สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้  >>

โรคติดต่ออุบัติใหม่

โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์และเฮนดรา

เชื้อนิปาห์ไวรัส มีการระบาดครั้งแรกที่ประเทศมาเลเซีย ในช่วงเดือนกันยายน พ.ศ.2541 ถึงเมษายน พ.ศ.2542 พบผู้ป่วยทั้งสิ้น 265 ราย และมีผู้เสียชีวิต 105 ราย คิดเป็นอัตราป่วยตายร้อยละ 40 ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาชีพเลี้ยงสุกร ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ หรือมีการสัมผัสสุกรป่วย ทำให้มีการทำลายสุกรไปกว่า 1.2 ล้านตัว คิดเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจมากกว่า 220 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และในขณะเดียวกัน ประเทศสิงคโปร์ซึ่งมีการนำเข้าสุกรจากประเทศมาเลเซียก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน โดยในเดือนมีนาคม พ.ศ.2542 พบผู้ป่วยถึง 11 ราย เสียชีวิต 1 ราย

การระบาดครั้งถัดมาเกิดขึ้นระหว่างมกราคมถึงกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ.2544 ที่เมือง Siliguri ประเทศอินเดีย พบผู้ป่วย 66 ราย เสียชีวิตสูงถึง 45 ราย อัตราป่วยตายร้อยละ 68 ต่อปี เดือนเมษายนของปีเดียวกัน มีการระบาดของเชื้อนิปาห์ไวรัสเกิดขึ้นในประเทศบังคลาเทศ ที่เมือง Meherpur พบผู้ป่วย 13 ราย เสียชีวิต 9 ราย อัตราป่วยตายร้อยละ 69 หลังจากนั้นประเทศบังคลาเทศมีการระบาดของโรคเกือบทุกปี ดังนี้

  • ปี พ.ศ.2546 มีการระบาดของโรคติดเชื้อนิปาห์ไวรัสเกิดขึ้น 1 ครั้ง ในเดือนมกราคม ที่เมือง Naogaon พบผู้ป่วย 12 ราย เสียชีวิต 8 ราย อัตราป่วยตายร้อยละ 67
  • ปี พ.ศ.2547 มีการระบาดของโรคติดเชื้อนิปาห์ไวรัสเกิดขึ้น 2 ครั้ง ครั้งแรกในเดือนมกราคม ที่เมือง Goalando พบผู้ป่วย 29 ราย เสียชีวิต 22 ราย อัตราป่วยตายร้อยละ 76 ครั้งที่ 2 ในเดือนเมษายน ที่เมือง Faridpur พบผู้ป่วย 36 ราย เสียชีวิต 27 ราย อัตราป่วยตายร้อยละ 75
  • ปี พ.ศ.2548 มีการระบาดของโรคติดเชื้อนิปาห์ไวรัสเกิดขึ้น 1 ครั้ง ในเดือนมกราคม ถึงมีนาคม ที่เมือง Tangail พบผู้ป่วย 12 ราย เสียชีวิต 11 ราย อัตราป่วยตายร้อยละ 92
  • ปี พ.ศ.2550 มีการระบาดของโรคติดเชื้อนิปาห์ไวรัสเกิดขึ้น 2 ครั้ง ครั้งแรกในเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ ที่เมือง Thakurgaon พบผู้ป่วย 7 ราย เสียชีวิต 3 ราย อัตราป่วยตายร้อยละ 43 ครั้งที่ 2 ในเดือนมีนาคมถึงเมษายน ที่เมือง Kustia พบผู้ป่วย 8 ราย เสียชีวิต 5 ราย อัตราป่วยตายร้อยละ 62 ขณะเดียวกันในเมือง Nadia ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นเมืองที่มีพื้นที่ติดกับประเทศบังคลาเทศ ช่วงเดือนเมษายน มีการพบผู้ป่วยที่ติดเชื้อนิปาห์ไวรัส 5 ราย และเสียชีวิตทั้งหมด
  • ปี พ.ศ.2551 มีการระบาดเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ที่เมือง Manikganj และ Rajbari พบผู้ป่วย 11 ราย เสียชีวิต 6 ราย อัตราป่วยตายร้อยละ 54.5

การระบาดที่มาเลเซียเกิดจากเชื้อนิปาห์ไวรัสสายพันธุ์เดียว แตกต่างจากการระบาดที่บังคลาเทศซึ่งเกิดจากหลายสายพันธุ์ ทำให้มีลักษณะอาการทางคลินิกที่หลากหลาย ผลการสอบสวนผู้ป่วยโรคติดเชื้อนิปาห์ไวรัสในบังคลาเทศจากการระบาด 4 ครั้งแรก สรุปได้ว่าการติดเชื้อนิปาห์ไวรัสเกิดขึ้นในทุกกลุ่มอายุ และอาการไข้ อาการทางสมอง ไอ และอาการทางระบบทางเดินหายใจ พบได้เป็นส่วนใหญ่ในผู้ป่วยที่ติดเชื้อในบังคลาเทศ อาการรุนแรงทางระบบประสาทก็พบได้เช่นกัน ภาวะแทรกซ้อนที่เรื้อรังและรุนแรง ก็พบได้ในผู้รอดชีวิตหลายราย ซึ่งเป็นขนาดปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อนิปาห์ไวรัส สิ่งสำคัญในอนาคต คือ การพัฒนาระบบเฝ้าระวังและการสอบสวนการระบาดของการติดเชื้อนิปาห์ไวรัส โดยเฉพาะกลยุทธในการป้องกันการติดต่อและการพัฒนาแนวทางการรักษาผู้ป่วยที่อยู่เขตพื้นที่ยากจน

ในประเทศไทย ทีมวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสภากาชาดไทย พบค้างคาวแม่ไก่ติดเชื้อไวรัสนิปาห์ประมาณร้อยละ 7 ในบางพื้นที่และอยู่ระหว่างการสำรวจเพิ่มเติม นอกจากนี้ยังตรวจพบ RNA ไวรัสในน้ำลายและปัสสาวะของค้างคาวด้วย ดังนั้น พื้นที่เสี่ยงดังกล่าวจึงควรเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และป้องกันไม่ให้โรคแพร่มายังสัตว์เลี้ยงตามมาตรการของกรมปศุสัตว์.

นับจากนั้นมา ยังไม่พบการระบาดของโรคนี้ และในประเทศไทยก็ยังไม่เคยพบการระบาดของโรคนี้เช่นกัน

ไวรัสเฮนดราอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับไวรัสนิปาห์ ถูกจัดในจีนัส Henipavirus ในวงศ์ Paramyxoviridae แยกเชื้อได้ครั้งแรกในปี พ.ศ.2537 ไวรัสเฮนดราก่อให้เกิดโรคขึ้นในม้าของรัฐควีนแลนด์ ประเทศออสเตรเลีย มีการระบาดรวม 3 ครั้ง ทำให้ม้าตายไป 16 ตัว และพบผู้เสียชีวิตจากอาการทางระบบหายใจหรือสมองอักเสบรุนแรง ผู้ป่วย 2 รายแรกติดเชื้อจากการสัมผัสม้าในช่วงที่ม้าล้มป่วย รายที่ 3 แสดงอาการใน 13 เดือนถัดมา หลังจากที่มีอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบแบบไม่รุนแรงมาโดยตลอด และผู้ป่วยก็เสียชีวิตจากภาวะสมองอักเสบจากอาการเห่อของเชื้อไวรัสซ้ำขึ้น พบว่าค้างคาวกินผลไม้ (flying fox) ในสกุล Pteropus เป็นแหล่งรังโรคในธรรมชาติ โดยค้างคาวมีการติดเชื้อสูงถึงร้อยละ 40 และเชื้อที่แยกได้ ไม่ก่อให้เกิดโรคในค้างคาว

  • กรกฎาคม พ.ศ. 2551 ประเทศออสเตรเลีย ยืนยันการพบผู้ติดเชื้อเฮนดราไวรัส ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในรัฐควีนสแลนด์ โดยทำงานอยู่ในคลินิกรักษาสัตว์ ซึ่งมีการติดเชื้อเฮนดราไวรัสจากม้าที่ป่วย ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้ทำการเฝ้าระวังในผู้ใกล้ชิด ซึ่งยังไม่พบผู้ป่วยรายอื่น
  • สิงหาคม พ.ศ. 2552 พบการระบาดในม้า 23 ตัว ที่รัฐควีนแลนด์ ประเทศออสเตรเลีย มีผู้สัมผัสใกล้ชิดม้าป่วยจำนวน 4 ราย ทั้งหมดถูกเฝ้าสังเกตอาการที่โรงพยาบาล Princess Alexandra โดยพบว่า 1 ราย ซึ่งเป็นสัตวแพทย์ได้เสียชีวิต เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2552 ส่วนอีก 3 ราย ได้รับยาต้านไวรัส หายจากการป่วย และกลับบ้าน จำนวนผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อเฮนดราไวรัสตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2537-2 กันยายน 2552 รวม 4 ราย

โรคไข้กาฬหลังแอ่น
โรคไข้เลือดออกอีโบลา
โรคไข้เลือดออกมาร์เบอร์ก
โรคไข้หวัดนก
โรคไข้เหลือง
โรคไข้ปวดข้อยุงลาย (Chikungunya)
โรคมือเท้าปาก จากเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71
โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์และเฮนดรา
โรคติดเชื้อสเตร็พโตค็อกคัส ซูอิส
โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงหรือซาร์ส
โรคทูลารีเมีย (Tularemia)
โรคเมลิออยโดซิส
โรคลิชมาเนีย
โรควีซีเจดีหรือโรคสมองเสื่อมชนิดใหม่
โรคไข้หวัดใหญ่ (Seasonal influenza)
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 (Influenza A H1N1)
โรคแอนแทรกซ์

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย