ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
ปาฐกถาธรรม เรื่อง ตามรอยพุทธบาท
วันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม 2517
2
พระพุทธศาสนาของเรานั้นบอกให้เราเข้าใจชัดเจนแจ่มแจ้ง
ว่าอะไรทั้งหลายที่เกิดขึ้น จะเป็นความสุขก็ดี ความทุกข์ก็ดี ความเสื่อม
ความเจริญอะไรก็ตาม เป็นผลเนื่องมาจากความคิดของเราทั้งนั้น
ถ้าเราสืบสาวเค้าเรื่องให้ดี จะพบสาเหตุของเรื่องนั้นๆ
และสามารถที่จะขจัดเรื่องนั้นได้ แต่ถ้าเราไม่เชื่อมั่นในหลักที่กล่าว
กลับไปเชื่อสิ่งภายนอก เราก็ไปเที่ยววิ่งแก้ตามที่นั้นๆ
ด้วยการกระทำพิธีบนบานศาลกล่าว ซึ่งเป็นการที่น่าละอาย ไม่สมกับที่เป็นพุทธบริษัท
ซึ่งเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ด้วยคุณงามความดี เพราะฉะนั้น
ญาติโยมทั้งหลายเชื่อกันใหม่ให้ถูกทาง ให้เชื่อว่า อะไรทุกอย่างออกมาจากภายในของเรา
มีใจเป็นฐาน เป็นต้นของเรื่องนั้นๆ ด้วยประการทั้งปวง
เมื่อเรารู้อย่างนี้แล้วก็เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องควบคุมจิตใจของเรา
การควบคุมจิตใจหรือว่าการฝึกฝนจิตใจนี้ พูดด้วยภาษารวมเรียกว่า การเจริญภาวนา
การเจริญภาวนาก็ คือ การทำจิตให้เป็นสมาธิ ให้ตั้งมั่น ให้บริสุทธิ์ ให้อ่อนโยน
เพื่อให้เหมาะแก่งาน จุดหมายของการฝึกฝนนั้น เพื่อคตั้งมั่น เพื่อสงบ
แล้วก็เพื่อให้อ่อนเหมาะที่โยนที่จะใช้งาน ปกติจิตใจเราไม่ตั้งมั่น
มันคิดได้ร้อยแปด เราจะให้คิดตรงนี้ มันไปตรงอื่นเสียแล้ว
ไม่ต้องอื่นใดดอก 5 นาทีของการเจริญภาวนา หลังจากการปาฐกถาธรรมแล้ว
ญาติโยมลองสังเกตุดูตัวเองเถอะ 5 นาทีมันวิ่งไปไหนบ้าง คิดอะไรบ้าง
ประเดี่ยวคิดเรื่องนั้น ประเดี่ยวคิดเรื่องโน้น ไม่ได้อยู่กับลมหายใจเสียเลย ค้ลายๆ
กับจับปูใส่กระด้งเอาตัวนี้วางตัวนั้นไป ตัวนั้นใส่ตัวโน้นไป ก็ใส่อยู่วันยังค่ำ
ใจเราก็เป็นอย่างนั้น มันออกไปจากขอบเขตมันตลอดเวลา ออกจากตัวไปเที่ยวที่นั่นที่นี่
ไม่หยุดไม่ยั้ง อันนี้เรียกว่าฟุ้งซ่าน ไม่กำลัง ไม่มีอำนาจ
ไม่มีปัญญที่จะคิดค้นอะไรได้ เพราะมันยังกวัดแกว่ง ไม่มีระเบียบเสียเลย
อ่านหนังสือก็ไม่รู้เรื่อง
นักศึกษาบางคนมาบอกว่า อ่านหนังสือไม่รู้เรื่อง
ที่อ่านไม่รู้เรื่องนั้นเพราะอะไร ก็เพราะว่าใจไม่อยู่กับหนังสือ ตาดูอยูแหละ
ดูกระดาษ ดูตัวหนังสือแต่ว่าใจไปทางไหนก็ไม่รู้
อย่างนี้เราจะต้องศึกษาตัวเราเองบ้าง คือศึกษาว่าทำไมใจเรามันฟุ้งซ่าน ทำไมไม่สงบ
ทำไมไม่เข้าใจ ไม่รู้ในเรื่องที่เราจะต้องศึกษา ก็ต้องมองดูตัวเอง
ค้นหาความบกพร่องของตัว ศึกษาสมุฏฐานของสิ่งที่เกิดขึ้นในตัว
ให้จำพระพุทธภาษิตไว้ว่า "สิ่งทั้งหลายเกิดจากเหตุ ไม่มีเหตุผลจะปรากฎขึ้นไม่ได้"
แล้วเหตุที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรานั้นไม่ได้มาจากอื่น แต่มาจากความคิดของเรา
มาในระยะต้นๆ มากมายก่ายกอง ตั้งแต่เมื่อวาน วานซืน อาทิตย์ก่อน เดือนก่อน ปีก่อน
เราไปสร้างอะไรไว้ก็ไม่รู้ ไปเก็บอะไรมาใส่ไว้ในใจก็ไม่รู้
จึงเกิดความฟุ้งซ่านไม่อยู่กับร่องกับรอย จิตใจไม่มีความสงบ
ต้องศึกษาให้รู้จักตัวเองแจ่มแจ้ง แก้ไขสิ่งที่เรียกว่าความบกพร่อง
คนที่อยู่ในวัยหนุ่มวัยฉกรรจ์ ไม่ค่อยสนในในเรื่องอย่างนี้
คือเรื่องสร้างจิตใจให้เข้มแข็ง ให้หนักแน่นมั่นคง ไม่ค่อยสนใจ
ชอบปล่อยไปตามเรื่องอะไรต่างๆ เป็นความหลงใหลอย่างหนึ่ง
หลงใหลในเรื่องเสรีภาพนั่นเอง ยิ่งในสมัยนี้ด้วยแล้วหลงกันใหญ่เลย
หลงในเรื่องเสรีภาพจะทำอะไรตามใจตัวทุกอย่าง
ใครมาบอกมาห้ามเป็นไม่รู้เรื่องไม่ฟังเสียง ฉันจะทำของฉันอย่างนี้ คนอื่นไม่เกี่ยว
นั้นแหละมูลฐานที่จะให้เกิดความหัวเสีย มูลฐานที่จะให้เกิดโรคประสาท
เพราะเราปล่อยใจของเรามากเกินไป
การปล่อยใจเป็นเสรีมากเกินไปนั้น คือการฆ่าตัวเอง
การทำลายตัวเองโดยไม่รู้สึกตัว คนหนุ่มๆ ทำลายตัวเอง ด้วยการทำอย่างนี้มีไม่ใช่น้อย
ไม่อยมฟังเสียงใครไปตามเรื่อง คล้ายโคถึก พอหลุดจากคอก ก็กระโดดขวิดหน้าขวิดหลัง
ไปเรื่อยไปทีเดียว มันก็เจอดีเข้าบ้าง ผลที่สุดก็เกิดความเสียหาย เพราะฉะนั้น
เราอย่าปล่อยตัวปล่อยใจมากเกินไป การปล่อยตัวปล่อยใจนั้นคือการทำลายอนาคต
แต่การอยู่อย่างไท คือการสร้างอนาคตของเราเอง
เพราะฉะนั้นคนหนุ่มต้องระวังไว้ อย่าตามใจสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบๆ ตัวเรา
เราชอบพูดคำว่า เป็นตัวเอง แต่ว่าไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง
ความเป็นตัวเองนั้นก็คือ ความเป็นผู้มีใจเป็นอิสระเสรี
พ้นจากอำนาจฝ่ายต่ำที่เกิดขึ้นในใจ อำนาจฝ่ายต่ำอันใดเกิดขึ้น เรารู้เท่ารู้ทัน
แล้วเราพยายามสะกัดออกไปจากใจของเรา นั่นแหละเรียกว่าเราทำถูก เราเป็นตัวเอง
แต่ถ้าเป็นตัวเองด้วยการดื่ม การเที่ยว การเล่นสนุกสนาน
อย่างนั้นมันไม่ได้เป็นตัวเอง แบบพระพุทธเจ้า แต่เป็นตัวเองแบบมารร้าย
ซึ่งมันเอาแอกมาสวมคอเรา แล้วมันขับไสเราไปตามความปรารถนา ไปสู่ความล่มจม
สู่ความเป็นนรก สู่ความเป็นสัตว์เดรัจฉาน หรือว่าเป็นอะไรๆ ก็ได้
ตามสภาพที่สิ่งแวดล้อมมันจะดึงไป ผลที่สุดเราก็เสียผู้เสียคน
เด็กๆ ที่อยู่ในโอวาทของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ ฟังเสียงของพระ
เดินตามพระไม่เสียคน เขาจะเป็นคนดีมีหลักฐาน
จะได้เป็นประโยชน์แก่ชาติแก่บ้านเมืองต่อไป ในสมัยนี้เราระวังตัวไว้หน่อย
โดยเฉพาะหนูน้อยๆ ที่อยู่ในวัยของการศึกษาเล่าเรียน เราอาจจะเสียลูกไม้ของใครก็ได้
ที่เขามาล่อให้เราทำอย่างนั้นอย่างนี้ โดยอ้างว่าเพื่อประโยชน์แก่ชาติบ้านเมือง
เพื่อความก้าวหน้าแก่ชีวิต เพื่อความเสมอภาคแห่งสังคม เพื่อความนั่นความนี่
หรูหราทั้งนั้นแหละ ที่เป็นดอกไม้ที่เขาเอามายั่วเรา ล้วนเป็นดอกไม้ชั้นดีทั้งนั้น
เราเห็นแล้วก็เพลินไป ไหลไปตามสิ่งนั้น ยื่นจมูกให้เขาสนตะพาย
แล้วเขาก็จูงไปตามความปรารถนา หลับตาเดิน ไม่ลืมหูลืมตาแล้ว
เพราะว่าคนนั้นเป็นผู้รักเราหวังดีต่อเรา เขาจะจูงเราไปสู่สวรรค์ชั้นฟ้า
แต่หารู้ไม่ว่ากำลังจะลงนรก เพราะการชักจูงของเขา
เรื่องนี้สำคัญไม่ใช่น้อย เพราะคนสมัยนี้อุบายมันมาก เล่ห์เหลี่ยมมันมาก
จะทำอะไรก็ต้องให้หลายเหลี่ยม หลายแง่ หลายมุม เรียกว่าคดไปคดมาเหมือกับงูเลื้อย
ถ้าเราไม่รู้เท่ารู้ทันแล้ว เสียคนได้ง่าย จึงต้องระมัดระวัง คนที่รักเราจริงๆ
มีอยู่ไม่กี่คนดอก คนที่รักจริงๆ ก็คือคุณพ่อคุณแม่ ยอดรักดังดวงใจของท่าน
ท่านรักเราจริง ปรารถนาดีต่อเราจริง เราควรจะฟังท่านหน่อย เพราะท่านมีความรัก
ความปรารถนาดีต่อเราร้อยเปอร์เซนต์ ไม่มีพ่อแม่คนไหนที่ปรารถนาร้ายต่อบุตรของตน
ต่อลูกหญิงลูกชายของท่าน ถ้าจะมีบ้างก็เรียกว่ามีจิตผิดปกติ นานๆ จะมีสักที
ถ้าเป็นคนที่มีจิตเป็นปกติแล้วไม่มีใครเลยที่จะประทุษร้ายลูกหญิงลูกชายของตน
มีแต่ความตั้งใจ จะให้ดีให้งามทั้งนั้น ถ้าท่านห้ามท่านเตือนเราด้วยเรื่องอะไร
ฟังไว้ก่อน เอาไปคิดไปตรองให้รอบคอบ แล้วก็กระทำตามต่อไป
ครูบาอาจารย์นี่ก็เหมือนกัน ย่อมมีความปรารถนาดีต่อศิษย์
เพราะคุณธรรมของครูมีอยู่ว่า ไม่ชักนำศิษย์ไปในทางที่ต่ำทราม
ถ้าจะชักนำก็เรียกว่าไม่มีสปิริตของครู จึงทำอย่างนั้น เราจึงฟังไว้ก่อน
พระสงฆ์องค์เจ้าที่ทรงคุณธรรม ก็ปรารถนาจะให้เรามีคุณธรรม
ท่านพูดจาแนะนำเรารับฟังไว้ก่อน สถาบันทางดีทางสูงของชาติมีหลายอย่าง
เรารับไว้มาเป็นหลักใจ มาช่วยประคับประคองใจ ให้ก้าวหน้าในทางที่ถูกที่ชอบ
เราก็จะเป็นตัวเองมากขึ้น
เวลานี้อันตรายมีอยู่รอบข้าง จึงอยากจะขอเตือนให้ระวังไว้ โดยเฉพาะหนูน้อยๆ
ทั้งหญิงทั้งชาย ระวังให้ดี อย่าหลงลมใครง่ายๆ ต้องปรึกษาคุณพ่อคุณแม่
ปรึกษาครูบาอาจารย์ มาวัดปรึกษากับหลวงพ่อก็ได้ มีโอกาสพบกันก็ได้ ปรึกษากัน
แนะนำกัน ไปเทศน์ตามโรงเรียนต่างๆ หลายแห่ง เปิดโอกาสให้เด็กถามปัญหา
เขาถามถึงสิ่งที่เป็นปัญหาทั้งนั้น เป็นเรื่องน่าสนใจ
ปล่อยให้เขาได้เปิดอกคุยกันเสียบ้าง ก็ตอบให้เขาฟัง
บางคนตอบในที่ประชุมจบไปแล้วเลิกประชุมยังมาอีก บอกว่าหนูยังมีปัญหาพิเศษ
จะถามอะไรต่อไป เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในครอบครัว ในการงาน การศึกษา เขาปลงไม่ตก
ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี เราก็อธิบายให้เขาเข้าใจว่าควรคิดอย่างไรทำอย่างไร
ก็เข้าใจเรื่อง ก็ได้เอาไปใช้ต่อไป อันนี่เป็นประโยชน์
ถ้าเด็กได้มีโอกาสปรึกษาผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีคุณธรรม มีความรักความหวังดีแล้ว
เด็กของเราก็จะไม่เสีย
เพราะฉะนั้นหนูที่เป็นเด็กที่มาฟังปาฐกถานี้ ก็ควรจะเข้าหาผู้ใหญ่ไว้
ปรึกษาหารือไต่ถามในเรื่องที่ควรจะเอามาเป็นหลักในการดำเนินชีวิต
เพื่อยกระดับจิตใจของเราให้สูงขึ้นๆ ร่างกายเจริญเติบโตขึ้นมากเท่าใด
ก็ควรจะให้จิตใจเราเจริญเติบโตขึ้นไปด้วย ถ้าร่างกายเจริญเติบโต
แต่จิตใจไม่เจริญเติบโตด้วยคุณธรรม ก็เรียกว่าไม่สมดุลย์กัน
เติบโตข้างหนึ่งข้างหนึ่งไม่โตมันก็ไม่ได้ ต้องให้สมดุลย์กันไป
การที่จะทำให้สมดุลย์นั้น ก็ต้องประคับประคองใจ ต้องฝึกฝนกำลังใจไว้บ้าง
เรียกว่าเจริญภาวนา หรือว่าการทำสมาธินี่แหละ เป็นเรื่องที่เราจะต้องฝึกฝน
ถ้าเราไม่มีโอกาสที่จะไปนั่งฝึกอย่างจริงจัง ให้ฝึกอย่างง่ายๆ การฝึกอย่างง่ายๆ
นั้นก็คือ คอยสำรวจตัวเองไว้ คอยดูความคิดของเรา ความคิดอันใดเกิดขึ้นในใจ
อย่าทำทันที่ตามความคิดนั้น แต่ควรจะเอามาวิจัยดูเสียก่อน
ว่าความคิดที่เกิดขึ้นในใจของเรานี้เป็นบุญหรือเป็นบาป ดีหรือชั่ว สุขหรือทุกข์
ทำลายหรือว่าสร้างสรรค์ ต้องเอามาพิจารณา การพิจารณาในรูปอย่างนี้ จะทำไม่ได้
ถ้าเราไม่มีความรู้เป็นพื้นฐานในเรื่องคุณธรรม เราจึงต้องเข้าไกล้ผู้รู้ไว้บ่อยๆ
หลักที่จะให้เกิดความเจริญในชีวิตจิตใจนั้น เราต้องเข้าไกล้ผู้รู้
ต้องฟังคำสอนด้วยความตั้งใจ ต้องเอาไปคิดให้เข้าใจ
แล้วลงมือปฏิบัติตามสิ่งที่เราได้เข้าใจมานั้น
อันนี้แหละจะช่วยให้ชีวิตพัฒนาไปสู่ความเจริญก้าวหน้า
ถ้าหากว่าเราไม่เข้าไกล้ท่านผู้รู้ ชอบนั่งไกล้คนโง่ๆ พูดภาษาตลาดเขาเรียกว่า
ชอบนั่งไกล้พวกอันธพาล ฟังแต่เสียงผีตลอดเวลา แล้วเรารับผีนั้นมาไว้ในใจ
ผีมัก็เสือกไสเราไปสู่ความต่ำทุกวันทุกเวลา ชีวิตจะก้าวหน้าไปไม่ได้
การปฏิบัติเบื้องต้นจึงต้องคบคนดี ฟังคำสอนเอาไปคิดให้เข้สใจ แล้วลงมือปฏิบัติ
ก็จะช่วยให้ขีวิตก้าวหน้าไปในทางที่ถูกที่ชอบสมความตั้งใจ
เมื่อเรามีความรู้ว่าอะไรดีอะไรชั่ว อะไรเสื่อม อะไรเจริญแล้ว
เวลาความคิดอันใดเกิดขึ้นในใจ
เราก็เอาหลักความรู้นั้นมาเป็นเครื่องกลั่นกรองพิจารณาว่ามันคืออะไร
เช่นสมมติว่าเราอยาจะไปเที่ยวกลางคืน เราก็ควรจะนึกว่า นี่ความอยากเกิดขึ้นแล้ว
อยากจะไปเที่ยวกลางค่ำกลางคืน การไปเที่ยวกลางคืนพระท่านห้ามหรือว่าอนุญาต
ถ้าเราเคยศึกษาก็ทราบว่า พระไม่อนุญาตให้ไปเที่ยวกลางคืน
เพราะการเที่ยวกลางคืนนั้นได้ชื่อว่าไม่รักษาตัว
ได้ชื่อว่าไม่รักษาทรัพย์สมบัติ ได้ชื่อว่าไม่รักษาครอบครัว มักจะถูกทำร้าย
มักจะถูกใส่ความ อาจจะได้รับความทุกข์ความเดือดร้อนเพราะอะไรก็ได้
เราอ่านข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์บ่อยๆ พวกไปเที่ยวกลางคืนถูกลูกหลง ได้รับส่วนแบ่ง
ซึ่งความจริงไม่ควรไปรับกับเขา แต่ว่าอุตสาห์ไปรับมาจนได้ นี่มันเรื่องความหลงผิด
พระท่านห้าม ถ้าความคิดอย่างนี้เกิดขึ้นในใจเรา เราก็บอกว่าไม่ได้
ไปไม่ได้พระท่านไม่ยอมอนุญาตให้ไป เราเชื่อพระเราก็ไม่ไป อย่างนี้ก็เรียกว่า
เราใช้ปัญญเป็นเครื่องสกัดกั้น ไม่ให้เราไหลไปในทางต่ำได้ประการหนึ่ง
สมมติว่าเราจะไปในเรื่องอื่นอีก เช่นว่ามีเพื่อนโทรศัพท์มาบอกว่า
เราไปเที่ยวกันเถอะพรุ่งนี้ อย่าไปเรียนหนังสือเลย ไปทัศนาจรมีเพื่อนเขาไปกันหลายคน
เราควรจะไปกับเขาด้วย เราก็ควรคิดว่าควรไปหรือไม่ควรไป
พรุ่งนี้เป็นวันของการเรียนหนังสือ ถ้าเราไปเที่ยวเราก็ละเลยหน้าที่
เราเป็นเด็กอยู่ในวัยของการศึกษา หน้าที่ก็คือการเรียนการจะไปเที่ยวก็ไปได้
แต่ว่าต้องไปเวลาหยุด ไม่ใช่ไปเวลาเรียน
เพื่อนคนนั้นที่มาชวนเราไปนั้นเขาเรียนอย่างไร มีความรู้ดีไหม
ก้าวหน้าในการศึกษาดีไหม เราก็พอรู้ว่าเป็นอย่างไร
ถ้าสมมติว่า คนนั้นเรียนไม่เก่ง ความรู้อ่อนสอบได้คะแนนไม่ค่อยดี
ถ้าเราขืนไปเที่ยวกับคนนั้น ความอ่อนมันก็จะมาถึงเรา ความเหลวไหลมันก็จะลามมาถึงเรา
เราก็จะไม่ไป บอกเพื่อนว่าติดธุระ พรุ่งนี้โรงเรียนเปิดอยู่ไปไม่ได้ คุณแม่ไม่ให้ไป
ว่าอย่างนั้นก็ได้ แล้วเราก็ไม่ไป อย่างนี้เรียกว่าคิดก่อนแล้วจึงไป
เราพิจารณารอบคอบแล้ว จึงจะกระทำสิ่งนั้นลงไป อันนี้ทำให้เกิดความเสียหาย
อีกอันหนึ่งสมมติว่าเพื่อนมาท้าเราต่อยเราตีกัน
เราควรจะไปต่อยไปตีกับเขาหรือไม่ ถ้าคิดอย่างคนธรรมดาๆ
ก็นึกว่าไอ้นี้มันหยามหน้ากัน มันมาชวนท้าชวนต่อยถึงบ้าน
ถ้าเราไม่ต่อยมันเสียศักดิ์ศรี เรามันก็ลูกผู้ชายเหมือนกัน
จะยอมให้เพื่อนหยามได้อย่างไร แล้วเราก็กระโดดจากเรือนไปต่อยกับคนนั้น
การกระทำเช่นนี้เรียกว่าอารมณ์ผลุนผลัน ใจร้อน ใจเร็ว ไม่ได้คิดให้รอบคอบ
ว่าที่ถูกที่ควรนั้นเป็นอย่างไร การลงไปต่อยกับการไม่ลงไปต่อยนี้ อันใดถูกอันใดผิด
อันใดดีอันใดไม่ดี เราไม่ได้คิดอย่างนั้น เพราะว่าได้ยินใครๆ เขาพูดกันอย่างนั้นว่า
แหมเขามาท้าอย่างนั้นไม่สู้มันก็หน้าตัวเมีย
เราไปจำคำพูดเหลวไหลมาจากไหนก็ไม่รู้ คำพูดประเภทที่ยุให้เราเสียผู้เสียคน
เราก็ไม่ควรเอาไปคิดอย่างนั้นมาใช้ แต่เราควรจะนึกว่า พระท่านว่าอย่างไร
อย่าไปเอาคนว่าเลย เอาพระว่ากันดีกว่า เพราะคนว่ามันปนกับกิเลสแล้วว่า
แต่พระท่านว่าด้วยความบริสุทธิ์ใจ เอาความถูกเป็นประมาณ
เราก็ควรนึกว่าพระท่านว่าอย่างไร
"จงชนะความชั่วด้วยความดี ชนะความโกรธด้วยความไม่โกรธ
เวรไม่ระงับด้วยการจองเวร แต่ระงับด้วยการไม่ผูกเวรกัน
พระท่านว่าอย่างนั้น"
<< ย้อนกลับ
» ไม่มีอะไรได้ดังใจเหมือนม้ากาบกล้วย
» วันนี้เจ้าอยู่กับฉันพรุ่งนี้มันไม่แน่
» หลักใจ
» เกิดดับ
» มรดกธรรม