ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

หอพระไตร


ธรรมบรรยายของ หลวงพ่อปัญญา

เรื่อง การพึ่งธรรม

วันอาทิตย์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2520

2

การที่ได้รับคำบอกเล่าจากผู้อื่นนั้น อย่าถือว่าเป็นกิจทั้งหมดแล้ว แต่ให้ถือว่าเป็นเรื่องเบื้องต้นเท่านั้นเอง คล้ายๆ กับว่าเราจะเดินทาง เราไปศึกษาทางจากคนอื่นว่าเราจะไปอย่างไร ควรจะมีอะไรบ้าง เขาชอบให้เพียงแต่รู้ ทางเท่านั้น นั้นมันยังไม่ถึง จุดหมายปลายทางการจะถึงจุดหมายปลายทางนั้นจะต้องลงมือเดินทาง ตามที่เราได้เรียนได้รู้ไว้ เมื่อเราเดินไปเราก็ถึงจุดหมายปลายทางได้ ฉันใด ในเรื่องเกี่ยวกับชีวิตเราก็เหมือนกัน เรายังไม่รู้อะไรเลย เราไปศึกษากับผู้รู้ เช่นเราอ่านหนังสือธรรมะก็ได้มาฟังก็ได้ ดูจากตัวอย่างชีวิตคนอื่นก็ได้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในเรื่องนั้น แล้วต่อจากนั้นเราก็เอามาทอสอบกับตัวของเราเอง คือลงมือปฏิบัติด้วยตัวของเราเอง คอบควบคุมความคิดการนึกของเรรให้เข้าถูกทางมีอะไรเกิดก็พยายามวิเคราะห์วิจัย ให้รู้ชัดเห็นชัดในเรื่องนั้นตามสภาพที่เป็นจริง ทำไปๆ ก็มีประสบการณ์มากขึ้น มีความชำนาญในเรื่องนั้นมากขึ้น เราก็พอจะพึ่งตัวเองได้

มีพระพุทธภาษิตบทหนึ่งที่เราได้ยินกันมากเหลือเกินว่า อตฺตาหิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน พระพุทธภาษิตบทนี้สำคัญมากที่สุด ว่าตนเป็นที่พึ่งของตน แตี่ที่เราได้ยินนั้นมันครึ่งเดียว ยังไม่เต็มบาทห้าสืบสตางค์เท่านั้น ที่เต็มนั้นต้องมีแถมท้ายอีกหน่อยหนึ่งชั้นแรกว่า ตนเป็นที่พึ่งของตน ต่อไปข้างท้ายว่า ธรรมะนั่นแหละเป็นที่พึ่งของตน ท่านสอนให้พึ่งธรรมะนั่นแหละเรียกว่า พึ่งตนเอง หรือในพุทธภาษิตที่บอกว่า เธอทั้งหลายจงทำตนให้เป็นที่พึ่งของตน อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง แล้วก็แถมท้ายว่า จงมีธรรมเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือให้พึ่งธรรม ธรรมะก็คือหลักดารสำหรับนำมาปฏิบัติ ผู้ใดต้องการที่จะพึ่งตนเองช่วยตนเอง ให้รอดพ้นจากความตกต่ำ ไม่ว่าในกรณีใดๆ ก็ต้องประพฤติธรรม เมื่อเราประพฤติธรรมก็ชื่อว่ามีธรรมะเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นแพเป็นเรือสำหรับข้ามฟากของชีวิต ทะเลชีวิตก็คือความทุกข์นั่นเอง สังสารวัฏฏ์ก็คือความทุกข์ความเดือดร้อน ที่มันสลับฉากกันอยู่ในจิตใจของเรา ทำให้มืดบอดเร่าร้อนวุ่นวายกันอยู่ตลอดเวลา เรียกว่า เป็นสังสารวัฏฏ์ คือเวียนอยู่เรื่อยไป เวียนไปเวียนมาอยู่ในเรื่องนั้นไม่รู้จักจบสิ้น วนไปวนมาเราต้องการจะตัดสังสารวัฏฏ์ ต้องตัดด้วยการประพฤติธรรมถ้าเราไม่ประพฤติธรรมก็ตัดไม่ได้ ที่นี้เราประพฤติธรรมเมื่อใดมันก็ค่อยตัดรอนสิ่งนั้นเรื่อยๆ ไป จนกระทั่งว่าตัดได้หมดมันไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป จิตใจก็ถึงที่สุดคือหลุดพ้นจากความทุกข์เด็ดขาด นี่คือวิธีการของพระพุทธเจ้าสอนให้เราพึ่งตัวเองช่วยตัวเอง

เรื่องช่วยตัวเองพึ่งตัวเองนี้ใช้ได้ทั้งสองฝ่าย คือในโลกียธรรมก็ใช้ได้ ด้านโลกุตตระก็ใช้ได้ ที่เรียกว่าโลกียธรรมหมายความว่า การปฏิบัติเพื่ออยู่ในโลกนี้อย่างคนที่ไม่มีความทุกข์มากเกินไป เรียกว่า อยู่ในโลกียธรรม โลกุตตรธรรมะนั้น ร่างกายอยู่ในโลกนี้แหละ แต่จิตใจอยู่เหนือโลก พ้นจากความดึงดูดของกิเลสทั้งหลายมีจิตใจสูงพ้นจากอำนาจของธรรมชาติทั้งหลายที่จะดึงดูดให้มันตกลงไป คล้ายๆ กับดาวเทียมที่เขาส่งไป ในอวกาศไปโคจรอยู่รอบๆ โลกอวกาศ เพราะในอวกาศนั้นไม่มีการดึงดูด พ้นไปจากความดึงดูดของโลก มันก็ลอยเคว้งคว้างอยู่ในอวกาศเรื่อยไป ไม่กลับมาสู่โลกนี้อีก จิตของคนที่พ้นไปจากความดึงดูดของธรรมชาติ คือรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส นั่นแหละ สิ่งเหล่านี้มันดึงใจคนลงมา รูปดึงลงมา เสียง กลิ่น รส สัมผัส ดึงใจลงมาให้ตกลงไปในอำนาจของมัน ถ้าเรายังอยู่ในอำนาจของสิ่งเหล่านี้ ก็ยังเรียกว่า ยังเป็นโลกียชน แต่ว่าเป็นโลกียชนที่ไม่หมกมุ่นมัวเมา ไม่หลงไหลในสิ่งนั้นมากเกินไป ก็พอใช้ได้ อยู่อย่างกัลยาณปุถุชน หมายความว่า เป็นคนดีมีสติปัญญากำกับ ไม่ตกลงไป ในอำนาจของมันจนกระทั่งว่าจมตัวว ยังพอรู้ว่าอะไรเป็นอะไรอยู่บ้าง ก็พอจะปลอดภัย

ส่วนโลกุตตระนั้นหมายความว่าพ้นไปจากความดึงดูดของสิ่งเหล่านั้น จิตมันอยู่เหนือโลก เหนืออารมณ์ทั้งหลาย รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ไม่ก่อให้เกิดความกำหนัดเพลิดเพลินหลงใหลมัวเมาได้ เพราะมองเห็นสิ่งเหล่านั้นตามสภาพที่เป็นจริง ที่ว่ามองเห็นตามสภาพที่เป็นจริงนั้น จริงอย่างไร คือเห็นความไม่เที่ยงของทั้งหลาย เห็นความทุกข์ในสิ่งนั้น เห็นความเป็นอนัตตา อันนี้แหละเรียกว่า เป็นความจริง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา คือตัวความจริงตัวสัจจะในสิ่งทั้งหลาย ถ้าเรามองเห็นอะไรเป็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เราก็เห็นความจริง เมื่อเห็นความจริงเราก็ไม่ติดอยู่ในของที่เป็นเท็จเทียม หรือว่าเป็นมายา หลอกให้เราหลงจิตเราอยู่เหนือสิ่งนั้น ขณะใดจิตเราอยู่เหนือสิ่งนั้น ก็เรียกว่าเราอยู่เหนือโลก เหนืออารมณ์โลก คนเราถ้าอยู่เหนือโลกแล้วมันสบาย คล้ายๆ กับเรานั่งเครื่องบินญาติโยมบางคนเคยนั่งเครื่องบินบ่อยๆ ถ้ามันบินสูงแล้วก็เรียบ ไม่กระเทือนไม่โคลงเลย นั่งสบายเหมือนกับเรานั่งในตึกหลังนี้ไปอย่างเรียบร้อย แต่พอใกล้สนามบินก็ต้องร่อนลงต่ำ พอร่อนลงต่ำจะรู้สึกว่า เริ่มมีอาการโคลงเครงนิดหน่อย แล้วก็มีอะไรวูบๆวาบๆ ข้าง แล้วแต่ดินฟ้าอากาศในที่นั้น อันนี้เป็นเครื่องแสดงให้เห็นง่ายๆว่าจิตใจเรานี้ก็เหมือนกัน ถ้ายิ่งสูงมากเท่าใดก็ยิ่งสอาด ยิ่งสงบ ยิ่งสว่าง ถ้าต่ำลงไปแล้วมันมืดเร่าร้อนวุ่นวาย อันนี้เห็นได้ในตัวเราเอง เวลาใดใจเรามันไม่คิดเรื่องยุ่งๆ เรานั่งเป็นสุขสบาย แต่พอคิดเรื่องวุ่นวายขึ้นมาแล้วก็กลุ้มใจ หรือว่านั่งใกล้คนที่เขาวุ่น เราก็พลอยวุ่นไปกับเขาด้วย นี่เขาเรียกว่า ใกล้โลกลงมา เหมือนกับเรือบินที่มันใกล้พื้นโลก เอียงขวาเอียงซ้ายวุ่นวายอยู่ตลอดเวลาคนโดยสารบางคนก็อาเจียรออกมา เพราะว่ามันโครงเครง จิตใจเราก็เป็นอย่างนั้น พอใกล้โลกแล้วมันชักจะโคลงเครงจะอาเจียรออกมา ออกมาเป็นรูปต่างๆ สภาพเป็นจริงมันเป็นอย่างนั้น

เพราะฉะนั้นเราควรจะได้ยกระดับของเราไว้ ให้สูงไว้ตลอดเวลา อย่าให้ตกลงมาเป็นอันขาด ในการยกระดับจิตของเราให้สูงไปนั้น ก็ค่อยเป็นค่อยไปตามลำดับ เช่นว่าเราหัดให้เป็นคนมีระเบียบมีวินัย เช่นว่าหัดเป็นคนถือศีล อย่านึกว่าศีลนี้เป็นเรื่องเล็กน้อยแล้วก็เป็นเรื่องไม่สำคัญ มันเป็นฐานชั้นต้นที่จะให้ก้าวไปสู่ความดับทุกข์ เช่นเราถือศีล ไม่มีอะไรมาก เช่นศีลห้า นี่ก็เป็นฐานชั้นต้นแล้วที่จะบังคับจิตใจของเราไม่ให้ตกต่ำมากเกินไป ไม่ให้แสดงอะไรหยาบๆ ออกมาการทำร้ายร่างกาย การฆ่าเขามันเป็นเรื่องของคนกิเลสหยาบ การไปถือเอาสิ่งของของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตก็เป็นเรื่องของคนกิเลสหยาบ การประพฤติล่วงเกินของรักของชอบใจของใครๆก็เป็นเรื่องของคนใจหยาบ พูดคำโกหกคำหยาบคำเหลวไหลคำเพ้อเจ้อไม่ได้เรื่องได้ราวก็เป็นเครื่องแสดงความต่ำทางจิตใจ จิตใจยังหยาบเหลือเกินจึงได้พูดคำนั้นออกไป เช่นเราเห็นใครพูดคำหยาบๆ ก็แสดงว่าจิตใจหยาบเหลือเกิน ไม่ได้กลั่นกรอง ไม่ได้มีการควบคุม จึงออกมาในรูปอย่างนั้น ถ้าเป็นกะทิก็เรียกว่า มีกากเยอะแยะ เอาไปแกงไม่อร่อย กากมันมากเพราะไม่ได้กรอง แต่ถ้าว่าเอากระชอนมากรองเสียให้ดีจะได้แต่กะทิล้วนๆ กากเอาไปให้ไก่กินเสีย คนเราที่พ้นอะไรไม่ดีออกมาแสดงว่าจิตใจหยาบ พูดด้วยความโกรธพูดด้วยความหลง พูดด้วยความโลภ พูดด้วยความริษยา จึงออกมาหยาบไม่น่าฟัง มันจึงเสีย

แม้คนที่ไปเสพของเสพติดให้โทษต่างๆ ก็เรียกว่ามันยังหยาบอยู่ ยังไม่มีปัญญา ยังไม่รู้ว่าอะไรควรอะไรไม่ควร ยังบังคับตัวเองไม่ได้ จึงไปเที่ยวดื่มของที่ไม่จำเป็น ไปสูบสิ่งที่ไม่จำเป็น เปลืองเงินเปลืองทอง แล้วบ่นว่าเงินเดือนไม่พอใช้  แต่ว่าไปใช้ในเรื่องที่ไม่เข้าเรื่องเสียเยอะแยะ ถ้าเราตัดเรื่องอย่างนั้นออกเสียบ้างเราก็จะมีสตางค์พอใช้เพราะตัดออกได้หลายบาท หลายเรื่องหลายประการ ศีลมันก็ช่วยได้ เพราะฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่า การรักษาศีลให้เกิดโภคทรัพย์ ให้เกิดความสุขให้ดับทุกข์ได้ เวลาพระท่านให้ศีลแล้วท่านจะบอกอานิสงส์ไว้เสร็จว่า สีเลน สุคตึ ยนฺติ จะได้ความสุขก็เพราะศีล สีเลน โภคสมฺปทา จะได้ลาภสมบัติก็เพราะศีล สีเลน นิพฺพุตึ ยนฺติ จะดับทุกข์ดับร้อนได้ก็เพราะศีล อานิสงส์เยอะถ้าเราถือแล้วมันค่อย ประณีตขึ้นโดยลำดับ จิตใจประณีตขึ้นโดยลำดับ นี่เรียกว่า เป็นพื้นฐานชั้นต้นในการยกระดับจิตใจนั่นเอง

ครั้นเมื่อเราถือศีลอย่างนั้นแล้ว ยังไม่พอ ก้าวหน้าไปถืออุโบสถ อุโบสถเป็นพรหมจรรย์ เป็นศีลที่สูงขึ้นไปอีกหน่อยหนึ่ง ก็ต้องบังคับหลายเรื่องหลายประการ การบังคับตัวเองนั้นเป็นเรื่องสำคัญ และจำเป็นคนเราถ้าไม่มีการบังคับตัวเองเสียเลยแล้ว จะมีชีวิตที่ประเสริฐได้อย่างไร สัตว์เดรัจฉานนั้นมันไม่มีระเบียบไม่มีการบังคับตัวเอง จึงทำอะไรตามอารมณ์ตามสิ่งแวดล้อม เรานี้ไม่ใช่สัตว์เดรัจฉาน เราเป็นมนุษย์ไม่ใช่คน มนุษย์คือผู้อยู่ในระเบียบวินัย มีจิตใจสูง เพราะฉะนั้นจึงต้องบังคับตัวเองให้มากขึ้นไปทุกวันเวลา ยิ่งบังคับตัวเองได้มากเท่าใด ยิ่งประเสริฐมากเท่านั้น พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ยอดแห่งสารถี สารถีคือคนที่ฝึกช้างฝึกม้า ท่านบอกว่ายังไม่เก่ง ฝึกช้างเก่งฝึกม้าเก่ง ฝึกอะไรๆ เก่งก็ยังไม่เก่งคนที่เก่งนั้นคือคนที่ฝีกตนได้ นั่นแหละยอดเก่ง ยอดสารถี ยอดสารถีคือคนที่ฝึกตัวเองได้ ควบคุมตัวเองได้ ไม่ปล่อยตัวไปตามอำนาจของสิ่งแวดล้อมสิ่งยั่วยุ ผู้นั้นชื่อว่าเป็นสารถีแท้ เป็นยอดแห่งสารถี เพราะฉะนั้นเราควรจะถือหลักไว้พูดกับเด็กๆให้เข้าใจว่าคนเก่งคนดีนั้น คือคนที่สามารถจะบังคับตัวเองได้ ใครบังคับตัวเองได้คนนั้นแหละเป็นคนดี เป็นสุภาพชน เป็นมนุษย์ มันสูงขึ้นไปโดยลำดับ การรักษาพรหมจรรย์คือการยกระดับจิตใจให้สูงขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง เพื่อเป็นฐานะที่จะได้ฝึกสมาธิต่อไป

ทีนี้การฝีกสมาธิ ตามปกติคนเรามันก็มีสมาธิอยู่พอสมควรแล้ว ที่เราทำงานทำการอยู่ในชีวิตประจำวันไม่ผิดไม่พลาด ก็เรียกว่ามีสมาธิ เช่นเขียนหนังสือหน้าหนึ่งไม่ผิดนี่ก็แสดงว่ามีสมาธิ คนบางคนเขียนไม่ผิดสะกดการันต์เรียบร้อย วรรคตอนเรียบร้อย เขียนเสร็จแล้วไม่ต้องตรวจ เอาไปพิมพ์เลย นั่นแสดงว่าสมาธิดีมาก เพราะขณะเขียนนั้นจิตมันอยู่กับเรื่องที่เขียน มันคิดเรื่องที่จะให้ออกมาเป็นตัวหนังสือ แล้วมือก็เขียนไป เคยสังเกตว่า ถ้าจิตไม่ฟุ้งไปในเรื่องอื่นแล้วจะเขียนไม่ผิดเลยสักตัวเดียว แต่ถ้าว่าพอไปเขียนตรงนั้นใจมันนึกไปเรื่องอื่น ก็ผิดทันที เพราะฉะนั้นคนใดที่เขียนหนังสือผิดมาก แสดงว่าจิตฟุ้งซ่าน ไม่มีระเบียบสำหรับบังคับใจ สมาธิไม่ดี อ่านมันก็เสีย เสียเวลาที่จะต้องมานั่งแก้ข้อความ มานั่งแก้วรรคตอนสะกดการันต์ มันก็ผิดไปใหญ่ แต่ถ้ามีสมาธิแล้วก็เรื่องเรียบร้อย ยิ่งคนที่จะต้องประกอบกิจธุระการงานอยู่ในสังคมต้องมีสมาธิเป็นพิเศษ ถ้าไม่มีสมาธิจะทำอะไรได้ ทำอะไรก็เดี๋ยวผิดบ่อยๆ ผิดบ่อยก็เสียหายแก่เศรษฐกิจแก่ปัญหาร้อยแปด เรื่องยุ่ง แต่ถ้ามีสมาธิมันก็ดี โดยปกติเราก็มีสมาธิดังกล่าวแล้วนั้นพอสมควร แต่ว่ามันยังไม่มีเทคนิค ต้องฝึกหน่อย ฝึกเสียบ้างเป็นบางครั้งบางคราว

การฝึกแบบง่ายๆก็คือคอยกำหนดลมหายใจเข้าออก เรียกว่า อานาปานสติ เอาความคิดมาอยู่ที่ลมเข้าลมออกที่ไหนเมื่อใดก็ได้ ไม่เลือกเวลาเลือกสถานที่อะไรทั้งนั้น แล้วอย่าไปคิดให้มั่นยุ่ง ในการปฏิบัติฝึกสมาธิ อย่าไปคิดว่าฝึกเพื่อให้มันได้อ้ายนั่นอ้ายนี่ ฝึกแล้วจะได้ดูเลขท้ายมั่ง หรือว่าเลขมันออกอะไร วุ่นวาย พวกนี้แหละที่มันจะบ้า ไปเจริญสมาธิแล้วมันบ้าก็พวกนี่แหละ คิดมาก ทำไปๆ ไม่เห็นสักที ความอยากมันรุนแรงเลยเอาใหญ่แล้วไม่กินไม่นอนแล้ว นั่งอยู่อย่างนั้น จนกระทั่งเครียดแล้วก็ไม่สบาย ที่ทำแล้ว ที่เขาว่าไปฝึกภาวนาแล้วเป็นบ้าเพราะอารมณ์อย่างนี้ อารมณ์อยากจะทำอะไรด้วยความอยากไม่ได้ เขาไม่ให้อยากให้ทำเฉยๆ ทำไปเถอะมันค่อยๆ ดีของมันเอง ที่นี่ความอยากคืออยากในด้านวัตถุ อยากจะได้นั่นได้นี่ อยากจะได้ตาทิพย์บ้างหูทิพย์บ้าง อะไรต่ออะไรเที่ยวฟุ้งซ่านไป แล้วทำไปมันก็ไม่ได้ทีนี้มุใหญ่ไม่กินไม่นอนแล้ว มันไม่ได้จิตยิ่งฟุ้งใหญ่เขาไม่ให้ต้องการอย่างนั้น เพียงแต่ให้เอาจิตมากำหนดไว้ที่ลมเข้าลมออก เวลาใดที่ใจมันวุ่นวาย มีปัญหานั่งเฉยๆ ในห้องทำงานก็ได้ ยิ่งห้องปรับอากาศยิ่งสบายใหญ่ นั่งเก้าอี้ให้ตัวตรงแล้วกำหนดลมหายใจเข้าออกอย่างให้ไปคิดเรื่องอื่นตลอดเวลา เราจะรู้สึกว่ามันสงบสบายขึ้น ทำบ่อยๆ มันก็เกิดความแคล่วคล่องว่องไว ทำที่ไหนก็ได้ โอกาสใดที่เราจะทำได้ เราก็ทำ เช่นว่าโดยสารไปในรถก็ทำได้ ถ้าว่าไปทำสมาธิแบบนั้นมันไม่ยุ่งใจ ไม่ยุ่งกับเรื่องร้อนกับคนแน่น เรื่องรถมันหยุดช้าไม่ยุ่ง เพราะใจมันไม่ไปคิดถึงเรื่องยุ่ง แต่คิดถึงเรื่องนี้คือเรื่องลมเข้าลมออก หรือว่านั่งรถไฟไปไกลๆเรานั่งฝึกสมาธิไปเสีย มันก็ไม่ยุ่ง ถ้าไม่ฝึกสมาธิก็ยุ่ง แหมรถทำไมรถมันหยุดนาน สถานนี้ทำไมมัหยุดนาน ก็ยุ่งใจดูนาฬิกาบ่อยๆ เอ๊ะ เมื่อไหร่มันจะถึงสักที วุ่นวาย

เวลาถ้าเราไปเร่งมันช้า ถ้าไม่เร่งมันเร็ว เพราะฉะนั้นนั่งฝึกจิต เวลามันจะได้ไม่ช้า ไปถึงที่หมายตามทึ่เราต้องการ แล้วก็ไม่วุ่นวานใจด้วย อย่างนี้ก็สบายหรือว่ามีอะไรปัญหาขึ้นกับเพื่อนฝูงมิตรสหาย เรานั่งหลับตาทำไม่รู้ไม่ชึ้มันก็หมดเรื่อง ไปรู้ไปชี้มันเข้าเรื่องมาก เพราะฉะนั้นทำเฉยเสีย ไม่รู้ไม่ชี้ ฉันไม่ได้ยินใครพูดฉันก็ไม่ได้ยิน ใครแสดงอาการอย่างไรฉันก็ไม่เห็น พระท่านบอกว่ามีตาก็บอดๆ เสียมั่ง มีหูก็ทำเป็นคนหูตึงเสียบ้าง มีลิ้นพูดได้ก็เป็นใบ้เสียบ้าง เรื่องมันไม่ยุ่ง ที่เรามันเขาเรียกว่า หาเรื่อง ตาหาเรื่อง หูหาเรื่อง ปากหาเรื่อง เรื่องไม่ควรพูด เที่ยวไปพูดกับเขา ไม่ควรดูก็จะไปดูเขา ไม่ควรฟังก็เสือกไปฟังกับเขา นี่เขาเรียกว่า หาเรื่อง เราก็เฉยๆ เสียบ้าง ธุระไม่ใช่เสียบ้างในเรื่องที่มันไม่จำเป็น หรือว่ามีเรื่องที่ไม่เหมาะไม่ควรเกิดขึ้นเราก็รีบบอกตัวเองว่าอย่าไปยุ่งกับเขา เขายุ่งอยู่คนเดียวก็พอแล้ว อย่าไปเพิ่มคนยุ่งขึ้นอีกสักคนหนึ่งเลย แล้วใครเขาทำอะไรเราก็เฉยทำไม่รู้ไม่ชี้ เขาจะพูดอะไรเราก็เฉย เขาแสดงอาการอะไรเราก็เฉย ก็เป็นการสอนคนนั้นอยู่ในตัวว่า เฉยเสียบ้าง วางเสียบ้าง ปล่อยเสียบ้าง แล้วมันจะไม่ยุ่ง แล้วเขาจะได้บทเรียนสำหรับชีวิต

นี่เป็นวิธีการทั้งนั้น เราต้องทำกับตัวเราบ่อยๆ ทำสมาธิ ทำใจเย็น มีอะไรเกิดขึ้นก็เอามาพิจารณาให้เห็นว่า เรามันบกพร่อง เราขาดสติ เราขาดปัญญา ใจร้อน ใจเร็ย มันจึงได้รับผลอย่างนี้ ทีหลังอย่าทำอย่างนี้ เตือนตัวเองไว้อย่างนั้น แล้วก็ต้องเตือนบ่อยๆ ในเมื่อมีอะไรจะเกิด เช่นว่าไปหาใคร เกี่ยวข้องกับงานใด กิจใด มันจะเกิดอะไรก็คอยบอกคอยเตือนตัวไว้ว่า อย่าเกิดสิ่งนั้นอย่าคิดสิ่งนั้น อย่าพูดอย่างนั้น ระวังตัวไว้ ระวังไว้ คอยเตือนอย่างนั้น เรื่องอันตรายภายในก็จะไม่เกิดขึ้นแก่ตัวเรา เราจะมีชีวิตสดชื่นสมความตั้งใจ นี้เป็นเรื่องที่สมควรคิดประการหนึ่ง วันนี้พูดมาก็พอสมควรแก่เวลา ขอจบไว้แต่เพียงเท่านี้.

<< ย้อนกลับ

» มองทุกให้เห็นจึงเป็นสุข

» ทุกข์ซ้อนทุกข์

» ไม่มีอะไรได้ดังใจเหมือนม้ากาบกล้วย

» วันนี้เจ้าอยู่กับฉันพรุ่งนี้มันไม่แน่

» มันเป็นเช่นนั้นเอง

» ศีลธรรมและสัจจธรรม

» แหล่งเกิดความทุกข์

» องค์สามของความดี

» หลักใจ

» ทำดีเสียก่อนตาย

» ตามรอยพุทธบาท

» ฐานของชีวิต

» ความพอใจเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง

» ชั่งหัวมัน

» อนัตตาพาสุขใจ

» ฤกษ์ยามที่ดี

» อดีต ปัจจุบัน อนาคต

» วิธีการสอนของพระพุทธเจ้า

» สำนึกสร้างปัญญา

» สอนลูกให้ถูกวิธี

» ปฏิวัติภายนอกกับภายใน

» ร้อนกายไม่ร้อนใจ

» อย่าโง่กันนักเลย

» การทำศพแบบประหยัด

» คนดีที่โลกนับถือ

» ความจริงอันประเสริฐ

» เสรีต้องมีธรรม

» ทาน-บริจาค

» เกียรติคุณของพระธรรม

» เกียรติคุณของพระธรรม (2)

» พักกาย พักใจ

» เกิดดับ

» การพึ่งธรรม

» อยู่ด้วยความพอใจไม่มีทุกข์

» มรดกธรรม

» ฝึกสติปัญญาปัญหาไม่มี

» ทำให้ถูกธรรม

» วางไม่เป็นเย็นไม่ได้

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย