สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้  >>

โรคติดต่ออุบัติใหม่

โรคติดเชื้อสเตร็พโตค็อกคัส ซูอิส

โรคติดเชื้อสเตร็พโตค็อกคัส ซูอิส เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus suis โดยการสัมผัสสุกรติดโรค หรือการบริโภคเนื้อหรือเลือดสุกรดิบ โดยมีสุกรเป็นสัตว์รังโรค

ระยะฟักตัวของโรคประมาณ 1-3 วัน อาการที่พบ ได้แก่ มีไข้ คลื่นเหียน ปวดศีรษะ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ข้ออักเสบ ม่านตาอักเสบ มีจ้ำเลือด เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังอักเสบ ผู้ป่วยอาจสูญเสียการได้ยิน จนถึงขั้นหูหนวก ภายหลังที่หายจากอาการป่วยแล้วอาจจะมีความผิดปกติในการทรงตัว ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตเนื่องมาจากการติดเชื้อในกระแสโลหิต

ผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงสูงต่อการติดโรคในภาวะปกติ ได้แก่ เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร คนทำงานในโรงฆ่าสัตว์ คนชำแหละเนื้อสุกร สัตวบาล และสัตวแพทย์ เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางบาดแผล รอยถลอก หรือเยื่อบุตา รวมทั้งการบริโภคเนื้อหรือเลือดสุกรที่ ไม่ผ่านการปรุงสุก

สถานการณ์ของโรคในต่างประเทศ

พ.ศ.2550 : เดือนกรกฎาคม ประเทศเวียดนาม มีรายงานการติดเชื้อ จำนวน 42 ราย และ 2 ราย มีอาการรุนแรง และในเดือนตุลาคม เมืองแมนนิโทบา ประเทศแคนาดา มีรายงานพบผู้ป่วยหญิงวัย 59 ปี มีอาการไข้ ปวดศีรษะ เจ็บคอ และอาเจียน จากการสอบสวนโรคพบว่า ผู้ป่วยรายนี้อาศัยอยู่ในหมู่บ้านที่เลี้ยงสุกร และมีอาชีพเลี้ยงสุกร

การติดเชื้อสเตร็พโตค็อกคัส ซูอิสในทวีปอเมริการเหนือ พบ 2 สายพันธุ์ ได้แก่ Serotype 2 และ 14 โดยมีรายงานพบ 2 รายในประเทศแคนาดา และอีก 2 ราย ในประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากนั้นมีรายงานการเกิดโรคเกิดขึ้นในหลายประเทศ ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร เดนมาร์ก และประเทศไทย

สถานการณ์ในประเทศไทย

ในปี พ.ศ.2551 สำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข ได้รับรายงานผู้ป่วยติดเชื้อ Streptococcus suis รวมทั้งหมด 230 ราย อัตราป่วย 0.36 ต่อแสนประชากร เสียชีวิต 11 ราย อัตราตาย 0.02 ต่อแสนประชากร อัตราป่วยตายร้อยละ 4.78 ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในเขตจังหวัดภาคเหนือ เช่น เขตตรวจราชการ 15 (เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน) พบผู้ป่วย 145 ราย เสียชีวิต 4 ราย เขตตรวจราชการ 16 (น่าน พะเยา เชียงราย แพร่) พบผู้ป่วย 31 ราย เสียชีวิต 3 ราย เขตตรวจราชการ 17 (ตาก พิษณุโลก สุโขทัย เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์) พบผู้ป่วย 11 ราย เสียชีวิต 1 ราย เขตตรวจราชการ 18 (กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานี) พบผู้ป่วย 27 ราย เสียชีวิต 3 ราย ผู้ป่วยเสียชีวิตส่วนใหญ่มีอาการสมองอักเสบ ประชากรกลุ่มเสี่ยง คือกลุ่มที่รับประทานเนื้อสุกรดิบ/เลือดดิบ หรือทำงานเกี่ยวข้องกับการชำแหละเนื้อสุกร สัตวบาล สัตวแพทย์ และมีประวัติการดื่มสุราเป็นประจำ ยังไม่พบการติดต่อจากคนสู่คน

ข้อเสนอแนะ

จำนวนผู้ป่วยโรคติดเชื้อสเตร็พโตค็อกคัส ซูอิสในประเทศไทยอาจมีจำนวนมากกว่านี้ แต่เนื่องจากมีข้อจำกัดในการตรวจทางห้องปฏิบัติการซึ่งไม่สามารถตรวจได้ทุกแห่ง และแพทย์ยังไม่คุ้นเคยกับโรค ทำให้ขาดการตระหนักในการวินิจฉัย และโรคนี้ยังไม่เข้าสู่ระบบการรายงานโรค อย่างไรก็ตาม โรคนี้จัดเป็นโรคติดต่อที่เกิดประปราย ซึ่งอาจไม่เป็นที่รู้จักมากนัก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรเผยแพร่ข้อมูลความรู้เรื่องโรคและการป้องกันควบคุมโรคให้กับบุคลากรการแพทย์และสาธารณสุขได้รับทราบ เพื่อประโยชน์ในการวินิจฉัย ป้องกัน และควบคุมโรค นอกจากนี้ ควรเผยแพร่ความรู้การป้องกันโรคนี้ให้กับประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร หรือผู้ที่จะต้องเกี่ยวข้องกับเนื้อสุกรชำแหละ เช่น คนงานในโรงฆ่าสัตว์ เป็นต้น ซึ่งควรกำหนดมาตรการความร่วมมือระหว่างประเทศด้านป้องกันและควบคุมโรคทั้งในคนและสัตว์ที่ชัดเจน

โรคไข้กาฬหลังแอ่น
โรคไข้เลือดออกอีโบลา
โรคไข้เลือดออกมาร์เบอร์ก
โรคไข้หวัดนก
โรคไข้เหลือง
โรคไข้ปวดข้อยุงลาย (Chikungunya)
โรคมือเท้าปาก จากเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71
โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์และเฮนดรา
โรคติดเชื้อสเตร็พโตค็อกคัส ซูอิส
โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงหรือซาร์ส
โรคทูลารีเมีย (Tularemia)
โรคเมลิออยโดซิส
โรคลิชมาเนีย
โรควีซีเจดีหรือโรคสมองเสื่อมชนิดใหม่
โรคไข้หวัดใหญ่ (Seasonal influenza)
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 (Influenza A H1N1)
โรคแอนแทรกซ์

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย