีวิต
วันอาทิตย์ที่ 8 สิงหาคม 2519
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย
ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรม อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว
ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังให้ดี
เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟัง ตามสมควรแก่เวลา
ในขณะใดที่มีไฟเกิดขึ้นไหม้สิ่งของ ในบ้านเรือนของเรา
ในขณะนั้นเราต้องรีบหาน้ำสำหรับดับไฟ หรือถ้าเป็นบ้านสมัยใหม่
ก็มีน้ำยาสำหรับเอาไปฉีดเพื่อให้ไฟนั้นหายไป ที่เราไปดับไฟก็เพราะว่า
ไม่ต้องการให้มันไหม้ลุกลาม อันจะเป็นเหตุให้เกิดไหม้ขึ้นมา เราก็เสียดาย
จึงได้ทำการดับไฟอย่าง รีบด่วน ฉันใด ในชีวิตของคนเรานี้ก็เหมือนกัน
เมื่อไฟเกิดขึ้นภายใน ทำให้ใจเร่าร้อนกระวนกระวายด้วย ไฟนั้น
เราก็ต้องหาสิ่งสำหรับดับไฟ
เพื่อให้จิตใจของเราอยู่ในสภาพสงบไม่วุ่นวายไม่เดือดร้อนต่อไป
สังคมโลกยุคปัจจุบันนี้ มีสภาพเหมือนกับไฟไหม้
เพราะมีปัญหานานาประการเกิดขึ้นในหมู่มนุษย์ ด้วยประการต่างๆ
บรรดาปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้น ทำให้ประชาชนทั่วๆ ไปมีความร้อนอกร้อนใจ
มีความเป็นทุกข์ ล่วงหน้า กลัวว่าสิ่งเหล่านั้นมันจะมาทำลายเรา
ทำลายทรัพย์สมบัติของเรา ทำลายอิสระเสรี ซึ่งเราเคยได้เคยมีไว้ให้เสียไป
ก็มีความวิตกกังวลด้วยปัญหานั้นๆ ด้วยประการต่างๆ
อันการเป็นอยู่ในรูปอย่างนี้ มันก็มีความทุกข์ มีความไม่สบายทั้งกายทั้งใจ
เพราะในขณะใด ที่ใจเราเร่าร้อนกระวนกระวาย ด้วยปัญหาอะไรก็ตาม
ร่างกายของเราก็พลอยเดือดร้อน กระวนกระวายไปด้วย
พลอยมีความทุกข์มีปัญหาเกิดขั้นด้วยเหมือนกัน เพราะสภาพกายกับจิตนั้น
มีความสัมพันธ์กันอยู่ตลอดเวลา สิ่งใดเกิดขั้นแก่ร่างกาย
ก็ย่อมจะส่งผลไปถึงจิตด้วย สิ่งใดที่เกิดขึ้นในจิต
ก็ส่งผลมาถึงร่างกายของเราด้วย เพราะร่างกาย กับจิตนั้น
ว่ากันโดยความจริงแล้ว เป็นสิ่งที่เนื่องถึงกัน
อาศัยความเป็นอยู่ร่วมกันตลอดเวลา
เพราะฉะนั้น เมื่อมีอะไรเกิดขึ้น ก็มีความเป็นทุกข์ทั้งกายและใจ
ยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ เช่นว่าเรามีความวิตกกังวล ด้วยปัญหาอะไรก็ตาม
เราจะรู้สึกว่าร่างกายผิดปกติ เช่นว่าการเปลี่ยนแปลงทางหัวใจ
คือหัวใจต้องทำงานหนัก ต้องสูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงร่างกายมากขึ้น
มีความผิดปกติทางกาย เช่นมือสั่น ตัวสั่น บางทีก็มีการผิดปกติ
ในระบบการย่อยอาหาร ท้องไส้ไม่เป็นปกติ บางทีก็กระทบกระเทือน
ไปถึงระบบขับถ่าย เช่นเป็นคนท้องผูก ถ่ายไม่เป็นปกติ
สิ่งเหล่านี้เกิดมาจากเนื่องด้วยปัญหาทางจิต
คือความวิตกกังวลในเรื่องอะไรต่างๆ อันเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์
ความเดือดร้อน
เพราะฉะนั้นคนเราถ้ามีปัญหา คือความทุกข์ความเดือดร้อน
กระทบกระเทือนจิตใจบ่อยๆ ก็ล่อ แหลมที่จะเป็นโรคทางประสาท
ระบบประสาทไม่ค่อยดี สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากปัญหา คือความวิตกกังวล
อันเป็นความทุกข์ความเดือดร้อนในชีวิตประจำวัน ซึ่งเราทั่วๆ
ไปไม่มีความปรารถนาที่จะให้เกิดสิ่งนั้นขึ้น ในวิถีชีวิตของเรา
แต่ว่ามันก็หลีกเลี่ยงยากอยู่เหมือนกัน ก็เพราะในโลก
ชีวิตของเราเกี่ยวข้องกับคน ต่างๆ ทั่วๆ ไป
ก็คนที่เราอยู่ร่วมกันนั้น ไม่ใช่ว่าจะมีจิตใจเป็นปกติ
เสมอกันทุกคนก็หามิได้ บางคนก็มี สภาพจิตใจอย่างหนึ่ง
บางคนก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง เช่นบางคนใจร้อนใจเร็ว บางคนก็ใจเย็นใจสงบ
บางคนก็มีความรู้สึกรุนแรง บางคนก็ไม่ค่อยจะมีความรุนแรงเท่าใด
การพูดจาของคนบางคนก็เป็นไปตาม ใจ เช่นถ้าเป็นคนใจร้อนใจเร็ว
มักจะใช้ถ้อยคำประเภทรุนแรงสามหาว ด้วยประการต่างๆ แต่ถ้าเป็น
คนใจสงบใจเย็น การพูดจาก็ไม่ค่อยจะรุนแรง มีความยั้งคิดยั้งตรอง
ไม่พูดอะไรไปตามอารมณ์ แต่ว่าคิด แล้วจึงพูด คิดแล้วจึงทำ
คนที่มีสภาพจิตใจอย่างนั้น ไม่ค่อยจะเป็นปัญหาเท่าใดนัก
แต่ถ้าเราอยู่ร่วมกับคนที่มีจิตใจไม่ได้ฝึกฝน ไม่ได้อบรมมาก่อน
เป็นอยู่ตามสภาพของสิ่งแวดล้อม เราก็ย่อมจะมีปัญหา มีความทุกข์
ความเดือดร้อนเป็นธรรมดา เราจะไปห้ามสิ่งนอกกายนั้นย่อมไม่ได้
เช่นเราจะไปห้ามเรื่อง ดินฟ้าอากาศ
อันเป็นธรรมชาติที่เป็นอยู่ตามเรื่องตามราวนั้น ไม่ได้
เราจะไปห้ามคนนั้นคนนี้ ว่าอย่า คิดอย่างนั้นอย่าพูดอย่างนั้น
อย่าทำอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ย่อมจะไม่ได้เสมอไป ถึงแม้จะทำได้ก็ต้องใช้เวลา
เพราะมันเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล
ยิ่งในสมัยนี้ด้วยแล้ว มนุษย์เรามีความตื่นตัวในเรื่องไม่เข้าเรื่อง คือ
ตื่นในเรื่องเสรีภาพ ที่ไม่ใช่เสรีภาพ ตื่นตัวในระบบที่เขารียกกันว่า
ประชาธิปไตยแบบที่ไม่เป็นเรื่องเป็นราว แล้วก็ทำอะไรแปลกๆ แผลงๆ
ให้คนอื่นมีความทุกข์ มีความเดือดร้อนใจอยู่ตลอดเวลา
อันนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในสังคมทั่วๆ ไป
เราทั้งหลายผู้มีชีวิตอยู่ในสังคม เราจะไปห้ามไปกันคนเหล่านั้น
ไม่ให้เขาประพฤติอย่างนั้น ไม่ให้กระทำอย่างนั้น ก็ทำได้เหมือนกัน
แต่ว่าก็ชักช้าเสียเวลา
เรื่องที่จะทำนั้นไม่ใช่ไปห้ามไปกันคนอื่น แต่เราจะห้ามกันตัวเราเอง
ดีกว่าจะไปจัดการกับเรื่องคนอื่น เพราะการจัดเรื่องของคนอื่นนั้น มันยาก
แต่จัดการกับตัวเราเองนั้นง่ายกว่า อันนี้เป็นความจริง
แต่คนเราไม่เข้าใจความจริงข้อนี้ ไม่พยายามที่จะจัดปรับตัวเอง
แต่ว่าไปปรับตัวคนอื่น ปัญหาจึงเกิดขึ้นทุกวันทุกเวลา
ในการปรับตัวเราเองนั้น ก็เรียกว่าเป็นการปฏิบัติธรรมนั่นเอง
การปฏิบัติธรรมก็คือการปรับตัว เองให้ต้อนรับสิ่งทั้งที่เกิดขึ้นได้
โดยไม่เป็นทุกข์ นั่นแหละคือการปฏิบัติธรรมก็คือ การปฏิบัติธรรม เรา
ปรับจิตใจของเราเอง ให้ต่อสู้กับสิ่งทั้งหลายโดยเราไม่ต้องเป็นทุกข์
อันเป็นเรื่องจำเป็นหรือไม่ ญาติ โยมทั้งหลายลองพิจารณาสักเล็กน้อย
เมื่อพิจารณาแล้วก็จะเห็นว่า มันเป็นเรื่องจำเป็น เป็นงานรีบด่วน
เป็นเรื่องสำคัญสำหรับชีวิตเราโดยแท้
เพราะว่าเราจะต้องประสบกับอารมณ์อันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พึง
อกพึงใจอยู่ทุกเวลา ถ้าเราไม่จัดการกับตัวเรา
เพื่อให้เข้ากับสิ่งเหล่านั้นแล้ว ไม่เป็นทุกข์ได้แล้ว เรา
ก็ต้องเป็นทุกข์เรื่อยไป เป็นทุกข์ในเรื่องของคนอื่น
ในกิริยาท่าทางของคนอื่น ในการกระทำอะไรต่างๆ ของคนอื่นอยู่ตลอดเวลา
การเป็นเช่นนี้ก็คล้ายๆ กับว่า เราเปิดประตูบ้าน เปิดหน้าต่างไว้
สิ่งสกปรกคือฝุ่นละอองมันก็ปลิว เข้ามาในบ้านของเรา จนกระทั่งเต็มบ้าน
ฝุ่นหนาไปทั้งบ้านทั้งเรือน อันนี้เป็นการไม่ถูกต้อง ในการที่
เราจะกระทำเช่นนั้น แต่ว่าเราควรระมัดระวังตัวเราเอง
ในการที่จะรับรู้สิ่งเหล่านั้น ทำให้เราเป็นผู้มี
สติปัญญารู้เท่ารู้ทันต่อสิ่งนั้นๆ ที่มากระทำชีวิตจิตใจของเรา
เพื่อเราได้ไม่ต้องขึ้นๆ ลงๆ กับสิ่งที่มากระทบ เรามากเกินไป
โดยปกติธรรมดานั้น ถ้าเราไม่ปรับจิตใจของเราให้มีกำลังใจต่อต้านอย่างดีแล้ว
เราก็มีอาการขึ้นๆ ลงๆ กับอารมณ์อย่างนั้นอยู่ตลอดเวลา เรื่องดีมากระทบ
ใจมันฟุ้งขึ้น เรียกว่าดีใจ ถ้าเรื่องไม่ ดีมากระทบใจ
ก็เหี่ยวแห้งร่วงโรยลงไป ซึ่งเราเรียกว่าเป็นความเสียใจ
ในบางครั้งเราก็ดีใจ แต่ใน บางครั้งก็เสียใจ ความดีใจความเสียใจนั้น
มันมีสภาพคล้ายกับขึ้นๆ ลงๆ ถ้าวัดด้วยปรอทก็เรียกว่ามีขึ้นมี
ลงอยู่ตลอดเวลา ไม่เป็นปกติ สภาพจิตใจของเราควรจะอยู่ในสภาพที่เรียกว่าปกติ
ถ้าปกติมันก็ไม่ขึ้นไม่ ลง ไม่ดีใจไม่เสียใจกับสิ่งที่มากระทบ
อันจะทำให้เกิดเป็นปัญหาขึ้นในชีวิตประจำวันของเรา
เรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องที่เรา ควรจะได้ศึกษาสนใจปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
แล้วเราจะมี ความสุขทางใจ มีความสงบ
มีความเป็นอยู่อย่างเรียบร้อยตามฐานะพุทธบริษัท อะไรๆ เกิดขึ้นก็จะไม่เป็น
ปัญหาให้เราต้องกระวนกระวาย ต้องมีความทุกข์ความเดือดร้อนกับสิ่งนั้นเสมอไป
สิ่งภาพนอกเท่าที่เรา มีเราได้ไว้เช่นว่าเงินทอง ข้าวของ เกียรติยศ
ชื่อเสียง อะไรๆ ต่างๆ ในสังคมนั้น มันก็ไม่ได้ช่วยให้เรามี
ความสงบใจเสมอไป ไม่ได้ช่วยให้เรามีความสุขทางจิตเสมอไป ถ้าว่าเราไม่เข้าใจ
จัดทำใจของเรา ให้เหมาะกับสิ่งเหล่านั้น
ซ้ำร้ายมันอาจจะเป็นพิษเป็นภัยกับเราด้วยซ้ำไป
เช่นว่าเราได้อะไรมาเราดีใจเกินไป หรือว่าสูญเสียอะไรไป
เราก็ความเสียใจมากเกินไป ความดีใจเกินไปก็ดี ความเสียมากเกินไปก็ดี
มันทำให้เป็นทุกทั้งนั้น ดีใจก็เป็นทุกข์ เสียใจก็เป็นเหมือนกัน
แต่ว่าดีใจนั้น เป็นทุกข์ที่มองไม่เห็น เราเห็นว่ามันเป็นความสบาย
หัวเราะหัวไห้ แต่ว่าหลังจากนั้นมันก็เป็น ทุกข์ได้ในภายหลัง เพราะอะไร
ก็เพราะสิ่งทั้งหลายมันไม่คงที่ มันมีการเปลี่ยนแปลง
ไม่มีอะไรคงสภาพอยู่อย่างนั้นตลอดไป
สัจจะหรือความจริงที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า "สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง
สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา"
อันนี้เป็นหลักที่พระองค์ตรัสไว้แน่นอน ไม่มีความเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น
ทีนี้เราไม่เข้าใจในความจริงของสิ่งเหล่านี้
เมื่อไม่เข้าใจในสิ่งนี้เราก็ไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งเหล่านั้น สำคัญผิดว่า
มันจะเป็นไปตามที่ใจเราปรารถนา มันไม่เที่ยง แต่เรานึกว่ามันเที่ยง
มันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ แต่เรานึกว่ามันเป็นเหตุให้เกิดความสุข ความสบาย
มันไม่มีอะไรที่เรียกว่าเป็นเนื้อแท้
แต่เราไปคิดว่ามันเป็นสิ่งเที่ยงแท้ถาวร
อันนี้คือความเข้าใจผิดในจิตใจของเรา แล้วเราเข้าไปเกาะจับสิ่งนั้นไว้
ด้วยความหลงผิด ด้วยความเข้าใจผิด
จิตเราก็มีปัญหาเกิดความทุกข์ความเดือดร้อนเรื่อยไป เพราะฉะนั้น
สิ่งทั้งหลายที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง
ถ้าเราเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งนั้นด้วยไม่มีปัญญา เราก็เข้าไปเกี่ยว
ข้องอย่างเป็นทุกข์ ถ้าเราเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยปัญญา
เราก็ไม่มีความทุกข์ทางใจ คล้ายๆ กับว่าเราจะ ต้องจับถ่านไฟ
ถ้าเราจับเป็นมันไหม้นิดหน่อย แต่ถ้าเราจับไม่เป็นมันก็ไหม้เอามาก
ถ้าเราไปจับทั้งห้านิ้ว มันก็ไหม้มือเราทั้งห้านิ้ว
แต่เรารู้ว่ามันร้อนแต่จำเป็นต้องไปจับ เราก็จับเพียงสองนิ้ว หรือถ้าไม่
จับสองนิ้วเราเขี่ยมันออกมา ไฟนั้นมันก็ไม่ทำให้มือเราไหม้
ให้ได้รับความปวดร้าวทางจิตใจต่อไป ฉันใด
เรื่องอะไรๆ ในชีวิตของเรานี้ก็เหมือนกัน จะเป็นเรื่องลาภเรื่องยศ
เรื่องคำสรรเสริญเยินยอ เรื่องความสุขความสบาย หรือเรื่องของความเสื่อมลาภ
เสื่อมยศ ได้รับนินทาว่าร้าย จากคนนั้นคนนี้ มี
ความทุกข์เกิดขึ้นในจิตใจของเรา
สิ่งเหล่านี้ในทางพระท่านเรียกว่าเป็นโลกธรรม เป็นธรรมที่
ปรากฏอยู่ในโลกตลอดเวลา คล้ายกับลมกับแดด ที่มีปรากฏอยู่ตามธรรมชาติ
คนเราเมื่อออกไปจากบ้านเรือน ก็ต้องถูกลมแดดบ้างธรรมดา บางคราวก็ถูกลมแรงๆ
พัด ทำให้เกิด ความเจ็บไข้ได้ป่วย บางคราวก็ถูกความร้อนจัด
ทำให้เราเกิดความเจ็บไข้ได้ป่วยเหมือนกัน เราอยู่ใน
โลกมันก็ต้องกระทบกับสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดา ความสุขความทุกข์
ความเสื่อมความเจริญทั้งหลายที่ เกิดขึ้นในชีวิตของเรา ที่เรียกว่า
ธรรมสำหรับโลก ฝ่ายที่เราพอใจก็คือได้ลาภ ได้ยศ ได้รับการสรรเสริญเยินยอ
จากคนอื่น แล้วก็มีความสบายทางใจ สิ่งสี่ประการนี้เป็นฝ่ายที่เรียกว่า
อิฏฐารมณ์ คือเป็นอารมณ์ที่เราพอใจ เราอยากได้
แต่ว่าการเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทาว่าร้าย มีความทุกข์ทางกาย ทางใจ
สิ่งนี้เราไม่ต้องการ เพราะมันทำให้เราประสบปัญหา
แต่ว่าทั้งที่เราต้องการและไม่ต้องการนั้นแหละ
สิ่งเหล่านี้มันอาจจะเกิดขึ้นแก่เราเมื่อใดก็ได้
เพราะเราไม่ได้อยู่ผู้เดียวในโลกนี้ เราอยู่ในครอบครัว มีมารดาบิดา
มีพี่มีน้อง มีญาติที่เราเกิดความคุ้นเคย มีความรักใคร่เอ็นดู
มีความสนิทสนมกัน ก็อาจจะใคร สักคนหนึ่งจากไปเราก่อน เช่นมารดาจากไปเราบ้าง
บิดาจากไปเราบ้าง หรือลูกอาจตายก่อนเราจะตายก็ได้
อันนี้เป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นแก่เราเป็นธรรมดา เราหนีไม่พ้น
และเมื่อมันเกิดขึ้น ก็อาจทำให้เรา มีความทุกข์กระวนกระวาย ไม่สบายทางจิตใจ
เสียดมเสียดายด้วยประการต่างๆ
การที่เราเป็นเช่นนั้นก็แสดงว่า เรายังไม่เข้าถึงธรรมะ
เรายังไม่มีธรรมะเป็นเกราะป้องกันตัว
ศัตรูคือความทุกข์ความเดือดร้อนโจมตีเราได้
เราต้องพ่ายแพ้แก่ความทุกข์ความเดือดร้อนนั้นไป
อันนี้คือการไม่ได้อบรมฝึกฝนจิตใจของเราอย่างเพียงพอ
เราจึงตกอยู่ในสภาพมีความทุกข์ มีความเดือดร้อนทางใจ
แต่ถ้าบุคคลใดได้รับการอบรมบ่มจิตใจตัวเองไว้ ให้รู้เท่ารู้ทันต่อสิ่งนั้นๆ
อยู่เสมอแล้ว สิ่งอะไรจะ เกิดขึ้นในชีวิตของเรา เราก็เฉยๆ ไม่ทุกข์ไม่ร้อน
ไม่ยินดียินร้ายกับสิ่งนั้นๆ อันนั้นแหละเป็นจุดหมายที่
เราต้องการในชีวิตประจำวันของเรา เราควรจะอยู่ด้วยจิตที่สงบอยู่ตลอดเวลา
อยู่ด้วยจิตที่มีความรู้ชัด เห็นชัดในเรื่องนั้นๆ อยู่ตลอดเวลา
เราจึงจะมีสุขทางใจได้สมความปรารถนา ญาติโยมทั้งหลายต้อง
การสภาพจิตเช่นนี้หรือไม่ ถ้าหากว่าถามอย่างนี้
ญาติโยมทั้งหลายก็คงจะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า มี ความต้องการ
เราไม่อยากเป็นคนขึ้นๆ ลงๆ เข้าๆ ออกๆ ในเรื่องอารมณ์ประเภทต่างๆ
เมื่อเราต้อง การสภาพจิตในรูปอย่างนี้ ก็ต้องมีการฝึกฝนอบรมตัวเราเอง
ซึ่งเรียกว่าเป็นการปฏิบัติธรรม
การปฏิบัติธรรมนั้นมันมีหลายชั้นหลายเชิง สลับซับซ้อน
แต่ว่าจุดหมายก็เป็นอันเดียวกัน คือต้องการให้จิตเราคงที่
อยู่ในสภาพสงบสะอาดสว่าง อะไรมากระทบจิตใจของเรา
ก็ไม่ทำให้หวั่นไหวโยกโคลงได้ ไม่ทำให้เราเป็นทุกข์ ไม่ทำให้เราเป็นสุข
แต่ทำให้เรามีอาการเฉยๆ ความเฉยๆ ของจิตในลักษณะที่ว่านั้น
ไม่ใช่เฉยอย่างคนที่ไม่รู้อะไร ความเฉยของคนที่ไม่รู้อะไรก็มีเหมือนกัน
เขาเรียกว่าเฉยแบบคนโว่ หรือมีอวิชชาครอบงำจิตใจไม่รู้ไม่เข้าใจ
ไม่มีความคิดความอ่าน ก็ไม่เศร้าโศกไม่เสียใจ เช่นเด็กๆ ที่สูญเสียพ่อแม่ไป
จะเห็นว่าเด็กตัวน้อยๆ พ่อถึงแก่ความตายไป
เด็กเขาไม่ได้มีความเสียอกเสียใจอะไร แล้วเขาอาจจะถามในรูปแปลกๆ
เช่นถามว่า คุณแม่ คุณพ่อทำไมจึงนอนอยู่ในหีบเล็กๆ เช่นนั้น ไม่ออกมานั่ง
เขา ไม่รู้ว่าเป็นอะไร ไม่รู้ว่าพ่อนั้นไม่มีชีวิตแล้วหรือตายแล้ว
เขาไม่เข้าใจ เวลาเอาพ่อขึ้นไปบนเชิงตะกอนเผา
บางทีเขาก็ถามแม่ที่ยังมีชีวิตอยู่ว่า แม่ทำไมเอาพ่อไปเผาเสียละ
พ่อไม่ร้อนหรือ อย่างนี้เป็นตัว อย่าง นั่นเป็นความรู้สึกของเด็กๆ ตัวน้อยๆ
ซึ่งยังไม่เข้าใจเรื่องของชีวิตตามสภาพที่เป็นอยู่จริงๆ เขา
ไม่มีความรู้สึกเป็นทุกข์ร้อนอกร้อนใจ เขาวิ่งเขาเล่นไปตามปกติ
ในสมัยอาตมาเป็นเด็กๆ ก็จำได้ว่า มีความรู้สึกคล้ายกันในรูปอย่างนั้น
คือว่าพี่ชายถึงแก่ความตาย พี่ชายที่ตายก็เป็นโรคบิด
ยังจำภาพได้เวลานั่งถ่ายนี่ร้องให้ เอามือกุมท้องบิดตัวด้วยความเจ็บปวด
ก็นั่ง ดูไปตามเรื่องตามราว นึกในใจว่าทำไมต้องร้องให้ด้วย
เวลาถ่ายทำไมต้องร้อง เวลาถ่ายทำไมต้อง เอามือจับท้องบิดตัวอย่างนั้น
ไม่รู้ว่ามันเป็นอะไร ใจมันคิดอย่างนั้น ครั้นเวลาตายแล้วเขาเอาไปเผาที่
ป่าช้า ยังไปถามคุณโยมผู้ชายว่า จุดไฟเผาอย่างนั้นพี่ๆ ไม่ร้อนแย่หรือพ่อ
พ่อก็ไม่พูดจาอะไร จับมือแล้วก็ จูงพากลับบ้านไปเลย
เพราะว่าพ่อก็พูดไม่ออกเหมือนกัน ลูกชายคนนั้นก็เป็นที่รักที่หวงแหน
เป็นที่พอใจ เมื่อมาถึงแก่ความตายไปท่านก็เสียดาย
เราไปพูดคำที่มันไม่เดียงสา ท่านก็เลยไม่ตอบปัญหานั้น อันนี้เป็น
คิดของเด็กๆ ที่ยังไม่มีความยึดมั่นในเรื่องอะไรๆ มากเกินไป
แต่ว่าเด็กก็ไม่ใช่ว่าไม่ยึดถืออะไรเสียเลย ก็มีความยึดถือเหมือนกัน
ในสิ่งที่เขาพอจะยึดถือได้ เช่นยึดถือในของเล่นว่าเป็นของฉัน
ยึดถือในขนมนมเนยว่าเป็นของฉัน ยึดถือคุณแม่คุณพ่อว่าเป็นของฉัน
แต่วาความยึดถือนั้นของเด็กไม่ถาวร ไม่อยู่อย่างที่เรียกว่า
ฝังลึกลงไปในจิตใจเท่าใด เป็นอารมณ์ชั่วแล่น เกิดขึ้นแล้วก็หายไป
ไม่เหมือนเราที่เป็นผู้ใหญ่
เพราะฉะนั้น ถ้าจะเปรียบเทียบชีวิตของเด็กน้อยกับผู้ที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว
จึงรู้สึกว่าแตกต่างกัน ในบางครั้ง เราน่าจะถอยกลับไปสู่สภาพจิตใจแบบเด็กๆ
เหล่านั้น ในเมื่อกระทบอารมณ์ที่มันทำให้เกิดความ ทุกข์
เราน่าจะเป็นเด็กเสียบ้าง เพื่อจะไม่ให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนใจ
แต่นั่นแหละ คนเรามันขึ้น มาแล้ว ลงไม่ได้ถอยไม่ได้
เรื่องของชีวิตไม่เหมือนรถที่เราถอยได้ออกได้ ถอยหลังได้ไปหน้าได้ ชีวิตมัน
ถอยไม่ได้ มีแต่ไปข้างหน้า เมื่อเติบโตขึ้นมาแล้วก็ไปยึดจับนั่นจับนี่ไว้
มีอุปาทานในเรื่องอะไรๆ ต่างๆ มาก มาย เมื่อยึดไว้แล้ว
ปล่อยไม่เป็นวางไม่เป็น แต่ว่าเด็กนั้นเขาไม่ได้ยึดถือมาก
เพราะฉะนั้นเขาจึงไม่มี ความทุกข์ความเดือดร้อนใจ
นั่นจิตใจของเด็กมันเป็นอย่างนั้น
อีกประเภทหนึ่ง จิตใจที่ไม่มีความทุกข์ คือคนที่เราเรียกว่าปัญญาอ่อน
พวกคนปัญญาอ่อนนี่มันไม่มี ความทุกข์ มันไม่มีเสียอกเสียใจ
ไม่มีวุ่นวายอะไร แล้วก็ไม่ค่อยจะดีอกดีใจในเรื่องอะไรๆ มากเกินไป
เขามีใจเฉยๆ ที่เฉยเช่นนั้นก็เพราะว่าปัญญามันอ่อน ไม่มีความคิด
ไม่รู้จักคุณค่าของสิ่งที่เขาเข้าไปเกี่ยว ข้อง เขาไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร
พวกนี้ก็ไม่มีความทุกข์ ไม่มีความเดือดร้อนใจ เหมือนกับคนธรรมดา
เพราะฉะนั้น เราจะเห็นว่าเด็กปัญญาอ่อนเขาอยู่อย่างนั้น
สภาพจิตใจเขาอย่างไร เมื่อตัวน้อยๆ เป็นหนุ่ม ก็อยู่อย่างนั้น
จนอายุมากกลางคน เขาก็อยู่อย่างนั้น ไม่ค่อยจะเปลี่ยนแปลง
เคยพบเด็กประเภทอย่างนี้ เมื่อสมัยเด็กๆ ก็เคยเล่นเคยอะไรกัน
ทำอะไรเขาก็อย่างนั้น เขาไม่รู้สึกอะไร เอามือตีเข้าที่สันหลัง
เขาก็ไม่ได้ร้องให้อะไร ไม่ได้แสดงอาการโกรธเคืองอะไร
ตีแล้วเราวิ่งหนีไปมันก็มองเฉยๆ ไม่เหมือนคนเรามอง
คนธรรมดาที่ไม่ใช่ปัญญาอ่อน ถ้าไปตีอย่างนั้นมันก็มองด้วยสายตาขุ่นเคือง
แล้วบางทีมันก็วิ่งไปเตะให้มั่งเท่านั้นเอง
แต้ถ้าเด็กอย่างนั้นมันไม่วิ่งไปเตะต่อยอะไร แต่ถ้ามันเจ็บเหลือเกินขั้นมา
มันจึงจะทำเอาบ้าง และถ้ามันทำแล้วหนักที่สุดเลย มันทำถึงตายเลย
เพราะมันไม่มีความยั้งคิด ไม่มีสติสำหรับ ยั้ง
ไม่มีปัญญาสำหรับชั่งสำหรับตรอง ทำอะไรก็จะเกินไป ไม่ทำก็ไม่ทำ
นั่นพวกนั้นมันมีความยึดถือน้อย
เหมือนกันแต่ที่ไม่ยึดถือนั้นเพราะไม่รู้ในสิ่งนั้น
ว่ามันมีคุณมีค่าอย่างไร
ทีนี้เราพูดว่าคนมีจิตใจเป็นปกติ คือว่าสิ่งทั้งหลายเป็นปกติ
มีความรู้มีปัญญาเป็นปกติ ก็ย่อมจะมี ความคิดในรูปต่างๆ
รู้จักรักสิ่งนั้นสิ่งนี้
รู้จักคุณค่าของสิ่งที่เรารักเราพอใจสภาพจิตใจที่เป็นอย่างนั้นมันมี
อยู่ในคนเราทั่วๆ ไป ถ้าหากว่าเราทำใจให้รู้จักปล่อยรู้จักวาง
ในเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ เราก็สบายใจ
การปล่อยวางนั้นก็เพราะอาศัยปัญญาที่สูงขึ้นไป เรามีปัญญาระดับปกติธรรมดา
แล้วก็รู้จักว่าสิ่งนั้นคืออะไร มันมีประโยชน์แก่ชีวิตของเราอย่างไร
มันเอร็ดอร่อยอย่างไร ดีอย่างไร เราก็เข้าไปเกี่ยวข้องอยู่ กับสิ่งนั้น
โดยนึกว่ามีนดีมันมีประโยชน์แก่ชีวิตจิตใจของเรา
นั่นเป็นปัญญาเพียงขั้นหนึ่ง เป็นปัญญาที่ทำให้
เราเข้าไปรู้คุณค่าของสิ่งนั้น รู้จักรักษาสิ่งนั้น รู้จักใช้สิ่งนั้น
เอาสิ่งนั้นมาเป็นประโยชน์ของตัว ปัญญา อย่างนี้มันก็เป็นเรื่องธรรมดาๆ
ยังไม่สูงอะไร
| หน้าถัดไป >>
» ไม่มีอะไรได้ดังใจเหมือนม้ากาบกล้วย
» วันนี้เจ้าอยู่กับฉันพรุ่งนี้มันไม่แน่
» หลักใจ
» เกิดดับ
» มรดกธรรม