สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้  >>

โรคติดต่ออุบัติใหม่

สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่

         ปัจจุบันแนวโน้มของการเกิดโรคติดต่ออุบัติใหม่อุบัติซ้ำมีเพิ่มขึ้น และประกอบกับโลกยุคโลกาภิวัฒน์ซึ่งเป็นปัจจัยทำให้การแพร่ระบาดของโรคเป็นไปอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อระบบสาธารณสุข รวมถึงเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และการลงทุนในประเทศอีกด้วย เช่น การเกิดโรคไข้หวัดนกในเอเชีย และการระบาดของโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (SARS) ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องมีแผนการป้องกันและควบคุมโรคติดต่ออุบัติใหม่อุบัติซ้ำของประเทศให้พร้อมรับและตอบสนองเหตุการณ์ระบาดที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพในการควบคุมป้องกันและเฝ้าระวังการเกิดโรคดังกล่าวต่อไป

องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ให้ความหมายของโรคติดต่ออุบัติใหม่ (Emerging infectious diseases) คือ โรคติดต่อที่มีอุบัติการณ์ในมนุษย์เพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา หรือมีแนวโน้มความเสี่ยงที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้ ยังหมายรวมถึงโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อใหม่ (New infectious diseases) โรคติดต่อที่พบในพื้นที่ใหม่ (New geographical areas) และโรคติดต่ออุบัติซ้ำ (Re-emerging infectious diseases) คือโรคติดต่อที่เคยแพร่ระบาดในอดีตและสงบไปนานหลายปีแล้ว แต่กลับมาระบาดขึ้นอีก

จากการศึกษาวิจัยวิเคราะห์รูปแบบของโรคติดต่ออุบัติใหม่จำนวน 335 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงปี ค.ศ.1940-2004 พบว่า โรคอุบัติใหม่ได้เกิดขึ้นมากในตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา ในจำนวนโรคอุบัติใหม่ทั้งหมดนี้ ร้อยละ 60.3 เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน มักมีต้นเหตุมาจากสัตว์ป่า เช่น โรคซาร์ส ไข้หวัดนก ไข้เลือดออกอิโบลา เป็นต้น โดยโรคอุบัติใหม่ร้อยละ 54.3 มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียหรือริกเก็ตเซีย แสดงถึงเชื้อจุลชีพที่ดื้อยาเป็นจำนวนมาก โดยแนวโน้มโรคต่างๆ นี้มีผลกระทบหรือสัมพันธ์กับสังคม เศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม และปัจจัยทางนิเวศวิทยาอย่างมาก นอกจากนี้ยังพบว่า พื้นที่ที่อยู่ในพิกัดเส้นรุ้งระดับล่าง มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคอุบัติใหม่ที่มีสาเหตุจากสัตว์ป่าหรือแมลงพาหะนำโรค จากรายงานการวิจัยได้สรุปว่าการกระจายทรัพยากรทั่วโลกในการตอบโต้ต่อโรคอุบัติใหม่ ยังไม่มีความทั่วถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศักยภาพทางวิทยาการและการเฝ้าระวังโรคในประเทศที่มีความเสี่ยงน้อยที่จะเป็นต้นกำเนิดโรคอุบัติใหม่มีความเข้มแข็งมากกว่าประเทศเสี่ยงมาก

โรคไข้กาฬหลังแอ่น
โรคไข้เลือดออกอีโบลา
โรคไข้เลือดออกมาร์เบอร์ก
โรคไข้หวัดนก
โรคไข้เหลือง
โรคไข้ปวดข้อยุงลาย (Chikungunya)
โรคมือเท้าปาก จากเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71
โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์และเฮนดรา
โรคติดเชื้อสเตร็พโตค็อกคัส ซูอิส
โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงหรือซาร์ส
โรคทูลารีเมีย (Tularemia)
โรคเมลิออยโดซิส
โรคลิชมาเนีย
โรควีซีเจดีหรือโรคสมองเสื่อมชนิดใหม่
โรคไข้หวัดใหญ่ (Seasonal influenza)
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 (Influenza A H1N1)
โรคแอนแทรกซ์

เอกสารอ้างอิง

  • Jones KE et al. Global trends in emerging infectious disease. Nature 2008 Feb 21; 451 (7181): 990 - 3

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย