ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

หอพระไตร


ธรรมบรรยายของ หลวงพ่อปัญญา

เกียรติคุณของพระธรรม 2

วันอาทิตย์ที่ 24 กรกฎาคม 2520

2

การช่วยเหลือในเรื่องอื่นนั้นไม่สำคัญ แต่การช่วยเหลือให้เขามีจิตใจดีขึ้นนั่นแหละเป็นเรื่องสำคัญ เราจึงควรจะเรียกเขามาดูธรรมะมาฟังธรรมะ มาปฏิบัติธรรมะยิ่งคนที่อยู่กับเรา เช่นว่าเราเป็นผู้ใหญ่ ต้องปกครองคนมากๆ ถ้าคนเหล่านั้นไม่ประพฤติธรรมะจะเป็นปัญหาใหญ่หลวงละ เขาจะเห็นแก่ตัวเห็นแก่ได้ เอารัดเอาเปรียบกัน ทำงานการก็วุ่นวายไม่ค่อยจะเรียบร้อย เพราะว่าจิตใจเขาไม่มีพระอยู่ในใจ มีแต่กิเลสกลุ้มรุมจิตใจอยู่ตลอดเวลา จึงเป็นปัญหา ถ้าเราไม่อยากจะสร้างปัญหาประเภทอย่างนี้ให้เกิดขึ้นในวงงานของเรา เราก็ควรจะได้ชักจูงคนเหล่านั้นเข้าหาธรรมะ ด้วยการให้ได้ฟังเสียงบ้าง ได้อ่านบ้าง ให้ได้มาพบสนทนากันในเรื่องเกี่ยวกับชีวิต เกี่ยวกับการการงาน เกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อให้เกิดความสนิทสนมเป็นกันเอง แล้วจะได้รู้นิสัยใจคอแห่งกันและกัน จะได้ปรับตัวของเราให้เข้ากันได้กับคนเหล่านั้น อันนี้เป็นเรื่องที่ควรกระทำ

แต่ว่า การกระทำในเรื่องอย่างนี้ต้องทำให้สม่ำเสมอตลอดไป คือทำเป็นกิจวัตรประจำวันเรื่อยไปไม่ใช่นานๆ ทำทีหนึ่ง ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ต้องทำให้เสมอเรื่อยไป คือปกติคนเรานั้นมักจะไหลไปทางต่ำตลอดเวลา ยิ่งมีเครื่องยั่วยุด้วยแล้วยิ่งไปกันใหญ่ เพราะฉะนั้นต้องคอยดึงไว้ ดึงให้ขึ้นไปในทางสูง ดึงให้มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ให้มีความคิดในทางที่ถูกมากขึ้น ต้องคอยดึง ทีนี้คนที่เป็นหัวหน้าต้องคอยดึงลูกน้อย ดึงเป็นหมู่บ้างดึงเฉพาะคนบ้าง คนไหนที่มักเกที่สุดเราต้องดึงเฉพาะคน ดึงเข้ามาใกล้ๆ เอามาพูดจาแนะนำพร่ำเตือนได้ ให้เขาได้เกิดความรู้สึกสำนักในทางที่ถูกที่ชอบขึ้นทีละน้อยๆ แล้ววันหนึ่งคนนั้นก็จะเรียบร้อยขึ้น เป็นคนดีขึ้น เราก็สบายใจ แล้วคนนั้นก็จะไปดึงคนอื่นเข้ามาหาเราต่อไป อันนี้เป็นเรื่องที่ควรจะได้กระทำ

แม้ในครอบครัว เราก็เหมือนกัน เรามีลูกหลายคน เราไม่ค่อยจะได้มีการประชุมกันในระหว่างสมาชิกในครอบครัว เมื่อไม่ได้มีการพบปะประชุมกัน ก็ไม่ได้มีการพูดจาแนะแนวชีวิต ไม่ได้บอกให้รู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก อะไรควรอะไรไม่ควร เพราะฉะนั้นต้องถือหลัก เอหิปัสสิโก เรียกมานั่งร่วมกันแล้วก็คุยกัน แนะแนวกัน แนะแนวกัน ให้คนเหล่านั้นได้เกิดความรู้ความเข้าใจ ในเรื่องปัญหาชีวิต ในเรื่องการเป็นการอยู่ ให้มีสิติมีความระมัดระวังอะไรๆที่มันจะเกิดการเสียหาย อันนี้เป็นเรื่องที่ควรจะได้กระทำ ถ้าทำกันให้ทั่งถึงเป็นจำนวนมากๆให้แพร่หลายแล้ว สังคมเราจะเป็นสุขขึ้นกว่านี้ มีอะไรดีอะไรดีขึ้นกว่านี้ เวลานี้ยิ่งจำเป็นที่สุดเลย ที่เราผู้ได้เข้าหาธรรมะอยู่แล้ว ควรจะได้ดึงใครๆเข้าหาธรรมะบ้าง เวลาใดที่เรามีการประชุมโดยเฉพาะในเรื่องการบุญการกุศล ที่ว่าประชุมกันทำบุญมักจะขาดการเรียกให้มาดูมาชมธรรมในงานนั้นๆแต่ว่ามีแต่เรื่องสนุกกันเหลือเกิน ให้สังเกตง่ายๆหมู่นี้มีงานบวชนาคกันมาก งานไหนงานนั้นต้องเปิดแผ่นเสียงดังหนวกหูชาวบ้าน ยี่สิบสี่ชั่วโมงไม่ได้หลับได้นอน เด็กที่คุมเครื่องมันขยันจริงๆ นั่งเปิดอยู่อย่างนั้นแหละ แล้วชาวบ้านก็ไม่ได้หลับไม่ได้นอน มันเรื่องอะไร ที่หาเรื่องรบกวนชาวบ้านไม่ให้พักผ่อนมันเรื่องอะไร นี่เขาเรียกว่า ไม่มีการชักจูงในแง่ธรรมะ ในเรื่องอย่างนั้น

ถ้าหากว่าเรามีการบวชนาค ก็มีการเทศน์นาอะไรกันเสียบ้าง พาพระไปพูดอะไรสู่กันฟัง ตัดเรื่องไม่เข้าเรื่องออกเสียบ้าน เช่นเรื่องเลี้ยงดูปูเสื่ออะไรกันมันไม่ได้เรื่องอะไร กินเหล้าเมายากันเสเพลเฮฮากันจนกระทั่งตายไป เจ้านาคไม่ได้บวชก็มี เพราะว่าไปฆ่าคนเสียก่อนบวช อย่างนี้มันก็ผิดหลักการทางศาสนาไม่ได้ทำตามแบบของพระพุทธเจ้า ทำไปในเรื่องหวังลาภหวังผล ต้องการเอาอะไรมาเป็นส่วนตัวจากงานนั้นมากเกินไป เลยเกิดเสียหาย อยากจะขอแนะนำไว้ว่า ถ้าเรามีงานเกี่ยวกับบุญกุศลแล้ว เราควรจะมีการเทศน์อย่าให้ได้ขาดในเรื่องนี่ ต้องให้ได้เทศน์กันฟัง เรื่องอื่นถือว่าเป็นเรื่องปลีกย่อย เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องทำ ในงานศพนี่ก็เหมือนกัน มักจะมีแต่เรื่องสวดๆ กันอยู่นั้น คืนหนึ่งสวดกันสามสี่จบ แล้วก็ต้องเติมข้าวต้มกะเพาะปลาฟังสวดเหนื่อยแสบท้อง ไม่ได้เติมอาหารใจกันเลย เติมแต่ร่างกาย ไม่ได้พูดธรรมะสู่กันฟัง เวลาอย่างนั้นแหละเหมาะที่สุดที่จะเรียกว่า มาฟังธรรมะ มาดูธรรมะ มาชมธรรมะกัน แล้วก็มีตัวอย่างด้วย

ตัวอย่างคือศพนั่นเองวางอยู่เฉพาะหน้าแต่ไม่มีคนที่มีหัวคิดในเรื่องนี้เอาแต่สวดมันเรื่อยไปง่ายดี ไม่ต้องลำบากเทศน์นี่ยากหน่อย ต้องฝึกอบรม ต้องค้นคว้า สวดไม่ต้องจำแล้ว ไปถึงก็ว่าเลย นอนหลับสักตื่น ลุกขึ้นล้างหน้าแล้วไปสวดก็ยังได้เลยมันง่าย เอาแต่เรื่องง่ายกันนี่แหละ ศาสนาจะล่มจมตรงนี้เอง มันเป็นอย่างนี้ ควรจะมีการเทศน์สู่กันฟัง ทุกคืนทุกคืนแล้วก็ดี ตามวัดใหญ่ๆ ที่มีศพมากๆ ไม่ได้คิดเรืองนี้เลย คิดแต่จะบังสุกุล จะสวดกันท่าเดียว เรื่องจะสอนธรรมะไม่เอา ธรรมะก็เทศน์นิดๆ หน่อยๆ จู้จี้ๆ สองสามคำ ลงจากธรรมาสน์ยกเครื่องกัณฑ์เทศน์กลับกุฏิเท่านั้นเอง นี่มันไม่ค่อยสาระอะไร พูดให้มันเป็นเรื่องเป็นราว ให้คนได้คิดได้นึกได้ตรึกตรอง เราก็เรียกว่า "ป่าวร้องมาฟังธรรม" เพื่อนฝูงมาประชุมกันในงานศพ ให้ได้กำไรทางจิตกลับไป เรียกว่า เรียกมาดูกันจริง มาชมกันจริงๆ เพราะของเราดี แต่ว่าไม่เอาอวดของดี จะเอาไปซ่อนไว้ในตู้ มันจะได้เรื่องอะไร เหมือนกันคัมภีร์เก็บไว้ในตู้ คนไม่ได้อ่าน สร้างเท่าใดๆ มันก็ไม่เกิดอานิสงส์ อานิสงส์มันอยู่ที่คนอ่าน อ่านแล้วต้องเอาไปปฏิบัติ จึงจะได้ประโยชน์ สมตามความตั้งใจ จึงควรจะช่วยกันหน่อย ช่วยกันเรียกมาดู ช่วยกันเรียกมาชม ชวนกันให้คนเข้ามาธรรมะทุกวิถีทาง

เรารักเพื่อน ต้องชวนเพื่อนเข้าประพฤติธรรมะ จึงจะชื่อว่า รักกันจริง ถ้ารักกันแล้วชวนกันไปดื่มเหล้า ไปบาร์เที่ยวไนท์คลับ นี่มันไม่รักกันหรอก แล้วคนชวนก็ไม่รักตัว คนถูกชวนก็ไม่รู้อะไร เลยไปกันใหญ่ ชวนลงนรกกันอย่างนี้มันก็ไหว เราควรจะชวนขึ้นสวรรค์ของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่สวรรค์ของชาวบ้าน สวรรค์ของชาวบ้านก็คือ " ความเพลิดเพลินสนุกสนานตามอารมณ์ " สวรรค์ของพระพุทธเจ้าคือ " ความสะอาด สว่าง สงบ ทางใจ " ใจสว่างใจมันคนละแบบ เราชวนกันอย่างนั้น เอหิปัสสิโก ทีนี้เมื่อมาดูแล้ว ควรจะเอาเข้ามาใส่ตัวของเรา ดูแล้วดูเฉยๆ มันไม่ได้เรื่องอะไรหรอก โอปนยิโก หมายความว่าน้อมเข้ามาไว้ในตัวของเรา เอามาประดับตัวเรา คล้ายๆ กับเราไปเห็นดอกไม้สวย กลิ่นหอม แล้วเด็ดเอามาทัดที่หู ติดเสื้อผ้า เอามาใส่ที่ตัว ธรรมะเป็นของประเสริฐกว่านั้น มีคุณค่าแก่ชีวิตมากกว่านั้น เมื่อเราเห็นแล้วก็ต้องเอามาไว้ที่ตัว เอามาไว้ที่ตัวหมายความว่า เอามาปฏิบัติ เอามาไว้ที่กาย ก็คือปฏิบัติกายตามธรรมะ ไว้ที่วาจาก็คือ ปฏิบัติคำพูดตามธรรมะ ไว้ที่ใจก็คือคิดตามธรรมะ นี่เรียกว่า "เอามาไว้ที่ตัว" น้อมพระธรรมเข้ามาหาตัวเรา น้อมตัวเราเข้าไปหาธรรมะ ไปพบกันครึ่งทาง ต่างคนต่างเข้าไป ตัวเราเข้าไปเอาธรรมะเข้ามา เลยเจอกันพอดี

ก็เรียกว่า พบกันกึ่งทาง เอามาใส่ไว้ที่ตัวเรา รักษาสิ่งนั้นไว้ตลอดไป เรื่องรักษาธรรมะหรือรักษาศาสนานี่ก็เหมือนกัน เราพูดกันว่ารักศาสนา รักอย่างไร รักศาสนาก็ต้องศึกษาให้เข้าใจ ต้องปฏิบัติ ต้องให้ประโยชน์แก่ศาสนา และรู้ว่าศาสนามีคุณค่าแก่ชีวิตของเราอย่างไร ให้เราอวดใครๆ ได้ว่าเราเป็นผู้ถือศาสนา เราได้ประโยชน์จากพระพุทธศาสนาอย่างไรบ้าง ถ้าใครเขาถามเราว่า " ถือพุทธนี่ได้อะไรบ้าง " เราก็พูดได้จากประสบการณ์ในชีวิตของเราว่า เราได้ เรามีความสุขอย่างไร มีความสงบใจอย่างไร เรามีความเจริญก้าวหน้าในกิจการอย่างไร เพราะอาศัยหลักของพระพุทธเจ้า สามารถที่จะอวดใครๆ ได้ เพราะสิ่งนั้นอยู่ในใจของเรา แต่ถ้าสิ่งนั้นอยู่ในคัมภีร์ อยู่ในตู้อวดไม่ได้ เพราะเราไม่มีประสบการณ์ไปอวดเขา แต่ถ้าสิ่งนั้น อยู่ที่กาย อยู่ที่วาจา อยู่ที่ใจของเรา เราก็อวดใครๆ ได้ การอวดนั้นมันอวดอยู่ในตัวแล้ว เพราะคำพูดที่ออกมาก็เป็นธรรมะ ก็แสดงว่าจิตเป็นธรรม เมื่อจิตเป็นธรรมะ อะไรๆ ก็เป็นธรรมทั้งหมด สิ่งที่ออกมาปรากฏแก่คนอื่น ก็เป็นธรรมะไป เพราะเราน้อมธรรมะเข้ามาไว้ในใจของเราอยู่ตลอดเวลา นี่ นี้แหละเรียกว่า " รักษาพระพุทธศาสนา "

ความเจริญของพระพุทธศาสนาก็เหมือนกัน ความเจริญนั้นมันอยู่ที่ว่า จิตใจของคนเจริญ หรือจิตใจของผู้ที่นับถือศาสนา เจริญด้วยคุณธรรม ก็เรียกว่า ศาสนาเจริญ ถ้าจิตใจคนที่นับถือศาสนาขาดคุณธรรม ศาสนาเสื่อม แม้ว่าเรามีวัตถุในศาสนามากมายก่ายกอง มีพระหลวงพ่อ ทั้งนอน ทั้งนั่ง ทั้งยืน มีโบสถ์สวย งาม มีอะไรๆ เยอะแยะ แต่จิตใจคนไม่มีธรรมะ สิ่งเหล่านั้น ไม่มีราคา ไม่มีความหมายอะไร การสร้างที่ประเสริฐสุดนั้น ต้องสร้างคุณธรรมให้เกิดขึ้นในใจ สร้างพระพุทธเจ้าไว้ในใจของเรา สร้างพระธรรมไว้ในใจของเรา   สร้างพระอริยสงฆ์สาวกไว้ในใจของเรา  สร้างพระพุทธเจ้าก็หมายความว่า มีใจกรุณา มีใจปัญญา มีใจบริสุทธิ์ ทีนี้เมื่อเราทำใจอย่างนั้น เราก็มีพระธรรมอยู่ในใจของเราด้วย และการสร้างนั้นก็คือการปฏิบัตินั่นเอง เราก็มีพระสงฆ์อยู่ในใจของเรา พระสงฆ์ก็คือการปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติเป็นธรรม ปฏิบัติเพื่อออกจากทุกข์นั่นแหละ ถ้าเราปฏิบัติอยู่ก็ชื่อว่าเรามีพระสงฆ์ ข้อปฏิบัตินั้นก็คือตัวพระธรรม ผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติก็คือ ตัวองค์พุทธะ องค์พุทธะก็คือ " ความบริสุทธิ์ สว่าง สะอาด สงบทางใจ มีพร้อมอยู่ในตัวเรา ถ้าใจเรามีสิ่งเหล่านี้ เราไม่ตกอบาย ไม่ตกนรก ไม่เป็นสัตว์เดรัจฉาน ไม่เป็นเปรต ไม่เป็นอสูรกาย ไม่เป็นฝ่ายต่ำ แต่จะเป็นในด้านสูงยิ่งๆ ขึ้นไป เป็นมนุษย์ เป็นพรหม เป็นพระอริยบุคคล สูงขึ้นไปทั้งนั้น ไม่ตกต่ำ เพราะมีธรรมะคอยคำจุนจิตใจ เราเอาธรรมะ มาค้ำไว้ที่จิตใจของเรา เป็นโอปนยิโก ประจำจิตใจของเราอยู่ตลอดเวลา

ในข้อสุดท้ายว่า ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ เป็นสิ่งที่ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน สิ่งที่ปรากฏในใจที่ลึกคือตัวพระนิพพาน ตัวพระนิพพานเป็นสิ่งที่ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน หรือพูดว่า ความสุขความสงบที่เกิดขึ้นในใจ เป็นสิ่งที่ผู้นั้นรู้ได้เฉพาะตน ของใคร ของใคร ใครก็รู้ได้เฉพาะตน อวดไม่ได้ ไม่รู้ว่าจะเอามาอวดอย่างไร แต่คนอื่นเขาอาจจะมองได้ โดยประมาณ คือดูที่กิริยาท่าทาง ดูอาการที่แสดงออก ว่าเป็นคนสงบใจ ไม่วุ่นวาย ไม่เร่าร้อน มีใจเยือกเย็น ก็พอนึกได้ว่า ท่านเป็นผู้มีคุณธรรม แต่ว่าผู้ที่จะรู้จริงนั้นคือตัวผู้นั้น เช่นนาย ก. เป็นผู้รู้เอง นาย ข. รู้ไม่ได้ แล้วเราจะไปวัดกับใครก็ไม่ได้ ไม่ต้องไปเที่ยววัดกับใครหรอก เรารู้ของเราเอง เราเห็นของเราเอง มันเป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่ในใจของเราเองแต่ละคน ด้วยการประพฤติปฏิบัติของเราเท่านั้น จึงไม่ปรากฎแก่คนอื่น เป็นเรื่องที่ลึกอยู่ในใจ แล้วมันก็ปรากฏอยู่ที่ดวงหน้า หน้าสดชื่น รื่นเริง มีอารมณ์เป็นสุขอยู่ตลอดเวลา นี่คือลักษณะของผู้เข้าถึงธรรมะ ที่รู้ด้วยตัวเอง การที่จะรู้ได้ด้วยตนเอง เราก็ต้องมองดูตัวเองเหมือนกัน มองดูตัวเองก็คือ " การมองดูใจของเรา " ว่าเวลานี้ ใจเรามีอะไร มีโลภ มีโกรธ มีหลง มันก็รู้ได้เอง ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง เราก็รู้ได้เอง มีริษยาพยาบาท มุทิตายินดี ในความสุขความเจริญของผู้อื่น ก็รู้ได้ด้วยตนเองทั้งนั้น ไม่มีใครจะมาวัดเราได้ นี่เรียกว่า ปัจจัตตัง เป็นเรื่องเฉพาะตัว

แม้ในทางวัตถุ ก็เป็นเรื่องเฉพาะตัว เห็นง่ายๆ เช่นเรากินน้ำตาล เรารู้ว่าหวาน อธิบายให้ใครฟังไม่ได้ว่า หวานอย่างไร ก็พูดได้ว่าหวานเหมือนน้ำตาล เขาถามว่าหวานเหมือนอย่างไร ก็หวานเหมือนน้ำตาล ได้เท่านั้น ไม่รู้ ถ้าไม่กินแล้ว ก็ไม่รู้ ถ้าบรเพ็ดมันขม ก็ว่าขมเหมือนบรเพ็ด แต่ว่าคนที่ไม่เคยกินบรเพ็ดก็ไม่รู้ แต่ถ้าบอกว่าขมเหมือนยอดสะเดา คนที่เคยจิ้มน้ำสะเดา ก็รู้ว่ามันขมอย่างนั้น แต่ว่าบางทีมันขมกว่านั้น เป็นเรื่องที่ปรากฏเฉพาะตัว ใครมีบุญก็รู้เฉพาะตัว เป็นสุขสงบใจอย่างอย่างไร ก็เฉพาะตัวทั้งนั้น เป็นเรื่องที่ปรากฏ เป็นอันสุดท้ายของคุณธรรม เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเฉพาะตัว เช่น บรรลุนิพพาน หมายความว่า " จิตสงบ ไม่วุ่นวาย จิตเย็น ไม่เร่าร้อน จิตสว่าง ไม่มืดมัว " ก็เป็นเรื่องที่รู้เฉพาะตัว แล้วคนที่รู้อย่างนั้นเขาไม่อวดใคร คือไม่มีความรู้สึกที่จะอวดใคร ใจมันอยู่ปกติ สงบอยู่ตลอดเวลา ที่อวดๆ กันอยู่ไม่ได้เรื่องทั้งนั้น

เหมือนหลวงพ่อขลังๆ ทั้งหลาย อ่านหนังสือพิมพ์แล้วก็นึกขำ นึกขำหลวงพ่อ แจกพระ แจกเหรียญ พรหมน้ำมนต์ น้ำพรแก่ใครต่อใครเยอะแยะ โจรมาปล้นหลวงพ่อแล้ว หลวงพ่อนั่งตัวแข็ง โจรบอกว่านั่งนิ่งๆ หลวงพ่อก็บอกว่า เอาไปเถอะ เอาไปเถอะ เอาชีวิตกูไว้ก็แล้วกัน แล้วโจรก็ขนเกลี้ยง เอาเงินเสียหมื่นกว่า เอาพระที่เก่าๆ แก่ๆ ไปเสียหมดด้วย แล้วเอาเหรียญที่ทำไว้จะเอาไปแจกไปเสียด้วย มันเอาไปทำอะไร มันเอาไปละลายแล้วเอาไปขายตามร้านซื้อของเก่านั่นเอง ไม่ได้เอาไปทำอะไร อาตมาอ่านแล้วมันไม่ขำตรงไหน ขำว่าเป็นหลวงพ่อโจรปล้น มันก็เสียยี่ห้อแล้ว เสียยี่ห้อหลวงพ่อ เรามันเก่ง ทำไม่ให้โจรมันปล้นได้ น่าจะรู้คนที่มา น่าจะตวาดให้มันเป็นแมวไปเสียเลย ตวาดโจรให้เป็นแมว เที่ยววิ่งอยู่ในลานวัด หรือว่าตวาดให้เป็นสุนัขขี้เรื้อนไปเสียก็ได้ แต่ว่าเปล่า ถึงคราวเอาจริงเข้า หลวงพ่อไม่ได้เรื่อง แล้วจะเที่ยวไปเสกอะไรให้คนอื่นได้อย่างไร เสกเหรียญให้มันขลัง เสกแหวน เสกอะไรให้มันขลัง ตัวเองไม่ขลังโจรยังปล้นได้ มัน จะได้เรื่องอะไร มันไม่ไหว ก็จะไม่ได้เรื่องอะไร เสกไปอย่างนั้น เที่ยวว่าไปไม่เข้าถึงธรรมะ เข้าถึง แต่เพียงพิธีการ เป็นหลวงพ่อไม่ได้เรื่องอะไร หลวงพ่อสีหมอก ชื่อเหมือนม้าขุนแผนอย่างนั้นแหละ ชื่อแปลกๆ อุตริทั้งนั้น ชื่ออย่างนั้นเรามาศึกษาธรรมะกันดีกว่า อย่าไปเที่ยวศึกษาเรื่องขลัง เรื่องวิเศษอะไร มันไม่ได้เรื่อง

เราให้ขลังทางธรรมะ ให้ธรรมะอยู่ในใจแล้ว ก็เป็นการใช้ได้ ป้องกันอะไรก็ได้ โจรปล้นมันก็ไม่ปล้นธรรมะเราไป ถึงถูกปล้นก็เหมือนไม่ถูกปล้น คนถึงธรรมะเพราะอะไร เพราะนึกอยู่ว่า อ้ายนี่มันไม่ใช่ของกูนี่หว่า มึงจะเอาก็เอาไป ไม่เสียใจ เพระเรามีธรรมะ ช่วยคุ้มครองจิตใจ ไม่ให้เกิดความทุกข์ ให้เกิดความชุ่มชื่นใจ อยู่ตลอดเวลา วันนี้ พูดมาก็พอสมควรแก่เวลาแล้ว ขอยุติไว้เพียงเท่านี้.

<< ย้อนกลับ

» มองทุกให้เห็นจึงเป็นสุข

» ทุกข์ซ้อนทุกข์

» ไม่มีอะไรได้ดังใจเหมือนม้ากาบกล้วย

» วันนี้เจ้าอยู่กับฉันพรุ่งนี้มันไม่แน่

» มันเป็นเช่นนั้นเอง

» ศีลธรรมและสัจจธรรม

» แหล่งเกิดความทุกข์

» องค์สามของความดี

» หลักใจ

» ทำดีเสียก่อนตาย

» ตามรอยพุทธบาท

» ฐานของชีวิต

» ความพอใจเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง

» ชั่งหัวมัน

» อนัตตาพาสุขใจ

» ฤกษ์ยามที่ดี

» อดีต ปัจจุบัน อนาคต

» วิธีการสอนของพระพุทธเจ้า

» สำนึกสร้างปัญญา

» สอนลูกให้ถูกวิธี

» ปฏิวัติภายนอกกับภายใน

» ร้อนกายไม่ร้อนใจ

» อย่าโง่กันนักเลย

» การทำศพแบบประหยัด

» คนดีที่โลกนับถือ

» ความจริงอันประเสริฐ

» เสรีต้องมีธรรม

» ทาน-บริจาค

» เกียรติคุณของพระธรรม

» เกียรติคุณของพระธรรม (2)

» พักกาย พักใจ

» เกิดดับ

» การพึ่งธรรม

» อยู่ด้วยความพอใจไม่มีทุกข์

» มรดกธรรม

» ฝึกสติปัญญาปัญหาไม่มี

» ทำให้ถูกธรรม

» วางไม่เป็นเย็นไม่ได้

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย