ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
แหล่งเกิดความทุกข์
อาทิตย์ ที่ 1 ตุลาคม 2515
2
แต่ถ้าเรารู้ว่า
ความแก่นี้มันเป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องเกิดต้องมีแก่คนทุกคน หนีไม่พ้น
ในชีวิตของเราทุกวินาทีนี่เราแก่อยู่ตลอดเวลา เมื่อเป็นเด็กก็เรียกว่าแก่ขึ้น
เป็นหนุ่มก็แก่ขึ้น พอเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวก็เริ่มแก่ลง
เพราะว่าความแก่นี้มันขึ้นอยู่กับเวลาปรุงแต่งของร่างกาย บางคนก็แก่ลงช้า
แต่บางคนก็แก่ลงเร็ว
คนที่แก่ลงเร็ว ก็คือคนที่ชอบเอายาพิษใส่เข้าไปในตัว เช่น คนชอบดื่มเหล้า
ชอบเที่ยวกลางคืน อดหลับอดนอน คนประเภทนี้แก่เร็ว ร่างกายชำรุดทรุดโทรมเร็ว
แต่ถ้าเป็นคนรู้จักรักษาอนามัย พักผ่อนเป็นเวลา รับประทานอาหารถูกต้อง ความแก่ก็ช้า
แต่ว่ารวมแล้วมันก็แก่นั่นแหละ หนีไปจากความแก่ไม่พ้น เราต้องแก่เป็นธรรมดา
แต่ว่าจิตใจเรานี่มันไม่ยอมแก่ ถ้าใครมาทักเราว่า "หือ ปีนี้ดูแก่ไป"
ไม่มีใครชอบสักคนเดียว แต่ถ้าเขาทักเราว่า "เออ ดูยังหนุ่มแข็งแรงดีนี่"
เรายิ้มชอบอกชอบใจ
คนเรามันชอบหลอกไม่ชอบจริง เพราะไม่ชอบของจริงนี่และจึงเป็นทุกข์เรื่อยไป
แต่ถ้าเรายอมรับความจริงเสีย เช่นเรื่องความแก่นี่ ยอมรับมันเสีย รับว่าแก่แล้ว
ร่างกายเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว ไม่รู้เมื่อไหร่จะต้องแตกต้องดับละยอมรับอย่างนั้น
พอเรายอมรับว่าเรายอมแก่ ปัญหาเรื่องความแก่จะไม่เป็นทุกข์แก่เรา ชราปิ ทุกขา
จะไม่เกิดในใจ เพราะเรายอมรับความแก่ยอมให้มันแก่ไปตามเรื่อง
การรักษาการบริหารร่างกายก็ทำไปตามเรื่อง แต่ไม่ใช่ทำด้วยความอยากมากเกินไป
เราทำตามหน้าที่
หน้าที่จะต้องรักษาร่างกายเพื่อใช้ ใช้ทำอะไร
ใช้สำหรับประพฤติความงามความดี ล้างบ่อยๆ อัดฉีดบ่อยๆ ขับค่อยๆ
อย่าให้มันเร็วเกินไป จนกระทั่งว่าเสียรูปเสียโฉมไป รถคันนั้นก็ใช้ได้นาน
ร่างกายของเรานี้ก็เหมือนกัน
พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า เรามันแก่เป็นธรรมดา เรารับรู้ว่าเราจะต้องแก่
แต่ว่าเราก็ต้องรักษาตามหน้าที่ อย่างนี้เรียกว่า
เป็นคนรู้จักใช้ร่างกายให้เป็นประโยชน์ ไม่ใช้ให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อน
เพราะความเข้าไปยึดถือว่า เราไม่แก่ อันนี้เรื่องหนึ่งเกี่ยวกับความแก่
เป็นทุกข์หรือไม่เป็นทุกข์ก็อยู่ที่ ความคิดถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง
ถ้าคิดถูกความทุกข์มันก็น้อย ถ้าคิดไม่ถูก ก็เกิดความทุกข์ขึ้น
เพราะความแก่เป็นธรรมดา
อันต่อไปท่านเรียกว่า พยาธิ คือ ความเจ็บไข้ ก็เป็นความทุกข์ของจิตใจ
คนเราตามปกตินั้น ไม่มีใครชอบความไข้ แต่ว่าความเจ็บไข้ก็ต้องเกิดขึ้น
อันการเกิดขึ้นของโรคภัยไข้เจ็บนั้น โรคบางอย่างเกิดเพราะความประมาท
แต่โรคบางอย่างนั้น มันเกิดของมันตามธรรมชาติ เราไม่รู้สาเหตุของมัน เช่น โรคมะเร็ง
เป็นต้น เราไม่รู้สาเหตุว่ามันเกิดเพราะอะไร ทำอย่างไรจึงได้เกิดโรคนั้นขึ้น
ไม่มีใครรู้ แม้วิชาการแพทย์สมัยใหม่จะเจริญก้าวหน้า
ก็ยังค้นหาสมุฏฐานของโรคนี้ยังไม่ได้ว่ามันเกิดมาจากเรื่องอะไร
ก็พูดได้เพียงว่าธรรมชาติของร่างกาย บางคนมันอาจจะเป็นโรคนี้ขึ้นได้
เป็นโรคที่ตรงนั้นตรงนี้ หรือเป็นมะเร็งในเส้นโลหิต แล้วก็รักษาไม่ได้
ร่างกายก็ต้องเจ็บป่วย จนกระทั่งหมดลมหายใจ
แต่ว่าถ้าปกติโรคอันใดที่เกิดเพราะความประมาท เพราะไม่รักษาตัว
อันนี้เราต้องป้องกันได้ การป้องกันก้คือว่าเรียนให้มันรู้ ว่าพาหะของโรคคืออะไร
สมุฏฐานของโรคอยู่ที่ไหน มันจะเกิดได้โดยวิธีใด
แล้วเมื่อเกิดแล้วเราควรจะรักษาอย่างไร เรื่องนี้มันต้องไปถามหมอ เขาก็จะแนะนำให้
คนเราบางทีก็ประมาท เป็นอะไรนิดหน่อย ร่างกายผิดปกติ
ไม่ไปหาหมอที่โรงพยาบาล แต่ไปหาหมอตี๋ตามร้านขายยา "ฉันเป็นหวัด กินยาอะไรดี"
เจ้าตี๋ก็จัดยาให้ เอาไปเคี้ยวไปกินกันตามเรื่อง กินจนกระทั่งว่าหนัก
พอหนักแล้วจึงไปหาหมอ อันนี้มันไม่ถูกเรื่อง เรียกว่าอยู่ในวิสัยของความประมาท
เมื่อเรารู้สึกว่าร่างกายผิดปกติ ควรรีบไปรักษาทันที ให้หมอตรวจเสียโดยเร็ว
การรีบไปทันท่วงทีนั้น ประหยัดเวลา ประหยัดเงิน แล้วก็ไม่ต้องเสียเวลาทำมาหากิน
เพราะเริ่มเป็นหมอตรวจรู้สมุฏฐาน ให้ยาสกัดโรคนั้นมันก็หายไว
เราก็จะได้ทำงานทำการต่อไป เงินทองที่จะใช้จ่ายในการเยียวยาก็น้อย เพราะเรารีบรักษา
พระพุทธเจ้าท่านสอน อย่าให้ประมาท แต่ถ้าเราประมาทไม่ไปรัษา โรคมันแรงแล้ว
ต้องกินยามาก ต้องฉีด ต้องนอนโรงพยาบาล บางทีต้องนอนตั้งเดือนสองเดือน
เสียเวลาทำมาหากิน เสียเงินเสียทองเข้าไปมากมาย อันนี้เป็นเรื่องที่เรียกว่า
ผิดอยู่ในชีวิดมนุษย์เราไม่ใช่น้อย
ในหลักธรรมะท่านจึงสอนไม่ให้ประมาท
ถ้ารู้สึกว่าร่างกายผิดปกติรีบไปหาหมอเสีย ไม่ต้องเกรงใจหมอดอก
หมอเขามีหน้าที่รักษาคนป่วย แต่ถ้าป่วยหนักแล้วไปหาหมอ นี่หมอรำคาญ
รำคาญว่าทำไมไม่ให้ตายเสียก่อนแล้วเอาศพมาให้รักษา หมอนึกอย่างนั้น
ถ้าหมอพูดได้แกคงพูดว่า "เอามาให้รักษาทำไม เอาศพมาดีกว่า"
แต่หมอก็รักษามารยาทไม่พูดอย่างนั้น แต่ว่าเรานี้ไม่รู้จักรักษาตัวก็ลำบาก
ความเจ็บไข้ได้ป่วย ทำให้คนเป็นทุกข์ก็เพราะว่า
เราไม่สบายใจในขณะที่มีความเจ็บเกิดขึ้น นอนเป็นทุกข์ นั่งเป็นทุกข์
กินก็เป็นทุกข์อยู่ตลอดเวลา เพราะเรื่องโรคภัยไข้เจ็บอันนี้คือทุกข์ประการหนึ่ง
ที่อาจจะเกิดขึ้นแก่ใครก็ได้ ทีนี้การแก้ไขปัญหาในเรื่องความทุกข์
อันเกิดจากโรคภัยไข้เจ็บ ถ้าเรามีความเจ็บป่วยเกิดขึ้น เราก็ต้องพิจารณาด้วยปัญญา
พิจารณาว่าความเจ็บป่วยนี้ เป็นเรื่องของร่างกาย
เป็นเรื่องที่เราจะต้องรักษา เวลานี้เราไม่กินยาอยู่แล้ว แต่ว่ายานี่ไม่ใช่ยาพิษ
เหมือนเรื่องนิทานที่เขาเล่าไว้ พอกินยาปุ๊บโรคหายปั๊บ มันไม่มีอย่างนั้น
มันต้องช้าๆ กินยาแล้วต้องคอยเวลา ให้ยามันออกฤทธิ์ไปแก้ไขในบางส่วนของร่างกายก่อน
เราอย่าใจร้อน อย่าอยากให้หายเร็วเกินไป แต่บอกตัวเองว่าเวลานี้เราป่วย
เราได้รัยประทานยาแล้ว เราก็ต้องนอนทำใจเย็นๆ อย่าใจร้อน อย่าคิดมาก อย่าวุ่นวาย
ให้พิจารณาร่างกายนี้ว่า เป็นสิ่งเปราะ หักง่าย แตกง่าย
อาจจะเจ็บจะไข้ลงไปเมื่อใดก็ได้ ถ้าว่าร่างกายป่วย ใจเราเป็นทุกข์เพราะร่างกาย
ก็เรียกว่าป่วยทั้งกาย ทั้งใจ
แต่ถ้าเราถือว่าร่างกายป่วย ใจเราจะไม่ป่วยตามร่างกาย
แต่ว่าเราจะใช้ใจสำหรับคิดค้นให้เกิดปัญญา ให้รู้จักประสบการณ์ของชีวิต
ให้ถือว่าความเจ็บไข้ได้ป่วยนั้นเป็นบทเรียน เป็นบทสอบไล่กำลังใจของเรา
ว่าเราเป็นผู้ศึกษาธรรมะได้อ่านหนังสือธรรมะไว้บ้าง ได้ฟังธรรมะไว้บ้าง
เวลาปกติก็ไม่รู้ว่าใจมันเป็นอย่างไร กำลังใจจะรู้ได้ก็เมื่อตกอยู่ในอันตราย
ถ้าไม่มีอันตรายเกิดขึ้น เราก็ไม่รู้กำลังใจของเรา เมื่อใดเราเจ็บไข้ได้ป่วย
เราก็จะได้ทดสอบกำลังใจ ว่าเรามีความพอใจในการที่เราป่วย
การรักษาเป็นหน้าที่ของหมอ ในเรื่องร่างกาย
แต่ว่าเรื่องใจเป็นหน้าที่ของเราเอง เราจะทำใจให้เย็น ทำใจให้ดี
จะไม่เกิดความวิตกทุกข์ร้อนในเรื่องไข้เจ็บ ให้พอใจที่จะนอนพักผ่อนอยู่บนเตียงคนไข้
อย่าไปคิดถึงเรื่องที่ยังไม่มาถึง อย่าไปคิดถึงเรื่องที่มันผ่านพ้นไปแล้ว
แต่ว่าเราคิดถึงเรื่องเฉพาะหน้า ที่เรากำลังเป็นอยู่ในขณะนี้ ว่าเราควรจะคิดอย่างไร
ใจจะสบาย จะไม่วุ่นวายจะไม่เดือดร้อน ควรจะทำตนให้เป็นคนกินยาง่าย เลี้ยงง่าย
ไม่ต้องให้คนอื่นพลอยเป็นทุกข์กับเรา เราจะรับความทุกข์เสียคนเดียว
แล้วก็ทำใจให้สบาย
ให้พอใจในสภาพที่กำลังได้รับ
หรือนึกเสียว่าไข้นี้ก็ดีเหมือนกันจะได้นอนเสียบ้าง
ไม่เจ็บไม่ป่วยไม่ค่อยได้พักผ่อน เวลาเจ็บป่วยนี่ถือว่ามานอนพักผ่อน
ถ้ามานอนที่โรงพยาบาล ก็ถือว่ามาพักผ่อนที่โรงพยาบาล
แล้วขณะที่พักผ่อนที่โรงพยาบาลก็ดูเพื่อนใกล้เคียง ว่าเขาเป็นอย่างไร
คนเหล่านั้นก็ป่วยเหมือนกับเราเหมือนกัน ไม่ใช่ป่วยแต่เราคนเดียว
คนบางคนพอมีอะไรเกิดขึ้น ซึ่งเป็นโรคภัยไข้เจ็บก็นึกเอาว่า แหม!
เรานี่มันอาภัพอับโชคเสียเหลือเกิน ป่วยอย่างนี้หนักที่สุด เจ็บที่สุดในโลก
นึกให้มันหนักเกินไป ความจริงไม่ได้หนักอะไรดอก เรามานึกเอาเอง
เมื่อหลายปีมาแล้วไปที่โรงพยาบาลศิริราช ไปเยี่ยมคนๆ หนึ่งแกเป็นเจ้าหน้าที่รถไฟ
ซึ่งปกติก็เรียกว่าเดินไปเดินมาเรื่อย เพราะอยู่แผนกเดินรถ ทีนี้เกิดอุบัติเหตุ
ขาขาดต้องตัด แล้วก็ไปนอนที่โรงพยาบาล ไปนอนอยู่ในตึกนั้น
คนไข้เกี่ยวกับเรื่องกระดูกเรื่องตัดอะไรทั้งนั้น อาตมาไปถึงก็ชวนคุย
คุยแล้วก็ลองถามว่าเป็นอย่างไร มาป่วยอยู่โรงพยาบาลนี่จิตใจเป็นอย่างไร
แกก็บอกว่า แหม! วันแรกๆ นี่เอาการ มีความทุกข์ มีความไม่สบายใจ
เพราะว่านึกถึงขาที่มันหายไป นึกว่าหายไปก็เดินไม่สะดวก จะทำงานทำการก็ไม่สะดวก
มันต้องมีขาไม้ใส่เข้ามา เวลาเดินเหินมันไม่คล่อง เที่ยวนึกไปถึงกาลข้างหน้า
ในเรื่องเกี่ยวกับอนาคตของชีวิต เลยก็นอนระทมตรมตรอมใจ แต่ว่าวันต่อๆ
มาเห็นคนป่วยที่เขานอนป่วยบางคนป่วยมา 6 เดือนแล้ว บางคนป่วยมาปีหนึ่งแล้ว
บางคนนอนคว่ำอยู่ท่าเดียว 3 เดือนนอนหงายไม่ได้ แล้วก็มีต่างๆ แกดูคนเหล่านั้น
จากเตียงนี้กับเตียงโน้นเขาคุยกัน หัวเราะกัน หยอกล้อกันไป คุยกันไปสนุกสนาน แกมองๆ
เขาก็ได้บทเรียน
ได้บทเรียนว่ากูนี่มันโง่ มานอนเป็นทุกข์อยู่คนเดียว
คนอื่นที่หนักกว่าเราเขาไม่ทุกข์ เขายิ้มหัวสบายใจ เลยก็เปลี่ยนจิตใจได้
พอใจในการที่ตนไม่มีขาข้างหนึ่ง แล้วก็นึกว่าข้างหน้าอย่างไรก็ช่างมันเถอะ
เราทำใจให้สบายดีกว่า เลยคุยกับคนไข้ใกล้เคียง หัวเราะหัวไห้ร่าเริงกันไปตามเรื่อง
นี้เขาเรียกว่า รู้จักหมุนจิตใจให้เข้ากับเหตุการณ์
คนเราที่เป็นทุกข์นี่เพราะว่าไม่รู้จักเปลี่ยนใจ ให้เหมาะแก่เหตุการณ์
แดดออกจ้าอยู่เราพอใจในแสงแดด พอฝนตกลงมากลับไม่พอใจฝน นี่หมุนจิตใจ
ถ้าเราหมุนจิตใจ พอฝนตกก็เออ! ดีเหมือนกันมันร้อนมาหลายวันแล้ว
เย็นเสียหน่อยก็ดีแล้ว เราก็ไม่เป็นทุกข์เพราะเรื่องฝน เจ็บไข้ได้ป่วยก็เหมือนกัน
ถ้าเราไม่เจ็บไม่ป่วย เราก็ไปไหนมาไหนได้ พอไปนอนที่โรงพยาบาลก็นึกว่า เออ
ดีเหมือนกัน ไม่ได้มาเห็นคนเจ็บคนป่วย ไม่ได้มีโอกาสเอาธรรมะมาพิจารณา
อันนี้ไม่ต้องไปทำงาน อารมณ์เยอะแยะ ที่จะเป็นบทเรียนสอนจิตสะกิดใจ
ดูสิ่งเหล่านั้นมองสิ่งเหล่านั้น ในแง่ของธรรมะ แล้วก็สอนตัว จิตใจก็สบายขึ้น
ไม่มีความทุกข์ความเดือดร้อน
คนป่วยที่ใจสบายนั้นมันหายไวแต่คนป่วยที่ใจเป็นทุกข์นี่หายช้า เพราะฉะนั้น
เราอยากจะหายช้าหรือว่าหายไว ใครๆ ก็อยากจะหายไวๆ เมื่ออยากจะหายไวๆ
ก็อย่าทำใจให้เป็นทุกข์ แต่จงทำใจให้สบายมองในแง่ดีเสีย
ความทุกข์อันเกิดขึ้นจากความเจ็บป่วยนั้นก็จะหายไป นี้ประการหนี่ง
อีกประการหนึ่ง ท่านบอกว่า การพลัดพรากจากสิ่งที่รักเป็นทุกข์ อันนี้มาก
การพลัดพรากจากสิ่งที่รักเป็นทุกข์นี่มาก คนเมื่อก่อนนี้ไม่มี
แต่ต่อมามันมีอะไรขึ้นมา พอมีอะไรขึ้นมาเท่านั้นแหละ ใจมันเป็นอย่างไร
ความยึดถือในสิ่งนั้นก็เกิดขึ้น ยึดถือว่าสิ่งนี้ของข้า ของฉัน ของเราขึ้นมาทีเดียว
ความยึดถือในใจนั้นแหละ ที่มันเป็นมูลฐานที่จะทำให้เกิดทุกข์ เพราะความพลัดพราก
เช่นว่าเราอยู่ในครอบครัวสามีภรรยาอยู่ด้วยกันมา อยู่กันมาตั้งแต่หนุ่มสาว
แล้วก็จนแก่เฒ่า ก็ตายไปคนหนึ่ง ภรรยาตายก่อนบ้าง สามีตายก่อนบ้าง ใครคนหนึ่งตายไป
คนที่อยู่ข้างหลังก็เป็นทุกข์ทุกข์เพราะอะไร เพราะพลัดพรากจากสิ่งที่เรารักเราชอบใจ
เราเคยอยู่กันมา บางทีก็บ่นพิรี้พิไร แล้วคิดในเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง
แล้วเวลานั่งก็เป็นทุกข์ นอนก็เป็นทุกข์ ยืน เดิน กิน อยู่เป็นทุกข์ทั้งนั้น
ความทุกข์อย่างนี้เกิดจากพลัดพรากจากของรักของชอบใจ มารดาที่มีลูกน้อยที่น่ารัก
น่าเอ็นดู เลี้ยงดูมา เกิดมาใหม่ๆ ยังไม่ได้เลี้ยง ตายก็ไม่ค่อยเป็นทุกข์เท่าไร
แต่ถ้าเลี้ยงมาพอนั่งได้นอนได้ ยิ้มหัวเราะได้พูดจาได้คำสองคำ พอเห็นแม่ร้องว่า มะ
มะ ขึ้นมาแล้วก็แหม! น่ารักน่าเอ็นดู พอเด็กนั้นมาตายลงไป แม่นี้ไม่เป็นตัวเอง
ร้องไห้ร้องห่มเป็นทุกข์เสียเหลือเกิน เพราะลูกชายจากไป อย่างนี้เป็นทุกข์มาก
มีมารดาคนหนึ่งเมื่อ 2 ปีก่อน ลูก 2
คนไปโรงเรียนไปรับเองกลัวลูกจะเป็นอันตราย ถนนเพชรบุรีตัดใหม่นั่นแหละ ไปรับลูก
ลูกเดินไปข้างหน้าแม่ รถยนต์คันหนึ่งมันเป็นรถชนิดที่เรียกว่ารถมฤตยู
ขับมาเฉี่ยวเอาลูก 2 คนตายไปต่อหน้าต่อตา แม่ไม่ตายเฉี่ยวเอาลูก 2 คนตาย
บอกว่ามันติดตามาตลอดเวลา เป็นทุกข์ตลอดเวลา พูดอะไรให้ฟังแกก็บอกว่า มันเสียใจ
ถามว่าเสียใจเรื่องอะไรเสียใจว่ามันตายไปต่อหน้าต่อตา เราอยู่กับเขาแท้ๆ
ยังป้องกันเขาไม่ได้ แล้วใครมันจะป้องกันใครได้
พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า สัตว์โลกนี้ไม่มีผู้ป้องกัน ไม่มีผู้ต้านทาน
ใครจะมาป้องกันใครไม่ให้แก่ก็ไม่ได้ ป้องกันใครไม่ให้เจ็บก็ไม่ได้ ป้องกันไม่
ให้ตายก็ไม่ได้ แต่ไม่คิดในความจริงข้อนั้น นึกถึงภาพว่าลูกตายไปต่อหน้า
เสียใจว่าอยู่เฉพาะหน้ายังช่วยไม่ได้ แล้วความจริงนั้นใครจะช่วยใครได้ คนที่ตายๆ
ตายเฉพาะหน้าทั้งนั้น คนเจ็บลูกหลานมานั่งดูอยู่ บอกว่าดูใจ จะได้เห็นใจ
ความจริงก็ได้เห็นอะไร คนที่นั่งอยู่นั้นเห็นอะไรมั่ง เปล่านั่งดูเฉยๆ เท่านั้นเอง
คนตายปกติไม่ทุรนทุราย นอนหลับตาหายใจเบาลงๆ ก็ดับวูบไป จะเห็นใจได้อย่างไร
ไม่ได้เห็นใจแต่ว่าเห็นร่างกายของผู้ตายเท่านั้น แต่เราพูดกันอย่างนั้นอยู่
เพื่อได้เห็นใจกัน ความจริงไม่เห็น แล้วคนตายก็พูดไม่ได้ พูดไม่ออก
เราพูดพร่ำก็ไม่ได้ยิน เพราะเวลาไกล้ตายนั้นหูอื้อตาลายมองอะไรไม่เห็น
ฟังอะไรก็ไม่รู้ แต่ลูกหลานก็อุตส่าห์เข้าไปเป่าข้างหูมั่ง อะไรมั่ง อยากจะแนะนำว่า
อย่าไปยุ่งอย่างนั้น คนจะตายนี่อย่าไปยุ่ง นั่งดูเฉยๆ อย่ารบกวน บีบตรงนั้น
นวดตรงนี้ ทางที่ดีที่สุดเวลาเราไปเฝ้าคนไข้หนัก อย่าไปยุ่ง ให้หมอทำเรื่องของหมอไป
หมอเขาให้หยูกให้ยาไปตามเรื่อง แต่คนถึงขั้นโคม่า เจ็บหนักใกล้จะหมดลมหายใจ
เรานั่งเฉยๆ อย่าไปร้องไห้ร้องห่ม แสดงอาการให้มันวุ่นวาย นั่งเฉยๆ เงียบๆ
ให้นึกถึงว่า เออ มนุษย์เราเกิดมาก็เท่านี้แหละ จะตายอยู่แล้ว อะไรๆ ก็เอาไปไม่ได้
นึกไปในรูปอย่างนั้นดีกว่า อย่าไปรบกวนคนป่วยให้วุ่นวาย
บางคนไปกอดอกซบหัววุ่นวายไปหมด อย่าไปทำอย่างนั้น ให้นั่งเฉยๆ ดูท่านไป
เวลาท่านหมดลมท่านก็วูบไป ตาหลับ บางทีก็ไม่หลับ แต่ว่าลมหายใจไม่มี เงียบไปเอง
แล้วก็รู้ว่าหมดลมหายใจอันนี้จะดีกว่า อย่าไปเที่ยววุ่นวายกับท่าน
คนแก่บางคนสั่งเลย บอกว่าเวลากูเจ็บหนักใกล้จะตาย อย่ามายุ่งนัก นั่งดูเฉยๆ
กูจะทำจิตทำใจอะไรของกูเอง กูฟังเทศน์ฟังธรรมมาเยอะแล้ว ไม่ต้องมาสอนกูตอนนั้นดอก
เพราะท่านเคยเห็นว่าลูกหลานนี่มันวุ่นวายตอนนั้น
แล้วคนป่วยนั้นถึงไม่ถึงขั้นโคม่าก็อย่าไปยุ่ง อย่าไปถามรบกวน แล้วคนแก่ก็เหมือนกัน
เรื่องอะไรๆ จัดเสียก่อนที่มันจะเจ็บจะไข้ รู้ว่าร่างกายของเรานี้
มันทรุดโทรมเต็มทีแล้ว มีอะไรก็จัดเสียให้เรียบร้อย เขียนพินัยกรรมเสีย
เขียนเองก็ได้พินัยกรรม ไม่ต้องให้ใครเขียนให้บอกความจำนงไว้ ตรงนั้นให้คนนั้น
ตรงนี้ให้คนนี้ ก่อนที่จะหมดลมหายใจ จัดการเสียให้เรียบร้อย
ไม่ต้องให้ลูกหลานต้องทะเลาะเบาะแว้งกันในภายหลัง ถ้าอย่างนี้มันก็ไม่วุ่นวาย
เราทำถูกตามหน้าที่ ความเจ็บไข้ได้ป่วยที่เกิดขึ้น
ก็จะไม่เป็นเหตุให้เราเป็นทุกข์มากเกินไป เพราะปัญหาอย่างนี้
อันนี้เป็นเรื่องของความทุกข์ เพราะความพลัดพรากจากของรักของชอบ
ถ้าเราเตรียมตัวไว้ก่อน พิจารณาไว้ก่อน ท่านสอนให้พิจารณาอย่างไร
คือให้พิจารณาว่า เราต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจเป็นธรรมดา
เรามีอะไรอยู่ก็ใช้ไปเถอะ แต่บอกตัวเองว่า ใช้ไม่เท่าใดดอกมันจะจากเราไป
ไม่เท่าใดดอก เราจะต้องจากมันไป ไม่มีอะไรจะอยู่กับเราตลอดไป
บอกไว้อย่างนั้นเตรียมเนื้อเตรียมตัว บอกตัวเองไว้ล่วงหน้า
พอมีเหตุการณ์พลัดพรากเกิดขึ้น เราก็ร้องอ๋อ ! ได้ เออ? กูว่าไว้นานแล้ว
ว่ามันจะเป็นอย่างนั้น เราก็ไม่ต้องเป็นทุกข์มากเกินไป
คนเราเวลาเกิดไม่ได้เอาอะไรมา เวลาไปก็ไม่ได้เอาอะไรไป
สิ่งทั้งหลายที่เราได้ใช้ได้กินอยู่ในชีวิตประจำวันนี้ ถือว่าเป็นของยืมมาทั้งนั้น
ยืมมาชั่วคราว ยืมแล้วต้องส่งคืนเอาไปไม่ได้ พอเราจะไปก็ส่งคืนเขา
ทรัพย์สมบัติก็ส่งคืนธรรมชาติ ร่างกายก็ส่งคืนธรรมชาติ
ไม่มีอะไรที่เรียกว่าเป็นเนื้อแท้ เรานึกอย่างนั้น ใจก็ไม่ยึดมากเกินไป
มีทรัพย์สมบัติก็ใช้ไปตามหน้าที่ บำรุงศาสนา บำรุงสาธารณกุศล
อะไรพอจะช่วยได้ก็ช่วยไปตามเรื่อง
ใช้สมบัติให้เป็นประโยชน์แก่ตัวแก่ท่านตามสมควรแก่ฐานะ พอถึงบทที่เราจะจากไป
เราก็อย่าไปอาลัยอาวรณ์ ว่าเออ เสียดายสิ่งนั้น เสียดายสิ่งนี้
ไม่เข้าเรื่องเป็นทุกข์เปล่าๆ
ความพลัดพรากจากของชอบใจเป็นทุกข์ เพราะว่าเราไม่ได้พิจารณา
แต่ถ้าเราได้พิจารณาแก้ไขไว้ ความทุกข์ในเรื่องนั้นก็จะไม่เกิดมีขึ้น
อันนี้เป็นการปฏิบัติชอบอันหนึ่ง
พูดมาวันนี้ก็สมควรแก่เวลา จึงขอจบไว้แต่เพียงเท่านี้.
<< ย้อนกลับ
» ไม่มีอะไรได้ดังใจเหมือนม้ากาบกล้วย
» วันนี้เจ้าอยู่กับฉันพรุ่งนี้มันไม่แน่
» หลักใจ
» เกิดดับ
» มรดกธรรม