ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
ปาฐกถาธรรม เรื่อง หลักใจ
วันอาทิตย์ที่ 20 ตุลาคม 2517
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย
ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรม อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว
ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี
เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟัง ตามสมควรแก่เวลา.
การศึกษาธรรมะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตของคนทั่วๆ ไป
ยิ่งโลกเราในสมัยนี้ด้วยแล้ว ยิ่งมีความจำเป็นมากขึ้น เพราะว่า
โลกขาดธรรมะจึงได้เกิดความวุ่นวายเดือดร้อนด้วยประการต่างๆ
ถ้าได้แจกธรรมะกันให้ทั่วถึง โลกเราก็จะสงบมากขึ้นกว่านี้
จึงมีความจำเป็นที่จะต้องจัดให้มีการเผยแผ่ธรรมะ ให้คนทั้งหลายได้ยินได้ฟังกันบ่อยๆ
นั้นจะเป็นเครื่องช่วยให้มีแสงสว่าง ในทางวิญญาณมากขึ้น
แสงสว่างทางวิญญาณมีความจำเป็นกว่าแสงสว่างทางตาเนื้อ เพราะแสงสว่างทางตาเนื้อนั้น
มันเป็นประโยชน์แก่เนื้อเท่านั้นเอง ส่วนแสงสว่างทางวิญญาณ
เป็นประโยชน์แก่จิตใจของคนทั่วๆ ไป
ก็ใจคนเรานี้จะมืดบอดด้วยอำนาจกิเลสประการต่างๆ ที่เกิดรัดรึงจิตใจ
เช่นเกิดความโลภก็บอดด้วยความโลภ เกิดความโกรธก็บอดด้วยความโกรธ
เกิดความหลงก็บอดด้วยความหลง เกิดความริษยาก็มืดบอดด้วยอำนาจของความริษยา
เกิดด้วยเหตุใดก็มืดบอดด้วยเหตุอันนั้น ความมืดบอดเกิดขึ้นแก่บุคคลใด
ก็ทำให้ใจบุคคลนั้นไม่รู้สภาพตามที่เป็นจริง
เมื่อไม่รู้จักสิ่งทั้งหลายตามที่เป็นจริง ก็เกิดอยู่ในความทุกข์ยากลำบากเดือดร้อน
อันเป็นความเสื่อมของชีวิตด้วยประการทั้งปวง
เราทั้งหลายไม่ต้องการความทุกข์ความเดือดร้อน ก็ควรหาแสงสว่างส่องใจเอาไว้
เพื่อจะได้มองเห็นอะไรชัดเจนแจ่มแจ้งตามสภาพที่เป็นจริงตลอดไป
อันแสงสว่างทางชีวิตที่เราควรแสวงหานั้น
ก็คือธรรมะอันเป็นคำสอนในทางพระศาสนา เราจึงได้ยินคำกล่าวว่า "ธัมโม ปทีโป วิยะ
ตัสสะ สัตถุโน" แปลว่า "ธรรมของพระศาสดา สว่างรุ่งเรืองเปรียบดวงประทีป"
ดวงประทีปให้แสงสว่างทางตาฉันใด ธรรมะของพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เพราะฉะนั้น เราจึงควรได้แสงสว่างอย่างนี้ไว้
แล้วก็ช่วยให้คนอื่นเกิดความสว่างขึ้นด้วย เรามีเพื่อนฝูงมิตรสหาย
จงชวนกันให้เขามารับแสงสว่างทางใจ อย่าปล่อยให้เขามืดบอดอยู่ตามลำพัง
โอกาสใดเวลาใดที่เราจะนำเขาเข้าหาแสงสว่างทางใจได้
เราก็ควรจะได้ชักจูงเขามาเพื่อจะได้พบแสงสว่างทางจิตใจ
เพื่อให้คนนั้นได้เกิดความสำนึก
รู้สึกผิดชอบชั่วดีขึ้นในชีวิตให้มากเท่าที่จะกระทำได้
การชักชวนคนอื่นให้เกิดความสว่างทางจิตใจนั่นแหละเป็นกุศล
เป็นกิจที่เราควรจะได้กระทำบ่อยๆ เพื่อเป็นการสงเคราะห์เพื่อนมนุษย์ทางด้านจิตใจ
การช่วยเหลือกันในด้านจิตใจนั้นเป็นเรื่องสำคัญมากยิ่งขึ้นทุกวันเวลา
เพราะเวลานี้มนุษย์เรามีศัตรูอยู่รอบข้าง ศัตรูนั้นไม่ได้มาจากภายนอก
แต่ว่ามาจากภายในของแต่ละคน ถึงแม้ว่าคนนั้นจะเป็นศัตรูก็รู้ว่า
ภายในของเขาเป็นศัตรูแก่ตัวเขาก่อน คนเราถ้ามีศัตรูภายในแล้ว
ก็จะกลายเป็นศัตรูของคนอื่นไปทันที
เพราะจิตใจของคนที่ตั้งไว้ผิดนั่นแหละเป็นศัตรูของบุคคลนั้นๆ
ถ้าใจของเราตั้งไว้ผิดก็เป็นศัตรูแก่ตัวเอง
ถ้าใจเราดำรงอยู่ในทางถูกเราก็เป็นมิตรแก่ตัวเอง
ในเรื่องนี้พระผู้มีพระภาคจึงตรัสไว้ว่า "โจรต่อโจร
คนมีเวรต่อคนมีเวรมาพบกัน จะทำร้ายกันสักเท่าใดๆ ก็ไม่ร้ายเท่ากับใจที่ตั้งไว้ผิด
ทำร้ายตัวบุคคลนั้น" เพราะว่าคนเรา
ถ้าตั้งใจไว้ผิดแล้วก็ย่อมจะทำร้ายตนเองได้มากขึ้น ยิ่งกว่าโจรทำร้ายต่อเราเสียอีก
เพราะโจรเขาทำร้ายแต่เพียงทางร่างกาย เราตายแต่เพียงร่างกาย
แต่ว่าความเห็นผิดมันทำร้ายจิตใจ ทำให้เราถึงแก่ความตายทางใจ
ความตายทางกายไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่ว่าความตายทางใจเป็นเรื่องสำคัญ
คนที่มีความตายทางกายมันก็จบฉากกันไปตอนหนึ่ง แล้วก็เอาไปเผาที่ป่าช้า
ส่วนคนที่ตายทางจิตนั้น มันไม่อย่างนั้น แต่ยังมีชีวิตอยู่เดินได้พูดได้
ยังก่อกรรมทำเข็ญให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อน แก่บุคคลได้อยู่ เพราะฉะนั้น
คนที่ตายทางจิต จึงเป็นภัยอย่างใหญ่หลวงแก่มนุษย์ทั่วๆไป
เราจึงควรกลัวสิ่งที่เรียกว่าทำให้เราตายใน ทางจิตใจ
ไม่ต้องกลัวสิ่งที่ทำให้เราตายในทางร่างกาย
ความกลัวในสิ่งที่ทำให้เราตายทางจิตใจนั้น ก็ไม่ใช่กลัวอะไรอื่นไกล
แต่กลัวความคิดชั่ว ที่มันเกิดขึ้นในจิตใจของเราเอง มันทำลายตัวเรา
มันส่งเราไปสู่ที่ทุกข์ที่ยาก ทำให้เกิดปัญหาแก่ชีวิตด้วยประการต่างๆ
จึงควรจะสนใจในการที่จะไม่ให้จิตใจของคนตายไปจากคุณงามความดี แต่ควรจะได้ส่ง
เสริมสนับสนุนให้จิตใจของตน ให้มีคุณธรรมประจำจิตใจอยู่ตลอดเวลา
อันคนเราที่จะมีหลักธรรมประจำจิตใจอยู่เสมอนั้น
ก็ต้องมีความภักดีต่อสิ่งที่เป็นหลักทางใจ จึงเป็นหัวใจสำคัญ
ในการปฏิบัติธรรมะในทางพระศาสนา
ก็พุทธบริษัทเรานี้ ควรจะจงรักภักดีในสิ่งใดเล่า
เราก็ควรจะมีความจงรักภักดี ในสิ่งสามประการอันเป็นหลักทางใจนั้นคือ พระพุทธเจ้า
พระธรรม พระสงฆ์ เป็นหลักใจ เป็นที่อุ่นอกอุ่นใจ เป็นที่พึ่งในทางใจ
เราจึงได้กล่าววาจาว่า "ที่พึ่งอย่างอื่นของข้าพเจ้าไม่มี
พระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งของของข้าพเจ้า ที่พึ่งอย่างอื่นของข้าพเจ้าไม่มี
พระธรรมเป็นที่พึ่งอันประเสริฐของข้าพเจ้า ที่พึ่งอย่างอื่นของข้าพเจ้าไม่มี
พระสงฆ์เป็นที่พึ่งอันประเสริฐของข้าพเจ้า ด้วยการกล่าวสัจจะวาจานี้
ขอความเจริญจงบังเกิดมีแก่ข้าพเจ้า"
อันนี้เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่าที่พึ่งอย่างอื่นของเรานั้นหามีไม่
แต่เราควรจะพึ่งพระรัตนตรัย คือพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ดึงเอาพระพุทธ พระธรรม
พระสงฆ์มาเป็นหลักใจไว้ มาเป็นที่พึ่งในทางใจไว้ อย่าให้ใจของเราห่างออกไปจากพระ
อย่าให้ใจเราอยู่กับสิ่งที่ไม่ใช่เป็นพระ เราก็พอจะพ้นไปจากความวุ่นวายทางด้านจิตใจ
พ้นไปจากความทุกข์ความเดือดร้อน ได้สมความปรารถนา
อันนี้เป็นเรื่องที่ควรจะได้สนใจประการหนึ่ง คือให้จงรักภักดีต่อพระรัตนตรัยไว้
เอาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งในทางจิตใจไว้ตลอดเวลา
เราจะอยู่ด้วยความสุขสงบได้สมความปรารถนา
อันการพึ่งพระรัตนตรัย หรือการถึงพระรัตนตรัย
หรือการถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง หรือมีความจงรักภักดีนั้น ก็พูดย่อๆ สั้นๆ ว่า
จงรักภักดีต่อธรรมะนั่นเอง เพราะธรรมนี่ เป็นตัวแก่นแท้ของพระรัตนตรัย
เป็นสิ่งสำคัญที่เราควรจะเข้าถึง ในเรื่องนี้ถ้าเราดูพระพุทธดำรัส
ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในที่ต่างๆ เราก็จะเห็นได้ว่า พระองค์บูชาธรรม
เชิดชูธรรม ถือธรรมเป็นหลักในการปฏิบัติกิจในชีวิตประจำวันของพระองค์ตลอดเวลา
เช่นภายหลังที่พระองค์ได้ตรัสรู้พระธรรมแล้ว พระองค์ก็คิดว่า
"คนเราควรจะอยู่ด้วยการมีอะไรเป็นหลักเคารพ
เพราะเราเป็นพุทธผู้รู้แจ้งเห็นจริงในธรรม จะไปเคารพบุคคลใดบุคคลหนึ่งก็ไม่ได้
เพราะคนเหล่านั้นไม่อยู่ในฐานะสูงพอที่เราจะเคารพได้ ควรจะเคารพอะไร"
พระองค์ก็ได้คิดว่า "พระพุทธเจ้าในอดีต ในอนาคต ในปัจจุบัน ก็ควรจะเคารพธรรม
เชิดชูธรรม บูชาธรรม" อันนี้ก็เป็นเครื่องแสดงอยู่ในตัวแล้ว ว่า
ธรรมนั่นแหละเป็นสิ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเชิดชูบูชา
พูดกันง่ายๆ ว่า คนเราควรจะถือระเบียบแบบแผนในการดำรงชีวิต
การถือระเบียบแบบแผนก็เรียกว่า เราถือธรรมะ เราปฏิบัติธรรมะ เราจะทำ อะไรจะพูดอะไร
จะคิดอะไร ก็ต้องนึกถึงธรรมะไว้เสมอ พระผู้มีพระภาคเจ้าเองก็นึกถึงธรรมอยู่ตลอดเวลา
ใช้ธรรมะเป็นหลักในการปฏิบัติชีวิตของพระองค์ และสอนสาวกให้กระทำเช่นนั้น
อันนี้ก็เป็นเครื่องแสดงว่า ธรรมเป็นแก่นของพระรัตนตรัย เป็นสิ่งที่เราควรจะเข้าถึง
เมื่อเราเข้าถึงธรรมะเราก็มีพุทธะ เราก็มีสังฆะอยู่ในตัวเราด้วย เรียกว่ามี
พร้อมทั้ง 3 ประการ แต่ถ้าเราไม่ประพฤติธรรม เราไม่มีธรรมะเป็นหลักประจำใจ สิ่ง 3
ประการนั้นมันก็หายไปจากจิตใจของเรา
เราไม่มีสิ่งที่เป็นคุณค่าในชีวิตของเราอีกต่อไป หลักการมันเป็นอย่างนี้
นี้ประการหนึ่ง
อีกประการหนึ่งในสมัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าจะเสด็จปรินิพพาน
พระอานนท์ได้เข้าไปทูลถามพระองค์ว่า "เมื่อพระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ พวกอุบาสก
อุบาสิกา ภิกษุ ภิกษุณี ได้เข้าเฝ้าพระองค์ ได้ฟังคำสอน ได้ถือเอาพระองค์เป็นครู
เป็นอาจารย์ เป็นที่พึ่งทางใจ ครั้นเมื่อพระองค์ดับขันธปรินิพพานไปแล้ว
พวกข้าพระองค์ทั้งหลายจะถือเอาสิ่งใด
บุคคลใดเป็นครูเป็นอาจารย์แทนพระองค์ต่อไปเล่า"
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสตอบแก่พระอานนท์ว่า "ดูกร อานนท์ ธรรมวินัยอันใด
ที่เราได้สอนแล้วบอกแล้วแก่เธอทั้งหลาย
ธรรมวินัยอันนั้นแหละจะเป็นครูเป็นอาจารย์ของเธอทั้งหลายต่อไป"
อันนี้ก็เป็นพระดำรัสที่น่าฟัง คือตรัสให้ทราบว่า
ธรรมวินัยอันใดที่พระองค์ได้ตรัสแล้ว บอกแล้ว นั่นแหละเป็นครู
เป็นอาจารย์แทนพระองค์ต่อไป
ก็เท่ากับว่าเราทั้งหลายมีธรรมะเป็นครูมีธรรมะเป็นอาจารย์
แทนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ว่าในพระดำรัสนี้พระองค์ตรัสไว้ 2 ประการ ว่า ธรรมะ
กับวินัย เพราะว่าในคำสอนของพระองค์นั้น มีธรรมกับวินัย วินัยก็คือ ธรรม
ธรรมก็คือวินัย เรื่องความจริงมันก็เป็นเนื้อเดียวกันแต่ว่าตรัสไว้ในรูปอย่างนั้น
เพื่อให้เห็นว่า แบ่งออกเป็น 2 ประการ
ธรรมะหมายถึงคำสอน เป็นข้อปฏิบัติสำหรับคณะสงฆ์โดยเฉพาะ
เพราะว่าพระสงฆ์เรานี้อยู่กันเป็นหมู่เป็นคณะ การอยู่กันเป็นหมู่เป็นคณะ
ก็ต้องมีระเบียบมีวินัย ถ้าไม่มีระเบียบวินัยการเป็นอยู่ก็จะไม่เรียบร้อย
การปฏิบัติจึงต้องปฏิบัติทั้ง 2 อย่างคือปฏิบัติธรรมด้วย ปฏิบัติวินัยด้วย
การปฏิบัติพระวินัยก็เหมือนกับเป็นการถือศีล
คือมีระเบียบบังคับตนเองไว้ตลอดเวลา ไม่ละเลยเพิกเฉยต่อการปฏิบัติตามระเบียบนั้นๆ
การถือธรรมะก็เหมือนกับว่าถือธรรม
คือการปฏิบัติเพื่อสร้างเสริมเพิ่มเติมตัวเราให้ดีขึ้น
ถ้าจะเปรียบเหมือนกับชาวนาชาวสวน
การถือวินัยก็เหมือนการถางต้นไม้ต้นหญ้าที่เกิดขึ้นในนาให้หมดไป
การถือธรรมะก็เหมือนการปลูกต้นข้าวลงไปในนาเพื่อให้งอกงามผลิตดอกออก ผลต่อไป
ฉันใดก็ฉันนั้น เพราะฉะนั้นเราจึงถือธรรมวินัย
ว่าเป็นครูเป็นอาจารย์ของเราเป็นสิ่งที่เราควรจะเข้าถึง
ควรจะมีไว้ในจิตใจของเราตลอดไป ผู้ใดปฏิบัติตามธรรมวินัย
ผู้นั้นปฏิบัติต่อองค์พระพุทธเจ้าผู้ใดศึกษาธรรมวินัย
ก็เท่ากับศึกษาเรื่องของพระผู้มีพระภาคเจ้า
ผู้ใดมีธรรมวินัยอยู่ในใจ ผู้นั้นเป็นคนไม่อยู่เปล่า ไม่เกิดเปล่า
ไม่ตายเปล่า แต่เป็น ผู้อยู่ด้วยธรรมะวินัย เป็นผู้อยู่ด้วยความงามความดี
เอาพระมาเป็นที่พึ่ง ไม่เอาผีร้ายมาเป็นที่พึ่งในทางจิตใจ
การอยู่กันในรูปอย่างนั้นนั่นแหละ
เป็นเหตุให้เกิดความสุขความเจริญในชีวิตประจำวันได้สมความปรารถนา
อันนี้เป็นเครื่องแสดงว่า ให้ถือธรรมเป็นหลักนี้ประการหนึ่ง
อีกบทบาทหนึ่งที่พระองค์ตรัสกับพระวักกลิ คือเรื่องมันมีว่า
พระวักกลิเป็นคนหนุ่ม ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็พอใจ
ไม่ใช่เห็นพอใจในหลักธรรมคำสั่งสอน
แต่ว่าพอใจว่าพระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระรูปพระโฉมงดงาม น่าดูแท้ๆ
ก็เลยเข้ามาขอบวชในสำนักพระผู้มีพระภาค ไม่ใช่บวชเพื่อปฏิบัติธรรม
แต่บวชเพื่อจะอยู่ใกล้พระองค์แล้วจะดูด้วยตาให้ อิ่มใจในรูปร่างของพระองค์
คนเราบางทีก็เป็นอย่างนั้น อยากดูตัวดูหน้าดูตา ได้ยินแต่เสียง
ไม่พออยากจะดูตัวด้วย สมมติว่าคนฟังเทศน์ทางวิทยุ ได้ยินเสียงของอาตมา
เมื่อได้ยินเสียงก็อยากจะดูตัวด้วยว่ารูปร่างหน้าตาท่านเป็นอย่างไร
มีโอกาสใดที่จะได้ดูตัวก็ต้องดู ครั้นมาดูเข้าจริงๆ ก็อ้วนจ้ำม่ำม่อต้อไม่เข้าท่า
ร่างกายของคนเรามันเป็นแต่เปลือกคน ไม่ใช่เนื้อแท้ เราจะไปดูเอาเรื่องอะไร
ฟังธรรมก็เรียกว่าใช้ได้แล้ว แต่ว่าอย่างนั้นแหละคนเรามันยังติดในรูป ในเสียง
ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส พูดย่อๆว่าติดวัตถุ
เมื่อยังมีความติดอยู่ในวัตถุก็อยากจะดูวัตถุนั้นด้วย มันเป็นเรื่องธรรมดา
วักกลิหนุ่มน้อยก็เป็นเช่นนั้นแหละ อยากจะดูพระรูปพระโฉมของพระผู้มีพระภาคเจ้า
เลยเข้าไปบวชในพระพุทธศาสนา บวชแล้วไม่ศึกษาไม่ปฏิบัติธรรมะ
ไปนั่งดูพระผู้มีพระภาคอยู่บ่อยๆ
เวลาไหนมีโอกาสพอจะดูได้ก็ไปนั่งดูพระผู้มีพระภาคเจ้า
พระองค์เห็นว่ามันจะไม่ได้เรื่องเสียแล้วในการที่ประพฤติตนเช่นนั้น
จึงได้บอกให้ออกไปเสียจากสำนัก ไม่ให้อยู่ในที่นั้นต่อไป
เพราะการกระทำเช่นนั้นเป็นการไร้สาระ ไม่มีความหมายในทางจิตทางวิญญาณแม้แต่น้อย
วักกลิได้ฟังคำสั่ง ให้ออกไปอย่างนั้นก็เสียใจ ไม่สมหวัง
คนเราถ้าไม่สมหวังเสียอกเสียใจอะไรก็คิดจะลาโลกขึ้นมาทีเดียว
ไม่อยากจะอยู่ในโลกนี้ต่อไป เขาเรียกว่าเป็นคนใจน้อยสร้อยสั้น
มีความระทมตรมใจนิดหน่อย อยากจะไปกระโดดสะพานพระราม 6 ให้มันตกน้ำตาย
อันนี้มันเป็นความคิดเขลาๆ โง่ๆ ไม่ได้เรื่องอะไร
พระวักกลิคนนั้นแกก็คิดจะโง่อยู่เหมือนกัน
พอเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ให้ดูพระรูปพระโฉมขึ้นมาตอนนั้น ก็นึกในใจว่า
จะอยู่ไปทำไม ชีวิตไม่มีความหมาย ไม่ได้ดูพระรูปพระพุทธเจ้าไปตายเสียดีกว่า
คิดไปในรูปอย่างนั้น แกก็ไปที่หน้าผา ทำท่าจะกระโดดลงไปให้มันตายเสียเลยอย่างนั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นอย่างนั้นก็เลยส่องแสงสว่างไปให้เห็นด้วยตา
เมื่อเห็นแสงสว่างก็เกิดการตื่นตกใจขึ้นว่าแสงอะไร เหลียวไปก็พบพระผู้มีพระภาคเจ้า
ครั้นพบพระองค์ พระองค์ก็ตรัสว่า "โย โข วักกลิ ธัมมังปัสสติ โส มัง ปัสสติ" ว่า
"ดูกรวักกลิ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเห็นตัวเรา"
พระองค์ตรัสกับพระวักกลิในรูปอย่างนี้ เมื่อตรัสออกไปในรูปเช่นนั้น
พระวักกลิได้ฟังแล้วก็เข้าใจความหมาย ว่าผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเป็นพระตถาคต
องค์พระตถาคตที่แท้จริงก็คือธรรมะ ไม่ใช่รูปร่างที่ประกอบขึ้นด้วยธาตุทั้งสี่ มีดิน
น้ำ ไฟ ลมเป็นต้น นั้นเป็นเปลือก ไม่ใช่เนื้อแท้ของพระผู้มีพระภาคเจ้า
เนื้อแท้ของพระผู้มีพระภาคเจ้าก็คือองค์ธรรมทั้งหลายนั่นเอง เมื่อรู้เช่นนั้น
เข้าใจเช่นนั้นก็เลยพ้นไปจากความทุกข์ จิตใจสงบพ้นไปจากความทุกข์ไปได้สมความตั้งใจ
เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญ
เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าสอนให้เราทั้งหลายเข้าถึงธรรมะ
ไม่ใช่เข้าถึงรูปร่างของพระองค์
ไม่ใช่เข้าถึงสิ่งที่เป็นวัตถุอันเป็นเครื่องหมายแทนพระองค์ แต่ให้เข้าถึงตัวธรรมะ
ตัวธรรมะนั่นแหละเป็นสิ่งที่เราควรเข้าถึง ควรจะให้มีอยู่ในใจของเรา
ผู้ใดเข้าถึงธรรมะ ผู้นั้นชื่อว่าเข้าถึงพระพุทธเจ้า
เห็นองค์แท้องค์จริงของพระพุทธเจ้า
ในเรื่องนี้ขอทำความเข้าใจสักหน่อยคือว่า
พระพุทธะรูปร่างหน้าตาก็เหมือนกับคนธรรมดา แต่ว่าจิตใจนั้นไม่เหมือนคนธรรมดา
จิตใจของพระองค์แตกต่างจากคนธรรมดา ตรงที่หมดกิเลส ไม่มีเครื่องเศร้าหมองใจ
เราจึงเรียกพระองค์ว่า "อรหํ" คำว่า อรหัง แปลว่าผู้ไกลจากกิเลส
ดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์สิ้นเชิงแล้ว
ส่วนเราคนธรรมดานั้นยังอยู่ในกองกิเลส ดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์ยังไม่ได้
เพลิงกิเลสยังเผาไหม้จิตใจอยู่ เพลิงทุกข์ก็ยังเผาไหม้จิตใจอยู่ตลอดเวลา
แต่ว่าพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นหมดกองเพลิงแล้ว ไม่มีเชื้อเพลิง ไม่มีผู้จุดเพลิง
ไม่มีอะไรจะสร้างภพใหม่ชาติใหม่ให้แก่พระองค์อีก ชาตินั้นเป็นชาติสุดท้ายของพระองค์
คือเกิดมาเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ แล้วก็ ตรัสรู้เป็นพุทธะ
แล้วก็ปรินิพพานหมดกันเพียงเท่านั้น ไม่มีอะไรสืบต่อกันต่อไป
แต่ว่าพวกเราทั้งหลายนั้นยังอยู่ในวงจรของกิเลส
ยังไม่หมดกิเลสอันเป็นเหตุสืบต่อแห่งชาติ ชรา พยาธิ มรณะ
ยังสร้างภพสร้างชาติกันต่อไป เราจึงตกอยู่ในวงจรแห่งสังสารวัฏฏ์
ยังมีการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏฏสงสารไม่รู้จบรู้สิ้น เรื่องอย่างนี้ปรากฏอยู่
เพราะฉะนั้นเมื่อพระ องค์หมดกิเลสแล้ว ก็เรียกว่าเป็นพระอรหันต์บุคคล
เป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยประการทั้งปวง
ความบริสุทธิ์เกิดขึ้นเพราะอะไร เกิดเพราะพระองค์ได้เห็นธรรมเข้าใจธรรมะ,
เห็นธรรมะในรูปใด คือเห็นความทุกข์ เห็นเหตุให้เกิดทุกข์ เห็นการดับทุกข์ได้
และเห็นทางให้ถึงความดับทุกข์อย่างเด็ดขาด ชัดเจนแจ่มแจ้ง เห็นว่า
ความทุกข์เป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้ พระ องค์ก็ได้รู้ไว้แล้ว เห็นว่าสมุทัย
อันเป็นตัวเหตุให้เกิดความทุกข์นั่นเป็นสิ่งควรละ พระองค์ก็ได้ละสิ่งนั้นไปแล้ว
เห็นตัวนิโรธ
ว่าเป็นตัวสิ่งควรจะทำให้เกิดขึ้นในน้ำพระทัยก็ได้กระทำให้เกิดขึ้นแล้ว
อย่างนี้เรียกว่าเห็นแจ้งในข้อธรรมะ คืออริยสัจ 4 นั่นเอง
เมื่อเห็นแจ้งในอริยสัจทั้ง 4
ประการก็รู้จักสภาพทั้งหลายตามสภาพที่เป็นจริง ถ้าพูดให้ฟังง่ายๆ ก็ว่า
รู้จักตัวเอง รู้จักสิ่งที่เกิดขึ้นชัดเจน รู้จักเหตุของมัน
แล้วก็รู้ว่าจะแก้ไขสิ่งนั้นได้ด้วยวิธีใด พระองค์เข้าใจชัดเจนแจ่มแจ้งในเรื่องนี้
เพราะฉะนั้น น้ำพระทัยจึงบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีความเศร้าหมองเกิดขึ้นต่อไป
คนเราตามปกตินั้น ยังมีความเศร้าหมองเกิดขึ้นในใจ
ความเศร้าหมองที่เกิดขึ้นในใจนั้น
ก็เพราะเหตุว่าเรายังไม่รู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งดังกล่าว ยังมืดมัวอยู่
คล้ายกับตอนใกล้รุ่งยังไม่สว่าง มองอะไรก็ไม่เห็นชัด
แต่ว่าพอดวงอาทิตย์อุทัยไขแสงขึ้นมา ความมืดหายไปความสว่างก็เกิดขึ้นมาแทนที่
ก็ได้เกิดความรู้ความเข้าใจว่าอะไรเป็นอะไรถูกต้อง
พระผู้มีพระภาคได้ทรงรับแสงสว่างทางใจถูกต้องชัดเจนขึ้นมา ก็รู้ว่า
อะไรเป็นอะไรชัดเจนแจ่มแจ้ง จึงพ้นจากความหลง ความยึดถือในสิ่งนั้นๆ
เรียกว่าธรรมทำให้พระองค์เปลี่ยนสภาพทางจิตทางวิญญาณ
เปลี่ยนจากเจ้าชายสิทธัตถะเป็นพุทธะขึ้นมา
เป็นพุทธะนี้เป็นชื่อพิเศษ เคยมีคนถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
พระองค์เป็นมนุษย์หรือ? พระองค์ตอบว่า ไม่ใช่ เป็นเทวดาหรือ? ไม่ใช่
เป็นคนธรรพ์หรือ? ไม่ใช่ เป็นนั้นเป็นนี้หรือ? ไม่ใช่ทั้งนั้น แล้วก็ถามว่า
พระองค์เป็นอะไร? พระองค์ก็ตอบว่าเราเป็นพุทธะ ที่ได้ตอบว่าเป็นพุทธะนั้นก็เพราะว่า
กิเลสอันเป็นเหตุให้มนุษย์เป็นเทวดา เป็นพรหม เป็นยักษ์ หรือเป็นคนธรรพ์
อะไรก็ตามทีเถอะมันไม่มีแล้ว เมื่อไม่มีแล้วก็เรียกว่าพุทธะ พุทธะเป็นตำแหน่งพิเศษ
ที่ได้เกิดขึ้นในน้ำพระทัยของพระองค์ พระองค์เป็นในตำแหน่งนั้น
จึงเรียกว่าเป็นพุทธะ ไม่เหมือนกับอะไรๆ อีกต่อไปแล้ว
พุทธะก็แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
รู้ธรรมะแล้วก็ตื่นจากความหลับคือกิเลส เบิกบานเหมือนกับดอกบัวในยามเช้า
ที่บานรับแสงอาทิตย์ น้ำพระทัยของพระผู้มีพระภาคเจ้าก็เบิกบานด้วยธรรม
แสงธรรมส่องใจ ใจก็เบิกบานกับ แสงธรรมตลอดไป ไม่มีการหุบอีกแล้ว
ไม่เหมือนดอกบัวบานตอนเช้า ตอนเย็นก็หุบไป รุ่งขึ้นก็บานใหม่จนกว่าจะแห้งโรยรายไป
แต่น้ำพระทัยของพระผู้มีพระภาค เบิกบานอยู่ตลอดเวลา เราจึงเรียกพระองค์ว่า พุทโธ
แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
อันนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญประการหนึ่ง
ที่ถือว่าธรรมะนั่นแหละเป็นตัวแท้จริงของพระองค์ เป็นสิ่งที่เราควรเข้าถึง
เข้าถึงให้ได้ ถ้าเราเข้าถึงธรรมะเราก็สบายใจ เราไม่มีความวุ่นวายเดือดร้อนเกิดขึ้น
เวลานี้องค์พระพุทธเจ้าที่เนื้อหนังไม่มีแล้ว แต่องค์พุทธะที่เป็นตัวธรรมะนั้น
ยังมีอยู่ตลอดเวลา มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง มีให้เราได้กราบไหว้บูชาสักการะตลอดไป
เราจึงควรจะได้จงรักภักดีต่อธรรมะ ถือธรรมะเป็นอาหาร ถือธรรมะเป็นอากาศหายใจ
ถือให้เหมือน กับลมหายใจ เราหายใจเข้าหายใจออกตลอดเวลา หยุดบ่ได้ยั้งบ่ได้ ฉันใด
เราก็ต้องถึงธรรมะไว้ตลอดเวลา หายใจเข้าก็ให้ธรรม หายใจออกก็ให้เป็นธรรม
จะยืนจะเดินจะนั่งจะนอน ก็ให้เป็นธรรมไว้ อย่าได้ทิ้งธรรมะไปเสียเป็นอันขาด
ก็จะได้ชื่อว่าเราถึงธรรมะ ธรรมะถึงเรา คนเราถ้าจิตถึงธรรมะ ธรรมะก็ถึงจิต
เมื่อจิตถึงธรรม ธรรมะถึงจิต เราก็เปลี่ยนชีวิตเปลี่ยนจิตใจ
เข้าไปสู่สภาพความสงบสุข ไม่มีความทุกข์ความเดือดร้อน
แม้ว่าเราจะอยู่ในโลกเราก็อยู่ภายใต้ร่มธรรมมีธรรมเป็นกำแพง
มีธรรมเป็นเครื่องคุ้มครองป้องกัน ความยุ่งยากในชีวิตจะเกิดขึ้นไม่ได้
เราจะอยู่เย็นเป็นสุขตลอดไป นี้แหละเป็นเรื่องสำคัญที่เราทั้งหลายได้ศึกษาสนใจ
จำไว้เป็นหลักดำเนินชีวิตต่อไปตามสมควรแก่ ฐานะ
ธรรมะเป็นดวงประทีปส่องใจอย่างนี้ เราจึงควรจะได้เข้าถึง ปัญหามีต่อไปว่า
ในการเข้าถึงธรรมะนั้น เราจะเข้าถึงกันอย่างไร? ในการเข้าถึงธรรมนั้นมี 2 วิธี คือ
เข้าถึงอย่างช้าๆ แล้วก็เข้าถึงอย่างลัดๆ ก็มีเหมือนกัน การเข้าถึงธรรมะอย่างช้าๆ
ก็หมายความว่า ก้าวเดินไปตามเส้นทางที่เขาวางไว้ให้เราเดิน ชี้ไว้ให้เราเดินนั้น,
มันมีอะไรบ้าง? คือว่า มีเส้นทางที่ให้เดินอยู่ 3 ทาง เรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา
| หน้าถัดไป >>
» ไม่มีอะไรได้ดังใจเหมือนม้ากาบกล้วย
» วันนี้เจ้าอยู่กับฉันพรุ่งนี้มันไม่แน่
» หลักใจ
» เกิดดับ
» มรดกธรรม