ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

หอพระไตร


ธรรมบรรยายของ หลวงพ่อปัญญา

ปาฐกถาธรรม เรื่อง หลักใจ

วันอาทิตย์ที่ 20 ตุลาคม 2517
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย

2

ศีล สมาธิ ปัญญานี่เป็นทางเดิน เป็นมรรคที่พระผู้พระภาคเจ้าชี้ไว้ให้เราเดิน เราก็เดินไปตามทาง 3 ประการนี้ โดยลำดับขั้นไป คือเริ่มต้นก็เดินในขั้นศีลเสียก่อน เรียกว่าปฏิบัติในส่วนศีล แต่ว่า การปฏิบัติในส่วนศีลนั้นต้องมีปัญญาเป็นพื้นฐาน ถ้าไม่มีปัญญาเป็นพื้นฐานศีลก็จะง่อนแง่นคลอนแคลนไป ปัญญาที่ใช้เป็นพื้นฐานในการปฏิบัตินั้นเรียกว่า ปัญญาตัวเหตุ ครั้นถึงที่สุดก็เกิดปัญญาตัวผล ซึ่งเราเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา

ปัญญาตัวหลังนั้นเป็นปัญญาตัวผล เกิดขึ้นจากปัญญาตัวเหตุก่อน ปัญญาตัวเหตุนั้น ก็คือปัญญาตัวที่ใช้ในการพิจารณาศีล ให้รู้ว่าศีลคืออะไร เราจะปฏิบัติอย่างไร ปฏิบัติแล้วจะเกิดอะไรขึ้นในชีวิตจิตใจของเรา การใช้ปัญญาอย่างนี้เป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องกระทำก่อน ถ้าไม่กระทำ อย่างนี้ก็เป็นคนงมงาย ถือศีลไม่รู้จักศีล ถือศีลก็ไม่รู้ประโยชน์ของศีล ถือศีลโดยไม่รู้ว่าถือกันไปทำไม ก็ถือกันไปตามเรื่อง เวลารับศีลก็รับกันไป เวลารับแล้วก็ไม่รู้จะเอาไปวางไว้ตรงไหน ไม่รู้จะรักษามันอย่างไร แล้วศีลมันจะอยู่กับเราอย่างไร ผลที่สุดศีลก็หนีเราไปหาพระผู้ให้เสีย เราก็อยู่อย่างคนไม่มีศีลต่อไป

ก็มีอยู่ถมไปพอรับศีลเสร็จหยกๆ แล้วก็ไปนั่งก๊งอยู่ใต้ถุนบ้าน เวลามีงานมีการที่บ้านเขาก็อย่างนั้นแหละ แล้วก็คนไทยเราในบางกอกรับศีลเอาเปรียบ พระว่าดังๆ แต่ผู้รับศีลนั้นว่ามุบมิบๆ ว่าอยู่ในคอ ทำไมไม่ว่าออกไปให้มันดังหน่อยชัดถ้อยชัดคำ ที่ว่าไม่ดังก็คงจะมีอุบายอยู่ในใจ ไม่อยากให้ใครได้ยิน จะได้เลี่ยงง่ายหน่อย สมมติว่าพอรับศีลแล้วก็ไปนั่งก๊งเหล้าอยู่ ถ้าเพื่อนต่อว่า ว่าลื้อเป็นอย่างไร รับศีลอยู่เมื่อตะกี้นี้มาดื่มเหล้าอยู่แล้ว ก็คงจะเลี่ยงไปว่า อั๊วรับเมื่อไหร่ ฟังศีลต่างหาก หรือไม่ก็พูดว่าอั๊วรับเพียง 4 ข้อเท่านั้นแหละ ข้อที่ 5 ไม่ได้รับดอก เพราะเห็นขวดมันตั้งอยู่หลายขวดชักจะน้ำลายไหล เลยรับเพียง 4 ข้อ แบบนี้แล้วรับกันจนตายก็ไม่ก้าวหน้า ไม่เจริญงอกงามในส่วนศีลเลยแม้แต่น้อย เพราะไม่รู้ว่ารับไปทำไม

การรับศีลนั้นก็คือ การรับเอาข้อปฏิบัติไป เพระการรับศีลก็คือการกล่าวสัญญาผู้ให้ศีล ว่าเราจะเป็นผู้ถือศีลว่าเราจะเป็นผู้ถือศีล อย่างนี้จึงจะชื่อว่าการรับ รับแล้วก็ต้องถือไว้เหมือนกับเราไปรับสิ่งของจากใคร เขาให้เราก็รับ รับแล้วต้องถือไว้การถือศีลนั้นถือไว้ที่ไหน? ก็ถือไว้ที่ใจของเรานั่นเอง ศีลมันอยู่ที่ใจ ใจอย่างใดเป็นตัวศีล? ใจที่มีความตั้งใจว่าจะงดเว้น นั่นแหละเป็นตัวศีล เขาเรียกว่า เจตนา พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า "เจตนาหัง ภิกขะเว สีลัง วะทามิ" แปลว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า เจตนานั่นแหละเป็นตัวศีล" เจตนา ก็คือการตั้งใจที่จะงดเว้น

การงดเว้นก็เรียกว่าวิรัติเจตนา วิรัติเจตนาก็คือ ความตั้งใจที่จะงดเว้น งดเว้นจากอะไร?เช่นเรารับศีล 5 ข้อเราก็มีความตั้งใจที่จะงด เว้นไม่ฆ่าไม่เบียดเบียนใคร ตั้งใจงดเว้นไม่ถือเอาสิ่งของของใครๆ ตั้งใจงดเว้นไม่ประพฤติล่วงเกินกับของรักของชอบใครๆ ตั้งใจงดเว้นว่าจะไม่พูดโกหกกับใครๆ ตั้งใจงดเว้นว่าจะไม่ดื่มกินของของมึนเมาอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ไม่ว่าในรูปใดๆ จะเป็นการกิน การดื่ม การเสพ การสูบ งดเว้นทั้งนั้น เพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งเสพติดให้โทษ ไม่ได้ประโยชน์แก่ชีวิตจิตใจ ดื่มเข้าไปแล้วมีแต่ความวุ่นวาย สร้างความทุกข์ความเดือดร้อนให้แก่ตนด้วยประการต่างๆ ก็ตั้งใจงดเว้น

การตั้งใจงดนั้นแหละเรียกว่าเป็นตัวศีล ตัวศีลมันอยู่ในใจของเรา งดไว้ที่ใจเว้นไว้ที่ใจ ใจก็เป็นศีล ศีลก็เข้าใจเรา ใจเราถึงศีลศีลถึงใจ มันต่างฝ่ายต่างถึงกัน เข้ามาหากันแล้วก็อยู่ด้วยกัน ตราบใดที่เรายังมีความตั้งใจที่จะงดเว้น เราก็ยังมีศีลอยู่ ยังชื่อว่ายังรักษาศีลอยู่ แต่เมื่อใดที่เราเลิกความตั้งใจ อย่างนี้ก็เรียกว่าไม่มีศีลในใจของบุคคลนั้น จิตใจของบุคคลนั้นขาดศีลไปเสียแล้ว เขาจะอยู่ด้วยความสุขได้อย่าไร

ทำไมเราจึงได้ถือศีล? ก็เพื่อทำใจของเราได้ดีขึ้น ให้งดงามขึ้น ให้ปราณีตขึ้น จิตใจคนที่ไม่มีศีลมันหยาบกระด้าง มีแต่ความโหดเหี้ยมดุร้าย ถึงบทจะฆ่าก็ฆ่า ถึงบทจะลักก็ลัก ถึงบทจะล่วงเกินอะไรก็ล่วงเกิน ถึงบทจะพูดคำหยาบพูดโกหกก็พูดออกไป ไม่มีอะไรเป็นหลักเกณฑ์ ถึงบทจะดื่มของมึนก็ดื่มเข้าไป อย่างนี้แหละเรียกว่าผู้ไม่มีหลักเกณฑ์ ทำอะไรก็ทำไปตามความอยากความปรารถนา ไม่มีความสำนึกว่า การทำนั้น จะเป็นการเสียหายแก่ตนเองแก่ท่าน น้ำใจเหี้ยมโหดดุร้าย ไม่มีธรรมประจำจิตใจ เป็นพื้นฐานชั้นต้น เรียกว่าเป็นคนไม่มีศีล

คนไม่มีศีลก็อยู่ด้วยความทุกข์ความเดือดร้อน แต่ถ้าว่าเราเป็นคนมีศีลก็อยู่สบาย เพราะฉะนั้นเวลาพระท่านให้ศีลแล้ว ท่านจึงกล่าวตบท้ายว่า "สีเลน สุคติง ยันติ" จะได้ความสุขก็เพราะศีล "สีเลน โภคสัมปทา" จะได้โภคทรัพย์ก็เพราะศีล "สีเลน นิพพุติงยันติ" จะบรรลุนิพพานก็เพราะศีล "ตัสมา สีลัง วิโสธะเย" เพราะฉะนั้นจงรักษาศีลให้บริสุทธิ์ไว้เถิด.

อันนี้แหละเป็นหลักในทางที่เราจะปฏิบัติ เบื้องต้นเราก็ต้องมีศีล ในโลกนี้อยู่ได้ด้วยศีล ศีลให้ความสุขแก่เราตราบเท่าชรา ศีลทำให้เกิดยศชื่อเสียงขึ้นในชีวิต ในสังคม มนุษย์เราที่อยู่ด้วยกันด้วยความสงบก็เพราะมีศีลแท้ๆ แต่ถ้าหากว่าทิ้งศีลเมื่อใด ความวุ่นวายก็จะเกิดขึ้นในสังคมเมื่อนั้น อันนี้เป็นหลักสำคัญที่เราควรระลึกไว้ในใจตลอดไป

อย่าอยู่โดยปราศจากศีล อยู่โดยมีศีลเป็นหลักไว้เถิด ท่านจะเกิดความสุขได้สมปรารถนา ก็เวลานี้โลกวุ่นวายเพราะไม่มีศีล ประชาชนไม่ถือศีล ผู้ปกครองรัฐบางทีก็ไม่ถือศีล ยกกองทัพไปฆ่าบั่นทอนกัน ทำลายชีวิตเบียดเบียนกันด้วยวิธีต่างๆ นั้นก็เพราะว่าไม่มีศีลประจำใจนั่นเอง จึงเกิดความวุ่นวาย เมื่อเราเรียกตัวเองว่าพุทธบริษัท อย่างน้อยก็ต้องมีศีล 5 ประจำใจไว้ เมื่อถือศีลห้าก็เรียกว่าการเดินทางชั้นพื้นฐาน เหยียบรอยพระ บาทของพระพุทธเจ้าในขั้นศีลแล้วเป็นเบื้องต้นเป็นนิจ ต้องถือตลอดไปเลิกละไม่ได้เป็นอันขาด นี้ประการหนึ่ง

เมื่อมีศีลเราก็ต้องมีธรรมะคู่กันกับศีลด้วย เพื่อจะได้อยู่ร่วมกัน ศีลกับธรรมะไม่เหมือนกัน ศีลเป็นเรื่องละ ธรรมะเป็นเรื่องเจริญ การปฎิบัติในพระศาสนานั้นเขาเรียกว่า "ปหานกิจ ภาวนากิจ" มี 2 ประการ
ปหานกิจ คือ กิจการละเรื่องชั่วเรื่องร้ายภาวนา หมายถึง การทำความดีให้เจริญขึ้น เราละความชั่วแล้ว ถ้าไม่ทำความดีก็ยังไม่ก้าวหน้า เพราะว่าศีลธรรมนั้นความจริงก็ไม่เหมือนกัน แตกต่างกัน ศีลเป็นเรื่องละ ธรรมะเป็นเรื่องเจริญ เมื่อละแล้วก็เจริญ เหมือนเราขุดดินแล้วต้องปลูกพืชปลูกผักลงไป ถ้าขุดดินแล้วไม่ปลูกพืชปลูกผัก มันก็ไม่ได้เรื่องอะไร เราต้องปลูกพืชปลูกผักลงไป ในดินที่เราแปลงไว้ดีแล้วนั้น จะได้เกิดประโยชน์เกิดความสุขแก่เราต่อไป ผู้มีศีลแล้วก็ต้องมีธรรมคู่กัน

เช่นถือศีลข้อหนึ่ง งดเว้นจากการฆ่า ก็ต้องมีเมตตาธรรม ประจำใจปรารถนาความสุขความเจริญแก่เพื่อนทั้งหลาย รวมทั้งสัตว์เดรัจฉานด้วย งดเว้นจากการถือเอาของผู้อื่น แล้วเราต้องเป็นผู้มีสัมมาอาชีพ คือมีอาชีพชอบธรรม ทำมาหากินไม่ใช่อยู่เฉยๆ ถือศีลไม่ลักของใคร แต่ว่าไม่ทำอะไรแล้วจะมีอะไรกินมีอะไรใช้ มันลำบาก เราจึงต้องทำมาหากิน ตามสมควร แก่ฐานะ อย่าอยู่นิ่งอยู่เฉย ต้องทำมาหากินไปตามเรื่อง อาชีพที่ทำนั้นก็ต้องเป็นอาชีพสุจริต ไม่ผิดกฎหมายไม่ผิดศีลธรรม ไม่ทำใครให้เดือดร้อน จึงจะชื่อว่าเป็นอาชีพที่ชอบที่ควร อันนี้เป็นเรื่องคู่กัน

ถือศีลข้อ 3 ก็งดเว้นจากการประพฤติล่วงเกินของรักดังดวงใจของเขา แล้วก็ต้องพอใจในคู่ครองของตน เราได้คู่ครองอย่างใดก็ต้องพอใจ คนที่ไม่พอใจในคู่ครองของตนวุ่นทุกราย เป็นคนหาเรื่อง ทำเรื่องยุ่งขึ้นในสังคม ในครอบครัว เป็นเหตุให้ครอบครัววุ่นวายแตกสลาย ไปด้วยประการต่างๆ สร้างความทุกข์ความเดือดร้อนแก่ชีวิตมากมาย จึงเป็นเรื่องที่เรียกว่าไม่เหมาะไม่ควรด้วยประการทั้งปวง นี้ประการหนึ่ง

เมื่องดเว้นจากการพูดโกหกแล้ว เราก็ต้องพูดคำจริง พูดคำอ่อนหวาน พูดคำสมานสามัคคี พูดคำ ที่ดีมีประโยชน์เสียบ้าง ไม่ใช่ว่าจะพูดคำโกหกกันเรื่อยไปอย่างนั้นหามิได้ งดเว้นจากการดื่มของมึนเมาแล้ว ให้เรารู้ว่าของมึนมันทำลายสติปัญญาให้หมดไป เมื่อเรางดเว้นจากการดื่มกินของมึนเมา ก็หัดทำตนให้มีสติสมบูรณ์มีปัญญาสมบูรณ์ อย่าทำอะไรด้วยความเผลอ อย่าทำอะไรด้วยความเขลา ทำจิตใจให้มีสติปัญญาสมบูรณ์ไว้ เราจะก็เอาตัวรอดปลอดภัย อันตรายด้วยประการทั้งปวง เพราะการคิดนึกในทางที่ถูกที่ชอบในรูปอย่างนี้ นี่ก็เรียกว่าเป็นคนมีศีลธรรมประจำจิตใจ เมื่อมีศีลธรรมประจำจิตใจแล้วก็เรียกว่ายืนอยู่บนฐานอันมั่นคงบนบันไดขั้นแรก อย่าหยุดเพียงเท่านั้นต้องก้าวหน้าต่อไป ก้าวหน้าไปสู่รากฐานที่ยิ่งขึ้นไปกว่านั้น

รากฐานที่เราจะก้าวหน้าต่อไปนั้นอยู่ที่อะไร เราก็ต้องก้าวหน้าต่อไปถึงการรักษา อุโบสถศีล อีกหน่อย เพราะศีลนี้มันเป็นศีลชาวบ้าน เป็นศีลตามปกติ เราก็ควรก้าวทางศีลอีกหน่อยคือรักษาศีลอุโบสถ การรักษาศีลอุโบสถเรียกว่าการประพฤติพรหมจรรย์ พรหมจรรย์นั้นแหละ เป็นสิ่งที่พระผู้มีพระภาคสอนให้พระไปประกาศ เวลาส่งพระออกไปสอนธรรมะแก่ประชาชน พระองค์ตรัสสั่งว่า "พฺรหฺมจริยัง ปกาเสถะ - เธอทั้งหลาย จงเที่ยวไปเพื่อประกาศพรหมจรรย์ อันไพเราะในเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุดแก่เขา"

การประพฤติพรหมจรรย์นั่นก็คือการประกาศการครองชีวิตอันประเสริฐ ให้คนทั้งหลายเห็นคือต้องไปพูดให้เขาฟัง แล้วก็ไปทำให้เขาดูเป็นตัวอย่าง พระเราเป็นการสาธิตของการดำเนินชีวิตชอบของญาติโยม ถ้าหากว่าสาธิตดีแล้วโยมก็เลื่อมใส ถ้าสาธิตไม่เข้าท่า โยมก็หมั่นไส้เอาเหมือนกัน เพราะฉะนั้นพระเราต้องสาธิตแบบดีให้ญาติโยมเห็น สำรวม ระวัง จะยืนจะเดินจะนั่งจะทำอะไรก็ต้องระวังๆ อันใดไม่สมควรแก่กิจของสมนะ อย่าไป เขามีไฮปาร์คกันที่สนามหลวงอย่าไปยืนฟัง ไม่ใช่เรื่องของเรา เรื่องการบ้านการเมืองหรือว่าเขามีอภิปรายเรื่องอะไร จะไปฟังทำไม เราเป็นผู้ประเสริฐเลิศกว่าชาวบ้าน จะไปนั่งฟังเรื่องเหลวไหลไร้สาระ ฟังเดรัจฉานกถามันน่าขายหน้า เราจึงไม่ควรลดตัวในสภาพเช่นนั้น เราควรจะฟังพระพุทธเจ้าพูดให้เราฟังดีกว่า

พระพุทธเจ้าพูดอยู่ตลอดเวลาไม่ยักฟัง ไปฟังอะไรมันด่ากันไม่รู้ อย่างนี้ไม่เข้าท่า เป็นพระนอกรีดนอกรอย จะได้สาระอะไรแก่ชีวิตก็หาไม่ เราจึงไม่ควรไปสนใจในเรื่องอย่างนั้น เราสนใจในเรื่องภายในดีกว่า ฟังเรื่องของเราดีกว่า จึงจะก้าวหน้า นี้แหละเรียกว่าการประพฤติพรหมจรรย์ คือการดำรงชีวิตชอบ ดำรงชีวิตในทางที่เหมาะที่ควร เหมาะควรตามแบบตามวินัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้แสดงไว้นั่นเอง ไม่เดินออกนอกแบบ เรียกว่า ประพฤติพรหมจรรย์ ชาวบ้านก็ควรประพฤติพรหมจรรย์ได้

การเป็นอยู่ของพรหมจรรย์นั้นคือการประพฤติแบบพรหม พรหมะในที่นี้หมายถึงความบริสุทธิ ไม่ใช่หมายถึงพรหมสร้างโลก หรือว่าพระพรหมที่หน้าโรแรมเอราวัณ ที่คนไปไหว้หามิได้ แต่หมายถึงความบริสุทธิ์ พรหมะคือความบริสุทธ์ การรักษาใจให้บริสุทธิ์ ต้องมีเครื่องประกอบเรียกว่าศีลอุโบสถนั่นเอง เรารักษาศีลอุโบสถเรียกว่ารักษาพรหมจรรย์ ทำให้ชีวิตของเราประเสริฐไม่เสียหาย บริสุทธิ์อยู่ ก็การรักษาพรหมจรรย์ก็เพิ่มขึ้นจากศีลห้า แต่ว่าในศีลนั้นต้องเปลี่ยนข้อ 3 ศีลห้า ข้อ 3 เรารับว่ากาเมสุ มิจฉาจารา เวรมณี สิกขา ปะทังสะมาธิยามิ ถ้าเรารับศีลอุโบสถเราก็ว่า "อพฺรหฺมจริยา เวรมณีสิกขาปะทัง สะมาทิยามิ - ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือ การงดเว้นจากการประพฤติผิดกิจพรหมจรรย์" นี้เรียกว่าถือศีลพรหมจรรย์ข้อที่ 3 แล้วก็มีข้อ-หก-เจ็ด-แปดเป็นเครื่องประกอบ ข้อ 6 นั้นไม่ให้กินอาหารหลังเที่ยง คือไม่ต้องการให้กินมาก จุดมุ่งหมายมันอยู่ตรงนั้น

แม้กินแต่เช้าถึงเที่ยงถ้ากินมาก ก็ผิดศีลพรหมจรรย์ไป ไม่กินด้วยความตะกละกินมากไป ไม่กินด้วยการติดรสอาหาร แต่เรากินด้วยปัญญาคือกินพอเพียงอยู่ได้ ให้ร่างกายนี้มีเรี่ยวแรงพอสมควร แล้วจะได้ประพฤติพรหมจรรย์กันต่อไป ไม่ใช่กินกันจนอ้วนเหมือนหมูตอน อย่างนั้นหามิได้ อันนี้เรียกว่ากินแบบรักษาพรหมจรรย์ กินน้อยๆ นอนน้อยๆ หมั่นเจริญภาวนา ก็เรียกว่าเป็นผู้อยู่อย่างแบบพรหม ประพฤติพรหมจรรย์ ด้วยการกินอาหารน้อยๆ ดีเหมือนกัน ญาติโยมอดเสียมั่ง อาหารมันแพงเวลานี้เราอดเสียบ้างบางมื้อบางคราว

คนไม่เคยอดคงว่าอดไม่ไหวอาหาร มันไม่ลำบากดอก อดได้ ก็พระเราอดกันมานานๆ อาตมาก็อดมาตั้ง 44 ปีแล้ว ก็อ้วนท้วนแข็งแรงดีไม่เห็นมีอะไร ญาติโยมลองอดดูบ้างก็ได้ ในวันสำคัญของชีวิตเช่นวันเกิด การปฏิบัติอย่างนี้เรียกว่าการบำเพ็ญตบะ สร้างกำลังภายในให้เกิดขึ้น ให้เกิดความเข้มแข็งในจิตใจ จิตใจที่เข้มแข็งก็จะได้มีกำลังต่อต้านกับสิ่งที่ชั่วสิ่งร้าย ได้ เรื่องนี้ก็ดีถ้าเราทำได้ ลองหัดทำดูบ้างก็จะเป็นไรไป ไม่ยากเย็นเข็ญใจอะไร

ต่อไปก็ห้ามการฟ้อนรำขับร้องประโคมคนตรีดีดสีตีเป่า รวมทั้งการประดับประดาตกแต่งร่างกาย ด้วยดอกไม้เครื่องหอมเครื่องทา เครื่องย้อมมีประการต่างๆ จุดมุ่งหมายก็เพื่อจะไม่ให้เกิดราคะ ความกำหนัดในสิ่งเหล่านั้น เพราะว่าการฟ้อนรำก็ยั่วราคะ เพลงก็เป็นบทยั่วราคะ การทาแป้งแต่งตัวก็ยั่วทั้งนั้น ทำให้เกิดอารมณ์แก่ผู้ได้ประสบพบเห็น เราเองก็ไม่เป็นเครื่องยั่วคนอื่น แล้วก็ไม่หลงใหลในคนอื่นยั่วด้วย ก็เรียกว่าเป็นการถือศีลพรหมจรรย์

การรักษาศีลพรหมจรรย์ก็ดี ช่วยให้เราก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง เพื่อจะเข้าไปถึงธรรมะที่สูงขึ้น ความจริงก็ถึงธรรมแล้ว แต่ว่าถึงเพียงขั้นศีล ไม่พอ เราจะต้องก้าวหน้าต่อไป แต่ว่าในตอนนี้เอาเพียงขั้นนี้ไว้ก่อน ถึงเพียงขั้นศีลไว้ก่อน คนเราถ้ามีศีลแล้วก็เป็นสุข มีศีลแล้วเจริญด้วยทรัพย์เจริญด้วยการดับทุกข์ดับร้อนได้ ตามที่พระท่านว่าไว้แล้ว คนรักษาศีลอุโบสถ ก็เพื่อประโยชน์แก่ความสุขความสบายทางจิตใจ จึงควรจะได้มีการปฏิบัติในส่วนนี้เท่าที่เราสามารถจะกระทำได้ ตามสมควรแก่ฐานะ นี้ประการหนึ่ง เรียกว่าถึงธรรมะด้วยขั้นศีล

และเราต้องก้าวหน้าต่อไปให้ถึงขั้นธรรมต่อไปอีก ให้ถึงธรรมต่อไปด้วยการฝึกจิตให้เป็นสมาธิ แล้วเมื่อเจริญสมาธิแล้ว ก็ต้องใช้กำลังสมาธินั้น เพื่อคิดค้นให้เกิดปัญญาต่อไป ทำไปตามลำดับขั้นไม่หยุดไม่ยั้ง เราก็จะถึงจุดหมายปลายทางได้สมความตั้งใจ แต่ว่าสำหรับในวันนี้ ชวนท่านเดินมาเพียงขั้นศีลก่อน เพราะเวลามันจะไม่พอ ถ้าจะเดินต่อไปถึง ขั้นสมาธิปัญญา เรื่องมันใหญ่เอาไว้พูดกันในโอกาสอื่นต่อไป วันนี้เอาแต่เพียงขั้นนี้

เมื่อเราได้ปฏิบัติถึงขั้นนี้ เราก็ได้ถึงธรรมะขั้นนี้แล้ว จิตใจของผู้ถึงธรรมะแม้เพียงนิดหน่อย ก็จะรู้สึกว่าสบายใจขึ้น สงบใจขึ้น มีการงานดีขึ้น มีอะไรประเสริฐขึ้นทั้งนั้น เราจึงควรจะไม่ละเลยเพิกเฉยต่อการประพฤติธรรม อย่าอยู่โดยไม่มีธรรมะเป็นหลักครองใจ เพราะการอยู่โดยไม่มีธรรมะมันเป็นทุกข์

พูดอย่างง่ายๆ ว่า อยู่อย่างไม่มีพระก็วุ่นวาย ถ้าอยู่อย่างมีพระประจำใจก็ไม่วุ่นวาย ไม่มีความทุกข์ความเดือดร้อนเกิดขึ้น ในชีวิตของเรามากเกินไป โลกนี้วุ่นวายเพราะคนไม่เข้าถึงพระ ไม่เข้าถึงธรรมะ เมื่อเราเห็นว่าวุ่นวายเพราะคนไม่เข้าถึงธรรมะกัน เราก็เข้าถึงธรรมะเสียเถิด ชวนลูกชวนหลานเข้าหาธรรมะ ชวนมิตรสหายเข้าหาธรรมะ ให้มีธรรมะประจำจิตประจำใจกันให้มาก ๆ เราก็จะอยู่กันด้วยความสุขความสงบ ไม่มีเรื่องความเดือดร้อนวุ่นวายขึ้นในชีวิตประจำวัน

ดังที่ได้กล่าวมา เพื่อเป็นเครื่องจูงจิตสะกิดใจญาติโยมทั้งหลาย ให้เข้าถึงธรรมะของพระผู้มีพระภาคเจ้า
ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงนี้.

<< ย้อนกลับ

» มองทุกให้เห็นจึงเป็นสุข

» ทุกข์ซ้อนทุกข์

» ไม่มีอะไรได้ดังใจเหมือนม้ากาบกล้วย

» วันนี้เจ้าอยู่กับฉันพรุ่งนี้มันไม่แน่

» มันเป็นเช่นนั้นเอง

» ศีลธรรมและสัจจธรรม

» แหล่งเกิดความทุกข์

» องค์สามของความดี

» หลักใจ

» ทำดีเสียก่อนตาย

» ตามรอยพุทธบาท

» ฐานของชีวิต

» ความพอใจเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง

» ชั่งหัวมัน

» อนัตตาพาสุขใจ

» ฤกษ์ยามที่ดี

» อดีต ปัจจุบัน อนาคต

» วิธีการสอนของพระพุทธเจ้า

» สำนึกสร้างปัญญา

» สอนลูกให้ถูกวิธี

» ปฏิวัติภายนอกกับภายใน

» ร้อนกายไม่ร้อนใจ

» อย่าโง่กันนักเลย

» การทำศพแบบประหยัด

» คนดีที่โลกนับถือ

» ความจริงอันประเสริฐ

» เสรีต้องมีธรรม

» ทาน-บริจาค

» เกียรติคุณของพระธรรม

» เกียรติคุณของพระธรรม (2)

» พักกาย พักใจ

» เกิดดับ

» การพึ่งธรรม

» อยู่ด้วยความพอใจไม่มีทุกข์

» มรดกธรรม

» ฝึกสติปัญญาปัญหาไม่มี

» ทำให้ถูกธรรม

» วางไม่เป็นเย็นไม่ได้

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย