ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

หอพระไตร


ธรรมบรรยายของ หลวงพ่อปัญญา

เรื่อง เกิดดับ

วันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2520

2

ทีนี้อีกประการหนึ่ง เกี่ยวกับร่างกายจิตใจของเรานี้ โดยเฉพาะร่างกาย มันก็ต้องมีโรคภัยไข้เจ็บเป็นธรรมดา พระพุทธเจ้าท่านสอนให้เราคิดว่า เราต้องมีความแก่เป็นธรรมดา มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดามีความตายเป็นธรรดา ต้องพลัดพรากจากสิ่งที่เรารักเราชอบเป็นธรรมดา เราทำสิ่งใดไว้สิ่งนั้นก็เป็นของเรา ทำดีเราก็ได้ดี ทำชั่วเราก็ได้ชั่ว เราหนีจากผลที่เราได้กระทำไว้หาได้ไม่ อันนี้เป็นเรื่องธรรมดาที่พระพุทธเจ้าท่านสอนให้เราคิดนึกบ่อยๆ อย่างน้อยก็วันละครั้ง เพื่อจะเป็นเครื่องเตือนใจไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือโรคภัยไข้เจ็บ อาจจะเกิดขึ้นแก่ใครเมื่อใดก็ได้ อากาศเปลี่ยนแปลง เดี๋ยวก็เป็นหวัดคัดจมูก อากาศร้อนรับประทานอาหารไมดีเข้าไปเดี๋ยวลำใส้ ท้องเสีย ระบายท้อง บางทีท้องไม่ระบาย คนเรานี่มันทุกข์ทั้งนั้น เวลาท้องเดินมากก็เป็นทุกข์ท้องไม่เดินก็เป็นทุกข์ นอนหลับมากไปก็ไม่ค่อยดี มันมากไปหน่อยนอนน้อยไปก็ไม่ค่อยดี กินข้าวไม่ได้ก็ไม่สบายใจ กินมากไปมันก็เดือดร้อนเพราะว่าต้องใช้มาก เรื่องมันยุ่งทั้งนั้น คิดดูแล้วมันก็ยุ่งทั้งนั้น แต่ถ้าเราฉลาดมันก็ไม่ยุ่ง ยุ่งเพราะว่าเราไม่คิดในแง่ที่ถูกต้อง ก็เกิดความทุกข์ความเดือดร้อน เช่นในร่างกายของเรานี้เราไม่รู้ว่ามันเป็นอะไร ในท้องในใส้ของเรามันเป็นอะไรก็ไม่รู้ เราไม่ได้เปิดดูว่ามันเป็นอะไร นานๆเดี๋ยวมันปวดตรงนี้ ปวดกันไป ปวดตุ๊บๆอยู่ในท้อง ปวดแน่ๆ ปวดเสียดแทงอะไรต่างๆ เราก็ต้องไปหาหมอ หมอก็ตรวจเช็คดูร่างกายว่าปวดเป็นเพราะอะไร บางคนก็เป็นเรื่องเล็กเช่นเป็นใส้ติ่ง ใส้ติ่งนี่เรื่องเล็กหมอผ่าตัดสบายๆ หมอบอกว่า ผ่าท้องเหมือนกับเปิดประตูหน้าต่างแล้วก็ปิดเท่านั้นเอง ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร แต่ว่าบางทีเรากลัวไป แหม เรื่องผ่านี้เรื่องใหญ่เหลือเกิน มันไม่ใหญ่หรอกสมัยนี้เรื่องผ่านี่

มีพระบ้านนอกองค์หนึ่ง มากรุงเทพฯ ท้องใส้ไม่ค่อยดี หมอบอกว่า ต้องผ่าตัด พอบอกว่าต้องผ่าตัดเท่านั้นกลับไปถึงเก็บข้าวของลงกระเป๋ากลับบ้านเลย อาตมาไปพบ ถามว่า ทำไมมาเสียล่ะ หมอตรวจแล้วว่าอย่างไร เขาตรวจแล้วว่าจะผ่า ไม่เอาจะผ่าพุงผม มาตายบ้านดีกว่า ว่าเอ้าเรื่องธรรมดา เดี๋ยวนี้เขาผ่าวันหนึ่งไม่รู้สักกี่คน หมอชำนาญการผ่าตัดเขาผ่าเฉยๆ ไม่มีเรื่องอะไร ผ่าเสร็จแล้วเขาเย็บให้เรียบร้อยต่อไป อย่าว่าผ่าท้องเลยเดี๋ยวนี้เขาผ่าหัวก็ยังได้ ถามว่าผ่าอย่างไรหัว ก็เอาเลื่อยตัดหัว เอ้าแล้วไม่ตายหรือ ไม่ตายเขาผ่าหัว เป็นโรคเนื้องอกในสมองเขาผ่าดู แล้วก็ตัดเนื้องอกออก ก็ยังมีชีวิตอยู่ได้ บอกว่า ไม่เอาแล้วเรื่องผ่าๆ ไม่ไหว แล้วก็ไม่มาก็ไปกินยาอะไรตามบ้านนอกของแกต่อไป

เวลานี้แกก็ยังไม่ตายเหมือนกัน แกยังอยู่ได้นี่มันเป็นอย่างนี้ คนเรามันเป็นอย่างนี้มันกลัวไป ในเรื่องอะไรๆเช่นเรื่องผ่านี่ก็น่ากลัวอันตราย เราอย่าคิดให้เป็นเรื่องน่ากลัว คิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา ให้ไว้ใจหมดในสมัยนี้ เพราะหมอเดี๋ยวนี้การผ่าตัดเขาชำนาญ มีความเชี่ยวชาญในการผ่าตัด หมอเมืองไทยนี่ผ่าตัดเก่งมาก เก่งกว่าหมดประเทศ ใกล้เคียง มาลายูคนที่มั่งคั่งยังมารักษาโรคเมืองไทย มารักษาตาเมืองไทย มาผ่าท้องเมืองไทย เขาไว้ใจว่าหมอไทยนี่เก่ง เก่งกว่าหมอมาลายู เขาอุตสาห์มารักษาเราอยู่ในเมืองไทยหมอเยอะแยะเราเลือกได้ จะไปรามาหรือจะไปศิริราช หรือว่าจะไปจะฬาลงกรณ์ แล้วยังเลือกหมอได้อีกว่า จะให้หมอคนไหนผ่าตัด เราจะเอา คุณหมออุดมหรือ ว่าจะเอาหมออะไร หมอชั้นดี ไปเลือกได้ แล้วหมอก็ผ่าตัดให้เรา เราต้องเตรียมใจไว้

สมมติว่าเราจะเข้าไปผ่าตัดที่โรงพยาบาล ต้องเตรียมกายเตรียมใจไว้พร้อม เตรียมใจที่แหละสำคัญ คืออย่าวิตกกังวล อย่าหวาดกลัวในเรื่องอะไรๆ เรื่องหวาดกลัวในเรื่องอะไร ๆ นี้ต้องคิดอย่างนี้ คิดว่าเมื่อมันจะเป็นก็ให้มันเป็นเถอะ คิดว่ายอมมันเสีย เมื่อมันจะเป็นก็ให้มันเป็นไป เมื่อมันจะตายก็เอาตายไป เราลองนึกว่า เรานี่เกิดมานานเท่าไหร่แล้ว อยู่ในโลกมากี่ปีแล้ว คำนวนอายุดูว่า เอมันตั้งเท่านี้แล้ว แล้วคนที่เกิดหลังเราบางคนก็ตายไปก่อนเราแล้ว ก่อนเราไม่แปลกที่เกิดหลังเรามันตายไปก่อนเรา เช่นเรามีเพื่อนมีฝูง เพื่อนฝูงบางคนของเราตายไปแล้วไม่ได้เห็นกันแล้ว เรายังอยู่ แล้วเราก็ไปรักษา ถ้าสมมติว่า มันจะมีอันเป็นไปคือร่างกายจะต้องแตกดับไป ก็ไม่มีอะไรที่น่าเสียดาย เพราะเรานึกว่าเราเกิดมามีอายุป่านนี้แล้ว ได้ทำอะไรๆ ตามสมควรแก่ฐานะแล้ว ในฐานะเป็นพลเมืองในชาติในประเทศเราก็ได้ทำอะไรทุกอย่างแล้ว ในฐานะเป็นคนในตระกูลในครอบครัว ก็ได้ทำหน้าที่อย่างดี ในครอบครัวแล้ว ทุกอย่างเรียบร้อย มันจะเป็นอะไรก็เป็นไปเถอะ นึกอย่างนั้น พอนึกอย่างนั้นใจมันก็สบาย ไม่มีอะไรนอนบนเตียงเข็นไป เข้าไปด้วยอารมณ์ยิ้มแย้มแจ่มใสจิตใจสบาย ให้นึกว่าร่างกายนี้มันไม่ใช่ของเรา ไม่เที่ยงแท้ แปรปรวนอยู่ตลอดเวลา ถ้าเขาจะผ่าตัดก็เอาเรื่องของคุณหมอทำไปตามหน้าที่ เขาก็ทำไป เราก็ทำใจให้สบาย ก่อนที่จะไม่รู้ตัว เพราะว่าเขาวางยาสลบ เราทำใจสบายแล้วก็ไม่รู้สึกตัวอะไร ทำไปตามเรื่อง เสร็จแล้วมันก็หมดเรื่องกันในการผ่าตัดไม่ต้องวิตกอะไรให้วุ่นวายจิตใจเราทำใจให้สบาย ครั้นฟื้นคืนตัวขึ้นมาหมดฤทธิ์ยาที่เขาทำให้สลบ เราก็ฟื้นขึ้นมา ฟื้นขึ้นมาแล้วก็อย่าคิดอะไรให้มันวุ่นวาย เพียงแต่รับรู้ว่าร่างกายของเรานี้ถูกผ่าตัดแล้ว ได้รับการเยียวยาจากหมอแล้ว แล้วเราก็ฟื้นขึ้นมา ไม่เป็นไร แล้วเราก็ตั้งใจให้ดีๆ ให้สงบสบาย

นอนอยู่บนเตียง ไม่มีอะไรจะทำ เราก็กำหนดกรรมฐาน เช่นเจริญอานาปานสติ กำหนดลมหายใจเข้าหายใจออก ภาวนาพุทโธ พุทธหายใจเข้า โธ หายใจออก เราไม่คิดเรื่องอะไร อย่างนี้ใจก็สบาย หรือมิฉะนั้นก็มาคิดว่า ร่างกายของมนุษย์นี้เรื่องมันมาก ประเดี๋ยวตรงนั้นเป็นอย่างนั้น ประเดี๋ยวตรงนี้เป็นอย่างนี้ ทำไมจึงเป็นอย่างนี้ ก็มันเป็นของประสมปรุงแต่งมันก็เป็นอย่างนั้นแหละ เหมือนกับรถยนต์ที่เราใช้ประเดี๋ยวแบตเตอรี่หมด ประเดี๋ยวอ้ายนั่นเสียอ้ายโน่นเสีย ใช้รถมา คันหนึ่งๆ ต้องอาหลั่ยกี่ครั้งกี่หนต้องเปลี่ยนบ่อยๆ ก็ร่างกายของเรานี้ไม่มีอาหลั่ยจะเปลี่ยน ของเก่ามันยังพอใช้ได้ก็ใช้ไปก่อน ดีกว่ามันไม่มีใช้เสียเลย แต่ว่าถ้ามันจะใช้ไม่ได้ก็เรื่องธรรมดา ร่างมันก็ต้องเป็นอย่างนี้ เรานึกอย่างนี้ใจก็สบาย ไม่มีเรื่องอะไรที่จะต้องวิตกทุกข์ร้อน ให้เกิดปัญหาขึ้นในจิตใจของเรา อันนี้เราต้องปลง ต้องวางลงไป

ทีนี้ บางทีมันก็เกิดเป็นปัญหาขึ้นในใจ คนเรามีเงินมีทองมีข้าวมีของ อาลัยในสิ่งของเหล่านั้น อาลัยบ้านที่อยู่ อาลัยในเครื่องแต่งเนื้อแต่งตัว อาลัยในความสุขความสบายที่เราได้รับ อันนี้พระท่านสอนไว้แล้วว่า เราจะต้องพลัดพรากจากสิ่งที่เรารักเราชอบใจเป็นธรรมดา อะไรๆ ที่เรามีเราได้ไว้นั้น ให้นึกว่าเป็นของยืมเท่านั้นเอง เอามาใช้เพียงชั่วครั้งชั่วคราว แล้วเราก็จะจากสิ่งนั้นไป สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นเป็นสมบัติของโลก ไม่ใช่สมบัติของเรา แต่ว่าเราเอามาใช้ตามกรรมวิธี ที่เราได้ประพฤติปฏิบัติ คือทำงาน เราทำงาน เราลงทุน เราใช้สมองใช้ปัญญา คนใดมีปัญญามาก มีความคิดมาก เขาก็ทำงานได้มาก คนใดปัญญาน้อย มีความคิดน้อย ก็ทำงานได้น้อย มนุษย์เรามันไม่เท่ากันหรอก ทำงานไม่เท่ากัน ผลที่ได้ก็ไม่เท่ากัน มันเป็นเรื่องธรรมดาอย่างนี้ ทีนี้เราได้สิ่งใดมาก็อย่างไปยึดถือในสิ่งนั้นมากเกินไป ให้นึกๆ แต่เพียงว่าเราได้สิ่งนี้มา แต่สิ่งนี้ไม่ใช่ของเราแท้จริง เราได้มาโดยการแลกเปลี่ยน คือการปฏิบัติงาน ให้เราใช้ตามหน้าที่ เรามีหน้าที่ใช้ แต่ไม่มีหน้าที่ไปยึดถือในสิ่งเหล่านั้นว่าเป็นของเราเป็นตัวเราขึ้นมา เพราะถ้าเราขืนไปยึดถือเข้าอย่างนั้น เราจะเป็นทุกข์ทางใจ มีความเดือดเนื้อร้อนใจเปล่าๆ คนเราควรจะอยู่ด้วยใจสบาย สงบ ใจโปร่ง ใจว่าง เพราะฉะนั้น มองแล้วก็ต้องคิดว่า นี่ไม่ใช่ของฉันแท้จริง และฉันใช้ตามสิทธิที่จะพึงมีพึงได้จากธรรมชาติเท่านั้นเอง แต่ว่าวันหนึ่งของนี้อาจจะจากฉันไปก็ได้ ฉันอาจจะจากสิ่งนี้ไปก็ได้ ให้นึกไว้อย่างนั้น ไม่ต้องอาลัยอาวรณ์ในของเหล่านั้นมากเกินไป เหมือนกับคนโบราณพูดว่า ลงจากบันไดเรื่อนก็ไม่ใช่ของเราแล้ว คือมันไม่เที่ยงไม่รู้ว่าเราจะได้กลับบ้านหรือเปล่า มันไม่ใช่ของเรา เราก็เสียสละไป นึกว่าเป็นของคนอื่นต่อไปที่จะรับมรดกตกทอดตามกฎหมาย ตามบ้านตามเมืองที่เขาได้ตราไว้ สิ่งเหล่านั้นก็เป็นของคนนั้นคนนี้ต่อไป คิดอย่างนี้ใจก็สบาย ไม่วุ่นวายไม่เดือดร้อน

อีกอย่างหนึ่ง บางทีเราคิดไปว่า โลกนี้มันยังเจริญต่อไป ยังก้าวหน้าไป ยังน่าดูน่าอยู่ต่อไป อย่าคิดให้มันน่าอยู่เลย โลกต่อไปมันไม่น่าอยู่แล้ว ไม่น่าอยู่ แต่ว่าเมื่อยังไม่ได้ก็อยู่ไปก่อนก็แล้วกัน แต่ถ้ามันจะแล้วก็นึกว่า เออดีเหมือนกันจะได้ไปเสียทีหนึ่ง มันวุ่นวายกันเต็มทีโลกนี้ โลกบ้าๆ บอๆ ว่าอย่างนั้นเถอะ มันวุ่นวายมันมีปัญหาเยอะแยะ ต่อไปข้างหน้าไม่รู้จะเป็นอย่างไร เมืองไทยเราจะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ ถ้าสมมติว่าเรามีอันเป็นไป หมดลมหายใจไปก็ดีเหมือนกัน ไม่ต้องอยู่ดูความทารุณโหดร้ายทั้งหลายที่มันจะเกิด จะมีในกาลต่อไปข้างหน้า นึกอย่างนี้ เราก็ไม่มีอะไรที่เรียกว่า น่าอาลัยน่าใยดี แต่เราพร้อมที่จะจากสิ่งเหล่านั้นไป จิตใจก็สบายการไม่มีอะไรก็ตาม การใช้อะไรก็ตาม การได้อะไรมาก็ตามอย่าทำใจให้มันเป็นทุกข์เพราะสิ่งนั้น แต่เราทำใจให้สบายก็เพราะรู้เท่าทันต่อสิ่งนั้น ๆ ตามสภาพที้เป็นจริง อันนี้ต้องเอาหลักสัจจะธรรม สามประการมาคิดบ่อยๆ สัจจธรรมสามประการนั้นคือ อนิจจตา ความเป็นของไม่เที่ยง ทุกขตา ความเป็นทุกข์ อนัตตา ความไม่มีเนื้อแท้ ในตัวของมันเอง คือไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์บุคคล ไม่ใช่ของเราของเขาให้นึกไว้อย่างนั้น เราไม่มีอะไรที่เป็นของเราแท้ๆ เราต้องมองไว้บ่อยๆ พิจารณาถึงความเที่ยงความเปลี่ยนแปลงไว้เสมอๆ จิตใจก็จะผ่องใสไม่ขุ่นมัวมีอะไรเกิดขึ้นก็ถึงบางอ้อทุกที พออะไรเกิด อ้ากูว่าแล้วว่ามันจะเป็นอย่างนั้น มันจะเป็นอย่างนี้ เรารู้เท่ารู้ทันการอยู่ด้วยความรู้เท่า รู้ทันนั่นแหละเป็นสุขใจสบายใจ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราก็รู้ว่า มันเหมือนดังที่ว่า เหมือนดังที่คิดไว้ ไม่มีผิดเลย เรานึกอย่างนั้น จิตใจก็อยู่ในสภาพที่สงบ ไม่ต้องกังวลห่วงใยปัญหาอะไรๆ ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในชีวิตของเรา

หรือบางที เราอาจจะมีงานการทำอะไรเอาไว้ ถ้าสมมติว่าเจ็บไข้ได้ป่วยก็เป็นห่วง ว่างานยัวไม่เสร็จอะไร อย่างนั้นอย่างนี้ เช่นอาตมานี่ สร้างกุฏิ ถ้าสมมติว่าเจ็บไข้ได้ป่วย อาจจะไปเป็นห่วงว่า กุฏิยังไม่เสร็จ อาตมาไม่ได้คิดอย่างนั้น ไม่ได้คิดเป็นห่วงว่ามันยังไม่ได้เสร็จไวๆ นี่แหละ แต่ถ้าหากว่า มันตายลงไป ก็นึกว่าคนอื่นก็ทำต่อไป มนุษย์ไม่สิ้นโลก เราทำไว้เพียงเท่านี้ คนอื่นเขาทำต่อไป โลกเรามันก็เป็นอย่างนั้น บรรพบุรุษของเราตายไปแล้วลูกหลานเหลนโหลน ทำอะไรต่อๆ กันมาเขาสร้างกรุงเทพฯ กันมาตั้งแต่รัชกาลที่หนึ่ง ยังไม่เรียบร้อยจนบัดนี้ก็ยังต้องสร้างกันต่อไป ยังสร้างกันต่อไปเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด เรามันเป็นตัวละครที่ออกมาแสดงตามกำหนดของฉากเท่านั้น ผู้กำกับเขาบอกว่า เอ้า ออกไปแสดงเป็นพระเอก เราก็ทำท่าทำทางไปตามเรื่อง พอจบบทเขาบอกว่า เอ้า เข้าฉาก เรื่องมันไม่ดี ต้องเข้าฉากคนอื่นเขาแสดงต่อไป อย่างนี้ฉันใด เรื่องอะไรต่างๆ ในชีวิตของเรา ทรัพย์สินเงินทอง ข้าวของการงานต่างๆ ที่เราสร้างไว้ คนอื่นเขาก็จะดำเนินการต่อไป เราอย่าไปคิดวิตกกังวลล่วงหน้า บางคนอย่างนั้น

อาตมาเคยคุยกับคนบางคนท่านมีสตางค์หน่อย บอกว่า ผมนี่นั่งกลุ้มใจเวลานี้ กลุ้มใจว่าลูกมันจะไม่เหมือนผม เอ้าโยม ไม่เข้าเรื่องแล้ว จะไปกลุ้มอะไร ว่าลูกมันจะไม่เหมือนผม แล้วลูกเหมือนโยมหรือเปล่า เอามายืนเคียงกันดู ร่างกายมันก็ไม่เหมือนโยมนี่ใหญ่กว่าลูกตั้งไหนๆ ลูกตัวนิดเดียว ไม่โตเท่าโยมเลย สติปัญญามันก็ไม่เท่ากัน แล้วจะไปนึกวิตกว่ามันจะไม่เหมือนอย่างไร แล้วยังคิดล่วงหน้าไปว่า ถ้าผมตายแล้วลูกมันจะลำบาก มันจะลำบากอะไร เขาโตแล้วเขาก็ต้องทำมาหากินไปตามเรื่องของเขา สัตว์เดรัจฉาน พอโตแล้วมันก็ไปหากินตามเรื่องของมัน มนุษย์มีปัญญามีสมองเก่งกว่าสัตว์เดรัจฉาน เราจะไปทุกข์อะไร เราเลี้องเขาตามหน้าที่ ให้การศึกษา ให้การอบรม ชี้แนะแนวทางชีวิตให้แก่เขา ตามหน้าที่เมื่อเราได้ทำ หน้าที่ของเราสมบูรณ์แล้ว เสร็จเรื่อง แต่ถ้าเรายังมีชีวิตอยู่ก็ช่วยแนะแนว เตือนจิตสะกิดใจอะไรไปตามฐานะ แต่ถ้าเมื่อเราจะจากไปเราก็อย่าไปคิดว่า เขาจะลำบากเขา ไม่ลำบากอะไรหรอกเขาทำไปตามเรื่องของเขา ก็จะเกิดมาแล้วคุณพ่อคุณแม่ตายไป ท่านตายไปตั้งแต่อายุเท่าไหร่ บอกว่า อายุเท่านั้น แล้วโยมเป็นอย่างไร ผมก็ต่อสู้มาทำงานทำการ โยมเมื่อก่อนนี้มั่งมีหรือเหล่า เปล่าไม่มีอะไร พ่อแม่ก็เป็นชาวสวนธรรมดา แต่ว่าผมนี่พยายามบากบั่นต่อสู้ทุกวิถีทาง จนสามารถมั่งมีขึ้นมาได้ เอ๊าโยมทำได้ลูกมันก็จะต้องทำต่อไป เราจะไปนึกทุกข์ร้อนอะไรในเรื่องอย่างนั้น คุยๆ ให้พอสบายใจ ไปเที่ยววิตกไปอย่างนั้นคิดให้มันมากไป เรื่องนั้นเรื่องนี้ อะไรให้วุ่นวาย มันไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องคิดไปไกลขนาดนั้น

เราคิดแต่ปัญหาเฉพาะหน้าว่า เราจะทำอย่างไรทำตัวปัจจุบันนี่ให้เรียบร้อยก็แล้วกัน ถ้าตัวปัจจุบันเรียบร้อย ปัจจุบันกลายเป็นอดีต มันก็เรียบร้อย เช่นวันนี้เรียบร้อยแล้วมันก็ผ่านพ้นไป กลายเป็นเมื่อวานไป มันก็ยังเรียบร้อยอยู่นั่นแหละ แล้วอนาคตที่สัมพันธ์กับวันนี้มันก็เรียบร้อย เพราะปัจจุบันเรียบร้อย พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า "ปจฺจุปฺปนฺนญฺจ โย ธมฺมํ ตตฺถ ตตฺถ วิปสฺสติ ให้เพ่งพิจารณาธรรมะที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า คำว่าเพ่งพิจารณาธรรมที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า นั้นหมายความว่า รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสที่ผ่านตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรา เป็นสิ่งเฉพาะหน้า เราตั้องเพ่งในสิ่งนั้น ให้เห็นว่ามันไม่เที่ยงอย่างไร มันแปรเปลี่ยนไปอย่างไร เกิดขึ้นแล้วดับไปอย่างไร รูปอันหนึ่งผ่านมามันก็หายไป เสียงหนึ่งผ่านมาแล้วก็หายไป กลิ่นอันหนึ่งผ่านมาแล้วก็หายไป รสที่เราใส่เข้าไปในปากเคี้ยวๆ แล้วก็กลืนหายไป อะไรมาถูกต้องกายประสาทมันก็หายไป ความคิดอันหนึ่งเกิดแว๊ปขึ้นมาแล้วก็หายไป มีอะไรคงที่อยู่บ้าง มีอะไรถาวรอยู่บ้าง ในตัวเราในจิตใจของเรา มันไม่มีอะไรมั่นคงถาวร เปลี่ยนแปลงอยู่อย่างนี้ เรานึกอย่างนี้ จิตใจก็ค่อยสลายคลายจากความกังวล ความทุกข์ความเดือดร้อน จะมีชีวิตสดชื่นมองอะไรก็มองเห็นในแง่ถูกต้อง

การเห็น ถูกต้องคือเห็นว่ามันไม่เที่ยง มันมีความทุกข์อยู่ตามสภาพ ไม่มีอะไรที่เรียกว่าเป็นเนื้อแท้ในตัวมันเอง อย่างนี้เขาเรียกว่ามองเห็นความจริงของสิ่งนั้นๆ คนเราถ้าของเห็นความจริงแล้วใจมันสบาย ไม่วุ่นวายไม่เดือดร้อนด้วยปัญหาต่างๆ อันนี้แหละเป็นหลักที่เราควรจะนำไปพิจารณา เพื่อแก้ไขปัญหาชีวิตของเรา โดยเฉพาะในปัจจุบันนี้ ปัญหาต่างๆ มีมากมาย ที่จะเกิดขึ้นแก่ชีวิตของเรา อันจะทำให้เราเกิดความทุกข์ความเดือดร้อนใจ จงใช้หลักธรรมะเป็นเครื่องประคับประคองใจของเราไว้ อย่าให้เกิดเป็นความทุกข์ใจเดือดร้อนใจ ได้เท่าใดยิ่งดี เรื่องนี้ทุกท่านต้องสังเกตตัวเอง ว่าเรามีความวิตกกังวลขนาดไหน มีความกลุ้มใจขนาดไหน แล้วเราก็ค่อยๆแก้ไปพิจารณาไป ญาติโยมที่เข้าวัดบ่อยๆฟังธรรมบ่อยๆ อ่านหนังสือธรรมะบ่อยๆ ก็เห็นประจักษ์อย่างว่า ใจดีขึ้นเยอะสบายขึ้น มีอะไรเกิดขึ้นก็เฉยๆ พอ ปลงพอวางว่าอย่างนั้นเถอะ ไม่แบกอยู่ตลอดเวลา ไม่ยึดไว้ตลอดเวลา ปลงได้วางได้ การปลงได้วางได้นั่นแหละคือใจมีนสบาย เพราะเราคิดไปในแง่ให้สบาย

วันหนึ่งๆของชีวิต อยากจะแนะนำญาติโยมว่าต้องคอยเตือนตัวเองไว้บ่อยๆ เตือนให้เกิดความคิดในทางที่ถูกที่ชอบ เตือนในแง่ธรรมะ เช่นเตือนให้รู้ว่านี่มันไม่เที่ยง นี่มันเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ร่างกายเรานี่ก็ไม่คงทนถาวร อาจจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อใดก็ได้ คนเราอยู่ดีๆ เอ๊า เดี๋ยวเข้าโรงพยาบาลแล้ว เข้าไปแล้วมีการทำอะไรกันเป็นการใหญ่ เดี๋ยวผ่าตัดไปแล้ว มันเป็นไปตามเรื่อง ตามที่สิ่งทั้งหลายมันเปลี่ยนแปลงไปอย่างนั้น ขอให้รักษาสภาพจิตใจไว้ให้คงที่ อย่าให้ขึ้นลงกับสิ่งที่มากระทบ ก็ทำให้จิตใจสงบไม่วุ่นวาย ไม่เดือดร้อนด้วยปัญหาอะไรต่างๆ

อีกอันหนึ่งอยากจะขอฝากว่า เมื่อใดเราไม่สบายใจนี่ควรจะมาวัด มารับฟังธรรมะ วันอาทิตย์มาวัดฟังธรรมทีนี้โดยมากไม่ค่อยจะได้คิดอย่างนั้น ภาระมันมากงานการเยอะ ทิ้งเสียบ้าง เจ็ดวันเขาให้หยุดกันวันหนึ่ง มาวัดมาวามาหาความสงบใจ ทำให้ใจเป็นอิสระไม่พัวพันกับสิ่งทั้งหลาย ตัดปัญหาออกไป หาความสงบให้มากขึ้น อย่าให้ขาดทุน อย่าให้เสียทีที่เกิดมาแล้วพบพระพุทธศาสนา ถ้าไม่มาก็เอาหนังสือส่งไป ให้เขาอ่านบ้าง จิตใจจะได้สบาย คลายจากความทุกข์ความเดือดร้อน ไม่ต้องเป็นโรคประสาท ธรรมะช่วยได้อย่างนี้ ดังที่กล่าวมาเพื่อเป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจ แก่ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย มาประชุมกันในวันนี้ ก็พอสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงนี้.

<< ย้อนกลับ

» มองทุกให้เห็นจึงเป็นสุข

» ทุกข์ซ้อนทุกข์

» ไม่มีอะไรได้ดังใจเหมือนม้ากาบกล้วย

» วันนี้เจ้าอยู่กับฉันพรุ่งนี้มันไม่แน่

» มันเป็นเช่นนั้นเอง

» ศีลธรรมและสัจจธรรม

» แหล่งเกิดความทุกข์

» องค์สามของความดี

» หลักใจ

» ทำดีเสียก่อนตาย

» ตามรอยพุทธบาท

» ฐานของชีวิต

» ความพอใจเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง

» ชั่งหัวมัน

» อนัตตาพาสุขใจ

» ฤกษ์ยามที่ดี

» อดีต ปัจจุบัน อนาคต

» วิธีการสอนของพระพุทธเจ้า

» สำนึกสร้างปัญญา

» สอนลูกให้ถูกวิธี

» ปฏิวัติภายนอกกับภายใน

» ร้อนกายไม่ร้อนใจ

» อย่าโง่กันนักเลย

» การทำศพแบบประหยัด

» คนดีที่โลกนับถือ

» ความจริงอันประเสริฐ

» เสรีต้องมีธรรม

» ทาน-บริจาค

» เกียรติคุณของพระธรรม

» เกียรติคุณของพระธรรม (2)

» พักกาย พักใจ

» เกิดดับ

» การพึ่งธรรม

» อยู่ด้วยความพอใจไม่มีทุกข์

» มรดกธรรม

» ฝึกสติปัญญาปัญหาไม่มี

» ทำให้ถูกธรรม

» วางไม่เป็นเย็นไม่ได้

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย