ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
คานธี คนดีที่โลกนับถือ
2
เป็นธรรมดาที่คนเรานี้ทำอะไรผิดไปแล้ว มันเป็นทุกข์ทั้งนั้น ไม่ว่าเรื่องอะไร สังเกตดู สังเกตในตัวเรา เวลาเราทำผิดนี่ เราเป็นทุกข์ไม่สบายใจ คานธีน้อยไม่ยอมทนทุกข์อยู่ไปหาพ่อเลย ไปถึงบอกพ่อว่า "ผมได้ทำความผิดไปอย่างหนึ่ง มีความเสียใจมาก คือได้ไปกินเนื้อไปกินน้ำเมา" พ่อก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่น้ำตาไหล น้ำตาไหลนี่ไม่ใช่เสียใจ ดี ใจว่าลูกยังมีคุณธรรมเหลืออยู่ในจิตใจ แม้กระทำความผิดก็ยังสำนึกว่าตัวผิด คนที่ทำผิดแล้วสำนึกว่าตัวผิด ยังให้อภัยได้ ยังเลี้ยงได้ แต่ถ้าทำผิดแล้วยังไม่ยอมรับผิด นี่ก็เรียกว่าตัดหางปล่อยเลย แต่อย่าเอามาปล่อยวัด เดี๋ยวมันจะยุ่งกับพระต่อไป ได้ที่เขาว่า "ตัดหางปล่อยวัด" นี่ไม่ได้ พระลำบาก ตัดหางปล่อยวัด ไม่ไหว คนอย่างนั้นดอกบัวใต้น้ำ มีแต่จะเน่าเป็นเหยื่อเต่าเหยื่อปลา สู้ไม่ไหว ต้องปล่อยไป คานธีท่านได้บทเรียนไว้ถูกต้อง ตั้งแต่นั้นมาก็ระมัดระวัง ไม่กระทำอะไรที่เป็นความผิดต่อไป ก็เรียนหนังสือมาได้ด้วยดี แต่ก็ไม่เก่งเท่าใด เรียนไม่ค่อยเก่งเท่าใด แต่ตั้งใจเรียนดี
เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมในอินเดียแล้ว มีทนายความคนหนึ่งเขามาแนะนำว่า คานธีนี่ต้องส่งไปเรียนเมืองนอก เรียนอังกฤษ เรียนกฎหมาย แล้วต่อไปจะได้เป็นทนายความ ชีวิตก็จะดีขึ้น เรียนที่อินเดียนี่มันไม่สูงพอหรอก ต้องส่งไป คุณแม่ไม่อยากให้ลูกไป ก็พาไปปรึกษาพระฝ่ายฮินดู ไปปรึกษากับพระฝ่ายไชนะ พระก็บอกว่าไม่เป็นไรหรอก ควรให้เขา ไป แต่แม่ก็ยังคิด ไม่ค่อยยอม คือกลัวว่าลูกไปอยู่เมืองฝรั่งนี่จะเอาวัฒนธรรมฝรั่งมาใช้ จะไปดื่มเหล้า จะไปเที่ยวผู้หญิง จะไปกินเนื้อ จะประพฤติเหลวไหล วิตกกังวลเรื่องนี้ ก็บอกให้ลูกทราบว่า "แม่ไม่อยากให้ลูกไป เพราะกลัวลูกจะไปเอาวัฒนธรรมฝรั่งมาใช้ จะไปประพฤติสิ่งเหลวไหล" คานธีกราบลงแทบเท้าคุณแม่ แล้วบอกว่า "แม่ไว้ใจผมเถอะ ผมขอปฏิญาณว่า เมื่อไปอยู่เมืองนอกจะไม่ประพฤติสิ่งเหลวไหล อันขัดต่อระเบียบประเพณีวัฒนธรรมของอินเดีย ของครอบครัวเราเป็นอันขาด" คุณแม่ก็ตกลงไว้ใจลูก เลยไห้ไป
คานธีออกเดินทางโดยทางเรือ สมัยนั้นยังไม่มีเรือบิน กว่าจะถึงก็นานตั้งเดือน ออกจากบอมเบย์ไปในเรือ พอถึงเวลาเขาเลี้ยงอาหาร ก็ตั้งโต๊ะกินแบบฝรั่ง คานธีเข้าไปนั่ง เห็นว่าอาหารมีแต่เนื้อทั้งนั้น..เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อวัว ไม่มีอะไรอย่างอื่น ท่านกินไม่ได้ เลยขอโทษ ลุกขึ้นกลับห้อง มากินขนมปังกรอบๆ ที่ซื้อไปจากบอมเบย์นั่นแหละ กลั้วคอด้วยน้ำไปตลอดเวลา ฝรั่งรู้ เขาก็มาปลอบโยน บอกว่า "อย่าทำอย่างนั้น ชีวิตมันจะสูญเสียเปล่าๆ เราต้องกินเนื้อ ต้องบริโภคของที่เป็นประโยชน์แก่ร่างกาย เธอนี่ร่างกายผ่ายผอมเพราะไม่กินเนื้อ" คานธีบอกว่า "ผมกินไม่ได้ เพราะว่าสัญญาไว้กับคุณแม่แล้ว ว่าจะไม่กินเนื้อ ผมรักคุณแม่ ผมทำผิดไม่ได้" ไม่ยอมกิน แม้จะตายก็ไม่ยอมกินเนื้อ ไม่ผิดสัญญาที่ให้ไว้กับคุณแม่ นี่น้ำใจมั่นคง
อยู่ไปในเรือ ฝรั่งเขาสงสารเข้ามาพูดจาปลอบโยน แล้วไปบอกพ่อครัวว่าให้ทำแกงฝักให้กิน พ่อครัวก็บอกว่ากินก็ไม่มีรสชาติอะไร ผักต้มเฉยๆ ไม่ได้ใส่พริก ไม่ได้ใส่เครื่องเทศ อินเดียกินของใส่เครื่องเทศนี่ มันร้อยๆ ซู่ๆ ซ่าๆ พอกินได้ อาตมาไปอินเดียก็ชอบฉันเหมือนกัน แต่ว่ามันเดือดร้อนตอนถ่าย มันถ่ายไม่ค่อยออก ท้องผูก คานธีบอกว่าไม่อร่อย แต่ก็กินพอประทังชีวิตไป พอไปต่อไปฝรั่งคนหนึ่งมาชวนคุยว่า "เมื่อใดถึงอ่าวบริสเบย์ เธอจะต้องเปลี่ยนความคิดในเรื่องกินเนื้อ เธอจะต้องเปลี่ยน" คานธีถามว่า "ทำไม?" "เพราะว่าที่นั่นมันหนาว หนาวๆ นี่มันต้องกินเหล้าให้อุ่นหน่อย แล้วก็กินเนื้อให้ความร้อนแก่ร่างกาย" คานธีถามว่า "ฝรั่งที่ไม่ดื่มเหล้ามีไหม ฝรั่งที่ไม่กินเนื้อมีไหม?" เขาบอกว่า มี "แต่ว่าเขาทนได้เพราะว่าเขาอยู่ที่นั่น เธอนั้นมาอยู่เมืองร้อน จะทนไม่ได้ จะเอากระดูกไปทิ้งเสียเปล่า" คานธีก็ยิ้ม นึกในใจว่าถึงฉันตาย ฉันก็ไม่ยอมเสียสัจจะ เสียชีพอย่าเสียสัตย์ ลูกเสือเขาสัญญากันไว้อย่างนั้น ท่านก็ไม่ทำ
ท่านไปถึงอังกฤษก็ไปพักโรงแรม ไปกับทนายความคนหนึ่ง เขาพาไปพักโรงแรม แหม! มันหรูหราฟู่ฟ่า ท่านไม่เข้าไปกินข้าวรวมกับฝรั่ง เพราะไม่มีอะไรจะกินได้ ท่านก็กินอยู่ในห้องของท่านนั่นแหละ ก็มีคนมาแนะนำว่า มาพักอยู่แบบนี้ไม่ได้ แพง จะไปหาบ้านให้อยู่ใหม่ เลยไปหาบ้านเช่า ให้อยู่กับครอบครัวเขา ท่านก็ไปอยู่ แต่เวลากินข้าว ท่านก็ไม่ยอมกินด้วย เขาก็รู้ว่าไม่กินเนื้อ เขาก็ต้มผักให้กิน มันก็ไม่มีรสชาติดังเคย คานธีก็คิดว่า ไม่ได้เราต้องเลี้ยงตัวเอง พยายามหาวิธีการมาปรุงอาหารเอง หาพรรคพวกมารวมเป็นสมาคม ตั้งสมาคมเสพผักขึ้นในกรุงลอนดอนได้ ท่านสู้ตามเรื่องของท่านจนท่านอยู่ได้ เมื่อเรียนจบได้เนติบัณฑิตอังกฤษ สมความปรารถนาของพ่อแม่แล้ว ก็เดินทางกลับ
มาถึงท่าเรือที่บอมเบย์ ทุกคนไปรับ แต่ว่าขาดคุณพ่อ ท่านก็ไม่ถาม นึกว่าคุณพ่อท่านมาไม่ไหว เพราะบ้านมันไกลจากท่าเรือ ก็เฉยๆ ไว้ แต่พอไปถึงบ้านจึงรู้ว่าคุณพ่อสิ้นบุญเสียแล้ว ก็มีความเศร้าโศกเสียใจพอควร ร้องไห้ร้องห่ม ท่านไม่ใช่คนใจแข็งแต่มันเข้มแข็งบางเรื่อง เรื่องเกี่ยวกับพ่อแม่ก็ต้องเสียใจ แล้วก็คิดว่าเราจะดำรงชีวิตอย่างไรต่อไปข้างหน้า ท่านก็คิดว่าจะไปอัฟริกาดีกว่า เขาเรียกว่าเซ้าธ์อัฟริกา อัฟริกาใต้ๆ เป็นประเทศที่ใจโหดเหี้ยมที่สุดในโลกก็ว่าได้ เพราะเขาเหยียดผิวที่สุด คนผิวดำถูกเหยียด ผิวเหลือง ผิวอื่นๆ ก็ถูกเหยียดทั้งนั้น นอกจากฝรั่งสีน้ำข้าวเท่านั้น ที่ไม่ถูกเหยียดเลย บนรถไฟคนผิวดำผิวเหลืองเขาไม่ให้นั่งชั้น 1 หรอก ชั้น 2 ก็นั่งไม่ได้ ต้องนั่งชั้น 3
คานธีไปอยู่ที่นั้น ได้เห็นการเหยียดหยามกันในทางผิว กีดกันหลายเรื่องหลายประการ ท่านคิดว่าไม่ได้ มันไม่เป็นธรรมสิ่งใดที่ไม่เป็นธรรมคานธีทนไม่ได้ ท่านจะต้องต่อสู้ เรื่องความไม่เป็นธรรม ท่านเรียกร้องความเป็นธรรมเสมอ ครั้งหนึ่งเดินทางด้วยรถไฟ ท่านตีตั๋วชั้น 1 เลย คนขายตั๋วบอกว่า "ไม่ได้หรอกชั้น 1 ท่านนั่งไม่ได้ " คานธีค้านว่า " ฉันซื้อตั๋ว ฉันไม่ได้พูดเรื่องนั่ง เอาตั๋วให้ฉันก็แล้วกัน" เขาบอกว่าถึงซื้อไปก็นั่งไม่ได้ จึงไม่อยากขายให้ "ท่านมีหน้าที่ขายตั๋ว ฉันมีหน้าที่ซื้อ ขายให้ฉันก็แล้วกัน"
พอซื้อตั๋วเสร็จรถจอดก็ขึ้นไปนั่งก๋าอยู่ชั้น 1 เลย นั่งทำท่าเฉย เดี๋ยวการ์ดรถหนีบตั๋วมา มาถึงก็ทำมือ ทำท่า พูดจาดูหมิ่น " เฮ้ย.. ทำไมมานั่งตรงนี้ นี่ที่นั่งชั้น 1"
แกชูตั๋วให้ดู "นี่ตั๋วชั้น 1"
"ไม่ได้ มีตั๋วชั้น 1 ก็นั่งไม่ได้"
"ฉันมีสิทธิเพราะฉันมีตั๋วชั้น 1"
การด์รถว่า "สิทธิไม่มีตามตั๋ว ท่านมันคนผิวดำมานั่งนี่ไม่ได้ ต้องไปนั่งชั้น 3"
"ฉันไม่ไป ฉันนั่งตามตั๋วที่ฉันซื้อ"
ไอ้พวกนั้นมันโกรธท่าน ก็ยกร่างผอมๆ โยนมาทางหน้าต่างเลย โยนมาที่ชานชลาแล้วรถก็แล่นออกไป ท่านไม่ได้ไปก็โทรเลขถึงผู้อำนวยการรถไฟ ซึ่งเป็นคนอังกฤษ บอกว่าท่านคือใคร โทรเลขมาถึง ผู้อำนวยการตกใจ เพราะท่านฟ้องร้องได้ตามกฏหมาย เรียกร้องสิทธิปรับเป็นเงินสักเท่าไรก็ได้ ศาลต้องถือกฏหมายในศาล ต้องจัดขบวนรถพิ เศษมารับท่านตู้หนึ่ง ขบวนรถจักรคานธีนั่งคนเดียวเท่านั้นเอง ต้องเป็นตู้ชั้น 1 ด้วย ตู้ชั้น 3 ก็ไม่ได้ เพราะว่าต้องนั่งชั้นนั้นตามตั้ว ท่านก็นั่งไปได้ แต่ท่านว่าแม้ได้นั่งก็ยังไม่ได้สิทธิ ต้องต่อสู้ต่อไป ท่านก็ทำการต่อสู้เรื่อยไป
คนอินเดียที่ไปอยู่เมืองนั้น ไปอยู่กันมาก ไปเป็นกรรมกรตามไร่อ้อย ตามสวน ตามที่ต่างๆ ถูกเหยียดหยามมาก ลำบากยากจน ท่านไปเห็นแล้วสงสาร คิดว่าจะต้องช่วยคนเหล่านี้ ก็พยายามเปิดสำนักงานว่าความ ขึ้นในประเทศนั้น ครั้งหนึ่งท่านนั่งเรือไปอินเดียแล้วกลับมา คนผิวขาวมันไปห้อมล้อมที่ท่าเรือ มันจะตีให้ตาย ตำรวจบอกว่า "ท่านปลอมตัวเป็นผู้หญิง ฉันจะพาหนีออกไป" ท่านบอกว่า "เอ๊อ..ทำอย่างนั้นมันขี้ขลาดตาขาว ฉันทำไม่ได้หรอก ฉันจะต้องเดินไปอย่างธรรมดา เขาจะทำอะไรฉันไม่ได้ ฉันยังไม่ตายก่อน ฉันยังจะต้องทำงานเป็นประโยชน์แก่สังคมต่อไป"
ท่านก็เดินลงไป เดินพอถึงดิน ไอ้พวกนั้นก็รุมกันทุบท่าน แต่ตัวท่านเล็ก ก็เที่ยวซอกแซกไปตามหว่างขาคน มีสุภาพสตรีคนหนึ่งเอาร่มมากั้นไว้ ไม่ไห้ท่านคานธีถูกทำร้าย ก็ช่วยกันเอาตัวพาไปถึงบ้าน หัวร้างข้างแตกถลอกปอกเปิกไปหมดทั้งเนื้อทั้งตัว ไปอยู่บ้านนั้นแล้ว พวกนั้นก็พากันไปล้อมบ้าน มันบอกว่าให้ส่งคานธีออกมา จะเอาไปแขวนคอที่ต้นมะขามสนามหลวง ว่ายังงั้น เหมือนกรุงเทพฯ (ที่โน่นไม่มีต้นไม้อื่นหรอก) จะเอาไปแขวนคอ ตำรวจก็มาช่วย พาขึ้นรถพ้นไปจากสถานที่นั้น ท่านก็ไม่ทุกข์ไม่ร้อน ท่านบอกว่าพวกนี้มันยังโง่เขลาเบาปัญญา เราจะต้องทำให้เขาสำนึกในความเป็นมนุษย์ร่วมโลกกัน ท่านก็ต่อสู้
ทีนี้เมื่อเปิดสำนักงานว่าความ ท่านเป็นทนายความที่ไม่เหมือนใคร คือท่านไม่อยากจะได้เงินจากการว่าความ แต่ต้องการจะให้ลูกความไม่ต้องเป็นความกัน คือไกล่เกลี่ยประนีประนอมกันแล้วท่านก็ทำอย่างนั้น
มีเศรษฐีตระกูลหนึ่งเป็นอิสลาม ประกอบอาชีพค้าขายพี่กับน้องเกิดแตกแยกกัน ไม่ตกลงกัน เป็นความกัน เงินทุนตั้ง 20 ล้าน ไม่ใช่เล็กน้อย ท่านก็บอกว่า "นี่เรามันเป็นอะไรกัน 2 คนนี้" "พี่กับน้อง" "พี่กับน้องมาเป็นความกันนี่มันเรื่องอะไร" คานธีพยายามพูดเพื่อให้เข้าใจกัน แล้วก็ไปหาทนายความฝ่ายโน้น พูดทำความเข้าใจ เสร็จแล้วก็ไปหาคู่ความ พูดปรับความเข้าใจนัดมาพบกันทั้ง 2 ฝ่าย แล้วก็เทศน์ให้คนทั้งสองฟัง จนไอ้พวกนั้นใจอ่อน ถอนคดี ไม่ต้องเป็นความกันต่อไป ท่านบอกว่า เป็นความนี่มันจะเป็นโรคประสาท เพราะเรื่องมันยาว ยิ่งความแพ่งแล้วเรื่องมันช้ากว่าจะตัดสิน ไอ้เราก็คอยเป็นทุกข์ไม่รู้ว่าจะแพ้หรือชนะ จะลำบากอย่างไร จิตใจเป็นห่วง ล่อแหลมต่อการเป็นโรคประสาท โรคท้องพิการ กระเพาะอาหารเป็นพิษ มันหลายเรื่อง ประนีประนอมกัน พูดกัน คานธีเป็นคนกลาง เรื่องมรดกก็เรียบร้อย ไม่เกิดปัญหา คนทั้ง 2 ก็รักเคารพบูชาคานธี
ต่อมาท่านเห็นคนยากจนมาก ท่านก็ไปตั้งนิคมเรียกว่า นิคมฟินิค ตั้งเพื่อเอาคนจนไปอยู่ที่นั้นให้มีบ้านอยู่ โดยการหาเงินจากพวกพ่อค้าที่ร่ำรวย ที่ท่านได้ช่วยเหลือในธุรกิจต่างๆ ไว้ เขาก็ให้เงินมา ท่านก็ไปอยู่ในนิคมนั้นด้วย ช่วยเหลือคนเจ็บไข้ได้ป่วย พยาบาลคนทุกประเภท ไม่ถือว่าเป็นกษัตริย์เป็นพราหมณ์เป็นเวศย์ เป็นศูทรอะไร ท่านไม่ถือชั้น วรรณะ ช่วยเหลือคนเหล่านั้น คนก็มีความรักใคร่พอใจ กิจการก็ค่อยดีขึ้น คือท่านกินอยู่น้อย ใช้จ่ายไม่มากในครอบครัว แต่เอาเงินส่วนเกินนั้นไปทำประโยชน์แก่คนอื่น ให้คนอื่นได้อยู่เย็นเป็นสุขตามสมควรแก่ฐานะ ท่านพร้อม ที่จะรับใช้คนอื่น
คราวหนึ่งท่านคิดว่า ที่โรงพยาบาลนี่คนป่วยมาก แต่บุรุษพยาบาลมีน้อย ท่านก็ไปบอกผู้อำนวยการโรงพยาบาล ขอสมัครมาเป็นบุรุษพยาบาล โดยไม่ต้องมีเงินเดือน ไม่ต้องมีสิ่งตอบแทน ท่านจะมาช่วยวันละกี่ชั่วโมง ท่านก็ให้ วันหนึ่งสมมติว่า 3 ชั่วโมง ท่านก็ไปทำงาน ช่วยพยาบาลคนเจ็บไข้ได้ป่วย ปลอบโยนจิตใจให้ความสะดวกอะไรต่างๆ โดย ไม่ได้รับอะไรตอบแทนแม้แต่น้อย นี่คือความเสียสละที่มีอยู่ในน้ำใจท่าน ตั้งแต่เริ่มต้นของชีวิตต่อสู้ทางการเมือง คานธีสร้างสิ่งนี้ขึ้นก่อน แล้วก็อยู่สบายในประเทศนั้น ท่านเป็นทนายท่านจะว่าความแต่เรื่องที่ถูกต้อง ถูกเขาโกง คนนี้เป็นผู้บริสุทธิ์ถูกเขาโกง ต้องพูดความจริงให้ฟัง ถ้าพูดความเท็จให้ท่านฟัง ท่านจะไม่ว่าความให้ ไม่ว่าเป็นอันขาด
ครั้งหนึ่งมีเศรษฐีชาวปาซี่ที่อยู่อินเดีย ปาซี่ก็คือพวกอิหร่าน เขานับถือศาสนาเก่าก่อนอิสลามเกิด อิสลามเกิดขึ้นก็รุกไปในอิหร่าน พวกนี้ไม่ชอบ หนีมาอยู่อินเดีย มาตั้งหลักแหล่งอยู่ในอินเดีย ในบอมเบย์ เป็นพ่อค้าใหญ่โต มีฐานะดีเหมือนกัน มีคนหนึ่งชื่อรุสตำยี ไปค้าขายที่เมืองอาฟริกาใต้ เขาร่ำรวย แต่ท่านนึกว่านายคนนี้ร่ำรวยเพราะการค้าขาย ความจริงแกค้าของหนีภาษี ค้ามานานแล้ว แต่ว่าไม่ถูกจับ พอถูกจับก็วิ่งมาหาคานธี มาปรึกษาให้ว่าความ คานธีก็บอกว่า "ไหนเล่าชีวิตจริงของเธอให้ฉันฟังหน่อย เล่าความจริงนะ ถ้าไม่เล่าความจริงฉันช่วยไม่ได้"
แกก็เล่าให้ฟังว่าแกค้าขาย ไม่สุจริตหรอก แกค้าของเถื่อน เอามาจากประเทศนั้นประเทศนี้มานานแล้ว เพิ่งจะถูกจับคราวนี้เอง คานธีว่า "เรื่องนี้ฉันไม่ว่าความให้เธอ แต่ว่าเธอต้องไปกับฉัน ไปกรมศุลกากรด้วยกัน" ก็พาไปกรมศุลกากร
คานธีบอกว่า "เธอต้องสารภาพความผิดของเธอกับอธิบดีกรมศุลกากรให้หมด" เจ้านั่นก็เล่าให้อธิบดีฟัง แล้วก็ไปหาตำรวจ ไปหาอัยการ หาหมด 3 เจ้าหน้าที่ แกไปหาหมด ผลที่สุดเขาก็ไม่เอาเรื่อง แต่ว่าต้องเสียภาษีย้อนหลังมากมายเลย เศรษฐีนั้นก็ยอม ยอมเสียภาษีย้อนหลัง ซึ่งถูกปรับเป็นเงินตั้งล้านกว่า ถูกปรับมากมาย เพราะไม่เสียภาษี ตั้ง แต่นั้นมานายคนนั้นก็เลิก ไม่ค้าขายของหนีภาษีอีกต่อไป ค้าขายแต่ในทางสุจริต ไม่ผิดกฎหมาย ชีวิตก็เรียบร้อย ไม่ต้องเป็นโรคประสาทเพราะกลัวตำรวจจะจับอีกต่อไป ก็ได้รับความสุขจากคำแนะนำของท่าน ในฐานะเป็นทนาย
ท่านเป็นทนายแบบนี้ ไม่ใช่ทนายที่เห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ เขามีภาษิตบอกว่า" ยื่นมือให้ทนาย แล้วเขาจะจูงท่านไปสู่ตะแลงแกง คือไปสู่ที่ตาย" ลองยื่นมือให้เถอะ แต่คานธีนั้นเรายื่นมือให้ จะจูงเราไปสวรรค์ ท่านจะไม่เห็นแก่รายได้จากทนาย แต่ว่าจะช่วยลูกความให้เข้าสู่ธรรมะ ให้ประพฤติดีประพฤติชอบ อันนี้หายาก เป็นทนายความคนเดียวในโลกก็ว่าได้ ที่มีอยู่ในโลกนี้
นอกนั้นแล้วเขาต้องการเงินกันทั้งนั้น ทนายนี่ ความอะไรเขาก็ว่าทั้งนั้นจะแพ้ก็ "ไม่เป็นไร เรื่องนี้สู้ได้" แพ้ศาลชั้นต้น "โอ๊ย มีทางจะอุทธรณ์ ต้องสู้ศาลอุทธรณ์ต่อไป เอามาอีก 30,000" พออุทธรณ์แพ้ "แหม ศาลฎีกายังมีอีกศาลหนึ่ง ไอ้ตรงนี้มีต้องพิจารณาแง่กฏหมาย ว่ากันตามกฎหมาย ต้องให้ศาลฎีกา เอาเงินมาอีก 30,000" แล้วก็ถึงศาลฎีกา พอถึงศาลฎีกา ศาลฎีกาตัดสินแพ้ แพ้เพราะอะไร เพราะว่าเรื่องมันจริงอย่างนั้น ลูกชายไปฆ่าเขาตายกลางวันแสกๆ แล้วจะไปสู้ความให้ชนะ มันจะชนะได้อย่างไร พยานมันเห็นเยอะแยะ เขายืนยัน เลยแพ้ ก็เพราะว่าทนายมันว่าไม่แพ้นี่ เลยเชื่อทนาย คนนั้นก็ต้องขายนาไปจนหมดตัว ลูกชายก็ติดคุก นาติดคุก ไปคบกับทนายอย่างนี้เข้ามันก็ฉิบหาย เท่านั้นเอง
ถ้าไปเจอทนายแบบคานธี เขาคงบอกว่าเราอย่าไปสู้เลย เพราะลูกเราไปฆ่าเขาจริง รับสารภาพเสียเถอะ ติดคุกไม่นานแล้วก็ได้อภัยโทษ ไม่เท่าไรก็ออก ไอ้นี่ติดคุก 20 ปี กว่าจะได้ออกก็แย่ไปตามๆ กัน เพราะทนายเห็นแก่ได้ ต้องการเงินท่าเดียว นี่เป็นอย่างนี้ คานธีท่านเป็นทนายที่มีคุณธรรม ไม่เห็นแก่รายได้จากเรื่องทนายความ ท่านจึงเป็นที่รักของประชาชน
ครั้งหนึ่งท่านอยู่ 3 ปีแล้วจะกลับบ้าน เมื่อจะกลับบ้าน พ่อค้าชาวอินเดียก็เรี่ยไรเงิน ซื้อสายสร้อยประดับเพชร สาวใหญ่ให้แก่ภรรยา มีแหวน มีอะไรต่ออะไรหลายอย่าง เอามาให้เวลาคานธีไม่อยู่ คานธีกลับมาถึงเห็นภรรยาสวมสายสร้อยเส้นใหญ่ "เอ๊ะ เธอเอามาจากไหน" "พ่อค้าเขาเอามาให้" พอรู้ว่าพ่อค้าเอามาให้ท่านสะอึกทันที "ตายแล้ว เขาเอามาให้ทำไม ของอย่างนี้ ท่านไม่อยากได้ แต่จะพูดกับภรรยาว่า ไม่ได้ อย่ารับ มันก็จะเป็นการหักโหมน้ำใจกันมากเกินไป เพราะผู้หญิงเขารักของสวยๆ งามๆ ก็เลยนอนไม่หลับคืนนั้น เรียกลูกชายมาพูด บอกว่า "ลูกไปพูดับแม่นะ ทำความเข้าใจกับแม่ให้ดี ครอบครัวเราเป็นครอบครัวที่มีอุดมการณ์ เราไม่เห็นแก่ได้ ไม่เห็นแก่อามิส เราตั้งใจว่า เราจะใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น สิ่งเหล่านี้ไม่ควรจะรับไว้ ไปบอกแม่ พูดให้ดีนะ"
ลูกชายไปบอกแม่ แม่ก็ตุปัดตุป่องมา น้ำมูกน้ำตามไหล ออกมาฉอดๆ ว่าคานธี คานธีก็นั่งฟังเฉยๆ แล้วก็พูดจาปลอบโยนอย่างนั้นอย่างนี้ ผลที่สุดก็ปลดสายสร้อยออกจากคอเมีย สายสร้อยคอ สายสร้อยมือ อะไรต่ออะไร มีอยู่ที่ไหนอีกเอามาให้หมด
รุ่งเช้าคานธีก็เรียกคณะพ่อค้ามาบอกว่า "ฉันรับไม่ได้ของเหล่านี้ มันผิดอุดมการณ์ของฉัน ฉันไม่มีหน้าที่จะรับอะไรจากใคร ฉันมีหน้าที่แต่จะให้สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนอื่น เพราะฉะนั้นขอให้พวกท่านรับไป เอาไปขายเสียให้หมด แล้วเอาเงินไปช่วยมูลนิธิ ช่วยสงเคราะห์คนยากจน ที่นิคมที่ฉันได้ตั้งไว้" พวกนั้นก็ได้ไปจัดการตามที่ท่านปรารถนา
นี่ดูตัวอย่างน้ำใจ หายาก คนอย่างนี้หายาก สมัยนี้เขาไม่ให้ก็ยังบ่น ไอ้นี่มันไม่ช่วยเลย ให้อะไรมันก็ไม่ให้ เราไปติดต่ออะไร ถ้าไม่หยอดน้ำมันยี่ห้อในหลวงละก้อ เครื่องมันฝืด มันไม่ค่อยเดิน มันหมุนช้า ต้องหยอดลงไปนิดหน่อย มันเป็นอย่างนี้ ทุกหนทุกแห่ง ไม่มีน้ำใจอย่างคานธีบ้างเลย นี่ท่านไม่เอา ถือว่าของไม่ดี ท่านรับใช้ผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา
ครั้งหนึ่งเขามีการประชุมสภาคองเกรส เรียกว่าพรรคการเมืองอินเดีย ที่เมืองกัลกัตตา เวลาประชุมนี่คนมาก ท่านเข้าห้องส้วม แหม ! สกปรกที่สุดเลย ส้วมสกปรก พอเห็นสกปรกถ่ายไม่ลง ท่านไปตักน้ำมา เอาไม้กวาดมาเช็ดมาถู มีคนหนึ่งมาเห็นก็บอกว่า "เอ้า ทำไมทำอย่างนั้น นี่มันงานคนใช้ ไม่ใช่งานเช่นท่าน" เวลานั้นยังไม่ได้เป็นมหาตมะ ยังไม่ดัง นี่เป็นตัวอย่าง
คานธีตั้งนิคมขึ้นที่อินเดีย ที่บ้านเกิด ที่นั่นเขามีวรรณะกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร จัณฑาล 5 วรรณะ จัณฑาลเป็นวรรณะที่ 5 พวกพราหมณ์ก็ไม่แตะต้องพวกจัณฑาลหรอก ใครๆ เขาก็ไม่แตะต้องกับพวกจัณฑาล จัณฑาลเดินเดินเหยีบเงาคนอื่นก็ไม่ได้ กลัวเป็นบาป ท่านก็รับครอบครัววรรณะต่ำ วรรณะที่ 5 คือพวกจัณฑาลเข้าไปไว้ในนิคม คนทั้งหลายไม่ชอบเลย มีเศรษฐีคนหนึ่งให้เงินอุดหนุนอยู่ทุกเดือน พอมาเห็นครอบครัวนั้นก็บอกว่า " ถ้าครอบครัวนี้มาอยู่ในนิคม ฉันจะเลิกให้เงิน" คานธีบอกว่า "ขอบใจ แต่ไม่เป็นไรหรอก ธรรมะต้องช่วยคนที่รักธรรมะต่อไป"
ท่านกลับถึงสำนักงานถามลูกชายว่า "เงินเหลือเท่าไร" "เงินมีอยู่ 20,000" "ต่อไปนี้เราต้องช่วยตัวเองแล้ว ทุกคนต้องทำงาน ต้องปลูกผัก ต้องช่วยตัวเอง เพราะไม่มีคนช่วยเหลือแล้ว" ท่านก็สร้าง "ลัทธิช่วยตัวเอง" ขึ้น เพราะฉะนั้นเมื่อท่านเป็นใหญ่เป็นโต เป็นมหาตมะ ท่านปั่นด้ายทุกวัน ท่านทอเสื่อทอผ้าสำหรับใช้ตัดเสื้อผ้าของท่านเอง แล้วสมาชิกทุกคนต้องปั่นด้าย ต้องทอผ้า ช่วยตัวเองกันทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนชั้นไหน ท่านคิดขึ้นมาอย่างนั้น เศรษฐีคนนั้นก็ไม่ช่วยอีกต่อไป
ต่อมาวันหนึ่งเศรษฐีคนนั้นขับรถมาที่นิคม ขับรถมาจอดไกลๆ โน่น ให้คนไปบอกคานธีมาพบ คานธีไปถึง เศรษฐีก็ว่า "ฉันจะไม่ให้เงินแล้ว แต่ว่าสงสาร แต่ฉันไม่เข้าไปในนิคมนั้น ฉันมาหยุดตรงนี้ ฉันกลัวบาปจะติดฉัน ในนิคมนั้น" คานธีบอกว่า "ถ้าท่านกลัวบาปแบบนี้ ท่านก็จะเป็นคนบาปตลอดไป เพราะท่านไม่รู้ว่าบาปคืออะไร การช่วยเหลือคนอื่น มันจะเป็นบาปตรงไหน การที่ตระหนี่ เห็นแก่ตัว เอารัดเอาเปรียบ เอาดอกเบี้ยแพงๆ นั่นแหละมันบาปหนักกว่าเรื่องอย่างนี้" ท่านด่าเศรษฐีคนนั้นเข้าให้แล้ว เศรษฐีคนนั้นก็บอกว่า "เอาเถอะ ฉันมาแล้วก็รับเงินของฉันไปด้วยก็แล้วกัน" ต่อมาเศรษฐีคนนั้นก็ยอมแพ้คานธี ต้องเข้าไปในนิคมไปช่วยเหลือคานธีต่อไป
คานธีเอาชนะด้วยความดี ชีวิตของท่านผู้นี้เป็นชีวิตที่มีคุณธรรมตลอดเวลา จนกระทั่งตายวันที่ตาย กำลัางเดินจะไปสวดมนต์ พูดธรรมะให้คนในสนามฟังมากมาย ไอ้บุรุษหนุ่มใจร้อนคนหนึ่ง ไปถึงเอามือแตาะเท้า ลุกขึ้นยืน ..โป้ง..ยิงคานธี ยิงง่ายจะตายไป แกไม่ใช่สู้ใครแบบนี้นี่ ตัวผอมๆ ถูกยิงก็ล้มลง คนก็เข้ามาประคอง ท่านยกมือพูดว่า "รามๆ ๆ" เอ่ยชื่อพระรามซึ่งถือว่าเป็นผู้เป็นเจ้า เหมือนเราเอ่ยนามว่า "พุทโธๆ" ให้อภัยกัน ไม่ถือโทษโกรธตอบ ไอ้คนนั้นก็ถูกจับ ถูกประหารชีวิตไปตามกฏหมาย ตัวทานตาย แต่ว่าชีวิตไม่ตาย คนทั้งหลายยังเคารพสักการบูชา อนุสาวรีย์มีอยู่ทั่วไปในประเทศออินเดีย มีอยู่ในอังกฤษ มีอยู่ในอเมริกา คนทั้งโลกยกย่องคานธีว่า เป็นผู้มีน้ำใจประเสิรฐ มีคุณธรรมประจำจิตใจ
อาตมาก็นึกถึงความดีของท่านผู้นี้ อยากจะเอามาอวดให้ญาติโยมได้ยินได้ฟัง เแล้วจะได้ทำเป็นหนังสือให้คนได้อ่าน เพื่อจะได้เห็นว่า อ้อ โลกนี้ยังมีคนดี และคนดีไม่ตกต่ำในชีวิต แต่ว่าคนชั่วนั้นตรงกันข้าม ตกต่ำลึกลงไป แผ่ดินสูบไปเลย คนชั่วแผ่นดินสูบ คือว่าเป็นที่รังเกียจของสังคม ไม่มีใครคบหาสมาคมต่อไป ขอให้เข้าใจอย่างนี้ พูดมาก็สมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้
ต่อนี้ไป ขอเชิญญาติโยมทั้งหลาย นั่งสงบใจเป็นเวลาห้านาที. ( แผ่เมตตา )
<< ย้อนกลับ
» ไม่มีอะไรได้ดังใจเหมือนม้ากาบกล้วย
» วันนี้เจ้าอยู่กับฉันพรุ่งนี้มันไม่แน่
» หลักใจ
» เกิดดับ
» มรดกธรรม