ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

หอพระไตร


ธรรมบรรยายของ หลวงพ่อปัญญา

เรื่อง อยู่ด้วยความพอใจไม่มีทุกข์

วันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2520

2

เรื่องถูกเสน่ห์นี่ก็เคยมีเหมือนกัน แปลกๆ คนเรามันตกเป็นทาสแล้ว ลืมตัวหมดเลย ให้ทำอะไรก็ได้ เขาเรียกว่า ไม่เป็นตัวเอง ถูกอำนาจสะกดจิตจากบุคคลที่เขาต้องการเรา สะกดให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ กลายเป็นเด็กอมมือไป อันนี้มีอยู่ แต่ว่าสิ่งเหล่านั้นมันก็อยู่ที่จิตใจของเรา ถ้าเราเป็นผู้ประพฤติธรรมจริงๆ มีสติคอยควบคุมตัวเอง มีปัญญาพิจารณาสิ่งที่กระทบแล้ว ก็คงจะไม่เป็นอะไร อาตมาเคยสังเกตุดู คนที่เคยตกไปอยู่ในอำนาจของสิ่งต่างๆ เหล่านั้น เป็นคนขาดการศึกษาในแง่ธรรมะ

อาจจะมีการศึกษาในเรื่องอื่น ตามแบบที่เขามีกันอยู่ในโลกทั่วๆ ไป เช่น สำเร็จวิชานั่นวิชานี่ ได้ปริญญาได้อะไรมาก็มีเหมือนกัน แต่ว่าผลที่สุดจิตใจตกต่ำ ขนาดเขาจูงไปได้ตามความปรารถนา อันนี้แหละน่ากลัว พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสเตือนเรื่องนี้ไว้ว่า "อตฺตานญฺเจว น ทเทยฺย" ไม่พึงให้ตนแก่ใครๆ ไม่พึงมอบตนให้แก่ใครๆ สิ่งใดๆ คือทั้งเป็นคนเป็นสัตว์ เป็นวัตถุสิ่งของ เป็นอารมณ์ที่มากระทบอะไรก็ตาม เราอย่ายอมมอบตนให้แก่สิ่งนั้น พูดง่ายๆว่า อย่าเป็นทาสของสิ่งนั้น แต่ให้ดำรงความเป็นไท ในจิตใจตลอดเวลา ถ้าเราปล่อยตัวปล่อยใจ ไปเป็นทาสของสิ่งเหล่านั้นเมื่อใด เราก็จะเกิดความทุกข์ความเดือดร้อนใจขึ้นมาเมื่อนั้นเสียหายเมื่อนั้น

ขอให้สังเกตเพื่อนฝูงมิตรสหายของเรา ที่ได้เสียผู้เสียคนไปนั้นก็เพราะอะไร ไปเป็นทาสของเมาบ้าง เป็นทาสของการพนันบ้าง เป็นทาสความสนุกสนานเพลิดเพลินทางเนื้อหนัง อะไรๆ ต่างๆ จนลืมตัวลืมตนไป ถ้าเพื่อนที่มีความรักความหวังดี ไปแนะไปเตือน เขาจะไม่ฟังเลย แต่เขาจะมองเพื่อนคนนั้นว่ามันกีดกันเขา เขาจะหาความสุขความสบาย มากีดกัน ไม่ใช่เป็นเพื่อนแท้ โน่นไปเอาไกลอย่างนั้น แต่เห็นคนที่จะทำให้เสียผู้เสียคน กลายเป็นเพื่อนแท้ไป เป็นมิตรที่มีความปรารถนาดีไป นี่เพราะอะไรจึงเป็นอย่างนั้น นี่แหละเขาเรียกว่า ไม่เป็นตัวเองเสียแล้ว สภาพหน้าตาดั้งเดิมของตนนั้นหายไปเสียแล้ว มีเรื่องอื่นเข้ามาอยู่แทนจิตใจ เรื่องที่เข้ามาอยู่แทนนั้น เป็นเรื่องผิดทั้งนั้น ไม่ใช่เรื่องถูกต้อง ไม่ใช่เรื่องที่เป็นประโยชน์ เป็นเรื่องที่รับไว้ด้วยความหลงผิดด้วยประการต่างๆ เลยเขวไปในรูปอย่างนั้น เสียผู้เสียคนไปเมื่อกลับใจไม่ได้ แต่ว่าบางทีอาจจะกลับใจได้เพราะไปกระทบอะไรแรงๆ เข้า หรือมีใครมาเตือนอย่างแรงเกิดความสำนึกรู้สึกตัว นึกขึ้นได้ว่าเรานี่เคยเป็นอะไรเคยมีสภาพจิตใจอย่างไร เคยอยู่ในฐานะอะไร ทำไมจึงได้ตกลงมาอยู่ในรูปอย่างนี้ ก็กลับใจได้หันหาความงามความดีต่อไป ยังน่าชมอยู่ที่รู้สึกตัวแล้วกลับใจไปในรูปอย่างนั้น

แต่บางคนนั้น ไม่สามารถจะกลับสู่สภาพเดิมได้ เสียคนไปเสียเลย อันนี้เป็นความตกต่ำเหลือเกินในทางจิตใจ เป็นเรื่องที่เราจะต้องระมัดระวังไว้ สิ่งทั้งหลายในโลกนี้ ที่มันมีคุณก็มีโทษก็มี เรียกว่ามีคุณโดยส่วนเดียวนั้น หมายความว่ามีแต่ประโยชน์ ไม่ให้ทุกข์ให้โทษเลย ถ้าเราเข้าไปเกี่ยวข้องก็ให้ประโยชน์แก่ชีวิตจิตใจ ส่วนที่ให้โทษโดยส่วนเดียวนั้น ตรงกันข้าม ถ้าเราเข้าไปเกี่ยวข้องแล้วมีแต่ความร้าย ไม่มีความดี ไม่มีคุณค่าแก่ชีวิตแม้แต่น้อย ส่วนเรื่องบางเรื่องนั้นหมายความว่า มีคุณก็ได้มีโทษก็ได้ มีคุณก็ได้มีโทษก็ได้อยู่ที่การใช้ ถ้าใช้เพียงพอประมาณมันเป็นคุณ ถ้าเกินประมาณไปก็เกิดการเป็นโทษ อันนี้อยู่ที่การใช้ให้เป็นคุณก็ได้ ใช้ให้เป็นโทษก็ได้

แต่ว่าคนมักจะเผลอ ลืมตัวไป ทำอะไรมักจะเกินพอดีไปเสมอ สนุกจนลืมตัว เล่นหัวจนลืมตัวไป ดื่มกินอะไรจนลืมเนื้อลืมตัวไป อันนี้เป็นความเสียหายเพราะการลืมตัวในรูปอย่างนี้ เราจึงไม่ควรจะปล่อยอย่างนั้น แต่ควรจะมีอะไรๆ เป็นเครื่องบังคับจิตใจไว้ตามสมควรแก่ฐานะ เรื่องที่จะช่วยให้เราเป็นตัวเอง ไม่ต้องเป็นทาสของอะไรๆ มากเกินไปนั้น เราควรจะทำอย่างไร อันนี้เป็นวิธีการที่จะช่วยป้องกันไว้ ไม่ให้เกิดอะไรขึ้นในจิตใจของเรา เบื้องต้นที่สุดเราจะต้องมีหลักใจอันมั่นคง คือมีศาสนาประจำใจนั่นแหละ แต่ว่าตัวศาสนานั้นเป็นตัวคุณธรรม ตัวคุณธรรมนั้น ก็ต้องมีบุคคลเข้าไปเกี่ยวข้อง บุคคลผู้เกี่ยวข้องก็คือผู้สอน ได้แก่พระพุทธเจ้า หรือว่าศาสดาของศาสนานั้นๆ

ถ้าเราเป็นพุทธบริษัท เราก์ถือว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้สอนธรรมะ คำสั่งสอนของพระองค์นั้นเป็นตัวธรรมะ คำสั่งสอนของพระองค์นั้นเป็นตัวพระธรรม ผู้ปฏิบัติสืบต่อมา เรียกว่าพระอริยสงฆ์ คือผู้ที่ออกบวชปฏิบัติตนพ้นทุกข์ เป็นตัวอย่างแก่ชาวบ้าน เราเรียกกันว่า พระอริยสงฆ์ สามประการนี้เป็นสรณะเป็นที่พึ่งทางใจ เราจะเอาสิ่งสามประการนี้ มาเป็นเครื่องป้องกันภัยอันตรายนั้น ก็ต้องมีความเชื่อให้มั่นคง นึกถึงพระองค์บ่อยๆ การนึกถึงสิ่งนั้นแล้วสิ่งนั้น ก็จะช่วยให้จิตใจของเราห่างออกไปจากสิ่งอื่นๆ

เพราะเรามีสิ่งนั้นแนบสนิทอยู่ในใจตลอดเวลา ไม่ว่าเราจะไปไหน เราจะทำอะไร จะคิด จะพูดเรื่องอะไร ต้องนึกถึงท่านไว้เสมอ นึกว่านี่มันถูกหรือผิด มันดีหรือมันชั่ว มันเสื่อมหรือมันเจริญ พระพุทธเจ้า ท่านวางหลักเกณฑ์เรื่องนี้ไว้อย่างไร นโยบายหรือหลักการในพระพุทธศาสนานั้น เป็นไปในรูปใด เมื่อเราอาจจะทำอะไร ก็นึกถึงสิ่งนึ้ไว้ก่อน เราก็จะไม่ผิดจากหลักคำสอน คล้ายกับกฏหมายของบ้านเมือง เขาห้ามว่าอะไร ถ้าเรานึกไว้บ่อยๆ เราก็จะไม่ทำผิดกฏหมาย เพราะเราคำเตือนตัวเราไว้ว่า ทำอย่างนั้นผิดเป็นอาชญา ทำอย่างนั้นผิด อย่างนั้นติดคุกเท่านั้น จะถูกลงโทษเท่านั้น ตำรวจเขาจะจับตัวไปโรงพัก เป็นเรื่องที่น่าละอาย เราคิดเตือนไว้บ่อยๆ ด้วยนำสิ่งนั้นมากระซิบในใจของเรา คอยกระซิบบอกตัวเองไว้ว่า อย่าอย่างนั้น อย่าอย่างนี้ อย่างนั้นไม่ดี อย่างนี้ไม่เหมาะ ทำแล้วจะเกิดเรื่อง จะเกิดความเสียหาย กระทบกระเทือนต่อฐานะ ต่อวงศ์ตระกูลต่ออะไรต่างๆ นึกไว้บ่อยๆ เราก็จะมีเครื่องรางศักดิ์สิทธิ์ป้องกันตัว

เครื่องรางอื่นนั้น ไม่สามารถป้องกันอะไรได้เท่าไหร่หรอก แต่ว่าเครื่องรางคือการนึกถึงพระพุทธเจ้าบ่อยๆ นั้นสามารถจะช่วยตนได้ เพราะฉะนั้นพระองค์จึงได้สอนพระภิกษุ เวลาจะเข้าไปอยู่ในป่า ไปนั่งอยู่แล้วมันเกิดกลัวหวาดเสียวต่อสิ่งต่างๆ สร้างภาพหลอกตัวเองอยู่ตลอดเวลา กลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้า พระองค์บอกว่าเมื่อใด เธอมีความหวาดกลัวเกิดขึ้น ให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้าว่า "อิติปิโส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ" ให้นึกตามแบบพุทธคุณเก้า ที่เราสวดมนต์กันในตอนเช้านั่นแหละ ถ้าไม่นึกพระพุทธเจ้า ก็ให้นึกถึงพระธรรม "สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม" หรือว่าไม่นึกถึงพระธรรม ก็ให้นึกถึงพระสงฆ์ว่า "สุปฎิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ" เอามาท่องบ่นให้ได้ สวดนี่ก็ได้เหมือนกัน แต่ว่าสวดให้ถี่ยิบเลย ให้ใจมันแนบสนิทอยู่กันคำสวด ก็จะช่วยไม่ให้คิดถึงเรื่องนั้น เช่นกลัวผี กลัวสัตว์ร้าย กลัวอะไรขึ้นมา ก็ขยันสวดมนต์ขึ้นมา

สมัยก่อนเมื่อเป็นเด็กเคยได้ยิน คือว่ามันมีโรคร้ายเกิดขึ้น เป็นไข้อหิวาทั้งนั้นเแหละ คนบ้านใกล้เรือนเคียงเขาตายไปมาก คุณโยมผู้ชายท่านสวดมนต์ใหญ่เลย กลางคืนตอนดึกลุกขึ้นสวดมนต์ใหญ่ สวดดังๆ ทีเดียว ก็นึกสงสัยว่าทำไมจึงสวดมนต์หนักหนา วันหนึ่งได้โอกาสถามว่า พ่อทำไมสวดดึกๆ อ้อ สมัยนี้มันเกิดโรคภัยไข้เจ็บ เบียดเบียนประชาชน บ้านเรามันสวดมนต์กันหน่อย แล้วก็สวดอยู่คนเดียวอื่นไม่ได้สวด แต่ว่าคนเดียวก็คุ้มครองได้ ท่านว่าอย่างนั้น นี่คือว่าเป็นการช่วยปลอบใจ พอเราสวดมนต์จิตมันก็อยู่กับสิ่งที่เราสวด มันเป็นสมาธิอยู่ในเรื่องนั้น ความกลัวมันก็ไม่มี คนโบราณเขาเชื่อว่า ไข้ห่านี่มันเป็นผี มาเข้าบ้านเข้าเมืองฆ่าคน ยมพบาลเขาต้องการคนจากโลก คนในยมโลกมันน้อยไป ต้องการสักห้าร้อย ต้องการสักพันสักหมื่น ทีนี้ถ้าใครไม่ยอมไม่อยากตายก็สวดมนต์ไว้ บางทีเขาหลอกให้เราสวมแหวนกะลาไว้ เอาผ้าแดงมายกธงไว้บนหลังคา เลยผ้าแดงขายดีไป นั่นเป็นลูกไม้ของพ่อค้า แต่ว่าคนโบราณจริงๆ เขาไม่อย่างนั้น เขาสวดมนต์ภาวนา รักษาจิตใจ ความหวาดกลัวก็จะหายไป นี่เขาเรียกว่า วิธีอย่างหนึ่ง

อีกอย่างหนึ่ง มันวิเศษขึ้นไปกว่านั้น คือเรามานั่งคิดถึงพระพุทธคุณเป็นบทๆ ไปเช่นคิดว่า อะระหัง หมายความว่าอย่างไร เป็นผู้บริสุทธิ์ บริสุทธิ์จากอะไร ความไม่บริสุทธิ์มันเกิดจากอะไร ทำอย่างไรจึงจะบริสุทธิ์เอามาคิด จิตมันอยู่กับเรื่องนั้น เมื่อจิตมันอยู่กับเรื่องนั้น จิตมันก็ไม่วุ่นนาย ไม่สร้างปัญหาอะไรขึ้นมา แล้วถ้าเราคิดบ่อยๆ คิดเป็นเวลา เช่นเวลานั้นเรานั่งคิดถึงพระพุทธเจ้า ก็เป็นการสร้างเสริมกำลังใจ ให้มีความเข้มแข็งทุกวันๆ ความคิดอันใดไม่ดีก็ไม่เกิดขึ้น เพราะเรานึกอยู่แต่เรื่องพระ เรามีปัญญามองเห็นพระพุทธเจ้าด้วยปัญญา ความโง่มันไม่เกิด ความหลงมันก็ไม่เกิด อันนี้คือการช่วยชั้นต้นๆ ช่วยได้เหมือนกัน ในการที่เรากระทำอย่างนี้ แต่ว่ายังไม่ดีแท้

ให้ดีแท้ขึ้นไปยิ่งกว่านั้น เราต้องใช้ปัญญาพิจารณาสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวเรา ให้เจริญวิปัสสนาไว้บ่อยๆ คือการพิจารณา แยกแยะสิ่งต่างๆ ที่เราได้ประสบพบเห็นนั่นแหละ เพื่อให้เกิดปัญญาขึ้น สมมติว่าแหม่มของนายกรัฐมนตรีคนที่เล่าถึงนี้ ถ้าเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนาเป็นนักธรรมะ ก็ไม่เบื่อหน่ายในหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติ เพราะมาคิดในแง่ธรรมะว่า คนเรามันต้องมีหน้าที่ ที่จะต้องจัดต้องทำ ถ้าเราอยู่คนเดียว ก็ทำอะไรได้ตามลำพัง เช่นอยู่ในห้อง เราทำอะไรก็ได้ ออกนอกห้องมันต้องเปลี่ยน เพราะว่ามีคนเห็น เดินบนถนนมันต้องเปลี่ยนไปตามสภาพของสังคม เราจะทำอะไรตามใจตัวเสมอไปไม่ได้ แล้วอีกประการหนึ่ง เมื่อเรามีหน้าที่อันใด เราก็ทำหน้าที่อันนั้น อันนี้ต้องมีคุณธรรมอันหนึ่งเข้ากำกับคือความสันโดษ สันโดษหมายความว่า พอใจในสิ่งที่มีอยู่เฉพาะหน้า พอใจในสิ่งที่เรามีเราได้อยู่ในขณะนั้น เช่นเราต้องทำหน้าที่นี้ต้องทำด้วยความพอใจ เพราะถ้าเราไม่พอใจ ก็เหมือนกับเฆี่ยนตัวเราเอง ลงโทษตัวเอง พอไม่พอใจปั๊บ เกิดปุ๊บทันที ทุกครั้งที่เราสร้างความทุกข์ขึ้นในใจ เหมือนกับหวดเราด้วยหวายแช่น้ำเค็ม มันแสบปวดขึ้นมาทีเดียวมีความทุกข์ความเดือดร้อน

เจ้าความทุกข์นี่เกิดเพราะอะไร เพราะไม่พอใจ แล้วทำไมจึงไม่พอใจในสิ่งนั้น เพราะความโง่ความเขลา ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ไม่รู้ว่าตัวคือใคร มีหน้าที่อะไรจะต้องเกี่ยวข้องกับอะไรต่อไป ไม่เข้าใจในเรื่องแบบนี้ ก็เลยนั่งกลุ้มใจ เวลานั่งกลุ้มใจก็คือลงโทษตัวเอง แล้วมันเรื่องอะไรที่เราจะมานั่งกลุ้มใจลงโทษตัวเอง ให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อน มนุษย์ผู้มีปัญญา ต้องทำใจให้เป็นสุขในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ ไม่ว่าเราจะอยู่ในสภาพใด ต้องทำใจให้สบาย ฝนตกฟ้าร้องเปรี้ยงๆ อย่าไปนั่งกลุ้มใจหาความทุกข์ใส่ตัว ต้องคิดให้มันเป็นสุข เดินทางไกลเหน็ดเหนื่อย ก็เดินให้มันเป็นสุข อย่าไปเดินกลุ้มใจ ทางไกลมันเหนื่อยแล้วก็ยังไปกลุ้มแถมอีก มันเรื่องอะไร นี่คนไม่รู้จักหาความสุข ด้วยการคิดในแง่ธรรมะ ก็เลยหาความสุขด้วยการป้อนสิ่งที่ต้องการ ใช้เหยื่อตลอดเวลา เมื่อกินเหยื่ออยู่ตลอดเวลามันก็ไม่เป็นสุขแท้หรอก พอขาดเหยื่อมันก็กลุ้มใจอีก มันเสียหายในสภาพอย่างนี้ เพราะฉะนั้นผู้ประพฤติธรรมต้องรู้ว่าหน้าที่ของเราที่จะต้องทำอย่างนี้

เราเป็นตัวละครในโลกต้องแสดงตามฉากตามบทในเรื่องที่จะต้องแสดง เขาให้เป็นอะไรก็ต้องเป็นตามหน้าที่ แล้วเป็นด้วยความพอใจเป็นด้วยความสมัครใจ อย่าไปเป็นด้วยความไม่พอใจเป็นทุกข์เปล่าๆ มันไม่ใช่เรื่องที่จะหาความทุกข์ใส่ตัวเราจึงต้องพอใจในสิ่งนั้น เมื่อเกิดความพอใจ มันก็ไม่เบื่อหน่าย ไม่รำคาญ ไม่เห็นว่าเป็นเรื่องซ้ำซาก คนบางคนอาจจะคิดผิดไปในแง่นี้ คิดว่าแหมชีวิตนี้มันซ้ำซากเหลือเกิน ต้องทำอย่างนั้นต้องทำอย่างนี้ตลอดเวลา ชีวิตอะไรที่จะไม่ซ้ำซาก มันซ้ำอยู่ทั้งนั้น หายใจเข้าออกซ้ำแล้วซ้ำอีก เบื่อหายใจมันก็ตายเท่านั้นเอง ไม่อยากซ้ำแล้วหายใจทุกเวลา มันก็ตายเท่านั้นเอง อยู่ได้เมื่อไหร่ เราต้องหายใจเข้าออก ต้องกินน้ำ น้ำดื่มทุกวัน ซ้ำอย่างนั้น ดื่มน้ำเย็นก็ดื่มอย่างนั้น ดื่มน้ำแข็งก็ดื่มอยู่อย่างนั้น ซ้ำแล้วซ้ำอีกข้าวก็กินซ้ำแล้วซ้ำอีก บางคนกินขนมปังเช้าๆ มันก็ซ้ำอีกเรื่องไม่ซ้ำไม่มี อะไรที่มันจะไม่ซ้ำ มันเป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องทำอย่างนั้น แต่ว่าจิตมันไม่มีปัญญาแล้วก็ไปคิดว่า แหมเบื่อความซ้ำซากความจำเจ อยากจะเปลี่ยนบ่อยๆ แล้วจะเปลี่ยนอย่างไร เปลี่ยนบ่อยๆ มันก็วุ่นวายเท่านั้นเอง มันมีปัญหาเกิดความทุกข์ความเดือดร้อนทางใจต่อไป เราจึงต้องพอใจในสิ่งที่มีอยู่เฉพาะหน้า พอใจในหน้าที่ในการงานที่เราจะต้องปฏิบัติ

ถ้าเราเป็นผู้พิพากษา แหมพิจารณาซ้ำแล้วซ้าอีกมันก็เบื่อไม่อยากจะขึ้นนั่งบนบรรลังก์ แล้วจะทำงานอะไร เมื่อมันเป็นอย่างนั้น ก็ต้องนั่งไปพิจารณาไป พอเห็นโจทย์จำเลยก็แหมเบื่อหน้าพวกนี่จริง มันเบื่อไม่ได้ พวกนั้นมันมาให้เราพิจารณา ก็ต้องว่ากันไป ควรนึกขำในใจว่า แหมมนุษย์นี่มันหาเรื่องกันสนุกจริงๆ มันมีเรื่องให้เราทำทุกวันๆ งานมันมีเยอะที่จะต้องพิจารณา ก็ดีเหมือนกันเรื่องมันเยอะดี ได้มีงานทำทุกวันๆ ต่อไปแล้วก็ได้ศึกษาเรื่องชีวิตมนุษย์ ว่ามนุษย์เรานี้มันแผลงๆ เดี๋ยวเรื่องนั้นเดี๋ยวเรื่องนี้ มีเยอะแยะคดีแพ่งก็พวกหนึ่งคดีอาชญาก็ไปพวกหนึ่ง มันก็ซ้ำๆ กันอยู่ อาตมาก็ต้องมาเทศน์ซ้าอยู่ทุกอาทิตย์ ว่าอย่างนี้ แล้วโยมที่มาฟังก็ซ้ำหน้าอยู่อย่างนี้ ถ้าอาตมานึกว่า เบื่อโยมเต็มทีแล้ว ซ้ำหน้ากันอยู่อย่างนี้ มันก็เลอะเทอะเท่านั้นเอง ไม่ได้เทศน์ให้โยมฟัง ทีนี่โยมก็เหมือนกัน เบื่อเจ้าคุณปัญญาเต็มทีแล้ว มาเจอกันทุกวันอาทิตย์ ก็ไม่ต้องฟังเทศน์พอไม่ฟังเทศน์ กิเลสมันก็เกิดเท่านั้นเอง ก็วุ่นวายอีก มันเปลี่ยนไม่ได้ มนุษย์เรามันต้องซ้ำกัน จนกว่าจะจบเรื่อง อะไรที่เกิดขึ้นขอให้พอใจ เมื่อพอใจแล้วใจสบาย จะไม่วุ่นวาย ไม่เดือดร้อนด้วยประการต่างๆ จะไม่เกิดเรื่อง ดังที่เขาเกิดเขาเป็นกันอยู่ตลอดเวลา

เรามีลูกก็ต้องพอใจในการเลี้ยงลูก ต้องนึกถึงธรรมชาติของมนุษย์ ว่าเป็นผู้หญิงก็ตามผู้ชายก็ตาม มันต้องมีบุตรสืบสกุล ถ้าเราแต่งงานมันก็ต้องมีบุตร เมื่อมีบุตรแล้วก็ต้องเลี้ยงเขาด้วยความรัก ด้วยความเมตตา จะเบื่อหน่ายไม่ได้ จะทอดทิ้งไม่ได้ มันผิดมนุษยธรรม เราเป็นมนุษย์ก็ต้องทำอย่างนี้ ก็เลี้ยงกันไปตามหน้าที่ ก็ทำให้ใจสบาย เลี้ยงด้วยความพอใจในหน้าที่นั้น มันก็ไม่มีอะไร ในเรื่องอื่นอีกก็ไม่เหมือนกัน เราพอใจเสียมันก็ไม่ยุ่ง ทีนี้ถ้าไม่พอใจก็ต้องเปลี่ยน เดี๋ยวไปสูบกัญชา กัญชานี่มันซ้ำซากซากฐานะ ไปสูบเฮโรฮีน เลื่อนฐานะไปสูบฝิ่น เลื่อนฐานะต่อไป ก็เป็นฮิปปี้ฮิปโป้ มันเลอะต่อไป จิตใจที่ตกต่ำมันไปอย่างนี้ อันนี้ต้องระวัง

เรามีลูกมีเต้าก็ต้องสอนต้องอบรมเขา ให้รู้ว่าชีวิตคืออะไร ในชีวิตนี้ต้องมีอะไร จะต้องทำอย่างไรต้องคิดอย่างไร มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นจะต้องแก้อย่างไร ต้องอธิบายกันเสียบ้าง ให้เด็กๆ เข้าใจ แม้คนร่วมงานกับเราก็เหมือนกัน ถ้าเห็นว่าดูมันนั่งซึมๆ แล้วก็เรียกมาคุยกันเสียบ้าง เป็นอย่างไรสบายดีหรือ มีปัญหาอะไรบ้าง เราเรียกมาแนะมาเตือน เพื่อให้เขาเข้าใจในเรื่องปัญหาชีวิตถูกต้อง แล้วจะได้ปรับปรุงอะไรกันต่อไป

นี้นำมาพูดสู่กันฟัง จากเรื่องที่เป็นข่าว เพื่อจะเป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจ ว่าเราต้องอยู่ด้วยความพอใจในหน้าที่ อันเราจะต้องปฏิบัติในชีวิตประจำวัน อะไรที่เป็นตัวปัญหาเกิดขึ้น จงใช้ปัญญาพิจารณาปัญหานั้นอย่างรอบคอบ เพื่อให้รู้สิ่งนั้นตามสภาพที่เป็นจริง แล้วเราจะได้ไม่ต้องเป็นทุกข์เพราะสิ่งนั้นต่อไป

ดังที่กล่าวมาพอสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้

<< ย้อนกลับ

» มองทุกให้เห็นจึงเป็นสุข

» ทุกข์ซ้อนทุกข์

» ไม่มีอะไรได้ดังใจเหมือนม้ากาบกล้วย

» วันนี้เจ้าอยู่กับฉันพรุ่งนี้มันไม่แน่

» มันเป็นเช่นนั้นเอง

» ศีลธรรมและสัจจธรรม

» แหล่งเกิดความทุกข์

» องค์สามของความดี

» หลักใจ

» ทำดีเสียก่อนตาย

» ตามรอยพุทธบาท

» ฐานของชีวิต

» ความพอใจเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง

» ชั่งหัวมัน

» อนัตตาพาสุขใจ

» ฤกษ์ยามที่ดี

» อดีต ปัจจุบัน อนาคต

» วิธีการสอนของพระพุทธเจ้า

» สำนึกสร้างปัญญา

» สอนลูกให้ถูกวิธี

» ปฏิวัติภายนอกกับภายใน

» ร้อนกายไม่ร้อนใจ

» อย่าโง่กันนักเลย

» การทำศพแบบประหยัด

» คนดีที่โลกนับถือ

» ความจริงอันประเสริฐ

» เสรีต้องมีธรรม

» ทาน-บริจาค

» เกียรติคุณของพระธรรม

» เกียรติคุณของพระธรรม (2)

» พักกาย พักใจ

» เกิดดับ

» การพึ่งธรรม

» อยู่ด้วยความพอใจไม่มีทุกข์

» มรดกธรรม

» ฝึกสติปัญญาปัญหาไม่มี

» ทำให้ถูกธรรม

» วางไม่เป็นเย็นไม่ได้

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย